‘ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน’ ยอดดาวยิงขวัญใจแฟนบอลไทยตลอดกาล กับชีวิตสุดโลดโผน

‘ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน’ ยอดดาวยิงขวัญใจแฟนบอลไทยตลอดกาล กับชีวิตสุดโลดโผน

‘ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน’ ยอดดาวยิงขวัญใจแฟนบอลไทยตลอดกาล กับชีวิตสุดโลดโผน พาไทยล้มญี่ปุ่น ได้แชมป์ลีกเกาหลีใต้ ถึงยุคฟอร์มตก และการสาบานที่วัดพระแก้ว เขาคือตำนานที่มีลมหายใจ

  • เดอะตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน สมัยที่เป็นนักเตะถือว่าเป็นอีกหนึ่งยอดดาวยิงที่สร้างผลงานไว้มากมาย ตั้งแต่ไปค้าแข้งต่างแดน และคว้าแชมป์ลีกเกาหลีใต้ 
  • ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไม่ต่างจากนักกีฬาคนอื่นที่มีช่วงรุ่งเรืองและตกต่ำของตัวเอง ช่วงฟอร์มตก เขาเคยต้องไปสาบานที่วัดพระแก้วเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจของตัวเอง
  • ภายหลังจากแขวนสตั๊ด ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ยังทำงานเกี่ยวข้องกับฟุตบอลเป็นครั้งคราว และเคยประกาศตัวพร้อมทำงานบริหารสมาคมฟุตบอลฯ 

หากจะเอ่ยถึงนักฟุตบอลทีมชาติไทยสักคนที่จัดว่าเป็นระดับตำนานของวงการลูกหนังไทย หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ ‘เดอะ ตุ๊ก’ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ยอดกองหน้าดาวยิงรวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เส้นทางชีวิตลูกหนังของเจ้าตัวนั้นน่าสนใจอยู่ไม่น้อยทั้งการเล่นในระดับสโมสรและทีมชาติไทย เป็นนักเตะไทยคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศเกาหลีใต้หรือเคลีกได้

ในด้านการรับใช้ทีมชาติไทย ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน คือกองหน้าคนสำคัญที่พาทีมชาติไทยไปยืนหนึ่งในระดับอาเซียนด้วยการคว้าเหรียญทองซีเกมส์ได้หลายสมัย และเจ้าตัวยังเป็นผู้ซัดแฮตทริกใส่ทีมชาติญี่ปุ่นในการแข่งขันฟุตบอลปรี-โอลิมปิก ปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) โดยผลการแข่งขันในครั้งนั้นทีมชาติไทยสามารถเอาชนะญี่ปุ่นไปได้ 5-2 จนเป็นที่กล่าวถึงมาจนทุกวันนี้ 

เรื่องราวของปิยะพงษ์ ผิวอ่อน มีมากมายหลากหลายรสชาติ เพราะเจ้าตัวเป็นคนมากความสามารถในยุคที่ฟอร์มการเล่นโด่งดังถึงขีดสุด ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน รับบทบาทเป็นทั้งนักฟุตบอล นักแสดง นักร้อง และพิธีกร กล่าวได้ว่าเป็นคนมีพรสวรรค์สามารถเป็นได้ทั้งนักกีฬาและบุคลากรในวงการบันเทิง บทความนี้จะพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวของกองหน้าฉายา ‘เพชฌฆาตหน้าหยก’ คนนี้ในละเอียดลึกซึ้งกันครับ

สร้างชื่อกับสโมสรทหารอากาศ

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เริ่มต้นค้าแข้งกับสโมสรทหารอากาศโดยเล่นในทีมทหารอากาศชุดเยาวชนก่อนที่จะถูกดันขึ้นชุดใหญ่อย่างรวดเร็ว โดยเจ้าตัวติดทีมสโมสรทหารอากาศชุดฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ก และพาต้นสังกัดคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศได้ พร้อมกับตัวปิยะพงษ์ ผิวอ่อน สามารถคว้ารางวัลดาวซัลโวหรือผู้ทำประตูสูงสุดของรายการด้วยเพียง 17 ปี ผลงานในครั้งนั้นทำให้ชื่อเสียงของเจ้าตัวโด่งดังและเป็นที่รู้จักของสื่อมวลชนและแฟนฟุตบอลชาวไทย 

ช่วงปี ค.ศ. 1980-1984 (พ.ศ. 2523-2527) ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน คว้าแชมป์ฟุตบอลรายการต่าง ๆ ในเมืองไทยทั้งฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ก และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์ คัพ กับสโมสรทหารอากาศ อีกทั้งสามารถครองรางวัลดาวซัลโวได้ทุกรายการ 

