15 ธ.ค. 2566 | 22:28 น.
- ‘สายสุนีย์ จ๊ะนะ’ คือ ราชินีกีฬาคนพิการเจ้าของสถิติโลก ผู้ครองเหรียญรางวัลสูงสุดจากทุกรายการที่แข่ง
- เธอได้เล่าถึงเรื่องราวชีวิตที่สร้างพรแสวงจากความพยายาม และความในใจที่ไม่เคยบอกใครมาก่อน
จากคนพิการที่ชีวิตติดลบ สู่การแนะนำกีฬาที่กลายมาเป็นทุกอย่างและให้ชีวิตใหม่แก่ ‘แวว - สายสุนีย์ จ๊ะนะ’ ราชินีกีฬาคนพิการผู้เกิดมาสร้างพรแสวงจากความพยายาม และขุดเอาพรสวรรค์ที่ซ่อนในตัวมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนปกติ และตัวอย่างการใช้ชีวิตที่มีวินัยอย่างนักกีฬาอาชีพ สู่ความเป็นหมายเลขหนึ่งนักกีฬาคนพิการไทย
หรือแม้แต่ครองสถิตินักกีฬาคนพิการที่ประสบความสำเร็จเหรียญรางวัลมากที่สุดของโลก ผู้ยืนหยัดในเวทีนานาชาติมาตลอด 2 ทศวรรษ และยังคงเดินหน้าสู่การเป็นนักกีฬาพาราลิมปิกสมัยที่ 6 ในปีหน้า โดยบทความนี้จะพาไปถอดรหัสตัวตน การต่อสู้ที่มากกว่าคนทั่วไป และความคิดของสายสุนีย์ในความไร้เทียมทาน และครั้งแรกของการบอกความรู้สึกต่อผู้ที่ทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนไปตลอดกาลที่ไม่เคยตอบที่ไหนมาก่อน
หนักกว่าเดินไม่ได้คือครอบครัวแตกสลาย
วันที่รู้ว่าต้องสูญเสียความสามารถในการเดิน วิ่ง หรือแม้แต่ยืนด้วยลำแข้ง วันที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความสูงเพียงแค่ราว 1 เมตร หรือเท่ากับคนนั่งไปตลอดชั่วชีวิต การทำใจเป็นไปอย่างยากลำบากแสนสาหัสกว่าสิ่งใด แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของความทุกข์จากการทุพพลภาพเท่านั้น และที่สะเทือนใจไปกว่า คือการสูญเสียการเดินไปตลอดกาล กลับยังไม่ใช่ความเสียใจมากที่สุดในชีวิต และเป็นวันเดียวกันที่ทำให้เราคิดได้ว่าต้องสู้
“วันที่เศร้าที่สุดของพี่ไม่ใช่วันที่รู้ว่าประสบอุบัติเหตุแล้วรับรู้จากหมอว่าเราไม่สามารถเดินได้ไปตลอดชีวิต แต่เป็นวันที่ครอบครัว พ่อและแม่ตัดสินใจเลิกกัน ท่านเลิกกันหลังจากเรานั่งรถเข็นแล้ว เลิกกันเพราะความจน เพราะอุบัติเหตุทำให้แม่ต้องออกจากงาน เพื่อมาดูแลเรา ท่านทะเลาะและตัดสินใจเลิกกัน
“เพราะวันนั้น…วันที่จำขึ้นใจ คือวันที่ไม่มีจะกินอย่างแท้จริง ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ เรามีเงินกันอยู่แค่ 30 บาททั้งบ้าน มันกลายเป็นความโทษตัวเองว่าทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเรา เราคิดว่าเราไม่ใช่แค่จนด้วยฐานะ แต่มันจนด้วยปัญญา จนใจจะสู้! พอนึกถึงคำว่าสู้ คิดได้อย่างนั้นสักพัก เราฮึดเลย ขอลองดูสักตั้ง ลองจากช่วยตัวเองให้ได้ก่อน ลองไม่เป็นภาระก่อน ถ้าเขาไม่ต้องมาดูแลเรา เขาก็น่าจะอยู่ได้
