‘อ็อคซานา ชูโซวิตินา’ นักยิมนาสติกวัย 48 ปี แข่งโอลิมปิก 8 สมัย ยังลุยเอเชียนเกมส์ที่จีน

‘อ็อคซานา ชูโซวิตินา’ นักยิมนาสติกวัย 48 ปี แข่งโอลิมปิก 8 สมัย ยังลุยเอเชียนเกมส์ที่จีน

ตำนานที่มีลมหายใจ ‘อ็อคซานา ชูโซวิตินา’ นักยิมนาสติกหญิงวัย 48 ปี นักกีฬาที่แข่งโอลิมปิก 8 สมัยและยังมีชีวิตอยู่ มาลุยเอเชียนเกมส์ที่จีนจนได้ใจผู้ชม

  • อ็อคซานา ชูโซวิตินา เรียกเสียงฮือฮาเมื่อลงแข่งยิมนาสติกในเอเชียนเกมส์ที่จีน ในปี 2023 ขณะอายุ 48 ปี
  • อ็อคซานา ถือว่าเป็นนักกีฬามากประสบการณ์ระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจ โดยเธอผ่านโอลิมปิกมา 8 สมัยแล้ว

ถ้าหากใครได้ชมการแข่งยิมนาสติกในกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ที่จีน (แข่งเดือนกันยายนปี 2023) เชื่อว่าหลายคนคงแปลกใจที่ได้เห็นนักกีฬาหญิงผู้มีใบหน้า ท่าทางที่แปลกตาจากที่เรามักเห็นนักกีฬาชนิดนี้เพราะส่วนมากเป็นเด็ก ร่างเล็ก บางคนยังใช้คำนำหน้าว่าเด็กหญิง ตรงกันข้ามกับสตรีวัยกลางคน ผู้เป็นนักกีฬาจากประเทศอุซเบกิสถาน ทรงผมที่รวบมัดตึง เผยถึงริ้วรอยบนใบหน้าที่เหี่ยวย่นตามวัย ร่างสันทัด หากแต่มัดกล้ามเนื้อ หัวไหล่ และแขนที่เผยความแข็งแรง

ใครไม่ใช่แฟนกีฬายิมนาสติก อาจคิดว่าเธอคือผู้ฝึกสอน หรือผู้ปกครองนักกีฬา แต่เมื่อถึงเวลาลงสนาม ณ ขณะที่คุณป้าถอดเสื้อวอร์มออก อยู่ในคราบชุดยิมนาสติก ก่อนจะเตรียมพร้อมเพื่อลงแข่งในอุปกรณ์ที่แข่งขัน เป็นช่วงที่คนดูทั้งฮอลล์พร้อมใจเปล่งเสียงเชียร์ดังสนั่นที่สุดทั่วสนาม แม้จะไม่ใช่การแข่งขันในประเทศตัวเอง หากแต่เป็นเวทีประเทศจีนที่ผู้ชมพร้อมใจเรียกชื่อเธอในภาษาจีนว่า ‘แม่ ชูโซ’ 

ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

8 โอลิมปิก - 16 ชิงแชมป์โลก - 5 เอเชียนเกมส์ – 3 กู๊ดวิลเกมส์ และรายการระดับนานาชาติอีกนับไม่ถ้วน ทั้งหมดคือผลงานการกรำศึกของ อ็อคซานา ชูโซวิตินา (Oksana Chusovitina) เธอคือตำนานที่ยังมีชีวิต ผู้ครองสถิติกินเนสเวิลด์เรคคอร์ด (Guinness World Records) นักกีฬาที่ลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกมากที่สุดในโลก 8 สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ (ในปี 2023) และสถิติอีกมากมายในวงการยิมนาสติกที่สามารถเรียกได้ว่า คุณป้าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก อายุเป็นเพียงตัวเลขที่แท้จริง วัย 48 พรรษา ที่ต้องเรียกว่าปูนนี้แล้ว แต่ดูทรง และสรีระ แทบไม่ต่าง หากจะย้อนวันวาน ไปนึกถึงเธอในวัย 17 สมัยที่ประเดิมเวทีโอลิมปิกครั้งแรก ปี 1992 ที่บาร์เซโลนา

สำคัญกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่า ทั้งที่อายุและสังขารขนาดนี้ กับการแข่งขันกีฬานี้ที่ความพีกในอาชีพ การเป็นแถวหน้าคือ ‘วัย’ ที่เรามักจะเห็นนักกีฬาวัยเด็ก หรือวัยทีนเท่านั้นถึงจะเป็นราชินีครองเหรียญทอง สำหรับพละกำลัง กระดูก และกล้ามเนื้อที่ยืดได้มากกว่า 

ในวงการฯ ชี้ว่า เมื่อวัยล่วงเลยไปแตะสัก 26 ปี ก็แทบจะต้องอำลาสนามกันหมด ยิ่งแตะถึงเลข 30 ถือได้ว่าเป็นช่วงวัยสุดท้ายในอาชีพเล่นยิมนาสติกเต็มที โดยเฉพาะเวทีระดับสูงสุดของโลก

“ฉันไม่เคยสนใจคำพูดคนเลยว่า ควรต้องเลิกตั้งแต่ 25, 19 หรือแม้แต่ตอน 30 ฉันก็ไม่ได้เลิกเล่น ถ้าไม่ลองพยายาม จะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำได้หรือไม่ เราจะข้ามขีดจำกัดได้แค่ไหน” 

เป็นหลาย ๆ ครั้งที่สะท้อนแนวคิดของอ็อกซานา ที่ไม่สนคำครหา และมุ่งมั่นพิสูจน์ว่าคนที่ไม่รู้จักเราดีมักประเมินศักยภาพตัวเราเองผิดเสมอ   

ชื่อของอ็อคซานา แทบไม่มีอะไรต้องพิสูจน์ในวงการ กับสถิติเป็นนักกีฬายิมนาสติกคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่แข่งขันโอลิมปิก 8 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 1992-2021 หรือเท่ากับ 33 ปี ที่ติดทำเนียบนักกีฬาเวทีสูงสุด คว้าเหรียญทองมาทุกเวทีนานาชาติ ระดับโลก และระดับทวีป แถมยังได้จาก 2 ทวีปด้วย

เอเชียนเกมส์ที่เมืองหางโจว ที่แข่งปี 2023 อ็อคซานา วัย 48 กะรัต ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการแข่งขันเวทีระดับโลก ในยิมนาสติก อุปกรณ์ประเภทม้ากระโดด แถมเธอยังเลือกใช้ท่าที่มีคะแนนความยากสูงถึง 4.4 หากทำได้ตามที่แจ้งกรรมการก่อนการกระโดด จะเป็นตัวคูณคะแนนความสามารถ พิจารณาดูจากความสมบูรณ์ ท่าทาง การจัดระเบียบร่างกาย ข้อผิดพลาด ตามเกณฑ์การให้คะแนนสหพันธ์ยิมนาสติคสากล (FIG) ...

ท้ายที่สุด เธอหวุดหวิดจะคว้าเหรียญรางวัล จากคู่แข่งรุ่นลูกได้ ผลคะแนนเธอมีคะแนนรวมเป็นอันดับที่ 4 แบบมีดราม่าเล็ก ๆ  จากการกระโดดครั้งที่ 2 เธอและโค้ชขอประท้วงผลการตัดสิน เพราะเชื่อว่าควรได้คะแนนสูงกว่าที่ประกาศ รวมถึงก่อนหน้านั้น ระบบมีความผิดพลาด แม้จะได้ที่ 4 ชวดเหรียญไป แต่ไม่ต้องผิดหวัง ผลงานและการยืนอยู่ในสังเวียนเวทีระดับโลกวันนี้ เกินคุ้มไปหลายขุมมาก แถมเกินมาหลายสิบปีแล้ว

 

ปริศนาความสำเร็จที่ไม่มีคำตอบ

ครั้งหนึ่ง เธอให้สัมภาษณ์หลังจบโอลิมปิก 2020 เธอก็ฉงนตัวเองในการเอาชนะกำแพงอายุขัยนี้ 

“ฉันตอบไม่ได้เหมือนกัน และไม่รู้จะตอบยังไง คงต้องไปถามจากคนอื่น บางทีเขาอาจหาตอบได้มากกว่าฉัน แต่ถ้าเท่าที่ฉันพอนึกได้เอง คงเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ที่เสียไป ท่านอาจส่งพลังนี้มา ขณะที่ความมุ่งมั่น สำคัญที่สุด ทุกเป้าหมายที่วางไว้ ฉันต้องทำให้ได้ ปณิธานตัวเองคือ ถึงไม่สำเร็จ อย่างน้อยก็ต้องลงมือ พยายามก่อน”

เช่นเดียวกับเป้าหมายสุดท้าย เธอขอคืนคำพูดว่า จะหันหลังให้วงการ เลิกแข่งขันหลังจบโตเกียวเกมส์ เธอยังรู้สึกถึงความมุ่งมั่นในการแข่งขัน และเริ่มกลับมาฝึกซ้อมอีกครั้งในทันที โดยมีเวทีชิงแชมป์เอเชีย และล่าสุดกับ เอเชียนเกมส์ที่จีนเป็นการซ้อมใหญ่ เสมือนแข่งโอลิมปิกจริง มนุษยชาติคงยากจะทำลายสถิติเธอ ยิ่งในประเภทกีฬาที่ใช้พละกำลังร่างกายแบบนี้ และวินัยที่มาจากการฝึกซ้อมสม่ำเสมอ ความรักต่ออาชีพ คงเป็นพื้นฐานสำคัญอันเป็นที่มาของความสำเร็จซึ่งไม่มีทางลัด

“ยิมนาสติกสำหรับฉันเป็นมากกว่าแค่กีฬา มันคือชีวิตจิตใจ เป็นแพสชั่น เป็นความมุ่งมั่นที่จะแข่งขัน ซึ่งทุกสนามคือเครื่องสร้างความสุข ฉันไม่เคยต้องการเป็นตำนาน เพราะเชื่อว่าทุกคน จะวัยเยาว์ วัยกลางคน พอลงสนาม ลงอุปกรณ์ ลงฟลอร์แล้ว ทุกคนเท่ากันหมด ฉันไม่ต้องการชื่อเสียงด้วยซ้ำ ฉันแค่ต้องการแข่งขัน ความสุขคือจุดที่ได้แข่ง”

 

เป้าหมายสุดท้ายหยิบเหรียญโอลิมปิกให้บ้านเกิด

เธอหวังจะจารึกสถิติ แข่งขัน 9 โอลิมปิก ที่นครปารีส แม้จะเคยประกาศอำลาอาชีพ ยุติไว้ที่โอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่หลังเธอลงแข่งเอเชียนเกมส์ และพลาดเหรียญ ยิ่งทำให้เธอโฟกัสไปที่เป้าหมายสุดท้ายในอาชีพที่ปารีสเกมส์ 2024 

“ฉันต้องการปิดฉากอาชีพด้วยการคว้าเหรียญรางวัลสุดท้ายเพื่ออำลา นี่คือฝันและเป้าหมายที่ฉันมุ่งมั่น ทุ่มเทฝึกซ้อมให้หนัก”

“ความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ฉันได้รับจากการนำชื่อตัวเองไปตั้งเป็นชื่อสถาบันยิมนาสติกในกรุงทาชเคนท์ ฉันต้องการสร้างให้นักกีฬายิมอุซเบฯ เป็นที่รู้จัก ต้องการให้กีฬานี้บูมในประเทศ คนรุ่นหลังจะเป็นตัวแทนสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ”

“ชีวิตคนเรา อะไรก็เกิดขึ้นได้ เราอยู่กับวันนี้ แล้วรอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นวันพรุ่งนี้”

