ไมค์ ไทสัน : ตำนานชีวิตยอดหมัดเหล็กเขมือบใบหู

ไมค์ ไทสัน : ตำนานชีวิตยอดหมัดเหล็กเขมือบใบหู

เรื่องราวชีวิตของ ‘ไมค์ ไทสัน’ (Mike Tyson) เจ้าของวีรกรรมการกัดหูสะท้านโลก กับชีวิตที่เริ่มต้นด้วยการถูกรายล้อมด้วยความรุนแรงและอาชญากรรม ก่อนจะผันชีวิตสู่เส้นทางสังเวียนจนกลายเป็นแชมป์อันไร้เทียมทานในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980

KEY

POINTS

  • ชีวิตของ ‘ไมค์ ไทสัน’ (Mike Tyson) เริ่มต้นบราวน์สวิลล์ ย่านที่คลุกเคล้าไปด้วยอาชญากรรม และมันก็ได้หล่อหลอมความเป็นนักสู้ในตัวเขา แต่ในขณะเดียวกันมันก็ได้ส่งเขาไปสู่โรงเรียนดัดสันดานจนได้ไปเจอกับเส้นทางการชกมวย
  • คัส ดามาโต’ (Cus D'Amato) ถือเป็นเทรนเนอร์คนสำคัญที่พาให้ไทสันขยับจากนักมวยธรรมดาไปสู่นักมวยที่มาฉายาว่า ‘ไอออน ไมค์’ (Iron Mike) จนทำให้หลังจากปี 1985 เขาได้คว้าชัยชนะแบบไม่เคยแพ้อย่างไร้เทียมทาน
  • ทว่าเมื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ปัญหามากมายก็ถาโถมไปหาเขา รวมไปถึงความพ่ายแพ้ครั้งแรกบนเส้นทางสังเวียนมืออาชีพของเขาด้วย

ในคืนวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน ปี 1997 เป็นค่ำคืนที่โทรทัศน์กว่าสองล้านครัวเรือนเปิดดูช่องเดียวกัน และนับเป็นครั้งที่จำนวนผู้รับชมแบบระบบ ‘เพย์-เพอร์-วิว’ (Pay-per-view) สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เหตุเพราะในคืน ๆ นั้น มีแมทช์หยุดโลกกำลังจะถ่ายทอดสด อย่าง ‘The Sound and the Fury’ มันคือวันที่ ‘อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์’ (Evander Holyfield) ต้องป้องกันแชมป์เฮฟวีเวท (Heavyweight Championship) จากมฤตยูดำ ‘ไมค์ ไทสัน’ (Mike Tyson)

การพ่ายแพ้เมื่อปลายปีก่อนนับเป็นเรื่องช็อคสำหรับเหล่าผู้ชม รวมถึงไมค์เองด้วย ที่ทำให้ตัวเขาพลาดแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย ทว่าชัยชนะของโฮลีฟิล์ดในครั้งนั้นก็ตามมาด้วยข้อกังขาในใจของผู้ชมบางกลุ่มรวมถึงไทสันเองด้วย ว่าเขานั้นถูก ‘เฮดบัท’ (Headbutt) แบบผิดกฎหลายครั้ง แต่ท้ายที่สุดนั้น ผลก็เป็นอย่างที่เรากล่าวไปก่อนหน้า

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกถ้าในครั้งนี้ ไมค์ ไทสัน จะพกความแค้นมาเต็มกำปั้นทั้งสองเพื่อหวังจะทวงชัยชนะและความยุติธรรมคืนจากโฮลีฟิล์ด และเมื่อเสียงระฆังเริ่มขึ้น นักชกทั้งสองก็ไม่ทำให้ผู้ชมได้ผิดหวัง โฮลีฟิล์รุกหน้าโจมตีไทสัน ก่อนจะโดนสวนกลับ มีการรุกกันไปมาจนไปถึงยกที่สอง โฮลีฟิล์ดก็ได้ใช้เฮดบัทนั้นกับไทสันอีกครั้งจนทำให้ขอบตาขวาแตก และมันก็อาจเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดคิดในยกต่อไป