อยากฆ่าตัวตายยังยากที่จะทำ
กว่าจะทำใจได้ เรานอนอย่างเดียว นั่งไม่ได้ ตลอด 3 เดือนหลังรักษาตัวจากอุบัติเหตุ ช่วงเวลานั้นมันพร้อมจะฆ่าตัวตายเป็นระยะ ๆ แม่ทำงานโรงงาน รายได้แค่วันละ 70 - 80 ก็ต้องออกมาดูแลเรา พ่อต้องออกหางานรับจ้างทั่วไปคนเดียวมาเลี้ยงทั้งบ้าน น้องก็ต้องเรียน ความคิดที่วนในหัวคือ ทำไมเราไม่ตายไปเลย
“จากเหตุการณ์นั้น ถ้าเราจากไป อย่างน้อยแม่ไม่ต้องมาเฝ้า อย่างน้อยมีรายได้ ส่งน้องเรียนได้ ช่วงที่ดำดิ่งที่สุด ปี 2535 เรานั่งมองไปนอกหน้าต่างที่โรงพยาบาล ตัดสินใจจะปีนหน้าต่าง เดชะบุญที่แม่มาเห็นสภาพขณะเรากระเสือกกระสนเอาตัวไปอยู่ที่ขอบวงกบแล้ว แม่มาฉุดเราไว้ ตีเราแล้วก็ร้องไห้ ฟูมฟายว่าจะทำทำไม แม่เลี้ยงมากับมือ แล้วจะอยู่ยังไง ถ้าทำแบบนี้เหมือนกับอยากให้แม่ตายตามใช่ไหม อารมณ์เหมือนดูละครสะท้อนสังคม แต่เรื่องจริงโหดร้ายกับคนที่อยู่ในสภาพจริงกว่ามาก
“สุดท้ายเราผ่านมาได้ ต้องขอบคุณความรักในครอบครัวเรา ต้องอยู่กับเขานะ เรามีน้องสาวที่ผูกพันแม้อายุห่างกัน 9 ปี เราดูแลกันมาตลอด จากนั้นก็เป็นการปรับความคิด เราต้องไม่จมกับความเศร้าในหัวตัวเองคนเดียว เริ่มอยู่กับคนข้าง ๆ ในครอบครัว เราต้องฝึกยกขา ฝึกนั่งก่อน ฝึกขึ้น-ลงเตียงเอง ฝึกใส่เสื้อผ้าเอง จากนั้นฝึกถ่ายเบา ต้องใช้วิธีสวน เราต้องฝึกทุกอย่างในการขยับตัว จนถึงการทำกิจวัตรทั้งหมดให้ได้เอง เราคิดว่าต้องหยุดโยนความทุกข์ตัวเองให้คนอื่น เพื่อลดภาระทั้งกายและใจคนที่เรารักที่สุด ฝึกความคิดหาทางออกว่าเมื่อวันที่เราดูแลตัวเองได้ วันนั้นแม่ก็ไปทำงานได้ ก็มีรายได้ แทนที่เราจะเป็นคนจากเขาไป”
ไม่อภัยแต่ขอไม่รับรู้
สายสุนีย์ยอมรับว่า แม้เหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านมาร่วม 30 ปีแล้ว แต่ไม่มีวันไหนที่ไม่คิดว่า โชคชะตาเล่นตลกให้เราเป็นแบบนี้ จากยากจนไปสู่ชีวิตติดลบ และสู้จนมาเป็นผู้ประสบความสำเร็จมีพร้อมทุกอย่าง ด้วยพลังใจ
และพลังกายของ 2 แขน ที่ไม่มี 2 ขา ไม่มีวันไหนที่จะไม่โทษผู้ที่ทำให้เธอสูญเสีย และไม่เคยมาเยียวยา แม้แต่แค่คำขอโทษ หรือแม้แต่ไม่เคยรู้ตัวตน ฉะนั้น จึงไม่ขอรับรู้ใด ๆ เกี่ยวกับบุคคลนั้น และขอให้อยู่กันคนละโลก
“ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ เราไม่เคยสักครั้งถามหาคนรับผิดชอบ เราไม่ให้อภัยหรอกค่ะ เราไม่ได้เป็นคนดีอะไร ถามว่าแค้นไหม ก็ตอบไม่ได้ มันไม่ใช่ความรู้สึกนั้น แต่คนที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ เราคงถือว่าอยู่คนละโลก ไม่รับรู้ ไม่อยากรู้ และไม่คิดจะอยากรู้ว่าเป็นใครด้วยซ้ำ ในเมื่อเขาเลือกจะหนีตั้งแต่ขณะแรกที่เกิดเหตุแล้ว ก็ให้เขาหนีความจริงไปให้ได้ทั้งชีวิต มีคนบอกว่าเขาน่าจะเมา เพราะเป็นเวลาเช้าตรู่วันเสาร์ แต่ช่างเขาเถอะค่ะ
“ตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อนแล้ว พี่ไม่เคยคิดจะไปหาตัวตน ไม่เคยต้องการแม้แต่การชดใช้ แม้จะไม่เคยมี ไม่เคยได้สักบาทอยู่แล้ว เราไม่ได้แค้น แต่ก็ไม่ได้ให้อภัย เรื่องแบบนี้เชื่อว่าไม่มีใครรับได้หรอกค่ะ คนที่ทำให้เราสูญเสียไปตลอดกาล แค่คิดว่าวันหนึ่ง เรารู้ตัวคนนั้นขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา เราไม่มีทางเดินได้อีกอยู่ดี ก็ถือเสียว่า เราอยู่คนละโลกกันไปเสียดีกว่า เชื่อไหมว่านี่คือครั้งแรกที่แววตอบคำถามนี้ ว่าแค้นเขาไหม? คงต้องโทษโชคชะตาค่ะ
สายสุนีย์บอกว่า ความบีบของโชคชะตาบังคับให้เราต้องทำ ให้เราต้องสู้ ถ้าเราไม่ทำคงกลับไปที่จุดเดิม คิดฆ่าตัวตายวนไปซ้ำ ๆ หรืออาจเป็นนักกีฬาแล้ว แต่ไปไม่ถึงความสำเร็จ ความไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิต เป็นแรงขับที่สำคัญที่สุด ทำให้มีคนชื่อสายสุนีย์ คนพิการ ผู้ได้รับเหรียญตรา ทั้งเหรียญรางวัล มากที่สุดกว่าคนทั่วไป ไปจนถึงการได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิตรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ถ้าเลือกได้ ย้อนไปขอไม่พิการแล้วยากจน อย่างไรก็ประเสริฐกว่าพิการที่มีเงินล้าน
จุดเริ่มต้นราชินีเหรียญทองที่ฝึกแค่ 7 วัน
วีลแชร์ฟันดาบ ไม่ใช่กีฬาแรกที่สายสุนีย์เริ่มต้นเล่นในฐานะนักกีฬาคนพิการ หากแต่เป็นบาสเกตบอลวีลแชร์ ทั้งนี้เพราะบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่มีเล่นอยู่แล้วในศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จ.เชียงใหม่ ที่สายสุนีย์เข้าไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับสภาพความเป็นจริง
ที่ศูนย์แห่งนี้มี 2 ทางที่จะสร้างคุณค่าให้คนพิการมีความสามารถและใช้ชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียมคนปกติมากที่สุด คือสอนอาชีพ และสอนกีฬา
“เราเล่นบาสฯ วีลแชร์ค่ะ เพราะร่างกายไม่ได้แข็งแรงมากอย่างวีลแชร์เรซซิ่ง เราเล่นบาสฯ เราทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่จำได้ว่าเราเหมือนได้รับโอกาส ปี 1998 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ และเฟสปิกเกมส์ ปีถัดมามีตัวแทนทีมกีฬาฟันดาบวีลแชร์จากฮ่องกง มาอบรมกีฬานี้ให้เรา ทางเขาต้องการให้ไทยส่ง เพื่อให้มีจำนวนชาติสมาชิกครบ 4 ชาติ และสามารถบรรจุและจัดแข่งขันระดับนานาชาติได้ ทางสมาคมกีฬาคนพิการของไทยก็ประสานมา ทางฮ่องกงนำเอาอุปกรณ์ เอาโค้ชมาสอน เหมือนเป็นโอกาสที่เราตัดสินใจเดี๋ยวนั้นเลยว่า นี่แหละ! คือหนทางของเรา