การต้องแบกอายุ ฝึกซ้อม สร้างกล้ามเนื้อ ทำร่างกาย ควบคุมอาหาร ในช่วงวัยที่ระบบเผาผลาญไม่เหมือนเด็กรุ่นลูก รุ่นหลาน ยิ่งเพิ่มความเสียเปรียบในการแข่งขันเป็นหลายเท่าตัว บางประเภทกีฬา ประสบการณ์อาจเป็นข้อได้เปรียบกว่านักกีฬาที่เยาว์กว่า แต่ไม่ใช่กับยิมนาสติก 

“ถ้าฉันทำผลงานไม่ดี คนคงตราหน้าว่า ยายป้าคนนี้จะยังกลับมาแข่งอีกทำไม แม้ว่าฉันจะเลิกสนใจคอมเมนต์โลกออนไลน์ไปแล้ว ฉันทำในสิ่งที่เป็น สิ่งที่ต้องการ กระนั้นก็ยอมรับว่ามีมุมของความคิดที่บั่นทอนอยู่ แต่สุดท้าย ก็นั่นล่ะค่ะ ฉันเลยต้องทำให้มากกว่าคนอื่น ต้องแข็งแรงกว่าคนอื่น ต้องซ้อมให้มากที่สุด เพื่อผลงานที่ดีที่สุดเมื่อถึงเวลาแข่งขันจริง เป็นก้าวแรกที่พิสูจน์กับทุกคนว่า ‘ฉันยังไหว’ ฉันสู้ได้กับทุกคน”

“ประสบการณ์อาจเป็นข้อได้เปรียบในกีฬาบางชนิด แต่ไม่ใช่ยิมนาสติก เด็ก ๆ อาจตื่นสนาม ตื่นคนดู เวทีใหญ่ แม้ฉันจะกรำศึกโชกโชน ฉันยอมรับว่าตื่นเต้นทุกการแข่งขันเสมอ แต่ฉันกลับชอบความตื่นเต้นนี้นะ มันเหมือนเป็นการให้พลัง”

 

ปีนหลังคาและตามพี่ชายไปยิม เป็นที่มากำเนิดตำนาน

วัยเยาว์ของดญ.อ็อคซานา เธอโตมาในครอบครัวที่เป็นน้องนุชสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน พี่ชายคนโต และพี่สาวทั้ง 2 ล้วนถูกพ่อและแม่สอนให้ดูแลน้องเล็กอย่างเธอเป็นอย่างดี จนอาจจุดประกายเป็นที่มาสู่เส้นทางอาชีพของตำนาน

“ตอนเด็กฉันอยู่ไม่สุข พวกเรา 4 พี่น้องใกล้ชิดกัน ฉันได้รับความรักจากพี่ ๆ ทุกคน เวลามีอะไรก็เอามาแบ่งฉัน ฉันโตมากับกิจกรรมนอกบ้านอย่างปีนหลังคา มุดใต้ถุนบ้าน ซ่อนแอบเป็นเกมที่เล่นกันเสมอ เคยเก็บลูกสุนัขมาเลี้ยงทีเดียว 6 ตัว ฉันชอบเก็บสัตว์ข้างทางกลับมาบ้านบ่อย ๆ ครอบครัวฉันปลูกฝังเรื่องของการรักสัตว์ และไม่อยากเห็นใครถูกทิ้งไว้” 

ทุกวันนี้ เธอมีสัตว์เลี้ยงในครอบครัว เป็นสุนัข 4 และแมว 1 ตัว

การไม่ให้เธอต้องอยู่อะพาร์ตเมนต์เพียงลำพัง และติดสอยห้อยตามพี่ชายไปด้วย โดยเฉพาะในห้องยิมนาสติกหลังเลิกเรียน เป็นที่มาของความชื่นชอบกีฬานี้ อ็อคซานา เริ่มเล่นกีฬานี้ครั้งแรกตั้งแต่ 8 ขวบ การได้เปิดโลกก่อแรงดึงดูดให้หลงรักกีฬายืดหยุ่นอย่างถอนตัวไม่ขึ้น แม้สุดท้ายพี่ชายจะไม่มีคลาสเรียนแล้ว เธอกลับเสพติดและกระหายการได้เล่นยิม ซึ่งต้องแลกมาด้วยความขยันและความขัดใจแม่