จากนั้นปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เริ่มมองหาความท้าทายใหม่ด้วยการย้ายไปค้าแข้งในฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศเกาหลีใต้หรือเคลีก (K League) และมาเลเซียน ลีก (Malaysian League) ในช่วงปี ค.ศ. 1984-1989 (พ.ศ. 2527-2532)

หลังจากนั้นปิยะพงษ์ ผิวอ่อนก็กลับมารับใช้ต้นสังกัดอย่างสโมสรทหารอากาศลงแข่งขันฟุตบอลรายการต่างๆ อีกราว 8 ปีก่อนที่จะประกาศแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการ

ประสบการณ์แดนกิมจิ

ปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) หลังจากที่ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน สามารถทำผลงานได้ดีกับสโมสรทหารอากาศและทีมชาติไทยจนเป็นที่จับตามมอง โดยเฉพาะในการแข่งขันฟุตบอลปรี-โอลิมปิก ที่ทีมชาติไทยสามารถเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่นไปได้ 5-2 เจ้าตัวก็เป็นคนทำแฮตทริกสร้างประวัติศาสตร์ให้ทีมชาติไทย

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ได้รับความสนใจจากโค้ชของทีมชาติเกาหลีใต้ที่เดินทางมาแข่งฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ถึงขนาดกล่าวว่าทักษะความสามารถของกองหน้าไทยรายนี้น่าจะไปเล่นฟุตบอลลีกที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ เมื่อได้ยินดังนั้น อาจารย์ ประวิทย์ ไชยสาม จึงได้ทำการปรึกษากับปาร์ค ยอง แบ ผู้สื่อข่าวพิเศษชาวเกาหลีใต้ เพื่อพยายามผลักดัน ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไปเล่นฟุตบอลลีกอาชีพยังดินแดนกิมจิ

สโมสรลัคกี้ โกลด์สตาร์ หรือปัจจุบันก็คือเอฟซี โซล เป็นสโมสรที่ตกลงคว้าตัวปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไปร่วมทีมโดยให้เงินเดือนประมาณ 1 แสนบาทไม่รวมเบี้ยเลี้ยงซ้อมและโบนัส ซึ่งในช่วงแรกของการไปค้าแข้งกับสโมสรลัคกี้ โกลด์สตาร์นั้น เจ้าตัวต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เพราะฟุตบอลลีกของประเทศเกาหลีใต้ได้เริ่มปรับตัวเป็นลีกอาชีพ

การฝึกซ้อมที่นั่นเป็นไปอย่างเข้มข้นและจริงจังกว่าที่ประเทศไทยมาก ในแต่ละวัน นักฟุตบอลของสโมสรจะต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก อย่างเช่นการวิ่งสปรินท์ 100 เมตร 20 ครั้ง ซึ่งการฝึกซ้อมอย่างหนักในแต่ละวันทำให้กองหน้าชาวไทยเกิดความท้อแท้และคิดถึงบ้านเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องอดทนเพราะนี่คือฟุตบอลอาชีพ หากเจ้าตัวสามารถประสบความสำเร็จได้ นั่นหมายชื่อเสียงและเงินรายได้จะตามมาอีกมาก 

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อนไปร่วมทีมลัคกี้ โกลด์สตาร์ในช่วงปลายฤดูกาล 1984 จึงยังไม่ค่อยมีโอกาสลงสนามมากนักในช่วงแรก เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการฝึกซ้อมและปรับตัวสำหรับฤดูกาลถัดไป

ฤดูกาล 1985 ปิยะพงษ์ ผิวอ่อนเริ่มได้รับความไว้วางใจให้ลงสนามซึ่งเจ้าตัวสามารถทำผลงานได้อย่างโดดเด่นจนจบฤดูกาลของฟุตบอลเคลีกด้วยตำแหน่งดาวซัลโว โดยยิงประตูไปทั้งสิ้น 12 ประตู จากการลงสนามทั้งสิ้น 21 นัด นอกจากนี้ ยังคว้ารางวัลผู้ผ่านบอลให้เพื่อนร่วมทีมทำประตูสูงสุดหรือ Top Assist Provider อีกด้วย

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ถูกจัดให้เป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมหรือ Best XI ในฤดูกาลดังกล่าวพร้อมกับตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลเคลีกของเจ้าตัวและสโมสรลัคกี้ โกลด์สตาร์ เป็นนักฟุตบอลสัญชาติไทยคนแรกที่มาเล่นฟุตบอลเคลีก และเป็นคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลเคลีกได้

 

