2 คีย์แมน กับ 1 คนที่ใช่ เบื้องหลังทุนของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลุ่มทุนอาบูดาบีลุยโลกลูกหนัง

2 คีย์แมน กับ 1 คนที่ใช่ เบื้องหลังทุนของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลุ่มทุนอาบูดาบีลุยโลกลูกหนัง

2 คีย์แมน และ 1 คนที่ใช่! เบื้องหลังทุนอันมหาศาลของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สโมสรพัฒนาอย่างก้าวกระโดด พวกเขาคือกลุ่มทุนอาบูดาบีที่มาตะลุยในโลกฟุตบอลอันไร้พรมแดน

  • แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เติบโตกลายเป็นทีมระดับแถวหน้าของยุโรปและของโลกหลังมีกลุ่มทุนจากอาบูดาบีเข้ามาเทคโอเวอร์ 
  • 2 คีย์แมนที่เสมือนเป็นคนถือกุญแจสำคัญของความสำเร็จนี้ คือ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยัน เจ้าของสโมสรคนปัจจุบัน และ คาลดูน อัล มูบารัค 

ในฤดูกาล 2022/2023 ที่ผ่านมา สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สามารถคว้าทริเปิลแชมป์ คือ แชมป์พรีเมียร์ ลีก, แชมป์เอฟเอคัพของอังกฤษ และอีก 1 ถ้วยคือแชมป์ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก หรือแชมป์สโมสรยุโรป

หากนับตั้งแต่ปี 2008 หลังจากเข้าครอบครองสโมสรเป็นเวลา 1 ปี ในปี 2009 สโมสรฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตัดสินใจปลด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งประธานสโมสรกิตติมศักดิ์ หลังจากศาลไทยตัดสินว่า เขามีความผิดฐานทุจริต เท่ากับเป็นการเริ่มยุคใหม่ของสโมสรอย่างแท้จริง

2 คีย์แมน หรือ 2 บุคคลที่เป็นคนถือกุญแจสำคัญไขความสำเร็จนี้ ก็คือ ‘ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยัน’ (Sheikh Mansour bin Zayed Al Nahyan) เจ้าของสโมสรคนปัจจุบัน และ ‘คาลดูน อัล มูบารัค’ (Khaldoon Al Mubarak) ประธานกรรมการ แห่ง ‘เอดียูจี’ (Abu Dhabi United Group for Development and Investment - ADUG)

ในฤดูร้อนปี 2008 โดยชีค มานซูร์ ลงนามในข้อตกลงเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2008 ด้วยการตรวจสอบสถานะเสร็จสิ้น ในวันที่ 23 กันยายน ปีเดียวกัน

ช่วงเวลาแห่งการดีลนั้น สุไลมาน อัล-ฟาฮิม ผู้ได้รับการเรียกขานว่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งอาบูดาบี’ เป็นตัวละครแรกสุดของเอดียูจี เมื่อเสร็จสิ้นการเข้าครอบครองกิจการสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ อัล-ฟาฮิม สร้างความฮือฮาอย่างมากในโลกของฟุตบอลด้วยแผนการใช้จ่ายอย่างมหาศาลเพื่อดึงดูดนักเตะเปี่ยมพรสวรรค์ด้านฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก โดยซื้อตัวโรบินโญ ยอดนักเตะชาวบราซิลผู้โด่งดัง และค่าตัวสูงมากที่สุดในโลกช่วงเวลานั้นมาจากสโมสรเรอัล มาดริด สโมสรที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากลาลีกา สเปน มาสู่ทีม ในวันเดียวกับที่มีการตกลงเทคโอเวอร์สำเร็จ

แต่เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากเอดียูจี เข้าควบคุมสโมสร อัล-ฟาฮิม ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง โดยมีคาลดูน อัล มูบารัค เข้ามาแทนที่และเป็นประธานสโมสรมาถึงปัจจุบันนี้

