08 พ.ค. 2565 | 00:07 น.
“ผมชื่นชอบข้อเท็จจริงที่ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน” มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน วัย 46 ปีที่ชื่อ ท็อดด์ โบห์ลี (Todd Boehly) กลายเป็นที่จับตาของคนทั่วโลก หลังเพิ่งเซ็นสัญญาซื้อทีมเชลซี สโมสรฟุตบอลชื่อดังในกรุงลอนดอนของอังกฤษด้วยมูลค่ารวม 4,250 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท) ดีลนี้รอแค่การรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลและพรีเมียร์ลีกอังกฤษก็จะเสร็จสมบูรณ์ และจะกลายเป็นการซื้อขายทีมกีฬาที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.2019 ท็อดด์เคยพยายามยื่นข้อเสนอซื้อทีมเดียวกันมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งวันที่ 2 มีนาคม 2022 โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ยอมประกาศขายเชลซีที่ครอบครองมานาน 19 ปี เพราะเจอมรสุมจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน อับราโมวิชถูกรัฐบาลอังกฤษอายัดทรัพย์และบีบให้ขายทีมเนื่องจากเชื่อว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียผู้ก่อสงคราม และนั่นจึงเป็นโอกาสให้ท็อดด์ โบห์ลี ได้พยายามติดต่อขอซื้อเชลซีอีกครั้ง แถลงการณ์ของสโมสรเชลซี ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2022 ระบุว่า กลุ่มนักลงทุนที่นำโดยท็อดด์ โบห์ลี บรรลุข้อตกลงซื้อเชลซีด้วยมูลค่า 4,250 ล้านปอนด์ แบ่งเป็นค่าหุ้นสโมสร 2,500 ล้านปอนด์ และเงินลงทุนอีก 1,750 ล้านปอนด์ เจ้าพ่อวงการกีฬาจากแอลเอ การเทคโอเวอร์ครั้งนี้มาจากการรวมตัวกันเป็นกิจการค้าร่วม (consortium) ของกลุ่มนักธุรกิจที่มีท็อดด์เป็นแกนนำ นอกจากนี้ยังมีมาร์ค วอลเตอร์ เจ้าของทีมแอลเอ ด็อดเจอร์ส ในเมเจอร์ลีกเบสบอลสหรัฐฯ, ฮันส์ยอร์ก วีสส์ มหาเศรษฐีชาวสวิสผู้ให้ข่าวเรื่องการซื้อขายทีมนี้เป็นคนแรก, โจนาทาน โกลด์สตีน นักธุรกิจอสังหาฯ ชาวอังกฤษ ผู้ช่วยวางแผนปรับปรุงสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ ตลอดจนดาเนียล ฟิงเคิลสไตน์ นักข่าวชาวอังกฤษซึ่งเป็นแฟนเชลซีตัวยง และบาร์บารา ชาโรนี ผู้บริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ชาวอเมริกันร่วมอยู่ในทีมด้วย ดีลนี้แม้ท็อดด์ โบห์ลี จะเป็นคนออกหน้า แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ เคลียร์เลค แคปิตอล (Clearlake Capital) บริษัทการลงทุนจากรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ขณะที่ท็อดด์เป็นหัวหน้าทีมเจรจาและออกหน้าในฐานะเจ้าของทีม เนื่องจากเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในการทำทีมกีฬามาก่อน ก่อนจะมาเป็นเจ้าของทีมเชลซี ท็อดด์เป็นหนึ่งในเจ้าของทีมกีฬาที่มีชื่อเสียงในอเมริกา เขาจับมือกับมาร์ค วอลเตอร์ ซื้อแอลเอ ด็อดเจอร์ส ทีมเบสบอลชื่อดังของนครลอสแองเจลิส ในปี 2012 และช่วยพลิกฟื้นทีมที่ตกต่ำให้กลับมายิ่งใหญ่จนผงาดคว้าแชมป์เวิลด์ซีรีส์ในปี 2020 นอกจากนี้ ท็อดด์ยังมีหุ้นร่วมเป็นเจ้าของทีมบาสเกตบอลชื่อดังในเมืองเดียวกันอีก 2 ทีม คือ แอลเอ เลเกอร์ส ในศึกบาส NBA และแอลเอ สปาร์กส ทีมบาสหญิงอาชีพในศึก WNBA แชมป์มวยปล้ำกีฬานักเรียน “สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมหลงรักเกมกีฬา คือ แฟนส่วนใหญ่มีความคลั่งไคล้ (passion) ในทีมของพวกเขา” อดีตนักกีฬามวยปล้ำเยาวชนที่กลายเป็นมหาเศรษฐีนักลงทุนกล่าวถึงเสน่ห์ของวงการกีฬา