“แม่ฉันเชื่อว่า กีฬาเป็นเพียงเรื่องเล่น การเรียนต้องมาก่อน ฉันเลยต้องเรียนหนักให้ผลการเรียนดี เพื่อแม่จะได้ปล่อยให้ไปโรงยิม ซึ่งกฎเหล็กที่บ้านนี้ยื่นให้คือ ยิ่งเวลาที่ใช้เพื่ออ่านหนังสือเรียนมากเท่าไหร่ แปรผันเป็นเวลาที่ได้เข้ายิมมากเท่านั้น”

ครอบครัวชูโซวิตินา ไม่ได้มีใครเป็นนักยิม หรือนักกีฬาชนิดใดเลย แต่การปลูกฝังและความมุ่งมั่นที่ค่อย ๆ สร้าง จนฉายแววจากการทำผลงานดีอย่างมีนัยสำคัญ จากระดับสมัครเล่นสู่การติดทีมชาติ

ติดทีมชาติไปเวทีโอลิมปิกในปี 1992 เธอเล่นให้สหภาพโซเวียต ที่ใช้ชื่อ Unified Team ปี 1996 ครั้งถัดมา ปี 2000 ที่ซิดนีย์ เธอกลับมารับใช้ชาติให้อุซเบกิสถาน บ้านเกิด เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของทีมที่ได้สิทธิ์แข่งขันเนื่องจากผลงานที่ทำไว้ 

ในปีนั้น เธอให้กำเนิดลูกชาย Alisher เคราะห์ร้ายที่บุตรชายหัวแก้วหัวแหวน ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่แบเบาะ เธอและครอบครัวย้ายสำมะโนครัว หอบหิ้วกันไปอยู่เยอรมนี เพื่อให้เข้าถึงการรักษาลูกของเธอที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากการแพทย์ที่ชั้นนำกว่า และได้สัญชาติจนเป็นตัวแทนไปแข่งขันในนามนักกีฬาเยอรมัน 

 

สูงสุดสู่จุดต่ำสุดในอาชีพ

โอลิมปิก 2004 ที่เอเธนส์ อ็อคซานา ติดธงทีมอินทรีเหล็ก กลายเป็นจุดตกต่ำที่สุดในอาชีพในเวลานั้น ด้วยความกังวลเรื่องการรักษาตัวบุตรชาย ทำให้สมาธิการซ้อมถูกลดลงไป เธอไม่ได้แค่ชวดเหรียญรางวัลที่กรีซ หากแต่ไม่มีโอกาสแม้แต่เข้าไปแข่งในรอบตัดสิน เพราะคะแนนรอบคัดเลือกไม่ดีพอ

เธอกลับมาอีกครั้ง ในวัย 33 อ็อคซานา แก้ตัวมาคว้าเหรียญเงินให้ตัวเอง และทีมเยอรมนีในปักกิ่งเกมส์ ปี 2008 ได้สำเร็จ 

แต่กีฬากับอาการบาดเจ็บมักเป็นของคู่กัน ปีเดียวกันนี้เอง ในทัวร์นาเมนต์รายการสวิสคัพ ที่ซูริก เธอได้รับบาดเจ็บร้ายแรงจากเอ็นร้อยหวายฉีกในจังหวะที่กระโดดผิดพลาดจนต้องรับการผ่าตัดใหญ่

“ฉันไม่ใช่แค่คนแก่ที่สุดคนหนึ่งในสนาม แต่ยังพันผ้าพันแผลขนาดนี้” นับเป็นครั้งแรกที่เธอมีความคิด ยุติอาชีพนักยิมนาสติก อย่างจริงจัง แต่เมื่อความเจ็บปวดหายไป สุดท้ายเธอก็เอาชนะสังขาร กลับเข้ายิม ไปฟิตซ้อมอีกครั้งได้ แล้วความคิดจะอำลาสนามก็อันตรธานไปสิ้น

จากนั้น 2012 – 2016 และ 2020 เธอหวนกลับมารับใช้บ้านเกิดอุซเบกิสถาน ธงฟ้าขาวเขียวคงเป็นป้ายสุดท้ายบนชุดยิมที่เธอแปะหน้าอก ลงแข่งให้ชาติที่แยกตัวจากสหภาพสังคมนิยมรัสเซียเดิม

“ฉันไม่ได้มองเรื่องการจะส่งไม้ต่อให้นักกีฬารุ่นหลังเลย เชื่อไหม? ไม่เคยนึกเลยสักนิด แต่ไม่ว่าใครจะต้องการหรือไม่ ฉันก็คิดว่า ฉันทิ้งอะไรให้อยู่บ้างนะ ...คุณลองนึกภาพว่าในวัยนี้ ฉันไม่เคยอายเลย ฉัน 48 แล้วไง ฉันออกไปหน้าอุปกรณ์ เจอเด็กแค่ 16 อายุน้อยกว่าลูกฉันเสียอีก แต่ฉันยังชนะได้ นี่แหละ แรงผลักดันที่ผลักฉันไง ถ้าฉันวัยเท่ากันกับรุ่นลูกล่ะ สำหรับฉันที่ยังอยู่ตรงจุดนี้ได้ นี่..คือแรงขับเคลื่อน ฉันก็เชื่อว่าคนอื่นคงมองมาแล้วอยากให้ร่างกายทำได้อย่างที่ฉันเป็น” 

 

เกษียณ(ไม่)สำราญ

แรงบันดาลใจที่ใครเห็นก็ต้องทึ่ง สิ่งที่เธอสร้างให้ผู้คนในวัยกลางคนจนถึงวัยอิสระ “ทำอะไรในสิ่งที่มีแรงทำได้ในวันนี้ จะได้ไม่เสียใจวันรุ่งขึ้นว่าไม่ได้ทำ” คือวิถีที่ชูโซวิตินา ยึดถือ กฎง่าย ๆ ที่ทำแล้วมีความสุข และไม่ว่าโอลิมปิกสมัยที่ 9 ของเธอจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะฝ่าด่านรอบคัดเลือกสำเร็จไหม หรือมีเส้นทางให้เราต้องคอยตามลุ้นตามเชียร์ช่วงกลางปีหน้าว่าผลจะเป็นอย่างไร ดูเธอจะแย้มว่าจะทำ (เล่นยิมนาสติก) จนกว่าจะไม่มีแรงกระโดด เพราะนั่นคือความสุขที่ได้ทำ ได้เล่น ได้แข่ง ได้ภูมิใจ

“ฉันจะหันหลังให้กีฬาที่สร้างความสุขทุกครั้งที่เล่นไปทำไม?”

การเกษียณอาจเป็นเส้นทางความสุขของหลาย ๆ คนในช่วงวัยเลข 5 หรือเลข 6 ที่ต้องการพักผ่อน อยู่นิ่ง ๆ แต่เชื่อว่าใน 2-3 ปี นี้ เราจะยังเห็นอ็อคซานา โลดแล่นในการแข่งขันยิมนาสติกรายการใหญ่ เพราะไม่ใช่ทุกการเกษียณจะสำราญ การซ้อม การชนะสังขาร การสร้างความแข็งแรง นั่นคือความสุข แถมสุขอย่างยั่งยืนด้วย เอาใจช่วยเธอ คุณป้ามหัศจรรย์

 

เรื่อง: รัตตภูมิ นิลศิริ

ภาพ: อ็อคซานา ในการแข่งเอเชียนเกมส์ที่จีน เมื่อ 25 กันยายน 2023 ไฟล์จาก Getty Images