28 พ.ย. 2566 | 10:00 น.
- กาตาร์ มีบทบาทในวงการฟุตบอลระดับสากลหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 องค์กร และบุคคลสำคัญในกาตาร์ เชื่อมโยงกับสโมสรใหญ่ในลีกยุโรปหลายทีม
- กลยุทธ์ด้านฟุตบอลของกาตาร์เชื่อมโยงกับบริบททางสังคม ธุรกิจ และการเมือง
โลกฟุตบอลในอังกฤษและภาคพื้นยุโรปปิดฤดูกาล 2022/2023 ไปเรียบร้อยเกือบ 1 เดือนแล้ว แต่ทั่วโลกยังจับจ้องอยู่ที่กลุ่มองค์การการลงทุนของประเทศกาตาร์ หรือคิวไอเอ (Qatar Investment Authority - QIA) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์ ผ่านตัวละครที่นำแสดงโดย ชีค ยาสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี นักธุรกิจใหญ่แห่งกาตาร์ ซึ่งประกาศตัวเองเป็นแฟนพันธุ์แท้ของทีมปีศาจแดง ยื่นข้อเสนอหลายต่อหลายครั้งให้กับตระกูลเกลเซอร์ในการยื่นขอเข้าครอบครองกิจการเบ็ดเสร็จ 100% ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมยักษ์ใหญ่ของเกาะอังกฤษ
หากย้อนกลับไปในอดีต การลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานครั้งมโหฬารเพื่อฟุตบอลโลก 2022 ของกาตาร์ ถือเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ ‘Qatar National Vision 2030’ สุดยอดโครงการแสนอลังการ เมกะโปรเจคต์ของกาตาร์ โดยหวังจะมาทดแทนธุรกิจพลังงานในอนาคต
กาตาร์เป็นประเทศเล็กมีพื้นที่ 11,581 ตร.กม. และประชากร 2,800,000 คน แต่มีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเยอะ ทำให้เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
กาตาร์ลงทุนกับฟุตบอลโลก 2022 ประมาณ 220,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์เจ้าภาพ เพื่อสร้างสนามกีฬาสมัยใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโปรเจกต์ใหญ่ติดอันดับโลก
ภายหลังจากเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ที่จบลงด้วยความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ว่าไปแล้ว กาตาร์ ยังคงเป็นผู้เข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากฟุตบอลโลกที่มีการใช้เงินมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา กาตาร์ต้องการขยายพอร์ตโฟลิโอทางเกมกีฬาด้วยการลงทุนกับสโมสรในพรีเมียร์ลีก ในยุโรป และทั่วโลกอย่างเต็มที่
QIA
คิวไอเอ เป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 โดย ชีค ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ธานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ในขณะนั้น เพื่อบริหารจัดการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติส่วนเกินของรัฐบาลกาตาร์ ตลอดจนกระจายสินทรัพย์สู่การลงทุนในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาราคาพลังงานของกาตาร์ ซึ่งในปัจจุบัน กลุ่มคิวไอเอ มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 4.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
มีคำถามว่า ทำไม คิวไอเอ ที่เป็นบริษัทแม่ของรัฐบาลกาตาร์จึงกระโดดมาเล่นในเกมนี้เอง ไม่ใช้บริษัทลูก ซึ่งทำธุรกิจด้านกีฬาโดยตรงอย่าง คิวเอสไอ (Qatar Sports Investments - QSI) ซึ่งเป็นเจ้าของสโมสรปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง ในลีกเอิงฝรั่งเศส มาเป็นเจ้าภาพเหมือนดังที่เป็นมาในการทำธุรกิจในฟุตบอลยุโรป อาจต้องแบ่งออกเป็นข้อดังนี้
1. กฎของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟา (Union of European Football Associations - UEFA) ไม่อนุญาตให้ทีมที่มีเจ้าของเดียวกันได้เล่นในเกมถ้วยยุโรปรายการเดียวกันเกิน 1 ทีม เพราะฉะนั้นการใช้ คิวไอเอ ผ่านชีค ยาสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กาตาร์ สปอร์ตส์ อินเวสต์เมนต์ส ที่เป็นเจ้าของทีมปารีส แซงต์-แชร์กแมง เพราะทั้งสองทีมนี้ได้เล่นฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในทุกฤดูกาลอยู่แล้วเป็นอย่างน้อย
2. ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ในปัจจุบัน เป็นแฟนบอลของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มานานแล้ว จากการที่เคยไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ทำให้พระองค์หลงใหลในกีฬาฟุตบอลและชื่นชอบสโมสรที่มีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่อย่างทีมปีศาจแดง รวมถึงชีค ยาสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี ที่มาเป็นหัวหอกในการดีลธุรกิจนี้ก็เป็นสาวกปีศาจแดง
ความสัมพันธ์ของชีคระดับเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์คู่นี้นั้น ชีค ยาสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี ผู้ยื่นซื้อแมนฯยูไนเต็ด เป็นอดีตรัชทายาทแห่งกาตาร์ สละตำแหน่งมกุฎราชกุมารในปี 2003 เพื่อสนับสนุนชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี น้องชายของเขา โดยอ้างว่าไม่สนใจที่จะขึ้นเป็นประมุข
3. การครอบครองวงการฟุตบอลอังกฤษผ่านพรีเมียร์ลีกของกลุ่มทุนอาบูดาบี สหรัฐอาหรับ เอมิเรสต์ ผ่านสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี ซึ่งประสบความสำเร็จที่สุดในยุโรปในฤดูกาลนี้ รวมถึงกลุ่มทุนซาอุดีอาระเบีย ที่ใช้พีไอเอฟ หรือกองทุนสาธารณะซาอุฯ (The Public Investment Fund - PIF) เข้าครอบครองกิจการสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ใช้เวลาเพียง 1 ฤดูกาลครึ่ง สามารถเข้าไปเล่นถ้วยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้เรียบร้อยแล้ว
เพราะฉะนั้น กลุ่มทุนกาตาร์ย่อมที่จะไม่ให้ทั้งสองกลุ่มทุนจากคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงทิ้งหนีไปได้ การเข้าซื้อสโมสรเบอร์ 1 ของพรีเมียร์ลีก และเป็นคู่แข่งโดยตรงของแมนเชสเตอร์ ซิตี จึงเป็นการต่อกรเชิงสัญญะทางการเมืองและทุนกีฬาข้ามชาติของประเทศอภิมหาเศรษฐีน้ำมันบนเกาะอังกฤษ
โดยก่อนหน้านี้กลุ่มทุนคิวเอไอเจรจาทั้งสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด / ท็อตแนม ฮอต สเปอร์ส สองทีมในกรุงลอนดอน และมีข่าวเกี่ยวกับการเจรจากับกลุ่มเอฟเอสจี (Fenway Sports Group Holdings, LLC - FSG) ซึ่งแพลมออกมาจะขายหุ้นของสโมสรลิเวอร์พูล ทีมยักษ์ใหญ่อีกทีมของอังกฤษที่มีแฟนคลับมหาศาลอยู่ทั่วโลก ก่อนมารุกหนัก ทิ้งไพ่สุดท้ายกับสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด ในที่สุด
การดีลซื้อสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด ก็เพื่อเป็นการยืนยันว่า คิวเอสไอ ไม่ใช่บริษัทลูกของ คิวไอเอ เพราะมีผู้บริหารต่างชุดกันแม้อยู่ภายใต้กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติเหมือนกัน
นัสเซอร์ อัล เคไลฟี มันสมองนายใหญ่ ‘คิวเอสไอ’
ปัจจุบัน สโมสรปารีส แซงต์-แชร์กแมง ในฝรั่งเศสยังเป็นเจ้าของสถิติโลกที่ครอบครองนักเตะที่มีค่าตัวสูงสุดในวงการฟุตบอลอาชีพนั่นคือ เนย์มาร์ นักเตะระดับซูเปอร์สตารชาวบราซิล ย้ายจากสโมสรบาร์เซโลนา ในลาลีกาสเปน สู่เปแอสเช ด้วยค่าตัวสูงถึง 198 ล้านปอนด์ (ราว 8,316 ล้านบาท) ซึ่งยังคงเป็นสถิติค่าตัวนักเตะแพงสุดตลอดกาลจนถึงปัจจุบัน
คิวเอสไอ หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่อุทิศตนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมกีฬาและสันทนาการในระดับชาติและระดับนานาชาติ เป็นองค์กรผู้ถือหุ้นแบบปิดที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 และตั้งอยู่ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ รายได้จากการร่วมทุนของคิวเอสไอ จะนำไปลงทุนในภาคกีฬา การพักผ่อน และความบันเทิงของกาตาร์ นำโดย นัสเซอร์ อัล เคไลฟี (Nasser Al-Khelaifi) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานของ คิวเอสไอ (Qatar Sports Investments - QSI) ตั้งแต่ปี 2011 และเป็นที่รู้จักกันดีในด้านการลงทุนทางธุรกิจและบทบาทความเป็นผู้นำที่หลากหลายในกาตาร์
ปัจจุบันเขาเป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ beIN Media Group ในกาตาร์ และประธานสโมสรฟุตบอลปารีส แซงต์-แชร์กแมง ในฝรั่งเศส ในฐานะอดีตนักเทนนิสอาชีพ เขาดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์เทนนิสแห่งกาตาร์ (QTF) และรองประธานสหพันธ์เทนนิสแห่งเอเชียแห่งเอเชียตะวันตก (ATF)
นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกของคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก และได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมสโมสรยุโรป
รวมถึงเป็นเจ้าของ Burrda ซึ่งเป็นแบรนด์กีฬาของกาตาร์และซัพพลายเออร์เครื่องแต่งกายกีฬาและสันทนาการที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและปรับแต่งการดำเนินการที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 และ NextStep Marketing บริษัทที่เชี่ยวชาญในการเป็นตัวแทนลูกค้า การจัดสินค้าโดยตรง และการจัดการงานกิจกรรม
เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2022 คิวเอสไอ ได้ซื้อสโมสรฟุตบอลบรากา (SC Braga) ในลีกโปรตุเกส ซื้อหุ้น ในราคา 80 ล้านยูโร
นัสเซอร์ อัล เคไลฟี ถือว่าใกล้ชิดกับชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ และเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการฟุตบอลและกีฬาในฝรั่งเศส ด้วยเป็นกลุ่มทุนที่ลงทุนมากที่สุดอย่างมหาศาล อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นในวงการกีฬาของเขาได้รับการยอมรับในปี 2015 เมื่อเขาได้รับการโหวตให้เป็น 'ประธานลีกเอิงคนโปรด' ในการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดย France Football ด้วยคะแนนเสียง 35%
ในปี 2016 หนังสือพิมพ์กีฬารายวันของฝรั่งเศส L'Équipe เสนอชื่อให้เขาเป็น 'บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการฟุตบอลฝรั่งเศส' และในปี 2019 เขาได้รับเลือกจาก European Club Association ให้เป็นตัวแทนในคณะกรรมการบริหารของยูฟ่า และกลายเป็นชาวอาหรับคนแรกที่ดำรงตำแหน่งยูฟ่า และในปี 2020 เขาได้รับเลือกให้เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการฟุตบอลโดย France Football
ในด้านมุมมืดในฐานะผู้ทรงอิทธิพลในวงการฟุตบอลระดับโลก วันที่ 9 มีนาคม 2022 หลังจากปารีส แซงต์-แชร์กแมงแพ้ 1–3 (สกอร์รวม 2–3) ต่อเรอัล มาดริด ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2021–22 รอบ 16 ทีมสุดท้าย อัล-เคไลฟี ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายไลน์แมนและทำลายธงของเขา และข่มขู่พนักงานของมาดริดที่ภายหลังถูกฆาตกรรม หลังจากการสืบสวน ยูฟ่า ได้เคลียร์ข้อกล่าวหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกับคดีอัล-เคไลฟี ว่าไม่เกี่ยวข้องกัน
หรือการติดสินบนในวงการฟุตบอล เดือนตุลาคม 2017 ศาลสวิสได้เปิดการสอบสวนนัสเซอร์ อัล เคไลฟี เนื่องจากสงสัยว่ามีการทุจริตส่วนตัวในการจัดสรรลิขสิทธิ์โทรทัศน์สำหรับฟุตบอลโลกปี 2026 และ 2030 สำหรับตลาดสื่อต่างประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ต่อมาในปี 2020 นัสเซอร์ อัล-เคไลฟี ได้รับการเคลียร์จากคดีเกี่ยวกับการมอบลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก
ต่อมา เขาถูกกล่าวหาว่ามีการจัดการที่ผิดพลาดทางอาญาซ้ำ เนื่องจากมีส่วนในการพิจารณาคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับ เจโรม วัลเค (Jerome Valcke) อดีตเลขาธิการทั่วไปของฟีฟ่า อย่างไรก็ตาม วัลเค ถูกตัดสินว่ามีความผิดในการปลอมแปลงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์สำหรับฟุตบอลโลก และถูกปรับ 24,000 ฟรังก์สวิส ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศสวิสเซอร์แลนด์กล่าวหาว่า ใช้ประโยชน์จากบทบาทฟีฟ่าของเขาระหว่างปี 2013 และ 2015 เพื่อสนับสนุนพันธมิตรสื่อที่เขาต้องการ โดยให้สิทธิ์สื่อสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกและ Confederations Cup ต่าง ๆ
มานซูร์ บิน เอบราฮิม อัล-มาห์มูด รุกหนักแก้จุดอ่อน
สำหรับ คิวไอเอ (Qatar Investment Authority - QIA) คือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์ QIA ก่อตั้งโดยรัฐกาตาร์ในปี 2005 เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศโดยการกระจายสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ ในปี 2023 QIA มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารประมาณ 475 พันล้านดอลลาร์