เซ็นสัญญากับอันเดอร์เลชท์ ยอดทีมเบลเยียม

หลังจากปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เล่นฟุตบอลเคลีกไปกว่า 2 ฤดูกาลครึ่ง เจ้าตัวก็หมดสัญญากับสโมสรลัคกี้ โกลด์สตาร์ในปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) ซึ่งทางสโมสรต้องการจะต่อสัญญาออกไป โดยเพิ่มค่าจ้างให้กว่าเท่าตัว แต่ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เลือกที่จะปฏิเสธ เจ้าตัวต้องการกลับมายังประเทศไทยเพราะรู้สึกว่ารายได้ที่ได้รับสะสมมาจากการเล่นฟุตบอลเคลีกนั้นเพียงพอแล้ว เงินเก็บหลักล้านบาทในยุคสมัยนั้นถือว่าไม่ธรรมดา

เมื่อปิยะพงษ์ ผิวอ่อน กลับถึงประเทศไทยได้ไม่นาน สโมสรอันเดอร์เลชท์ ยอดทีมจากประเทศเบลเยียมก็ติดต่อเข้ามาเพื่อต้องการที่จะคว้าตัวกองหน้าไทยไปร่วมทีม และการเจรจาก็บรรลุผลเป็นอย่างดี เจ้าตัวตัดสินใจเซ็นสัญญากับตัวแทนของสโมสรอันเดอร์เลชท์ ที่โรงแรมราชา โดยได้รับค่าตัวกว่า 3 ล้านบาท 

แต่เรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาขึ้นเครื่องปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไม่ยอมไปตามนัดเพียงเพราะคิดว่าการไปเล่นยังลีกเบลเยียมเจ้าตัวจะต้องไปใช้ชีวิตที่โดดเดี่ยว สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะและประวัติศาสตร์ลูกหนังไทยก็อดเล่าเรื่องกองหน้าไทยในฟุตบอลลีกเบลเยียม

 

พาทีมชาติไทยเป็นแชมป์ซีเกมส์ 5 สมัย

สำหรับผลงานกับทีมชาติไทย ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน คือหนึ่งในนักเตะชุดปฏิบัติการทวงแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) ณ ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ โดย 2 ครั้งก่อนหน้านี้ทีมชาติไทยเราพลาดหวังมา และเจ้าตัวก็โชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมตลอดการลงสนามทั้ง 4 นัดสามารถยิงประตูได้ทั้งสิ้น 7 ประตู โดยเจ้าตัวยิงได้ทุกนัดที่ลงสนามพร้อมทั้งครองตำแหน่งดาวซัลโวและพาทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ

โดยผลงานสำคัญคือการพาทีมชาติไทยชนะอินโดนีเซีย 2-1 ในรอบรองชนะเลิศ และปราบมาเลเซียในรอบชิงชนะเลิศด้วยสกอร์เดียวกัน โดยประตูทั้งหมดที่เกิดขึ้นใน 2 นัดสำคัญนี้ก็มาจากเจ้าตัว จนทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษของซีเกมส์ทำบทความยกย่องในความเก่งกาจของปิยะพงษ์ ผิวอ่อน

ซีเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) ณ ประเทศสิงคโปร์ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ยังคงเป็นกำลังสำคัญในภารกิจป้องกันแชมป์และก็สามารถยิงประตูไปได้ 5 ประตูจากนัดชนะอินโดนีเซียและบรูไนในรอบแรกโดยเจ้าตัวยิงประตูได้นัดละ 2 ประตู จากนั้นก็มายิงอีกหนึ่งประตูเอาชนะเจ้าภาพสิงคโปร์ในรอบชิงชนะเลิศ 2-1 ส่งให้ทีมชาติไทยสามารถป้องกันแชมป์ซีเกมส์เอาไว้ได้

ซีเกมส์ครั้งที่ 13 ปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ขุนพลทีมชาติไทยมีเป้าหมายที่จะคว้าแชมป์ซีเกมส์ให้ได้ 3 สมัยติดต่อกัน และปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ยังคงเป็นกำลังสำคัญของทีมโดยสามารถทำได้ 5 ประตูจากการลงสนาม 4 นัด และทีมชาติไทยก็สามารถคว้าแชมป์ซีเกมส์เป็นสมัยที่ 5 และเป็นการคว้าแชมป์แบบ 3 สมัยติดต่อกันนับเป็นยุครุ่งเรืองของทีมชาติไทยในเวทีระดับอาเซียน

