ไม่ว่าโลกเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปแค่ไหน ดูเหมือนมีของเล่นชิ้นหนึ่งจากยุคอะนาล็อกที่ยังไม่ยอมถูก disrupt หรือตายจากไป ของเล่นที่ว่า คือ ทามาก็อตจิ (Tamagotchi) สัตว์เลี้ยงเสมือนบนอุปกรณ์รูปไข่ขนาดพกพา ซึ่งยังคงออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มาไม่รู้จบ ทามาก็อตจิ หรือที่คนไทยหลายคนเรียกว่า ‘ทามาก็อต’ และเด็กอเมริกันเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ทามะ’ เคยสร้างปรากฏการณ์ช็อกโลกช่วงกลางทศวรรษ 1990s ด้วยการทำยอดขายถล่มทลาย จนสาวกต้องหอบเสื้อผ้ามากางเต็นท์นอนรอซื้อกันข้ามวันข้ามคืน เป็นของเล่นยอดนิยมของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต้องมอบรางวัล ‘อิกโนเบล’ ให้ในฐานะนวัตกรรมที่ทำให้คนติดกันงอมแงม แม้ต่อมากระแสทามาก็อตจิ จะถูกกลบด้วยตุ๊กตาเฟอร์บี้ และโลกเปลี่ยนจากอะนาล็อกสู่ยุคอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน จนกระทั่งเมตาเวิร์ส ของเล่นพวงกุญแจรูปไข่อย่างทามาก็อตจิก็ยังไม่หายไปไหน ยังคงกลับมาเป็นข่าวให้เหล่าสาวกชื่นใจ จับมือกับเกม ตัวการ์ตูน รวมถึงศิลปินนักร้องรุ่นใหม่ ออกเป็นคอลเลกชั่นให้คนนำไปเลี้ยงได้ต่อเนื่อง เบื้องหลังความเป็นอมตะของทามาก็อตจิ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากไอเดียตั้งต้นของคนให้กำเนิดชื่อ อากิฮิโระ โยโคอิ (Akihiro Yokoi) นักออกแบบของเล่นชาวญี่ปุ่นผู้ชื่นชอบการเลี้ยงสัตว์ และต่อยอดแรงบันดาลใจจากการดูโฆษณาในโทรทัศน์ เริ่มต้นจากความเข้าใจ “สัตว์เลี้ยงเวลาที่มันน่ารักมีแค่ 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือภาระมากมายก่ายกอง” บิดาผู้ให้กำเนิดทามาก็อตจิ กล่าวถึงที่มาของเกมสัตว์เลี้ยงเสมือนแบบพกพาที่เขาสร้างขึ้นมาหลังได้ดูโฆษณาทีวีเกี่ยวกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งซึ่งต้องการพาเต่าที่เลี้ยงไว้เดินทางไปท่องเที่ยวกับครอบครัวในวันหยุด แต่ถูกแม่สั่งห้ามไม่ให้เอาไปด้วย โยโคอิเข้าใจความรู้สึกของเด็กในโฆษณาดีเพราะเขาก็มีสัตว์เลี้ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสุนัข 1 ตัว, แมว 3 ตัว, นกแก้ว 2 ตัว รวมถึงแมลงปีกแข็งและแมลงชนิดอื่น ๆ อีกหลายตัว ด้วยเหตุนี้เขาจึงมองว่า การพาสัตว์เลี้ยงไปไหนมาไหนคงไม่ใช่ปัญหาหากนำมันมาอยู่ในโลกเสมือน ส่วนแนวคิดของเขาที่ทำให้สัตว์ดิจิทัลต้องการการดูแลเอาใจใส่ไม่ห่าง และมีพัฒนาการ รวมถึงการสิ้นอายุขัยหรือตายจากไป ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ของเกมยุคนั้น มาจากความต้องการทำให้มันสะท้อนโลกความเป็นจริง “ผมต้องการใส่ไอเดียนี้ที่ว่า คนทุกวันนี้มองสัตว์เลี้ยงแค่ความน่ารัก (แต่ลืมนึกถึงภาระการเลี้ยงดู) เข้าไปในของเล่น ผมคิดว่าคุณจะเริ่มตกหลุมรักมันเมื่อได้ดูแลพวกมันด้วย” โยโคอิ บอกกับนิวยอร์กไทมส์ ระหว่างนั่งสนทนากับนักข่าวในห้องประชุมเล็ก ๆ ของบริษัท ซึ่งมีตู้เลี้ยงปลาและเต่าที่เขาเพิ่งทำความสะอาดเองจนถึงตี 2 ของเช้าวันใหม่ตั้งอยู่ในห้อง “เอกลักษณ์ของทามาก็อตจิ คือ มันจะตายหากคุณไม่ใส่ใจสัตว์เลี้ยงของคุณ (แม้เกมจะสามารถ ‘รีสตาร์ท’ แต่สัตว์เลี้ยงตัวใหม่จะไม่ใช่ตัวเดิม) “ความตายไม่ใช่เรื่องดีที่จะใส่ลงไปในเกมยุคนั้น แต่การมีสิ่งนี้ในการเล่นเกม มันทำให้ทามาก็อตจิ ก้าวเข้าใกล้โลกความเป็นจริงมากขึ้น” บิดาของทามาก็อตจิ เล่าถึงที่มา ขายไอเดียให้นายจ้างเก่า อากิฮิโระ โยโคอิ เกิดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1955 ในกรุงโตเกียว เขามีประสบการณ์ในวงการของเล่นมานาน 10 ปี จากการร่วมงานกับบริษัท Bandai ผู้ผลิตของเล่นยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ก่อนลาออกในปี 1987 และมาก่อตั้งบริษัท Wiz เพื่อรับงานออกแบบและพัฒนาของเล่นเป็นของตนเอง ปี 1995 โยโคอิเอาไอเดียสัตว์เลี้ยงบนโลกเสมือนไปขายให้กับ Bandai เพื่อผลิตเป็นของเล่นชิ้นใหม่ออกสู่ตลาด โดยตั้งชื่อว่า ‘ทามาก็อตจิ’ มาจากคำว่า ‘ทามาโกะ’ ที่แปลว่า ‘ไข่’ บวกกับคำว่า ‘นาฬิกา’ ในภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากแนวคิดแรกต้องการทำออกมาเป็นนาฬิกาข้อมือ แต่พอออกแบบแล้วมันมีขนาดใหญ่เกินไป จึงเปลี่ยนเป็นพวงกุญแจรูปไข่แทน แม้โยโคอิจะเป็น ‘บิดา’ เจ้าของไอเดียทามาก็อตจิ แต่ Bandai คือผู้ลงทุนผลิตและจัดจำหน่าย พยายามโปรโมตคนของตนเองใส่ไปในตำนานการเกิดทามาก็อตจิ โดยให้อากิ มาอิตะ (Aki Maita) พนักงานฝ่ายขายและการตลาดของ Bandai เข้าไปเป็น ‘มารดา’ คู่กับโยโคอิ มาอิตะได้เครดิตในฐานะนักการตลาดผู้ผลักดันให้โปรเจกต์ทามาก็อตจิเกิดขึ้นจริง ด้วยการนำไอเดียของโยโคอิไปสำรวจตลาดเพื่อประเมินกระแสตอบรับก่อนที่ Bandai จะตัดสินใจเดินหน้าผลิตของเล่นชิ้นนี้ออกขาย “พวกเขาไม่ค่อยสนใจ พูดแบบว่า ‘แล้วของเล่นนี้มันสนุกตรงไหน” มาอิตะบอกกับนิวยอร์กไทมส์ ถึงปฏิกิริยาของบรรดาเซลส์แมนที่บริษัทหลังนำไอเดียไปนำเสนอ “ความจริงแล้วเราทำการตลาดกับบรรดาร้านขายของเล่นได้ยาก ไม่ใช่ทุกร้านต้องการสั่งของเล่นชิ้นนี้” มาอิตะเล่าถึงกระแสตอบรับเชิงลบจากพ่อค้าแม่ขาย แต่สาเหตุที่เธอตัดสินใจเสนอให้บริษัทเดินหน้าพัฒนาทามาก็อตจิ มาจากกระแสตอบรับที่ดีในหมู่นักเรียนหญิงระดับมัธยมฯ ซึ่งเธอไปตระเวนสอบถามในย่านชิบูย่า แม้ทามาก็อตจิ ที่เริ่มวางขายครั้งแรกในญี่ปุ่น วันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ.1996 จะไม่ได้โฆษณาว่าเป็นของเล่นผู้หญิงโดยตรง แต่ด้วยสีสัน ดีไซน์ และรูปแบบการเล่นสามารถบ่งบอกได้ว่าลูกค้าหลัก คือ ผู้หญิงตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยทำงาน และนับเป็นเกมพกพายุคแรก ๆ ที่ทำออกมาเพื่อสตรีโดยเฉพาะ โดนปรามาสก่อนสำเร็จ ทามาก็อตจิเป็นเกมเลี้ยงสัตว์ที่ผู้เล่นต้องเริ่มดูแล ‘สัตว์ประหลาดจากต่างดาว’ ตั้งแต่ยังไม่ฟักออกจากไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัว คนเลี้ยงต้องคอยให้อาหาร เก็บอุจจาระ และเล่นกับมันจนพอใจ โดยหน้าจอจะมีมิเตอร์บอกระดับความพอใจในแต่ละหมวด และบนตัวเครื่องมีปุ่ม 3 ปุ่มไว้กดเพื่อตอบสนองความพอใจของมัน จากนั้นสัตว์เลี้ยงจะค่อย ๆ โตไปในแบบแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู สัตว์ในเกมนี้จะเข้านอนตอนกลางคืน และส่งเสียง ‘ติ๊ด’ เตือนคนเลี้ยงเป็นระยะในเวลากลางวันเมื่อต้องการความสนใจ มันอาจตายหากถูกปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 5 - 6 ชม. และอายุขัยเฉลี่ยของทามาก็อตจิที่เลี้ยงดูเป็นอย่างดีอยู่ที่ประมาณ 12 วัน แต่ Bandai โฆษณาว่า มันอาจอยู่ได้นาน 30 วัน ขณะที่บางคนบอกว่ามีคนเคยเลี้ยงได้นานเกือบ 3 เดือน หลังวางขายในญี่ปุ่นไม่ถึงปี Bandai เริ่มนำเกมนี้ออกจำหน่ายทั่วโลกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 1997 ทามาก็อตจิรุ่นแรกมีหน้าจอเป็นขาวดำ ตัวเครื่องรูปไข่มีขนาดเท่าฝ่ามือ มีให้เลือกทั้งหมด 6 สี และมีสายคล้องด้านบนเป็นพวงกุญแจ แม้ WIRED นิตยสารชื่อดังด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะปรามาสของเล่นชิ้นนี้ตอนออกวางขายใหม่ ๆ ว่า “ยืมลูกเล่นทุกอย่างมาจาก Pet Rock ของเล่นไร้ค่าในยุค 1970s โดยเปลี่ยนแค่หน้าตาดิจิทัลของมันเท่านั้น” แต่หลังจากวางขายไม่ถึงปี Bandai และมาอิตะก็พิสูจน์ให้เห็นทันทีว่า รสนิยมของบรรดาเด็กนักเรียนหญิงในย่านชิบูย่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทามาก็อตจิทำยอดขายถล่มทลายจนกลายเป็นปรากฏการณ์นวัตกรรมของเล่นช็อกโลก Bandai ขายทามาก็อตจิได้มากถึง 10 ล้านเครื่องภายในเวลาไม่ถึงปี โดยในช่วงพีค ยอดขายในสหรัฐฯ และแคนาดา พุ่งเร็วเฉลี่ย 15 เครื่องต่อวินาที จนเหล่าสาวกต้องออกมากางเต็นท์เข้าคิวรอซื้อกันข้ามวันข้ามคืน และมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสขายคูปองจองซื้อทามาก็อตจิปลอมจนมีคนตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อและเป็นข่าวใหญ่โต วิเคราะห์ความสำเร็จ ความสำเร็จของทามาก็อตจิในมุมมองของนักวิเคราะห์มาจากหลายปัจจัย บางคนมองว่า ของเล่นสัตว์เลี้ยงเสมือนเคยมีคนทำออกมาแล้วก่อนหน้า แต่ที่ทามาก็อตจิโด่งดังเป็นเพราะมันมีขนาดเล็กพกพาสะดวก