AI Economy ความตื่นตัว และโอกาสแห่งอนาคต

AI Economy ความตื่นตัว และโอกาสแห่งอนาคต

มองการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่กำลังเปลี่ยนโลก และท้าทายประเทศไทยในการก้าวไปสู่ยุค AI Economy อะไรที่เป็นโอกาส และอะไรที่เป็นความท้าทาย

KEY

POINTS

  • จากการศึกษาของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก คาดการณ์ว่าในปี 2030 AI จะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีโอกาสที่บริษัท 70% ทั่วโลกจะใช้ AI
  • ผลสำรวจ AI Monitor 2024 ของ Ipsos บริษัทด้านวิจัยการตลาดซึ่งสำรวจทัศนคติของผู้คนใน 32 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับ AI พบว่า คนส่วนใหญ่คิดว่า AI จะส่งผลกระทบกับชีวิตของพวกเขาในอีก 3 - 5 ปี ข้างหน้า เพิ่มขึ้นเป็น 66% จาก 60% และอีกกว่า 50% กังวลถึง AI รุ่นใหม่ๆ ที่ออกสู่ตลาด
  • การพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI ของไทย มีความโดดเด่นที่สุด ด้านยุทธศาสตร์ภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ ระบบนิเวศเชิงพาณิชย์ สภาพแวดล้อมการดำเนินงาน การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยี อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำระดับโลก

มองการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่กำลังเปลี่ยนโลก และท้าทายประเทศไทยในการก้าวไปสู่ยุค AI Economy อะไรที่เป็นโอกาส และอะไรที่เป็นความท้าทาย 
 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกอุตสาหกรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน 

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์ผลลัพธ์ AI สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในหลายอุตสาหกรรม เช่น การผลิต การท่องเที่ยว การเกษตร และการสาธารณสุข โดยช่วยยกระดับผลผลิตและสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลได้อย่างแม่นยำ 

การนำ AI มาใช้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันการเติบโตของ GDP และขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

 

AI Economy ความตื่นตัว และโอกาสแห่งอนาคต

ยุคสมัยแห่งปัญญาประดิษฐ์


เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล 5.0 ดิจิทัล และเทคโนโลยี กลายเป็นเป้าหมายที่นานาประเทศต้องการผลักดันเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิต การลงทุนเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastucture) และการกระตุ้นกิจกรรมของภาคธุรกิจให้เปลี่ยนผ่าน (Digital Transformation) จึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง 

การปรับใช้ Big Data analytics - Cloud Service ในการจัดเก็บโอนถ่ายข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Automation) ที่มีการใช้ในภาคการผลิต การค้าปลีก และภาคการเงินการธนาคาร อย่างโดดเด่น โดยมี เทคโนโลยี AI เป็นเครื่องมือสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโมเดลสถิติ การพัฒนาอัลกอริทึม Deep Learning, Natural Language Processing และอื่นๆ

ศักยภาพ AI ในการเพิ่มระดับการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงคาดการณ์ (Predictive analytics) และการวิเคราะห์เชิงให้คําแนะนํา (Prescriptive analytics) เปิดโอกาสใหม่ๆ ทั้งโซลูชัน ผลิตภัณฑ์ โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ กระทั่งการเข้าถึงพฤติกรรมที่ซับซ้อนของผู้บริโภค

จากการศึกษาของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก คาดการณ์ว่าในปี 2030 AI จะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีโอกาสที่บริษัท 70% ทั่วโลกจะใช้ AI  ด้าน PWC เผยแพร่ผลสำรวจผลกระทบจาก AI ต่อภาคธุรกิจในรายงาน Global Artificial Intelligence Study: Exploiting the AI Revolution ระบุว่า AI จะกระตุ้นการเติบโตของ GDP โลก 14% ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 15.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030

