16 ก.พ. 2566 | 23:20 น.
- ‘เอ็ดดี้ ฮาว’ คุมทีมนิวคาสเซิลกลับมาติดหัวตารางอีกครั้งในรอบหลายปี เปลี่ยนทีมหนีตกชั้นให้มีเสน่ห์อีกครั้ง
- เดิมทีแล้วเขาคือนักเตะโนเนม เจ็บหนัก แขวนสตั๊ดเร็ว ขณะที่ชีวิตกุนซือก็เริ่มต้นจากการถูกตั้งคำถาม กระทั่งใช้ผลงานพิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จ
การผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ศึกฟุตบอล คาราบาว คัพ 2022-23 ซึ่งเป็นการเข้าชิงโทรฟี่ระดับเมเจอร์ในประเทศอังกฤษ ครั้งแรกในรอบ 24 ปีของสโมสร และกำลังลุ้นพื้นที่ ‘ท็อปโฟร์’ อย่างสนุกกับเหล่าบิ๊กทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เพื่อตั๋วลุยศึกฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ทำให้เหล่า ‘ทูน อาร์มี่’ แฟนบอลนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ทั่วโลก ต่างมีรอยยิ้ม หัวใจพองโต ตื่นเต้น ตื่นตัวมากขึ้นในรอบหลายปี หลังจากช่วงที่ผ่านมา สโมสรรักของพวกเขาตกต่ำลงไป จนมีถึงสองครั้งสองครา ในรอบ 15 ปี ที่ ‘สาลิกาดง’ ต้องตกชั้นไปเล่นในลีกรองอย่าง ‘เดอะ แชมเปี้ยนชิพ’ ในฤดูกาล 2009-10 และ 2016-17
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงจาก ‘หลังมือ’ เป็น ‘หน้ามือ’ ของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยุคนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรของกลุ่มทุน ‘พับลิค อินเวสต์เมนต์ ฟันด์’ (PIF) กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของประเทศซาอุดิอาระเบียที่มีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ อยู่เบื้องหลัง ถือหุ้นใหญ่ราว ๆ 80% ของสโมสร
ส่วนอีก 20% นั้น เป็นของบริษัทไซมอน แอนด์ เดวิด รอยเบน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทพีซีพี แคปิตอล พาร์ทเนอร์สของ อแมนดา สตาเวลีย์ นักลงทุนชาวอังกฤษ อีกกลุ่มละ 10%
เม็ดเงินรวม 300 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.38 หมื่นล้านบาท สามารถเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนสโมสร ‘ยักษ์หลับ’ แห่งเกาะอังกฤษ ที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยหนุ่มใหญ่ที่ชื่อว่า ‘ไมค์ แอชลี่ย์’ อดีตประธานสโมสรที่แฟนบอล ‘สาลิกาดง’ ต่างก็ยี้ สู่กลุ่มทุนที่กล่าวมาข้างต้น
แต่นั่นเป็นเพียงสารตั้งต้นที่ทำให้สโมสร ‘ลืมตาอ้าปาก’ และมองเห็นอนาคตมากขึ้นเท่านั้น ทว่าผลงานในสนาม และห้วงความสุข ณ ปัจจุบัน ของ ‘ชาวจอร์ดี้’ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเหมือนได้ ‘แฟลชแบ็ค’ ชีวิตการดูฟุตบอล ย้อนกลับไปเชียร์ทีมรัก ในบรรยากาศสดใสซาบซ่า เช่นยุคเฮดโค้ชระดับตำนานอย่างเควิน คีแกน และ เซอร์บ็อบบี้ ร็อบสัน ก็ต้องยกเครดิตให้กับเฮดโค้ช วัย 45 ปี อย่าง ‘เอ็ดดี้ ฮาว’ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่น วิธีการเล่นที่รัดกุม แพ้ยาก และแน่นอนมากขึ้น รวมถึงการใส่ความทะเยอทะยานให้กับนักเตะทุกรายที่ลงสนาม
ในวันที่สโมสรเปิดประตูสู่ยุคใหม่ เอ็ดดี้ ฮาว เดินเข้าสู่ถิ่นไทน์ไซด์ในฐานะผู้นำ เขาไม่ใช่เฮดโค้ชที่มีความสำเร็จติดสอยห้อยตามโปรไฟล์
เขาเป็นใครมาจากไหน
ทำไม นิวคาสเซิล ถึงเลือกเขา
เขามีปรัชญาการทำทีมเป็นเช่นไร
และเขาทำอย่างไร ที่ทำให้ ‘สาลิกาดง’ ติดปีกได้เช่นปัจจุบัน
นี่คือเรื่องราวของเขา เอ็ดเวิร์ด จอห์น แฟรงค์ ฮาว (Edward John Frank Howe) กุนซือผู้พลิกโฉมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ให้กลับมาเป็นทีมที่น่ากลัวอีกครั้ง…
นักเตะโนเนม เจ็บหนัก แขวนสตั๊ดเร็ว และชีวิตกุนซือที่เริ่มต้นจากการถูกตั้งคำถาม
เอ็ดดี้ ฮาว เกิดที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1977 โดยเขาเริ่มเล่นฟุตบอลในตำแหน่งกองหลัง กับสโมสรบอร์นมัธ ในชุดเยาวชน ก่อนจะขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในปี 1994 ด้วยวัย 17 ปี
เขาอยู่กับสโมสร บอร์นสมัธ ในช่วงแรกเป็นเวลา 8 ปีเต็ม ลงสนามไปมากกว่า 200 เกมทุกรายการ แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว บอร์นมัธ ยังอยู่ในลีกดิวิชั่น 2 หรือลีกระดับสามของประเทศอังกฤษ เทียบเท่ากับลีกวันในปัจจุบัน
จากนั้นเขาก็ย้ายไปอยู่กับ ปอร์ทสมัธ และสวินดอน ในช่วงเวลาสั้น ๆ และกลับมาอยู่กับ บอร์นสมัธ อีกครั้งในปี 2004-2007 ซึ่งก็ยังอยู่ในลีก วัน เช่นเดิม (ฟุตบอลลีกของประเทศอังกฤษ มีการปรับโครงสร้างเมื่อฤดูกาล 2004-05 โดยลีก ดิวิชั่น 2 ปรับมาเป็นลีก วัน)
