สัมภาษณ์พิเศษ ‘โปรพราว’ ชเนตตี วรรณแสน ดาวรุ่งวัย 19 สาวไทยคนที่ 7 ได้แชมป์กอล์ฟศึก LPGA

สัมภาษณ์พิเศษ ‘โปรพราว’ ชเนตตี วรรณแสน ดาวรุ่งวัย 19 สาวไทยคนที่ 7 ได้แชมป์กอล์ฟศึก LPGA

‘Proud of Thailand’ โปรพราว - ชเนตตี วรรณแสน ดาวรุ่งวัย 19 ได้แชมป์ด้วยอัตรา 750 ต่อ 1 จากม้านอกสายตา กลายเป็นสาวไทยคนที่ 7 ในประวัติศาสตร์ที่ชูแชมป์กอล์ฟศึก LPGA

  • โปรพราว - ชเนตตี วรรณแสน โปรสาววัย 19 ปี เป็นนักกอล์ฟหญิงรายล่าสุดที่คว้าแชมป์กอล์ฟรายการ LPGA TOUR ได้สำเร็จ 
  • โปรพราว เริ่มต้นรายการโดยมีอัตราต่อรองโอกาสที่เธอจะเป็นแชมป์อยู่ที่ 750 ต่อ 1 

นี่คือแชมป์ที่ปลดล็อกในการเล่น LPGA Tour ทัวร์ใหญ่เงินรางวัลสูงที่สุดในโลกของฝั่งสตรี เมื่อสิ้นแชมเปียนชิพพัตต์ พัตต์สุดท้ายหลุม 18 ที่สำคัญที่สุดของโปรพราว - ชเนตตี วรรณแสน หยดลงไประยะ 16 ฟุตอย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมสร้างสถิติใหม่ของรายการเก่าแก่ที่แข่งขันอย่างต่อเนื่องนี้ ด้วยคะแนน 26 อันเดอร์พาร์ และจารึกชื่อให้เป็นสาวไทยรายที่ 7 ที่ผงาดมาคว้าแชมป์รายการพอร์ทแลนด์ คลาสสิก ในศึก LPGA ด้วยวัยแค่ 19 ปี

ทั้งที่ 6 วันก่อนหน้า ความคาดหวังคือขอแค่ผ่านรอบคัดเลือก จากนักกอล์ฟที่อันดับโลกห่างไกลถึงอันดับ 367 แต่ตอนนี้ ม้านอกสายตาไม่ใช่แค่เข้ารอบ ผ่านตัดตัว แต่หยิบโทรฟีใหญ่ได้อย่างน่าภาคภูมิ และหาได้น้อยครั้งมากที่จะเห็นผู้มีอัตราต่อรอง 750-1 ก้าวไปถึงแชมป์

สิ่งที่ตามมาจากแชมป์นี้ ชเนตตี รับเงินรางวัล 225,000 เหรียญ สหรัฐฯ หรือราว 7,650,000 บาท (*คำนวนตามค่าเงิน 34 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) พร้อมคว้า LPGA ทัวร์การ์ดแบบเต็มฤดูกาล สามารถลงแข่งได้ทุกรายการเป็นเวลา 2 ปี รวมทั้งแมตช์สำคัญ ได้รับเชิญรายการใหญ่ทั้ง รายการเมเจอร์ และรายการเปิดฤดูกาล 2024 ที่นำผู้ชนะเท่านั้นมาเล่น เรียกว่าเชิญไปรับเงินรางวัลเพียว ๆ เพราะไม่มีตัดตัว

ผลงานของชเนตตี 4 วัน ทำ 26 อันเดอร์พาร์ 262 แทบจะแสดงความโดมิเนทสนาม เพราะชนะแบบทิ้งห่างอันดับ 2 ขาดลอยถึง 4 สโตรค และตัวเลข 26 อันเดอร์พาร์ ยังเป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์รายการเก่าแก่นี้ที่จัดมานานถึง 51 ปี ในสนามโคลัมเบีย เอดจ์วอเตอร์ คันทรี คลับ ในรัฐโอเรกอน ชนะสถิติเดิมทำไว้ที่ 21 อันเดอร์พาร์ ที่ฮันนาห์ กรีน (Hannah Green) ทำไว้ ปี 2009 และ บรูค เฮนเดอร์เซน (Brooke Henderson) ทำไว้ ปี 2015 ถึง 5 สโตรค

และสกอร์ 63 หรือ 9 อันเดอร์พาร์รอบสุดท้าย จากผลงาน 7 เบอร์ดี 1 อีเกิล ไม่เสียโบกี้เลย ในวันสุดท้าย ทำให้ชเนตตี ชนะแบบหายห่วง ทิ้งที่ 2 ถึง 4 สโตรค แบบที่เธอทำแชมเปียนชิพพัตต์ไปแล้ว แต่ในสนามยังเหลือผู้เล่นที่ยังไม่จบ แต่ต้องร่วมยินดีกับเธอ และพยายามรักษาอันดับตัวเองให้ไม่เสียเพิ่ม

ชเนตตี ยังจารึกว่า เป็นแชมป์คนที่ 3 ในประวัติศาตร์ที่มาจากการเล่นรอบคัดเลือก

แชมป์ของชเนตตี ทำให้เห็นถึงความพยายามที่ต้องใช้มากกว่าคนอื่น เพราะต้องเล่นรอบคัดเลือกในวันจันทร์ที่เรียกว่า Monday Qualifying* ก่อนจะได้มาแข่งรอบจริง เท่ากับว่านอกจากเป็นมือรองแล้ว เธอต้องเล่นมากกว่ามือดีคนอื่นในสนามถึง 18 หลุม ในประวัติศาสตร์กอล์ฟ LPGA Tour มีเพียง 2 คนที่เคยทำได้คือลอเรล คีน (Laurel Kean) ปี 2000 และบรูค เฮนเดอร์เซน (Brooke Henderson) ปี 2015

(*มันเดย์ ควอลิฟาย (Monday Qualifying)  คือการเล่นรอบคัดเลือกเพื่อเปิดโอกาสให้มือใหม่ หรือนักกอล์ฟที่ไม่ได้สิทธิในแต่ละรายการ  และไม่ได้รับเชิญ โดยรายการจะคัดเลือกจากผลงาน 18 หลุมก่อนเริ่มรายการในวันจันทร์ ผู้ที่ทำผลงานติดอันดับจะได้สิทธิเข้าไปเล่นในรอบแข่งขันจริงในวันพฤหัสบดี)

เราได้พูดคุยข้ามทวีปผ่านวิดีโอคอลล์ หลังจบการแข่งขันไม่กี่ชั่วโมง และย้อนไปดูเส้นทางความสำเร็จที่ LPGA ยกให้เธอเป็น ‘ซินเดอเรลล่า’ คนใหม่ พบปัจจัยที่น่าทึ่งหลายอย่างในตัวของสาววัย 19 ดาวรุ่งจากเชียงใหม่ผู้แจ้งเกิดเต็มตัววันที่ผ่านมานี้

 

จุดเด่นที่ไม่มีจุดด้อย และยังพัฒนาได้อีก

โปรพราว แม้ไม่ใช่คนไดรฟ์ไกลเท่ารุ่นพี่อย่างแพทตี้ หรือโปรจีน แต่ไม่ใช่คนที่ตีสั้น จังหวะและแนวการสวิงที่แน่นอน โดยเฉพาะเหล็ก และเกมพัตต์ ทำให้เกมโดยรวมตลอดสัปดาห์นี้ สามารถใช้คำว่า ยิ่งเล่นยิ่งดี ผลงานดีขึ้นทุกวัน (68-66-65-63) โดยเฉพาะวันสุดท้ายที่ทำ 9 อันเดอร์พาร์ เป็นสถิติสูงสุดของเธอที่เคยทำได้มาแล้ว 2 ครั้งในอดีต 

เธอชี้ว่า เป็นสัปดาห์ที่ดีกว่าการเล่นในไทยทั้งหมด ทั้งแมตช์ที่คว้าแชมป์ใน Thai LPGA หรือใน Trust Golf รวมทั้งใน Honda LPGA ที่เป็นแชมป์ National Qualifiers 2022 เมื่อเห็นผลงานเหนือชั้นแบบนี้ พราว ยังแย้มว่า ยังมีอะไรที่ต้องปรับปรุงได้อีก โดยรวมฤดูกาลนี้ตั้งแต่เล่นมา พราว มักจะมีช็อตไม่ดีที่ไม่เหมือนกันสลับกันไป 

สิ่งที่สังเกตเวลาผลงานดีขึ้น จะขึ้นอยู่กับสถิติการตีอยู่ในแฟร์เวย์มากขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เล่นช็อตแอพโพรชขึ้นกรีนได้แน่นอนกว่าเล่นจากอุปสรรค ซึ่งสนามนี้ค่อนข้างเข้าทางเธอ กรีนตกหยุด ทำให้สามารถเล็งสู้ธงได้เลย เห็นได้จากสถิติโดยเฉพาะวันสุดท้าย พลาดแฟร์เวย์เพียงครั้งเดียว และพลาดกรีน 3 ครั้ง ซึ่ง 1 ในนั้นคือที่หลุม 18 ซึ่งเธอชูแชมป์แบบแทบจะแบเบอร์ จึงเลือกเล่นปลอดภัย ไม่เสี่ยงอุปสรรคกับน้ำด้านหน้ากรีน

“ไม่เหมือนรายการก่อนหน้าที่กรีนแข็ง เป็นที่มาเวลาผิดพลาด จะแตกต่างกันไปตามสภาพสนามนั้น ๆ สิ่งที่อยากพัฒนาดีกว่านี้ มองว่าเกมของตัวเองเท่า ๆ กันในทุกเหล็ก ไม่มีข้อดีหรือด้อยที่แตกต่างชัดเจน”

“หลังผ่านไป 9 หลุมหลังที่ขึ้นนำ รู้สึกตื่นเต้นมากกว่า ไม่ถึงขั้นเครียด หรือว่ากดดัน ก่อนหน้านี้ที่เราไม่ผ่านการตัดตัวเลย 9 รายการจนมาสัปดาห์นี้ ยอมรับว่าเครียดมาก เพราะก่อนหน้ามาที่นี่ ไม่ได้สิทธิลงแข่งได้ ตั้งแต่รายการเลดี้ส์ ยูโรเปียนทัวร์ ที่ไอร์แลนด์เหนือ ที่ผลงานไม่ติดอันดับ หมดสิทธิมาแข่ง LPGA ต้องปรับแผนที่วางไว้ไปเล่น Epson Tour ซึ่งเป็นทัวร์รองในสหรัฐฯ ซึ่งสัปดาห์นี้ไม่มีแมตช์แข่ง เลยตัดสินใจมาลองควอลิฟายด์ จนได้สิทธิ์”

เราถามถึงความมั่นใจของการเล่น  โปรพราว เล่าว่า มีมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ ผลงานที่น่าพอใจในเอ็ปสันทัวร์ ช่วยเรียกความมั่นใจคืนมา สำหรับแมตช์นี้ เธอบอกตัวเองว่า “เราตีต้องดีแน่นอน” จาก 8-9 แมตช์ในLPGA ที่ตกรอบหมด แต่ไม่ได้คิดไกลถึงแชมป์ แค่เชื่อมั่นมากขึ้น 

ทั้งนี้ สัปดาห์ก่อน เธอทำผลงานได้รองแชมป์ใน Epson Tour ที่ Idaho โดยแพ้ฉิวเฉียดในการดวลเพลย์-ออฟ

 

ปลดล็อกแชมป์สำคัญที่สุด จุดเปลี่ยนในอาชีพกอล์ฟ

แชมป์นี้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในชีวิต เป็นการเรียกความมั่นใจกลับคืนมาให้โปรพราว อย่างมหาศาล จากความผิดหวังที่ตกรอบมาตลอดจากแมตช์ก่อนหน้าทั้ง 9 รายการ ผลงานเหล่านั้นทำให้ชเนตตี ต้องย้อนถามตัวเองเสมอว่า อาจต้องกลับไปเล่นควอลิฟาย (Qualify) เพื่อได้ทัวร์การ์ด อีกแล้วเหรอ หรือจะตัดใจลงไปเล่นในทัวร์รอง (ที่เงินรางวัลและคะแนนอันดับโลกน้อยกว่า) เพื่อหวังทำผลงานให้ได้ติด 35 อันดับแรก หรือดีที่สุดคือติด 10 อันดับ เพื่อจะได้ไปเล่นสเตจสุดท้าย และคว้าสิทธิ์เล่น LPGA ฤดูกาลหน้าเลยทันที เป็นสิ่งที่คิดทบทวนในสมองเสมอ 

เมื่อสัมผัสโมเมนต์ที่คว้าแชมป์สำคัญนี้ได้ เหมือนเป็นการปลดล็อกที่สำคัญ ยกปัญหาทั้งหลายออกไปจากหัวหมดสิ้น แน่นอนว่าความสบายใจนี้จะเป็นโมเมนตัมสำคัญ ส่งผลไปยังรายการถัด ๆ  ไป ให้เธอสามารถเล่นแบบไม่เครียด ทำได้เต็มที่ ไม่เหมือนที่ผ่านมา และเชื่อว่าเธอจะเล่นแบบสนุกกับเกม

ย้อนไปก่อนออกรอบสุดท้าย แม้โปรพราว จะมีสกอร์รั้งอันดับ 2 ร่วมในตาราง โดยตามหลังผู้นำสโตรคเดียว แต่ไม่ได้ถูกจับตามากเท่ากับ เมแกน แคง โปรอเมริกันเชื้อสายม้ง ผู้คว้าแชมป์รายการก่อนหน้าหมาด ๆ เมแกน ถูกคาดหวังให้มีลุ้นคว้าแชมป์แบบ Back-to-back

ความกดดันดูจะไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นจากอากัปกิริยา ยิ่งเมื่อสามารถทำ 2 เบอร์ดีติดต่อกัน หลุมที่ 3 และ 4 และยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นมากขึ้นเมื่อพัตต์อีเกิลไกลลงในหลุม 5 ก่อนจะทำอีก 2 เบอร์ดีติด และจบ 9 หลุมแรก ด้วยผลงานทำไป 6 อันเดอร์พาร์ 30 พร้อมขึ้นเป็นผู้นำ

การเล่น-การเดินในวันสุดท้าย ชเนตตี ดูผ่อนคลาย พูดคุยกับแคดดี ภรณีย์ ชุติชัย หรือโปรวิ่ง โปรรุ่นพี่จากเชียงรายที่มาถือถุงให้ เป็นบัดดี เป็นผู้สอน เป็นทีมงาน ผู้ซัปพอร์ตทุกอย่าง กล่าวได้ว่า เป็นลมใต้ปีกที่สำคัญที่สุด ผู้ปิดทองหลังพระให้พราวเล่นได้โดดเด่น คว้าแชมป์นี้ โดยเฉพาะการคอยพูดคุยให้คำปรึกษา ทำให้โปรพราว ผ่อนคลายตลอด กลายเป็นทีมงานที่ลงตัว และไม่เคยแม้แต่จะมีเรื่องไม่ลงรอยกัน ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ผนวกกับสไตล์การเล่นที่ดูง่าย สบายตา คิดไว ทำเร็ว ตั้งแต่การทำ Pre Shot Routine (ก่อนเล่นลูก) และการตี เป็นวิถีการเล่นที่เร็วกว่านักกอล์ฟหลายคน

“พราวถนัดเล่นเร็ว หากจังหวะการตีช้ากว่านี้ มักผลงานไม่ดี คิดว่าเป็น Routine ที่จังหวะกำลังลงตัวสำหรับหนู ในความรู้สึกหนูว่าไม่ช้า หรือเร็วไป” 

การลดเวลาก่อนตีลูก อาจเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่เกร็ง ไม่เสียสมาธิ หากจรดลูกนาน มีอะไรรบกวนสมอง อาจสร้างข้อผิดพลาด และลดโอกาสเสี่ยงที่จะเสีย หากแต่ต้องไม่ประมาท ใช้ความมั่นใจ การเชื่อมั่นกับช็อตที่กำลังจะเล่น ประสบการณ์ และการฝึกซ้อม

 

อีเกิลหลุม 5 จุดเปลี่ยนให้มั่นใจเล็งแชมป์

“อีเกิลพัตต์ไกลหลุม 5 กลายเป็นโมเมนต์ที่มั่นใจ มองเห็นโอกาสกำถ้วยแชมป์แล้ว เบอร์ดีหลุม 3 และ 4 ยังแค่รู้สึก เราทำได้! หลุม 5 พาร์ 5 เป็นหลุมพาร์ 5 ที่ไม่ยาว แต่ 2 วันแรกกลับไม่ได้เล่นเกมบุก ทำได้แค่ต้องไปลุ้นพาร์

อย่างวันแรกจากที่อยู่หน้ากรีน กลับพลาดชิปไปตกบังเกอร์ และเจอพัตต์ไกล วันที่สอง ตีรวบออกแนวโอบีซ้าย ต้องแก้ไข พอมาได้อีเกิลรอบสุดท้าย เหมือนปลดล็อกเราให้มองอะไรดูง่ายขึ้น โมเมนต์ขณะนั้น หนูไม่ได้มองสกอร์คนอื่น พยายามอยู่กับเกมตัวเอง กลายเป็นเราทำได้ รู้สึกกอล์ฟเล่นง่ายขึ้น เลยได้เบอร์ดีลงอีก 2 หลุมติด”

เธอเล่าย้อนไปถึงการเล่นก่อนหน้ารายการประวัติศาสตร์ครั้งนี้โดยให้น้ำหนักกับเรื่องความมั่นใจเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

“...สัปดาห์นี้ ไม่ได้ทำอะไรแตกต่างจากเดิม ไม่ได้ปรับวงสวิง พราว ทำทุกอย่างเหมือนเดิมหมด หากจะเพิ่มเติมคือ ความมั่นใจมีมากขึ้น พอพราวมั่นใจ ทำให้ไม่เครียด ถามว่ารายการก่อน ๆ นี้ก็ทำเหมือนทุกครั้ง แต่ยอมรับว่า เราแบกความเครียดก่อนไปแข่ง เราแก้ที่ความคิดให้ไม่เครียด”

 

ไม่คาดหวังเท่ากับไม่กดดัน

เมื่อขึ้นชื่อว่าคว้าแชมป์แล้ว มักตามมาด้วยความคาดหวัง เหรียญอีกด้านก็คือความกดดัน มุมมองของพราว เธอไม่ได้คาดฝันกับแชมป์ในทัวร์ใหญ่นี้ที่ได้มาในวัยเพียง 19 และเพิ่งเป็นผู้เล่นในทัวร์ปีแรก เธอเลือกที่จะไม่แบกความคาดหวัง พร้อมกับเลือกคิดว่า ไม่ว่ามีแชมป์นี้หรือไม่ สัปดาห์ถัดไปก็เริ่มต้นใหม่

“เวลามีคนชนะมา ก็ต้องมีคนตกรอบ เป็นสัจธรรมในการแข่งขันกอล์ฟ ต่อให้หนูตีไม่ดีเท่าแมตช์นี้ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องแย่ แค่คุยกับตัวเอง อยากให้ตีแล้วสบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ โฟกัสทีละหลุม แม้มีข้อผิดพลาดก็ย่อมรับได้ จุดนี้ที่เหมือนเรา Unlock ความคิด เพราะแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่เวลาผิดพลาดแล้ว ใจร้อนอยากรีบเอาคืนเลย กลายเป็นกดดันตัวเอง”

สำหรับเป้าหมายรายการถัดไปในปีนี้  โปรสาวชาวเชียงใหม่ ขอยังไม่ตั้งเป้าใด รวมทั้งใน 5 รายการเมเจอร์ ฤดูกาลหน้า ที่ปีนี้แข่งไปครบแล้ว

“ณ ตอนนี้ หนูพยายามเล่นแบบเรื่อย ๆ ไม่ตั้งเป้าใด ๆ คิดว่าในเมื่อเรามีโอกาสได้สิทธิ์จากทัวร์การ์ดเพื่อแข่งขันทุกแมตช์อันเป็นเป้าหมายแล้ว ก็พยายามทำให้ดีในทุกแมตช์ เราจะไม่ต้องมานั่งเสียดาย ถึง 9 รายการที่ผิดหวังไป จะไม่เป็นอย่างนี้อีก กับรายการที่เหลือคือต้องทำเต็มที่ ถือคติว่าหากไม่ดี ก็คือเต็มที่แล้ว เราต้องรับได้ ความรู้สึกที่เผลอมานั่งเสียดายนั้น ต้องตัดออกไปให้หมด”

 

เผลอตื้นตัน และแชมป์จากอัตราความเป็นไปได้ 750 ต่อ 1 

ความพยายามสู่ชัยชนะที่หอมหวน การอยู่ในสนามตั้งแต่วัยเด็กเมื่อหัดเล่นกอล์ฟ จนพอเล่นได้ดี และเริ่มตระเวนคว้าแชมป์ จากเยาวชนสู่เวทีในประเทศ รายการนานาชาติ ยอมรับว่าใครก็ต้องเคยฝันถึงจุดนี้ ที่ขอฝันถึงแชมป์ในรายการทัวร์ใหญ่สูงสุดอย่าง LPGA 

รายการพอร์ทแลนด์ คลาสสิก มีมือ TOP 10 ดีที่สุดของโลก 8 จาก 10 คนมาลงแข่ง เป็นการแข่งที่ช่างยิ่งใหญ่จนพราวเองก็เผลอสะกดน้ำตาแห่งความปิติไม่อยู่ เมื่อถูกถามความรู้สึกหลังคว้าแชมป์ได้หมาด ๆ ไม่กี่อึดใจหลังส่งสกอร์การ์ด เธอยอมรับว่า 9 รายการที่ผิดหวังถูกแทนที่ด้วยแชมป์นี้หมดแล้ว ความพยายามอย่างหนักของตัวเอง ได้สัมฤทธิ์ผล สิ่งที่เชื่อมั่นเสมอว่ามันต้องเกิดขึ้น วันนี้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ พลันที่น้ำตาแห่งแชมป์เอ่อล้นออกมา 

ตั้งแต่ LPGA Tour เริ่มใช้ระบบ Money List จัดอันดับตามเงินรางวัล มี Rolex Ranking ผู้เล่นนอกทัวร์ และยิ่งอันดับห่างถึงมือ 200-300 กว่าที่อันดับ 367 จะมาคว้าแชมป์ ถือว่ายากมากถึงมากที่สุด เราแทบไม่ค่อยได้เห็น ก่อนหน้านี้มีเพียง 2 คน คือ Rose Zhang (482) Alexa Pano (402)

จากผู้ที่ตกรอบในการแข่งขันมาตลอด 9 รายการหลังใน LPGA Tour มาสำเร็จครั้งที่ 10 แบบผงาดฟ้า คว้าแชมป์แบบแทบพลิกโผที่สุดครั้งหนึ่งในปีนี้ เพราะ 750-1 คืออัตราต่อรองที่ชเนตตี ได้รับความน่าจะเป็นทางสถิติที่บริษัทรับพนันถูกกฎหมายในสหรัฐฯ วางไว้ให้ก่อนแข่ง

หลังจากนี้ โปรพราว ยังคงไม่กลับเมืองไทย ประกาศลุยต่อสัปดาห์หน้า รายการ Kroger Queen City Championship แข่งขันที่ซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ คาดว่า อาจมีโอกาสแวะกลับมาเมืองไทยช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ LPGA มีโปรแกรมมาแข่งขันในเอเชีย ที่ประเทศจีน เกาหลี มาเลเซีย และญี่ปุ่น 

“พราวรู้สึกขอบคุณทุกคนที่เชียร์มาก ๆ ค่ะ หลุมสุดท้ายรับว่าตื่นเต้นมาก ในหัวแทบจะคิดอะไรไม่ทัน จนรู้สึกทำอะไรไม่ถูกไปหมด ก็ได้พี่วิ่ง ช่วยดึงสติ นอกจากนี้ก็ขอบคุณ คุณพ่อ คุณแม่ แคดดีโปรวิ่ง แล้ว อยากขอบคุณอย่างยิ่งเลยคือ สปอนเซอร์ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนูมาถึงจุดนี้ได้ ต้องขอบคุณมาก ๆ ทุกแบรนด์บนตัวหนู ขอบคุณทุก ๆ ท่านเลย เพราะสปอนเซอร์ก็เหมือนเขาเสี่ยงดวงในตัวหนู 

หนูคิดเสมอว่าเขาให้ (สปอนเซอร์) เรามา ก็คิดว่าเราคงต้องตีดี มีผลงาน แต่เราทำได้ไม่ดี เราทำได้ตามที่เขาหวังหรือไม่? แต่ก็ไม่มีใครมากดดันเรา มีแต่ให้กำลังใจ บอกว่าค่อยเป็นค่อยไปนะ ในวันนี้ที่เราประสบความสำเร็จ ก็ต้องขอบคุณทุกท่านมาก ๆ ค่ะ ตอนนี้ก็มีผู้ใหญ่ทางสิงห์ คุณสันติ ภิรมย์ภักดี  โทรศัพท์มาแสดงความยินดีผ่านทางพี่วิ่ง (แคดดี) แล้ว เพราะโทรฯ หาหนูไม่ได้ โทรฯ หนูพังฉลองแชมป์ไปแล้ว (หัวเราะ)”

เชื่อว่าโทรฟีนี้จะนำพาสปอนเซอร์ให้เข้ามาหาเธออีกมาก หากรักษาผลงานคงเส้นคงวา และท้ายสุด โปรพราว ขอขอบคุณแฟนคลับ ที่เชื่อว่าผลงานแชมป์นี้แจ้งเกิดให้ชเนตตี แบบเต็มตัว เป็นที่รู้จักของแฟนกีฬา แฟนกอล์ฟชาวไทยจะหลงรักลูกสาวคนใหม่ มาเทใจเชียร์เธออีกมากโข

สุดท้ายก็ยิ่งส่งอานิสงส์ต่อโปรกอล์ฟสตรีไทยในทัวร์ทุกคน จะเพิ่มความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า มีน้องใหม่มาช่วยยกระดับ เวลาไปแข่งแต่ละรายการ ไม่ว่าโปรชาติไหน ก็ต้องหันมามองออร่าโปรสาวไทย ที่วันนี้กลายเป็นมหาอำนาจ Top 8 ชาติของโลก มีนักกอล์ฟมืออันดับโลกมากมาย ตอกย้ำผลงานที่ปีนี้ 4 สาวไทยก็จับมือกันคว้าแชมป์ International Crown กอล์ฟประเภททีมหญิงชิงแชมป์โลกแบบแทบจะไร้เทียมทาน แพ้เพียงแค่แมตช์เดียว วงการกอล์ฟเยาวชนไทยยิ่งคึกคัก ยิ่งมีตัวอย่างความสำเร็จให้เอาอย่าง

 

เรื่อง: รัตตภูมิ นิลศิริ
ภาพ: Getty Images