‘ก้อง-สมเกียรติ จันทรา’ อดีตเด็กแว้น สู่นักบิดไทยคนแรกที่ชูแชมป์ระดับกรังด์ปรีซ์

‘ก้อง-สมเกียรติ จันทรา’  อดีตเด็กแว้น สู่นักบิดไทยคนแรกที่ชูแชมป์ระดับกรังด์ปรีซ์

‘ก้อง - สมเกียรติ จันทรา’ นักแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก MotoGP รุ่น Moto2 ที่คว้าแชมป์ระดับกรังด์ปรีซ์ครั้งประวัติศาสตร์ และขึ้นโพเดียมในบ้านเกิด เรื่องราวความสำเร็จที่ไม่มีทางลัด จากเส้นทางแบบเด็กแว้น มาสู่นักบิดระดับโลก

  • ก้อง - สมเกียรติ จันทรา นักแข่งจักรยานยนต์ Moto2 หนุ่มไทยที่สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นโพเดียมในบ้านเกิดเป็นคนแรก และกลายเป็นนักบิดที่ทั่วโลกจับตามอง
  • ก้อง - สมเกียรติ ไม่ปฏิเสธว่า เมื่อครั้งอดีต เขาก้าวมาจากเด็กแว้น จากความชอบที่แปรเป็นสิ่งที่สนใจ ก่อนมีโอกาสได้แข่งในสนาม ทำให้เห็นว่าดีกว่าแว้นนอกสนาม
  • ผลงานและตัวตนของ ก้อง - สมเกียรติ ทำให้เขาเป็นนักแข่งชาวไทยที่ทั่วโลกรู้จัก จากที่เริ่มมาจากสถานะม้ามืด กระทั่งมาเป็นนักแข่งแถวหน้าของวงการ

ผู้สร้างกระแส แม้คนไม่เคยดู MotoGP ก็ต้องหันมาเชียร์

ไทยเป็นชาติที่มีจำนวนจักรยานยนต์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ตัวเลขล่าสุดปี 2566 ที่มีการจดทะเบียนใช้งานอยู่ที่ 22 ล้านคัน เท่ากับ 1 ใน 3 คน มีจักรยานยนต์ใช้งาน จำนวนคนที่ชอบพาหนะที่สอดรับกับสภาพการจราจรในเมืองจึงน่าอนุมานได้ว่าแปรผันตามไม่แพ้กัน เฉกเช่นผู้ที่ชื่นชอบกีฬาความเร็วรถ 2 ล้อ

จากความคุ้นเคยใกล้ชิดกับของคู่บ้านคู่เมืองนี้ แต่เรากลับเพิ่งมีนักกีฬาแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่สามารถเรียกว่า เป็นตัวแทนชาติซึ่งสามารถโลดแล่นอยู่แถวหน้าของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

และเป็นการประกาศศักดาในระดับที่ไม่เคยมีคนไทยคนไหนไปได้ไกลอย่างที่ ‘ก้อง - สมเกียรติ จันทรา’ เด็กหนุ่มวัย 24 ปีจากชลบุรี ทำได้มาก่อน

จากม้ามืดสู่แถวหน้า แฟนความเร็วทั่วโลกรู้จัก

ชื่อของสมเกียรติ จันทรา ในวันนี้ ไม่ใช่แค่เป็นขวัญใจ แฟนกีฬาความเร็วคนไทยรู้จักคุ้นชื่อกันดี จนมีอัฒจันทร์ ‘จันทรา สแตนด์’ ในสนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต หากแต่แฟนนักบิดสองล้อทั่วโลกให้การยอมรับฝีมือ ‘จันทรา’ ที่ฝรั่งเรียก ไม่ได้เป็นนักบิดโนเนมอีกต่อไป 21 สนาม จาก 52 สัปดาห์ทั้งปี ชื่อนักบิดไทยผู้มีใบหน้ายิ้มแย้ม เป็น ซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power) ผสม ฟาสต์พาวเวอร์’ (Fast Power) ในสนาม ได้ลุ้นโพเดียม เบียดแถวหน้าเสมอจนค่อย ๆ ชนะใจ และก้าวมาเป็นขวัญใจแฟนโมโตจีพีทั่วโลกที่ติดตาม ไม่ว่าจะด้วยผลงาน ลีลาการดีใจ สะใจ ลีลายกล้อเมื่อเข้าที่หนึ่ง หรือการให้สัมภาษณ์พร้อมพกรอยยิ้มกว้าง ที่ดูปลดปล่อย และจริงใจ

แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะความสำเร็จดีกรีแชมป์เวทีกรังด์ปรีซ์ 2 สนาม รายการจักรยานยนต์ทางเรียบที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง MotoGP รุ่น Moto 2 เป็นเครื่องการันตีต้องฟันฝ่าสารพัดเรื่อง

“วินัย อย่างเดียวเลยครับ”

นั่นคือคำแรกที่ก้อง นึกออก เมื่อเราโยนคำถามที่คาดว่าน่าจะตอบยากนี้ว่า อะไรที่ทำให้ก้อง คิดว่า เราพิเศษกว่าคนอื่น จนก้าวมายืนในจุดนี้ที่ไม่เคยมีคนไทยคนไหนเคยทำได้มาก่อนเลย?

“ผมซ้อมหนักมาก ตั้งแต่วันแรกที่ไปสเปน เพื่อลงแข่งในระดับ CEV Moto 3 เวทีระดับจูเนียร์เวิลด์ ครั้งแรกที่ไป รู้ตัวเลยว่าความฟิตยังไม่ได้ เราเหนื่อย เราตัวคนเดียว เราสู้ใครเขาไม่ได้ ตั้งแต่ตอนแรก ความเหงา ความไม่อยากผิดหวัง เป็นพลังให้เราพยายาม ผลักให้เราต้องเข้าเทรนนิ่งตลอด เพราะรู้ว่าสู้ไม่ได้ พอทำไปเรื่อย ๆ ก็กลายเป็นวินัย ในแต่ละวันจะมีโปรแกรมซ้อม ตั้งแต่ปั่นจักรยาน ตลอดสัปดาห์ 4-5 วัน เข้ายิมวันละ 2 ชม.

ดูร่างกาย ดู (การเต้น) หัวใจ อยู่กับรถ ทำให้รถเป็นส่วนหนึ่งร่างกายเรา เอา Data (ข้อมูล) มานั่งหาจุดบกพร่อง ปรับตัวทีละสนาม ทีละวัน เพราะแต่ละแห่ง แต่ละที่ แต่ละเวลา สภาพสนามต่างกันหมดครับ เชื่อว่าทั้งหมดที่ทำ วินัยคงเป็นหัวใจหลัก และแน่นอนความชอบในเรื่องความเร็ว ในสองล้อ ความอยากชนะ ความสนุก คือทั้งหมดที่รวมกันเป็นส่วนผสมผมวันนี้”

คือสิ่งที่เราสนใจในตัวก้อง เพราะโลกกีฬามอเตอร์สปอร์ต สายตา การตัดสินใจ สัญชาติญาณ ประสบการณ์ สำคัญมากพอ ๆ กับพละกำลัง การทนต่อแรงบิด แรง G ที่ตลอดการแข่งขัน 40-45 นาที ความเครียดกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ร่างกายต้องสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ต้องขับออก จนน้ำหนักหายไป 1-2 กก. หลังจบแต่ละเรซ

“ถ้าถามว่าอะไรทำให้มีสมเกียรติวันนี้ ‘วินัย’ ตัวเดียวที่เป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นไม่มีทางลัดครับ”

สมเกียรติ จันทรา ในการแข่งที่ญี่ปุ่น เดือนตุลาคม 2023

เปลี่ยนคำแช่งเป็นคำชม

วัยเด็กของก้องไม่ต่างจากเด็กผู้ชายทั่วไป ซน เกเร ดื้อ ชีวิตก้าวเข้าสู่โลกความเร็วบนสองล้อ เริ่มต้นในวัยแค่ 8 ขวบ คุณพ่อจับรถของท่านเองให้ทดลองขี่ในสนาม เนื่องจากครอบครัวขายข้าวอยู่ในสนามพีระฯ พอชีวิตอยู่กับรถ เห็นทุกวัน เป็นแรงผลัก รู้ตัวอีกทีก็ติดใจในอดรีนาลีนผ่านความเร็ว ลมปะทะหน้า และเสียงแผดเครื่องยนต์ทุกครั้งที่บิดแฮนด์รถ

“ผมเป็นเด็กแว้นครับ ไม่ปฏิเสธเลย ตั้งแต่จักรยานมามอเตอร์ไซค์ ผมขี่หมด ผมมักแว้นกับเพื่อนที่อยู่ละแวกบ้านในชลบุรี เพราะชอบ สนุก วัยรุ่นทุกคนคงเข้าใจ แม้จะรับรู้ความรำคาญ เสียงด่าทอที่ตามมา ทีนี้จากรถพ่อ จนมาขอพี่สาว แอบให้พาขี่ในสนาม เพราะแรก ๆ พ่อก็ไม่ได้อนุญาตเพราะห่วง แต่พอได้เข้าสนาม ได้ซึมซับความเร็วที่ปลอดภัย เราก็เข้าใจว่ามันดีกว่ามากที่ไปแว้นนอกสนาม บนถนนสาธารณะ ในแทร็กปลอดภัย มีแต่คนเชียร์แทนที่จะแช่ง จนพ่อและแม่เริ่มเข้าใจ และมองเห็นแวว

จากการเริ่มลงแข่งรายการเล็ก ๆ ไปเรื่อย ๆ สู่เอเชีย ทาเลนต์ คัพ และไปเข้าตาทางทีมฮอนด้า ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ได้ไปเก็บตัว และแข่งขัน โดยมีเบสที่ประเทศสเปน สุดท้ายทีมฮอนด้า เอเชีย คัดเลือกให้เป็น 2 นักแข่งร่วมทีม

วันนี้สิ่งที่ได้ทำ และทำได้ คือการเปลี่ยนคำด่า คำแช่ง เป็นคำชม ลบคำปรามาสจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่วิทยาลัยว่าแข่งไปทำไม กลับมาตั้งใจเรียนเถอะ จนวันหนึ่ง อาจารย์คนนี้มาดูผมที่บุรีรัมย์ และยอมรับความสามารถ เท่านี้ผมก็ภูมิใจแล้วครับ ว่าเรามีอาชีพนี้ที่หลายคนมองเห็นคุณค่า และความสามารถ”

 

เกือบต้องอำลาอาชีพเพราะขาหัก

“2015 น่าจะเป็นปีที่เรียกว่าช่วงตกต่ำที่สุด เพราะอุบัติเหตุหนัก แถมมาเกิดขึ้นในสนามหลังบ้าน อย่างพีระเซอร์กิต สนามที่เติบโตและขี่มาตั้งแต่ขายังเหยียดไม่ถึงพื้นดี เหตการณ์วันนั้นคือการฝึกซ้อม ช่วงก่อนเดินทางไปแข่งเซปัง

ผมลงซ้อมโดยในตอนแรกเซ็ตยางสำหรับสนามแห้ง สักพักฝนลง เจอน้ำขังโค้ง ผมท้ายปัด โอเวอร์สเตียร์ เพราะยางสลิค ไม่มีดอก รู้ตัวอีกที หลุดไปกระแทกกำแพงยาง เท่าที่จำได้ ผมไม่คิดว่าเจ็บมาก พยายามลุกขึ้น ปรากฏว่าลุกได้ แต่..เดินไม่ได้ เพื่อนช่วยกันพาส่งโรงพยาบาล ผลเอกซเรย์คือขาหัก พักยาว การฟื้นฟูก็เจอปัญหาติดเชื้อ สรุปคือพักไปเลยตลอดปี เป็นช่วงที่ตกต่ำที่สุดในอาชีพ” 