กระทั่งในปี 2008 เอ็ดดี้ ฮาว เกิดปัญหาใหญ่ในการเล่นฟุตบอล นั่นคืออาการบาดเจ็บอย่างหนักที่บริเวณหัวเข่า และปัญหานั้น นำมาซึ่งการต้องแขวนสตั๊ด ตั้งแต่อายุเพิ่งแตะเลขสามมาหมาด ๆ
แต่นั่นก็ทำให้เขาได้เริ่มต้นเร็วกว่านักเตะรายอื่นในฐานะ ‘เฮดโค้ช’
ในปี 2008 สโมสรบอร์นมัธ ตกชั้นสู่ลีก ทู ซึ่งเป็นลีกอาชีพที่ต่ำสุด หรือเทียบเท่าเป็นลีกระดับที่สี่ของประเทศอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะมีฟอร์มการเล่นที่ย่ำแย่แล้ว สภาพคล่องทางการเงินของสโมสรก็เกิดปัญหาอย่างหนัก จนทำให้ถูกลงโทษตัดถึง 17 คะแนนในปีดังกล่าว บอร์นมัธ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งกับการต้องตกชั้นออกไปเล่นยังนอกลีก
และในช่วงต้นปี 2009 วันที่บอร์นมัธ รั้งอยู่ในอันดับที่ 23 ของตารางลีก ทู 2008-09 โดยมีแต้มห่างจากโซนปลอดภัยถึง 7 คะแนน และทีมก็เพิ่งแพ้มา 4 นัดรวด บอร์นมัธ ต้องการความเปลี่ยนแปลง หากพวกเขายังคิดจะอยู่ในสารบบฟุตบอลอาชีพต่อไป
พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนักกับการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่แยกทางกับ จิมมี่ ควินน์ กุนซือวัย 48 ปีในเวลานั้น
ทีมก็แย่ เงินก็ไม่มี สุ่มเสี่ยงกระเด็นออกนอกลีก แทบจะไม่มีโค้ชคนไหนหรอก ที่อยากจะเข้ามาทำทีม บอร์นมัธ ในเวลานั้น มันเป็น ‘เผือกร้อน’ ที่ไม่มีใครอยากจะรับ มันสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้โปรไฟล์ของโค้ชทุกคนกลายเป็นโค้ชที่ทำให้ทีมตกชั้นสู่นอกลีก
ยกเว้นผู้ชายคนหนึ่งที่เติบโต และหลงรักสโมสรแห่งนี้ นั่นคือ ‘เอ็ดดี้ ฮาว’
ฮาว ได้รับการแต่งตั้งจากผู้บริหารบอร์นมัธ
เขาเข้ามาทำทีมด้วยคำถามมากมายจากแฟนบอล
เขาอายุเพียงแค่ 31 ปีเองนะ
เขาเพิ่งแขวนสตั๊ดมาหมาด ๆ ด้วยอาการบาดเจ็บ
เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จสักนิดในการเล่นฟุตบอลอาชีพ
เขาไม่เคยมีประสบการณ์การคุมทีมใด ๆ ทั้งนั้น
เขาไม่มีเม็ดเงินมากมายในการเสริมทัพ
เขาไม่มีทีมงานสตาฟฟ์โค้ชช่วยซัพพอร์ต
เขาไม่มีทีมงานหลังบ้าน ไม่มีแม้แต่ทีมงานกายภาพ ซึ่งเขาต้องไปจ้างมาด้วยเงินตัวเอง
คำถามมากมายถูกตั้งขึ้น แต่นั่นไม่สำคัญ เมื่อผู้บริหารทีมเลือกเขา มันอาจจะเป็นตัวเลือกที่ไม่ดีนัก และเสี่ยงเหลือเกิน แต่เมื่อเหลือทางเลือกเดียว นั่นหมายความว่า ‘มันไม่มีทางเลือก และต้องเดินหน้า ด้วยทางเลือกเดียวนี้’
เอ็ดดี้ ฮาว เริ่มต้นสร้าง ‘บอร์นมัธ’ ทุกอย่างจากศูนย์ และตอบทุกคำถามด้วยการก้มหน้าก้มตาทำงาน ทำงาน ทำงาน และทำงาน
เขาเริ่มต้นในวันที่สโมสรเตะไปแล้ว 25 เกม และเก็บชัยชนะได้แค่ 6 นัด เสมอ 8 นัด และแพ้ 11 นัด โดยมีแต้มหลังจากหักไป 17 คะแนนแล้ว เหลือแค่ 9 แต้มจริง ๆ บนตาราง ลีก ทู เท่านั้น
เขาพยายามทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
เขาเริ่มสร้างบรรยากาศในห้องแต่งตัว
เขาปลุกเร้านักเตะทุกคน ซึ่งบางรายอายุมากกว่าเขาด้วยซ้ำ
เขาพยายามให้ทุกคนเชิดหน้า และลุกขึ้นสู้
21 เกมหลังของ บอร์นมัธ ในฤดูกาลดังกล่าว สามารถเก็บชัยชนะไปได้ถึง 12 นัด เสมออีก 3 นัด และแพ้ 6 นัด ซึ่งอีก 39 แต้มที่คว้ามาได้เพิ่ม มันเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยง และต่อเติม มันคือ ‘เครื่องช่วยหายใจ’ ที่ช่วยต่ออายุบอร์นมัธ ให้อยู่รอดปลอดภัยในสารบบฟุตบอลลีกอาชีพ
ปีต่อมา เอ็ดดี้ ฮาว ที่ได้รับความไว้วางใจจากแฟนบอล และสโมสรมากขึ้น เขาสร้างประวัติศาสตร์พาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีก วัน ทันที ในฐานะรองแชมป์ลีก ทู 2009-2010 ก่อนจะอำลาทีมไปในปี 2011 และย้ายไปคุมเบิร์นลีย์ ในลีก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ เป็นเวลาสั้น ๆ โดยพาทีมจบอันดับ 8 ในซีซั่น 2010-2011 และ อันดับที่ 13 ในซีซั่น 2011-12
ซีซั่น 2012-13 เอ็ดดี้ ฮาว กลับมาอยู่กับ บอร์นมัธ อีกครั้ง และคราวนี้ เขาก็สร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์แบบสนั่นลั่นแดน ด้วยการพาทีมเลื่อนชั้นจากลีก วัน สู่ลีกเดอะ แชมเปี้ยน ชิพ ในฤดูกาล 2013-14 ได้สำเร็จ หลังจบรองแชมป์ลีกวัน ก่อนจะใช้เวลาเพียงแค่ 2 ฤดูกาลในลีก แชมเปี้ยนชิพ ก็สามารถคว้าแชมป์ ลีก แชมเปี้ยนชิพ ได้ทันทีในซีซั่น 2014-15
และนั่นคือวินาทีประวัติศาสตร์ของสโมสร บอร์นมัธ ที่ก้าวขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้เป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์สโมสร ด้วยความสามารถของ เอ็ดดี้ ฮาว กุนซือวัย 38 ปีในเวลานั้น
เริ่มต้นกับทีมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน พร้อมกับถูกตั้งคำถามอีกครั้ง
5 ฤดูกาลเต็มที่เอ็ดดี้ ฮาว ช่วยให้ บอร์นมัธ ยืนหยัดอยู่บนลีกสูงสุดของเกาะอังกฤษ เขาทำบอร์นมัธ สู้กับทีมบิ๊กเนม เสือ สิงห์ กระทิง แรด ในศึกพรีเมียร์ลีกได้อย่างสนุก โดยจบอันดับสูงสุด คือ อันดับที่ 9 ในซีซั่น 2016-17 และผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายของศึกฟุตบอลลีกคัพได้ 3 สมัย
คัลลัม วิลสัน, ไรอัน เฟรเซอร์, อดัม สมิธ, สตีฟ คุ๊ก, โจชัว คิง, อาร์เธอร์ โบรุค, ไซม่อน ฟรานซิส, ชาร์ลี แดเนี่ยลส์ ฯลฯ นี่คือ รายนามนักเตะที่เติบโตอย่างแข็งแรงกับ บอร์นมัธ ในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ในยุคของ เอ็ดดี้ ฮาว
แต่ด้วยแรงเสียดทาน การแข่งขันที่สูงมาก ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนที่ไม่สูงเท่าสโมสรอื่น ก็ทำให้บอร์นมัธ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดิ้นรนหนีตกชั้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้องตกชั้นในฤดูกาล 2019-20 ที่ผ่านมา พร้อมกับการโบกมืออำลาทีมอย่างยิ่งใหญ่ของเอ็ดดี้ ฮาว ในช่วงกลางปี 2020
แต่นี่แหละครับ ชีวิตของมนุษย์
ตอนจบของเรื่องราวหนึ่งก็มักจะเป็นจุดกำเนิดของอีกเรื่องราวอยู่เสมอ
เอ็ดดี้ ฮาว ได้พักผ่อนสมองเป็นเวลากว่า 1 ปีเต็ม ท่ามกลางกระแสข่าวลือที่เขาจะย้ายไปคุมทีมนั้นทีมนี้อยู่เสมอ เมื่อทีมในพรีเมียร์ลีก เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของตำแหน่งผู้จัดการทีม
กระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2021 ภายหลังจากที่มีการเทคโอเวอร์สโมสร นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด สำเร็จจากกลุ่มทุน ‘พับลิค อินเวสต์เมนต์ ฟันด์’ (PIF) กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ถือหุ้น 80% รวมถึง บริษัทไซมอน แอนด์ เดวิด รอยเบน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ บริษัทพีซีพี แคปิตอล พาร์ทเนอร์สของ อแมนดา สตาเวลีย์ อีกกลุ่มละ 10%
สโมสรเจ้าของฉายา ‘สาลิกาดง’ ก็มีการปลดกุนซืออย่างสตีฟ บรูซ เฮดโค้ชคู่บุญของไมค์ แอชลี่ย์ ออกในทันที ซึ่งคนที่เข้ามารับบทบาททำทีม ‘เดอะ แม็กพายส์’ ในท้ายที่สุด ก็คือ เอ็ดดี้ ฮาว ในวัย 43 ปีนั่นเอง
ในเวลานั้น นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ทีมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 130 ปี กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงกับการตกชั้นเช่นเดียวกับวันที่เอ็ดดี้ ฮาว เข้าไปทำ บอร์นมัธ ในลีก ทู เมื่อปี 2009 ยังไงยังงั้นเลย โดยในซีซั่นนั้น ‘เดอะ แม็กพายส์’ เริ่มต้นด้วยการไม่ชนะใคร 14 เกมติดต่อกัน แบ่งออกเป็นเสมอ 7 นัด และแพ้ 7 นัด จมอยู่ในอันดับก้นตาราง
อันที่จริงแล้ว เป้าหมายแรกของสโมสร ในการเปลี่ยนแปลงกุนซือ ก็คือ อูไน เอเมรี่ เฮดโค้ชชาวสเปน ที่เคยกุมบังเหียนทีมใหญ่ในลีกยุโรปมากมาย ทั้งบาเลนเซีย, เซบีย่า, เปแอสเช และอาร์เซนอล
และแฟนบอลนิวคาสเซิลเอง ก็เสียงแตก เพราะสโมสรมีข่าวกับผู้จัดการชื่อดัง ทั้งหนุ่มไฟแรง และกุนซือมากประสบการณ์หลายคน ไม่ว่าจะเป็น ราฟาเอล เบนิเตซ, สตีเว่น เจอร์ราร์ด, โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ, ลูเซียง ฟาร์ฟ, เปาโล ฟอนเซก้า, แฟรงค์ แลมพาร์ด ฯลฯ
แต่ดูเหมือนว่า กุนซือชื่อดังหลายคนอาจจะไม่อยากเสี่ยงกับสถานการณ์ของนิวคาสเซิล ในเวลานั้น ‘ที่ใครเห็นก็ว่าตกชั้น’ และการต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่ง ตั้งไข่แรกเริ่ม มันย่อมเหนื่อยกว่าการมาทำทีมในวันที่พร้อมทะยานไปข้างหน้า
แต่นั่นไม่ใช่กับ เอ็ดดี้ ฮาว เพราะอย่างที่บอก เขาเคยผ่านสถานการณ์ที่ย่ำแย่สุด ๆ กับ บอร์นมัธ มาแล้ว และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ ‘เขา คือ ผู้ถูกเลือก’ ท่ามกลางสถานการณ์สุ่มเสี่ยง และมีคำถามจากแฟนบอลว่า ‘ทีมจะอยู่รอดได้หรือไม่’
ซึ่งคำตอบ ก็อย่างที่เราทราบ ๆ กัน นิวคาสเซิล อยู่รอด และอยู่รอดได้อย่างดีเยี่ยมด้วย
