‘โชเฮ โอทานิ’ เจ้าของฉายา ‘ซามูไรดาบคู่’ หนุ่มเอเชียผู้คว้าตำแหน่งค่าตัวแพงที่สุดในโลก

‘โชเฮ โอทานิ’ เจ้าของฉายา ‘ซามูไรดาบคู่’ หนุ่มเอเชียผู้คว้าตำแหน่งค่าตัวแพงที่สุดในโลก

โชเฮ โอทานิ หนุ่มเอเชียผู้เขย่าวงการกีฬา ผู้คว้าตำแหน่งค่าตัวแพงที่สุดในโลก นักเบสบอลเจ้าของฉายา ‘ซามูไรดาบคู่’ ผู้มุ่งมั่น กล้าฝันและคิดต่าง หวังเป็นแบบอย่างที่ดีให้ทุกคน

  • โชเฮ โอทานิ คือนักเบสบอลชาวญี่ปุ่นวัย 29 ปี ที่ย้ายไปอยู่กับแอลเอ ด็อดเจอร์ส 
  • เขาคว้าค่าตัวมหาศาล 700 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงเป็นสถิติใหม่ของโลก

แม้เบสบอลจะไม่ใช่กีฬายอดนิยมของคนไทย แต่ข่าวใหญ่อย่างการมีนักเบสบอลชาวญี่ปุ่น สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาที่มีค่าตัวแพงที่สุดในโลก แพงยิ่งกว่านักกีฬาทุกคนบนโลกที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ‘ลิโอเนล เมสซี’, ‘คีเลียน เอ็มบัปเป้’ หรือ ‘เลบรอน เจมส์’ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามและได้รับความสนใจไม่น้อย

โชเฮ โอทานิ (Shohei Ohtani) คือชายผู้สร้างสถิติอันน่าเหลือเชื่อนี้ในวัย 29 ปี เขาหมดสัญญากับการเล่นให้ทีมแอลเอ แองเจลส์ ในศึกเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) ของสหรัฐฯ และย้ายไปอยู่กับแอลเอ ด็อดเจอร์ส ทีมคู่ปรับร่วมเมืองด้วยสัญญาใหม่ 10 ปี พร้อมค่าตัวมหาศาลกว่า 24,000 ล้านบาท (700 ล้านเหรียญสหรัฐ) สูงเป็นสถิติใหม่ของโลก

นอกจากค่าจ้างที่แพงจนน่าทึ่ง ความน่าสนใจยังอยู่ที่ตัวผู้สร้างสถิติโลกซึ่งไม่ใช่นักกีฬาหัวทองหรือผิวสี แต่เป็นคนเอเชียหัวดำไม่ต่างจากคนไทยอย่างพวกเรา

อะไรทำให้นักกีฬาญี่ปุ่นที่ชื่อ โชเฮ โอทานิ กลายเป็นนักกีฬาที่มีค่าตัวแพงที่สุดในโลก และได้รับการยกย่องไปทั่ว จึงเป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้ทำความเข้าใจ เผื่อจะนำไปปรับใช้เป็นแบบอย่างได้ในอนาคต

สายเลือดนักกีฬา

“ผมชอบดูนักเบสบอล พวกเขาเท่ดี” โอทานิกล่าวถึงแรงบันดาลใจในวัยเด็กที่ทำให้เริ่มหลงใหลกีฬาชนิดนี้ “ผมมักเฝ้ารอให้ถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยความกระวนกระวายเพราะอยากออกไปเล่นเบสบอล”

โชเฮ โอทานิ เกิดวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1994 ที่เมืองโอชู (Oshu) จังหวัดอิวาเตะ เมืองเล็ก ๆ ที่รายล้อมไปด้วยทุ่งนาอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางทิศเหนือใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง

เขาโตมาในครอบครัวนักกีฬา แม่เป็นนักแบดมินตัน ส่วนบิดาเป็นพนักงานโรงงานรถยนต์ของบริษัทมิตซูบิชิ ที่เล่นเบสบอลในลีกสมัครเล่นของกลุ่มอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นไปพร้อมกัน ซึ่งเขาเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว เขามีพี่ชาย 1 คน และพี่สาวอีก 1 คน โดยพี่ชายก็เป็นนักกีฬาเบสบอลสมัครเล่นเช่นเดียวกัน นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมโอทานิจึงคลั่งไคล้กีฬาชนิดนี้

ชีวิตในวัยเด็กของโอทานิไม่ต่างจากคนทั่วไปในครอบครัวที่ชอบเล่นกีฬา ทุกวันหลังเลิกงาน พ่อของเขาจะรีบกลับบ้านมาเล่นขว้างเบสบอลไปมากับลูก ๆ นานหลายชั่วโมงเพื่อปลูกฝังความรักกีฬาและฝึกฝนทักษะไปในตัว

พอเริ่มโตหน่อยอายุ 8 ขวบ ก็ส่งลูกไปเล่นลีกเยาวชน ซึ่งแข่งขันกันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และเป็นสาเหตุที่โอทานิบอกว่า ทำไมเขาจึงอยากให้ถึงวันเสาร์ - อาทิตย์ไว ๆ

อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นเขายังไม่คิดว่าตัวเองเก่งกาจอะไร เพราะไม่ได้ตระเวนลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ มากมาย เบสบอลยังเป็นแค่งานอดิเรกที่เขาเล่นเพื่อความบันเทิงเหมือนเด็กทั่วไป จนกระทั่งได้ขึ้นชั้นมัธยมฯ ปลายในเวลาต่อมา

ตั้งเป้าหมายและไปให้ถึง

โอทานิเข้าเรียนมัธยมฯ ปลายที่โรงเรียน ‘ฮานามากิ ฮิงาชิ’ (Hanamaki Higashi High School) ในจังหวัดบ้านเกิด และได้เป็นนักกีฬาเบสบอลตัวโรงเรียนลงแข่งขันรายการใหญ่ระดับชาติที่รู้จักกันในชื่อ ‘โคชิเอ็ง’ ซึ่งเป็นเหมือนบันไดก่อนก้าวไปสู่การเป็นนักเบสบอลอาชีพของญี่ปุ่น

โรงเรียนมัธยมฯ แห่งนี้ คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โอทานิ เริ่มจริงจังกับการเล่นเบสบอล และสอนให้เขารู้จักคิดและวางแผนชีวิตของตัวเอง

“นักกีฬาจำเป็นต้องมีคู่แข่งที่อยากเอาชนะให้ได้ หรือไม่ก็มีเป้าหมายเป็นตัวเลขชัดเจน” ฮิโรชิ ซาซากิ อดีตโค้ชเบสบอลสมัยไฮสคูลของโอทานิ กล่าวถึงสิ่งที่เขาปลูกฝังลงไปในหัวของลูกศิษย์ “คุณไม่สามารถวางแผนได้หากไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในใจ”

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ซาซากิช่วยนำทางให้โอทานิไปถึงฝั่งฝัน คือ การขว้างลูกเบสบอลให้ได้ความเร็วถึง 160 กม./ชม. ซึ่งยังไม่มีนักกีฬาสมัครเล่นคนใดเคยทำได้ในตอนนั้น 

ด้วยความสูง 190 ซม. และพรสวรรค์ที่ติดตัวมา โค้ชซาซากิเชื่อมั่นว่าโอทานิสามารถทำได้ เขาแค่ต้องหมั่นฝึกซ้อม และเพิ่มน้ำหนักตัว รวมถึงกล้ามเนื้อของร่างกายเพื่อให้มีพลังมากขึ้น และในที่สุดโอทานิก็ทำได้จริง เขากลายเป็นข่าวพาดหัวใหญ่ไปทั่วญี่ปุ่น เมื่อสามารถเป็นคนแรกที่ขว้างลูกเบสบอลได้เร็วกว่า 160 กม./ชม. ในกีฬานักเรียนก่อนที่ตัวเองจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์เพียงไม่กี่วัน

กล้าแตกต่างและทำให้สุด

นอกจากความสามารถในการขว้างบอลเร็วที่เหนือกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ซาซากิยังช่วยผลักดันให้โอทานิมุ่งมั่นเอาดีในการเล่นตำแหน่งตัวตีและตัวขว้างไปพร้อมกัน

สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเบสบอล กีฬานี้จะผลัดกันเล่นเป็นฝ่ายรุกและรับ ทีมที่ส่งผู้เล่นออกมาจับไม้ตีลูกเพื่อทำแต้มคือฝ่ายรุก ส่วนทีมที่ขว้างลูกเพื่อไม่ให้ตัวตีหวดโดนคือฝ่ายรับ เมื่อตัวตีตีเสีย และถูกขาน ‘สไตรค์เอาต์’ ครบ 3 คน ทีมรุกจะสลับมาเล่นรับ และทีมรับได้เป็นฝ่ายบุกเพื่อส่งตัวตีออกมาจับไม้ทำแต้มบ้าง

หลังสลับกันเล่นรุก - รับครบ 1 รอบ เรียกว่า 1 อินนิ่ง ตามกติกาของลีกอาชีพส่วนใหญ่จะแข่งขันกันทั้งหมด 9 อินนิ่ง เมื่อแข่งจบทีมที่ทำแต้มได้มากกว่าคือผู้ชนะ ด้วยเหตุนี้ ตำแหน่งสำคัญที่สุดในกีฬาเบสบอล นอกจากจะเป็นตัวตี (แบตเตอร์) เพื่อทำแต้ม ยังเป็นตัวขว้าง (พิตเชอร์) ระหว่างเล่นเกมรับ ซึ่งต้องขว้างลูกให้ตียากเพื่อป้องกันฝ่ายตรงข้ามทำแต้มด้วย

ในการแข่งขันเบสบอลยุคใหม่ ทีมส่วนใหญ่จะไม่ใช้ผู้เล่นคนเดียวกันทำหน้าที่ทั้งขว้างและตี หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘two-way player’ เนื่องจากทักษะทั้งสองต้องฝึกฝนแตกต่างกัน นอกจากนี้ การลงเล่นทั้งเกมรุกและรับติดต่อกันโดยไม่หยุดพักยังเสี่ยงทำให้เกิดความผิดพลาดจากอาการเหนื่อยล้าและบาดเจ็บได้ง่าย

กระนั้น ซาซากิเชื่อมั่นว่าลูกศิษย์ของเขาคนนี้ทำได้ จึงสนับสนุนให้โอทานิ เป็น two-way player อย่างจริงจัง 

ด้วยสรีระรูปร่างสูงใหญ่ โอทานิมีส่วนสูงเมื่อโตเต็มวัย 193 ซม. น้ำหนัก 95 กก. ทำให้มีพลังทั้งการขว้างลูกและตีได้รุนแรง เขาได้ฉายา ‘ซามูไรดาบคู่’ (Nito-ryu) และถูกยกย่องให้เป็น ‘เจแปนนิส เบบ รูธ’ (Japanese Babe Ruth) คล้ายตำนานนักเบสบอลของทีมนิวยอร์ก แยงกี้ส์ ที่เคยเล่นทั้งตัวตี - ตัวขว้างจนโด่งดังเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน

“ทั้งขว้างและตี คือวิธีเล่นเบสบอลแบบเดียวที่ผมรู้จัก มันไม่ใช่ธรรมชาติของผมถ้าให้ทำอันใดอันหนึ่งแล้วไม่ทำอีกอย่าง” โอทานิยืนยันความมุ่งมั่นในการเป็น two-way player แม้ช่วงแรกหลายคนจะตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการเอาดีทักษะทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน

“ผมเดาว่ามันน่าจะเป็นความสำเร็จที่ได้ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำกัน สำหรับผมสิ่งนี้ (two-way player) มันเป็นแค่เรื่องธรรมดาเท่านั้น”

ก้าวไปทีละขั้น

หลังโด่งดังจากฟอร์มอันโดดเด่นในการเล่นกีฬานักเรียนทั้งตำแหน่งแบตเตอร์และพิตเชอร์ในตัวคนเดียวกัน ซึ่งเป็นส่วนผสมที่หายาก ถึงขั้นมีคนบอกว่า เขาเป็นมนุษย์ที่ ‘ร้อยปีจะมีแค่คนเดียว’ เท่านั้น 

โอทานิกลายเป็นนักกีฬาที่ทีมใหญ่ในอเมริกา ไม่ว่าบอสตัน เรดซ็อกส์, แอลเอ ด็อดเจอร์ส, บัลติมอร์ ออริโอลส์ หรือเท็กซัส เรนเจอร์ ล้วนให้ความสนใจตั้งแต่ยังไม่จบไฮสคูล

