อิมาน เคลิฟ : 46 วินาที 2 ยก กับชัยชนะท่ามกลางคำถามต่อ ‘สถานะทางเพศ’

อิมาน เคลิฟ : 46 วินาที 2 ยก กับชัยชนะท่ามกลางคำถามต่อ ‘สถานะทางเพศ’

เรื่องราวของ ‘อิมาน เคลิฟ’ (Iman Khelif) นักมวยหญิงโอลิมปิก ปารีส 2024 จากแอลจีเรียที่ถูกตั้งคำถามถึงสถานะทางเพศ เมื่อเธอไม่ผ่านการเกณฑ์ตรวจเพศ (Gender Eligibility) แต่สามารถเข้าแข่งขันได้ตามปกติ

KEY

POINTS

  • ในการแข่งขันบนเวทีโอลิมปิก 2024 ครั้งแรก ‘อิมาน เคลิฟ’ (Iman Khelif) จากประเทศแอลจีเรียสามารถเอาชนะ ‘แองเจลลา แครินี’ (Angela Carini) ไปได้ภายในระยะเวลา 46 วินาที แม้จะเป็นชัยชนะ แต่ก็ตอกย้ำคำถามถึง ‘สถานะทางเพศ’ ของเธอ รวมถึงกฎเกณฑ์ของ IOC เทียบกับ IBA อีกด้วย
  • ชีวิตและฝันของการอยากเป็นนักมวยของเคลิฟที่เติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านชนบทของแอลจีเรียที่ต้องขายเศษเหล็กเพื่อเดินทางไปซ้อมชกมวย
  • เส้นทางความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่ปีที่พาให้เธอคว้าเหรียญมากมายจนกลายเป็นเบอร์ต้น ๆ ของนักมวยหญิงในรุ่นน้ำหนักเดียวกัน
  • คำถามที่ตามมาถึงเรื่องสถานะทางเพศและความยุติธรรมในการแข่งขันที่อาจจะต้องทำให้ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต้องละเอียดกว่าที่เคยเป็น

นับว่าเป็นหนึ่งในการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่ใครหลายคนก็พากันจับตามองอยู่ไม่น้อย สำหรับการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นหญิง รุ่นเวลเตอร์เวต (Welterweight) 56 กิโลกรัม ในวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้ ที่เป็นการพบกันระหว่างประเทศแอลจีเรียที่มีตัวแทนอย่าง ‘อิมาน เคลิฟ’ (Iman Khelif) และอิตาลีที่มาพร้อมกับ ‘แองเจลลา แครินี’ (Angela Carini)

เพียงแค่ระฆังยกแรกดังขึ้น ก็ใช้เวลาเพียง 46 วินาทีเท่านั้นในการได้ผู้ชนะ เมื่อยกแรกเริ่มขึ้น เคลิฟที่มีความสูงมากกว่าแครินีก็รุกหน้าอย่างรวดเร็ว ก่อนจะปล่อยหมัดไปเป็นจำนวนสองครั้ง จนทำให้สายรัดคางของแครินีหลุดออก ก่อนที่ไม่นานหลังจากนั้น แองเจลลา แครินี นักมวยฝ่ายอิตาลีจะยกธงขาวจนทำให้ อิมาน เคลิฟ เป็นผู้ชนะในครั้งนี้ไปครอง

อิมาน เคลิฟ : 46 วินาที 2 ยก กับชัยชนะท่ามกลางคำถามต่อ ‘สถานะทางเพศ’

Imane Khelif of Algeria has her hand raised after winning her fight against Angela Carini of Italy. 

ภาพ : Reuters

 

ทว่าเหตุผลที่แมทช์นี้เป็นที่สนใจอาจไม่ใช่เพราะเป็นการวนมาพบกันสองนักมวยเบอร์ต้น ๆ ที่จะกลายเป็นแมทช์หยุดโลกจนผู้คนต้องจับตามอง แต่เป็นในประเด็นของสถานะผู้เข้าแข่งขันที่มีหลายคนตั้งคำถามต่อกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการโอลิมปิกว่า ‘ยุติธรรม’ แล้วใช่หรือไม่?