“เราต้องเลือกกีฬา เพื่อสร้างหนทางสู่ฝันครั้งใหม่ คือการเป็นนักกีฬาทีมชาติ เราทำความรู้จัก จับดาบครั้งแรกในชีวิต อบรม ฝึก ทั้งหมดภายใน 7 วันเท่านั้น แล้วเป็นนักกีฬาเลย เราคือนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบรุ่นแรกของเมืองไทย ซึ่งโค้ชผู้สอนบอกหลังจบคอร์สว่าเราทำได้ เขาบอกว่าจะเห็นเราในพาราลิมปิกแน่นอน เราก็ไปให้สุดเลย จนได้ 2 เหรียญทอง เฟสปิกเกมส์ ในระดับเอเชีย ที่มาจากผลของการเรียนรู้ 1 สัปดาห์เท่านั้น ชีวิตเปลี่ยนเป็นหน้ามือ เพราะคนเริ่มรู้จัก ชื่นชม เราเลยมั่นใจมากขึ้นว่านี่คือความสามารถที่ซ่อนอยู่ ความสามารถที่เราขุดจากความพยายาม”
จารึกทุบทุกสถิติที่มีในมหกรรมกีฬาคนพิการ
หากมีการบันทึกสถิติโลก สายสุนีย์คือเจ้าของสถิติโลกอย่างไม่ต้องสงสัย เธอคือผู้คว้าเหรียญรางวัลอย่างต่อเนื่องในทุกรายการที่ลงแข่งขัน และยังคงแข่งขันอยู่จนกว่าจะไม่ไหว คือสิ่งที่เจ้าตัวยืนยัน และแถมมีทิศทางที่ยังไม่มีแนวโน้มจะขาลงง่ายๆ
เมื่อดูจากผลงาน 2 ปีที่ผ่านมา (2022 - 2023) เป็นช่วงเวลากลับมาเป็นปีทองของสายสุนีย์ จ๊ะนะ ยังคว้าเหรียญรางวัลในทุกรายการที่ไปแข่งขัน เพิ่มสถิติราชินีเหรียญที่คว้าเหรียญรางวัลมากที่สุดใน 3 มหกรรมกีฬาคนพิการ (พาราลิมปิกเกมส์ - เอเชียน พาราเกมส์ และเอเชียนพาราเกมส์) ตั้งแต่ปี 1999 ไทยเป็นเจ้าภาพ เอเชียนเกมส์ และเฟสปิกเกมส์ สายสุนีย์ประเดิมคว้า 2 เหรียญทอง
จวบจนปัจจุบัน ปี 2023 ไม่มีรายการไหนที่เธอกลับบ้านมือเปล่า รักษาสถิติ 100% มีเหรียญติดมือทุกอีเวนต์ โดยเฉพาะพาราลิมปิกเกมส์ เวทีใหญ่ที่สุด ทั้ง 5 สมัย จะมีแค่เพียง 2 รายการที่พลาดไม่ได้ไปแข่งขัน คือ พาราลิมปิก ที่ซิดนีย์ ปี 2000 ที่ไม่มีสปอนเซอร์ส่งแข่งขัน และเอเชียนพาราเกมส์ ปี 2014 ที่อินชอน เกาหลีใต้ เพราะตั้งครรภ์บุตรสาว
ส่วนในรายการชิงแชมป์โลกเป็นหน้าประจำทุกปีที่ไม่พลาดเหรียญทองทุกแมตช์ ในประเภทเอเป้ หรือแม้แต่ได้ทั้ง 3 รุ่นที่แข่งขันรายการเดียว เหมาทั้ง เอเป้ ฟลอยด์ และเซเบอร์ ก็เคยคว้ามาแล้ว
ถอดรหัสสายสุนีย์ทำไมชื่อนี้ไร้เทียมทาน
ในวัยที่ร่วงโรยถึงตัวเลขที่กำลังจะแตะ 50 การมองเห็นมีปัญหากับระยะสายตายาวที่มีผลโดยตรงต่อกีฬาชนิดนี้ แต่สายสุนีย์ยังเป็นความหวังเหรียญทองในทุกเวทีแข่งขัน ทั่วทั้งโลกยังยกให้เป็นนักกีฬาตัวเต็งเสมอ โดยเฉพาะรายการฟันดาบ ประเภทเอเป้ ที่เธอถนัด ความเป็นตำนานผู้ครองราชินีเหรียญมานานเกิน 2 ทศวรรษ เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่สายสุนีย์ยังสามารถยืนหยัดสู้กับนักกีฬารุ่นลูก รุ่นหลานได้อย่างน่าอัศจรรย์
