08 พ.ค. 2564 | 14:37 น.
ถ้าเด็กติดเกมจะทำอย่างไร...ห้ามเล่น ต่อรอง หรือตักเตือน ? ขณะที่ผู้ใหญ่บางคนพยายาม ‘แก้ไข’ ผู้ใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งในจังหวัดสกลนครกลับเลือกที่จะ ‘เข้าใจ’ ปัญหานี้เสียก่อน ด้วยวิธีแบบหนามยอกให้เอาหนามบ่ง คือจัดการแข่งขันอีสปอร์ตสำหรับคุณครูในสกลนครขึ้น โดยใช้ชื่อโครงการว่า ‘เล่นให้เด็กมัน(ส์)ดู’ The People จึงนัดหมายพูดคุยกับคุณต้อม-ชินวร ตยางคนนท์ นายกสมาคมอีสปอร์ตจังหวัดสกลนคร และครูชวน-อภิวัฒน์ นันอุดร ครูฟิสิกส์ โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา หนึ่งในทีมงานจัดการแข่งขันอีสปอร์ตครั้งนี้ อีสปอร์ต โค้ช และครู คุณต้อมคือหนึ่งในคณะกรรมการการศึกษาในจังหวัดสกลนคร และเป็นหนึ่งในคนที่เล่นเกมมาก่อน โดยเฉพาะ Red Alert เกมวางแผนกลยุทธ์ใช้ทรัพยากร หรือ Sim City เกมวางแผนสร้างเมือง “เกมเหล่านี้ทำให้ผมถนัดวางแผนการทำงานในชีวิตประจำวัน ทั้งทรัพยากรที่มีจำกัด จะทำยังไงให้มันเกิดประโยชน์สูงสุด แล้วก็ฝึกวิธีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับคน ทำงานร่วมกันเป็นทีม แต่เกมมันก็มีโทษเรื่องการออกแบบให้คนเสพติด ให้อยากเสียตังค์กับมัน เพราะเขาก็อยากหาเงิน ซึ่งผมไม่อยากให้เด็กสกลนครเป็นแบบนั้น” ด้วยแนวคิดนี้ประกอบกับการอยากเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาแวดวงการศึกษาในจังหวัด ทำให้เขาเริ่มสนใจกีฬาอีสปอร์ต “ลักษณะของเกมอีสปอร์ต มันจะต้องแฟร์ แล้วต้องวัดกันที่ความสามารถ ทักษะ การทำงานเป็นทีม ไม่ใช่วัดกันที่อยู่มานาน สะสมเงินได้เยอะ เกมมันจะมี 2 ประเภท ประเภทแบบหลอกล่อเอาตังค์ เดี๋ยวก็เติมไอเทม เติมอาวุธ ต้องเสียเงิน หลอกล่อสารพัดต่าง ๆ เขาหารายได้ เขาไม่ให้เราไปฟรีอยู่แล้ว แต่อีสปอร์ต จะโดนคัดกรองตั้งแต่ข้างบน ตั้งแต่ระดับโลกมาเลย เวลาแข่งเกมก็จะมีเรื่องความแฟร์ว่า ไอเทมนี้ห้ามใช้ ไอเทมนู้นห้ามใช้ เหมือนคุณไปเล่นกีฬาสักชนิดหนึ่ง แล้วเขาอนุญาตให้ใช้แค่ไม้เทนนิสยี่ห้อดี ๆ ได้ แต่ให้ใช้ไม้เทนนิสแบบระบบตีอัตโนมัติก็คงไม่ได้ อะไรที่มันเป็นอีสปอร์ต มันจะถูกกำหนดให้มีความยุติธรรมแบบนี้” คุณต้อมอธิบายถึงความแตกต่างของอีสปอร์ตกับเกมทั่วไป และด้วยความตั้งใจอยากจะพัฒนาอีสปอร์ตสู่การศึกษาในเชิงบวก เขาจึงมองย้อนกลับไปว่า คนที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด นอกจากพ่อแม่คือ ‘คุณครู’ “ผมก็เลยมองว่าคุณครูนี่แหละเป็นคนที่แอนตี้เกม เป็นคนที่ใกล้ชิดเด็ก เขากลัวคนจะมาเอาลูกศิษย์เขาไปหลอก ไปเอาตังค์ลูกศิษย์เขา เพราะงั้นเราจะทำยังไงให้ครูปกป้องเด็กได้ ครูก็ต้องเข้าใจเกม ผมบอกตรง ๆ ว่า ครูปฏิเสธไม่ให้เด็กเล่นเกมไม่ได้หรอก มือถืออยู่ในมือเด็กแล้ว มันจะเป็นคุณหรือโทษก็ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้แนวความคิด แต่ถ้าครูไปเป็นโค้ช ไปเป็นพี่เลี้ยง ใส่แนวความคิดพื้นฐานให้เด็ก เขาจะคัดสรรเกม แล้วก็ไม่เป็นเหยื่อของเกม” เปิดใจครูสู่คลาส E-Sport 101 แม้ปัจจุบันอีสปอร์ตจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถลบภาพลักษณ์ของความรุนแรง ก้าวร้าว และการเสพติดในสายตาผู้ใหญ่จำนวนมาก การทำให้คุณครูและผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาเปิดใจให้กับอีสปอร์ตจึงนับเป็นด่านใหญ่ที่สำคัญ “อธิบายให้ถูกคน แล้วก็ขอเปิดประเด็นให้ถูก” คุณต้อมบอกกับเราเมื่อถามถึงวิธีการสื่อสารเพื่อ ‘เปิดใจ’ คุณครูสู่กีฬาอีสปอร์ต “ผมก็ไปถามครูว่าอะไรบ้างที่ครูกังวลเกี่ยวกับเรื่องเกมทั้งหมด ท่าน ผอ. ก็เขียนมาเลย อย่างเช่น ทุกคนไม่สามารถเป็นนักกีฬาได้หมดหรอก มันมีไม่กี่คนที่จะประสบความสำเร็จเป็นนักกีฬา มันเป็นการหลอกลวง อันที่สองก็เกมทำให้เสียเงินเสียทอง ทำให้เกิดความก้าวร้าว เด็กยิงฆ่ากันในนั้นแล้วก็อยากจะมาทำกันจริง ๆ ในชีวิตจริง พอเล่นเกมมาก ๆ เด็กก็ไม่อยากทำงานบ้าน ไม่สนใจรอบข้าง เล่นมากก็เปลืองไฟฟ้า เปลืองค่าโทรศัพท์ ครูบอกอย่างนี้ ก็จะมี 10 ข้อ ซึ่งผมก็เอามาเขียนคำตอบ แล้วทำเป็นคลิปวิดีโอไปอธิบาย “พอท่าน ผอ. รู้ข่าวอย่างนี้เขาก็อยากเจอผม ท่านก็มาบอกกับผมว่า เห็นคลิปของคุณต้อมแล้ว ผมไปเปิดงานกีฬาสีหลายที่ แล้วเด็ก ๆ เรียกร้องผมเหลือเกิน อยากจะแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต แต่ผมไม่รู้จะเริ่มยังไง พอเห็นคุณต้อมปุ๊บ ผมก็เลยสนใจ ผมเลยบอกไปว่าผมยังไม่อยากจัดกีฬา ผมอยากให้ความรู้คุณครูก่อน สร้างความเข้าใจคุณครูก่อน” การเปิดใจของผู้บริหารในสถานศึกษาดังกล่าว จึงเป็นที่มาการอนุญาตให้โรงเรียนจัดตั้งชมรมอีสปอร์ตและงานสัมมนาให้ความรู้เรื่องอีสปอร์ตสำหรับคุณครู ซึ่งคุณต้อมย้ำว่า อยากให้คุณครูเข้าร่วมโครงการนี้เป็นคุณครูสมัครใจอยากจะมาจริง ๆ ทำให้มีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 200 คน หนึ่งในนั้นคือ ครูชวน-อภิวัฒน์ นันอุดร ครูฟิสิกส์ชั้น ม.5 จากโรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา ซึ่งครูชวนเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า “จากทีแรกที่คิดว่าอีสปอร์ต ในความคิดผมคือต้องเป็นนักกีฬา ต้องเป็นนักพากย์ที่เราเห็นตามสื่อ แต่พอเข้ามาแล้วก็มีหลายบทบาทหน้าที่ ถึงแม้ว่ามันจะเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็สำคัญ อย่างเช่นคนที่คอย control เรื่องของการจับภาพในเกม หรือว่าคนที่คอยสวิตช์ภาพตัดไปโฆษณาเข้าพิธีกร ซึ่งมันก็เป็นมุมมองที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ก็เป็นอะไรที่สำคัญในวงการอีสปอร์ต” เดิมทีการอบรมครั้งนี้จะต่อยอดด้วยการจัดตั้งชมรมอีสปอร์ต ภายใต้ 2 แนวคิดหลัก อย่างแรกคือการคัดเลือกเกมสำหรับอีสปอร์ตตามหลักสากล อย่างที่สองคือการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าเด็ก ๆ ที่จะเข้ามาชมรมอีสปอร์ตได้ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เช่น หากติด 0 ติด ร หรือหมดสิทธิ์สอบ ต้องไปแก้ให้เรียบร้อยก่อนจึงจะสามารถสมัครได้ แต่หลังจากอบรม ได้มีเสียงตอบรับจากคุณครูหลายท่านว่า อยากให้จัดการแข่งขันอีสปอร์ตขึ้นมาจริง ๆ ทางสมาคมฯ จึงต่อยอดจากภาคทฤษฎีมาเป็นโครงการ ‘เล่นให้เด็กมัน(ส์)ดู’ อีสปอร์ตสำหรับคุณครูสกลนครในช่วงปิดภาคเรียน ถึงเวลา ‘เล่นให้เด็กมัน(ส์)ดู’ การแข่งขันครั้งนี้มีทั้งคุณครูที่อยู่เบื้องหน้า คือทีมนักกีฬาอีสปอร์ต และทีมงานเบื้องหลังทั้งหมด 8 คน โดยครูชวนรับหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงาน “พอทีมงานบอกว่าจะมีการจัดแข่งขัน ตัวผมเองทีแรกก็อยากจะเป็นนักกีฬา แต่เห็นทีมงานเขาประกาศรับเบื้องหลังแล้ว ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม บางคนที่มาเป็นนักกีฬารอบนี้ ก็เป็นผู้เล่นที่มีความชำนาญมาก ส่วนบางคน rank ต่ำไปเลยก็มีเหมือนกัน แต่ทุกคนก็อยากมาสร้างปรากฏการณ์ร่วมกัน คือทำให้เด็กเห็นว่าเราก็สามารถเล่นเกม สามารถเข้าใจสิ่งที่นักเรียนกำลังทำหรือว่ากำลังเล่นได้จริง ๆ “ถึงแม้ครูจะห้ามนักเรียนเล่นเกม นั่นก็เพราะว่านักเรียนกำลังเล่นเกมในช่วงที่ทำกิจกรรมหรือในช่วงเรียน เขาอาจจะมองว่าเราไม่เข้าใจเขา แต่จริง ๆ แล้วเราก็เล่นเกมเหมือนกัน เราก็เข้าใจ บางช่วงที่ต้องทำหน้าที่เราก็ต้องเตือนเขา แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับการเตือน เพราะว่าส่วนใหญ่วัยรุ่นจะเชื่อเพื่อนมากกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าอยากไปทำความเข้าใจกับเขา หนึ่งก็คือต้องรู้ในสิ่งที่เขาเป็น ในสิ่งที่เขาอยากทำก่อน เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้มันจะทำให้สื่อสารกับเขาได้ง่ายขึ้น ถ้าอยากให้เขาเข้าใจจริง ๆ เราก็ต้องคุยภาษาเดียวกัน ทั้งเกม ทั้งกลุ่มเพื่อนของเขา เราก็ต้องไปศึกษา อันนี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรจะทำ” #เด็กติดเกม = เด็กมีปัญหา ? ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจัดโครงการเล่นให้เด็กมัน(ส์)ดู มีทั้งเด็ก ๆ ในโรงเรียนเริ่มติดตามการแข่งขัน โรงเรียนแชร์โพสต์อัปเดตการแข่งขันอีสปอร์ตลงในเพจ รวมทั้งคุณครูจากจังหวัดอื่น ๆ ที่เริ่มมาคอมเมนต์ว่าอยากมีกิจกรรมแบบนี้ในโรงเรียนบ้าง ส่วนคุณครูที่เข้าแข่งขันหรือทีมงานเบื้องหลังอย่างครูชวนเองก็ได้เข้าใจมุมมองของเด็กมากยิ่งขึ้น “เกมออนไลน์ทุกวันนี้มันเข้าถึงกันได้ง่าย แล้วก็สามารถเล่นกับเพื่อนได้ ดังนั้น ก็ไม่แปลกใจที่จะทำให้เด็กสมัยนี้หันมาสนใจเกมมากขึ้น เพราะว่ามันสนุกมาก การที่จะห้ามให้เด็กไม่เล่นคงยาก ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจมุมมองของเขา แล้วพยายามทำข้อตกลงว่าควรจะเล่นเท่านี้ ๆ แล้วก็ควรจะไปทำอย่างอื่นด้วย ก็จะลดปัญหาได้ดีขึ้น คือถ้าเล่นเกมเฉย ๆ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าติดเกมอันนี้ผมก็มองว่ายังไงก็เป็นปัญหา คำว่าเด็กติดเกมในมุมมองของผมคือเด็กที่เล่นเกมมากเกินไป จนไม่มีเวลาตั้งใจเรียนหรือทำงานช่วยผู้ปกครอง อันนี้คือเขาจะมีปัญหากับการใช้ชีวิตแล้ว ดังนั้น ถ้าจะเล่นก็ควรจะแบ่งเวลาให้ถูกต้อง “แล้วอีกหนึ่งอย่างในสังคมทุกวันนี้ ผู้ใหญ่เขาอาจจะมองว่าเด็กติดเกมจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือเปล่า ในมุมมองของผมก็คือเกมมันไม่ได้ทำให้คนก้าวร้าว แต่สังคมหรือสภาพแวดล้อมทำให้เขาก้าวร้าว อย่างเช่นสังคมในเกมมีการพูดไม่เพราะ เด็กก็อาจจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นได้ ดังนั้น ก็ฝากถึงคนที่เล่นเกม พยายามทำให้สังคมเกมมันน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ก็คือใช้คำพูดที่เหมาะสม แล้วก็ให้กำลังใจกันมากกว่า ส่วนผู้ปกครองและครูที่ใกล้ชิดก็พยายามเตือนเขา อยู่ใกล้ ๆ เขาแล้วก็คอยดูแล พฤติกรรมเหล่านั้นก็จะไม่เกิดขึ้น” ครูชวนเล่าว่าหลังจบการแข่งขัน โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษาจะจัดตั้งชมรมอีสปอร์ตขึ้นโดยมีทั้งนักพากย์ นักกีฬา และหน้าที่อื่น ๆ ภายในชมรม รวมทั้งจัดการแข่งขันเช่นเดียวกับโครงการเล่นให้เด็กมัน(ส์)ดู “ถ้าเกิดเรามีเวที มีสนามให้เขา ให้เขามีโอกาสได้โชว์ทักษะตรงนี้ เขาก็สามารถที่จะไปเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต หรือทำงานเกี่ยวกับเบื้องหลังเหมือนที่ผมได้มาลองตอนนี้ได้” ครูชวนกล่าว สิ่งสำคัญคือความยั่งยืน จุดมุ่งหมายของคุณต้อม ครูชวนและทีมงานทั้งหมดไม่ได้มีเพียงการแข่งขันอีสปอร์ตช่วงปิดเทอมเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในระยะยาว “เราพัฒนาครูเพื่อไปให้ความรู้เด็กต่อ เด็กได้ความรู้ แล้วครูก็จัดกิจกรรม เราเปิดโอกาสให้คนที่เหมาะสมจะเข้าวงการอีสปอร์ตได้เข้าจริง ๆ เราไม่ปิดโอกาสเด็กที่มีอนาคต แล้วก็เอามาพัฒนาต่อให้เขาเกิดอาชีพ ดันเขาไปเป็นนักกีฬาระดับเยาวชน หรือวันดีคืนดีมีแมวมองหรือคนมีตังค์ที่ไหนก็ไม่รู้ มาเห็นความสามารถ เห็นศักยภาพเด็กคนนี้ ก็เอาเด็กคนนี้ไปทำงาน สร้างรายได้ ให้เงินเดือนเขา ก็จะตรงโจทย์ว่าไม่ต้องไปทำงานไกลบ้านไกลเมือง ทำงานอยู่ในโลกออนไลน์ก็หาเงินให้พ่อแม่ได้อย่างสุจริต “ส่วนผมก็จะได้ประโยชน์จากการที่ทุกคนจะปล่อยของ ผมก็จะเป็น tournament ให้คุณแข่งกัน แล้วก็จะมีคนเก่ง ๆ มาที่นี่ คนสกลนครก็ได้เรียนรู้ แล้วก็เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ผมจะเป็นคนกลางเชื่อมระหว่างน้อง ๆ เด็ก ๆ หรือคนที่อยากมีอาชีพในนี้ กับคนที่เป็นแมวมอง นี่คือสิ่งที่ผมจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะว่าถ้าผมให้อย่างเดียว แล้วไม่ได้อะไรกลับเลย มันจะเป็นเหมือนการบริจาค แล้วก็จะไม่ยั่งยืน ทำได้ไม่นาน แต่ถ้าเราทำสิ่งดี ๆ ด้วย เราได้ด้วย เราก็จะสามารถทำได้อย่างยั่งยืน “แต่ก็ต้องบอกนะครับมันเพิ่งเริ่มต้น เพิ่งลองผิดลองถูก ตอนนี้สิ่งที่ผมทำก็คือ ผมจดบันทึกแล้วแบ่งปันให้กับนายกสมาคมจังหวัดอื่น ๆ ได้เห็น เผื่อเขาอยากจะก๊อบปี้ เผื่อเขาจะเอาไปเลียนแบบ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนเรื่องหนึ่งของประเทศก็ได้นะ เบื้องต้นถ้าคุณครูเขาจัดแข่งขันครูทั่วประเทศได้ ผมก็ว่าน่าจะเป็นแรงกระเพื่อมหนึ่งที่ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ภาคราชการ ภาคการศึกษาได้เห็นเช่นเดียวกัน” คุณต้อมกล่าวทิ้งท้าย