ตอนแรกเจ้าตัวก็ยอมรับและออกมาประกาศชัดเจนเช่นกันว่า หลังเรียนจบ ม.ปลาย เขาอยากย้ายไปเล่นในสหรัฐอเมริกาทันที โดยมองข้ามการลงเล่นในลีกเบสบอลอาชีพของญี่ปุ่น (NPB) ที่บ้านเกิดไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทีมที่ทำให้เด็กหนุ่มมากพรสวรรค์ผู้นี้เปลี่ยนใจ เลือกอยู่ต่อในแดนอาทิตย์อุทัย และลงเล่นในลีก NPB เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนไปอเมริกา คือ ฮอกไกโดนิปปอน-แฮม ไฟเตอร์ส

ผู้บริหารของทีมไฟเตอร์สใช้วิธีเกลี้ยกล่อมโอทานิให้เปลี่ยนใจด้วยการนำหลักฐานจำนวนมากจากการค้นประวัติเก่าของอดีตนักเบสบอลญี่ปุ่นที่รีบไปอเมริกาและเจอปัญหาทั้งการปรับตัว มาตรฐานสุขอนามัย ความสะดวกสบายในการเดินทาง รวมถึงการกดค่าแรง และโอกาสในการออกเดตกับสาวญี่ปุ่นมาแสดงให้ดู

ทว่า สิ่งที่โอทานิบอกว่าสามารถซื้อใจเขาได้อยู่หมัด คือแผนการพัฒนาฝีมือการเล่นของเขาอย่างเป็นระบบ รวมถึงคำมั่นสัญญาที่ว่า ทีมไฟเตอร์สจะยอมให้เขาได้ลงเล่นทั้งตำแหน่งตัวขว้างและตัวตีไปพร้อมกัน

โอทานิยอมรับว่า การที่เขาเปลี่ยนใจเลือกเล่นเบสบอลอาชีพในลีกบ้านเกิดหลังจบไฮสคูลวันนั้น ไม่รีบผลีผลามไปอเมริกา และค่อย ๆ พัฒนาฝีมือไปสู่เป้าหมายการเป็น two-way player ในระดับโปรก่อนแล้วค่อยย้ายไปเล่นลีกอันดับหนึ่งของโลก นั่นคือการตัดสินใจที่ถูกต้อง

เขาเชื่อว่า หากวันนั้นตัวเองเลือกไปอเมริกาโดยไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองให้ได้ในบ้านเกิดเสียก่อน นอกจากอาจไม่มีโอกาสได้เล่นในรูปแบบที่ตัวเองใฝ่ฝัน ตอนนี้อาจไม่มีซูเปอร์สตาร์และนักกีฬาค่าตัวแพงที่สุดในโลกที่ชื่อโชเฮ โอทานิ คนนี้ก็เป็นได้

ทุ่มเทเต็มที่_เป็นแบบอย่างที่ดีให้ทุกคน

โอทานิลงเล่นให้ทีมไฟเตอร์ส 4 ปี และพัฒนาการเล่นเต็มที่จนพิสูจน์ให้ทุกคนยอมรับว่า การเป็น two-way player ในเบสบอลยุคใหม่สามารถทำได้ เขาเป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นยอดเยี่ยมมากมายใน NPB ทั้งจากการเล่นตำแหน่งพิตเชอร์และแบตเตอร์ พร้อมพาต้นสังกัดคว้าแชมป์ ‘เจแปน ซีรีส์’ ในปี 2016 ก่อนปีถัดมาจะเซ็นสัญญาย้ายไปเล่นในอเมริกากับแอลเอ แองเจลส์

แม้ตลอดสัญญา 6 ปีกับแองเจลส์ โอทานิไม่สามารถพาต้นสังกัดไปถึงตำแหน่งแชมป์เวิลด์ซีรีส์ของ MLB ได้สำเร็จ แต่การมีเขาอยู่ในสนามก็ทำให้แองเจลส์ได้อยู่ในสปอตไลต์ และสามารถโกยรายได้มากมายจากแฟนกีฬาทั้งหน้าใหม่ - เก่า โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่บินไปให้กำลังใจฮีโร่ของพวกเขาจนแน่นเกือบทุกนัด

นั่นยังไม่รวมรายได้จากการขายของที่ระลึกและโฆษณาจากบริษัทเงินหนาของญี่ปุ่นที่ตามมาเป็นสปอนเซอร์กันเป็นจำนวนมาก จนสื่อกีฬาตั้งฉายาให้โชเฮ โอทานิ เมื่อลงสนามว่า ‘โชไทม์’ (Shotime) ล้อคำว่า ‘โชว์ไทม์’ (Showtime) ซึ่งมักใช้เวลาพระเอกของงานปรากฏตัว

“สิ่งเดียวที่ผมสัญญาได้ คือผมจะทุ่มเทสุดกำลังที่มีและทำให้เต็มร้อยทุกครั้งที่ลงสนาม” โอทานิบอกกับสื่อของ MLB ตอนตัดสินใจย้ายไปอเมริกา

“ผมหวังว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมาก บางทีอาจเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัวของพวกเขา ถ้าเจอปัญหาเรื่องอื่น พอมาดูผมเล่นแล้วรู้สึกมีกำลังใจขึ้น นั่นน่าจะเป็นเกียรติสูงสุดของการเล่นเบสบอล”

ไม่หยุดพัฒนาและเล่นกีฬาให้สนุก

นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า การย้ายทีมจากแอลเอ แองเจลส์ มาอยู่กับด็อดเจอร์ส ในวัย 29 ปี พร้อมสถิตินักกีฬาค่าตัวแพงที่สุดในโลกนี้ เป้าหมายหลักของโอทานิ คือการดันเพดานความสำเร็จของตัวเองขึ้นไปอีกระดับ เนื่องจากด็อดเจอร์สเป็นทีมใหญ่กว่าและมีผู้เล่นซูเปอร์สตาร์อยู่ในทีมหลายคน ทำให้เขามีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเองไปอีกขั้นและมีลุ้นคว้าแชมป์เวิลด์ซีรีส์ครั้งแรกได้มากขึ้น

หากพูดถึงไลฟ์สไตล์นอกสนามแข่งขันของนักเบสบอลซูเปอร์สตาร์ผู้นี้ โอทานิเรียกว่ามีไลฟ์สไตล์แทบไม่ต่างจากนักกีฬาชื่อดังที่ประสบความสำเร็จคนอื่น ๆ นั่นคือการขยันหมั่นฝึกซ้อม มีวินัยในการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างเคร่งครัด

ที่อาจแตกต่าง คือ โอทานิได้รับการยกย่องว่าเป็นซูเปอร์สตาร์ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตัวกับทั้งเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่ง เขาแทบไม่เคยแสดงอาการหงุดหงิดโมโหออกมาต่อหน้าสาธารณชน และเป็นคนที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่เที่ยวเตร่ และมักใช้เวลาว่างหาข้อมูลเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

ภาพลักษณ์ที่ดีเหล่านี้ทำให้โอทานิได้รับการทาบทามเป็นพรีเซนเตอร์สินค้ามากมาย และมีการประเมินว่า เงินจากค่าโฆษณาเพียงอย่างเดียวที่เขาได้รับในแต่ละปีมีจำนวนสูงถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม โอทานิเคยกล่าวเอาไว้ว่า ไลฟ์สไตล์ของเขาซึ่งส่วนใหญ่อยู่แต่ในหอพัก โดยแต่ละวันหมดไปกับการฝึกซ้อมเบสบอลซะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่ต้องใช้เงินทองมากมาย ดังนั้น เงินจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักในการเล่นเบสบอลอาชีพของตนเอง

เป้าหมายสำคัญในการเล่นเบสบอลของเขา คือ การได้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ขยับเป้าหมายเพื่อท้าทายตัวเองอยู่เสมอ และต้องสนุกกับมันเหมือนวันที่เขายังเป็นเด็ก นั่นแหละคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้โอทานิมาถึงจุดนี้ และกลายเป็นนักกีฬาที่มีค่าตัวแพงที่สุดในโลกได้ในที่สุด

.

เรื่อง : ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง

.

mlb

npr

sportsnet

gq

bbc

nippon