‘โรมาโน ฟลอริอานี’ นักเตะดาวรุ่ง เหลนของ ‘มุสโสลินี’ ที่ต้องฝ่าฟันตราบาปของบรรพบุรุษ

‘โรมาโน ฟลอริอานี’ นักเตะดาวรุ่ง เหลนของ ‘มุสโสลินี’ ที่ต้องฝ่าฟันตราบาปของบรรพบุรุษ

‘โรมาโน ฟลอริอานี มุสโสลินี’ เหลนของ ‘มุสโสลินี’ เผด็จการทหารในอดีต ในวันนี้ เขาคือนักเตะดาวรุ่งในโลกลูกหนังอิตาลี ต้องฝ่าฟันตราบาปของบรรพบุรุษ ควบคู่ไปกับพัฒนาฝีเท้าเพื่อล่าฝันของตัวเอง

  • ‘โรมาโน ฟลอริอานี มุสโสลินี’ นักฟุตบอลดาวรุ่งของอิตาลี เป็นเหลนของ ‘มุสโสลินี’ เผด็จการทหารในอดีต
  • ‘โรมาโน’ ไม่เพียงต้องพัฒนาฝีเท้าของตัวเอง แต่ต้องฝ่าฟันตราบาปจากบรรพบุรุษที่ยังฝังในความทรงจำของผู้คนบางกลุ่ม

แม้ว่าการเอ่ยชื่อ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ จะไม่มีผลสะท้อนสะเทือนกลับมาอย่างรุนแรงเทียบเท่า ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ แต่หากมีใคร หรืออะไรก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับชื่อ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ ก็อาจกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในมุมมองของคนจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

‘เบนิโต มุสโสลินี’ คือผู้นิยมลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) หรือลัทธินิยมเผด็จการทหารที่ยึดแนวทางชาตินิยมของอิตาลี สังหารผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม ขณะที่ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ เป็นผู้ก่อสงครามที่สะเทือนคนทั้งโลก

ผู้คนไม่อยากจะเอ่ยถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องใด ๆ กับชื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จากความเหี้ยมโหดที่เขากระทำกับมนุษย์ด้วยกัน ไม่ต่างจากพฤติกรรมของ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ แม้ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ จะโด่งดังกว่าเมื่อเทียบกับ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ แต่ทั้งคู่ก็เป็นจอมเผด็จการเหมือนกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่อิตาลี หากใครเอ่ยชื่อ หรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ จะต้องถูกจับตามอง หรือไม่ก็เมินหน้าหนี ไม่อยากเกี่ยวข้องกับกิจกรรมใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นเลย แม้จะเป็นเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือการทหาร อย่างเรื่องราวในวงการฟุตบอลก็ตามที

ประวัติของ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์

‘เบนิโต มุสโสลินี’ เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1883 ที่ Dovia di Predappio เมืองเล็ก ๆ ทางภาคใต้ของอิตาลี ‘โรซา มัลโทนี’ มารดาของเขามีอาชีพเป็นคุณครูสอนหนังสือ ส่วน ‘อเลสซานโดร มุสโสลินี’ ผู้เป็นบิดาประกอบอาชีพช่างตีเหล็ก และเป็นฝ่ายซ้ายที่นิยมทฤษฎีสังคมนิยม

‘อเลสซานโดร’ เป็นผู้เล่าเรื่องราวของแนวคิดสังคมนิยมให้กับ ‘เบนิโต’ ซึ่งเป็นเด็กขี้อาย เข้าสังคมไม่เก่ง จนดูเหมือนเฉยชา เขาจึงถูกรังแกบ่อย และโต้กลับด้วยความรุนแรง ‘เบนิโต’ ในวัยหนุ่ม ได้ย้ายไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ และกลายเป็นนักสังคมนิยม โดยท้ายที่สุด เขากลับมาที่อิตาลี เพื่อประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยม

‘เบนิโต’ มีความเชื่อว่า สังคมไม่ควรแบ่งเป็นชนชั้น แต่ควรถูกจัดตั้งตาม ‘อัตลักษณ์แห่งชาติ’ อันแน่นแฟ้น เขาเชื่อว่ามีเพียง ‘เผด็จการผู้โหดเหี้ยม’ และ ‘เผด็จการผู้กระตือรือร้น’ เท่านั้น ที่จะสามารถ ‘จัดระเบียบอิตาลี’ และ ‘กอบกู้ศักดิ์ศรีของชาติ’ ให้กลับคืนมาได้โดยสมบูรณ์

นำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังเพื่อสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองของเขาในพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์สุดขั้วของอิตาลี โดยใช้เครื่องแบบสีดำเป็นสัญลักษณ์ประดุจดั่งมัจจุราช ยิ่ง ‘เบนิโต’ มีอำนาจมากขึ้นเท่าไร กองกำลังเสื้อสีดำก็ยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเท่านั้น

‘จักรวรรดิฟาสซิสต์’ ของ ‘เบนิโต’ มีพฤติกรรมที่โหดเหี้ยมสุดคณานับ เริ่มจากข่มขู่ผู้ไม่เห็นด้วย จนไปจบที่การใช้ความรุนแรงขั้นเอาชีวิตผู้อื่นเหมือนผักปลา!

นี่คือ ‘ตราบาป’ ที่ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ ได้สร้างไว้ให้กับคนอิตาลี และชาวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็น ‘ตราบาป’ ที่ส่งทอดมาถึงลูก หลาน และเหลนของเขาในวันนี้!

‘โรมาโน ฟลอริอานี มุสโสลินี’ ดาวรุ่งแห่งวงการฟุตบอลอิตาลี กับการฟันฝ่า ‘ตราบาป’ ของ ‘ทวด’

ข่าวใหญ่ในวงการฟุตบอลอิตาลีเมื่อหลายปีก่อน คือการที่ ‘ลาซิโอ’ สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งกรุงโรม คว้าเหลนของ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ อดีตผู้นำจอมเผด็จการเข้าสู่ทีม

ในครั้งนั้นอินทรีฟ้าขาวได้สร้างความฮือฮาด้วยการคว้าตัว ‘โรมาโน ฟลอริอานี มุสโสลินี’ ผู้มีศักดิ์เป็น ‘เหลน’ ของ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ เจ้าลัทธิฟาสซิสต์ เข้าสู่ทีมเยาวชนของสโมสร

นับตั้งแต่ ‘โรมาโน ฟลอริอานี มุสโสลินี’ ซึ่งเป็นผู้เล่นในตำแหน่งแบ๊คขวา ย่างเท้าเข้าสู่อะคาเดมีของลาซิโอ เขาก็มีชื่อติดทีมเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีของอินทรีฟ้าขาวแห่งกรุงโรมอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี การเซ็นสัญญาครั้งดังกล่าวได้สร้างให้เกิดความเห็นที่แตกต่างอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหันไปพิจารณาเรื่องราวในอดีต จากการที่พลพรรค ‘เบียงโคเซเลสติ’ หรือ ‘อินทรีฟ้าขาว’ อันเป็นฉายาของลาซิโอเคยมีประวัติขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาจัดในอดีต

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากประวัติศาสตร์อันสุดโหดเหี้ยมของ ‘คุณทวด’

เพราะ ‘โรมาโน ฟลอริอานี มุสโสลินี’ เป็นบุตรชายคนที่ 3 ของ ‘อเลสซานดรา มุสโสลินี’ หลานสาวของ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ อดีตผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ที่ปกครองอิตาลีในระหว่าง ค.ศ. 1922 -  1943

ในครั้งที่มีการเซ็นสัญญาเข้าสู่ทีมเยาวชนนั้น ‘อเลสซานดรา’ คุณแม่ของ ‘โรมาโน ฟลอริอานี’ ปฏิเสธความเชื่อมโยงเรื่องการจรดปากกาของบุตรชายหัวแก้วหัวแหวน กับเรื่องราวทางการเมือง โดยยืนยันว่า ลูกชายของตนสนใจแต่เรื่องฟุตบอลเท่านั้น

ขณะที่ ‘โรมาโน ฟลอริอานี’ เอง ได้เคยออกมาวิงวอนให้ทุกฝ่ายตัดสินเขาจาก ‘ฝีเท้า’ มากกว่าตัดสินจาก ‘นามสกุล’

‘โรมาโน ฟลอริอานี มุสโสลินี’ ระบุว่า “ขอให้ทุกคนตัดสินผมจากผลงานในสนาม ไม่ใช่ที่นามสกุลมุสโสลินี”

ล่าสุด ‘โรมาโน ฟลอริอานี มุสโสลินี’ ได้ก้าวขึ้นสู่ทีมลาซิโอชุดใหญ่เป็นที่เรียบร้อย โดยได้ประเดิมสนามด้วยการดวลกับสโมสร ‘เวโรนา’ บนสังเวียน ‘กัลโช่ เซเรีย อา’ หรือ ‘ลีกสูงสุดของอิตาลี’

โดย ‘โรมาโน ฟลอริอานี มุสโสลินี’ ได้จรดปากกาเซ็นสัญญาเป็นนักเตะอาชีพชุดใหญ่กับอินทรีฟ้าขาว จนถึง ค.ศ. 2024 หลังอยู่กับอคาเดมีหรือทีมเยาวชนของสโมสรมาตั้งแต่ ค.ศ. 2016

 

เปิดบัญชีแค้นส่งท้าย ‘ลาซิโอ’ VS ‘โรม่า’

จากที่กล่าวไปในข้างต้น ว่าพลพรรคเบียงโคเซเลสติ หรืออินทรีฟ้าขาว อันเป็นฉายาของ ‘ลาซิโอ’ เคยมีประวัติขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาจัดในอดีต

เรื่องราวมีอยู่ว่า ในอดีต สโมสร ‘โรม่า’ ถูกสร้างขึ้นให้เป็นตัวแทนของชาวโรมัน พวกเขาเลือกใช้สีเหลือง-แดงเป็นสีประจำสโมสร สื่อถึงการเป็นศูนย์กลางอันสำคัญของอิตาลี เฉกเช่นสำนักวาติกัน

โลโก้ของโรม่ายังเป็นรูปหมาป่าเลี้ยงเด็ก ตามตำนานโรมูลุส และรีมุส ‘ฝาแฝดผู้สถาปนากรุงโรม’ ที่ถูกเลี้ยงดูโดยหมาป่า ทั้งหมดนี้ ฉายภาพแนวคิดชาตินิยมสุดขั้วเช่นเดียวกับลิทธิฟาสซิสต์

ทำให้ลาซิโอซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลร่วมกรุงโรม กลายเป็นพวกนอกรีตไปโดยปริยาย เนื่องจากลาซิโอใช้สัญลักษณ์นกอินทรี ซึ่งเป็นตัวแทนของมหาเทพจูปิเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีฟ้า-ขาว ตรงกับสีธงชาติกรีซ หรือกรีก ซึ่งเป็นศัตรูตลอดกาลกับโรมัน

ลาซิโอจึงกลายเป็นตัวแทนต่างชาติ หรือพวกนอกรีตในสายตาแฟนบอลโรม่า ภายใต้แนวคิดชาตินิยมแบบมุสโสลินี ที่ความเกลียดชังชาติกำเนิดได้สร้างความแตกแยกให้แฟนบอลทั้งสองทีมตลอดกาล

แฟนบอลหมาป่าแห่งกรุงโรมมักเรียกสาวกอินทรีฟ้าขาวว่า ‘ไอ้พวกบ้านนอก’ หรือไม่ก็ ‘มนุษย์ถ้ำ’ ขณะที่แฟน ๆ ลาซิโอก็จะเรียกกองเชียร์โรม่า ว่า ‘ไอ้กุ๊ย’ หรือ ‘ไอ้พวกอนาถา’

นี่คือความขัดแย้งที่มีที่มาจากพื้นฐานทางการเมืองที่แตกต่างกันของทั้งสองทีมนั่นเอง

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ: Getty Images