‘รุด กุลลิต’ เจ้างูเก็งก็อง ตำนานทหารเสือแห่งอัศวินสีส้ม ผู้พาทีมคว้าแชมป์ยุโรป

‘รุด กุลลิต’ เจ้างูเก็งก็อง ตำนานทหารเสือแห่งอัศวินสีส้ม ผู้พาทีมคว้าแชมป์ยุโรป

‘รุด กุลลิต’ เจ้าของฉายา 'เจ้างูเก็งก็อง' หนึ่งในตำนาน 3 ทหารเสือ ผู้พาอัศวินสีส้มคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือยูฟ่า ยูโรเปียน แชมเปียนชิพในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งการคว้าแชมป์ในครั้งนั้นคือแชมป์เดียวของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ในระดับเมเจอร์

  • ‘รุด กุลลิต’ เป็นอดีตนักเตะทีมชาติเนเธอแลนด์ และเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลระดับตำนาน
  • เขาไม่เพียงมีทัศนะการเล่นฟุตบอลที่ยอดเยี่ยม แต่ยังมีความเป็นผู้นำสูง 
  • ปี ค.ศ. 1988 เขาเป็นหนึ่งในตำนาน 3 ทหารเสือที่พาทีมอัศวินสีส้มคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ซึ่งเป็นแชมป์เดียวของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ในระดับเมเจอร์ 

‘รุด กุลลิต’ คือนักฟุตบอลทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ผู้ที่มีส่วนร่วมสำคัญในการพาทีมอัศวินสีส้มคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือยูฟ่า ยูโรเปียน แชมเปียนชิพ (UEFA European Championship) ในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งการคว้าแชมป์ในครั้งนั้นคือแชมป์เดียวของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ในระดับเมเจอร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพของกุลลิตขึ้นชูถ้วยยูโรโทรฟี่ในฐานะกัปตันทีมครั้งนั้นยังคงตราตรึงใจแฟนฟุตบอลชาวดัตช์และแฟนฟุตบอลทั่วโลกมาจนทุกวันนี้

กุลลิตเป็นนักฟุตบอลที่มีบุคลิกความเป็นผู้นำสูงประกอบกับลีลาการเล่นอันโดดเด่นสามารถเล่นได้หลากหลายตำแหน่ง รวมทั้งเป็นนักเตะที่เข้ากับปรัชญาโททัลฟุตบอลได้เป็นอย่างดีในยุคสมัยนั้น ทำให้เขาคือกุญแจสำคัญในความสำเร็จของทีมชาติเนเธอร์แลนด์และเป็นตำนานของวงการฟุตบอลดัตช์มาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้แฟนฟุตบอลสะดุดตาและจดจำกุลลิตได้ก็คือทรงผม ‘งูเก็งก็อง’ อันโดดเด่น

สำหรับในระดับสโมสรนั้นกุลลิตก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตำนานของสโมสรเอซี มิลานในยุคสามทหารเสือดัตช์ อันประกอบตัว ‘มาร์โก ฟาน บาสเท่น’, ‘แฟรงค์ ไรจ์การ์ด’ และเจ้าตัวเองที่ส่งต่อความสำเร็จจากทีมชาติเนเธอร์แลนด์สู่ยอดสโมสรแดนมะกะโรนี โดยกุลลิตอยู่ในทีมชุดคว้าแชมป์กัลโช่ เซเรียอา (Calcio Serie A) 3 สมัย, แชมป์ยูโรเปียน คัพ (European Cup) 2 สมัย และแชมป์อินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ (Intercontinental Cup) อีก 1 สมัย 

จวบจนเมื่อเจ้าตัวย้ายข้ามฟากมายังเกาะอังกฤษ รุด กุลลิตก็เป็นทั้งผู้เล่นและผู้จัดการทีมของสโมสรเชลซี และพาทีมสิงโตน้ำเงินครามคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ (FA Cup) ได้สำเร็จในฐานะผู้จัดการทีมอีกด้วย