โครงสร้างและขั้นตอนการตัดสินใจของคิวไอเอ มีลักษณะที่น่าสงสัย การตัดสินใจใช้จ่ายเกี่ยวกับกองทุนเชื่อมโยงกับเจ้าผู้ครองรัฐและนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าพวกเขาจะนั่งอยู่ในคณะกรรมการของกองทุนหรือไม่ก็ตาม การเข้าซื้อกิจการมุ่งเน้นที่สหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ในยุโรปเป็นเป้าหมายการลงทุนที่บ่งชี้ว่า คิวเอไอ กระตือรือร้นที่จะสร้างรัฐกาตาร์ให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการเงินระดับโลก
มานซูร์ บิน เอบราฮิม อัล-มาห์มูด (Mansoor Bin Ebrahim Al-Mahmoud) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ คิวไอเอ (The Qatar Investment Authority - QIA) ของกาตาร์ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในสาขาบริหารธุรกิจและการเงิน เคยให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ของ Bloomberg รายการ World Economic Forum ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับวงการฟุตบอลและแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดว่า สโมสรฟุตบอลและการกีฬาต่างๆ มีความเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น ในขณะเดียวกัน การแปลงทุกอย่างเป็นดิจิทัลก็สำคัญมากสำหรับทุกวงการ เพราะฉะนั้นโมเดลธุรกิจจากสถาบันต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็นการลงทุนที่มันทำได้ง่ายมากขึ้น
คิวไอเอ ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เพื่อเป็นโอกาสในการปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน และกำลังพิจารณาการลงทุน 3 ส่วนหลักด้วยกัน คือ1.ฟุตบอล 2.สถาบันการเงิน และ 3.เทคโนโลยี
หน่วยงานการลงทุนของกาตาร์ กำลังมองหาโอกาสในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกาในภาคต่าง ๆ เช่น การร่วมลงทุน การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการเงิน หรือฟินเทค และความยั่งยืน ที่เชื่อมสัมพันธ์กัน คือ นิเวศวิทยา เศรษฐศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม
จากผลงานในฟุตบอลโลกที่กาตาร์ซึ่งเพิ่งผ่านไป นี่เป็นการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนในเชิงพาณิชย์อย่างมาก กีฬากำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน ผู้คนมีส่วนร่วมในกีฬามากขึ้น และการแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลทำให้ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น
มานซูร์ บิน เอบราฮิม อัล-มาห์มูด ชี้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย เงินเฟ้อเป็นหัวข้อหลักสำหรับเศรษฐกิจโลก แต่มองว่านี่เป็นโอกาสในการปรับตำแหน่งพอร์ตโฟลิโอ เน้นจุดอ่อนที่กาตาร์มีในพอร์ตโฟลิโอ และรอการแก้ไขเหล่านี้ในตลาดเพื่อเติมเต็มจุดอ่อนที่มี และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็เป็นการขับเคลื่อนดังกล่าว
บทสรุป
การที่ คิวไอเอ อันมี ชีค ยาสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี เป็นตัวแสดงนำในการเบิกร่องซื้อสโมสรในอังกฤษ โดยเล่นหนัก เล่นใหญ่ยื่นซื้อแมนฯ ยูไนเต็ด ทีมเบอร์ 1 ของอังกฤษ ที่ถูกแมนเชสเตอร์ ซิตี ของกลุ่มทุนอาบูดาบีกำลังแย่งความเป็นหนึ่งแทนที่
แน่นอนการได้รับแรงหนุนจาก มานซูร์ บิน เอบราฮิม อัล-มาห์มูด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคิวไอเออย่างเต็มที่ ดูฉากหน้าเหมือนกับเข้ามาแข่งกับ คิวเอสไอ ของ นัสเซอร์ อัล เคไลฟี แต่แท้จริงแล้วเป็นการสับขาหลอกเพื่อให้ทุกอย่างง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น มองได้ว่าเลี่ยงกฎข้อปฏิบัติต่าง ๆ ทางกฎหมายทั้งในวงการฟุตบอลและกฎหมายการค้า
เพราะนาทีนี้รอไม่ได้แล้ว กลุ่มซาอุดีอาระเบียกำลังรุกใหญ่รวมถึงกลุ่มทุนสหรัฐอหรับเอมิเรสต์ หรือยูเออี ก็เป็นเบอร์ 1 ในวงการฟุตบอลอังกฤษที่มีพลังของซอฟต์พาวเวอร์อย่างเหนือความคาดหมาย
กาตาร์ ซึ่งบุกเบิกมาก่อนกลุ่มทุนในคาบสมุทรอาหรับอื่น แถมยังเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก 2022 อย่างยิ่งใหญ่ประสบความสำเร็จด้วยดีจะมาถดถอยในวงการฟุตบอลระดับสโมสรยุโรปไม่ได้ การให้คิวเอไอมาสานพลังอีกแรง จึงเป็นยุทธศาสตร์ปิดจุดอ่อนเพิ่มแนวรุกอย่างเต็มที่จากที่คิวเอสไอมีข้อจำกัดหลายอย่าง
เรื่อง: พรเทพ เฮง
ภาพ: (กลาง) ชีค แยสซีม ประกอบกับแฟ้มภาพจาก Getty Images