แอมเนสตี้เรียกร้องทางการไทยเร่งสอบสวนการสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิม

แอมเนสตี้เรียกร้องทางการไทยเร่งสอบสวนการสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิม

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยถึง เหตุการณ์อันน่าสะเทือนขวัญ หลังจากวันที่ 25 มิถุนายน 2567 รอนิง ดอเลาะ ถูกยิงสังหารโดยมือปืนไม่ทราบฝ่ายสองคน บริเวณหน้าบ้านของเขาเอง

สืบเนื่องจากเหตุการณยิงสังหารรอนิง ดอเลาะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีการก่อความไม่สงบ

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เหตุการณ์อันน่าสะเทือนขวัญครั้งนี้ เน้นย้ำถึงอันตรายที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ของไทยต้องเผชิญ

“การสูญเสียในครั้งนี้น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากรอนิง เป็นผู้ทำงานช่วยเหลือเหยื่อของการทรมาน และมีรายงานข่าวว่าตัวเขาเองก็เคยเป็นเหยื่อการทรมานเช่นกัน แต่เขาก็มาถูกยิงจนเสียชีวิตก่อนหน้า ‘วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล’ (International Day in Support of Victims of Torture) เพียงวันเดียว”

“ทางการไทยต้องทำดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ ยึดความโปร่งใส เป็นอิสระ ต่อกรณีการเสียชีวิตของรอนิง และให้นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

“การสอบสวนเช่นนี้ ไม่เพียงจะอำนวยให้เกิดความยุติธรรมต่อรอนิงและผู้คนที่เขารักและใกล้ชิดเท่านั้น หากยังจะช่วยป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของประเทศไทย”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวและคนที่รักรอนิง” 

ข้อมูลพื้นฐาน

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 21.00 น. รอนิง ดอเลาะ ถูกยิงสังหารโดยมือปืนไม่ทราบฝ่ายสองคน บริเวณหน้าบ้านของเขาเอง ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี 

รอนิงเป็นผู้ประสานงานที่ทำงานกับกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ ด้วยความสนับสนุนจากกองทุนสหประชาชาติแบบสมัครใจเพื่อเหยื่อจากการทรมาน (UN Voluntary Fund for Victims of Torture) โดยเขาคอยช่วยเหลือเหยื่อที่รอดชีวิตเพื่อการฟื้นฟูจากการถูกทรมานในพื้นที่ดังกล่าว

ตามข้อมูลของกลุ่มด้วยใจ รอนิงได้เข้าร่วมทำงานกับกลุ่ม หลังจากมีการกล่าวหาว่า เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารกระทำการทรมาน ระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ในจังหวัดปัตตานี

นับแต่ปี 2547 ได้เกิดการโจมตีเพื่อก่อความไม่สงบมากขึ้นโดยกลุ่มติดอาวุธของชาวมลายูมุสลิม เพื่อต่อต้านรัฐไทยในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งมีเขตแดนติดกับประเทศมาเลเซีย

พื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ตามข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีผู้ถูกสังหารอย่างน้อย 7,594 คน ระหว่างเดือนมกราคม 2547 - เมษายน 2567

นับตั้งแต่เริ่มมีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีการบันทึกข้อมูลและพบการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในพื้นที่ โดยทางการไม่สามารถอำนวยให้เกิดความยุติธรรมในคดีที่สงสัยว่าจะเป็นการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ

ในระดับโลก วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) หรือที่เมืองไทยคุ้นเคยกันในนาม “วันต่อต้านการทรมานสากล” เพื่อรณรงค์ให้ยุติการทรมาน ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อผู้ถูกทรมานทั่วโลก