ในซีซั่นที่แล้ว มันเป็นฤดูกาลที่ ‘เดอะ แม็กพายส์’ เริ่มต้นแบบใจหาย แต่จบซีซั่นได้แบบใจฟู
พวกเขาคือทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่ชนะ 14 เกมแรก แล้วรอดตกชั้นได้สำเร็จ มันไม่ใช่แค่รอดตกชั้นแบบหวุดหวิด แต่ก้าวกระโดดขึ้นมาจบถึงอันดับที่ 11 พร้อมทำแต้มได้สูงที่สุดในรอบ 9 ซีซั่น (49 คะแนน) เลยทีเดียว
โดย 14 เกมแรก แม้จะไม่ชนะใคร แต่ในช่วง 24 เกมหลังสุดของศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ 2021-22 นิวคาสเซิล ภายใต้การคุมทัพของ เอ็ดดี้ ฮาว พวกเขาชนะถึง 13 นัด และมีช่วงที่ชนะติดต่อกัน 4 นัด รวมถึงไม่แพ้ติดต่อกันถึง 7 เกม และที่สำคัญ ‘เดอะ แม็กพายส์’ สามารถกลับมาแข็งแกร่งในรัง เซนต์ เจมส์ ปาร์ค อีกครั้ง ด้วยการเก็บชัยชนะในรังเหย้า 6 นัดติดต่อกันเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี
ซึ่งนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่สวยงามของ เอ็ดดี้ ฮาว ในฐานะกุนซือใหญ่ของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ก่อนจะพาสโมสรเดินหน้าต่อเนื่องในฤดูกาลปัจจุบัน
โดยในฤดูกาลนี้ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยังสร้างปรากฎการณ์ต่อเนื่อง ด้วยการเป็นทีมที่แพ้น้อยที่สุด และเสียประตูน้อยที่สุดของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ‘สาลิกาดง’ คือทีมเดียวที่ยังเสียไม่ถึง 20 ประตู โดยผ่านมา 22 เกม พวกเขาเสียไปเพียงแค่ 13 ลูกเท่านั้น และสร้างประวัติศาสตร์ของสโมสร ด้วยการไม่แพ้ใครมาแล้วติดต่อกัน 17 นัดในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
รวมถึงยังคงลุ้นพื้นที่ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อย่างสนุกกับบิ๊กทีม และเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศศึกฟุตบอล คาราบาว คัพ เป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปี นับตั้งแต่ปี 1976 โดยมีลุ้นคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วย ระดับเมเจอร์ ในเกาะอังกฤษ ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 68 ปี นับตั้งแต่การคว้าแชมป์ เอฟเอคัพ 1954-55 อีกด้วย
ซึ่ง ‘ผู้ที่ถูกเลือก’ อย่าง เอ็ดดี้ ฮาว เขามีปรัชญาในการคุมทีมที่ชัดเจน และนั่นคือส่วนสำคัญที่ทำให้ เขาพา ‘สาลิกาดง’ บินสูงได้เช่นปัจจุบัน
เชื่อมั่นในทีมงาน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในเกมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ล่าสุด ที่นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด บุกไปเสมอกับทีมเก่าของเอ็ดดี้ ฮาว อย่าง บอร์นมัธ 1-1 ในช่วงการถ่ายทอดสด มีการจับภาพไปที่นักเตะ และทีมงานสตาฟฟ์โค้ช ที่เอ็ดดี้ ฮาว เคยร่วมงานกันที่สโมสร บอร์นมัธ
โดยมีทีมงานสตาฟฟ์โค้ชส่วนหนึ่งที่ถูกจับภาพ ซึ่งฮาว ตัดสินใจดึงตัวมาช่วยงานที่ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และอีกส่วนหนึ่ง ภาพก็จับไปที่นักเตะที่ฮาว เคยปั้นมากับมือ สมัยคุมทีม บอร์นมัธ และได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในถิ่น เซนต์ เจมส์ ปาร์ค ไม่ว่าจะเป็นไรอัน เฟรเซอร์ และ แมตต์ ริชชี่ (ส่วน คัลลัม วิลสัน กองหน้าชาวอังกฤษของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ภาพจับไปที่ภาพตอนประสบความสำเร็จกับบอร์นมัธ บนอัฒจันทร์ เนื่องจากตัวเขามีอาการบาดเจ็บ และไม่ได้ร่วมเดินทางมากับทีม ในวันที่บุกไปเยือนบอร์นมัธ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา)
ส่วนลิสต์ของทีมงานที่เอ็ดดี้ ฮาว ไม่ยอมทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้น เริ่มต้นจากเจสัน ทินดอลล์ ผู้ช่วยโค้ชคู่ใจที่ยืนอยู่เคียงข้าง เอ็ดดี้ ฮาว ทุกนัด นี่คือ ‘มือขวา’ อย่างแท้จริงของฮาว เพราะอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการเป็นโค้ชบอร์นมัธของฮาว และได้คุมทีมชุดใหญ่ของบอร์นมัธ ต่อจากเอ็ดดี้ ฮาว ในช่วงหนึ่งด้วย
ตามด้วย แกรม โจนส์ อดีตผู้ช่วยของ ทินดอลล์ ที่สโมสรบอร์นมัธ ซึ่งเจ้าตัวย้ายมาอยู่นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ตั้งแต่ยุคปลายการคุมทีมของสตีฟ บรูซ
นอกจากนี้ ยังมีสตีเฟ่น เพอร์เชส อดีตลูกทีมเก่าของเอ็ดดี้ ฮาว ที่สโมสรบอร์นมัธ ที่เคยเป็นผู้ช่วยของเขา และทินดอลล์ ในสโมสรบอร์นมัธ หลังจากเลิกเล่นฟุตบอลก็ถูกฮาว ดึงตัวเข้ามาร่วมทีมเช่นกัน