เส้นทางชีวิตสายลูกหนังของเขานั้นนับว่าไม่ธรรมดา จนเข้าขั้นระดับตำนานของโลกเลยก็ว่าได้

ขณะที่ชีวิตนอกสนามนั้นกุลลิตเคยสร้างภาพแห่งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญมาแล้วเช่นกัน เมื่อเจ้าตัวตัดสินใจมอบรางวัลบัลลงดอร์ (Ballon d'Or) ที่ได้รับในปี ค.ศ. 1987 ให้แก่ ‘เนลสัน แมนเดลา’ มหาบุรุษแห่งแอฟริกาใต้ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวและการต่อสู่เพื่อความเท่าเทียมมาแล้ว เรียกได้ว่า รุด กุลลิตเป็นหนึ่งในนักต่อสู้ทั้งในบทบาทของนักฟุตบอลและบทบาทมนุษย์คนหนึ่งบนโลกใบนี้

เรื่องราวของรุด กุลลิตจะเป็นอย่างไร กว่าจะประสบความสำเร็จและเป็นนักฟุตบอลระดับตำนานนั้น เจ้าตัวจะต้องต่อสู้กับอะไรมาบาง เชิญติดตามได้ต่อจากนี้ครับ

จุดเริ่มต้น ณ ดินแดนกังหันลม

รุด กุลลิตเกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1962 ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยครอบครัวของเขานั้นเป็นชาวซูรินาเมที่เดินทางมาตั้งรกรากยังดินแดนกังหันลม ในวัย 5 ขวบเขาเริ่มต้นเล่นฟุตบอลกับทีมเยาวชนของสโมสรเอเอสวี เมียร์บอย (ASV Meerboys) ซึ่งเป็นสโมสรระดับสมัครเล่นในชานเมืองอัมสเตอร์ดัม 

.

เจ้าตัวฝึกทักษะตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนมีพัฒนาการที่น่าสนใจ และเมื่ออายุได้ 13 ปี จึงได้มีโอกาสย้ายไปร่วมทีมเยาวชนของสโมสรอัมสเตอร์ดัม ฟุตบอล คลับ ดอร์ วิลสคราชท์ สเติร์ก (Amsterdamsche Football Club Door Wilskracht Sterk : DWS) ซึ่ง ณ สโมสรแห่งนี้เจ้าตัวได้พบกับเยาวชนฝีเท้าดีมากมายจนเจ้าตัวมีพัฒนาการที่ยอดเยี่ยมแบบก้าวกระโดดเกินวัย 

.

วันที่ 22 กันยายน ปี ค.ศ. 1978 หลังจากที่กุลลิตมีอายุครบ 16 ปีได้ไม่นาน เจ้าตัวก็ได้รับโอกาสสำคัญในชีวิตการค้าแข้ง โดยได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลอาชีพกับสโมสรเอชเอฟซี ฮาร์เลม (HFC Haarlem) นอกจากนั้นฝีเท้าของกุลลิตยังไปสะดุดตาของทีมงานสต๊าฟโค้ชทีมชาติเนเธอร์แลนด์ชุดอายุไม่เกิน 21 ปี จนเขานั้นได้มีโอกาสติดทีมชาติอัศวินสีส้มในรุ่นอายุดังกล่าวด้วยวัย 16 ปีเท่านั้น นับเป็นการการันตีได้เป็นอย่างดีว่าเจ้าตัวมีฝีเท้าที่ดีเกินอายุอย่างไม่ต้องสงสัย

กุลลิตทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมกับสโมสรเอชเอฟซี ฮาร์เลมตลอดช่วงระยะเวลาระหว่างปี 1979-1982 โดยเจ้าตัวลงสนามทั้งในเอเรดิวิซี (Eredivisie) และเคอเก้น คัมปิออง ดิวิซิเอ (Keuken Kampioen Divisie) หรือก็คือฟุตบอลในระดับดิวิชั่น 1 และ 2 ของประเทศเนเธอร์แลนด์ไปรวมกันทั้งสิ้นกว่า 100 นัด ทำประตูได้ทั้งหมด 36 ประตู (อ้างอิงสถิติข้อมูลจาก transfermarkt.com) ซึ่งด้วยผลงานนี้ทำให้กุลลิตมีโอกาสติดทีมชาติเนเธอร์แลนด์ชุดใหญ่และย้ายไปค้าแข้งกับสโมสรที่ใหญ่กว่าอย่างเฟเยนูร์ด (Feyenoord)

ที่เฟเยนูร์ดกุลลิตในวัย 20 ปี ยังคงสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเมื่อเจ้าตัวถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการพาสโมสรเฟเยนูร์ดขึ้นสู่จุดสูงสุดคว้าดับเบิลแชมป์ทั้งเอเรดิวิซีและดัตช์ คัพ (Dutch Cup) ในฤดูกาล 1983-84 มาครองได้สำเร็จ โดยในฤดูกาลนั้นเขาลงสนามในฟุตบอลลีกไปทั้งหมด 33 นัด ทำประตูได้ 15 ประตู ขณะที่ในฟุตบอลถ้วยกุลลิตลงสนาม 8 นัด ทำได้ 9 ประตู 

นับว่าเป็นผลงานที่แฟนฟุตบอลแห่งร็อตเตอร์ดัมยังจดจำมาจนทุกวันนี้ และหลังจากที่เจ้าตัวสร้างผลงานกับเฟเยนูร์ดได้อย่างยอดเยี่ยมตลอด 3 ฤดูกาลที่ค้าแข้งอยู่ก็ถึงเวลาที่เขาจะต้องมองหาความท้าทายที่ใหญ่กว่าเดิม

สโมสรพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น (PSV Eindhoven) คือตัวเลือกที่ดีที่สุดของแข้งหนุ่มวัย 23 ปีรายนี้ กุลลิตค้าแข้งอยู่กับไอนด์โฮเฟ่นเพียงแค่ 2 ฤดูกาลเท่านั้นในระหว่างปี ค.ศ. 1985-1987 แต่ก็ทำผลงานโดดเด่นโดยลงสนามไป 75 นัดทำประตูได้ทั้งหมด 53 ประตูกับอีก 29 แอสซิสต์และพาทีมต้นสังกัดคว้าแชมป์เอเรดิวิซีได้ถึง 2 สมัยติดต่อกัน และในช่วงเวลาดังกล่าวเขาเคยเดินทางมาแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรระหว่างสโมสรพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่นกับทีมชาติไทยมาแล้วอีกด้วย จากนั้นเจ้าตัวก็ย้ายออกไปหาความท้าทายใหม่ในถิ่นซานซิโร่ ประเทศอิตาลี

คว้าบัลลงดอร์ ต่อด้วยการสร้างตำนานคว้าแชมป์หนึ่งเดียวของอัศวินสีส้ม

กุลลิตย้ายมาพิสูจน์ความสามารถยังแดนมักกะโรนีกับสโมสรเอซี มิลาน ในปี ค.ศ. 1987 โดยทีมปีศาจแดงดำในยุคนั้นบริหารโดยประธานสโมสรนามว่า ‘ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี’ ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศอิตาลี โดยแบร์ลุสโคนีมีความต้องการอยากได้ตัวกุลลิตเป็นอย่างมาก เพราะเขามองว่าสไตล์การเล่นของนักเตะดัตช์รายนี้จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการพาทีมเอซี มิลานกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้

กุลลิตย้ายมายังถิ่นซานซิโร่ด้วยค่าตัวราว 7 ล้านปอนด์หรือประมาณ 6.75 ล้านยูโร ซึ่งนับว่าเป็นค่าตัวที่สูงเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น และได้มีโอกาสร่วมงานกับยอดนักเตะมากมายทั้งเพื่อนร่วมทีมชาติเนเธอร์แลนด์อย่าง ‘มาร์โก ฟาน บาสเท่น’, ‘แฟรงค์ ไรจ์การ์ด’ หรือแข้งดังอิตาลีอย่าง ‘เปาโล มัลดีนี’ และ ‘ฟรังโก บาเรซี่’ 

นั่นจึงทำให้ฟอร์มของกุลลิตโดดเด่นเป็นอย่างมากในช่วงปีนั้นจนได้รับรางวัลบัลลงดอร์ (Ballon d'Or) ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะมอบรางวัลดังกล่าวให้กับ ‘เนลสัน แมนเดลา’ รัฐบุรุษแห่งประเทศแอฟริกาใต้ บุคคลที่กุลลิตให้ความนับถือเป็นอย่างมาก

กุลลิตมีส่วนสำคัญในการพาสโมสรเอซี มิลานคว้าแชมป์กัลโช่ เซเรียอา ฤดูกาล 1987-88 ได้สำเร็จ เป็นการคว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีของสโมสร และแม้ว่าในฤดูกาลแรกนั้นเขาจะต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตต่างประเทศเป็นครั้งแรกอยู่พอสมควรทั้งเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ 

แต่เจ้าตัวก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกุนซือ ‘อาร์ริโก ซัคคี่’ โดยกุลลิตได้รับโอกาสลงสนามไปทั้งสิ้น 29 นัดทำประตูไปได้ 9 ประตูกับ 10 แอสซิสต์ ซึ่งถ้วยสคูเดตโต้ใบนี้นับเป็นรางวัลชิ้นใหญ่ของเขา

หลังจากจบฤดูกาลแรกกับทีมปีศาจแดงดำแล้ว กุลลิตได้นำทีมชาติเนเธอร์แลนด์เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ปี 1988 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศเยอรมันตะวันตก ในฐานะกัปตันทีม 

ทีมอัศวินสีส้มในยุคนั้นนับว่าแข็งแกร่งเป็นอย่างมากและก็เป็นความหวังของชาวดัตช์ที่ต้องการจะเห็นชัยชนะของทีมชาติตนเองในรายการฟุตบอลระดับเมเจอร์เสียที แต่เหมือนความฝันดังกล่าวจะต้องสลายลงเพียงแค่นัดเปิดสนามเท่านั้นเมื่อทีมอัศวินสีส้มต้องพ่ายแพ้ให้กับทีมชาติสหภาพโซเวียตไป 0-1

กุลลิตแสดงความเป็นผู้นำออกมาในฐานะกัปตันทีมได้อย่างยอดเยี่ยม เขาพยายามกระตุ้นเพื่อนร่วมทีมให้กลับมามีความเชื่อมั่นและสานฟันของแฟนฟุตบอลดัตช์รวมทั้งของพวกเขาเองให้สำเร็จ กุลลิตนำทีมลงสนามในนัดที่ 2 พบกับทีมชาติอังกฤษอดีตแชมป์โลก ซึ่งขุนพลอัศวินสีส้มก็สามารถคืนฟอร์มเก่งได้สำเร็จอัดทีมสิงโตคำรามไป 3-1 ตามต่อด้วยการเอาชนะทีมชาติไอร์แลนด์ในรอบแรกนัดสุดท้ายผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปพบกับศึกหนักอย่างทีมชาติเยอรมันตะวันตกเจ้าภาพ

กุลลิตและเพื่อนร่วมทีมต่อสู้กับทีมอินทรีเหล็กอย่างไม่มีเกรงกลัว พวกเขาเล่นฟุตบอลได้อย่างดุดันและสวยงามจนสามารถพลิกเอาชนะทีมชาติเยอรมันตะวันตกไปได้ 2-1 ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปล้างตากับทีมชาติสหภาพโซเวียตที่พวกเขาพ่ายแพ้มาในนัดเปิดสนาม โดยการแข่งขันในนัดตัดสินแชมป์นี้ช่วงแรกเกมการแข่งขันเป็นไปอย่างอึดอัดและเต็มไปด้วยความกดดันของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ 

จนเกมดำเนินมาถึงนาที 32 ของการแข่งขันกุลลิตก็โหม่งทำประตูสุดสวยทลายกำแพงความกดดันนั้นได้สำเร็จ และในท้ายที่สุดขุนพลอัศวินสีส้มก็สามารถรวมพลังกันสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปมาครองได้

นับเป็นแชมป์ฟุตบอลรายการเมเจอร์เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ภาพที่กุลลิทชูโทรฟี่เจ้ายุโรปยังคงเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สร้างความสุขให้กับแฟนฟุตบอลชาวดัตช์ทุกครั้งที่ได้เห็นภาพหรือรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

ลาอิตาลีสู่ความท้าทายใหม่ที่เกาะอังกฤษ

หลังจากที่กุลลิตประสบความสำเร็จกับทีมชาติเนเธอร์แลนด์ในปี 1988 แล้วนั้น เจ้าตัวก็กลับมาสานต่อความยิ่งใหญ่กับสโมสรเอซี มิลาน โดยเขาเป็นกำลังสำคัญพาทีมปีศาจแดงดำคว้าแชมป์ฟุตบอลยูโรเปียน คัพในฤดูกาล 1988-89 ได้สำเร็จ ซึ่งรายการดังกล่าวกุลลิตสนามไปทั้งสิ้น 8 นัดและทำประตูได้ทั้งหมด 4 ประตู นับเป็นช่วงเวลาที่สุดยอดในอาชีพนักฟุตบอลของเจ้าตัว แต่ก็เหมือนกับโชคชะตามาเล่นตลกในเวลาต่อมา

ฤดูกาล 1989-90 กลับไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีของเจ้าตัวเมื่อกุลลิตได้รับบาดเจ็บอย่างหนักบริเวณหัวเข่าทำให้พลาดการลงสนามในฟุตบอลกัลโช่ เซเรียอาเกือบตลอดทั้งฤดูกาล แต่เขาก็ยังไม่ย่อท้อเจ้าตัวมุ่งมั่นต่อสู้กับอาการบาดเจ็บเพื่อต้องการที่จะคืนสนามให้ได้ และความพยายามของแข้งดัตช์รายนี้ก็เป็นผล กุลลิตกลับมาลงสนามได้ทันในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโรเปียน คัพ และก็พาสโมสรเอซี มิลานโค่นสโมสรเบนฟิก้า คว้าแชมป์สโมสรยุโรปเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันได้สำเร็จ

จากนั้นเขาก็มีส่วนกับความสำเร็จในการคว้าแชมป์กัลโช่ เซเรียอา ของสโมสรเอซี มิลาน ได้อีก 2 สมัยในฤดูกาล 1991–92 กับ 1992–93 โดยเจ้าตัวสามารถทำประตูได้ 7 ประตูทั้ง 2 ฤดูกาล แต่อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาส่วนตัวกับเพื่อนร่วมทีมทำให้หลังจากจบฤดูกาล 1992–93 กุลลิตตัดสินใจย้ายไปสู่สโมสรซามพ์โดเรียเพื่อนร่วมลีก ทำให้แฟนฟุตบอลปีศาจแดงดำต้องรู้สึกเสียดายและใจหายอย่างบอกไม่ถูก

ฤดูกาลใหม่กับสโมสรซามพ์โดเรียนั้นเขามีส่วนสำคัญในการพาขุนพลลาซามพ์คว้าแชมป์ฟุตบอลโคปา อิตาเลียในฤดูกาล 1993-94 มาครองได้ แต่ในฤดูกาลถัดมากุลลิตก็ย้ายกลับไปยังถิ่นซานซีโร่อีกครั้ง 