แม้ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับวันเดือนปีเกิดของท็อดด์ โบห์ลี ยังไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่เว็บไซต์บริษัทที่เขาสังกัดระบุประวัติคร่าว ๆ ของชายผู้นี้ว่าเป็นชาวอเมริกันที่รุ่นปู่ย่าตายายอพยพมาจากเยอรมนี ระหว่างเรียนไฮสคูลที่โรงเรียนแลนดอน ในรัฐแมริแลนด์ ของสหรัฐฯ ท็อดด์เคยเป็นนักกีฬามวยปล้ำของโรงเรียน และเป็นตัวแทนของทีมสถาบันลงแข่งขันในกีฬานักเรียนระดับชาติ พาทีมโรงเรียนคว้าแชมป์มวยปล้ำมาครองได้ถึง 2 สมัยในปี 1990 และ 1991 หลังจบไฮสคูล ท็อดด์เข้าศึกษาต่อปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจที่วิลเลียม แอนด์ แมรี คอลเลจ ในรัฐเวอร์จิเนีย ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อด้านไฟแนนซ์ ที่ลอนดอน สคูล ออฟ อิโคโนมิกส์ (LSE) ในประเทศอังกฤษ และนั่นอาจเป็นประสบการณ์ตรงครั้งแรกที่ทำให้เขาได้รู้จักกับทีมเชลซี อย่างไรก็ตามระหว่างเรียนอยู่ที่ LSE ท็อดด์ยังคงมุ่งมั่นเอาดีด้านการเงินการลงทุน โดยทำงานที่ซิตี้แบงค์ และเครดิตสวิส เฟิร์ส บอสตัน ควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือ หลังจบออกมา เขาบินกลับบ้านเกิดและในปี 2001 เข้าทำงานกับกุกเกนไฮม พาร์ตเนอร์ (Guggenheim Partners) บริษัทที่ปรึกษาการเงินชื่อดังในเมืองชิคาโก ท็อดด์เริ่มสร้างชื่อเสียงในแวดวงการเงินการลงทุนที่กุกเกนไฮม ด้วยการเป็นผู้ก่อตั้งฝ่ายสินเชื่อและรับหน้าที่ดูแลธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ต่าง ๆ จนต่อมาถูกโปรโมตให้นั่งเก้าอี้ประธานบริษัท [caption id="attachment_44476" align="aligncenter" width="532"] LONDON, ENGLAND - MAY 07: Todd Boehly, prospective buyer of Chelsea FC, whistles his approval during the Premier League match between Chelsea and Wolverhampton Wanderers at Stamford Bridge on May 7, 2022 in London, United Kingdom. (Photo by Craig Mercer/MB Media/Getty Images)[/caption] ก่อตั้งบริษัทลงทุนเทียบวอร์เรน บัฟเฟตต์ หลังเรียนรู้การลงทุนจนเชี่ยวชาญ ท็อดด์ลาออกจากกุกเกนไฮม มาตั้งบริษัทโฮลดิ้ง คอมพานีของตัวเองในปี 2015 ใช้ชื่อว่า เอลดริดจ์ อินดัสตรีส์ (Eldridge Industries) พร้อมนั่งควบทั้งเก้าอี้ประธานและซีอีโอของบริษัท เอลดริดจ์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐคอนเนคติกัต ของสหรัฐฯ และถือหุ้นในธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งโรงแรม อสังหาฯ อาหาร เทคโนโลยี สื่อและบันเทิง เป็นเจ้าของนิตยสารชื่อดังมากมาย อาทิ โรลลิงสโตน, บิลบอร์ด, วาไรตี้ และฮอลลีวูด รีพอร์ตเตอร์ ด้วยพอร์ตฯ การลงทุนอันหลากหลายและธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว หลายคนมักนำเอลดริดจ์ของท็อดด์ โบห์ลี ไปเปรียบเทียบกับเบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ บริษัทของปรมาจารย์การลงทุนอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ แตกต่างจากท็อดด์ โบห์ลี คือความสนใจในวงการกีฬา แฟนกีฬาต้องมาอันดับหนึ่ง ท็อดด์เคยให้สัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการพลิกฟื้นทีมแอลเอ ด็อดเจอร์ส ให้กลับมายิ่งใหญ่ว่า เขาให้ความสำคัญกับแฟนคลับเป็นอันดับหนึ่ง “สุดท้ายแล้วเราต้องการให้แฟน ๆ กลับเข้าสนาม เราต้องการให้ทุกคนรู้สึกถึงความกระหายชัยชนะ คุณแค่ต้องจำไว้เสมอว่าแฟนคือศูนย์กลาง เมื่อใดก็ตามที่ไขว้เขว ต้องกลับมานึกให้ได้ว่า แฟนต้องมาก่อน” ท็อดด์ โบห์ลี กับโรมัน อับราโมวิช มีหลายสิ่งที่คล้ายกัน ทั้งคู่เป็นมหาเศรษฐี โดยนิตยสารฟอร์บส ประเมินมูลค่าทรัพย์สินส่วนตัวของท็อดด์ว่าอยู่ที่ราว 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้จะน้อยกว่าอับราโมวิช ซึ่งมีประมาณ 12,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ทั้งคู่จัดเป็นเจ้าของทีมใจป้ำที่พร้อมทุ่มเงินซื้อความสำเร็จคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างท็อดด์ กับโรมัน อับราโมวิช คือ วินัยทางบัญชี โดยสไตล์การทำงานของมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน แม้เขาจะยอมจ่ายเต็มที่เพื่อความสำเร็จ แต่คงไม่ยอมให้สโมสรขาดทุนเป็นหนี้ก้อนโตเหมือนกับอับราโมวิชอย่างแน่นอน สู้ความไม่แน่นอนด้วยการไม่หยุดพัฒนา โรมัน อับราโมวิช ซื้อทีมเชลซีในปี 2003 ด้วยมูลค่าประมาณ 140 ล้านปอนด์ ตลอด 19 ปีที่อยู่ในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ เขาพาเชลซีคว้าถ้วยแชมป์มาประดับตู้โชว์ได้ถึง 21 ใบ ในจำนวนนี้รวมถึงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2 สมัย (2012, 2021) และพรีเมียร์ลีก 5 สมัย (2005, 2006, 2010, 2015, 2017) ทว่าความสำเร็จในสนามกลับสวนทางกับตัวเลขในบัญชี เพราะเชลซีมีผลประกอบการขาดทุนสะสมตลอด 19 ปีสูงถึง 900 ล้านปอนด์ แถมเสี่ยหมียังต้องควักเงินส่วนตัวมาให้สโมสรกู้ใช้อีก 1,600 ล้านปอนด์ ถึงแม้เงินก้อนนี้เขายืนยันไม่เคยคิดจะทวงคืน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไร้วินัยทางการเงินได้เป็นอย่างดี “ที่สุดแล้วเราต้องพยายามสร้างฐานแฟนคลับให้เติบโต ยิ่งคุณมีแฟนคลับที่เหนียวแน่นมากเท่าไร ทีมของคุณก็จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อทีมแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โอกาสที่ทีมจะคว้าชัยก็มีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว “สิ่งเหล่านี้คือการเติมเต็มตัวมันเอง ที่ชัดเจนคือเราคิดถึงแฟนกีฬาและสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ โดยมีแฟนเป็นศูนย์กลาง” ท็อดด์กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการทำทีมกีฬาของตนเอง “มันคือหลักการทั่วไปที่ไม่มีอะไรแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ มันทำให้เราเจียมเนื้อเจียมตัวเมื่อคุณทำทุกอย่างถูกต้องหมดแล้วแต่ก็ยังไม่ชนะ มันคือส่วนสำคัญที่ทำให้ผมยังคงมุ่งมั่นที่จะทำทุกวันให้ดีที่สุด” ข้อมูลอ้างอิง: https://www.latimes.com/sports/soccer/story/2022-05-06/todd-boehly-dodgers-co-owner-sale-chelsea-fc https://www.wsj.com/articles/dodgers-part-owner-todd-boehly-to-enter-exclusive-talks-in-chelsea-fc-soccer-club-sale-11651240684 https://bbcfootball.info/who-are-hansjorg-wyss-and-todd-boehly-net-worth-of-potential-chelsea-buyers/ https://www.thesun.co.uk/sport/football/10521977/todd-boehly-net-worth-chelsea-takeover-preferred-bidder/ https://www.forbes.com/sites/annakaplan/2022/04/29/billionaires-square-off-over-chelsea-fc-todd-boehly-enters-talks-to-acquire-club-but-sir-james-ratcliffe-submits-bid/?sh=5196667d4a4f www.youtube.com/watch?v=JJc1V_WBG00 www.youtube.com/watch?v=gyaEX9jP39s