พอมาถึงยกที่สามนั้น ไทสันก็ได้ถล่มโฮลีฟิล์ดอย่างรุนแรง ไปจนถึงช่วงเกือบจะปลายของยก ในขณะที่ทั้งคู่ได้กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันอยู่นั้น ไทสันก็ได้เอนหัวไปบริเวณไหล่ขวาของโฮลีฟิล์ด ก่อนที่จัดกัดหูขวาเขาเข้าอย่างแรง ก่อนที่ไทสันจะถุยชิ้นส่วนกระดูกอ่อนยาวประมาณหนึ่งนิ้ว และแน่นอนมันก็คือเศษหูของ อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ นั่นเอง

แม้ไทสันจะบอกว่าเป็นการเอาคืนจากเฮดบัทของโฮลีฟิล์ด แต่ใบหูที่แหว่งกับแหว่งและเลือดออกไม่หยุดของโฮลีฟิลด์ก็ทำให้กรรมการตัดสินให้ ไมค์ ไทสัน แพ้ฟาล์ว (Disqualification) ไปโดยปริยาย และทำให้แมทช์ในครั้งนั้นกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวไทสันมาจนถึงปัจจุบันนี้ จนมันได้กลายเป็น ‘การกัดหูสะท้านโลก

แต่นอกเสียจากเรื่องราวการกัดหูแล้ว ไมค์ ไทสัน เองก็ถือเป็นนักมวยอันเลื่องชื่ออีกคนหนึ่งของโลกใบนี้ เขาเคยได้ชื่อว่าเป็นแชมป์เฮฟวีเวทที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นนักมวยที่ใคร ๆ ต่างก็เกรงขามในท่าทีและสไตล์ที่ดุดันน่ากลัว แต่ในขณะที่ชีวิตของเขาทะยานขึ้นจุดสูงสุด ตัวของเขาเองก็เคยร่วงหล่นลงต่ำ ไม่เพียงแค่บนสังเวียนมวยเท่านั้น แต่รวมถึงสังเวียนชีวิตด้วย ที่ทำให้เขาต้องจำคุกไปกว่า 3 ปี (จาก 6 ปี) ก่อนที่ชื่อของเขาจะกลับมาถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อเขากลับมาขึ้นสังเวียนมาประชันกับ ‘เจค พอล’ (Jake Paul) หลังจากที่แขวนนวมไปเกือบ 20 ปี

บราวน์สวิลล์กับชีวิตบนเส้นด้าย

พ่อของ ‘ไมเคิล เจอร์ราด ไทสัน’ (Michael Gerard Tyson) จากเขาไปในปี 1968 ในวันที่เขามีอายุราวสองขวบเพียงเท่านั้น ปล่อยให้ผู้เป็นแม่อย่าง ‘ลอร์นา ไทสัน’ (Lorna Tyson) จำต้องเลี้ยงดูลูกทั้งสามคนเพียงลำพัง และด้วยปัญหาทางความเป็นอยู่และการเงิน ก็บีบให้ครอบครัวไทสันจำต้องย้าย ณ ย่านบราวน์สวิลล์ ในบรูคลิน (Brownsville, Brooklyn) ย่านที่เขม่าควันของอาชญากรรมคละคลุ้งไปทั่วทั้งเมือง

แม้จะเป็นเด็กตัวเล็กและขี้อายจนต้องกลายเป็นเป้าในการถูกรังแก แต่ท้ายที่สุดสังคมโดยรอบก็ผลักให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวผู้คนในละแวกนั้น นอกจากจะพัฒนาทักษะการต่อยตีแบบข้างถนน (Street Fighting) แล้ว ตัวของเขาเองก็เข้าไปพัวพันกับอาชญากรรมอีกด้วย กับแก็งค์ที่มีชื่อว่า ‘จอลลี สตอมเพอร์ส’ (Jolly Stompers)

เพียงแค่ชีวิตก้าวเข้าเลขสองหลักมาไม่นาน อาชญากรรมก็แทบจะกลายเป็นสนามเด็กเล่นของเขาไปเสียแล้ว เพียงอายุแค่ 13 ปี ไทสันก็ถูกตำรวจจับกุมไปกว่า 30 ครั้ง จนท้ายที่สุดก็ต้องไปลงเอยที่โรงเรียนดัดสันดานในนิวยอร์กท้ายที่สุด แต่ก็เพราะที่นี่เองที่ทำให้เขาได้เจอกับประตูที่จะพาชีวิตของเขาเข้าสู่โลกของการชกมวย

ไทสันได้เจอกับที่ปรึกษาของเขาอย่าง ‘บ็อบ สจ็วต’ (Bob Stewart) ผู้เคยเป็นแชมป์นักมวยสมัครเล่น โดยไทสันเองก็ขอให้บ็อบช่วยฝึกซ้อมการชกมวยให้ แต่บ็อบก็ตอบตกลงพร้อมข้อตกลงที่ว่าไทสันต้องตั้งใจเรียนและไม่หาเรื่องใส่ตัว ณ จุดนี้จึงทำให้ไทสันเริ่มพัฒนาทักษะการอ่าน อีกทั้งยังมุ่งมั่นพัฒนาทักษะการชกมวยอย่างจริงจัง 


ดาวรุ่ง ‘Iron Mike’ 

ความสามารถในการชกมวยของไทสันทำให้บ็อบแนะนำเขากับ ‘คัส ดามาโต’ (Cus D'Amato) เทรนเนอร์คนสำคัญที่ทั้งปั้นและวางรากฐานทักษะทางการชกมวยให้กับไทสัน ไม่นาน ดามาโตก็ได้พาไทสันออกจากโรงเรียนดัดสันดาน เพื่อที่จะมาอยู่ในการดูแลของดามาโตอย่างเต็มเวลา โดยที่ไทสันก็ถูกส่งไปเรียนที่ไฮสคูลอีกที่หนึ่ง ก่อนจะกลับมาฝึกซ้อมในช่วงเย็นทุก ๆ วัน

ด้วยการซ้อมหนักแบบนี้ก็พาให้ฝีมือของ ไมค์ ไทสัน พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มได้ขึ้นสังเวียนไปต่อยในแมทช์ที่จริงจังขึ้น อีกทั้งยังได้ไปแข่งในรอบคัดตัวโอลิมปิกนปี 1984 อีกด้วย แต่แม้จะแพ้กลับมาก็ถือเป็นหมุดหมายในภาพรวมที่น่าสนใจของไทสัน ไม่นานหลังจากนั้น ดามาโตก็มองว่ามันถึงเวลาแล้วที่ไทสันจะขยับไปสู่สังเวียนนักมวยอาชีพ (Professional Boxing) จึงทำให้เส้นทางบนสังเวียนของไทสันเริ่มต้นขึ้นในปี 1985 ที่เมืองอัลบานี นิวยอร์ก

เฮคเตอร์ เมอร์เซดีซ’ (Hector Mercedes) คือชื่อของนักมวยคนแรกที่ ไมค์ ไทสัน ได้ขึ้นสังเวียนเพื่อชกด้วยในวัย ด้วยวัย 18 ปี และด้วยหมัดที่ทั้งเร็วและแรง ผสานเข้ากับท่าที่ที่น่าเกรงขาม จนตัวเขาเองสามารถน็อคเอาท์เมอร์เซดีซไปได้ภายในยก ๆ เดียว จนได้ฉายาว่า ‘ไอออน ไมค์’ (Iron Mike)

1985 นับว่าเป็นปีของ ไมค์ ไทสัน ก็คงเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงนัก เพราะหลังจากแมทช์นั้น ไทสันก็คว้าชัยชนะไป 14 แมทช์รวดในปีนั้น แต่แม้จะเป็นปีที่รุ่งโรจน์ โดยเฉพาะของนักมวยหน้าใหม่อย่างไทสัน แต่มันก็เป็นปีที่เขาต้องเผชิญกับการสูญเสีย เมื่อ คัส ดามาโต คนที่เขาเคารพเหมือนกับพ่อคนหนึ่งที่จากไปในปีนั้น หนึ่งปีหลังจากที่แม่แท้ ๆ ของเขาได้จากไป

ทว่าการสูญเสีย แม้เจ็บปวด ก็ไม่สามารถหยุดไทสันในการก้าวไปข้างหน้าและเขมือบเหล่าคู่ต่อสู่ที่ยืนอยู่ข้างหน้าของเขาภายหลังจากเสียงระฆังดัง จนในวันที่ 22 สิงหาคม ปี 1986 ภายหลังจากครองสถิติ 27-0 กับการขึ้นชก 27 ครั้ง ที่ไม่มีใครสามารถโค่นเขาได้เลย ไทสันก็ได้คว้าแชมป์เฮววีเวทจากสภามวยโลก ไปครอง ซึ่ง ณ ขณะนั้น ด้วยอายุ 20 ปีกับอีก 4 เดือน ไทสันก็ได้ทำลายสถิติในการเป็นแชมป์เฮวีเวทที่อายุน้อยที่สุด

ภายหลังจากนั้น ไทสันก็เดินหน้าคว้าทั้งชัยชนะเรื่อยมา จนในปีถัดมาเขาก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักชกเฮฟวีเวทที่สามารถคว้าแชมป์โลกไปครองถึงสามเข็มขัดทั้งจาก สภามวยโลก  (World Boxing Council) สมาคมมวยโลก (World Boxing Association) และ สหพันธ์มวยนานาชาติ (International Boxing Federation)

เรียกได้ว่าครึ่งหลังของยุค 80s เป็นยุคทองของ ไมค์ ไทสัน เลยก็ว่าได้ กับสถิติอันไร้เทียมทานอย่าง 37-0 จนส่งให้เขากลายเป็นนักมวยที่น่าเกรงขามที่สุดคนหนึ่งเมื่อคู่แข่งของเขาก้าวขาเข้าไปอยู่ในสังเวียน แต่ทว่าเมื่อโลกของเราขยับเข้าสู่ทศวรรษต่อไป ชีวิตของ ไมค์ ไทสัน ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งในและนอกสังเวียน…

 

ไมค์ ไทสัน : ตำนานชีวิตยอดหมัดเหล็กเขมือบใบหู

 

ความพ่ายแพ้ของผู้ไม่เคยพ่ายแพ้

วันที่ 11 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1990 แมทช์แรกของไมค์ ไทสัน กับการก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ เขาได้เผชิญหน้ากับ ‘บัสเตอร์ ดักลาส’ (Buster Douglas) กับแมทช์ที่ไทสันต้องป้องกันแชมป์ การต่อสู้ดำเนินไปอย่างสูสีจนถึงยกที่แปด เมื่อไทสันได้ออกหมัดอัปเปอร์คัทเข้าไปที่ดักลาสจนเขาล้มไปนอนกับพื้น แต่นั่นยังไม่ใช่จุดจบ เพราะดักลาสสามารถลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง

การต่อสู้ดำเนินไปถึงยกที่สิบ และเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อ บัสเตอร์ ดักลาส สร้างประวัติศาสตร์กับการพลิกมาชนะน็อค ไมค์ ไทสัน จนสถิติ 37-0 ที่ดำเนินมากว่าครึ่งทศวรรษต้องจบลงที่แมทช์ของบัสเตอร์ ดักลาส รวมถึงเข็มขัดแชมป์ของเขาอีกด้วย นับเป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรกบนเส้นทางมวยอาชีพของ ไมค์ ไทสัน เลยทีเดียว

แต่ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นก็ไม่ได้หยุดเขาจากการกระหายชัยชนะ เพราะหลังจากพ่ายแพ้ให้กับดักลาส ไทสันก็ยังเดินหน้าแข่งและยังคว้าชัยชนะได้เหมือนเก่า ดูเหมือนว่าแม้จะผ่านความพ่ายแพ้มา แต่ชีวิตบนสังเวียนเขาก็ยังไม่ได้จะพังทลาย แต่ ไมค์ ไทสัน กลับก้าวเดินผิดพลาดอย่างมหันต์ เมื่อว่าด้วยการต่อสู้นอกสังเวียน

เพราะในปี 1991 ไมค์ ไทสัน ได้ถูกตั้งข้อหาในคดีข่มขืนนางแบบผิวดำชาวสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ในปี 1992 เขาจะถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 ปี แถมในขณะที่จำคุกอยู่นั้น เขาก็ถูกเพิ่มโทษไปอีก 15 วัน ข้อหาข่มขู่เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย แต่ภายหลังจาก 3 ปี ไทสันก็ถูกปล่อยตัวพร้อมทัณฑ์บน 

ซึ่งภายหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็กลับมาคว้าแชมป์เฮฟวีเวทจากทั้ง WBC และ WBA ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่สำหรับไทสัน แต่ภายหลังจากคว้าแชมป์ทั้งสองมาแล้ว แมทช์ต่อไปก็ได้กลายเป็นแมทช์ที่ผู้คนแทบทั้งโลกจะจดจำเขาไปตลอดชีวิต เมื่อคู่ต่อสู้ของเขามีนามว่า ‘อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์’ ในปลายปี 1996 ซึ่งก็ทำให้เขาเสียเข็มขัดไปอีกครั้ง