อาจจะเป็นโชคดีที่เกิดในช่วงแรก ๆ ของอาชีพ ที่จะก้าวสู่เวทีใหญ่ เพราะทำให้รู้ตัวว่าความผิดพลาด จากตัวเองที่ฝืนทำความเร็วเกินไป และถ้าอายุมากกว่านี้อาจจะฟื้นตัวยาก มอเตอร์สปอร์ตเป็นกีฬาที่ต้องโฟกัสตลอดเวลา อุปกรณ์ป้องกันที่มีเพียงเสื้อแข่งกันไฟ กับหมวกกันน็อค คำว่าพลาดเพียงครั้งเดียว เสี้ยววินาทีเดียว อาจหมายถึงอำลาอาชีพ หรือแม้แต่อำลาโลกได้เลย

“ผมได้บทเรียนและกลายเป็นว่า เราโตขึ้นจากการประเมินตัวเอง รถเรา กับสภาพแวดล้อม รถไหวไหม ยางหมดไหม เบรคเอาอยู่ไหม สิ่งที่ได้จากเหตุการณ์นั้น ไม่ได้ทำให้ผมแหยง ตลอดเวลาที่พักยาว กลับคิดแต่อยากกลับไปขี่รถ ถ้าถามว่าหลังจากนั้น เจอสนามมีฝน ผมไม่เคยกลัว หากแต่ความไม่กลัวมาจากประสบการณ์ตรงว่า คราวนี้เรารู้ลิมิตแล้ว ฝันร้ายที่เกิดจะต้องเป็นครั้งเดียว”

 

เดจาวูที่บุรีรัมย์

1 ปีผ่านไป จากปี 2022 ที่สนามช้าง อินเตอร์ฯ ฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ ทำให้ก้อง พลาดล้ม และต้องออกจากการแข่งขัน ทั้งที่เป็นตัวเต็งแชมป์จากการคว้าโพล โพซิชั่น ออกสตาร์ตคันแรก เหตุการณ์คล้ายๆ กันกับที่เคยล้มที่พีระฯ ก่อนแข่งสนามแห้ง แต่พอไฟแดงดับ สตาร์ตมาพร้อมฝนเทลงมาอย่างหนัก ก้องไปท้ายปัดช่วงโค้งรอบแรก ๆ ทำให้ล้ม และไม่จบการแข่งขัน พาลให้ผู้ชมเต็มสนามผิดหวัง จนการแข่งขันต้องหดลง และตัดสินให้แต่ละอันดับได้คะแนนสะสมเพียงครึ่งเดียว

 

จากอกหัก สู่คนไทยคนแรกยืนโพเดียมในบ้านเกิด

กระแสที่ค่อยๆ เติบโต จากม้ามืด สู่สตาร์ดัง เป็นตัวเต็งในทุกสนามเสมอ สร้างให้สมเกียรติ กลายเป็นขวัญใจคนไทย จากกีฬาที่ไม่ได้เป็นกระแสหลัก กลายเป็นกีฬาที่มีการถ่ายทอดสดทุกสนาม สร้างให้คนที่ไม่เคยดูแข่งมอเตอร์ไซค์ ต้องหันมามอง และตั้งใจรอดู

“ผมดีใจ ปลื้ม และขอบคุณทุกคนที่เชียร์มากครับ ผมเต็มที่ทุกครั้ง ทุกสนาม และเวลาผมให้สัมภาษณ์ช่วง Parc Ferme ผมก็เต็มที่ ผมหัวเราะ ผมสะใจ ผมปลดปล่อย เวลาที่ทำเวลาดี ทั้งรอบจับเวลา หรือรอบชิงฯ ผมชอบสื่อสารกับแฟน ๆ ชาวไทย ด้วยภาษาไทย เวลาตอบก็พูดหมด ไม่มีกั๊ก”

“สนามช้างในปี 2023 คือโมเมนต์ความสุขที่สุดในอาชีพครั้งหนึ่ง ผมออกสตาร์ทที่ 4 วิ่งจนจบที่ 3 เป็นโพเดียมครั้งแรกในชีวิตรายการกรังด์ปรีซ์ที่บ้านเกิด ปีนี้เซ็ตรถลงตัว ผมตื่นเต้นทุกครั้งกับการแข่งขันที่นี่ และปีนี้ยิ่งมากเป็นพิเศษ รอบวอร์มอัพแล็ป (ก่อนออกสตาร์ท) จำได้แม่นว่า ผมพยายามเรียกสติตัวเอง ด้วยการตะโกนดัง ๆ ในหมวกกันน็อค เป็นวิธีที่ใช้เพื่อลดความเครียด

ผมตะโกนจนแสบคอ จนออกสตาร์ต และจนวินาทีที่จบการแข่งขัน ความรู้สึกโล่งเป็นปลิดทิ้ง โล่งใจที่แข่งจบ โล่งใจที่ทำผลงานได้ดี มีโพเดียมแรกสำเร็จ ทำให้ทุกคนมีความสุข ทั้งในสนาม และที่ดูทั่วประเทศ เป็นคนไทยคนแรกที่ยืนโพเดียม หลังจากปีที่แล้วเขียนประวัติศาสตร์เป็นคนไทยคนแรกที่ได้โพล โพซิชั่น มาแล้ว”

  

2 แชมป์ที่จำชั่วชีวิต

“อินโดนีเซีย มันดาลิกา 2022 ก่อนไป นับว่าเป็นสนามที่ร่างกายไม่พร้อมเลย ผมเพิ่งนิ้วหักจากสนามก่อนหน้าจนต้องผ่าตัด และใส่เฝือกนิ้ว ต้องตัดถุงมือเพื่อเปิดช่องสำหรับเฝือกที่ขยายออกมากกว่าปกติ วันนั้นทำได้ดีตั้งแต่ออกตัวโค้งแรก ที่สตาร์ตอันดับ 4 ซึ่งมาจากผลการควอลิฟายที่ดี การได้แชมป์สนามในเอเชีย ทำให้เราภูมิใจ คนใกล้ชิดกับเรา เป็นตัวแทนพวกเขา”  

ส่วนแชมป์ที่ญี่ปุ่น คือความสมบูรณ์แบบที่สุดที่ต้องยกให้กับ ‘ก้อง ร่างทอง’ จารึกสุดสัปดาห์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่ชีวิตนักแข่งคนหนึ่งจะทำได้ คือการทำเวลาเร็วที่สุดในทุกกิจกรรม ตั้งแต่รอบซ้อมทั้ง 3 รอบ ทำเวลาเร็วที่สุดในรอบควอลิฟาย ทำสถิติใหม่สนามโมเตกิ คว้าโพล โพซิชั่นออกสตาร์ตคันแรก ขี่นำแบบม้วนเดียวจบ ไม่เคยเป็นผู้ตามเลย และคว้าแชมป์สนาม ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ยกระดับให้ก้องเป็นนักบิดแถวหน้าเต็มภาคภูมิ แถมเป็นการประกาศศักดาให้กับทีม อิเดมิตซึ ฮอนด้า ทีมเอเชีย ด้วยการคว้าแชมป์แบบอันดับ 1-2 โดยมีเพื่อนร่วมทีม ไอ โอกุระ นักแข่งเจ้าถิ่น คว้ารองแชมป์ ต้นสังกัดได้ที่ 1 ประเภททีมในโฮมเรซ บ้านเกิดอีกขยัก ได้ใจ และเรียกเสียงเฮให้แฟนทั่วสนามกึกก้อง สมเกียรติ!

สมเกียรติ ฉลองบนโพเดียมที่ญี่ปุ่น เมื่อตุลาคม 2023

“ผมมี 5 สนามในดวงใจที่ชื่นชอบ คือ เรดบูล ริง ที่ออสเตรีย - เลอ มังส์ ที่ฝรั่งเศส - อาร์เจนติน่า - โมเตกิ ที่ญี่ปุ่น และแน่นอน ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล ในไทย คาแรกเตอร์สนามที่ชอบคือ โค้งเยอะ เบรกหนัก ผมมักจะทำความเร็ว ช่วงเข้า-ออกโค้งได้ดี

ส่วนสไตล์การขี่ เรามีแพลนอยู่ครับ ไม่ว่าจะจังหวะที่ต้องนำ หรือตาม ผมถือว่าถนัดทั้งคู่ เวลาเป็นผู้นำ เราจะไม่สนข้างหลัง โฟกัสที่แต่ละโค้ง จุดไหนเร่ง จุดไหนผ่อน เวลาเป็นคนไล่ ก็คล้ายกัน สนุกอีกแบบ แต่อาจจะเจอ Bad Air จากรถคันหน้าที่มีผลกับความเร็ว แต่ก็มีข้อดีที่ได้ Slip Stream

ฉะนั้น สถานการณ์แบบไหน นักขับจะเลือกตัดสินใจตามจังหวะครับ ก่อนแข่งเรามีการเตรียมตัว มีประชุม มีเซ็ตติ้ง อัปเกรดรถ มีจำลอง ซิมูเลชันเสมือนจริง ต้องจำให้ได้ก่อนแข่ง จุดไหนใช้ความเร็วเท่าไหร่ สภาพคอนดิชันรถ สภาพอากาศร้อน-หนาว-ชื้น สนามแห้ง สนามเปียก ปัจจัยทั้งหมดเวลาช่วงขณะนั้นเป็นอย่างไร และสำคัญอยู่ที่คู่แข่งด้วย ส่วนสนามเปียก ถ้าถามว่าเคยพลาดมาก่อน จะมีอาการหวั่นไหม แหยงไหม ปัจจุบันต้องบอกว่า ผมกลับชอบสนามเปียกครับ ประสบการณ์เรามีแล้ว เรารู้จังหวะเรา ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ไปครับ”

  

พร้อมลุย MotoGP เชื่อถึงโพเดียม!

คำถามที่โดนถามอยู่เสมอ คือพร้อมแล้วหรือยังสำหรับเวทีใหญ่สุด MotoGP ก้องชี้ว่าพร้อมมาก!

“แน่นอนว่าผมพร้อมครับ โมโตจีพี สิ่งที่ต่างจากโมโตทู คือ รถใหญ่ขึ้น ซีซีเครื่องยนต์ที่มากขึ้น รถหนักขึ้น ซึ่งผมลองแล้ว ไม่มีปัญหาครับ สิ่งที่เพิ่มขึ้นอีกอย่าง คือดาต้า การเซ็ตรถ การเซ็ตแดชบอร์ดที่รถเรา มีรายละเอียดในการโปรแกรมต่างๆ มากกว่าโมโตทู เราต้องเรียนรู้ระบบมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ว่าไม่ยาก แต่มันคือความฝันสูงสุด

รถที่หนักขึ้นไม่มีผลครับ ไม่เกินความสามารถ หลายคนจับพลัดจับผลู ขยับจากรุ่นรองไปรุ่นใหญ่ แข่งปีแรก ได้แชมป์เลยก็มีให้เห็น ผมอยากได้รับโอกาสนั้นครับ อยากลองสัก 1-2 ปี ถ้าเราทำได้ก็จะพิสูจน์ตัวเอง ถ้าไม่ได้ก็พร้อมยอมรับ กลับมาโมโตทูใหม่ คงได้ประสบการณ์มาไม่น้อย แต่ทั้งหมดก็ทราบดีครับ ว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ต้นสังกัดเอง ทีมที่จะขึ้นไปในโมโตจีพี ทางโมโตจีพีด้วย สปอนเซอร์ต่างๆ และผู้ใหญ่ที่จะมองความพร้อมว่าอย่างไร”

 

ไม่ได้แข่งคนเดียว ทีมคือทุกอย่าง

“กับทางอิเดมิตสึ ฮอนด้า ทีมเอเชียเอง ก็มีพูดคุยกันครับ ผู้ใหญ่อยากให้รอ เพื่อสั่งสมฝีมือ ให้เรามีผลงานที่ชัดเจนในแง่แชมป์ หรืออาจจะท็อป 3 ตอนนี้ผมอยู่ท็อป 5 ก็ถือว่าทำได้ตามเป้า หวังว่าจะรักษาผลงานนี้ไว้ได้จนจบฤดูกาล หรือแม้แต่ขยับขึ้นไปได้ แต่คนที่ตามมาก็ขยับมาจ่อเช่นกัน เราต้องรักษามาตรฐานนี้ไว้

สำหรับผม ขี่ได้ทุกทีมครับ หากจะขยับขึ้นไป แต่ฮอนด้า ทีมเอเชีย คือครอบครัว

คือบ้านที่เราเริ่มต้นมาตั้งแต่วันแรก เราค่อยๆ สร้างมาด้วยกัน จนเป็นแถวหน้าในรุ่น ผมมีคุณอารักษ์ (พรประภา) ประธานบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด เป็นเหมือนพ่อคนที่สอง มีคุณจุฑามาส (อินปริงกานันท์) ผู้จัดการทั่วไป ไทยฮอนด้า ส่วนงานกีฬายานยนต์ฯ เป็นแม่คนที่สองอีกคน มี (ฮิโรชิ) อาโอยาม่า เป็นหัวหน้า มีหัวหน้าช่าง ที่สนิทมากคนหนึ่ง มี ไอ (โอกุระ) ที่รู้ใจกัน อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันแรก เราแข่งกันในสนาม แต่ใครผลงานดี เราก็ยินดี และมีความสุขร่วมกัน เราคลุกคลี ผูกพันมายาวนาน ผมรักทุกคน ทุกคนก็รัก และเชื่อมั่นกัน”

 

นอกสนามเรียบง่าย

ในวันที่เราได้เห็นรัศมีซุปตาร์จากก้อง คำว่าวินัย ยังคงเป็นเครื่องยึดให้สมเกียรติ ตระหนักถึงความเป็นนักกีฬามืออาชีพเสมอ แม้จะไม่ได้อยู่ในสนามแข่ง ที่สปอตไลต์จับตา และอีกส่วนหนึ่ง ครอบครัวที่อบอุ่น เป็นลมใต้ปีก และพลังงานบวกที่รอต้อนรับกลับมาบ้านเสมอ เมื่อได้เบรคแข่งขัน 

“ผมเป็นคนธรรมดาทั่วไปของวัยรุ่นวัยนี้เลยครับ มีเวลาว่างก็ฟังเพลง ดูหนัง เพลงแนวที่ฟังช่วงนี้ชอบแรป ฮิป-ฮอป เพลงของ Diamond กำลังเป็นเพลงที่ฟังบ่อยช่วงทำสมาธิก่อนแข่ง ส่วนช่วงสัปดาห์พัก หากได้กลับมาไทย ก็มีเจอเพื่อนบ้าง สังสรรค์บ้าง แต่ไม่ได้ไปไหนนัก ยังวนเวียนอยู่สนามซ้อม ทั้งซ้อมทางเรียบ และโมโตครอส

ที่ชอบเพราะสามารถนำเทคนิคการคุมรถมาเสริมกับทางเรียบได้เวลาจัมพ์ เวลาสไลด์ เวลารถปัด รวมทั้งล่าสุดก็ได้ไปลองเจ็ตสกี ก็สนุกและเรียนรู้มาปรับใช้ครับ ...

วันว่างจริง ๆ ผมไม่ชอบไปไหน ชอบอยู่บ้านกับครอบครัว ทานอาหารฝีมือแม่ ทำทานกันเองที่บ้าน อยู่กับพ่อ แม่ พี่ชาย พี่สาว ดูหนัง ดูกีฬาด้วยกัน ทั้งฟอร์มูลาวัน ทั้งฟุตบอล ถามว่าจะเจอผมที่ไหน ถ้าอยู่พัทยา ก็คงละแวกนี้ ไม่มีนอกลู่นอกทาง เราอยู่ในร่องในรอย เพื่อนก็เข้าใจ ทุกวันนี้เรามีคนข้างหลังให้ต้องรักษาตัวเอง มีครอบครัว ถ้าเราพลาดไป ทำอะไรไม่ดีขึ้นมา จะกระทบไปหมด ไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียว”

