ที่สุดของนรกทีมเยือนกับ ‘ลูตัน ทาวน์’ ทีมใช้สนามหญ้าเทียมยุคแรก ในวันหวนคืนพรีเมียร์ลีก

ที่สุดของนรกทีมเยือนกับ ‘ลูตัน ทาวน์’ ทีมใช้สนามหญ้าเทียมยุคแรก ในวันหวนคืนพรีเมียร์ลีก

ที่สุดของ ‘นรกทีมเยือน’ สโมสร ‘ลูตัน ทาวน์’ นำ ‘สนามหญ้าเทียม’ นวัตกรรมที่มาก่อนกาลมาใช้ในยุคแรก ๆ ทีมเยือนที่เป็นสโมสรแถวหน้าของอังกฤษพลาดท่ามานักต่อนัก วันนี้ ลูตัน ทาวน์ ได้เลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้งแล้ว

ถ้าเอ่ยถึงสโมสรฟุตบอลที่ระหกระเหินสะเทินน้ำสะเทินบกมากที่สุดในโลก คงต้องยกให้ ‘ลูตัน ทาวน์’ แห่งลีกอังกฤษ

ความพิเศษของ ‘ลูตัน ทาวน์’ มีหลากหลายเรื่องราวให้ได้พูดถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานะทีมเล็ก ๆ ที่ก้าวไกลไปถึงแชมป์ลีกคัพ ที่เป็นการชิงชัยของสโมสรฟุตบอลทุกดิวิชั่นของเกาะอังกฤษ ทั้งหมด 92 ทีม

หรือจะเป็นการไต่เต้าขึ้นมาจากทีมดิวิชั่นต่ำ มาสู่ลีกสูงสุด และยืนหยัดยืนระยะบนดิวิชั่น 1 ได้นานถึง 10 ฤดูกาล ทั้งที่ไม่มีทุนรอนอะไรมากมาย

จากนั้นค่อย ๆ ร่วงลงสู่ดิวิชั่นต่ำอีกครั้ง และถึงขั้นหลุดวงโคจรออกไปยัง ‘นอกลีก’ แต่แล้วก็กลับขึ้นสู่ลีกสูงสุดนั่นคือ ‘พรีเมียร์ลีก’ ฤดูกาล 2023-24 ซึ่งครบรอบ 31 ปีพอดีที่ตกชั้นจากดิวิชั่น 1 ไป!

หรือจากความเป็นทีมที่วิ่งสู้ฟัด กับสถานะ Underdog หรือไก่รองบ่อน ไม่มีนายทุนเงินหนาคอยสนับสนุน มีเพียงการระดมทุนจากชาวเมืองและแฟนบอล แถมยังเคยตกระกำลำบาก ถูกตัดแต้มมากถึง 30 คะแนน!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉายาที่ติดตาตรึงใจคอบอลยุค 80s นั่นก็คือ ‘สิงห์สนามหญ้าเทียม’ ที่เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งสร้างความได้เปรียบ ทำให้ ‘ลูตัน ทาวน์’ สามารถโลดแล่นอยู่บนลีกสูงสุดนานถึง 10 ฤดูกาล

ทีมที่มีลักษณะพิเศษขนาดนี้ และมีสีสันมากมาย แม้จะร้างไร้ซุป’ตาร์ชื่อดังตลอดมา กำลังเป็นที่พูดถึงในระดับ Talk of the Town ที่อังกฤษ

เราไปติดตามดูเส้นทางชีวิต ‘ลูตัน ทาวน์’ กัน

ฉายานี้ท่านได้แต่ใดมา ‘สิงห์สนามหญ้าเทียม’

‘หญ้าเทียม’ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Artificial Turf ทำจากวัสดุ Polyethylene (PE) มีความเหนียว และยืดหยุ่น ทนต่อการกรอบแตก เพราะต้องโดนทั้งแดด และฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนามฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ต้องเผชิญกับหิมะ และลมแรงมากด้วย จึงต้องใช้ ‘หญ้าเทียม’ ที่ทนทานเป็นพิเศษ

‘สนามหญ้าเทียม’ ดูแลรักษาง่าย เพราะไม่มีแมลงมากวนใจ ไม่ต้องห่วงว่าหญ้าจะเหี่ยว สีจะซีดเหลือง ใบหญ้าจะงอก เพราะ ‘หญ้าเทียม’ ทำจากพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อายุการใช้งานของ ‘หญ้าเทียม’ ยาวนานมาก บางยี่ห้อใช้ได้ถึง 8 ปีสบาย ๆ