 

จากวันที่แขวนนวมสู่ ‘Jake Paul vs. Mike Tyson’

เควิน แม็คไบรด์’ (Kevin McBride) คือคู่ต่อสู้คนสุดท้ายบนเส้นทางสังเวียนมวยอาชีพของ ไมค์ ไทสัน ที่เกิดขึ้นในปี 2005 แต่ย้อนไปก่อนหน้านั้น สัญญานแห่งปลายทางบนสังเวียนอาชีพของเขาก็เลยเป็นรูปร่างขึ้นตั้งแต่แมทช์ ‘เลนน็อกซ์ ลูวิส’ (Lennox Lewis) ในปี 2002 

ภายหลังจากกัดหูของโฮลีฟิลด์ขาดสะบิ้นไปเมื่อหลายปีก่อน เขาก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายไปกว่าสามล้านเหรียญสหรัฐฯ และนับตั้งแต่นั้น เขาก็ยังไม่มีโอกาสคว้าแชมป์อีกเลย ทั้งยังไม่ได้ขึ้นสังเวียนต่อยมากเท่าเมื่อก่อน จนกระทั่งเขาได้มาเจอกับลูวิส อันเป็นแมทช์สำคัญที่มีเข็มขัดแชมป์จำนวนสามเส้นเป็นเดิมพัน แต่ท้ายที่สุดเขาก็คลาดโอกาสครองเข็มขัดไปอีกครั้ง และจากจุดนั้นก็ถือเป็นสัญญาณแห่งช่วงปลายอาชีพของเขาแล้ว

ภายหลังจากคว้าชัยชนะในปีต่อมา และแพ้อีกครั้งในอีกปีต่อมา เขาก็ได้มาประชันกับ เควิน แม็คไบรด์ ในปี 2005 ก่อนที่จะแพ้น็อคไปในยกที่หก และนับเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายบนเส้นทางมวยอาชีพของ ไมค์ ไทสัน ด้วยสถิติ 50-6…

จนกระทั่งในวันที่อายุของเขาจวนจะเข้า 60 ปี หลังจากแขวนนวมมา 24 ปี เขาก็ได้สวมนวมและขึ้นสังเวียนอีกครั้ง เพื่อมาเจอกับ ‘เจค พอล’ (Jake Paul) อดีตยูทูปเบอร์ที่ผันตัวมาเป็นนักมวยวัย 27 ปี ที่ได้รับการโปรโมตและถ่ายทอดสดโดย Netflix ซึ่งถือเป็นการต่อสู้ที่พาผู้คนมากมายต่างก็ช็อคและตั้งตารอ และบ้างก็ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในครั้งนี้ เพราะมันจะเป็นการชกกันบนสังเวียนอาชีพ เหตุเพราะอายุของทั้งคู่ต่างกันจนสามารถเป็นพ่อ-ลูกได้อย่างสบาย ๆ โดยที่ผลแพ้ชนะจะถูกบันทึกไว้ในสถิติมวยอาชีพของทั้งคู่

บ้างก็มองว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของไมค์ ไทสัน เพื่อมาสั่งสอนเด็กอย่าง เจค พอล บ้างก็มองว่าไทสันเอามาทิ้งแท้ ๆ เพราะชื่อเสียงและภาพที่หลายคนจดจำตัวเขาในฐานะนักมวยอันน่าเกรงขาม มันคือภาพเมื่อย้อนไปราว 30 ปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน บ้างก็มองว่าการมาเจอกันครั้งนี้ ก็ล้วนเป็นไปเพื่อเงินแท้ ๆ สำหรับทั้งคู่ หรือบ้างก็มองว่า เมื่อมีเงิน ชื่อเสียง และกระแส ก็สามารถไปท้าใครต่อย หรือจัดแมทช์แบบนี้ได้ทั้งนั้น จนแทบจะไม่ต่างจากมวยปล้ำเพื่อความบันเทิงอย่าง ‘WWE’ (World Wrestling Entertainment) อย่างที่ เจค พอลกำลังทำอยู่