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ยังคงติดทีมชาติไทยในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 14 ปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) และครั้งที่ 15 ปี ค.ศ.1989 (พ.ศ. 2532) แต่เป็นยุคที่ทีมชาติไทยชวดเหรียญทอง โดยในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 15 บนแผ่นดินมาเลเซียนั้น รอบรองชนะเลิศขุนพลจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต้องพ่ายแพ้แก่เจ้าถิ่นไป 0-1 ก่อนที่จะจบด้วยอันดับที่ 4 

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน กลายเป็นแพะรับบาปจากผลงานในครั้งนั้น ข้อกล่าวหาว่าเจ้าตัวล้มบอลดังขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีการแถลงข่าวยืนยันความบริสุทธิ์ของเจ้าตัวโดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์แต่ก็ยังไม่สามารถลดกระแสแรงเสียดทานได้จนในท้ายที่สุดต้องมีการนำปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไปสาบานกันที่วัดพระแก้ว

เจ้าตัวหายหน้าไปจากทีมชาติไทยช่วงเวลาหนึ่งก่อนจะมาเป็นกำลังสำคัญในการทวงบัลลังก์แชมป์ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 17 ปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยในครั้งนี้เจ้าตัวลงสนามไป 6 นัดและยิงได้ 5 ประตู ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน มีส่วนสำคัญในการพาทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองซีเกมส์ได้อีกครั้งและเป็นเหรียญทองที่ 4 ของตัวเอง

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน มีชื่อติดทีมชาติชุดซีเกมส์อีกครั้งในช่วงท้ายของอาชีพค้าแข้ง โดยเจ้าตัวเป็นกำลังเสริมสำคัญในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 19 ปี ค.ศ.1997 (พ.ศ. 2540) ณ ประเทศอินโดนีเซีย และสามารถคว้าเหรียญทองสมัยที่ 5 ของตัวเองได้เป็นการอำลาเวทีซีเกมส์อย่างสวยงาม

 

อาสาเป็นประธานเทคนิคพาทีมชาติไทยไปบอลโลก

หลังจากถอยห่างจากบทบาทนักฟุตบอล อดีตศูนย์หน้ายังทำงานในวงการมีทั้งทำคอนเทนต์ร่วมกับลูกชาย หรืองานนักวิจารณ์เกมลูกหนังในแมตช์ถ่ายทอดสด เรียกได้ว่ายังคงคลุกคลีกับงานหน้าจอไม่ว่าจะเป็นสายกีฬาไปจนถึงงานแนวบันเทิง 

ในช่วงปลายปี 2565 ท่ามกลางคำถามจากแฟนบอลที่มีต่อผลงานทีมชาติไทย โดยเฉพาะความสำเร็จในระดับนานาชาติ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ประกาศอาสาจะมาช่วยงานสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเจ้าตัวสนใจที่จะเป็นประธานเทคนิคเพื่อพัฒนาฟุตบอลไทยทั้งระบบอย่างถูกต้อง โดยหากได้รับโอกาสก็เชื่อว่าจะพาทีมชาติไทยไปฟุตบอลโลกได้ภายในระยะเวลา 4 ปี 

คำถามต่อทีมชาติไทยนั้น แม้แต่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เอ่ยปากว่า หากผลงานในซีเกมส์ครั้งนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ก็ต้องลาออก ซึ่งนั่นย่อมโยนความกดดันให้กับสมาคมฯ ไปอีก เมื่อมาถึงตรงนี้จึงเกิดคำถามขึ้นว่าสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยจะตอบรับคำอาสาของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหรือไม่

 

ตำนานตลอดไป

แม้ทุกวันนี้ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน จะอำลาสนามไปแล้ว และมีนักฟุตบอลหน้าใหม่เกิดขึ้นมามากมาย แต่ผลงานที่เจ้าตัวสร้างไว้ทั้งในนามทีมชาติไทย หรือในระดับสโมสรทั้งการไปเล่นลีกอาชีพที่ประเทศเกาหลีใต้และมาเลเซีย หรือการคว้าแชมป์ต่าง ๆ ร่วมกับสโมสรทหารอากาศ จะเป็นตำนานและเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลไทย

เรื่องบางเรื่องก็สามารถเตือนสตินักฟุตบอลรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี ขณะที่เรื่องหลายเรื่องก็คือแรงบันดาลใจอันยอดเยี่ยมจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง

แล้วคุณละ มองเห็น ‘เพชฌฆาตหน้าหยก’ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน คนนี้เป็นแบบไหน?

 

เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (แฟนพันธุ์แท้เอเชียนเกมส์)

ภาพ: Facebook/TOOKPIYAPONGFANPAGE

อ้างอิง: 

คมกฤช นภาลัย. 101 แมทช์ ย้อนรอยลูกหนังซีเกมส์. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2550.

Jackie. “เดอะ ตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน.