18 ธ.ค. 2565 | 09:17 น.
“ทำไมเราจะฝันถึงการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกไม่ได้ล่ะ?”
วลีนี้ออกมาจากชายคนหนึ่งซึ่งพาทีมชาติโมร็อกโกกอดคอกันเดินทางไกลในฟุตบอลโลก เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศในเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกของทวีปแอฟริกาด้วย ที่สิ้นสุดทริป ‘ฟีฟ่า เวิลด์คัพ’ ด้วยการจบอันดับที่ 4
ชายที่เคยเป็นบุคคลโนเนมในโลกลูกหนัง พูดประโยคนี้ด้วยน้ำเสียง และแววตาที่มีความปรารถนาอันแรงกล้าซ่อนอยู่ ซึ่งไม่เพียงแค่อารมณ์ร่วมที่แสดงออกมาอย่างมีพลัง แต่เขามีศักยภาพเพียงพอในการเขียนตำนานการเดินทางของ ‘สิงโตแอตลาส’ บนผืนทะเลทรายในฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์
นาทีนี้ ไม่มีใคร ไม่รู้จัก ‘วาลิด เรกรากุย’ (Walid Regragui) กุนซือสมองเพชรแห่งโมร็อกโก
ตำแหน่งมาแบบไม่คาดคิด
แฟลชแบ็คไปเมื่อสิงหาคม ไม่ถึง 3 เดือนดี ก่อนที่ฟุตบอลโลก 2022 เวอร์ชั่นอาหรับจะเริ่มขึ้น สหพันธ์ฟุตบอลโมร็อกโกได้ทำเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งคงมีไม่กี่ชาติที่คิดจะทำ คือ การปลด วาฮิด ฮาลิลฮ็อดซิช ผู้จัดการทีมจอมเก๋าคนเดิมที่คุมทีมมานานถึง 3 ปี ออกจากตำแหน่ง ทั้งที่โค้ชผู้มากประสบการณ์ เป็นคนพา ‘แอตลาส ไลออนส์’ ฝ่าด่านรอบคัดเลือกมาถึงรอบสุดท้าย ‘ฟีฟ่า เวิลด์คัพ’ ได้แท้ ๆ
เหตุผลในการเปลี่ยนโค้ชแบบกะทันหัน เนื่องจากผลงานในศึกแอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ไม่น่าประทับใจ ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย อีกทั้ง ฮาลิลฮ็อดซิช ยังค่อนข้างตึง มีปัญหาไม่ลงรอยกับทั้งประธานสหพันธ์ และฮาคิม ซีเยค ดาวดังของทีม จนแนวรุกเชลซีต้องประกาศเลิกเล่นทีมชาติไปก่อนหน้านี้
แฟนบอลโมร็อกโก งุนงง และต่างวิตกเล็ก ๆ เพราะฟุตบอลโลกกำลังจะเริ่มแล้ว ผลงานในปี 2018 ก็ตกรอบแรกแบบไม่ชนะใคร แต่ใช้เวลาเพียงไม่นาน สหพันธ์ก็ตั้ง วาลิด เรกรากุย ผู้จัดการทีมเคราเข้มวัย 47 ปี ให้เข้ามารับไม้ต่อ
โดยสหพันธ์มองว่า เป็นคนที่สามารถประสานรอยร้าวในห้องแต่งตัวของทีม สร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการเล่นทีมชาติ และเคยมีผลงานเด่นตอนคุมทีมสโมสรในลีกโมร็อกโก มีชื่อเสียงและเครดิตพอสมควรในวงการลูกหนังโมร็อกกัน
ด้วยเวลาที่กระชั้น และบารมียังไม่มากนัก เพิ่งเริ่มงานโค้ชได้ราว 10 ปี นับเป็นความท้าทายอย่างมากของ เรกรากุย แต่เรื่องหิน ๆ แบบนี้ เขาพบเจอมันมาตลอดตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว
เขาไม่ได้เกิดในราบัต หรือ คาซาบลังก้า แต่ลืมตาดูโลกนอกเขตแดนโมร็อกโก ที่คอร์บอิล เอสซองส์ ชานเมืองใกล้กับกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากครอบครัว โดยคุณแม่ฟาติมา ได้ย้ายมาอยู่บนแดนน้ำหอมตั้งแต่ก่อนเขาลืมตาดูโลก
“ที่นั่น ตอนนั้น เราหิวกระหาย และรักความท้าทาย ยิ่งคุณบอกว่าเราทำไม่ได้ เรายิ่งอยากลอง” เรกรากุย เล่าถึงอดีตในวัยเยาว์ ที่ต้องเดินทางไปมาฝรั่งเศส-โมร็อกโก เพื่อไปเยี่ยมญาติอยู่เสมอ
ตอนยังเล็ก เขาเริ่มเป็นเด็กฝึกในทีมเยาวชนของคอร์บอิล เอสซองส์ เมืองที่เกิด ได้ตำแหน่งที่ลงตัวคือ แบ็คขวา จากนั้น ไต่ระดับไปตามวิถี ราซิ่ง ปารีส, ตูลูส และอฌักซิโอ้ คือทีมที่เคยเซ็นสัญญา ซึ่งระหว่างนั้น เรกรากุยพัฒนาฝีเท้าจนมีโอกาสติดทีมชาติโมร็อกโกครั้งแรก ก่อนจะข้ามดินแดนไปในสเปน ร่วมทัพ ราซิ่ง ซานตานแดร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และกลับแดนน้ำหอมมาอยู่กับ ดีฌง, เกรอนอบล์ และปิดฉากการค้าแข้งกับ โมเกร็บ เตโตอัน ในลีกโมร็อกโก
ชีวิตนักเตะไม่ได้มีอะไรโดดเด่นนัก อีกทั้งยังน่าเสียดายว่า ช่วงที่ เรกกากุย ยังติดทีมชาตินั้น โมร็อกโก ไม่ผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย
แต่เขากลับมาได้โอกาสไปฟุตบอลโลกในฐานะกุนซือแทน
งานที่ยากจะปฏิเสธมาพร้อมการถูก ‘บูลลี่’
หลังแขวนสตั๊ด เรกรากุย เริ่มศึกษางานโค้ชในฐานะผู้ช่วยโค้ชทีมชาติโมร็อกโก ในปี 2012 จากนั้นไปทำทีมฟาธ ยูเนี่ยน ในลีกสูงสุดโมร็อกโก อยู่กับทีมนานถึง 6 ปี ก่อนลาไปคุมทีมในลีกกาตาร์ กับ อัล-ดูฮาอิล
ผลงานที่ขายได้ที่สุดของกุนซือวัย 47 ปี คือในฤดูกาลล่าสุด 2021-2022 นี้เอง เขาคุมทีมวีแดด เอซี ในลีกโมร็อกโก คว้าแชมป์ฟุตบอลซีเอเอฟ แชมเปี้ยนส์ลีก เป็นโค้ชเลือดโมร็อกโกคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่พาทีมคว้าแชมป์แอฟริกัน แชมเปี้ยนส์ลีกได้ อีกทั้งยังพาวีแดด เอซี ครองบัลลังก์แชมป์ลีกโบโตล่า ลีกสูงสุดโมร็อกโกได้ในปีเดียวกันด้วย
การนำ ‘ปราสาทสีแดง’ คว้าดับเบิ้ลแชมป์ในซีซั่นล่าสุด ทำให้เรกรากุย เป็นผู้ถูกเลือกจากสหพันธ์ฟุตบอลโมร็อกโกให้สานงานต่อจากอดีตกุนซือชาวบอสเนีย ก่อนที่ฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มขึ้นในอีกไม่ถึง 3 เดือน
“มีข่าวลือมากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนโค้ช (ฮาลิฮ็อดซิซ) แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นทางการ ช่วงนั้นผมได้มีโอกาสพบกับ ฟาอูซี่ เล็กจา ประธานสหพันธ์ ซึ่งเขาไม่ได้เสนอตำแหน่งให้ในตอนนั้น แต่เราได้พูดคุยกันเรื่องวิสัยทัศน์ของทีม ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ในฐานะที่ผมเคยเป็นนักเตะทีมชาติ”
ผู้จัดการเคราเข้มเล่าถึงเบื้องหลังการได้รับงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต และบอกต่อด้วยว่า เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธโอกาสในการคุมทีมชาติของตัวเองไปฟุตบอลโลก
“แน่นอนแผนการของผมมันเปลี่ยนไปหมด (หลังรับตำแหน่งหัวหน้าโค้ชโมร็อกโก) ทุกอย่างมันรวดเร็ว และเซอร์ไพร์สมาก ๆ เพราะผมเพิ่งจบซีซั่นกับวีแดด ซึ่งเราประสบความสำเร็จอย่างมาก การเป็นโค้ชให้วีแดด เป็นของขวัญ เป็นเส้นทางที่ทำให้ผมได้มาต่อในตำแหน่งนี้”
สิ่งแรกที่ เรกรากุย ทำหลังจากได้รับตำแหน่งหัวหน้าโค้ชสิงโตแห่งแอตลาส คือการเปลี่ยนความคิดของเหล่าลูกทีม ด้วยการส่งข้อความถึงเหล่านักเตะในทีมแบบง่าย ๆ ว่า หากใครคิดว่า โมร็อกโกจะตกรอบฟุตบอลโลก 2022 เร็ว จะไม่ติดทีมไปกาตาร์ ซึ่งเมื่อเขามารับตำแหน่ง ก็ทำให้ ซีเยค ตัดสินใจกลับมารับใช้ชาติอีกครั้ง
อุปสรรค คำวิจารณ์มาเยือนในช่วงของการรับงานใหม่ ๆ สิ่งที่ เรกรากุย ต้องเผชิญคือ มีระยะในการเตรียมทีมจำกัด ต้องทำให้ผู้เล่นในทีมศรัทธา อีกทั้งเขายังถูก ‘บูลลี่’ จากสื่อท้องถิ่นด้วยการตั้งฉายาว่า ‘ไอ้หัวอโวคาโด้’ ล้อเลียนกับศีรษะล้านของเขา พร้อมกับปรามาสในฝีมือ
แต่ตอนนี้สื่อที่ตั้งฉายาให้กับเขา อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่
“ผมทำงานด้านโค้ชมาราว 8-9 ปี ปรัชญาของผมชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น คือการให้ความสำคัญกับการครอบครองบอล และการเล่นแบบเพรสซิ่งสูง แต่ผมก็สามารถปรับเปลี่ยน ประยุกต์การจัดทีมมาตลอดทั้งปี ซึ่งการคุมสโมสรวีแดด คุณจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับสถานกาณ์เพื่อชนะ ดังนั้นผมจะมีการปรับเปลี่ยนแผน ซึ่งขึ้นอยู่กับโอกาสและสถานการณ์ของทีมในเวลานั้นด้วย”
“ผมชื่นชม เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, ดีเอโก้ ซิเมโอเน่ และคาร์โล อันเชล็อตติ แต่ผมก็มีสไตล์ของตัวเองในการปรับเปลี่ยนทีม ขึ้นอยู่กับศักยภาพ และผู้เล่นที่มี”
เขาอธิบายถึงแทคติกที่ปรับไปตามสถานการณ์ และคู่แข่ง ดังที่เราเห็นในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ทั้งการเล่นเกมรับอย่างมีวินัย ไม่เตะทิ้งแบบโฉ่งฉ่าง การเข้าสกัดอย่างดุดัน ความเร็วในแนวรุกที่พร้อมโต้กลับแบบฉับพลัน จนเล่นงาน 3 ยักษ์ใหญ่แห่งยุโรป ทั้งเบลเยียม ทีมอันดับ 2 ของโลก, สเปน ทีมแรงกิ้งอันดับ 7 ของโลก และโปรตุเกส อันดับ 9 ของโลก ให้พังพาบมาแล้ว
ชาวมุสลิมชื่นชมกับการสร้างตำนานบทใหม่
