‘โอ.เจ. ซิมป์สัน’ ชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยดราม่า ตำนานนักกีฬาและผู้ต้องหา ‘คดีฆ่าแห่งศตวรรษ’

‘โอ.เจ. ซิมป์สัน’ ชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยดราม่า ตำนานนักกีฬาและผู้ต้องหา ‘คดีฆ่าแห่งศตวรรษ’

หากจะมีใครสักคนที่ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายเต็มไปด้วยเรื่องราวดราม่า และได้รับความสนใจจากคนในสังคมทั่วไปอย่างล้นหลาม หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ ‘ออเรนธัล เจมส์ ซิมป์สัน’ (Orenthal James Simpson) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ 'โอ.เจ. ซิมป์สัน’ อย่างแน่นอน

  • ออเรนธัล เจมส์ ซิมป์สัน หรือ โอ.เจ. ซิมป์สัน เป็นตำนานนักอเมริกันฟุตบอล และเป็นผู้ต้องหา ‘คดีฆ่าแห่งศตวรรษ’
  • เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2024 

โอ.เจ. ซิมป์สัน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา (2024) ที่บ้านพักของเขาในนครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในวัย 76 ปี 

การจากไปครั้งนี้ทำให้คนจำนวนมากกลับมาพูดถึงคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญในยุค 90s ซึ่งโอ.เจ.ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเพียงคนเดียวและมีหลักฐานมัดตัวแน่นหนา แต่รอดพ้นโทษอาญามาได้ เพราะอำนาจเงินตราและช่องโหว่ของกฎหมาย จนสื่อหลายสำนักยกให้เป็น ‘คดีแห่งศตวรรษ’ ที่ผ่านมา และเป็นเคสที่ทำให้อเมริกาต้องทบทวนกระบวนการยุติธรรมของตัวเอง

นอกจากความดราม่าของคดีดังกล่าว ก่อนเขาจะเสียชีวิต ชายผู้นี้ยังสร้างวีรกรรมอื่น ๆ ไว้มากมายทั้งดีและร้าย ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนชีวิตให้คนรุ่นหลังได้ดี

วีรกรรมที่ว่าเริ่มตั้งแต่การเป็นนักกีฬาซูเปอร์สตาร์ผู้เติบโตมาจากเด็กร่างกายพิการและครอบครัวยากจน แต่สร้างฐานะจนกลายเป็นเศรษฐี ก่อนชีวิตพลิกผัน ตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าอดีตภรรยาและเพื่อนชายอย่างน่าสยดสยอง ซึ่งแม้จะชนะคดีอาญา แต่สุดท้ายก็แพ้คดีแพ่ง และต้องมาติดคุกในคดีจี้ปล้นในช่วงบั้นปลายชีวิต

“ไม่ต้องเสียใจในเรื่องราวของผม ตัวผมมีชีวิตและมิตรสหายที่ยอดเยี่ยม ได้โปรดนึกถึงโอ.เจ.ตัวจริง ไม่ใช่คน ๆ นี้ที่หลงทาง”

นั่นคือคำวิงวอนก่อนตายของชายผู้เคยเป็นทั้งฮีโร่และวายร้าย แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วอะไรคือตัวตนจริง ๆ ของชายที่ชื่อโอ.เจ. ซิมป์สัน

เด็กยากจนขาพิการสู่ตำนานนักอเมริกันฟุตบอล

ออเรนธัล เจมส์ ซิมป์สัน เกิดวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.1947 ใน ‘พอเทรโร ฮิลล์’ (Potrero Hill) ย่านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยใกล้นครซานฟรานซิสโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ

สมัยเด็กครอบครัวของเขายากจน แม่ทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลในแผนกจิตเวช ส่วนพ่อทำสองหน้าที่ ทั้งพ่อครัวและภารโรงในคลับแห่งหนึ่ง แต่พอโอ.เจ.อายุ 4 ขวบ พ่อของเขาก็ทิ้งครอบครัวไป ปล่อยให้แม่ต้องดูแลลูก ๆ ทั้งหมด 4 คนเพียงลำพัง

