'พาตีเมาะ สะดียามู' ผู้ว่าฯหญิงปัตตานี ภายใต้ผ้าคลุมฮิญาบ

'พาตีเมาะ สะดียามู' ผู้ว่าฯหญิงปัตตานี ภายใต้ผ้าคลุมฮิญาบ

พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนแรก บริหารจัดการวิกฤตน้ำท่วมใหญ่รอบ 30 ปีอย่างรวดเร็ว ทั้งการประกาศภัยพิบัติ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือ และวางแผนฟื้นฟู ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 150,000 ครัวเรือน

KEY

POINTS

  • ผู้ว่าฯ พาตีเมาะ สะดียามู รับมือวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปัตตานีอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว ด้วยการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติและจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กลางทันที
  • ด้วยความเป็นคนในพื้นที่ ผู้ว่าฯ พาตีเมาะ เข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรม จึงสามารถสื่อสารและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมของจังหวัด
  • พาตีเมาะ สะดียามู เป็นตัวอย่างของผู้นำหญิงที่ไม่เพียงแค่จัดการวิกฤตได้ดี แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจด้วยความสมดุลระหว่างการใช้กฎระเบียบและความเห็นอกเห็นใจประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้

เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ในหน้าประวัติศาสตร์ประเทศไทย คงต้องบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมในเขต 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไว้เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีที่ต้องเผชิญกับฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง 7 วัน 7 คืน และต้องเผชิญกับปริมาณมวลน้ำที่รับเข้ามาถึง  3 ทาง คือ ทั้งน้ำฝนที่ตกหนักปริมาณมากถึง 1000 ลบม.  น้ำจากเขื่อนบางลางจังหวัดยะลาลงแม่น้ำปัตตานี  และ สภาวะน้ำทะเลหนุน  จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่แทบทุกอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเมือง อำเภอยะรัง  และอำเภอหนองจิก เข้าขั้นวิกฤติระดับน้ำสูงสุดบางจุดเกิน 2 เมตร บ้านเรือนกว่า 150,000 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ ขณะที่ประชาชนกว่า 10,000 คนต้องอพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว  เป็นน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 30 ปี

เหตุการณ์ดังกล่าว ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า  ไฟฟ้าถูกตัด น้ำปะปาไม่มีใช้  อาหารขาดแคลน ถนนการสัญจรถูกตัดขาด บ้านเรือนหลายหลังถูกน้ำพัด ฝน ลมกระหน่ำ จนบ้านเรือนพังเสียหายจำนวนมาก ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบที่คนในพื้นที่เองก็คาดไม่ถึง 

ในสถานการณ์วิกฤต ย่อมสร้างวีรบุรุษ หรือวีรสตรี อย่างน้อยก็ในใจผู้คน ซึ่งในเหตุการณ์นี้ ผู้ว่าหญิงหนึ่งเดียวของจังหวัดปัตตานี ได้รับคำชื่นชมสำหรับการทำงานที่รวดเร็ว 

พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการหญิงคนแรกของจังหวัดปัตตานี 

\'พาตีเมาะ สะดียามู\' ผู้ว่าฯหญิงปัตตานี ภายใต้ผ้าคลุมฮิญาบ

ทันทีที่ทราบว่าจะเกิดอุทกภัยใหญ่ ผู้ว่าฯ พาตีเมาะ จึงเตรียมตัวรับมือตั้งแต่ต้นทาง และเรียกทุกฝ่ายเข้าประเมิน และแจกแจง แบ่งฝ่ายในการช่วยเหลือ ป้องกัน 

การบริหารจัดการของผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นหนึ่งในผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้ ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ เธอได้แสดงบทบาทผู้นำที่เข้มแข็งและรวดเร็ว 