และมีความน่ารักถูกจริตและรสนิยมคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะเด็กวัยทีนส์ และผู้หญิงอายุไม่เกิน 30 ปี นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า ทามาก็อตจิช่วยตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ที่คนอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งมีพื้นที่จำกัด ทำให้การเลี้ยงสัตว์มีชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย แต่บางฝ่ายก็มองว่า มันน่าจะเข้ามาเติมเต็มสัญชาตญาณความเป็นแม่ของผู้หญิงที่ต้องการเลี้ยงดูบางสิ่งบางอย่าง แต่ผู้หญิงยุคใหม่แต่งงานกันช้าลงและมีลูกกันน้อย บางทฤษฎีบอกว่า ทามาก็อตจิกลายเป็นของเล่นยอดฮิต เพราะสังคมญี่ปุ่นชื่นชอบวัฒนธรรมป๊อป เมื่อมันกลายเป็น ‘ของต้องมี’ หลายคนจึงต้องซื้อหามาครอบครองเพื่อไม่ให้ตกกระแส ไม่ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของทามาก็อตจิจะมาจากเหตุผลข้อใด ปรากฏการณ์ของเล่นสัตว์เลี้ยงชิ้นนี้ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกติดกันงอมแงมจนเกิดเสียงวิจารณ์ตามมา ทั้งทำให้เด็กเล็กมีอารมณ์ร่วมจนเสียใจร้องไห้ไม่หยุดเมื่อสัตว์เลี้ยงบนโลกเสมือนตายไป เด็กหลายคนไม่เป็นอันเรียน ส่วนผู้ใหญ่ก็ไม่เป็นอันทำงาน เพราะมัวแต่เอาเวลามาเล่นทามาก็อตจิ “มันเป็นผลิตภัณฑ์ทรงอำนาจมากที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินในแง่การเรียกร้องความสนใจจากเด็ก ๆ ผมไม่เคยได้ยินว่ามีของเล่นชิ้นไหนที่ทำให้คุณเข้าไปมีส่วนร่วมกับมันได้ตลอดเวลาเช่นนี้มาก่อน” ดร.แอนดรูว์ โคเฮน จิตแพทย์ในนครนิวยอร์กกล่าวถึงทามาก็อตจิตอนเปิดตัวใหม่ ๆ ปี 1997 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ของสหรัฐฯ ประกาศมอบรางวัล ‘อิกโนเบล’ (Ig Nobel Prize) สาขาเศรษฐศาสตร์ให้กับ ‘บิดา - มารดา’ ผู้คิดค้นทามาก็อตจิ โดยกล่าวถึงสรรพคุณของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ในเชิงประชดประชันว่า “สามารถเอาเวลาทำงานหลายล้านชั่วโมงของมนุษย์ไปทุ่มให้กับการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนที่ไม่มีตัวตนจริง” ของเล่นที่เป็นอมตะ แม้ทามาก็อตจิจะถูกวิจารณ์อย่างหนักและกระแสซาลงไปภายในเวลาปีเดียว เพราะโดนตุ๊กตาเฟอร์บี้ (Furby) หุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงตัวขนที่เต้นและขยับตา - ขยับปากพูดได้มาเป็นของเล่นขายดีแทนที่ แต่ Bandai ก็ยังไม่หยุดพัฒนาทามาก็อตจิ มีการเพิ่มปุ่ม pause เข้าไปเพื่อให้ผู้เล่นกดหยุดเลี้ยงชั่วคราวได้เมื่อติดเรียน หรือติดธุระ นอกจากนี้ยังออกรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่สามารถเชื่อมต่อ wi-fi หรืออินเทอร์เน็ต, รุ่นที่อยู่บนนาฬิกา ‘สมาร์ทวอตช์’ และรุ่นที่ติดกล้องให้คนเลี้ยงสามารถถ่ายเซลฟี่กับสัตว์ของตัวเองนำไปแชร์ต่อบนโลกโซเชียล ในโอกาสครบรอบ 20 ปีที่มีการวางขายทามาก็อตจิทั่วโลกเมื่อปี 2017 Bandai เปิดเผยยอดขายของเล่นสัตว์เลี้ยงเสมือนชิ้นนี้ทั้งหมดว่าอยู่ที่ประมาณ 82 ล้านเครื่อง นับถึงปลายปี 2021 Bandai ออกทามาก็อตจิทั้งที่เป็นของเล่น เกมส์ และแอปพลิเคชั่นมาแล้วมากกว่า 60 รุ่น รวมถึงรุ่นที่ collab กับเกมดังอย่าง Pac-man หรือร่วมมือกับหนังและการ์ตูนดัง ๆ อย่าง Pokemon, Toy Story และ Star Wars ตลอดจนศิลปินบอยแบนด์เกาหลีอย่าง BTS “ในอุตสาหกรรมนี้ ความสำเร็จกับความล้มเหลวมันต่างกันเหมือนเส้นบาง ๆ ของกระดาษ แค่ตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้มันไม่สามารถทำสำเร็จได้จริง ผมเป็นคนโชคดีมาก” อากิฮิโระ โยโคอิ กล่าวอย่างถ่อมตน โยโคอิ ปลดเกษียณจากวงการนักพัฒนาของเล่นตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2016 แต่ก่อนหันหลังให้วงการ เขายังฝากอีกผลงานให้โลกจดจำ นั่นคือการพัฒนาเกมดิจิทัล มอนสเตอร์ (ดิจิมอน) ซึ่งต่อยอดความสำเร็จของทามาก็อตจิ ด้วยการสร้างเกมลักษณะคล้ายกันในเวอร์ชั่นผู้ชายที่สัตว์เลี้ยงสามารถนำขึ้นสังเวียนต่อสู้กันได้ และกลายเป็นหนังอนิเมะชื่อดังในเวลาต่อมา ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง บางทีเสียงเรียกความสนใจจาก notification บนหน้าจอสมาร์ทโฟนยุคปัจจุบัน อาจไม่ต่างจากเสียง ‘ติ๊ด ๆ ๆ’ เรียกร้องความสนใจของสัตว์เลี้ยงยุค ‘90s จากไอเดียของอากิฮิโระ โยโคอิ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนยังคงโหยหาทามาก็อตจิ จนทำให้มันเป็นของเล่นที่ไม่มีวันตาย แม้โลกจะหมุนไปเร็วแค่ไหนก็ตาม ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nytimes.com/1997/09/07/world/hatchling-of-pet-lover-is-the-rage-of-toylands.html https://www.smithsonianmag.com/innovation/keeping-tamagotchi-alive-180979264/ https://www.mentalfloss.com/article/642373/tamagotchi-history https://www.wired.com/story/tamagotchi-25-year-anniversary-impact/ https://theculturetrip.com/asia/japan/articles/celebrating-tamagotchis-20th-anniversary-a-brief-history-of-the-brand/ http://content.time.com/time/world/article/0,8599,2044817,00.html https://www.theringer.com/2017/3/27/16038420/tamagotchi-collectors-bandai-digital-pets-9b946143c747 https://ludkinsmedia.com/the-creators-of-digimon-who-is-akiyoshi-hongo/ https://tamagotchi.fandom.com/wiki/Akihiro_Yokoi