‘แมนนี่ ปาเกียว’ นักชกที่เคยโกงอายุ เพราะยังไม่ถึงเกณฑ์ สู่ตำนานยอดกำปั้นโลก

‘แมนนี่ ปาเกียว’ นักชกที่เคยโกงอายุ เพราะยังไม่ถึงเกณฑ์ สู่ตำนานยอดกำปั้นโลก

‘แมนนี่ ปาเกียว’ ตำนานนักชกฟิลิปปินส์ เด็กน้อยที่โตท่ามกลางสงครามและความยากจน เคยโกงอายุเพื่อให้ได้ชกเพราะอายุต่ำกว่าเกณฑ์ ก่อนคว้าเข็มขัดแชมป์โลกเส้นแรกที่ไทย ก้าวไปเป็นยอดนักมวย เจ้าของแชมป์มวยโลก 8 รุ่น ที่ไม่เคยมีใครทำได้

  • แมนนี่ ปาเกียว ยอดนักชกจากฟิลิปปินส์ พัฒนาตัวเองจากเด็กในครอบครัวฐานะการเงินไม่ดี มาเป็นนักมวยระดับตำนานของโลก ฝ่าฟันความยากลำบากด้วยความเชื่อมั่นในฝีมือของตัวเอง
  • ปาเกียว ยอมรับว่าเคยโกงอายุเพื่อให้ได้ชก เพราะขณะนั้นยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ 

หากพูดถึงเรื่องราวชีวิตนักมวยที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่านักมวยชาวไทยหรือชาวต่างชาติ การไต่เต้าจากครอบครัวผู้ยากไร้ กลายเป็นนักกีฬาชื่อดัง มีฐานะร่ำรวย อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่สำหรับชายชื่อ ‘แมนนี่ ปาเกียว’ (Manny Pacquiao) เรื่องราวชีวิตของเขามีอะไรให้ค้นหามากกว่านั้น

ปาเกียว ไม่ใช่แค่นักสู้ธรรมดาที่เอาชนะความยากจนด้วยความสามารถทางเกมกีฬา แต่เขาไม่เคยหยุดพัฒนา และยกเพดานการต่อสู้ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นนักมวยระดับตำนาน เขาสร้างสถิติโลกที่ไม่เคยมีใครทำได้ และถูกยกย่องให้เป็นนักชกที่เก่งที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของโลก

ชีวิตนอกสังเวียนผ้าใบของชายชาวฟิลิปปินส์ผู้นี้ก็มีสีสันไม่แพ้ใคร ปาเกียว ใช้ชื่อเสียงและเงินทองจำนวนมากที่ได้บนเวทีค้ากำปั้นเพื่อรับใช้สังคม เขาบริจาคเงินมากมายช่วยเหลือผู้คนในบ้านเกิด และลงเล่นการเมือง จนชนะการเลือกตั้งได้เป็นทั้ง สส. และ สว. ในรัฐสภา

แม้การดันเพดานชีวิตหลังแขวนนวมไปสู่การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะยังทำไม่สำเร็จ แต่หลายคนเชื่อว่า ประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมา จะทำให้เขาไม่ท้อ และเดินหน้าต่อเพื่อความสำเร็จอีกขั้นในอนาคต

จากกระท่อมกลางป่า สู่เด็กหาเช้ากินค่ำในเมือง

แมนนี่ ปาเกียว เกิดวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1978 ในพื้นที่ห่างไกลบนเกาะมินดาเนา ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เขาเล่าสภาพความเป็นอยู่วัยเด็กในหนังประวัติชีวิตของตัวเองเรื่อง ‘Manny’ ว่า “ทุกอย่างที่ผมจำความได้คือ เรายากจนสุด ๆ บ้านของเราเป็นกระท่อมหลังเล็ก ๆ ผนังและหลังคาทำจากใบมะพร้าว”

เขาเติบโตมาโดยไม่มีพ่อคอยดูแลหาเลี้ยงครอบครัว หน้าที่หลักจึงตกอยู่กับแม่และลูก ๆ ทุกคน สมัยเด็กเขาต้องออกไปรับจ้างลากแหและอวน เพื่อแลกกับส่วนแบ่งที่เป็นปลามาทำอาหารกินกับครอบครัว

ฟิลิปปินส์ยุคนั้นตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง รัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประกาศกฎอัยการศึก และบริเวณป่าเขาที่ปาเกียว อาศัยกลายเป็นพื้นที่สีแดงและแหล่งกบดานของฝ่ายกบฏ มีการสู้รบนองเลือดเกิดขึ้น และเป็นสาเหตุให้มารดาของเขาตัดสินใจอพยพหอบหิ้วครอบครัวเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อความปลอดภัย