ในปัจจุบัน ‘หญ้าเทียม’ ที่เห็นกันทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็น Polypropylene (PP) ที่นิยมใช้ตกแต่งสถานที่ Indoor หรือ Outdoor แบบมีหลังคา โดนแดดได้รำไร ซึ่งใช้งานกันในวงกว้าง

แต่ในยุค 80s คำว่า ‘หญ้าเทียม’ เป็นอะไรที่ใหม่มากในตอนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการนำ ‘หญ้าเทียม’ มาปูในสนามฟุตบอลแทน ‘หญ้าจริง’ ที่อยู่คู่กับกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

 

นี่คือคำจัดความ ‘หญ้าเทียม’ ของสโมสร ‘ลูตั้น ทาวน์’

อันที่จริง ไม่ได้มีแต่ ‘ลูตัน ทาวน์’ ที่ใช้ ‘สนามหญ้าเทียม’ เพราะยังมีอีกทีมหนึ่งซึ่งก็ใช้ ‘หญ้าเทียม’ เช่นเดียวกัน นั่นคือ ‘ควีนส์ ปาร์ค เรนเจอร์ส’

แต่เพราะความโด่งดัง และการที่ ‘ควีนส์ ปาร์ค เรนเจอร์ส’ มีฉายาให้เรียก คือ ‘ทหารเสือราชินี’ อยู่แล้ว

และเพราะ ‘ลูตัน ทาวน์’ ไม่โด่งดังเท่า ‘ควีนส์ ปาร์ค เรนเจอร์ส’ และฉายาเดิมก็จืด ๆ คือ ‘ช่างทำหมวก’ หรือ The Hatters ก็เลยมีคนตั้งสมญานามให้ ‘ลูตัน ทาวน์’ ใหม่ ว่าเป็น ‘สิงห์สนามหญ้าเทียม’

ในยุค 80s ไม่ว่าสโมสรเล็กหรือใหญ่ จะโชว์ฟอร์มดีแค่ไหนก็ตาม หากไปเยือน ‘ลูตัน ทาวน์’ เมื่อไหร่ เป็นได้ม้วนเสื่อกลับออกมาแทบทุกราย

เคยมีกลุ่มแฟนบอลพันธุ์แท้ ‘ลูตัน ทาวน์’ ได้แอบนำ ‘หญ้าเทียม’ จากเมื่อครั้งรื้อพื้นสนาม เพื่อเปลี่ยนเป็น ‘หญ้าจริง’ สะสมไว้เป็นคอลเลคชั่นที่หาดูได้ยาก เป็นบทพิสูจน์ฉายา ‘สิงห์สนามหญ้าเทียม’ ที่เคยมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

 

สัมผัสที่แตกต่าง ระหว่าง ‘หญ้าจริง’ กับ ‘หญ้าเทียม’

แฟน The People ที่เป็นนักฟุตบอล และเคยลงเล่นทั้งใน ‘สนามหญ้าจริง’ และ ‘สนามหญ้าเทียม’ คงเคยสัมผัสถึง ‘ความแตกต่าง’ ได้เป็นอย่างดี

แต่ท่านที่ไม่เคยเตะฟุตบอลก็ขออธิบายสัมผัสที่แตกต่างย่อ ๆ ดังนี้

ข้อแรก ลักษณะการเคลื่อนที่ของลูกฟุตบอลบน ‘สนามหญ้าเทียม’ ลูกบอลจะกลิ้งบนพื้นในอัตราที่รวดเร็วกว่า ‘สนามหญ้าจริง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเด้งของลูกฟุตบอลใน ‘สนามหญ้าเทียม’ จะกระดอนสูงกว่า ‘สนามหญ้าจริง’

ข้อสอง ลีลาการวิ่งของนักฟุตบอลบน ‘สนามหญ้าเทียม’ จะต้องระมัดระวังตัวมากกว่า ‘สนามหญ้าจริง’ เหตุผลคือ ลูกฟุตบอลจะเคลื่อนที่เร็ว ทำให้นักบอลต้องเคลื่อนที่เร็วตาม ส่วนการสปีดนั้น แม้ว่าใน ‘สนามหญ้าเทียม’ จะทำได้ดีกว่า ทว่า การหยุดหรือเบรกตัวบน ‘สนามหญ้าเทียม’ ต้องใช้พละกำลัง และแรงยึดหัวเข่ามากกว่า ‘สนามหญ้าจริง’ ส่วนการสปริงตัวนั้น ‘สนามหญ้าจริง’ กลับทำได้ดีกว่า ‘สนามหญ้าเทียม’