สาเหตุเป็นเพราะนักมวยจากแอลจีเรียอย่าง อิมาน เคลิฟ แม้จะมีเพศสภาพและข้อมูลที่ระบุว่าเธอเป็นผู้หญิง แต่ในเชิงกายภาพนั้น เธอมีข้อได้เปรียบมากกว่าผู้เข้าแข่งขันที่เป็นผู้หญิงทั่วไปอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือฮอร์โมนเพศชายที่มากกว่าเกณฑ์ หรือแม้แต่โครโมโซมของเธอที่เป็น ‘XY’ ไม่ใช่ ‘XX

แม้ว่าเธอจะถูกตัดสิทธิ์ในบางการแข่งขันไป แต่สำหรับโอลิมปิค ตั้งแต่ครั้งที่แล้วที่จัดที่โตเกียว มาจนถึงครั้งล่าสุดในปี 2024 ที่จัด ณ กรุงปารีส เคลิฟ รวมถึงผู้เข้าแข่งขันอีกหนึ่งคนจากไต้หวันอย่าง ‘หลิน ยู่-ถิง’ ที่มีสภาวะใกล้เคียงกันก็ได้สิทธิ์ในการเข้าแข่งขันในครั้งนี้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจเพศ (Gender Eligibility Test) ก็ตาม

จึงได้กลายเป็นคำถามที่ผุดขึ้นว่าทางคณะกรรมการโอลิมปิกมีกฎเกณฑ์ที่หละหลวมจนอาจจะนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมในการแข่งขันหรือเปล่า แต่บ้างก็บอกว่าถ้าตัดสิทธิ์พวกเขาออกจาการแข่งขันก็เป็นการริดรอนสิทธิกันมากเกินไปหรือเปล่า… การแข่งขันที่กำลังจะมาถึงนี้น่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในการถกเถียงกันต่อถึงประเด็นนี้

แต่ก่อนอื่น The People ขอนำเสนอเรื่องราวของเธอคนนี้ ‘อิมาน เคลิฟ’ นักมวยที่นิยามว่าเป็นหญิงแต่มีข้อได้เปรียบเชิงกายภาพแบบเพศชาย ว่าเธอเป็นใคร เติบโตมาจากที่ไหน รวมถึงเส้นทางอาชีพชกมวยที่โดดเด่นจนน่าจับตามอง กับคำถามและข้อครหาในปัจจุบันที่ไม่เพียงกระทบกับการเดินหน้าบนเส้นทางอาชีพของเธอ แต่จะจุดประกายการตั้งคำถามถึงกฎเกณฑ์ที่อาจจะต้องละเอียดกว่าที่เคยเป็น

กีฬาชกมวยไม่ใช่ของผู้หญิง

กีฬาชกมวยไม่ใช่ของผู้หญิง แต่เป็นของผู้ชาย

แนวคิดเช่นนี้ย่อมแผ่กระจายอยู่ในแทบทุกสังคมทั่วทั้งโลก ที่ผู้คนมักมีต่อกีฬา ‘ชกมวย’ (Boxing) ที่ใช้พลกำลังและร่างกายการโจมตีฝั่งตรงข้ามอย่างหนัก จนมันถูกมองว่าเป็นกีฬานักสู้ของเพศชาย ที่ถูกส่งต่อมาตั้งแต่ยุคโบราณ ทว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนไป แน่นอนว่าการเข้าถึงกีฬาเหล่านี้ย่อมเปิดวงกว้างขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อแบบเดิมก็ยังคงหลงเหลืออยู่ รวมถึงในหมู่บ้านชนบทในภาคตะวันตกของประเทศแอลจีเรียอีกด้วย

อิมาน เคลิฟ’ (Iman Khelif) เติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านทิอาเร็ต (Tiaret) ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศแอลจีเรีย เฉกเช่นเดียวกับการชกมวย ‘ฟุตบอล’ (Football) ก็ถือเป็นกีฬาที่เป็นของผู้ชายเสียส่วนใหญ่ แต่กลับกลายเป็นว่าเคลิฟก็สามารถเล่นมันได้ดีจนผู้ชายในหมู่บ้านก็พากันมาหาเรื่อง และความสามารถในการหลบหมัดจากกลุ่มผู้ชายเหล่านั้นได้ จึงเป็นประตูบานแรกที่พาเธอเข้าสู่เส้นทางนักสู้ 

เมื่อตัดสินใจที่จะเดินบนเส้นทางการชกมวยแล้ว ไม่มีอะไรง่าย เพื่อที่จะซ้อมนั้น เคลิฟต้องนั่งรถไปอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีระยะทางไกลกว่า 10 กิโลฯ เพื่อไปซ้อม และแน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยเลยทีเดียว และการจะหันไปหาความช่วยเหลือจากพ่อที่เป็นช่างเชื่อมโลหะอยู่ที่ทะเลทรายซาฮาร่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เพียงแค่ครอบครัวพวกเขาขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่พ่อของเคลิฟเองก็มองว่าการชกมวยไม่ใช่กีฬาของผู้หญิง 

หนทางที่เหลืออยู่ของเธอคือการฝ่าฟันมันด้วยตัวเองโดยการเก็บเศษเหล็กขายเพื่อรีไซเคิล ในขณะเดียวกันก็มีรายได้จาการขายอาหารจากแม่ที่คอยช่วยเหลือจนทำให้เธอสามารถเดินตามฝันและนั่งรถไปซ้อมมวยในอีกหมู่บ้านหนึ่งได้ 

 

ดาวรุ่งจากแอลจีเรีย

ตลอดสามปีหลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาของเคลิฟในการทุ่มเทซ้อมอย่างหนัก จนในการชิงแชมป์โลกมวยสากลหญิงในปี 2018 เธอก็คว้าอันดับที่ 17 ไปครอง จะนิยามว่าเธอเป็นดาวรุ่งจากแอลจีเรียก็ไม่ผิดเสียเท่าไหร่นัก เพราะนับตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ สถิติการแพ้ชนะของเคลิฟก็เรียกได้ว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เพราะถ้านับสถิติการชกมวยแบบมืออาชีพ เธอชนะ 1 ครั้ง โดยที่ยังไม่เคยแพ้ แต่ถ้านับในช่วงก่อนหน้าที่เธอจะก้าวเข้าสู่สังเวียนมืออาชีพ เธอคว้าชัยชนะไปถึง 36 ครั้ง และแพ้ 9 ครั้ง นับมาเป็นสัดส่วนการชนะ 3 ใน 4 

แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเคลิฟก็ต้องยกให้กับปี 2022 กับการคว้าเหรียญเงินจากแชมป์โลกในอิสตันบูล ในการแข่งรุ่นไลท์เวลเตอร์เวต (Light Welterweight) ซึ่งก็ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าแข่งขันหญิงจากแอฟริกาคว้าเหรียญจากการแข่งขันนี้ไปครอง นอกจากนั้นก็ยังคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันในระดับแอฟริกาและเมดิเตอร์เรเนียนเกมส์ (Mediterranean Games) อีกด้วย จึงส่งให้เธอกลายเป็นนักสู้เบอร์ต้น ๆ ของการแข่งขันในรุ่นน้ำหนักนี้

 