ครอบครัวของปาเกียวย้ายมาอาศัยในเมืองเจเนอรัล ซานโตส จ.ซาลังกานี ซึ่งอยู่ใต้สุดของเกาะมินดาเนา ตั้งแต่เขายังอายุไม่ถึง 10 ปี ด้วยความยากจนข้นแค้น ปาเกียว ได้เรียนหนังสือถึงชั้น ป.6 ก่อนต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยครอบครัวทำงาน ด้วยการเดินขายโดนัทตามท้องถนน

เขากลายเป็นหัวเรือใหญ่ในการหาเงินเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่อายุ 12 ปี ก่อนที่ลุง ซึ่งครอบครัวไปพักอาศัยอยู่ด้วย จะเห็นแววนักสู้ในตัวหลานชาย จึงช่วยสอนทักษะการชกมวย และเป็นครูมวยคนแรกให้กับเขา

ไฟต์แรกกับความฝันชกมวยอาชีพ

หลังฝึกมวยจนมั่นใจ ลุงของเขาตัดสินใจพาปาเกียวไปประเดิมเวทีในงานซึ่งจัดขึ้นตามสวนสาธารณะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยปาเกียว คว้าชัยไฟต์แรกในชีวิต ได้เงินรางวัลมา 100 เปโซ (ประมาณ 70 บาท) จากนั้นจึงหันมาเอาดีด้านนี้อย่างจริงจัง

ด้วยความมุ่งมั่นฝึกซ้อมและพรสวรรค์ส่วนตัว ปาเกียว เอาชนะคู่ชกคนแล้วคนเล่า จนกลายเป็นแชมป์รายการทัวร์นาเมนต์ท้องถิ่นอย่าง ‘มินดาเนา โอเพ่น’ ก่อนตัดสินใจเดินทางเข้าเมืองหลวงในกรุงมะนิลาเพียงลำพังตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อไต่เต้าไปเป็นนักมวยอาชีพ

ปาเกียว เล่าว่า เขาแอบหนีแม่ นั่งเรือเดินทาง 3 วัน 3 คืนเข้ากรุงมะนิลาโดยไม่มีทั้งอาหารและเงินติดตัว ต้องไปอาศัยกินอยู่หลับนอนที่ค่ายมวย เพราะไม่มีทั้งญาติและคนรู้จัก แต่ด้วยความเชื่อมั่นในฝีมือหมัดมวยของตัวเองและตั้งใจช่วยหาเงินเลี้ยงครอบครัว เขาไม่ลังเลที่จะเดินหน้าทำความฝันนี้ให้เป็นจริง

ฮีโร่นักชกชาวฟิลิปปินส์ผู้นี้ยอมรับว่า ด้วยฐานะความเป็นอยู่ที่อัตคัด และความฝันอยากหาเงินให้ได้เร็ว เขาตัดสินใจโกงอายุเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นนักมวยอาชีพตั้งแต่วัย 16 ปี ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่เคยหวาดกลัว เมื่อต้องดวลกำปั้นกับคู่ชกที่ทั้งตัวใหญ่และอาวุโสกว่า

 

คว้าแชมป์โลกครั้งแรกที่ไทยก่อนบินไปสหรัฐอเมริกา

ปาเกียว เริ่มชกมวยอาชีพในปี 1995 ในรุ่นจูเนียร์ ฟลายเวต เน้นเก็บประสบการณ์กับนักชกย่านอาเซียน และเคยดวลกำปั้นกับนักชกไทยมาแล้ว 7 ไฟต์ เป็นการชนะน็อคนักมวยชาวไทยได้ถึง 6 ไฟต์ แพ้แค่ไฟต์เดียว

ไฟต์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ การชนะน็อค ‘ฉัตรชัย กระทิงแดงยิม’ ยก 8 ที่ จ.นครปฐม ในเดือนธันวาคมปี 1998 ไฟต์นั้นนอกจากปาเกียว จะกระชากเข็มขัดแชมป์ของสภามวยโลก (WBC) รุ่นฟลายเวต ไปจากฉัตรชัยแล้ว ยังนับเป็นการได้เข็มขัดแชมป์โลกเส้นแรกในชีวิตของเขาอีกด้วย

สามปีหลังได้แชมป์โลกครั้งแรกที่ไทย และตระเวนต่อยชนะคู่แข่งในย่านอาเซียน จนไม่เหลือใครให้พิสูจน์ฝีมือ ปาเกียวและทีมงานตัดสินใจดันเพดานการต่อสู้ไปอีกขั้นด้วยการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อแสวงหาความท้าทายใหม่ และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นตำนานของโลก

ปาเกียวได้ร่วมงานกับ ‘เฟรดดี้ โรช’ (Freddie Roach) เทรนเนอร์คู่ใจที่มีดีกรีเป็นถึงอดีตนักชก ‘ฮอลล์ ออฟ เฟม’ เขาใช้ค่ายมวย ‘ไวล์ดการ์ด ยิม’ ในย่านฮอลลีวูด ของนครลอสแองเจลิส เป็นสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อลับเขี้ยวเล็บ โดยเฉพาะการวางแผนการชกแต่ละไฟต์ และทำให้หมัดขวาที่เคยเป็นจุดอ่อน มีอันตรายไม่แพ้หมัดซ้ายในการน็อคคู่ต่อสู้

 

ชนะเดอลาโฮย่า กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของจริง

เฟรดดี้ โรช ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดเทรนเนอร์ผู้ทำให้นักมวยร่างเล็ก เจ้าของฉายา ‘แพคแมน’ ผู้นี้มีพิษสงรอบตัว ทั้งฟุตเวิร์กว่องไว มีลีลาดุดัน และเทคนิคการชกที่สามารถใช้ทั้งหมัดซ้าย-ขวาได้ทรงพลังไม่แพ้กัน ในช่วงเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ยุคปี 2000s ผลงานที่เป็นไฮไลต์ของปาเกียว คือการชกข้ามรุ่นและเอาชนะน็อคคู่ต่อสู้ได้แบบคนแล้วคนเล่า

ไฟต์ที่ทำให้ปาเกียวได้รับการยอมรับและกลายเป็นซูเปอร์สตาร์เต็มตัว คือ การไล่ถลุง ‘ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า’ แชมป์โลกในตำนานชาวอเมริกัน ซึ่งมีทั้งชื่อชั้นและช่วงชกเหนือกว่า จนหน้าตาบวมปูด ต้องยอมแพ้ทีเคโอไปหลังจบยก 8 เมื่อปี 2008

นอกจากเดอ ลา โฮย่า นักมวยรุ่นใหญ่ระดับแชมป์โลกมากมายที่เอ่ยชื่อมาแฟนมวยตัวยงต้องรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ‘มาร์โก อันโตนิโอ บาร์เรร่า’ ‘เอริก โมราเลส’ ‘ฮวน มานูเอล มาร์เกซ’ ‘มิเกล คอตโต้’ ‘อันโตนิโอ มาร์การิโต้' ‘ริกกี้ แฮตตัน’ ‘ทิโมธี แบรดลีย์’ และ ‘คีธ เธอร์แมน’ ก็ล้วนเคยเป็นเหยื่อกำปั้นของปาเกียวมาแล้วทั้งสิ้น

 

สถิติที่ไม่เคยมีใครทำได้

บ็อบ อารัม โปรโมเตอร์ชื่อดังเคยกล่าวยกย่องปาเกียวเมื่อปี 2010 ว่า ไม่มีนักชกคนใดในประวัติศาสตร์โลกที่สามารถเทียบเคียงกำปั้นแดนตากาล็อกผู้นี้ได้ แม้แต่ ‘มูฮัมหมัด อาลี’ ตำนานนักชกรุ่นเฮฟวี่เวตชาวอเมริกันที่เขาเคยเป็นโปรโมเตอร์ให้ก็ไม่สามารถเทียบเท่า

หลายคนอาจมองว่า บ็อบ อารัม พูดเกินจริง แต่หากดูสถิติที่นักชกฟิลิปปินส์ เจ้าของความสูง 166 เซนติเมตรผู้นี้ทำไว้ โดยเฉพาะการเป็นนักชกคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่สามารถครองแชมป์โลกได้ถึง 8 รุ่น ตั้งแต่ฟลายเวต (112 ปอนด์) จนถึงเวลเตอร์เวต (147 ปอนด์) และครองแชมป์โลกได้ติดต่อกันยาวนานถึง 4 ทศวรรษ คำพูดนี้น่าจะมีน้ำหนักมากขึ้น

ปาเกียว ประกาศแขวนนวมอย่างเป็นทางการในวัย 42 ปี เมื่อเดือนกันยายน 2021 หลังคว้าเข็มขัดแชมป์โลกสถาบันหลักต่าง ๆ มาครองได้ทั้งหมด 12 เส้น ด้วยสถิติการชก ชนะ 62 แพ้ 8 เสมอ 2 และเป็นการชนะน็อคได้ถึง 39 ไฟต์

ไฟต์ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด นอกจากการไล่อัด ‘เดอ ลา โฮย่า’ ยังรวมถึงมหากาพย์การห้ำหั่นกันอย่างสุดมันติดต่อกัน 4 ไฟต์ เพื่อวัดว่าใครคือ ‘แชมป์แห่งทศวรรษ’ ตัวจริงกับ ‘ฮวน มานูเอล มาร์เกซ’ นักชกชาวเม็กซิกัน และการดวลกำปั้นกันกับ ‘ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์’ แชมป์ไร้พ่ายชาวอเมริกันที่กลายเป็นสถิติใหม่ของวงการมวย ทั้งในเรื่องค่าตัวและยอดคนดูทั่วโลก