วันแรกได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติทันที 3 อำเภอ และวันต่อมา ประกาศจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ทุกอำเภอ  เพื่อให้เกิดการช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินทันที  ทั้งการสั่งการแบบเร่งด่วน ทันทีทันใด การลงพื้นที่ทันทีหลังเกิดน้ำท่วม โดยประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เช่น กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครในพื้นที่ เรือท้องแบน รถยกสูง รถบรรทุก เพื่อจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กลาง ประเมินสถานการณ์ และหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้กระจายกำลังช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว พร้อมกับสั่งการจัดตั้งศูนย์พักพิงและการช่วยเหลือ มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ในเมือง และตามอบต . หรือโรงเรียน ทุกแห่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมจัดหาอาหารตั้งโรงครัวกลาง  ประสานทางสาธารณสุขจังหวัดจัดหายารักษาโรค และสิ่งของจำเป็น รวมถึงการสนับสนุนจิตวิทยาให้กับผู้ประสบภัย

\'พาตีเมาะ สะดียามู\' ผู้ว่าฯหญิงปัตตานี ภายใต้ผ้าคลุมฮิญาบ

นอกจากนี้ยังมีใช้การสื่อสารเชิงรุก  ผู้ว่าฯ พาตีเมาะ ใช้สื่อโซเชียลมีเดียและเครือข่ายท้องถิ่นและช่องทางสื่อสารทุกช่องทาง เพื่อแจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมและเส้นทางอพยพแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง 

อีกทั้งเธอยังเปิดพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะและความต้องการเร่งด่วนของชุมชน รวมทั้งการวางแผนฟื้นฟู ระยะสั้นและระยะยาว 

หลังน้ำลด ผู้ว่าฯได้หารือกับภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบไฟฟ้า และระบบประปา พร้อมเร่งจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมระยะยาว เช่น การขุดลอกคลองและสร้างแนวคันกั้นน้ำ จนทำให้เสียงสะท้อนจากประชาชนหลายฝ่ายชื่นชมการบริหารจัดการของ ผู้ว่าฯ พาตีเมาะ ว่ามีความเด็ดขาดและใส่ใจประชาชน โดยเฉพาะการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องและไม่ทอดทิ้งคนในพื้นที่ห่างไกล 

\'พาตีเมาะ สะดียามู\' ผู้ว่าฯหญิงปัตตานี ภายใต้ผ้าคลุมฮิญาบ

อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงวิพากษ์เกี่ยวกับความพร้อมของระบบเตือนภัยและการจัดการทรัพยากรที่บางจุดยังล่าช้า อยู่บ้างในบางจุด

จากเหตุการณ์ทั้งหมด ผู้ว่าฯ ได้กล่าวถึงการทำงานของทุกภาคส่วนว่า ทุกคนต้องทำงานกันอย่างหนัก ในส่วนการบริหารเมื่อมีศูนย์บัญชาการแล้ว ได้สั่งการให้แบ่งโซนอำเภอ ผ่านรองผู้ว่าทั้ง 3 คนในจังหวัด 12 อำเภอ รองผู้ว่าต้องรับผิดชอบคนละ 4 อำเภอ ให้อยู่หน้างานตลอดสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง  และทางจังหวัดได้เตรียมงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนตามเกณฑ์ ที่รัฐบาลเตรียมไว้ และเตรียมแผนฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรโดยเร็วที่สุดด้วย  

การแก้ปัญหาอีกจุดหนึ่งที่ประทับใจคนในพื้นที่คือ การจัดการกับปลากระชัง ปลาเลี้ยงที่น็อคน้ำ เสียหายหลายตันทางผู้ว่าฯ ได้สั่งการเหมานำมาแช่แข็ง เพื่อมาทำปรุงอาหารแจกทั้งหมด เอา มาทอด มาทำอาหารกล่องทั้งหมด ช่วยชาวบ้านไม่ให้เสียหาย เงินที่สามารถนำมาใช้ก่อนได้เลยคืองบประมาณที่ได้จากภาคเอกชนที่บริจาคกันมาจำนวนมาก มีเพียงพอแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที  พร้อมกับมองว่าต้องวางแผนระยะยาวในการปรับปรุงระบบระบายน้ำและจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งการจัดการเตรียมแผนเงินเยียวยาผลกระทบของรัฐบาล   และการดูแลประชาชนเร่งการทำความสะอาด หลังน้ำลด ให้เรียบร้อย 

\'พาตีเมาะ สะดียามู\' ผู้ว่าฯหญิงปัตตานี ภายใต้ผ้าคลุมฮิญาบ

ผู้ว่าฯ พาตีเมาะ สะดียามู หรือ "กะเมาะ" ผู้หญิงมุสลิมจากจังหวัดยะลา ได้สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ภายใต้ผ้าคลุมฮิญาบ เธอเป็นต้นแบบของผู้หญิงที่บริหารงานควบคู่กับการดูแลครอบครัวอย่างสมดุล

ด้านประวัติชีวิตและการศึกษานั้น "กะเมาะ" เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2508 ที่บ้านปีซัด ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เริ่มต้นการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนวัดลำใหม่ ก่อนเรียนต่อที่โรงเรียนพัฒนาวิทยา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และปริญญาโทด้านการจัดการพัฒนาสังคม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

เส้นทางราชการ เริ่มต้นการรับราชการในปี 2536 ที่สำนักงานจังหวัดระนอง จากนั้นเติบโตในสายงานบริหารในจังหวัดยะลาและปัตตานี ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัดพัทลุง และรองผู้ว่าราชการจังหวัดในหลายพื้นที่ เช่น พัทลุง นราธิวาส และยะลา

ในปี 2565 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี 

มิติการบริหารที่แตกต่างและคุณสมบัติพิเศษ และ สิ่งที่ทำให้การบริหารของ "กะเมาะ"  โดดเด่นคือความเป็นคนพื้นที่ ความเข้าใจบริบททางสังคม วัฒนธรรม และความละเอียดอ่อนในชีวิตคนใต้ ใช้การพูดคุยและความเข้าใจเป็นเครื่องมือบริหาร แทนการสั่งการหรือบังคับ  โดยเธอเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่ผลักดันความสำเร็จของเธอมี 3 ส่วน ได้แก่ ต้นทุนชีวิตและความเข้าใจในท้องถิ่น  ความเป็นมุสลิมและการเติบโตในพื้นที่ช่วยให้เธอเข้าถึงปัญหาและแก้ไขได้อย่างลึกซึ้ง

\'พาตีเมาะ สะดียามู\' ผู้ว่าฯหญิงปัตตานี ภายใต้ผ้าคลุมฮิญาบ

สอง การบริหารด้วยศิลปะของการสื่อสาร ใช้แนวทางที่เหมาะสมกับผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานในแต่ละสถานการณ์

และสาม บทบาทตามกฎหมายและหน้าที่ - การยึดมั่นในกฎระเบียบช่วยสร้างความเชื่อมั่นในองค์กร

สถานการณ์ความรุนแรงปัญหาชายแดนภาคใต้กินระยะเวลามายาวนาน เมื่อมีผู้ว่าหญิงมุสลิมมะห์ในพื้นที่ จึงเป็นความเหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน

'กะเมาะ' เน้นสร้างความสมดุลระหว่างการบริหารแบบเข้าใจและการใช้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ภาคใต้ในปัจจุบัน ที่ประชาชนต้องการความเห็นอกเห็นใจและความร่วมมือ

'กะเมาะ' คือแบบอย่างของผู้นำหญิงที่ไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในพื้นที่และสังคมโดยรวมได้ประจักษ์

สำหรับวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมที่ยั่งยืน ทั้งการปรับปรุงระบบระบายน้ำ การเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชน

ในฐานะผู้นำหญิงในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย พาตีเมาะ สะดียามู ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและศักยภาพในการบริหารวิกฤตที่ซับซ้อน ซึ่งไม่เพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นในบทบาทของผู้หญิงในงานบริหารราชการอีกด้วย