หลังจากเข้าบริหารสโมสรแบบเบ็ดเสร็จ อีก 3 ปีต่อมา ในปี 2011 แมนเชสเตอร์ซิตี้ ผ่านเข้ารอบกานแข่งขันยูฟา แชมเปียนส์ ลีกและคว้าแชมป์เอฟเอคัพ ทำให้สโมสรประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษหลังจากการสนับสนุนของ เอดียูจี ปีต่อมาในปี 2012 สโมสรคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 44 ปี และประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของฟุตบอลอังกฤษก็ถูกเขียนขึ้น ภายใต้การก่อตั้ง ซีเอฟจี ‘ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป’ (City Football Group - CFG) ในปี 2014 ที่ทำให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลายเป็นทีมยิ่งใหญ่อันดับ 1 เบียดกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อดีตยอดทีมร่วมเมืองที่ต้องมองดูความสำเร็จอย่างตาปริบๆ จนถึงทุกวันนี้

‘เอดียูจี’ ทุ่มไม่อั้น ไม่หวั่นแม้วันมามาก

เอดียูจี เป็นบริษัทเอกชนที่มีฐานอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีเจ้าของเป็นสมาชิกราชวงศ์อาบูดาบี และรัฐมนตรีกิจการประธานาธิบดีของยูเออี ผลประโยชน์หลักของกลุ่มคือการถือหุ้นส่วนใหญ่ 81% ของซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่บริหารสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตีh มุมไบซิตี้ เอฟซี เมลเบิร์น ซิตี้ เอฟซี และนิวยอร์ก ซิตี้ เอฟซี รวมถึงสโมสรฟุตบอลต่างประเทศอื่น ๆ อีกหลายแห่ง 

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังให้ความสนใจในความพยายามอื่น ๆ นอกจากโลกกีฬาด้วยพอร์ตโฟลิโออสังหาริมทรัพย์ที่กว้างขวางในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแมนเชสเตอร์

สำหรับ ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป เกิดขึ้นหลังจากความสำเร็จของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เริ่มลงทุนในสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ หลังจากก่อตั้งทีมในเอ็มแอลเอส หรือเมเจอร์ ลีก ซอคเกอร์ (Major League Soccer - MLS) คือ นิวยอร์ค ซิตี้ เอฟซี และซื้อแฟรนไชส์ของทีมในเอ-ลีก ออสเตรเลีย เมลเบิร์น ฮาร์ท เอฟซี หลังจากนั้นไม่นานก็เปลี่ยนชื่อเป็น เมลเบิร์น ซิตี้ เอฟซี ถือว่าจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อจัดการกิจการฟุตบอลทั่วโลกต่าง ๆ และเพื่อแยกออกจากธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจฟุตบอล 

ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 เพื่อดูแลทีมทั้งหมดภายใต้การควบคุมของพวกเขา ทำหน้าที่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ไม่เฉพาะกับทีมฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อทำการตลาดบริการฟุตบอลสู่ตลาดที่กว้างขึ้นด้วย

เอดียูจี ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน 2 ครั้งในปี 2015 และ 2019 เป็นมูลค่าประมาณ 654 ล้านปอนด์ และในปี 2020 พวกเขาเป็นเจ้าของ 78% ของ ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 ซีเอฟจี ได้รับการจัดการภายใต้ Newton Investment and Development LLC ซึ่งเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ ชีค มานซูร์ เป็นเจ้าของทั้งหมด

เอดียูจี ยังมีพอร์ตโฟลิโออสังหาริมทรัพย์ที่กว้างขวางในยูเออี และในต่างประเทศ นอกเหนือจากสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้แล้ว เอดียูจี ยังลงทุนรวมมูลค่าเกือบ 1 พันล้านปอนด์ในแมนเชสเตอร์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการศึกษาระดับสูง

นอกเหนือจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อการควบคุมของตนเองแล้ว เอดียูจี ลงนามในความร่วมมือระยะเวลา 10 ปีกับสภาเมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อปรับปรุงด้านตะวันออกของเมือง ซึ่งไม่ใช่พื้นที่เดียวกับที่ตั้งของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ โดยก่อตั้งบริษัท Manchester Life Development Company ร่วมกับสภาเมืองเพื่อสร้างบ้านราคาไม่แพง 6,000 หลังในพื้นที่

สำหรับ ซีเอฟจี องค์กรใหม่ในปี 2014 เริ่มขยายไปสู่วงการฟุตบอลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ครอบคลุมการตลาดฟุตบอล สร้างตราสินค้า เจรจาการเป็นสปอนเซอร์ การดำเนินงานของสถาบัน และบริการด้านฟุตบอลอื่น ๆ จากข้อมูลของ Human Rights Watch การลงทุนของเอดียูจี ในแมนเชสเตอร์ ซิตี้นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์การประชาสัมพันธ์ของรัฐน้ำมันในอ่าวอารเบียนที่ก้าวหน้าและมีพลวัต ซึ่งเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ

ในขณะที่ ซีเอฟจี พยายามที่จะแยกสาขาออกไป ไม่เพียงแต่การลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดึงดูดแบรนด์ต่างประเทศด้วย การหันไปหาจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2015 โดยเสนอตัวเองเป็นสถานที่จัดการเจรจาธุรกิจระดับสูงระหว่างผู้นำรัฐบาลของสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอังกฤษ สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนที่จะตกลงขายหุ้นมูลค่า 265 ล้านปอนด์ ให้กับกลุ่มบริษัทการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน China Media Capital และ CITIC Capital ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ทั้งสองบริษัทเป็นเจ้าของ ซีเอฟจี ในสัดส่วนร้อยละ 13 ด้วยกัน การแลกเปลี่ยนการเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญทำให้ทั้งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และซีเอฟจีสามารถขยายสู่ตลาดจีนได้หลากหลายทิศทาง

 

ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยัน + คาลดูน อัล มูบารัค ตัวจริงบ่อน้ำมันของแมนเชสเตอร์ ซิตี

ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘ชีค มานซูร์’ เป็นเชื้อสายราชวงศ์และนักการเมืองของเอมิเรตส์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีและรองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลอดจนรัฐมนตรีศาลของประธานาธิบดี และสมาชิกตระกูลผู้ปกครองของอาบูดาบี

เขาเป็นน้องชายของ โมฮาเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่งงานกับ ชีคา มานัล บินต์ โมฮัมเหม็ด อัล มักตูม ลูกสาวของโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ 

ชีค มานซูร์ ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลลำดับต้น ๆ ของประเทศ ดำรงตำแหน่งมากมายและมีส่วนร่วมในบริษัทที่ดำเนินการโดยรัฐบาลหลายแห่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาทิ ประธานของสภาการพัฒนารัฐมนตรีหน่วยงานการลงทุนของเอมิเรตส์  สภาปิโตรเลียมสูงสุดและสภาสูงสุดด้านการเงินและเศรษฐกิจ สมาชิกของคณะกรรมการของ Abu Dhabi National Oil Company และ Abu Dhabi Investment Authority (ADIA) รองประธานของ Mubadala Investment Company กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐเอมิเรตส์ และประธานธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

การเป็นที่รู้จักกันในระดับโลก ในฐานเจ้าของเอดียูจี (Abu Dhabi United Group - ADUG) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนของราชวงศ์อาบูดาบี ซึ่งเข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และมอบความรับผิดชอบและความเป็นเจ้าของทั้งหมดให้กับ คาลดูน อัล มูบารัค และ ซีเอฟ (City Football Group - CFG) ดูแลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสโมสรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วน คาลดูน อัล มูบารัค ซึ่งถือเป็นมือขวาของชีคมานซูร์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำทางธุรกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลอาบูดาบี รวมถึงในฐานะสมาชิกสภาบริหารตั้งแต่ปี 2006 สมาชิกสภาสูงสุดด้านกิจการการเงินและเศรษฐกิจ และเป็นประธานผู้ก่อตั้งหน่วยงานบริหารกิจการ และดำรงตำแหน่งทูตพิเศษประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี 2018

ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของ Mubadala Investment Company ยังนั่งอยู่ในคณะกรรมการของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี และดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการของบริษัทพลังงานนิวเคลียร์เอมิเรตส์ ธนาคารพาณิชย์อาบูดาบี และอีกมากมาย  พร้อมกับดูแลเครือข่ายสโมสรฟุตบอลชองซีเอฟจีทั้งหมดด้วย

คาลดูน อัล มูบารัค ถือเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาที่ราชวงศ์อาบูดาบีไว้วางใจมากที่สุด และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมเด็จประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน เมื่อรัฐบาลอาบูดาบีได้รับการปรับโครงสร้างในปี 2549 อัล มูบารัค กลายเป็นประธานบริหารกิจการและสมาชิกสภาบริหารแห่งเอมิเรตแห่งอาบูดาบี

 

เฟอร์ราน โซเรียโน ผู้นำ ‘ซีเอฟจี’ สู่ความรุ่งโรจน์ในโลกฟุตบอล

ซีเอฟจี - City Football Group Limited (CFG) เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่บริหารสโมสรฟุตบอล มี 3 องค์กรเป็นเจ้าของ 81% ถือหุ้นใหญ่โดยอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป 18% โดยบริษัทจากอเมริกันคือ ซิลเวอร์เลค และ 1% โดยบริษัทจากจีนคือ Media Capital และ Citic Capita

กลุ่มทุนนี้ได้ชื่อมาจากสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลหลัก ซีเอฟจี ยังถือหุ้นในสโมสรในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น สเปน บราซิล อุรุกวัย จีน เบลเยียม ฝรั่งเศส และอิตาลี

ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดยวิสัยทัศน์ทางธุรกิจของอดีตรองประธานฝ่ายการเงินบาร์เซโลนา เฟอร์ราน โซเรียโน (Ferran Soriano) โซเรียโน เริ่มนึกถึงอุดมคติของสโมสรฟุตบอลระดับโลกเป็นครั้งแรกขณะอยู่ที่สโมสรแห่งคาตาลัน คือบาร์เซโลนา โดยเริ่มจากการสร้างอคาเดมีในต่างประเทศภายใต้แบรนด์บาร์ซ่า 

เขาลาออกจากบาร์เซโลนา ในยุคที่ โจน ลาปอร์ตา เป็นประธานสโมสร หลังจากหยุดงานบริหารฟุตบอลไป 4 ปี โซเรียโน ได้รับการว่าจ้างในช่วงปลายปี 2012 เพื่อแทนที่ แกร์รี คุก ในตำแหน่งซีอีโอของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หลังจากการลาออกของเขา 

โซเรียโน ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ รื้อฟื้นความทะเยอทะยานของเขาในการสร้างองค์กรธุรกิจฟุตบอลระดับโลก โดยเริ่มจากการเจรจาในกระบวนการจัดการการสร้างทีมฟุตบอลที่สอง นิวยอร์ค ซิตี เอฟซี โดย ซีเอฟจี (City Football Group) ถูกสร้างขึ้นในปี 2013 ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็น บริษัทโฮลดิ้งเกี่ยวกับธุรกิจฟุตบอลและกีฬาทั้งหมด การขยายตัวเริ่มต้นในปี 2014

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งซีเอฟจี ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจฟุตบอลได้เปรียบเทียบแนวคิดระหว่างซีเอฟจี กับแนวคิดของเฟอร์ราน โซเรียโน ในหนังสือ ‘Goal: The Ball Doesn't Go In By Chance’ ของโซเรียโนเอง ที่ออกมาในปี 2011 ว่า โซเรียโน ตั้งข้อสังเกตถึงวิวัฒนาการตามธรรมชาติของแบรนด์สโมสรฟุตบอลคือ ต้องขยายไปทั่วโลก และการทำเช่นนั้นอาจรวมถึงการสร้างสโมสรแฟรนไชส์ในลีกต่างประเทศด้วย 