ข้อที่สาม ‘สนามหญ้าเทียม’ ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายกว่า ‘สนามหญ้าจริง’ เนื่องจาก ‘หญ้าเทียม’ ทำจากพลาสติก ที่แม้จะยืดหยุ่น ทว่า ก็มีความแข็ง และคม การลื่นล้มจะทำให้เกิดบาดแผลได้ง่ายกว่า ‘สนามหญ้าจริง’ อีกทั้งด้วยความเร็วของลูกฟุตบอล ทำให้เกมเร็วตามไปด้วย ร่างกาย และอวัยวะต่าง ๆ ของนักฟุตบอลต้องทำงานหนักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อเท้า กล้ามเนื้อ และเอ็น

ข้อสุดท้าย รองเท้าสตั๊ดที่แตกต่าง การเล่นฟุตบอลบน ‘สนามหญ้าเทียม’ จะต้องใช้รองเท้าฟุตบอล หรือ ‘สตั๊ด’ แบบ ‘ปุ่มสั้น’ และมี ‘จำนวนปุ่ม’ ที่ ‘มากกว่า’ รองเท้า ‘สตั๊ด’ ปกติ ที่ใช้กับ ‘สนามหญ้าจริง’

นี่คือข้อได้เปรียบของ ‘ลูตัน ทาวน์’ ที่ทำให้สโมสรชั้นนำต้องปวดหัวยามมาเยือนสนาม Kenilworth Road ที่นอกจากต้องปรับวิธีการเล่นแล้ว ยังต้องหารองเท้าให้เหมาะสมกับการลงเตะใน ‘สนามหญ้าเทียม’ อีกด้วย

 

‘หงส์แดง’ ที่ว่าแน่ในยุค 80s ยังต้องม้วนเสื่อ

การที่ ‘ลูตัน ทาวน์’ ได้รับฉายาว่า ‘สิงห์สนามหญ้าเทียม’ ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากใครที่ได้ไปเยือน Kenilworth Road สนามเหย้าของเจ้าบ้าน ‘ลูตัน ทาวน์’ แล้ว มีอันต้องหงายเก๋งออกไป ส่วนใหญ่ไม่เสมอ ก็แพ้!

Kenilworth Road จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘สนามปราบเซียน’ ไปโดยปริยาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุค 80s ที่ต้องโคจรมาเยือน ‘ลูตัน ทาวน์’ มักจะต้องเจอทีเด็ดที่สนามแห่งนี้เป็นประจำ ตัวอย่างสำคัญก็คือ ‘หงส์แดง’ แห่งยุค 80s ที่กำลังรุ่งเรืองสุดขีด เวลามาเยือน Kenilworth Road ทีไร จำต้องม้วนเสื่อกลับ ‘แอนฟิลด์’ เป็นประจำ!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ไอ้ปืนใหญ่’ อาร์เซนอล ได้ลิ้มรสความพ่ายแพ้แก่ ‘ลูตัน ทาวน์’ ในนัดชิงชนะเลิศ ‘ลีกคัพ’ ฤดูกาล 1987/1988 ที่สมัยนั้นเรียกว่า Littlewoods Challenge Cup ฤดูกาล 1987/1988 หรือ ‘คาราบาวคัพ’ ในปัจจุบัน แม้ว่าจะชิงกันที่สนามเวมบลีย์ก็ตาม

ทว่า กว่าจะฝ่าฟันมาถึงนัดชิงได้ หลายทีมต้องเผชิญหน้ากับ ‘ลูตัน ทาวน์’ ที่ Kenilworth Road  ‘สนามหญ้าเทียม’ บันลือโลก ทำให้นักเตะชั้นนำสะบักสะบอมจนกรอบเป็นข้าวเกรียบ และทำให้ ‘ลูตัน ทาวน์’ ได้เปรียบจากสภาพความสด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นทีม Underdog ทำให้ ‘ไอ้ปืนใหญ่’ เล่นติดประมาท ทำให้พลาดพลั้งในที่สุด!

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ยุค 80s เป็นช่วงเวลาเฟื่องฟูที่สุดของ ‘ลูตัน ทาวน์’ นับตั้งแต่ขึ้นชั้นมาสู่ลีกสูงสุด หรือดิวิชั่น 1 ของอังกฤษในฤดูกาล 1982/83 ‘ลูตัน ทาวน์’ สามารถยืนหยัดต่อกรกับสโมสรเขี้ยวลากดินได้นานถึง 10 ฤดูกาล ที่นอกจากจะคว้าแชมป์ ‘ลีกคัพ’ ได้ในฤดูกาล 1987/1988 แล้ว ยังทำอันดับได้สูงถึงที่ 7 ในฤดูกาล 1986/87 นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากสำหรับทีมขนาดเล็กอย่าง ‘ลูตัน ทาวน์’ ในสมัยนั้น

 

‘ช่างทำหมวก’ สูงสุดคืนสู่สามัญ

ฉายาเก่าแก่ของ ‘ลูตั้น ทาวน์’ คือ ‘ช่างทำหมวก’ หรือ The Hatters มีที่มาจากการที่ ‘ลูตัน’ ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ เหนือจากกรุงลอนดอนประมาณ 30 ไมล์ มีอุตสาหกรรมดั้งเดิมใหญ่ ๆ สองอย่างที่แตกต่างกัน นั่นคือ ‘อุตสาหกรรมรถยนต์’ และ ‘อุตสาหกรรมผลิตหมวก’

‘อุตสาหกรรมรถยนต์’ นั้น ถือว่าธรรมดา เพราะเมืองอื่น ๆ ก็มีการผลิตรถยนต์ แต่ ‘อุตสาหกรรมหมวก’ ถือเป็นเรื่องพิเศษของ ‘ลูตัน’ จากปริมาณการผลิตหมวกมากเป็นอันดับหนึ่งของเกาะอังกฤษ ทำให้ ‘ลูตัน ทาวน์’ สโมสรฟุตบอลประจำ ‘เมืองลูตัน’ ได้รับสมญานามว่า The Hatters หรือ ‘ช่างทำหมวก’

ตอนก่อตั้งสโมสรใหม่ ๆ ด้วยความที่ทุนรอนไม่ค่อยจะมี เพราะไม่ใช่ทีมเศรษฐีเงินถุงเงินถัง การระดมทุนก่อร่างสร้างสโมสรจึงตกเป็นภาระของชาวเมืองที่เป็นคนงานโรงงานทำหมวก และโรงงานผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฟนบอลในยุคก่อตั้งที่รวมสองสโมสรดั้งเดิมของ ‘เมืองลูตัน’ เข้าด้วยกันคือ ‘ลูตัน วันเดอร์เรอร์ส’ และ ‘ลูตัน เอ็กเซลซิเออร์’ ในปี ค.ศ. 1885 หรือเมื่อ 138 ปีก่อน

ในส่วนของผลงานในสนามนั้น เรียกได้ว่า ‘ลูตัน ทาวน์’ ระหกระเหินสะเทินน้ำสะเทินบก สัมผัสมาแล้วทุกรสชาติของชีวิต เริ่มตั้งแต่ตั้งไข่ในดิวิชั่น 2 ก่อนจะขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างดิวิชั่น 2 กับดิวิชั่น 3 ในยุค 1920-1940 ขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 ครั้งแรกยุค 1950 จากนั้นค่อย ๆ ตกต่ำดำดิ่งลงไปเรื่อย ๆ จากดิวิชั่น 1 ลงไปดิวิชั่น 2 ลงไปดิวิชั่น 3 และดิ่งลงไปถึงดิวิชั่น 4 ในยุค 1960

จากนั้นยุค 1970 ‘ลูตัน ทาวน์’ ค่อยไต่ระดับกลับขึ้นมาจากดิวิชั่น 4 มาดิวิชั่น 3 มาดิวิชั่น 2 และก้าวสู่ดิวิชั่น 1 ในยุค 1980 และโลดแล่นอยู่ในดิวิชั่น 1 ยาวนานถึง 10 ฤดูกาล ก้าวสู่อันดับสูงสุดคืออันดับ 7 ในฤดูกาล 1986/87 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคว้าแชมป์ ‘ลีกคัพ’ ได้ในฤดูกาล 1987/1988

จากนั้น ‘ลูตัน ทาวน์’ เผชิญหน้ากับมรสุมชีวิตอีกครั้ง จากการตกจากดิวิชั่น 1 ลงไปดิวิชั่น 2 ลงไปดิวิชั่น 3 และดิ่งลงไปถึงดิวิชั่น 4 ในยุค 1990 แม้จะไต่กลับมาดิวิชั่น 3 และ 2 ได้อีกครั้งในยุค 2000 ทว่า ก็เป็นแค่ช่วงสั้น ๆ ก่อนที่จะดำดิ่งจากไปดิวิชั่น 2 ลงไปดิวิชั่น 3 ลงไปดิวิชั่น 4 และ ‘ออกนอกลีก’ ในยุค 2010

 

ฟ้าหลังฝนงามตา ความมืดโรยรา มลายหายพลัน

กราฟชีวิตที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของ ‘ลูตัน ทาวน์’ มาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากฟอร์มการเล่นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากความอัตคัดขัดสนด้านทุนทรัพย์ ทำให้ไม่มีนักเตะระดับซุป’ตาร์ที่จะช่วยประคองทีม และขับเคลื่อนสโมสรสู่ความยิ่งใหญ่

ยังมีเงื่อนงำหลายประการที่ทำให้ ‘ลูตัน ทาวน์’ ถูกตัดแต้มถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก 10 คะแนน และครั้งหลังสุด 30 แต้ม ทำให้ทีมต้องจมปลักอยู่ในดิวิชั่นต่ำ หรือ ‘ลีกล่าง’ เป็นเวลาหลายปี จากข้อหาติดสินบนเอเจนต์นักเตะทั้งสองครั้ง!

แต่ด้วยเลือดนักสู้ของ ‘คนทำหมวก’ ที่เป็นแรงงานผู้อดทน มุ่งมั่น ร่วมกันผลักดันทีมให้ฟื้นคืนสู่ความยิ่งใหญ่ ยกตัวอย่างในช่วงต้นทศวรรษ 2020 มีการก่อตั้งกลุ่ม Luton Town 2020 เพื่อเข้ามาบริหารสโมสรแทนกลุ่มผู้บริหารผู้ฉ้อฉล

หรือจะเป็นการติดตามเชียร์ และให้กำลังใจ ไม่ว่าทีมจะออกไปถึง ‘นอกลีก’ หรือตกไปอยู่ดิวิชั่นต่ำ (ลีกล่าง) ไล่ตั้งแต่ดิวิชั่น 4 ดิวิชั่น 3 ดิวิชั่น 2 หรือในช่วงเวลาที่สโมสรประสบความสำเร็จบนลีกสูงสุดของเกาะอังกฤษ หรือดิวิชั่น 1 แฟนบอล ‘ลูตัน ทาวน์’ ไม่เคยทิ้งทีมรักไปไหน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสโมสรฝ่าคลื่นลมวิกฤตการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนล่าสุดในฤดูกาล 2022/2023 ที่ทีมทำอันดับได้ถึงที่ 3 ได้สิทธิ์เพลย์ออฟเพื่อขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2023/2024 ที่ได้ฟาดฟันกับ ‘ช้างกระทืบโรง’ หรือ ‘โคเวนทรี ซิตี้’ จนประสบผลสำเร็จ ได้เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งในรอบ 31 ปี!

คราวนี้ แม้ฉายา ‘สิงห์สนามหญ้าเทียม’ จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 เมื่อสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ประกาศยกเลิกการอนุญาตให้ใช้ ‘สนามหญ้าเทียม’ ทว่า สมญานาม ‘สิงห์สนามหญ้าเทียม’ ยังคงติดตาตรึงใจแฟนบอลอังกฤษที่นอกจากจะฉายภาพความพิเศษของสนามแล้ว ความพิเศษของเลือดนักสู้ในตัวแฟนบอล และนักฟุตบอล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวเมือง ‘ลูตัน’ ได้ขจรขจายไปไกลแสนไกล ตราบนานเท่านาน โดยที่ไม่มีใครสามารถลบล้างประวัติศาสตร์ได้

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ: เอียน รัช ศูนย์หน้าของลิเวอร์พูล ในเกมกับลูตัน ทาวน์ ประกอบกับฉากหลังเป็นสนามเหย้าของลูตัน ทาวน์ ในยุค 2000s ไฟล์จาก Getty Images