 

ไม่พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์

“สิ่งที่ทำมีความเสี่ยงอันตราย แต่ทั้งตัวผมไม่มีเครื่องรางของขลังอะไรเลย เชื่อไหมครับ ไม่ใช่ว่าไม่นับถือ แต่ความที่เรากลัวจะไม่ระวัง ไปในที่ที่ทำให้ท่านเสื่อมหรือไม่ อย่างไปลอดราวตากผ้า สมมติครับ อาจจะไม่ดี เลยไม่ได้ห้อยอะไร อาจจะมีที่เพื่อนรุ่นพี่ให้มาพกติดตัว พอเป็นที่ยึดเหนี่ยว คือหนุมาน ที่เป็นสัญลักษณ์ตัวก้องเองไปแล้ว เพราะเชื่อว่า ปราดเปรียว ว่องไว ฉลาด เราก็นับถือ เชื่อลึก ๆ ว่าให้คุณแก่เราครับ”

 

แฟน ‘อเล็กซ์ อัลบอน’ ตัวยง

ไม่ใช่แค่มอเตอร์ไซค์ที่ชอบ รถยนต์ 4 ล้อ ก็เป็นแพชชั่นที่อยู่ในดีเอ็นเอไม่แพ้กัน ซึ่งที่สุดของมอเตอร์สปอร์ต ต้องยกให้ฟอร์มูล่าวัน ก้องติดตามดูถ่ายทอดสดทุกสนามที่มีโอกาส และทำให้ทราบว่าเป็นแฟนคลับ อเล็กซ์ อัลบอน อังสุสิงห์ นักแข่งเชื้อสายไทยหนึ่งเดียวในเวทีรถสูตรหนึ่งยุคปัจจุบัน แห่งทีมวิลเลียมส์ ทั้งสองเหมือนกันตรงที่เป็นสปอร์ตฮีโร่บนความต่างของชนิดกีฬาเท่านั้น

“ผมดูทุกสนามที่มีโอกาสครับ สำหรับฟอร์มูล่าวัน แน่นอนเราคนไทย เชียร์คนไทย เป็นแฟนคลับ อเล็กซ์ คอยช่วยเชียร์ อย่างสนามล่าสุดที่บราซิล ก็เชียร์หน้าทีวีกับพี่ชายที่บ้าน เสียดายที่อุบัติเหตุก่อนตั้งแต่รอบแรก ทำให้ไม่จบการแข่งขัน มีครั้งหนึ่ง ผมตื่นเต้นมากที่อเล็กซ์ มาตอบสตอรี่ และแลกเปลี่ยนกันผ่านอินสตาแกรม...หากได้เจอพี่เขา ผมคงตื่นเต้นมากครับ”

พลันให้ผู้เขียนนึกสนุก เตลิดไปถามต่อว่าถ้าได้มีกิจกรรมร่วมกันอย่างนำรถคู่ใจทั้งคู่มาแข่งกัน คงเป็นอีเวนต์ที่น่าตื่นเต้น

“ผมว่าไม่น่าสู้ได้ครับ แต่ก็ไม่แน่ ถ้าเป็นระยะสั้น ๆ อย่างควอเตอร์ไมล์ เพราะรถเราเบาและแรงกว่า แต่ปลายคงไม่สู้แน่ครับ (หัวเราะ)”

เมื่อกีฬามอเตอร์สปอร์ต สรีระร่างกายไม่ใช่ข้อเสียเปรียบสำหรับคนเอเชีย คนไทย ไม่แน่ว่าสักวันเราอาจได้เห็นทั้งคู่บนเซอร์กิตเดียวกัน หรืออาจจะพบกันบนโพเดียม เมื่อเป็นแชมป์โลกทั้งคู่ ใครจะรู้?

 

เรื่อง: รัตตภูมิ นิลศิริ

ภาพ: สมเกียรติ จันทรา ช่วงพรีอีเวนต์ที่บุรีรัมย์ เมื่อตุลาคม 2023 ไฟล์จาก Getty Images