ห้วงวินาทีที่ดีที่สุดในชีวิตของ เรกรากุย คือตอนที่ ฟากุนโด้ เตลโญ่ ผู้ตัดสินเป่านกหวีดจบเกมที่อัล ตูมาม่า สเตเดียม สิงโตแอตลาส ชนะโปรตุเกส 1-0 สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกจากทวีปแอฟริกาที่่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก ชาวโมร็อกกัน กระโจนตัวลอย โอบรัดกัน มีความสุขกับผลงานของเหล่านักเตะที่กลายเป็นซุเปอร์สตาร์เพียงชั่วข้ามเดือน
ผู้คนนับแสน โดยเฉพาะในราบัต เมืองหลวง และคาซาบลังก้า เมืองใหญ่ ออกมาร่วมกันชมเกมนัดประวัติศาสตร์รอบ 8 ทีมสุดท้ายที่พวกเขาพลิกล็อคคว่ำโปรตุเกส หลังจากเห็นการหักเขากระทิงดุ ปราบเบลเยียมมาแล้ว
จบเกมวันนั้น เรกรากุย ถูกโยนขึ้นสูง ๆ โดยเหล่านักเตะที่แจ้งเกิดในทัวร์นาเม้นต์ ทั้ง โซฟียาน อัมราบัต กองกลางจากฟิออเรนติน่า, อาซเซดีน อูนาฮี จอมพลิ้วจากอองเช่ร์, ยูสเซฟ เอ็นเนซีรี กองหน้าจากเซบีญ่า, นุสซาอีร์ มาซราอุย แบ็คจากบาเยิร์น มิวนิค บางคนยกให้เขาเป็นพ่อ เพียงแค่ในช่วงเวลาสั้น ๆ
กุนซือมาดเข้มร้องไห้ออกมาอย่างไม่อายใคร เขาเดินขึ้นอัฒจันทร์มาสวมกอดกับคุณแม่ที่ไม่เคยมาชมเกมของลูกเลยตั้งแต่สมัยเป็นนักเตะอาชีพ แต่ในวันสำคัญ วินาทีนั้น นาทีนั้น บุคคลสำคัญในชีวิตอยู่ข้าง ๆ เขาแล้ว
จากแผนอันแยบยลในเกมกับสเปน และโปรตุเกส ด้วยการเน้นเกมรับเหนียวแน่น ยามเจอทีมที่แข็งกว่า จังหวะโต้กลับน่ากลัว นักเตะกล้าเล่น กล้าครองบอลไม่กลัวใคร ทำให้เขาได้รับสมญานาม ‘เป๊ปแห่งโมร็อกโก’
ไม่เพียงแค่ชาวโมร็อกกันเท่านั้นที่ฉลองกับความสำเร็จนี้ หลายสื่อรายงานว่า ชาวมุสลิมในหลายที่ทั่วมุมโลกก็ต่างดีใจไปกับผลงานของทีม พวกเขาเป็นชาติอาหรับชาติแรกที่เดินทางไกลมาถึงรอบรองชนะเลิศ เช่นเดียวกับชาวแอฟริกันที่ร่วมส่งใจเชียร์ เพราะก่อนหน้านี้ แคเมอรูน, กาน่า, เซเนกัล เคยเดินทางไปได้ไกลสุดเพียงแค่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟีฟ่า เวิลด์คัพ
แม้โมร็อกโกจะสิ้นสุดทริปนี้ด้วยการคว้าอันดับ 4 แต่ก็เกินคาดไปมาก เป็นม้ามืดตัวจริงในฟุตบอลโลกเวอร์ชั่นอาหรับ ผู้จัดการทีมราชสีห์แอตลาส เปรียบการเดินทางทริปนี้ของลูกทีมเหมือนกับ ‘ร็อกกี้ บัลบัว’ ตัวเอกจากภาพยนตร์ ‘ร็อกกี้’ ที่ทั่วโลกอยากให้กำลังใจ
หลังเกมนัดชิงอันดับที่ 3 กับโครเอเชีย เรกรากุย สรุปทริปฟุตบอลโลก 2022 สั้น ๆ ว่า
“เราเดินหน้าสุดกำลัง แต่เครื่องยนต์เราพัง แต่เรามีความสุข เพราะเราได้เป็น 4 ทีมที่ดีที่สุดในโลก"
แม้ว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้ โมร็อกโกจะไม่มีเหรียญคล้องคอ แต่เมื่อพวกเขาเดินทางกลับถึงบ้าน จะได้รับการต้อนรับอย่างฮีโร่ ราวกับเป็นแชมป์โลก ดังที่เขาเคยฝันไว้ เป็นความภาคภูมิใจของทวีปแอฟริกัน รวมถึงชาวมุสลิม และทีมม้ามืดชุดนี้จะถูกกล่าวขวัญเป็นตำนานของฟุตบอลโลกไปอีกนานแสนนาน
เรื่อง: My name is
อ้างอิง: