มิตรผล - KKIC สร้างโมเดล ‘อีสาน BCG model’ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ – ดันเศรษฐกิจไทยโต

มิตรผล - KKIC สร้างโมเดล ‘อีสาน BCG model’ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ – ดันเศรษฐกิจไทยโต

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจมากปัจจัยหนึ่ง ‘อีสาน’ ภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยมากที่สุด ยังเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมของประเทศ การจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจบางทีต้องมีโมเดลใหม่นำร่อง ‘มิตรผล - ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ (KKIC)’ ร่วมกันสร้างโมเดลใหม่ ‘อีสาน BCG Model’ เพื่อหวังจะช่วยแก้ปัญหานี้

ในวันที่ 9 - 12 ธันวาคม 2565 จะเป็นงานมหกรรมใหญ่ที่สุดของภาคอีสานเลยก็ว่าได้ โดยงาน Isan BCG Expo 2022: ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ ถือว่าเป็นตัวชูโรงความร่วมมือได้ดีในครั้งนี้ ซึ่ง 2 องค์กรหลักที่ช่วยผลักดันให้เกิดก็คือ ‘กลุ่มมิตรผลและขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ (KKIC)’

 

 

อีสานเป็นภาคที่ประชากรอยู่มากที่สุด

ส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ เหตุผลที่เลือกนำร่อง ‘ภาคอีสาน’ เพราะเป็นภาคที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังเป็นภาคที่มีพื้นที่มากที่สุดด้วย สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ 80% ในอีสานทำอาชีพเป็นเกษตรกร และกว่า 43% เป็นพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรม

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการ กลุ่มมิตรผล ได้พูดว่า “การปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ และความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา ส่วนหนึ่งก็คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“โดยส่งเสริมให้ภาคการผลิต การค้า การลงทุน มีความเข้มแข็ง และสามารถกระจายโอกาสสู่ภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-based Development) เป็นเป้าหมายที่สำคัญในการกระจายความเจริญ โดยเฉพาะในภาคอีสานที่มีศักยภาพในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ รวมทั้งเป็นแหล่งแรงงาน และการค้าชายแดนที่สำคัญ”

ดร.พิเชฐยังพูดต่อว่า “การพัฒนาประเทศและคนในประเทศให้เติบโตอย่างทั่วถึง บางทีการ up-skill และ re-skill ก็ทำไม่ง่าย เราจึงต้องหาช่องทางใหม่ ๆ เพื่อผลักดัน อย่างเช่น BCG Model ซึ่งเป็นกระแสของยุคนี้

“ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกิดมากขึ้น และประเทศจะพัฒนาได้ดีเราจะต้องประคองเพื่อให้เติบโตไปพร้อมกัน

“หนึ่งในเป้าหมายหลักที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอีสาน คือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียน และเทคโนโลยีเขียว (BCG) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน แต่อย่างไรก็ตาม การประสานสามความร่วมมือทุกภาคส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะเป็นพลังร่วมที่จะขับเคลื่อนอีสานให้หลุดพ้นจากความยากจนและก้าวสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน”

 

ไทยส่งออกน้อยกว่านำเข้า

ขณะที่ กวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ (KKIC) ได้พูดถึงเหตุผลที่เกิดโมเดลนี้ขึ้นมาว่า ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าสินค้ามากมายจากต่างประเทศ แต่กลับส่งออกไปน้อยกว่า ดังนั้น BCG Model เป็นโซลูชันที่มาถูกทางและจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้

“KKIC ร่วมมือกับพันธมิตร ภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 50 ราย เช่น กลุ่มมิตรผล, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด, บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB), สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย หรือ TOCA, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, บริษัท โตโยต้าขอนแก่น ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด, โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น และ เทศบาลนครขอนแก่น เป็นต้น

“มองว่าภาคอีสานเป็นศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน จากศักยภาพและความพร้อมของภาคอีสานเชื่อว่าเหมาะสมในการพัฒนาเทคโนโลยีและสังคมสีเขียวตาม BCG Model”

การร่วมมือครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นโมเดลจากขอนแก่น ไปสู่ทั่วทั้งภาคอีสาน เชื่อว่าการสร้างโมเดลรูปแบบนี้จะช่วยทั้งคนท้องถิ่นให้เข้าใจการเติบโตแบบ BCG มากขึ้น ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ สู่ภูมิภาค และในระยะยาวจะช่วยให้ภาคอื่นในไทยเห็นความสำคัญกับโมเดล BCG และการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้นด้วย