ชัยชนะท่ามกลางคำถาม

กลับมาสู่คำถามที่เราพูดถึงกันไปในตอนต้นกับการที่เธอสามารถเข้าแข่งขันบนเวทีโอลิมปิก ต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นก่อนสักหน่อย ด้วยเหตุที่ว่าในการแข่งขันชิงแชมป์ในปี 2023 เคลิฟได้ถูกตัดสิทธิ์ในการแข่งขันจากการที่เธอไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจเพศ (Gender Eligibility Test) จากการที่ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่ ‘สมาคมมวยสากลนานาชาติ’ (International Boxing Association) หรือ ‘IBA’ ตั้งขึ้นมา และสูงกว่าผู้เข้าแข่งขันหญิงคนอื่น ๆ จนทำให้เธอได้พลาดสิทธิ์ในการชิงแชมป์ไป

การตัดสิทธิ์ที่ว่านั้นจึงทำให้ใครหลายคนที่สนับสนุนเคลิฟมากมายออกมาบอกว่า การทำแบบนี้มันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย หรือแม้แต่ตัวของอิมาน เคลิฟ เองก็ออกมาวิจารณ์ IBA อย่างเปิดเผยว่าการทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการกีดกันผู้เข้าแข่งขันเสียมากกว่า เป็นการขัดขาไม่ให้แอลจีเรียคว้าแชมป์ และจากดราม่า ในครั้งนั้น ผสานเข้ากับปัญหาภายใน จนทำให้ IBA ไม่ได้เป็นผู้เข้ามาจัดการแข่งขันชกมวยในโอลิมปิก ปารีส 2024 นี้

ด้วยเหตุนั้น จึงทำให้การจัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นหญิงในครั้งนี้มีผู้จัดและตั้งกฎเกณฑ์โดย ‘คณะกรรมการโอลิมปิกสากล’ (International Olympic Committee) หรือ ‘IOC’ ซึ่งมีกฎที่ผ่อนปรนในเรื่องของการตรวจรายละเอียดทางเพศที่เบาบางกว่า เมื่อเทียบกับ IBA 

จึงนำไปสู่คำถามมากมายอีกครั้งว่าการทำเช่นนี้มันแฟร์ต่อผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ หรือเปล่า ในเมื่อ อิมาน เคลิฟ มาคุณลักษณะทางกายภาพที่ได้เปรียบเหนือเพศเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกับระดับเทสโทสเตอโรนหรือแม้แต่โครโมโซมที่เป็น XY ไม่ใช่ XX  ในขณะเดียวกัน ก็มีใครหลายคนตั้งคำถามว่าเธอเป็นชายข้ามเพศ หรือ Transgender หรือเปล่า 

โดยตลอดการแข่งขันอาชีพ อิมาน เคลิฟ ก็ได้เข้าแข่งขันในฐานะ ‘นักมวยหญิง’ มาโดยตลอด ไม่ได้มีการเริ่มต้นจากชายแล้วสลับไปหญิงในภายหลัง หรือไม่ได้มีการบันทึกว่าเธอมีคุณลักษณะแบบ ‘Intersex’ เช่นเดียวกัน จนกลายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากจะสรุปในแง่ของ ‘เพศ’

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องยากที่จะหาข้อสรุปเช่นเดียวกันในแง่ของ ‘ความยุติธรรม’ ว่าแบบไหนถึงจะแฟร์กับทุกฝ่าย บ้างก็มองว่าถ้าไปตัดสิทธิ์ก็เป็นการริดรอนสิทธิในการแข่งขัน บ้างก็มองว่าการอนุญาตให้แข่งก็ไม่แฟร์ต่อผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ ข้อสรุปจะเป็นอย่างไรคงต้องคอยดูกันต่อไป แต่ที่แน่ ๆ ทางคณะกรรมการผู้สร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อาจจะต้องเพิ่มรายละเอียดเหล่านี้มากขึ้นกว่าเดิม


ภาพ : Getty Images

อ้างอิง 
Explained: The gender controversy miring women's Olympic boxing | RTE
Algeria condemn 'unethical targeting' of boxer over eligibility | BBC
Who Is Imane Khelif, Olympic Boxer Who Was Disqualified From World Championships for Failing Gender Tests? | Essentially Sports
Algerian Boxer Imane Khelif's Path To Paris Olympics Amidst Controversy