“เราสายตายาว ใช่ค่ะ ไม่พอเราวัย 49 ความเสื่อม ความถดถอยร่างกาย มวลกระดูกเสื่อม การฟื้นตัวจากความล้าในการฝึกซ้อม ต้องใช้เวลานาน ต้องกายภาพมากขึ้น การซ้อมจากเคยซ้อมวันละ 15 คน เราทำได้แค่วันละ 2 คนเท่านั้น เรียกว่าเรามีจุดด้อยกว่านักกีฬารุ่นน้องทุกประตู ยกเว้นแต่ประสบการณ์ เป็นสิ่งเดียวที่เราเหนือกว่าก็ว่าได้ เราต้องทำการบ้านหนักกว่าในการดูเทปคู่แข่ง ศึกษาให้ละเอียด เตรียมตัวรับมือสไตล์การเล่นคู่แข่งล่วงหน้า ดูจากข้อผิดพลาดนัดผ่าน ๆ มา รวมทั้งของเราด้วย สายตาเรารู้ว่าระยะยิ่งใกล้เราเสียเปรียบมองไม่ทัน ก็ฝึกมองกว้าง ๆ และมองเกมล่วงหน้า เพราะเราไม่ได้มองโฟกัสได้ทันอย่างอดีต ก็ใช้ความคิดมองเกมเป็นหลัก สไตล์ตอนนี้ใช้แรงไปสู้ไม่ชนะแล้ว นี่คือประสบการณ์
“แต่เอาตรง ๆ พี่ไม่รู้จะตอบแบบไหนดี ถ้าถามว่าความไร้เทียมทานคืออะไร เราเป็นเบอร์ 1 จุดนี้ได้ คงรวม ๆ หลายอย่าง ‘ความพยายาม’ มั้งคะ เราบอกตัวเองตั้งแต่วันแรก เราตั้งใจ เราต้องสู้ ต้องฝ่าฟัน คนโน้นทำ 10 เราทำ 20 คนปกติทำ 10 เราต้องทำ 100 เรามีเป้าหมายชัดเจน ที่ต้องไปให้ถึง เหมือนเป็นเส้นทางเดียวที่เราทำได้และต้องทำ คนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้
“ตัวแววเอง เรามีวินัยในตัวเอง และไม่ปล่อยให้วินัยลดถอยลง แม้แต่การใช้ชีวิต เราเผลอใจกินของอร่อย ของหวาน สุดท้ายก็อ้วน คนพิการมีระบบการเผาผลาญที่ด้อยกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่เดินไม่ได้ จะอ้วนง่ายมาก การควบคุมน้ำหนักเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องห้ามใจ แม้ไม่ใช่ช่วงเวลาซ้อม เราต้องตัดใจไม่กินของหวาน ของมัน ของทอด ของไม่ดีต่อร่างกาย มีคอเลสเตอรอล เราตัดหมด เราคุมโภชนาการมาตลอด 20 ปี ทำให้ร่างกายยังคงยืนระยะได้ ประกอบกับเราฝึกหนักมาโดยตลอด
ทุกวันตั้งแต่เช้ายันเย็น มีแต่โปรแกรมการฝึก ได้พักแค่สัปดาห์ละครั้ง แล้วการแข่งขันมีตลอด แทบทั้งปี หรือเมื่อก่อน แม้จะไม่มีแมตช์แข่งเยอะ แม้จะได้พักเป็นเดือน เราก็ต้องมีวินัย และต้องไม่ขี้เกียจ เราออกกำลังกายอย่างไร ก็ต้องทำอย่างนั้น ให้ร่างกายชิน
อยากบอกนักกีฬาทุกคน หรือไม่ใช่นักกีฬาว่า วินัย และเป้าหมาย คือสิ่งที่ต้องบอกตัวเองเสมอ และไม่หลงระเริงกับความสำเร็จในอดีต แววไม่เคยคิดว่าถึงเวลาแข่งเราก็ได้ ไม่! หากประมาทคิดแบบนั้นเท่ากับแพ้ทันที ความมั่นใจของเราต้องมาจากการฝึกซ้อมที่เต็มที่ ต้องไม่มั่นใจจากความชะล่าใจว่าฉันเก่งแล้ว