แต่การกลับไปในครั้งนั้นบรรยากาศมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วจนในท้ายที่สุดเจ้าตัวก็ต้องกลับมาตายรังกับสโมสรซามพ์โดเรียไปจนจบฤดูกาล 1994-95 และลาซามพ์ก็คือสโมสรสุดท้ายของกุลลิตในดินแดนมะกะโรนี

ฤดูกาล 1995-96 กุลลิตในวัย 32 ปี ได้ออกไปหาความท้าทายใหม่ในช่วงปลายของอาชีพการค้าแข้งโดยตัดสินใจมาร่วมทีมเชลซีในศึกพรีเมียร์ลักของประเทศอังกฤษ ภายใต้การคุมทีมของ ‘เกล็น ฮ็อดเดิ้ล’ ซึ่งกุลลิตแม้จะไม่ได้เฉียบคมเหมือนแต่ก่อนเพราะอายุที่มากขึ้น แต่วุฒิภาวะความเป็นผู้นำของเจ้าตัวนั้น ก็ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจให้ลงสนามไปถึง 31 นัดและกุลลิตก็ทำประตูไปได้ทั้งหมด 3 ประตู เจ้าตัวถือว่าเป็นผู้เล่นระดับเวิลด์คลาสคนแรกๆ ที่มาค้าแข้งในฟุตบอลลีกสูงสุดรูปโฉมใหม่ของประเทศอังกฤษ

ในฤดูกาลถัดมากุลลิตถูกดันขึ้นไปรับตำแหน่งผู้จัดการทีมแทนผู้จัดการทีมคนเดิมอย่างเกล็น ฮ็อดเดิ้ลที่ย้ายไปคุมทีมชาติอังกฤษ โดยกุลลิตรับบทเป็นทั้งผู้เล่นและผู้จัดการทีมในเวลาเดียวกัน ซึ่งตลอด 2 ฤดูกาลที่คุมทีมเชลซีเจ้าตัวก็สร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมพาทีมสิงโตน้ำเงินครามคว้าแชมป์ฟุตบอลเอฟเอ คัพมาครองได้ในฤดูกาล 1996-97

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเมื่อหลังจากนั้นเจ้าตัวถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างน่าเสียดาย เพราะในยุคที่เจ้าตัวคุมทีมนั้นก็ได้สร้างความแปลกใหม่ด้วยการเสริมผู้เล่นจากอิตาลีอย่าง ‘จานฟรังโก้ โซล่า' และ ‘โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ’ มาร่วมทีม ก่อนที่จะตามมาด้วยผู้เล่นที่น่าสนใจมากมาย

อย่างไรก็ตามความสำเร็จของกุลลิตบนเกาะอังกฤษก็ทำให้ผู้เล่นระดับโลกอีกหลายคนต่างทยอยกันไปค้าแข้งในศึกพรีเมียร์ลีกและก็ได้รับความนิยมมาจนทุกวันนี้ แม้ว่าหลังจากนั้นกุลลิตจะไม่ได้โด่งดังในฐานะผู้จัดการทีมแต่เจ้าตัวก็ยังได้รับการยอมรับนับถือจากคนในวงการฟุตบอลมากมาย หลายคนยังคงยกให้เขาเป็นตำนานของโลกลูกหนังมาจนทุกวันนี้

นี่คือเรื่องราวของ ‘รุด กุลลิท’ เจ้างูเก็งก็องอีกหนึ่งนักฟุตบอลระดับตำนาน ชายผู้มีความเป็นผู้นำและมุ่งมั่นทำทุกอย่างจนสำเร็จเป็นประวัติศาสตร์ของทั้งทีมชาติและสโมสร ชายผู้ซึ่งต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทั้งในและนอกสนาม อีกหนึ่งตำนานแข้งดัตช์ที่เราอยากให้ทุกคนรู้จักครับ