หนังสือของโซเรียโน ยังอธิบายถึงแนวคิดที่ว่าการดึงดูดแฟนฟุตบอลต่างชาติ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของการเติบโตทางธุรกิจของแบรนด์กีฬา และการทำให้แฟน ๆ ในประเทศสนับสนุนเคียงข้างเป็นพันธมิตรกับสโมสรในยุโรป ซึ่งจะเสริมฐานแฟนบอลได้มากขึ้น แนวคิดนี้จะถูกเรียกว่า ‘Disneyfication’ โดยศาสตราจารย์ไซมอน แชดวิก ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬายูเรเซียนที่ Emlyon Business School และตัวเขาเองเป็นคนสนิทของโซเรียโน โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์และการพัฒนาผู้เล่น

การมุ่งเน้นไปที่ทีมที่มีเอกลักษณ์ร่วมกันและแบรนด์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับเอกลักษณ์ดั้งเดิมของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกมองว่าเป็นหนทางสำคัญในการช่วยให้สโมสรสร้างการสนับสนุนจากต่างประเทศ สิ่งนี้ยังสอดคล้องกับความสนใจเป็นอย่างดีของโซเรียโน ในการกำหนดให้ ซีเอฟจี เป็นแกนหลักในการเปิดตลาดระดับนานาชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถรักษาสถานะที่แข็งแกร่งได้ผ่านการดำเนินงานและการลงทุนในการขยายตลาดแฟรนไชส์ในประเทศเหล่านั้น 
ปัจจุบัน สโมสรในเครือ City Football Group มีอยู่ทั้งหมด 10 สโมสร ประกอบด้วย

- แมนเชสเตอร์ ซิตี อังกฤษ (ถือหุ้น 100%)
- เมลเบิร์น ซิตี ออสเตรเลีย (ถือหุ้น 100%)
- มอนเตวิเดโอ ซิตี ทอร์เก อุรุกวัย (ถือหุ้น 100%)
- ทรัวส์ ฝรั่งเศส (ถือหุ้น 100%)
- ลอมเมล เบลเยียม (ถือหุ้น 99%)
- นิวยอร์ก ซิตี สหรัฐอเมริกา (ถือหุ้น 80%)
- มุมไบ ซิตี อินเดีย (ถือหุ้น 65%)
- คิโรนา สเปน (ถือหุ้น 47%)
- เสฉวน จิวหนิว จีน (ถือหุ้น 29%)
- โยโกฮามา เอฟ มารินอส ญี่ปุ่น (ถือหุ้น 20%)

จุดที่น่าสังเกตคือ ทุกทีมฟุตบอลในประเทศต่าง ๆ ที่ซีเอฟซี เข้าไปซื้อหรือลงทุนร่วมจะมีคำว่า ‘ซิตี้’ ต่อท้ายทั้งหมด รีแบรนด์ใหม่ เปลี่ยนชุดแข่งขันเป็นสีฟ้าแบบแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป้าหมายของซีเอฟจีคือ เป็นเจ้าของทีมในแต่ละทวีปด้วยชื่อแบรนด์ของเมืองนั้น ๆ

นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ในการการสร้างฐานข้อมูลนักเตะทั่วโลก ภายใต้สโมสรในเครือ ซึ่งจะทำให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สามารถค้นหาดาวรุ่งมาร่วมทีม เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายซื้อตัวนักเตะลงได้ในระยะยาว โดยเฉพาะต้นแบบการพัฒนาภายในอคาเดมีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การเปลี่ยนกลยุทธ์และเป้าหมายของธุรกิจฟุตบอล ความพยายามที่จะสานต่อความสำเร็จของทีมในการดึงความสามารถของผู้เล่นหรือนักเตะระดับเยาวชน จะนำไปสู่นโยบายซื้อผู้เล่นที่มีแนวโน้มที่ดีในช่วงวัยรุ่นตอนต้น โดยหลายคนจะถูกขายต่อเพื่อทำกำไรก้อนโต 

สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้ โซเรียโน และผู้บริหารระดับสูงของซีเอฟจี เปลี่ยนความทะเยอทะยานเพื่อให้ความสำคัญกับการซื้อสโมสรขนาดเล็กในตลาดฟุตบอลที่แข็งแกร่งที่มีอยู่ โดยตั้งใจจะเปลี่ยนให้เป็นศูนย์ผู้เชี่ยวชาญสำหรับการแสวงหาและฝึกฝนดาวรุ่งในอนาคตจากพื้นที่ท้องถิ่นของพวกเขา

หนึ่งในปรัชญาหลักของซีเอฟจี คือการทำงานร่วมกันระหว่างสโมสรนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา การสนับสนุนซึ่งกันและกันของสโมสรผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และการแบ่งปันผู้เล่นร่วมกัน ในขณะที่สโมสรขนาดใหญ่ในยุโรปแทบทั้งหมดมีเครือข่ายระหว่างประเทศ พร้อมกันนั้นยังพยายามส่งเสริมการเคลื่อนไหวและแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ฝึกสอนภายในเครือข่ายซีเอฟจีเองด้วย

ปรัชญาหลักประการที่ 2 ของซีเอฟจีเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของสโมสรคือ แบ่งปันข้อมูลทางเทคนิคทั้งในและนอกสนาม สโมสรทุกแห่งของซีเอฟจีสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลที่กว้างขวางได้ กลยุทธ์และวิธีการสอนของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทำให้สโมสรทั้งหมดสามารถปฏิบัติตามเพื่อใช้รูปแบบการเล่นฟุตบอลแบบเดียวกัน ซึ่งบางครั้งเรียกว่า ‘วิถีแห่งซิตี้’ 

การทำงานร่วมกันของสไตล์แท็กติกนี้ขยายออกไปนอกเหนือไปจากทีมชุดแรกไปจนถึงอคาเดมีและทีมหญิง นอกจากนี้ ยังแบ่งปันข้อมูลอื่น ๆ เช่น การแพทย์ การตรวจสอบประสิทธิภาพ และการจัดการผู้เล่น

ทั้งนี้ ซีเอฟจี ยังได้เจรจาเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ระดับโลก เช่น SAP เพื่อใช้ซอฟต์แวร์พิเศษมาวิเคราะห์ผลงานและติดตามพัฒนาการของผู้เล่นและยังเป็นพาร์ตเนอร์กับ Cisco เพื่อสร้างระบบแพลตฟอร์มติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างมีประสิทธิภาพภายในเครือ

แม้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในยุคซีเอฟจี กลุ่มทุนความมั่งคั่งยูเออีเป็นเจ้าของกิจการ ทีมคว้าแชมป์มาแล้วถึง 19 ถ้วยรางวัลแบ่งเป็น พรีเมียร์ลีก 7 สมัย เอฟเอคัพ 3 สมัย ถ้วยฟุตบอลลีก หรืออีเอฟแอล คัพ 6 สมัย และถ้วยเอฟเอ คอมมูนิตี้ ชีลด์ 3 สมัย แต่จุดอ่อนที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนของซีเอฟจี ภายใต้การบริหารของเฟอร์ราน โซเรียโน ที่แก้ไม่ได้สักทีตั้งแต่เข้าครอบครองสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี นั่นคือ กฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ หรือเอฟเอฟพี (Financial Fair Play - FFP)

ล่าสุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกกล่าวหาโดยพรีเมียร์ลีก ซึ่งได้สรุปผลการสอบสวนนาน 4 ปีว่า พบการละเมิดกฎมากกว่า 100 ข้อ ในโอกาสต่าง ๆ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเงิน ข้อกล่าวหาคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการเงินของพวกเขาในช่วงระยะเวลา 9 ปีภายใต้การคุมกิจการของอัล มูบารัค และชีค มานซูร์ โดยมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาคดีนี้

อย่างที่ทราบกันว่า ปัจจุบัน แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กำลังถูกโจมตีในประเด็นนี้อย่างหนัก โดยถูกกล่าวหาว่า เรือใบสีฟ้า ละเมิดกฎเอฟเอฟพี มากกว่า 100 ครั้ง จากการตรวจสอบข้อมูลตลอด 4 ปีของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของ ซิตี้ โดยในปี 2014 ที่ผ่านมา สโมสรถูกตั้งข้อหาว่าไม่ปฏิบัติตามกฏของเอฟเอฟพี ของยูฟ่า (สหพันธ์ฟุตบอลแห่งทวีปยุโรป - UEFA) ที่ระบุว่า ทั้งคู่ใช้จ่ายเงินมากกว่ารายรับของสโมสรจนถูกปรับเงินกว่า 60 ล้านยูโรในเวลาต่อมา และแม้จนถึงปัจจุบัน (ปี 2023) ก็ยังคงมีการกระทำเช่นนั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง

การถูกกล่าวหาว่า ไม่เปิดเผยการจ่ายเงินตามสัญญาให้กับผู้จัดการทีมและนักเตะ และล้มเหลวในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สอบสวนของพรีเมียร์ลีก พรีเมียร์ลีกกล่าวว่าการละเมิดกฎถูกส่งไปยังคณะกรรมการอิสระและจะถูกพิจารณาในการพิจารณาคดีที่เป็นความลับตามกฎของลีก

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของลีกปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำแถลงหรือคดี แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตอบโต้ข้อกล่าวหาในแถลงการณ์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์โดยกล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจกับข้อกล่าวหาการละเมิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์เหล่านี้ และทางทีมโต้แย้งว่าได้ร่วมมือกับผู้สืบสวนของพรีเมียร์ลีกเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมอบเอกสารที่มีรายละเอียดจำนวนมาก พร้อมยินดีให้มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมอิสระเพื่อพิจารณาอย่างเป็นกลาง 

ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง โทษที่ร้ายแรงที่สุด แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อาจโดนตัดแต้มหรือขับพ้นลีก (ปรับตกชั้น) ความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลงโทษขั้นรุนแรง เริ่มด้วยการริบแชมป์พรีเมียร์ลีก หักคะแนน จ่ายปรับเงินก้อนโต ยกเลิกการซื้อขาย หรือลงทะเบียนนักเตะที่ซื้อมา เรื่อยไปจนกระทั่งถึงขั้นถูกปรับตกชั้น

ปัจจุบัน รายได้ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แซงหน้าคู่แข่งร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปแล้ว โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีการประเมินมูลค่าแบรนด์เอาไว้ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท

 

บทบาทของโซเรียโน 

เฟอร์ราน โซเรียโน นักธุรกิจชาวสเปนซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2003 ถึง 2008 โซเรียโน ดำรงตำแหน่งรองประธานฝ่ายการเงินของบาร์เซโลนา โดยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารของสโมสรด้วย และทำหน้าที่เป็นซีอีโอชั่วคราว 

รายรับของบาร์เซโลนาในช่วงที่โซเรียโน ดำรงตำแหน่งนั้นเพิ่มขึ้นจาก 123 ล้านยูโร เป็น 308 ล้านยูโร ในขณะที่ขาดทุน 73 ล้านยูโร กลายเป็นกำไร 88 ล้านยูโร โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2008 โซเรียโน และสมาชิกคณะกรรมการอีก 7 คนลาออก หลังจากการลงมติไม่ไว้วางใจต่อคณะกรรมการ ท่ามกลางความไม่ลงรอยกันมากขึ้นกับรูปแบบความเป็นผู้นำของประธานสโมสร โจน ลาปอร์ตา

ในเดือนเมษายน 2009 โซเรียโน ได้รับเลือกเป็นประธานสายการบินสเปนแอร์ซึ่งมีฐานอยู่ในคาตาโลเนีย ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลคาตาลัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างศูนย์กลางในสนามบินบาร์เซโลนา บริษัทเริ่มลดต้นทุน แต่ในวันที่ 27 มกราคม 2012 หลังจากข้อตกลงกับกาตาร์แอร์เวย์ล้มเหลว สายการบินก็หยุดดำเนินการ นี่คือความล้มเหลวของโซเรียโน ที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจฟุตบอล

วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2012 โซเรียโน ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสูงสุดของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปีแรกที่เขาดำรงตำแหน่ง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ลดการขาดทุนลงครึ่งหนึ่ง และริเริ่มกลยุทธ์การขยายตัวของสโมสร

เฟอร์ราน โซเรียโน ถือเป็นคนที่มีลักษณะตรงกับความทะเยอทะยานของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากประสบการณ์และเป็นที่รู้จักในวงการฟุตบอลหลังจากช่วงเวลาที่เขาช่วยกอบกู้วิกฤตรายได้ของสโมสรที่บาร์เซโลนา การเข้ามานั่งบริหารของโซเรียโน เพื่อให้ซิตี้ อยู่ในสถานะที่ดีขึ้น เนื่องจากกฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ หรือเอฟเอฟพี (Financial Fair Play - FFP) ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า  (Union of European Football Associations - UEFA) กดดันมากขึ้น

โซเรียโน มีประวัติทางการเงินที่ยอดเยี่ยมซึ่งทำให้กับสโมสรที่เขาอยู่ ในช่วง 5 ปีที่คัมป์ นูระหว่างปี 2003-20081 รายรับเพิ่มขึ้นจาก 123 ล้านยูโร เป็น 308 ล้านยูโร และผลขาดทุน 73 ล้านยูโร กลายเป็นกำไร 88 ล้านยูโร เขาได้รับคำชมเชยในด้านการปรับเปลี่ยนและความเฉลียวฉลาด ในขณะที่เขาทำงานอย่างใกล้ชิดกับ โจน ลอปอร์ตา ประธานสโมสรบาร์เซโลนาในขณะนั้น

ในการทำงานกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ โซเรียโน จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นตัวแทนของซิตี้ ในการวางแผนและดำเนินธุรกิจทุกอย่างของซีเอฟจี ด้วยพื้นฐานด้านการตลาดและโทรคมนาคม โซเรียโน มีสายสัมพันธ์ที่ดีในวงการฟุตบอล นั่งเป็นคณะกรรมการของกลุ่ม G14 หรือสโมสรยักษ์ใหญ่และมีอิทธิพลในยุโรป เขาเขียนบทความเชิงลึกหลายบทความเกี่ยวกับธุรกิจฟุตบอลและด้วยวิสัยทัศน์ทางธุรกิจของเขาช่วยให้บาร์เซโลนา ดำเนินการอย่างรอบคอบในตลาดซื้อขาย ดึงดูดผู้เล่นชั้นนำมาในราคาที่เหมาะสม จนมาทำได้อย่างยอดเยี่ยมอีกครั้งที่แมนเชสเตอร์ ซิตี

โซเรียโน มีงานใหญ่แบบโหดมหาหินคือ การแก้ปัญหาของข้อกล่าวหา กฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ หรือเอฟเอฟพี ที่เรื้อรังยืดเยื้อยาวนาน และยังคงรออยู่ข้างหน้า

แต่กลุ่มทุนอาบูดาบี ซีเอฟจี และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เชื่อมั่นว่า เขายังเป็นคนที่เหมาะสมในการที่ดำเนินการตามความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาต่อไป

 

เรื่อง: พรเทพ เฮง

ภาพ: แฟ้มภาพ (ซ้าย) อัล มูบารัค และ ชีค มานซูร์ ไฟล์จาก Getty Images