โอ.เจ. ซิมป์สัน เริ่มเรียกตัวเองด้วยชื่อย่อว่า ‘โอ.เจ.’ ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เนื่องจากเขาไม่ชอบชื่อหน้า ‘ออเรนธัล’ ของตัวเอง และเป็นวัยที่ต้องมีฉายาให้จำง่ายในฐานะสมาชิกแก๊งอันธพาลข้างถนน

ชีวิตของเขาพบจุดเปลี่ยนตอนอายุ 15 ปี เมื่อเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักกับ ‘วิลลี เมย์ส’ (Willie Mays) นักเบสบอลชื่อดังของทีม ‘ซานฟรานซิสโก ไจแอนต์’ ทำให้เด็กชายโอ.เจ.หันมาเอาดีด้านกีฬา และสมัครเข้าเรียนต่อระดับไฮสคูล เพื่อลงเล่นอเมริกันฟุตบอลระดับนักเรียน

“สิ่งที่ผมทำก็แค่วิ่ง” โอ.เจ.เปิดใจในปี 1975 หลังกลายเป็นนักอเมริกันฟุตบอลค่าตัวแพงในตำแหน่งตัววิ่งของทีมบุก หรือที่เรียกในภาษากีฬาว่าตำแหน่ง ‘รันนิ่ง แบ็ก’ (running back)

“ผมเป็นนักวิ่งมาตลอดชีวิต” เขายืนยันสไตล์การเล่นกีฬาของตนเอง

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ โอ.เจ.จะมาเป็นตัววิ่งผู้สร้างสถิติใหม่มากมายทั้งในด้านการวิ่งทำระยะและทัชดาวน์ในวงการกีฬา ชีวิตวัยเด็กตั้งแต่ช่วงแรกเกิดของเขาเกือบต้องเผชิญกับภาวะขาพิการถาวรจากโรคกระดูกอ่อนในเด็กเพราะขาดแคลเซียม

เจ้าตัวเล่าว่า เขาเกิดมามีปัญหาขาโก่งและเท้าบิดเข้าด้านใน ทำให้มีท่าเดินเหมือนเป็ด จนต้องใส่เหล็กดามขาเพื่อรักษาอาการผิดปกตินี้อยู่นานหลายปี โชคดีที่มันสามารถทำให้หายขาด และกลับมามีเท้าและขาเหมือนกับคนทั่วไป

นักกีฬาค่าตัวแพงสุดของ NFL

โอ.เจ.เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อเขาลงเล่นให้ทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย (USC) ระหว่างปี 1967 - 1969 โดยสามารถทำลายสถิติของลีกมหาวิทยาลัย (NCAA) ได้ถึง 13 รายการ พร้อมคว้ารางวัล ‘ไฮส์แมน โทรฟี่’ (Heisman Trophy) ในฐานะนักกีฬายอดเยี่ยมแห่งปี 1968 ก่อนปีถัดมาจะถูกดราฟต์เป็นอันดับหนึ่งเข้าสู่ลีกอาชีพใน NFL

เขามีฉายาในวงการกีฬาว่า 'The Juice’ เพราะชื่อ โอ.เจ. คล้ายกับตัวย่อของคำว่า ‘น้ำส้ม’ หรือ orange juice ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นคำฮิตติดปากของชาวอเมริกัน

โอ.เจ.เล่นในศึก NFL ให้ทีม ‘บัฟฟาโล่ บิลส์’ ตั้งแต่ปี 1969 - 1977 และเคยคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ของลีกในปี 1973 ก่อนย้ายกลับไปเล่นให้ทีม ‘ซานฟรานซิสโก โฟตี้นายเนอร์ส’ ในบ้านเกิดช่วงปลายอาชีพ และประกาศเลิกเล่นกีฬาคนชนคนอย่างเป็นทางการในปี 1979 ในฐานะนักกีฬาที่ได้รับค่าตัวแพงที่สุดของลีก ณ เวลานั้น

เขาได้รับการบันทึกชื่อในหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของกีฬาอเมริกันฟุตบอลทั้งในระดับมหาวิทยาลัย (1983) และลีกอาชีพ (1985)

ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม บุคลิกเข้าถึงง่าย ดูไม่มีพิษมีภัย โอ.เจ.กลายเป็นขวัญใจคนจำนวนมาก และได้รับงานในวงการโทรทัศน์และภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้ามาไม่ขาดสายตั้งแต่สมัยยังเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย จนกระทั่งเลิกเล่นอาชีพไปแล้วก็ยังมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เขาเคยปรากฏตัวในภาพยนตร์ฮอลลีวูดนับ 30 เรื่อง รวมถึงละครซีรีส์อีกมากมาย โดยเฉพาะผลงานในยุค 70s - 80s นอกจากนี้ยังทำงานเป็นนักวิเคราะห์กีฬาให้กับทีวีหลายช่อง และเป็นพรีเซนเตอร์ให้แบรนด์สินค้าชื่อดังมากมายไปพร้อมกัน

หนึ่งในแบรนด์ที่ทำให้คนอเมริกันเห็นหน้าโอ.เจ.จนชินตา คือ บริษัทรถเช่ายักษ์ใหญ่ที่ชื่อ ‘เฮิร์ตซ’ (Hertz) ซึ่งเลือกโอ.เจ.เป็นพรีเซนเตอร์ผิวดำคนแรกที่เล่นหนังโฆษณาให้บริษัท และเป็นโฆษณาที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ทั่วอเมริกาติดต่อกันยาวนานหลายปี

ว่ากันว่าแค่สัญญากับเฮิร์ตซแค่บริษัทเดียว โอ.เจ.ก็รับทรัพย์ไปหลายล้านเหรียญสหรัฐ นั่นยังไม่รวมแบรนด์สินค้าอื่น ๆ ที่เขาเป็นพรีเซนเตอร์ให้อีกมากมายตั้งแต่ใบมีดโกน ไปจนถึงน้ำอัดลม และเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬาต่าง ๆ โอ.เจ.ก้าวข้ามความยากจนในวัยเด็กกลายเป็นนักกีฬามหาเศรษฐีของอเมริกาในเวลาอันรวดเร็ว

เบื้องหลังชีวิตพังเพราะคดีอาญา

ชีวิตเบื้องหน้าที่ดูเหมือนจะเลิศเลอเพอร์เฟ็กเริ่มพลิกผัน เมื่อโอ.เจ.ตัดสินใจหย่าร้างกับภรรยาคนแรกที่รักกันมาตั้งแต่สมัยไฮสคูล และมีลูกด้วยกัน 3 คน หันไปเปิดตัวอยู่กินกับผู้หญิงคนใหม่ที่ชื่อ ‘นิโคล บราวน์’ (Nicole Brown)

จุดเริ่มต้นความตกต่ำเริ่มตั้งแต่ปี 1979 หลังเขาเซ็นใบหย่าไม่นาน ‘แอเรน’ (Aaren) ลูกสาวคนเล็กวัยไม่ถึง 2 ขวบเต็มกับภรรยาคนแรกก็มาเสียชีวิตจากการจมน้ำที่สระในบ้านของตัวเอง จากนั้นปี 1985 เขาจดทะเบียนสมรสกับนิโคล และมีลูกด้วยกันอีก 2 คน

อย่างไรก็ตาม ชีวิตคู่กับภรรยาคนที่สองก็ไม่ยืดยาวเช่นกัน โอ.เจ.กับนิโคลหย่าร้างแยกทางกันในปี 1992 ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวว่า เขาชอบทุบตีภรรยา จนนิโคลต้องโทรแจ้งตำรวจให้มาระงับเหตุหลายครั้ง

กระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน 1994 นิโคล วัย 35 ปี กับเพื่อนชายชื่อ ‘รอน โกลด์แมน’ (Ron Goldman) ถูกพบเป็นศพโดนฆ่าตายด้วยของมีคมเสียชีวิตจมกองเลือดอย่างน่าสยดสยองคู่กันนอกบ้านพักของเธอในนครลอสแองเจลิส

ตำรวจเชื่อทันทีว่าเป็นฝีมือของโอ.เจ. ซึ่งทำไปเพราะความหึงหวง เนื่องจากสามารถเก็บหลักฐานเป็นรอยเท้าและเส้นผมของเขาในที่เกิดเหตุ และยังพบคราบเลือดบนรถยนต์ของโอ.เจ. พร้อมถุงมือเปื้อนเลือดข้างหนึ่งที่ใช้ก่อเหตุตกอยู่ในบ้านของเขา และเขาหายตัวไปในช่วงเวลาเกิดเหตุ 

โอ.เจ.ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมอดีตภรรยาและเพื่อนชายของเธอจนกลายเป็นข่าวใหญ่โต

ใครจะไปเชื่อว่า อดีตนักกีฬาขวัญใจชาวอเมริกันจะกลายเป็นฆาตกรผู้ลงมือฆ่าอดีตคนรักและเพื่อนชายของเธอได้อย่างโหดเหี้ยม และนั่นคือจุดเริ่มต้นดราม่าขาลงของชายผู้นี้

คดีแห่งศตวรรษ

หลังเหตุฆาตกรรมผ่านไป 5 วัน ตำรวจออกหมายจับโอ.เจ. แต่เจ้าตัวไม่ยอมมอบตัว โดยให้เพื่อนสนิทขับรถฟอร์ด บรองโก้ คันต้องสงสัยใช้ก่อเหตุของเขาพาหลบหนี โดยเจ้าตัวนั่งอยู่เบาะหลังพร้อมเอาปืนจ่อหัวขู่ปลิดชีพตนเอง

เหตุการณ์นี้ทำให้ตำรวจเกือบทั้งแอลเออยู่ไม่สุข ต้องพากันขับรถและนำเฮลิคอปเตอร์บินตามผู้ต้องหา และมีการถ่ายทอดสดการไล่ล่าจับตัวนานประมาณ 2 ชั่วโมง กว่าโอ.เจ.จะยอมจำนน ท่ามกลางคนดูหน้าจอทีวีทั่วอเมริการาว 95 ล้านคน นับเป็นเรียลลิตี้ยุคบุกเบิกที่ดังที่สุดในวงการทีวีสหรัฐฯ

เท่านั้นยังไม่พอ การพิจารณาคดีโอ.เจ. ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน ยังมีการถ่ายทอดสดจากศาลให้คนทั่วไปได้เห็น โดยโอ.เจ.ทุ่มเงินก้อนโตจ้างทนายที่เก่งที่สุดในเวลานั้นมาช่วยแก้ต่าง จนสื่อพากันเรียกขานทีมทนายของเขาว่า ‘ดรีมทีม’ นักกฎหมายที่ดีที่สุดในอเมริกา

การต่อสู้ระหว่างอัยการกับ ‘ดรีมทีม’ ทนายของผู้ต้องหา กลายเป็นดราม่าที่ถูกพูดถึงแทบทุกวันตลอดการพิจารณาคดี จนสุดท้าย โอ.เจ.สามารถพลิกเกมเอาชนะคดีนี้ไปได้ แม้เจ้าหน้าที่จะมีหลักฐานมัดตัวเขาอย่างแน่นหนา

สาเหตุที่ทำให้โอ.เจ.พ้นผิดมาจากฝีมือทนายที่พยายามโยงคดีดังกล่าวเข้ากับข้อหาเหยียดผิว เนื่องจากตำรวจชุดทำคดีเป็นคนผิวขาว ขณะที่ผู้ต้องหาเป็นชายผิวดำ นอกจากนี้ยังนำช่องโหว่วิธีเก็บหลักฐานซึ่งไม่ได้มาตรฐานมาโจมตีเพื่อลดความน่าเชื่อถือของวัตถุพยาน

หนึ่งในซีนที่หลายคนพูดถึงมากที่สุด คือ การขอให้โอ.เจ.ลองสวมถุงมือสีดำที่ใช้ก่อเหตุฆาตกรรมต่อหน้าศาล โดยทนายพูดประโยคหนึ่งขึ้นมาว่า “หากถุงมือไม่ฟิตพอดี คุณต้องตัดสินให้เขาพ้นผิดนะ”

จากนั้น โอ.เจ.ก็แสดงให้เห็นว่า เขามีปัญหาในการสวมถุงมือดังกล่าวที่เล็กเกินไป โดยหนึ่งในคนใกล้ชิดเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ความจริงแล้วโอ.เจ.หยุดกินยารักษาโรคข้ออักเสบช่วงนั้นเพื่อให้มือบวมใหญ่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายคณะลูกขุน 12 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำ พิพากษาให้โอ.เจ.พ้นผิด โดยการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 3 ตุลาคม 1995 มีผู้ติดตามการถ่ายทอดสดหน้าจอมากถึง 150 ล้านคน หนึ่งในนั้นรวมถึง ‘บิล คลินตัน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้นด้วย

คำพิพากษาซึ่งถือว่าค้านสายตาหลายคน ทำให้คดีโอ.เจ.เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว และสร้างความแตกแยกให้กับชาวอเมริกันต่างสีผิวมากที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ จนสื่อหลายสำนักยกให้เป็น ‘คดีแห่งศตวรรษ’ และถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ดังในเวลาต่อมา ทั้งเรื่อง The People v. O.J. Simpson และ O.J.: Made in America

แพ้คดีแพ่งและติดคุกเพราะจี้ปล้น

แม้จะรอดคุกคดีอาญา แต่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ยื่นฟ้องศาลแพ่งในเวลาต่อมา โดยการพิจารณาคดีครั้งนี้ไม่มีการถ่ายทอดสด และใช้เวลาแค่ 3 เดือน กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 1994 คณะลูกขุนตัดสินให้โอ.เจ.มีความผิดต้องชดใช้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งสองคนเป็นเงินรวมกัน 33.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

เรื่องอื้อฉาวของโอ.เจ.ทำท่าจะจบลงโดยที่เขาไม่ต้องติดคุก แต่ในคืนวันที่ 13 กันยายน 2007 โอ.เจ.ก่อปัญหาใหม่ด้วยการยกพวกอีก 5 คน บุกไปห้องพักในโรงแรมที่นครลาสเวกัส และใช้ปืนจี้บังคับเอาของสะสมมีค่าทางการกีฬาจากนักสะสม 2 คน โดยอ้างว่าเป็นของส่วนตัวของเขาซึ่งถูกขโมยไป

ต่อมาศาลตัดสินให้โอ.เจ.มีความผิดข้อหาปล้นทรัพย์ และลักพาตัว เขาถูกตัดสินจำคุก 33 ปี โดยหลายคนเชื่อว่า นั่นคือบทลงโทษย้อนหลังจากการรอดตัวชนะคดีฆาตกรรมอดีตภรรยาและเพื่อนชายในทศวรรษก่อนหน้า

กระนั้น โอ.เจ.ใช้เวลารับโทษอยู่ในเรือนจำแค่ 9 ปี เขาได้รับการปล่อยตัวออกมาในเดือนกรกฎาคม 2017 ขณะมีอายุ 70 ปี โดยทางการให้เหตุผลว่า เป็นเพราะโอ.เจ.มีความประพฤติที่ดีขณะถูกจองจำ

หลังพ้นโทษออกมา โอ.เจ.ใช้เวลาช่วงบั้นปลายชีวิตในนครลาสเวกัส จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2023 เขาประกาศทางโซเชียลมีเดียเปิดเผยว่ากำลังป่วยเป็นโรคมะเร็ง ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการทำคีโม และปีถัดมา โอ.เจ. ซิมป์สัน จึงจากโลกนี้ไปอย่างสงบ

“ผมมีชีวิตที่ดี ผมภูมิใจในชีวิตของตัวเอง แม่ผมสอนให้ปฏิบัติกับผู้อื่นเหมือนที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเรา และผมก็ปฏิบัติกับคนอื่นเหมือนที่ผมอยากให้พวกเขาทำกับผม” โอ.เจ.ระบุในจดหมายที่เปิดเผยออกมาระหว่างถูกตำรวจตามจับตัวในปี 1994

นั่นคือตัวตนที่แท้จริงของ ‘โอ.เจ. ซิมป์สัน’ ชายที่เป็นทั้งวีรบุรุษและตัวร้าย ผู้ใช้ชีวิตเป็นแบบอย่างให้โลกจดจำ ทั้งในยามรุ่งเรืองและตกต่ำ สุดแท้แต่คนจะจดจำด้านไหนของเขา

.

อ้างอิง

.

acc news

nytimes