02 ธ.ค. 2567 | 12:56 น.
สุขภาพช่องปาก ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน และเป็นหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมให้แก่ประชาชน
เพื่อผลักดันให้เป็นวาระสำคัญระดับสากลอย่างมีส่วนร่วม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศ 'ปฏิญญากรุงเทพ' ซึ่งถือเป็นฉันทามติสุขภาพช่องปากครั้งแรกของโลก โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ กว่า 194 ประเทศ พร้อมทั้งแถลงผลลัพธ์การประชุมที่มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ โดยมุ่งเน้นให้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จำเป็นอย่างทั่วถึง
การหารือประชุมร่วมกันจนเกิดฉันทามติดังกล่าว เกิดขึ้นในการประชุมสุขภาพช่องปากโลก (WHO Global Oral Health Meeting) ระหว่างวันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
โดยมีการหารือประชุมร่วมกันจนเกิดฉันทามติระหว่างองค์การอนามัยโลก และประเทศสมาชิก 194 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย มุ่งมั่นแสดงเจตจำนงร่วมกัน ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากให้เกิดความเสมอภาค ตลอดจนเกิด ปฏิญญากรุงเทพ ฯ (Bangkok Declaration) ขึ้น
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงสาระสำคัญของปฏิญญากรุงเทพฯ คือ การยืนยันมติด้านสุขภาพช่องปาก ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2021 และขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากโลก 2023-2030 ที่มีหลักการสำคัญ คือ การเสริมสร้างนโยบายด้านสุขภาพช่องปาก ระบบสุขภาพและการให้บริการ ในบริบทของการดูแลสุขภาพปฐมภูมิและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ตลอดจนการผนวกสุขภาพช่องปากให้เป็นส่วนหนึ่งของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อผลักดันให้สุขภาพช่องปากเป็นวาระสำคัญระดับโลกอย่างมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สนับสนุนให้ประชากรโลกเข้าถึงบริการทันตกรรมได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม นำไปสู่การมีสุขภาพช่องปากที่ดีส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การประชุมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านสุขภาพช่องปากภายในปี 2573 และเกิด Roadmap ของแต่ละประเทศ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ 3 ด้าน ดังนี้
1) ร้อยละ 80 ของประชากรโลก มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จำเป็น
2) อุบัติการณ์ของโรคและสภาวะในช่องปากที่สำคัญทั่วโลกรวมกันตลอดช่วงชีวิต มีแนวโน้มลดลง ร้อยละ 10
3) ร้อยละ 50 ของประเทศสมาชิกมีมาตรการที่มุ่งลดการบริโภคน้ำตาล
“หลังจากการประชุมสุขภาพช่องปากโลกครั้งนี้ ประเทศไทยจะนำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากโลก พ.ศ. 2566 - 2573 (ปี 2023-2030) มาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง”
อธิบดีกรมอนามัย ย้ำถึงสิ่งที่จะดำเนินการหลังจากนี้ คือ การจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติซึ่งประกอบด้วยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งด้านสาธารณสุข นอกภาคสาธารณสุข
“โดยเฉพาะภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันจัดการปัจจัยกำหนดสุขภาพเชิงพาณิชย์ เช่น น้ำตาล บุหรี่ ซึ่งส่งผลคุกคามต่อสุขภาพช่องปากและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เร่งสร้างให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากเพื่อป้องกันตนเองจากการเกิดโรคในช่องปาก และสามารถจัดการปัญหาสุขภาพช่องปากได้
“รวมทั้ง การจัดระบบบริการสุขภาพช่องปากให้เอื้อต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ชุมชนแออัดในพื้นที่เขตเมือง ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ” พญ.อัมพรกล่าว
นี่ไม่เพียงเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับสุขภาพช่องปากของผู้คนทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก แต่ยังสะท้อนถึงความร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างแท้จริง