รวมไปถึงไซม่อน เวทเทอร์สตัน ทีมงานสตาฟฟ์โค้ชของเอ็ดดี้ ฮาว ในสโมสรบอร์นมัธ ในยุคที่อยู่ในลีก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ก่อนช่วยกันพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาสู่พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ และชวาน จาลาล โค้ชผู้รักษาประตูคู่ใจที่ร่วมงานกับเอ็ดดี้ ฮาว มาอย่างยาวนานเกินกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการโค้ชชิ่งนายทวารอย่างนิค โป๊ป ผู้รักษาประตูทีมชาติอังกฤษ ให้เก็บคลีนชีตได้ถึง 12 นัด จาก 22 เกมแรกในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ 2022-23
ทั้งหมดทั้งมวล คือปรัชญาการทำทีมของเอ็ดดี้ ฮาว ที่มีเพื่อนร่วมทีมงานสตาฟฟ์โค้ชที่ไว้ใจได้ เชื่อมั่นในกันและกัน
‘ไปด้วยกัน ไปได้ไกล และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’
ฉลาดซื้อ เน้นสร้างทีมระยะยาว และต้องตรงกับดีเอ็นเอนักเตะ ในปรัชญาการทำทีมของเอ็ดดี้ ฮาว
ในวันที่มีการเทคโอเวอร์สโมสร นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด สำเร็จเสร็จสิ้น สื่อต่าง ๆ ในอังกฤษ ต่างก็ประโคมข่าวในเรื่อง ‘ความรวย’ ของเจ้าของทีม ‘สาลิกาดง’ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่มีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ อยู่เบื้องหลัง
ว่ากันว่า โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มีทรัพย์สินอยู่ถึง 320,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 14 ล้านล้านบาท มากกว่าเจ้าของทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อย่าง ชีค มานซูร์ ที่มีทรัพย์สินราว ๆ 22,900 ล้านปอนด์ เกินกว่า 10 เท่า และมากกว่าครอบครัวเกลเซอร์ เจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีทรัพย์สินประมาณ 3,500 ล้านปอนด์ อยู่ราว ๆ 100 เท่าเลยทีเดียว
ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจที่รายนามนักเตะระดับโลกอย่างคริสเตียโน่ โรนัลโด้, ลีโอเนล เมสซี่, คิลิยัน เอ็มปัปเป้, เนย์มาร์ ฯลฯ ต่างถูกพาเหรดเข้ามาอยู่ในลิสต์การเล่นข่าวของสื่ออังกฤษอย่างสนุกในช่วงนั้น เพราะพวกเขาเชื่อว่า ‘สาลิกาดง’ ในวัน ‘ตกถังข้าวสาร’ จะชอปปิ้งอย่างมันมือแน่นอน
แต่ในความจริง มันไม่ใช่แบบที่สื่ออังกฤษ รวมถึงแฟนบอลคิด นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในยุคของเอ็ดดี้ ฮาว ใช้เงินอย่างเป็นระเบียบ ภายใต้การค้นหานักเตะแบบ ‘คิดก่อนจ่าย’ ไม่ใช่ ‘จ่ายก่อนคิด’
โดยฮาว และทีมงานของเขาได้ทำงานในเรื่องการสอดส่องหานักเตะที่ตรงกับ ‘ดีเอ็นเอ’ ของ ‘สาลิกาดงยุคใหม่’ ร่วมกับ แดน แอชเวิร์ธ อดีตผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระดับสูงของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศอังกฤษ และอดีตผู้อำนวยการด้านเทคนิคของสโมสรไบร์ทตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาทำงานเป็นผู้อำนวยการกีฬาให้กับนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022
ในช่วงตลาดนักเตะรอบที่สองของ ฤดูกาล 2021-22 ซึ่งเป็นการชอปปิ้งครั้งแรกของเอ็ดดี้ ฮาว กับ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ได้มีการใช้เงินไปทั้งสิ้น 90 ล้านปอนด์ แปรเปลี่ยนเป็น 5 นักเตะที่เข้ามาใหม่ ซึ่งเน้นไปที่นักเตะที่มีประสบการณ์ ใช้งานได้ทันที เล่นได้จริงในพรีเมียร์ลีก เพื่อ ‘หนีตกชั้น’ แบบเต็มสูบ
คีแรน ทริปเปียร์ (12 ล้านปอนด์, แอตเลติโก มาดริด), คริส วู้ด (25 ล้านปอนด์, เบิร์นลีย์), บรูโน่ กิมาไรส์ (40 ล้านปอนด์, โอลิมปิก ลียง), แดน เบิร์น (13 ล้านปอนด์, ไบร์ทตันฯ) และ แมตต์ ทาร์เกต (ยืมตัว, แอสตัน วิลล่า) คือ รายนาม 5 นักเตะใหม่ในเวลานั้นของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด
ก่อนที่ตลาดนักเตะรอบซัมเมอร์ ก่อนเปิดฤดูกาล 2022-23 ซึ่งเป็นการร่วมงานกันในเรื่องของการซื้อขายนักเตะครั้งแรกของ เอ็ดดี้ ฮาว กับ แดน แอชเวิร์ธ
‘สาลิกาดง’ ได้ลงทุนด้วยเม็ดเงินทั้งสิ้น 123 ล้านปอนด์ แลกกับนักเตะ 4 ราย ประกอบไปด้วยการซื้อขาด แมตต์ ทาร์เกต จากแอสตัน วิลล่า ในราคา 15 ล้านปอนด์ ตามด้วย นิค โป๊ป (10 ล้านปอนด์, เบิร์นลีย์), สเวน บอตแมน (35 ล้านปอนด์, ลีลล์) และ อเล็กซานเดอร์ อิซัค (63 ล้านปอนด์, เรอัล โซเซียดาด)
ก่อนที่ตลาดนักเตะรอบล่าสุด ในเดือนมกราคม ปี 2023 ‘เดอะ แม็กพายส์’ ได้ตัดสินใจดึงมาอีก 2 ราย นั่นคือแอนโทนี่ กอร์ดอน แนวรุกจาก เอฟเวอร์ตัน ในราคา 45 ล้านปอนด์ และ แฮร์ริสัน แอชบี้ แบ็คซ้ายจาก เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ในราคา 3 ล้านปอนด์
แม้การลงทุนในสามตลาดของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในยุคของเอ็ดดี้ ฮาว จะมีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 261 ล้านปอนด์ และแทบไม่มีการปล่อยตัวนักเตะออกจากทีมชนิดที่ได้เงินกลับมาเลย (ส่วนใหญ่ปล่อยตัวแบบฟรี ๆ และปล่อยยืมตัว)
แต่เงินจำนวน 261 ล้านปอนด์ ก็แลกมากับนักเตะมาแล้วถึง 10 ราย (เฉลี่ยแล้วรายละ 26 ล้านปอนด์โดยประมาณเท่านั้น) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเตะที่ใช้งานได้จริง และทำผลงานได้ดี โดยหนีตกชั้นได้สำเร็จในฤดูกาลที่แล้ว ก่อนจะต่อยอดมาสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมในซีซั่นนี้
และในจำนวน 10 รายนั้น มีถึง 5 รายที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี ได้แก่ บรูโน่ กิมาไรส์ (25 ปี), สเวน บอตแมน (23 ปี), อเล็กซานเดอร์ อิซัค (23 ปี), แอนโทนี่ กอร์ดอน (21 ปี) และ แฮร์ริสัน แอชบี้ (21 ปี) ซึ่งนับเป็นการลงทุน ที่การมองการสร้างทีมระยะยาว และยั่งยืน
โดยนอกจากนักเตะกลุ่มวัยรุ่นที่ยังมีการพัฒนาไปได้อีกนี้ นักเตะใหม่ที่ดึงเข้ามานอกจากนี้ ก็ยังคงมีอายุการใช้งานในฐานะตัวหลัก ได้อย่างน้อย 2-3 ปี ไม่ว่าจะเป็นคีแรน ทริปเปียร์, นิค โป๊ป, แมตต์ ทาร์เกต และ แดน เบิร์น
“วิธีการของผม (ในการซื้อขายนักเตะ) เพื่อพาทีมไปสู่ระดับที่สูงขึ้น คือ เริ่มต้นจากการพัฒนาทีมด้วยการฝึกซ้อม และหาจุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากการแข่งขัน และการฝึกซ้อม ซึ่งถ้าเรายังไม่สามารถไปถึงระดับที่ต้องการได้ ผมก็จำเป็นต้องหานักเตะที่เราขาดจากตลาดนักเตะ”
“เราเข้าใจดีว่า สถานการณ์การเงินของสโมสรเป็นเช่นไร และผมก็มีความกระตือรืนร้นที่จะเซ็นสัญญานักเตะที่ดีที่สุดอยู่เสมอ แต่หากคุณต้องการนักเตะระดับพรีเมียมตลอดเวลา มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะราคาของพวกเขาเหล่านั้น ไม่น้อยเลยในยุคสมัยนี้”
“เราอาจจะมีการเงินที่ดีเพียงพอ แต่หากคิดไปจนถึงเรื่องกฎการเงิน การใช้จ่ายแต่ละครั้ง อาจจะส่งผลต่อตัวเลือกของเรา อาจจะส่งผลต่อสถานการณ์การแย่งตำแหน่งในทีม รวมถึงรายรับที่สโมสรต้องพยายามหาเข้ามา เพื่อไม่ให้มีปัญหากับกฎการเงิน (Financial Fair Play)”
“เรามีแนวทางของสโมสรที่ชัดเจน และในจุดที่ผมยืนอยู่นี้ มีการตัดสินใจที่ยากคอยท้าทายอยู่เสมอ คุณอาจจะอยากได้นักเตะที่เก่งมาก ๆ เข้ามาร่วมทีม แต่ก็มีโอกาสที่เคมีของเขานั้น ไม่ตรงกับเพื่อนร่วมทีม และทีมอาจจะมีผลงานที่ไม่ดีในอนาคต”
“ผมมีความคิดที่จะปรับปรุงทีมให้ดีขึ้นอยู่เสมอ แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เราต้องคิดให้รอบด้าน และก่อให้เกิดผลกระทบกับทีมให้น้อยที่สุด”
“ในช่วงเวลานี้ เรามีทีมที่ยอดเยี่ยม มีสปิริตทีมที่ดี และนักเตะก็เข้ากันได้ดีอย่างมาก ผมมีความสุข และไม่อยากให้การตัดสินใจของผม เกิดการกระทบกับทีมทั้งสิ้น”
นี่คือคำสัมภาษณ์ของเอ็ดดี้ ฮาว ในช่วงที่เขาพาลูกทีมไปเก็บตัวที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ฮาว กล่าวถึงปรัชญาการทำงานของเขาในแง่ของการสร้างทีมระยะยาว และการซื้อตัวนักเตะ ที่ต้องคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เมื่อมีคนเข้ามา ก็ต้องมีคนออกไป มีคนได้รับ ก็ต้องมีคนสูญเสีย ซึ่งเอ็ดดี้ ฮาว มักจะเลือกเสริมทัพโดย ‘คิดทุกอย่างให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และทำให้สโมสรเดินหน้าอย่างยั่งยืนในระยะยาว’
ดิเอโก้ ซิเมโอเน่ แห่งพรีเมียร์ลีก! ยืนระยะนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ด้วยฐานเกมรับที่แข็งแกร่ง
นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ซึ่งหากย้อนกลับไปในยุคของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ สโมสรแห่งนี้มีช่วงเวลาดี ๆ อยู่หลายครั้ง โดยในแต่ละครั้งมักจะถูกพูดถึงในเรื่องของเกมรุกที่ดุดัน บุกสนุกสนาน แต่ไม่ค่อยห่วงหลังบ้านเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะในยุคของเฮดโค้ชอย่าง เควิน คีแกน และเซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน
อลัน เชียเรอร์, ดาวิด ชิโนล่า, เคร็ก เบลลามี่, โรล็องต์ โรแบร์, โซลแบร์โต้ โซลาโน่, ฮาเต็ม เบน อาร์กฟา, คีรอน ดายเออร์, ฟาอุสติโน่ อัสปริย่า, ปาปิสส์ เดมบ้า ซิสเซ่, แอนดี้ แคร์โรลล์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งเท่านั้นในบรรดานักเตะแนวรุกของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในยุคของพรีเมียร์ลีก ที่เคยสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแฟนบอลในถิ่น ‘เซนต์ เจมส์ ปาร์ค’
แต่ในยุคนี้ ยุคของเอ็ดดี้ ฮาว สโมสรนิวคาสเซิล กลับไม่ได้มีจุดขายอยู่ที่แนวรุกเหมือนเช่นเคย เพราะจุดขายของ ‘สาลิกาดง’ ในยุคนี้ ได้ย้ายไปเป็น ‘เกมรับ’
เอ็ดดี้ ฮาว ค่อย ๆ ขันนอตเกมรับ จากที่เคยเป็นจุดอ่อนมาช้านาน ให้กลายเป็นจุดแข็ง แน่นหนา แน่นปึ้ก เสียประตูยาก ด้วยคุณภาพนักเตะแนวรับที่เสริมเข้ามา
เริ่มจากนิค โป๊ป ผู้รักษาประตูดีกรีทีมชาติอังกฤษ, คีแรน ทริปเปียร์ แบ็คขวาดีกรีแชมป์ ลา ลีกา สเปน 2020-21 กับแอตเลติโก มาดริด และเคยไปถึงการเป็นรองแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก กับ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ มาแล้ว, แดน เบิร์น แบ็คซ้ายร่างโย่งชาวอังกฤษ วัย 30 ปี, สเวน บอตแมน กองหลังดาวโรจน์ ชาวเนเธอร์แลนด์ จากลีก เอิง ฝรั่งเศส โดยมีฟาเบียน แชร์ กองหลังดีกรีทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ คนเดียวเท่านั้น ที่เป็นนักเตะเก่าในแผงแบ็คโฟร์ชุดประจำที่เล่นด้วยกันมาตลอดทั้งฤดูกาล
ในช่วง 22 เกมแรกในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ของนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด มีนักเตะถึง 3 รายในแผงแนวรับที่ลงสนามทุกเกม ได้แก่ นิค โป๊ป, คีแรน ทริปเปียร์ และ แดน เบิร์น โดย ฟาเบียน แชร์ ลงไป 21 เกม และ สเวน บอตแมน ลงไป 20 เกม
ซึ่งความเสถียรในการลงสนามอย่างต่อเนื่องของแผงแบ็คโฟร์ ได้ทำให้เกมรับของนิวคาสเซิ่ล เล่นได้อย่างเข้าขา รู้ใจ และสอดซ้อนช่วยป้องกันเกมรุกของคู่แข่งได้ดีเยี่ยม
การเก็บคลีนชีตได้ถึง 12 เกมจาก 22 นัดแรก และเสียไปเพียง 13 ประตู น้อยที่สุดในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จนถึงปัจจุบัน คือตัวเลขสถิติ ที่บ่งบอกได้ดีถึงคุณภาพเกมรับของ ‘สาลิกาดง’ ในยุคของ เอ็ดดี้ ฮาว
แม้ว่า เอ็ดดี้ ฮาว อาจจะเคยถูกมองว่า เป็นโค้ชที่เด่นในเรื่องของการทำเกมรุก ในยุคที่คุมบอร์นมัธ โดยเฉพาะในซีซั่น 2016-17 ที่จบอันดับ 9 นั้น บอร์นมัธ ยิงประตูได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของตารางในปีดังกล่าวเลยทีเดียว ด้วยสถิติ 55 ประตู มากกว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งจบอันดับ 6 ซึ่งทำไป 54 ประตูในซีซั่นดังกล่าวด้วยซ้ำ
แต่การเข้ามาคุมทีมที่ใหญ่ขึ้น ความคาดหวังมากขึ้น ฮาว รู้ดีว่า เขาต้องเริ่มต้นจากเกมรับที่แข็งแกร่ง เพราะเกมรุกอาจจะทำให้ทีมคุณชนะ แต่ ‘เกมรับที่แข็งแกร่ง’ จะทำให้คุณท้าทายทีมใหญ่ และลุ้นเป็นแชมป์ได้
ซึ่งนอกจากตัวผู้เล่นเกมรับคุณภาพเยี่ยมที่นำเข้ามาแล้ว เอ็ดดี้ ฮาว ยังเสริมแทคติกเกมรับแบบหนักหน่วง ในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนกับนิวคาสเซิล จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘ดิเอโก้ ซิเมโอเน่ แห่งพรีเมียร์ลีก’
ฟุตบอลเกมรับของเอ็ดดี้ ฮาว มีแทคติกการไล่เพรสซิ่งตั้งแต่แดนบน ปิดเกมโต้กลับของคู่แข่งตั้งแต่แดนบน ตัดเกมอย่างเด็ดขาดในแดนกลาง ก่อนบอลจะถึงแดนสุดท้าย และไม่กังวลกับการโดนใบเหลืองในข้อหาถ่วงเวลา
โดยในซีซั่นนี้ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด มีสถิติเป็นสโมสรที่โดนใบเหลืองจากข้อหาถ่วงเวลา มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของพรีเมียร์ลีก รองจากแอสตัน วิลล่า ทีมเดียวเท่านั้น
แม้กระทั่งนักเตะอดีตกัปตันทีม ที่กลายเป็นตัวสำรองอย่างจามาล ลาสเซลส์ ซึ่งได้ลงสนามในพรีเมียร์ลีก ไปแล้ว 3 เกม ก็โดนไปแล้วถึง 3 ใบเหลือง โดยสองใบเป็นการโดนคาดโทษจากกรรมการ เพราะถ่วงเวลา ในช่วงเวลาที่กำลังวอร์มอัพข้างสนาม ทั้งที่ยังไม่ได้ลงสนามด้วยซ้ำ
Put The Right man On The Right Job และจงเชื่อมั่นว่าคุณดีพอ
