01 พ.ค. 2562 | 07:36 น.
- โยฮันน์ ครัฟฟ์ ตำนานนักเตะดัตช์มีอิทธิพลต่อวงการฟุตบอลยุโรปอย่างมาก
- ผลงาน ระบบ และแนวคิดต่าง ๆ ของสโมสรใหญ่หลายแห่งในวงการลูกหนังมีส่วนได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของครัฟฟ์
ในการแข่งขันยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาล 2018–19 ทีมอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม (สำเนียงดัตช์ออกเสียงว่า ‘อายแอ็กซ์’ ในที่นี้จะใช้คำว่า ‘อาแจ็กซ์’ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คุ้นชินมากกว่าเพื่อให้อ่านสะดวก) เขี่ยเรอัล มาดริด และยูเวนตุส 2 ทีมยักษ์แห่งยุโรปตกรอบไปก่อนเวลาอันควรแบบที่เซียนต้องพักรักษาตัวกันหลายวัน
ผลงานครั้งนี้ชวนให้หวนกลับไปนึกถึงบุคลากรคนสำคัญ ซึ่งหลายคนมองว่าทำให้อาแจ็กซ์ มีวันนี้ได้
คนที่ถูกพูดถึงคือ โยฮัน ครัฟฟ์ (Johan Cruyff) ตำนานดัตช์ผู้ล่วงลับ (สำเนียงดัตช์ออกเสียงว่า ครอยฟฟ์ ในที่นี้จะใช้คำว่า ‘ครัฟฟ์’ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คุ้นชินมากกว่าเพื่อให้อ่านสะดวก) เขาคือคนลูกหนังที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นผู้มีส่วนวางรากฐานนโยบายและแนวคิดต่อบุคลากรแถวหน้าของวงการฟุตบอลมากมาย โดยเฉพาะบุคลากรในบาร์เซโลน่า จนถึงอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ในทุกวันนี้
จากการบรรยายของตำนานแข้งดัตช์ ปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมครัฟฟ์ คืออิทธิพลจากสภาพแวดล้อมตั้งแต่วัยเด็กมากกว่าสิ่งอื่นใด ครัฟฟ์ เกิดเมื่อ ค.ศ.1947 ในครอบครัวที่เปิดร้านขายผักผลไม้สดห่างจากสนามเดอ เมียร์ (De Meer) แค่ไม่กี่ร้อยเมตร พ่อของเขาแทบไม่เคยพลาดเกมของอาแจ็กซ์ ลุงของครัฟฟ์ก็เป็นนักฟุตบอลที่เล่นให้อาแจ็กซ์ในยุค 50s แม้จะเล่นไม่กี่นัดก็ตาม
พ่อของครัฟฟ์ มีเพื่อนเป็นคนดูแลพื้นสนามของอาแจ็กซ์ ซึ่งเพื่อนของพ่อเป็นคนชวนครัฟฟ์ มาช่วยงานเล็กน้อยเมื่อมีโอกาส เพื่อนของพ่อครัฟฟ์ ยังเป็นผู้ช่วยเหลือเขาหลังจากพ่อของครัฟฟ์เสียชีวิตตอนที่ครัฟฟ์อายุเพียง 12 ปี แข้งดัตช์ยกให้เพื่อนของพ่อรายนี้เป็น ‘พ่อคนที่ 2’ และยกให้ เจนี ฟาน เดอร์ วีน โค้ชทีมเยาวชนเป็นพ่ออีกราย ตามมาด้วย ไรนุส มิเชลส์ อีกหนึ่งโค้ชคนสำคัญของอาแจ็กซ์ เป็นเสมือนพ่ออีกคนด้วย
ก่อนจะมีผู้สอนวิชา ครูและโค้ชคนแรกของครัฟฟ์ คือท้องถนนที่ช่วยให้เขาพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับนักฟุตบอลเพื่อเอาตัวรอดในการเล่นกับเพื่อน
องค์ประกอบเหล่านี้คือคำตอบของคำถามที่คนมักสงสัยว่า “ทำไมครัฟฟ์ถึงยิงประตูหรือผ่านบอลจากจุดที่ไม่มีใครคาดคิดได้”
ประสบการณ์จากการเปลี่ยนจุดที่เสียเปรียบให้เป็นสิ่งที่มอบประโยชน์แทนคือเครื่องมือพัฒนาตัวเองที่สำคัญตามสภาพแวดล้อมที่ครัฟฟ์เติบโตมา
ตำนานแข้งดัตช์เล่าแบบตรงไปตรงมาว่า หลังผ่านยุคค้าแข้ง เมื่อมาทำงานสายบริหารในทีมอาแจ็กซ์ กลับพบว่า ต้องรับมือกับองค์กรที่ตกยุค ครัฟฟ์ชี้จุดอ่อนไปที่บุคลากรระดับสูง บอร์ดบริหารที่กุมอำนาจตัดสินใจสำคัญ แต่หลายรายกลับไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เคาะลงไปอย่างลึกซึ้งมักสร้างปัญหาใหญ่ตามมา เงินที่สูญเปล่าหลายล้าน ไปจนถึงผลงานของทีมที่ตกต่ำ
ต้นตอหนึ่งของปัญหา (ตามความเห็นของครัฟฟ์) มาจากวิธีฝึกซ้อมของอาแจ็กซ์ การซ้อมของอาแจ็กซ์ในช่วงที่มีปัญหายึดกับหลักการที่ทั้งไม่เข้าท่าและตกยุค
ที่พบเห็นคือเน้นซ้อมแบบรวมกลุ่มตามนโยบายสโมสร ไม่โฟกัสที่การพัฒนาศักยภาพของปัจเจกเพื่อปลูกฝังความเข้าใจและลับคมทักษะเฉพาะเจาะจง ประกอบกับช่วงเวลาเดียวกัน ครัฟฟ์ สังเกตว่า ความนิยมของการเล่นฟุตบอลบนท้องถนน (ที่เขามองว่าเป็นอิทธิพลที่หล่อหลอมเขามาด้วย) ก็เสื่อมลง ทั้งหมดนี้คือเหตุผลหลักที่ทำให้อาแจ็กซ์ และเนเธอร์แลนด์ ไม่สามารถยืนหยัดในหัวแถวทีมชั้นยอดของยุโรปในระยะยาว
ปัญหานี้เหมือนระเบิดเวลาที่เรื้อรังนานปี เริ่มออกฤทธิ์ในช่วงปี 2008 และมาปะทุในปี 2010 จุดพีกสำหรับครัฟฟ์ คือเกมที่แพ้เรอัล มาดริด 0-2 ในรอบแบ่งกลุ่มศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ครัฟฟ์มองว่า หากยังเล่นแบบนี้สกอร์อาจเป็น 0-12 ก็ได้ ด้วยอารมณ์ขัดใจ ครัฟฟ์เขียนบทความวิจารณ์ทีมรักแบบเละเทะลงสื่อ ความพ่ายแพ้และบทความนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสู่การปฏิวัติของครัฟฟ์
ใจกลางของปัญหา ครัฟฟ์ เล็งเห็นว่าสโมสรเต็มไปด้วยคนที่ไม่มีองค์ความรู้เรื่องฟุตบอล เขาแนะนำว่าควรเป็นคนอย่าง วิม ยองค์ และ เดนนิส เบิร์กแคมป์ มาเป็นผู้สนับสนุนการทำงานในสนามของอาแจ็กซ์ ประการสำคัญคือ อาแจ็กซ์ ไม่สามารถแข่งกับทีมใหญ่ของยุโรปในเรื่องซื้อตัว จ่ายค่าตัวและค่าเหนื่อยแพงลิบไม่ไหว การเจรจากับเอเยนต์ส่วนตัวที่หน้าเลือดก็เป็นเรื่องรับมือยาก หนทางที่จะกลับไปสู่ความรุ่งเรืองคือหยุดซื้อนักเตะต่างชาติค่าตัวเกินฝีเท้า หันมาสร้างผู้เล่นเยาวชนที่โตมาจากภายในทีม
ครัฟฟ์ เชื่อมั่นในความสามารถของคนที่อาแจ็กซ์คุ้นเคยอย่าง วิม ยองค์, เดนนิส เบิร์กแคมป์, มาร์ก โอเวอร์มาร์ส ครัฟฟ์ เข้าไปขอความร่วมมือและผลักดันกระทั่งมีอดีตผู้เล่น 7 รายได้รับเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภาของสโมสร
ก้าวแรกผ่านไปด้วยดี ยกต่อมา ครัฟฟ์ไปสู่เรื่องตำแหน่งคณะกรรมาธิการซึ่ง 3 ใน 5 ของสมาชิกบอร์ดเป็นคนหน้าใหม่ในอาแจ็กซ์ และไม่มีความรู้เรื่องฟุตบอล ครัฟฟ์มีไอเดียว่าเขาควรเข้าไปศึกษาประเมินเรื่องทางเทคนิคทีมเองและนำเสนอสิ่งที่พบต่อผู้อำนวยการใหม่ หลังจากนำเสนอแผนปฏิรูปสโมสร ซึ่งเน้นหนักที่การปัดฝุ่นอคาเดมีให้เป็นฟันเฟืองหลักอีกครั้ง บอร์ดที่ปรึกษาและซีอีโอของสโมสรลาออกเมื่อปลายมีนาคม 2011 ไม่กี่เดือนต่อมา ครัฟฟ์รับตำแหน่งเป็นบอร์ดที่ปรึกษา
อาแจ็กซ์ ภายใต้การคุมทีมของ ฟรองค์ เดอ บัว คว้าแชมป์ลีกเอเรดิวิซีติดต่อกันตั้งแต่ 2011-2014 ทิศทางการพัฒนาทีมและผู้เล่นภายใต้ ‘ปรัชญาแบบอาแจ็กซ์’ โดยคนที่เข้าใจฟุตบอลนำมาสู่ผู้เล่นหนุ่มที่สร้างชื่อในทีมได้หลายคน แต่ความสำเร็จช่วงแรกไม่ยืนยง ฤดูกาลต่อมา พีเอสวี คู่ปรับตัวยงกลับมาแย่งแชมป์ลีกคืน เดอ บัว เป็นอันต้องพ้นตำแหน่ง
คนที่มาแทนคือ ปีเตอร์ บอสซ์ อดีตแข้งดัตช์ที่เป็นแฟนติดตามผลงานของครัฟฟ์ตั้งแต่เด็กและได้อิทธิพลทางแนวคิดทำงานจากครัฟฟ์มาคุมทีม ผลงานที่ยอดเยี่ยมคือพาทีมที่มีมูลค่ารวมแค่ 20 ล้านยูโร เข้าชิงยูโรป้า ลีก 2017 เมื่อประสบความสำเร็จในลีกจากยุคเดอ บัว และได้เล่นในรายการยุโรปอย่างต่อเนื่อง ถึงจะหยุดแค่รอบแบ่งกลุ่มในแชมเปียนส์ ลีก 5 ฤดูกาลจาก 6 ฤดูกาล
การเล่นรายการยุโรปอย่างน้อยก็ช่วยให้การเงินของสโมสรดีขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริหารที่ประชุมกันอย่างเดียวก็ลดจำนวนลง
การพัฒนาผู้เล่นเยาวชนที่กลายมาเป็นกำลังหลักของอาแจ็กซ์ ถือเป็นผลงานที่ชัดเจน ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวันสุดท้าย ยองค์สร้างรายได้ให้สโมสร 85 ล้านยูโร จากการขายนักเตะในระบบเยาวชนของสโมสร ทีมของยองค์ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในแชมเปี้ยนส์ ลีก ของทีมระดับเยาวชน แต่ประเด็นคือไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามว่า เขาทำได้อย่างไร และได้แต่ยกให้ยองค์เป็นต้นแบบเท่านั้น
วิม ยองค์ เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาอคาเดมี โดยนำแนวคิดของครัฟฟ์มาใช้ในช่วงที่ครัฟฟ์กลับมามีบทบาทในทีม ภายหลังจากที่ครัฟฟ์ตัดสินใจว่าพอกับอาแจ็กซ์แล้ว ไม่มีใครที่คอยหนุนหลังคนของครัฟฟ์ ผู้บริหารที่มีพื้นเพมาจากนายธนาคารก็ปลดคนที่ครัฟฟ์ไว้ใจออก