“และทุกวันนี้ ใครบอกอะไรดี วิตามินอะไรช่วยดูแลสุขภาพ เราแสวงหาหมด อาชีพเราคือนักกีฬา ถ้าไม่ดูแลสุขภาพเป็นพื้นฐานทั่วไปแล้ว คงเรียกตัวเองว่านักกีฬาคงไม่ใช่ จิตใจก็เช่นกัน ปัญหาส่วนตัวทุกคนมี แต่อย่าให้กระทบ ไม่ว่าจะเวลาซ้อม เวลาแข่ง ต้องฝึกเอาตัวเองออกจากปัญหาให้ได้ สมาธิต้องมีอย่างแรก ต้องสั่งตัวเองให้ได้ หากทำด้วยตัวเองไม่ได้ หาคนคุย หานักจิตวิทยา แต่พี่มีครอบครัว มีลูก หลับตาเห็นหน้าลูก เห็นพ่อแม่ แล้วสู้ บอกตัวเอง ทำเพื่อเขา ชีวิตนี้ ถ้าเราแย่ เขาจะทำอย่างไร การคิดถึงครอบครัว คือแรงขับทั้งหมด เท่านี้เลยสำหรับพี่”
ในวัยย่างเลขห้ายังไม่คิดถึงการเลิกเล่น
ปารีสเกมส์ พาราลิมปิกปีหน้า 2024 คือเป้าหมาย และความเชื่อที่สายสุนีย์มีความฝัน จะทำตรงจุดนี้ จนกว่าจะไม่ไหว จนกว่าจะยอมรับว่ามีตัวแทนมาทำหน้าที่รับส่งไม้จากเธอ พร้อม ๆ กับการสร้างฝันเล็ก ๆ ของลูกน้อยหัวแก้วหัวแหวน น้องฤทัย ในวัย 8 ขวบ
“น้องฤทัยเป็นเหมือนของขวัญ พรสวรรค์ที่ส่งมาทดแทนสิ่งที่แม่อย่างพี่ขาด น้องมีความฝันที่พี่ต้องการสร้างฝันให้เป็นจริง กับการเป็นนักร้อง น้องสามารถจดจำเสียงเพลงแล้วร้องตามได้ตั้งแต่วัยแค่ 3 ขวบ ที่เด็กวัยนั้น หลายคนจะยังพูดไม่เป็นคำดี แต่น้องร้องเพลงได้แล้ว เพียงแค่ฟังเพียงนิดเดียว ก็สามารถร้องตามได้เลย และดูจะชื่นชอบมีแพสชันตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบัน 8 ขวบ ตอนนี้ก็พยายามส่งเสริมให้เขาอย่างสุดความสามารถ หาครู หาที่เรียนพิเศษด้านการร้องเพลงโดยเฉพาะ พี่ก็ทุ่มเท คอยไปรับไปส่ง
“และที่สำคัญคือค่าเรียนพิเศษการร้องเพลงที่ค่อนข้างสูง หวังว่าวันหนึ่งเขาจะเป็นนักร้องได้ อย่างที่เห็นตัวอย่างพี่ ๆ ศิลปินยุคนี้ เราต้องการเห็นเขาเติบโต ทดแทนสิ่งที่แม่ทำไม่ได้ น้องฤทัยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวอย่างแท้จริง ในวันที่เราท้อ เราหลับตามีใบหน้าเขาลอยมา เราสู้ได้เลยทันที ทุกวันนี้หัวอกคนเป็นแม่ อะไรอดได้ เราอด แต่เพื่อลูก เราให้เต็มที่ และน้องเป็นเด็กที่น่ารัก ไม่เคยเสียใจให้เราเห็นว่าแม่เป็นแบบนี้ ถึงมองว่าเป็นพร”
สิงห์ผลักดันคนพิการสู่ความเท่าเทียมและเวทีโลก
เงินรางวัลอัดฉีดจากภาครัฐฯ คือความใฝ่ฝันนักกีฬาคนพิการทุกคนที่อดทนฝึกซ้อม เสียสละแรงกายแรงใจและเวลา เพื่อแข่งขันบางรายการเพียงไม่ถึง 20 วินาที แต่ต้องเทรนเป็นแรมปี นักกีฬาทุกคนล้วนมีเป้าหมายในการแลกเหงื่อเพื่อรายได้มาแบ่งเบาค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว คนพิการที่มาเป็นนักกีฬาแทบจะร้อยทั้งร้อย มีฐานะอัตคัดและต้องดิ้นรนทั้งสิ้น
ย้อนไปในอดีต เงินรางวัลอัดฉีดคนพิการที่ได้เหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ของเงินรางวัลที่คนปกติได้รับจากเวทีต่าง ๆ เช่น เงินรางวัล 1 ล้านบาทสำหรับเหรียญทอง แต่คนพิการได้รับเพียง 3 แสนบาทเท่านั้น ทั้งที่ความพยายาม ความยากลำบากไม่ต่างกัน หรือต้องพยายามมากกว่าด้วยซ้ำ จุดเปลี่ยนที่ค่อย ๆ ได้รับการผลักดันเม็ดเงินมากขึ้น เป็นร้อยละ 50 มาจากทั้งเอกชน และองค์กรที่เข้ามามีบทบาทช่วยเหลืออย่าง บริษัท บุญรอดฯ
“เราเริ่มมีนักกีฬาคว้าเหรียญรางวัลเป็นแถวหน้าตารางเหรียญมากขึ้น ตรงนี้สะท้อนความสามารถคนไทย เราเป็นแถวหน้าเพราะความพยายามเป็นหลัก ความเสียเปรียบด้านความสูงอาจหมดไปก็จริง เช่น นักกีฬาวีลแชร์ แต่การสร้างกล้ามเนื้อมาทดแทนช่วงบน แขน หน้าอก เราก็ต้องใช้ทุกศาสตร์มาช่วยในการฝึกซ้อม เก็บตัว ทั้งหมดล้วนต้องใช้ทีมงาน ต้องใช้บุคลากร และงบประมาณ การได้บุญรอดฯ โดยคุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี เข้ามาดูแลสมาคมกีฬาคนพิการ เป็นลมใต้ปีกและแรงหนุนทั้งทางตรง และทางอ้อม
“การสูญเสียคุณจุตินันท์ ประธานทัพพาราลิมปิกไทย กะทันหันเมื่อปีก่อน เป็นเหมือนการเสียพ่อพวกเรา วันนี้ผ่านมา 1 ปี เราต่างยินดีที่ลูกชาย คุณต่อย (ณัยณพ ภิรมย์ภักดี) มาสานงานแทนคนบนฟ้า และได้ใจนักกีฬาทุกคนไม่แพ้คุณพ่อ ยุคสมัยก่อนการซ้อม การเก็บตัวไม่ได้เป็นระบบแบบทุกวันนี้นะคะ พี่ซ้อม ไม่มีเบี้ยเลี้ยงซ้อม นักกีฬายุคแรก ๆ ซ้อมเอง ลงทุนเอง แบ่งเวลาเอง กว่าจะทำงานเสร็จ มาซ้อมก็ต้องพยายามเป็นเท่าตัว สมัยนี้มีประกาศเปิดรับสมัครนักกีฬา คุณมาซ้อม มาเก็บตัว ทุกอย่างมีให้หมด อาหารการกิน คนดูแล โภชนาการ นักกายภาพ
“ยิ่งยุคแรก ปี 1999 พี่แข่งจบก็เคว้งเลย ไม่มีงบมาให้ซ้อมกันต่อ เป็นเหตุผลที่เราไม่ได้ไปพาราลิมปิก ซิดนีย์ 2000 ยิ่งเราอยู่ต่างจังหวัดด้วย ความยากยิ่งทวีคูณ เพราะโค้ช ความพร้อมทุกอย่างอยู่ที่ส่วนกลาง กรุงเทพฯ หรือแม้แต่ตอนนี้ที่อยู่สุพรรณบุรี ก็ต้องวิ่งมากรุงเทพฯ เสาร์-อาทิตย์ ยังดีที่ทุกอย่างดีขึ้น เพราะการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชน และคนที่เข้ามาทำ เข้าใจ และพร้อมให้พวกเราจริงๆ”
แนวคิดให้คนปกติแม้ไม่พิการ
คนที่เกิดมาเคยมีครบ 32 วันหนึ่งโชคชะตาให้ต้องขาดหาย ท้าทายชีวิตที่ยากจน ต้องอดทนฟันฝ่ามากกว่าใครเขา จงเศร้าเสียให้ใจจะขาด แล้ววันหนึ่งจะค้นพบหนทาง ให้เปลี่ยนความเลวร้ายในใจเป็นพลัง ดิ้นรนไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อทุกชีวิตในครอบครัว