ขณะที่ รายงานเรื่อง Global AI Index 2024 ครอบคลุม 83 ประเทศทั่วโลกผลสำรวจที่จัดทำโดย Tortoise Media มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 ระบุถึงการแข่งขันด้าน AI ในระดับโลกว่า สหรัฐ จะยังครองผู้นำด้าน AI ของโลก โดยมีจีนตามมาเป็นอันดับ 2 แต่ในด้านการลงทุน ซาอุดีอาระเบีย กลับมีการใช้จ่ายด้าน AI สูงกว่าสหรัฐ และจีน อย่างมีนัยสำคัญ

ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้น แต่ผู้คนทั่วโลกต่างก็รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกัน รายงาน ผลสำรวจ AI Monitor 2024 ของ Ipsos บริษัทด้านวิจัยการตลาดซึ่งสำรวจทัศนคติของผู้คนใน 32 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับ AI พบว่า คนส่วนใหญ่คิดว่า AI จะส่งผลกระทบกับชีวิตของพวกเขาในอีก 3 - 5 ปี ข้างหน้า เพิ่มขึ้นเป็น 66% จาก 60% และอีกกว่า 50% กังวลถึง AI รุ่นใหม่ๆ ที่ออกสู่ตลาด                          

ในรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุถึงความเห็นของคนไทยนั้น มีทัศนคติเชิงบวกต่อ AI โดยมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้ AI สูง และมีความรู้สึกตื่นเต้นมากกว่าความรู้สึกกังวล ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ แต่แตกต่างจากประเทศในกลุ่มตะวันตกที่มีแนวโน้มจะกังวลมากกว่า


 

ประเทศไทยบนเส้นทางของ AI

แม้ประเทศไทยจะมีความตื่นตัว และความพร้อมด้าน AI รั้งอันดับ 3 ของอาเซียน และติดท็อป 50 ของโลกจากรายงาน Global AI Index 2024 แต่ก็ยังมีความท้าทายหลายๆ อย่างที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ 

ข้อมูลชุดดังกล่าว ระบุถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI ของไทยนั้น มีความโดดเด่นที่สุด ด้านยุทธศาสตร์ภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ ระบบนิเวศเชิงพาณิชย์ สภาพแวดล้อมการดำเนินงาน การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยี อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำระดับโลก

นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงนโยบาย และบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลแล้ว ความเท่าทันเทคโนโลยี หรือ AI Literacy ก็ถือเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปด้วย   

สำหรับภาครัฐเอง รูปธรรมของการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนก็คือ นโยบาย "อว. for AI" ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มีการขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 - 2570)  ครอบคลุมตั้งแต่ ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบ ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ ด้านกำลังคน ด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และด้านการส่งเสริมธุรกิจและการใช้ AI 

โดยมี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมและส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ใช้ AI เป็นเทคโนโลยีในสร้างสรรค์ให้เกิดการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเกษตรและอาหาร การแพทย์ และภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินงานด้านต่างๆ ได้แก่ 

  1. Groom การจุดประกายให้เกิดการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในภาคธุรกิจผ่านการดำเนินโครงการ เช่น AgTech AI, ARI-Tech Capability
  2. Grant การสนับสนุนทุนเปล่าผ่านโครงการนวัตกรรม 1.5 - 5.0 ล้านบาท โดยที่ผ่านมามีการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) ฝีมือคนไทยเพื่อรองรับกลุ่มโรคที่พบบ่อย และโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง
  3. Growth การพัฒนาให้เกิดการเติบโต สร้างตลาดให้เกิดขึ้นเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาของสตาร์ทอัพ และสร้างโอกาสเชื่อมโยงกับนักลงทุน เช่น โครงการ DeepTech Incubation@EEC เชื่อมโยงสตาร์ทอัพ ARI-Tech (AI-Robotics-IoT-Immersive Technology) นำไปทดสอบการใช้งานกับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ซึ่ง NIA ยังผลักดันโครงการด้านการประยุกต์ใช้ AI สร้างสรรค์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ 
  4. Global สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับนวัตกรรมไทยด้าน AI ในการขยายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น National IT Industry Promotion Agency (NIPA) หน่วยงานที่มีภารกิจในการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ของสาธารณรัฐเกาหลี

 

AI ขับเคลื่อนความสำเร็จ ด้วยการ “การเลือกใช้” 

จากความตื่นตัว และการขยับของทั้งภาครัฐ และเอกชนเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนให้เกิดบุคลากรด้าน AI ให้รองรับกับอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและแข่งขันสูง          

อย่างที่ AIS The StartUp ได้ร่วมกับ NIA และสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย จัดทำโครงการ ESG to Capital for Tech Entrepreneurs เพื่อเพิ่มความเข้าใจในการประยุกต์ใช้หลักการด้าน ESG ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงการลงทุนและการประเมินมูลค่าบริษัท พร้อมทั้งจัดทำเวิร์กชอปการประเมินมูลค่าทางความยั่งยืน (Sustainability Value Assessment) สำหรับผู้บริหาร การผลักดันนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AIS The StartUp คว้ารางวัล Prime Minister Award 2024

 

AI Economy ความตื่นตัว และโอกาสแห่งอนาคต

 

แต่ถ้าถามถึงการมาของ AI ในประเทศไทยนั้น อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน หรือ AIS ตั้งข้อสังเกตว่า ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งยังห่างไกลจากคำว่า “ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ” 

AI Economy ความตื่นตัว และโอกาสแห่งอนาคต

 

“กระบวนการคิดของเรายังคงเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น AI หรืออย่างอื่น มันเริ่มต้นด้วยการระบุปัญหาเฉพาะที่เรากำลังพยายามแก้ไข”

หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS มองว่า วัตถุประสงค์การใช้งานคือสารตั้งต้นสำคัญ สำหรับการเริ่มต้นใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม โดยเฉพาะ “ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ” ก่อนที่จะประเมินความพร้อมทั้ง บุคลากร และข้อมูลที่เหมาะสม เพื่อรองรับการใช้งาน ก่อนจะนำไปประยุกต์โดยเริ่มจากปัญหาเฉพาะก่อนที่จะขยายขนาดตามผลลัพธ์ 


นอกจาก การปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับธุรกิจแล้ว บุคคลากรก็ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีที่กำลังก้าวมาด้วย
 

โอกาส และความท้าทายที่รออยู่


สำหรับประเทศไทย AI ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมไทย อีกทั้งยังมีส่วนส่งเสริม และสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นในทุกมิติ 


ทั้งการเรียนการสอนแบบปรับเฉพาะบุคคล (Personalized Learning) และระบบการสอนเสริม (Tutoring System) การวินิจฉัยโรค วิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ พัฒนายา และวัคซีนเฉพาะทาง การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ของเกษตรกรผ่านแพลตฟอร์ม เกษตรกรรมอัจฉริยะ เป็นต้น 
อย่างไรก็ตาม เราคงไม่อาจปฏิเสธความเป็นไปด้านในศักยภาพของการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยมีคำว่า “ส่วนรวม” เป็นแกนหมุน


ความท้าทายในการก้าวข้ามทางเทคโนโลยีสำหรับประเทศไทย ก็ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องของนโยบายที่สอดรับ และทิศทางที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับพัฒนาทักษะของคนให้พร้อมสำหรับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเท่าทัน และจริยธรรมในการใช้นวัตกรรม ทั้งหมดล้วนเป็นทั้งโอกาส และความท้าทายที่รออยู่ทั้งสิ้น


ที่สุดนั้น ก็เพื่อให้ทำให้ไทยไม่ตกขบวน และสามารถเพิ่มระดับการแข่งขันในเวทีสากลได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน และก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในเวทีโลก

_________________________________________

ที่มาข้อมูล : 
- https://aiindex.stanford.edu/report/
- https://www.depa.or.th/th/article-view/ai-development-labor-impact 
- https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/digital_transformation/2788200 

- https://www.tortoisemedia.com/intelligence/global-ai/
- แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  
- https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1150448
- https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1149076 
- https://www.ipsos.com/sites/default/files/ct/news/documents/2024-06/Ipsos-AI-Monitor-2024-final-APAC.pdf
- https://www.ais.th/thestartup/blog-prime-minister-award-2024.html