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อปี 2017 อาแจ็กซ์ คือทีมที่แข่งนัดชิงชนะเลิศ ยูโรป้า ลีก กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผู้เล่นอาแจ็กซ์ ชุดที่ล้มลียง จากฝรั่งเศสในรอบรองชนะเลิศ เลกแรกผู้เล่นอาแจ็กซ์อายุเฉลี่ยแค่ 21 ปี 8 เดือน ส่วนเลก 2 มีผู้เล่น 7 รายที่อายุ 21 ปีหรือน้อยกว่านั้น (ประมาณ 1 ใน 3 ของทีมเป็นเยาวชน) ปีนั้นมีดาวโรจน์ร่างโย่งอย่าง มัทไธส์ เดอลิกต์ กองหลังดาวรุ่งชาวดัตช์ที่ตอนนี้เนื้อหอมสุด ๆ แฟรงกี้ เดอ ยอง มิดฟิลด์ดาวรุ่ง และ ดอนนี ฟาน เดอ บีค กองกลางที่ครบเครื่อง ที่กล่าวมานี้ไม่มีใครอายุถึง 21 ปี ในเกมที่ล้มลียง (บางคนยังมีชื่อเป็นตัวสำรอง)
‘คลาสออฟ 2019’ ชุดที่ เอริก เทน ฮาก กุนซือหนุ่มดัตช์ที่มาแรงที่สุดอีกคนในยุคนี้ทำทีมก็มีผู้เล่นดาวรุ่งจาก 2017 เป็นกำลังหลักในตำแหน่งสำคัญซะส่วนใหญ่ ซึ่ง เทน ฮาก ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับอิทธิพลจากครัฟฟ์ในทางอ้อม กล่าวคือ เทน ฮาก เคยถูก เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ดึงไปทำทีมสำรอง 2 ฤดูกาลก่อนมาคุมอูเทร็คท์ และย้ายมาเป็นกุนซืออาแจ็กซ์ เมื่อปลายปี 2017 (เป๊ป ได้ทำทีมบาร์เซโลน่า ส่วนหนึ่งก็เพราะครัฟฟ์เป็นอีกหนึ่งเสียงที่สนับสนุนคนอย่าง แฟรงค์ ไรจ์การ์ด และ เป๊ป ต่อบอร์ดเรื่องแต่งตั้งกุนซือ)
อิทธิพลของครัฟฟ์ต่ออาแจ็กซ์ จากวันแรกจนถึงวันที่เขาถอยออกมาแล้ว ไล่เรียงไปจนถึงมรดกที่ครัฟฟ์หลงเหลือไว้ แนวคิดของตำนานแข้งดัตช์จะยังคงปรากฏเสมอผ่านการทำงานของบุคลากรแถวหน้าของวงการฟุตบอลที่ได้รับอิทธิพลทางแนวคิด ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางของครัฟฟ์ นับจากวันที่เป็นนักเตะจนถึงที่ปรึกษาสโมสรระดับโลก ฟันเฟืองเหล่านี้จะยังคงหมุนไปต่อเนื่อง ตราบใดที่แนวคิดและระเบียบวิธีถูกปฏิบัติอย่างครบถ้วน และระบบนี้จะส่งผ่านคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งแบบที่ครัฟฟ์ได้รับมาและถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง
เมื่อมองย้อนกลับไป ปรัชญาของครัฟฟ์ได้ผลมาตั้งแต่ยุค 80s ได้ผลกับอาแจ็กซ์ ได้ผลกับบาร์เซโลน่า หากไม่มีอุปสรรคเชิงโครงสร้างแบบที่ประสบก็มีแนวโน้มสูงมากที่แนวคิดนี้จะยังคงได้ผลต่อไป
ถ้ามีคำถามว่าหัวใจของการทำงานแบบครัฟฟ์ ‘แผนการของครัฟฟ์’ คืออะไร อาจกล่าวได้ว่า มันคือ ‘knowhow’ (ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘คน’ ที่รู้ knowhow) รู้ในสิ่งที่ตัวเองทำอย่างถ่องแท้ ให้ความสำคัญและใส่ใจในรายละเอียดทางเทคนิคตั้งแต่ฐานรากด้วยความเข้าใจอย่างลึกถึงแก่นจริง ๆ