ไม่ใช่แค่นักเตะใหม่เท่านั้น ที่ควรได้รับการชื่นชมหลังจากเอ็ดดี้ ฮาว นำเข้ามาสู่ทีม แต่เหล่านักเตะเก่าของทีมที่ ฮาว ต้องร่วมงาน และสร้างความเชื่อใจนั้น ก็ได้กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ปรุงสำเร็จจนรสชาติดี อร่อยพร้อมเสิร์ฟ และพร้อมสู้กับทุกทีมได้อย่างสนุก
ทั้งที่นักเตะเก่าเหล่านั้น หลายรายไม่สามารถฉายแสงออกมาได้เลย ในยุคของเฮดโค้ชคนเก่าอย่างสตีฟ บรูซ
เอ็ดดี้ ฮาว แปรเปลี่ยนมิเกล อัลมิร่อน แนวรุกชาวปารากวัย จากนักเตะที่เคยถูกเพื่อนร่วมอาชีพพูดถึงในลักษณะการล้อเลียน และอยู่ในช่วงที่เล่นฟุตบอลแบบไร้ความมั่นใจ ไร้ความเชื่อมั่นในตัวเอง สีหน้าท่าทางมีแต่ความหวาดกลัว ให้กลายเป็นผู้เล่นที่มั่นใจ ทะเยอทะยาน และสโมสรขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด
โดย ‘มิคกี้’ คือ ผู้เล่นเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่แนวรับที่ได้ลงสนามให้ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในฐานะตัวจริงทุกเกม ในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และทำผลงานได้ดี ยิงไปแล้ว 10 ประตูในซีซั่นนี้ โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม ที่คว้านักเตะยอดเยี่ยมประจำเดือนของพรีเมียร์ลีก อัลมิร่อน กดไป 6 ลูกในเดือนเดียว
และ 10 ประตูจาก 22 เกมในฤดูกาลนี้ของอัลมิร่อน มากกว่าที่เขาเคยทำได้ทั้งหมดตลอด 4 ฤดูกาลก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ โดย 4 ซีซั่นก่อนหน้านี้ มิเกล อัลมิร่อน ลงสนามให้ ‘สาลิกาดง’ 110 นัด ทำไปได้เพียง 9 ประตูเท่านั้นในเกมลีก
ไม่ใช่แค่อัลมิร่อน เท่านั้น ที่เอ็ดดี้ ฮาว สามารถรีดศักยภาพออกมาใช้งานได้แบบหมดจด แต่ยังรวมถึงโจลินตอน อดีตกองหน้าของฮอฟเฟ่นไฮม์ ในศึกบุนเดสลีกา เยอรมัน ที่ นิวคาสเซิล ดึงตัวมาด้วยราคาถึง 40 ล้านปอนด์ เมื่อปี 2019 แต่กลับสร้างผลงานได้ไม่ดีนัก โดยยิงไปเพียง 10 ประตูตลอด 3 ฤดูกาลแรกของเขากับ ‘สาลิกาดง’
ฮาว แปรเปลี่ยนโจลินตอน ให้กลายเป็นกองกลางพันธุ์ดุที่เก่งฉกาจในเรื่องของการแย่งบอล โดยใช้ขนาดของร่างกายให้เป็นประโยชน์ พร้อมจะทะยานบอลไปข้างหน้าทุกครั้งที่ได้บอล รวมถึงเคลื่อนตัวเข้าไปในแดนสุดท้ายของคู่แข่ง ให้เพื่อนมีออพชั่นเพิ่มในการเล่นเกมรุกจังหวะสุดท้าย
ซึ่งโจลินตอน ในฤดูกาลนี้ เขาทำไปแล้ว 4 ประตูในทุกรายการ และเป็นฟันเฟืองคนสำคัญของนิวคาสเซิล ในแดนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกมรุก และเกมรับที่ช่วยไล่บอลตั้งแต่แดนบอล ชะลอเกมรุกของคู่แข่งได้ดีเยี่ยม
นอกจากสองรายที่ว่ามา เอ็ดดี้ ฮาว ยังใส่ความเชื่อมั่นให้กับนักเตะอย่างฌอน ลองสตาฟฟ์ และ โจ วิลล็อค ที่เคยมีผลงานดร็อปลงไป และสูญเสียความมั่นใจ จนถูกแฟนบอลวิจารณ์อย่างหนัก ให้กลับมาเป็นตัวเลือกระดับต้น ๆ ของทีมในแดนกลาง พร้อมร่วมงานกับ ‘มดงาน’ ที่เข้ามาใหม่อย่างบรูโน่ กิมาไรส์ ให้เกมแดนกลางของ ‘สาลิกาดง’ ดุดัน กลมกล่อม และสู้กับทีมใหญ่ได้อย่างสนุก
การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเตะเก่า และหาวิธีการเล่นที่เขาเหล่านั้น จะสร้างประโยชน์ให้กับทีมได้มากที่สุด อย่างประโยคที่ว่า Put The Right Man On The Right Job เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของ เอ็ดดี้ ฮาว ในการทำทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยุคนี้
ซึ่งฮาว ทำได้ดีเยี่ยม และทำให้ไม่เกิดการสูญเสียสปิริตทีม แม้ในยามที่สโมสรเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และมีนักเตะใหม่เข้ามาตลอดในทุกตลาดซื้อขาย
ปัจจุบัน ‘เจ้าสาลิกาดง’ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในยุคของ เอ็ดดี้ ฮาว อยู่ในช่วงกำลังติดปีก โบยบิน และท้าทายเหล่าทีมบิ๊กเนมในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ โดยมี ‘ลมใต้ปีก’ ทั้งความเชื่อมั่น และเสียงเชียร์จากแฟนบอล รวมถึงการสนับสนุนที่ยอดเยี่ยมของผู้บริหารสโมสร และทีมงานสตาฟฟ์โค้ช
ก็ไม่รู้ว่า ชายหนุ่มที่ชื่อว่า เอ็ดดี้ ฮาว จะพา ‘เดอะ แม็กพายส์’ โบยบินไปได้ไกลแค่ไหน ในอนาคต
แต่เท่าที่รู้ ในเวลานี้ ‘เหล่าทูนอาร์มี่’ ต่างก็พร้อมใจกันเปล่งเสียงตะโกน Howay the lads (Motto ประจำทีม) ได้อย่างภาคภูมิใจแล้วว่า ทีมของพวกเรา ได้ผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้าย และกลับมาสู่จุดที่ควรจะเป็นเรียบร้อย...