07 ก.พ. 2562 | 21:01 น.
- เจมส์ ไนสมิท อาจารย์วิชาพละได้รับโจทย์จากหัวหน้าแผนกให้คิดค้นกีฬาในร่มไว้ให้เด็กๆ เล่นในโรงยิมช่วงหน้าหนาวอันยาวนาน
- หลังใช้เวลาต่อสู้อยู่หลายสิบปี บาสเก็ตบอลก็ได้รับการบรรจุลงในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่เบอร์ลินในปี 1936
บาสเก็ตบอลนับเป็นกีฬาในร่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดกีฬาหนึ่ง มีการประเมินกันว่ามีแฟนกีฬาที่ติดตามการแข่งขันชนิดนี้ทั่วโลกราว 800 ล้านคน และเป็นกีฬาที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้จัดการแข่งขันและนักกีฬาระดับโลก
โดยที่ผู้คิดค้นกีฬาชนิดนี้ขึ้นมามิได้คาดหมาย และคาดหวังมาก่อน เพราะเบื้องต้นมันเป็นเพียงกีฬาที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อเล่นแทนชนิดกีฬาอื่นที่มีอยู่ก่อน แต่มีข้อจำกัดเล่นเวลาเล่นในหน้าหนาว
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 1891 ที่โรงเรียนฝึกอบรมวิชาแห่งสมาคมยุวชนคริสเตียนนานาชาติในสปริงฟิลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา (International Young Men's Christian Association Traininng School, ปัจจุบันคือ วิทยาลัยสปริงฟิลด์) เมื่อ เจมส์ ไนสมิท (James Naismith) อาจารย์วิชาพละได้รับโจทย์จากหัวหน้าแผนกให้คิดค้นกีฬาในร่มไว้ให้เด็กๆ เล่นในโรงยิมช่วงหน้าหนาวอันยาวนาน โดยต้องเป็นกีฬาที่ไม่น่าเบื่อและปลอดภัยด้วย
ไนสมิทจึงจับเอารูปแบบการเล่นของกีฬาต่างๆ ทั้งฟุตบอล รักบี ฮ็อกกี มาผสมๆ กัน และตัดเอาวิธีการเล่นที่จะทำให้เกิดการปะทะออกไปกลายมาเป็นกติกา 13 ข้อ สำหรับบาสเก็ตบอลขึ้นมา
โดยตอนแรกผู้เล่นในสนามจะมีฝั่งละ 9 คน (เพราะตอนนั้น ชั้นเรียนวิชาพละของเขามีเด็กอยู่ 18 คนพอดี ตอนหลังจึงลดเหลือฝั่ง 5 คน) ใช้ตะกร้าเก็บลูกพีชมาแขวนไว้สองฝั่ง ให้ผู้เล่นเอาลูกบอล (ซึ่งก็ใช้ลูกฟุตบอลแบบอังกฤษ) ปาเข้าใส่ตะกร้าลูกพีชของฝั่งตรงข้ามให้มากที่สุด โดยผู้เล่นที่ถือบอลห้ามวิ่งเด็ดขาด (ปัจจุบันสามารถเลี้ยงลูกบอลได้ แต่ถือบอลวิ่งไม่ได้)
ในปี 1939 ไนสมิทเคยให้สัมภาษณ์กับรายการวิทยุถึงที่มาของกติกาจากการทดลองเล่นบาสเก็ตบอลครั้งแรกเอาไว้ว่า "ผมเอาตะกร้าลูกพีชมาติดไว้สองฝั่งของโรงยิม แล้วบอกให้แต่ละฝ่ายโยนบอลเข้าตะกร้าของฝ่ายตรงข้าม เมื่อผมเป่านกหวีดก็ให้เริ่มการแข่งขัน" แต่เมื่อสิ้นเสียงนกหวีดบรรดาผู้เล่นของทั้งสองฝ่ายต่างเข้าตะลุมบอนกันอุตลุดจนหัวร้างข้างแตกไปตามๆ กัน เขาจึงต้องเขียนกฎห้ามไม่ให้ผู้เล่นที่ครอบครองบอลวิ่ง และห้ามใช้หมัดในทุกกรณี
"สิ่งสำคัญที่สุดคือห้ามวิ่งพร้อมลูกบอลเด็ดขาด มันช่วยแก้ปัญหาการปะทะต่อยตี เมื่อเราลองเล่นด้วยกติกาเหล่านี้ (กติกาดั้งเดิม 13 ข้อ) แล้ว ก็ไม่มีใครต้องเจ็บตัวอีกเลย" ไนสมิทกล่าว (The New York Times)