“เราจบแค่ ป.6 ทำงานโรงงาน หาเช้ากินค่ำ พ่อแม่ทำนา เช่าที่นาทำกิน ชีวิตที่เริ่มจากความขาด เป็นพลังให้ต้องดิ้นรน สู้ทุกทาง วันนี้พี่ได้รับการยอมรับ ไปที่ไหนคนเคารพเรา รู้จักเรา ให้เกียรติเรา เราไปกินอาหาร เข็นวีลแชร์ไปกัน 4 - 5 คน ทุกที่ให้การต้อนรับเหมือนคนปกติ คนคุ้นหน้าเรา แต่ก่อนจะมาจุดนี้ เรารู้ตัวว่าเราผ่านอะไรมาแค่ไหน วันนี้เราเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงลูก เลี้ยงครอบครัว 7 - 8 ชีวิตในบ้านได้ เพราะอะไร
เราทำมากกว่าคนอื่น วันที่โค้ชบอกให้เราซ้อมแทงเป้า 1,000 ครั้ง เราทำ 2,000 ครั้ง
“เราทำเกินกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะคนพิการหรือคนทั่วไป ตื่นนอน 6 โมงเช้า ซ้อมปั่น 1 ชั่วโมง จากนั้นกินข้าว ซ้อมต่อ 9 โมงถึงเที่ยง พัก เริ่มอีกทีบ่ายสองถึงห้าโมงเย็น ชีวิตเป็นกิจวัตร ถามว่าเหนื่อย เบื่อ ท้อ เรามีอยู่แล้วค่ะ แต่เรามีเป้าหมาย เรารู้ว่าเราพยายามไปทำไม เพื่อใคร ไม่รู้ว่าถ้ายังทำงานโรงงานต่อไป เป็นคนปกติทั่วไป ชีวิตจะเป็นอย่างไร จะได้ไปต่างประเทศอย่างวันนี้ไหม เราจะได้จับเงินล้านไหม หรือแค่ไปห้างสรรพสินค้า
“เราคนพิการ ก็ไม่ใช่คนทั่วไป จริงอยู่มีที่จอดรถสำรองคนพิการ แต่เชื่อหรือไม่ มักจะเต็มเสมอ เราไม่รู้หรอกว่าคนพิการจริง หรือคนปกติมาลักลอบใช้ เพราะประเทศไทยไม่ได้เข้มงวดเรื่องสติกเกอร์แสดงสัญลักษณ์พาหนะคนพิการติดรถ หรือหากจอดได้ กว่าเราจะยกวีลแชร์ลงเอง กว่าจะขยับ ทางลาดบางที่ก็ไม่สะดวก ไม่นับบางที่ที่ไม่มีเลย หรือลิฟต์รถไฟฟ้า เสียบ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง เหล่านี้เป็นปัญหาที่คนทั่วไปมองไม่เห็น จนกว่าเขาจะเผชิญสถานการณ์อย่างเราเอง”
แม้จะเป็นราชินีคนพิการ ผู้มีพลังและเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อน แต่เมื่อถามถึงโอกาสจะเข้าไปทำหน้าที่ในสมาคมกีฬา หรือแม้แต่ก้าวไปเป็นนักการเมือง อย่างที่เราเห็น ‘แทมมี ดั๊กเวิร์ธ’ เป็นสมาชิกวุฒิสภาฯ สหรัฐฯ เพื่อผลักดันสิทธิและโอกาสให้เพื่อน ๆ
แต่สายสุนีย์ขอเลือกทำสิ่งที่เธอถนัด และยังมีความสามารถทำได้ดีในวันนี้ คือการเป็น ‘นักกีฬา’ เป็น ‘แม่ของลูก’ และเป็นเสาหลักเพื่อทุกชีวิตในครอบครัว ซึ่งเราขอเป็นกำลังใจให้พี่แวว - สายสุนีย์ จ๊ะนะ ครอบครัว น้องฤทัย และนักกีฬาคนพิการ คนพิการทุกคนให้ค้นพบคุณค่าในตัว ต่อสู้และพยายามเพื่อสร้างฝันสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะในโลกของกีฬา และโลกของการมีชีวิตอยู่ ความรักคือเครื่องมือที่เราหยิบมันขึ้นมาเพื่อไม่ให้หลงลืมว่าเราสู้กับโลกนี้ไปเพื่อใคร หรือเพื่ออะไร
.
ภาพ : Nation Photo