 

เรื่องอื้อฉาวและการทำเพื่อสังคม

นิตยสาร Forbes เคยจัดอันดับให้ปาเกียว เป็นนักกีฬาที่มีรายได้มากที่สุดของโลกในปี 2019 ทำรายได้ทั้งปีไป 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หมดสิ้นความยากจน และกลายเป็นมหาเศรษฐีคนใหม่อย่างเต็มตัว

ชีวิตส่วนตัว ปาเกียว แต่งงานกับภรรยาเชื้อชาติเดียวกันชื่อ ‘จินกี้’ (Jinkee) มีลูกด้วยกัน 5 คน หลังจากโด่งดังมีเงินทองมากมาย เขาเคยมีข่าวอื้อฉาวทั้งเรื่องผู้หญิงและการพนัน เคยให้สัมภาษณ์เหยียดเพศชาว LGBTQ+ จนถูกแบรนด์กีฬาดังถอนสปอนเซอร์ ก่อนคิดได้และยอมกลับใจ หันมาปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาคริสต์อย่างเคร่งครัด

ปาเกียว พยายามต่อยอดความสำเร็จในชีวิตนอกสังเวียนผ้าใบด้วยการช่วยเหลือสังคม ทั้งในฐานะผู้บริจาครายใหญ่ผ่านมูลนิธิในนามของตัวเอง และเป็นปากเสียงให้กับประชาชนในฐานะนักการเมือง

เขาลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จาก จ.ซาลังกานี และชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 จากนั้น 6 ปีต่อมาจึงขยับขึ้นไปชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และได้รับชัยชนะเช่นกัน

หลังประกาศแขวนนวม ปาเกียว ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในการเลือกตั้งปี 2022 ชูนโยบายปราบทุจริตคอร์รัปชั่น และแก้ปัญหาความยากจน แต่ทำได้ดีที่สุดแค่อันดับสาม คิดเป็นคะแนนเสียง 6.81% ส่วนผู้ชนะ คือ ‘บงบง มาร์กอส’ ลูกชายของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

“ในฐานะนักมวยและนักกีฬา ผมรู้ดีว่าต้องยอมรับความพ่ายแพ้อย่างไร” ปาเกียว เปิดใจหลังทราบผลการเลือกตั้ง “ผมแค่หวังว่า ขณะที่ผมแพ้การต่อสู้ครั้งนี้ พ่อแม่พี่น้องชาวฟิลิปปินส์ทั้งหลายที่ยังได้รับความเดือดร้อนจะได้ชัยชนะ”

 

บทเรียนจากนักสู้

หากมีสิ่งใดที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเรื่องราวชีวิตของแมนนี่ ปาเกียว สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่สุด คือไม่หยุดพัฒนาตัวเอง นั่นคือคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้เด็กบ้านนอกฐานะยากจน สามารถกลายเป็นนักกีฬาผู้มั่งคั่งและมีชื่อเสียงระดับโลก

การเป็นนักสู้ผู้ไม่ย่อท้อ และพยายามต่อยอดความสำเร็จที่ได้มาเพื่อรับใช้สังคมอย่างจริงจังก็เป็นอีกคุณสมบัติที่ทำให้ปาเกียว กลายเป็นตำนานของโลก และวีรบุรุษของเพื่อนร่วมชาติในดินแดนบ้านเกิดของตัวเอง

ช่วงท้ายประวัติชีวิตของเขาในภาพยนตร์เรื่อง ‘Manny’ ปาเกียวพูดถึงมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ทำให้ตัวเองมาถึงวันนี้ได้ว่าเป็นเพราะการมีหัวใจนักสู้

“มวยให้ทั้งพละกำลังและความหวังกับผู้คน

“มวยทำให้ผมมีชื่อเสียง แต่ทำไมผมถึงต้องชกมวย... ผมรู้ว่าผมเป็นใคร ผมคือนักสู้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรในชีวิต ไม่ว่าต้องไปเวทีไหน ผมจะเป็นนักสู้เสมอ”

นั่นคือบทสรุปชีวิตของนักมวยจากย่านอาเซียนที่สามารถก้าวไปเป็นตำนานนักชกที่เก่งที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของโลก ผู้ไม่เคยหยุดสู้ แม้ชีวิตของเขาจะต้องร้างลาสังเวียนผ้าใบไปยาวนานเพียงใดก็ตาม

 

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images

อ้างอิง: 

ภาพยนตร์สารคดี Manny (2014)

BBC

ESPN

The Guardian

Guardian