เมื่อเวลาผ่านไปกติกาก็เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม และเพื่อทำให้เกมสนุกมากกว่าที่เน้นผลแพ้ชนะมากจนเกินเหตุ ซึ่งจริงๆ กติกาใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอย่าง "ช็อตคล็อก" หรือการจับเวลาถอยหลังบังคับให้ฝ่ายที่ครองบอลต้องชูตบอลเข้าห่วงก่อนที่เวลาจะหมดก็เป็นสิ่งที่ไนสมิทได้คิดไว้ก่อนแล้วเพื่อแก้ปัญหาทีมที่มีคะแนนนำถ่วงเวลาด้วยการครอบครองบอลแต่ไม่ยอมบุกแต่สมัยนั้นไม่มีใครเอาด้วย กติกานี้จึงมาเพิ่มเข้าไปเมื่อปี 1954 หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วหลายปี
เจมส์ ไนสมิท เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 1861 ที่อัลมอนเท (Almonte) ออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา กลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่ 9 ขวบ เมื่อพ่อแม่มาเสียชีวิตด้วยไข้ไทฟอยด์ เขาจบด้านเทววิทยาแต่เป็นนักกีฬาที่เก่งหลายด้าน เมื่อเรียนจบเขาเลือกที่จะไม่ทำงานเป็นนักเทศน์ด้วยเห็นว่ายังมีวิธีการอื่นที่จะช่วยนำทางเยาวชนรุ่นใหม่ เขาเลยไปเป็นครูพละอยู่ที่สหรัฐฯ
ภายหลังเขาเรียนหมอจนจบจาก Gross Medical College ในปี 1898 แต่ไม่ใช่เพราะอยากเป็นหมอ หากเพียงแค่อยากรู้การทำงานของร่างกายมนุษย์เท่านั้น และได้ย้ายมาอยู่กับมหาวิทยาลัยแคนซัสในปีเดียวกันพร้อมกับเป็นโค้ชทีมบาสเก็ตบอลมหาวิทยาลัยจนถึงปี 1908 และเป็นผู้อำนวยการด้านการกีฬาให้มหาวิทยาลัยอย่างยาวนาน
ไนสมิทยังเป็นหัวหอกคนสำคัญที่ผลักดันให้กีฬาบาสเก็ตบอลเป็นกีฬาในโอลิมปิกฤดูร้อน หลังใช้เวลาต่อสู้อยู่หลายสิบปี บาสเก็ตบอลก็ได้รับการบรรจุลงในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่เบอร์ลินในปี 1936 มีทีมชาติเข้าแข่งขัน 23 ทีม และไนสมิทก็ได้เป็นผู้มอบเหรียญทองให้กับทีมชาติสหรัฐฯ ในการแข่งขันคราวนั้นด้วย
ไนสมิทถือเป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแบ่งแยกสีผิวในสหรัฐฯ
โดยแม้ว่าเขาจะไม่ได้รับเอานักศึกษาผิวดำมาเล่นในทีมชุดใหญ่ของมหาวิทยาลัย แต่เขาก็เป็นคนที่ทำให้นักศึกษาผิวดำมีโอกาสได้ใช้สระว่ายน้ำ ซึ่งก่อนหน้านั้นนักศึกษาผิวดำจะได้รับการยกเว้นการสอบว่ายน้ำโดยให้สอบผ่านไปทันที เพื่อให้สระว่ายน้ำมีแต่นักศึกษาผิวขาวเท่านั้น
และเขายังเป็นผู้ฝึกสอน จอห์น แมคเลนดอน (John McLendon) ชาวแอฟริกันอเมริกันซึ่งกลายมาเป็นโค้ชบาสเก็ตบอลอาชีพผิวดำคนแรก ตั้งแต่สมัยที่คนดำต้องแข่งกับคนดำเท่านั้น และแมคเลนดอนยังเป็นผู้นำทีมวิทยาลัยสำหรับนิโกรแห่งนอร์ทแคโรไลนา [North Carolina College for Negroes] ลงแข่ง “อย่างลับๆ” กับทีมจากมหาวิทยาลัยดุก [Duke University] ซึ่งเป็นการแข่งขันบาสเก็ตบอลระดับมหาวิทยาลัยระหว่างคนขาวกับคนดำเป็นครั้งแรก โดยแมคเลนดอนกล่าวถึงไนสมิทเอาไว้ว่า ไนสมิทไม่ได้สนใจเรื่องของสีผิวหรือสัญชาติ และวิชาที่เขาได้มาก็ล้วนมาจากไนสมิททั้งสิ้น