02 มิ.ย. 2567 | 08:00 น.
KEY
POINTS
“ถ้าถามผมว่าเคยเห็นเด็กอายุ 16 ปี แบบนี้มาก่อนไหม?
“ผมตอบเลยว่าไม่ — อาจมีแค่ เมสซี่ คนเดียว”
‘เป๊ป โคลเท็ต’ (Pep Clotet) อดีตผู้จัดการทีมเบอร์มิงแฮม ซิตี้ กล่าวถึง ‘จู๊ด เบลลิงแฮม’ (Jude Bellingham) มิดฟิลด์ดาวรุ่งทีมชาติอังกฤษ ซึ่งถูกยกให้เป็นอนาคตใหม่ของวงการลูกหนัง และหลายคนเชื่อว่าจะก้าวไปคว้ารางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลกคนต่อไปหลังยุคของ ‘เมสซี่ - โรนัลโด้’
จู๊ดเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการลูกหนังมากมายตั้งแต่อายุยังน้อย เริ่มตั้งแต่เป็นนักฟุตบอลอายุ 17 ปี ที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ สมัยย้ายจากเบอร์มิงแฮมไปค้าแข้งที่โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์
ตอนอยู่ดอร์ทมุนด์ เขายังโชว์ฝีเท้าและวุฒิภาวะเกินวัยจนได้รับความไว้วางใจให้สวมปลอกแขนกัปตันทีมในวัย 19 ปี ทำลายสถิติกัปตันทีมอายุน้อยที่สุดตลอดกาลของสโมสรและศึกบุนเดสลีกาเยอรมัน ก่อนย้ายไปค้าแข้งกับทีม ‘เจ้ายุโรป’ อย่างเรอัล มาดริด และกลายเป็นดาวซัลโวของทีมตั้งแต่ซีซั่นแรก ขณะอายุเพียง 20 ปี
ความสำเร็จอันรวดเร็วนี้หลายคนอาจไม่ทราบว่า จุดเริ่มต้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จู๊ดไม่ใช่เด็กที่เกิดมาชื่นชอบฟุตบอลทันที แต่เมื่อเขาเลือกทางนี้ ทุกคนรอบตัวล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือเด็กที่จะก้าวไปเป็นสุดยอดนักเตะในอนาคต
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เด็กคนหนึ่งซึ่งไม่ชอบฟุตบอล เกิดเปลี่ยนใจหันมาหลงใหลเกมลูกหนัง และยังทำได้ดีถึงขั้นเขียนสถิติใหม่ขึ้นมามากมาย เราจะพาไปไขเบื้องหลังความสำเร็จนี้ด้วยกัน
“ความทรงจำแรกที่นึกออกเกี่ยวกับฟุตบอล คือ การเป็นโค้ชของพ่อ ซึ่งพ่อทำในช่วงเช้าวันอาทิตย์ และผมก็ไม่ได้รู้สึกสนุกอะไร แต่ก็เล่นไปเพราะพ่อต้องการ
“ผมแค่สนุกตอนได้วิ่งแข่งช่วงเริ่มซ้อม เหมือนเกมแมวไล่จับหนู ส่วนเกมฟุตบอลจริง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ผมหลงใหล” จู๊ดเล่าความหลังครั้งเริ่มรู้จักเกมลูกหนังใหม่ ๆ
‘จู๊ด วิกเตอร์ เบลลิงแฮม’ (Jude Victor Bellingham) คือชื่อเต็มของเขา เขาเกิดวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2003 ที่เมืองสตาวร์บริดจ์ (Stourbridge) ประเทศอังกฤษ เป็นพี่ชายคนโตของครอบครัว ซึ่งมีน้องชายอีกคนชื่อ ‘โจ๊บ’ (Jobe) ทั้งคู่ล้วนโตขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
‘มาร์ค’ (Mark) พ่อของทั้งคู่เคยมีอาชีพตำรวจ และรับจ็อบเล่นฟุตบอลควบคู่กันไป โดยตำแหน่งในสนามของมาร์ค คือ ศูนย์หน้าของทีมนอกลีก ตลอดการฟาดแข้งในลีกกึ่งอาชีพนาน 25 ปี เขาพังประตูได้มากกว่า 700 ลูกเลยทีเดียว
นั่นคือที่มาซึ่งทำให้ มาร์ค อยากปั้นลูกชายทั้งสองเป็นนักฟุตบอลเหมือนตัวเอง โดยเริ่มจากการจับมือกับเพื่อนชื่อ ‘ฟิล วูลดริดจ์’ (Phil Wooldridge) ก่อตั้งทีมเยาวชนท้องถิ่นชื่อ ‘สตาวร์บริดจ์ จูเนียร์’ เพื่อให้ลูกชายได้มีโอกาสพัฒนาฝีเท้าตั้งแต่เยาว์วัย
“กว่าเขาจะอยากเล่นฟุตบอลจริงจังต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ไม่ใช่แค่ชั่วข้ามคืน แต่นานหลายเดือนอยู่เหมือนกัน” วูลดริดจ์ กล่าวถึงความพยายามโน้มน้าวว่าที่ซูเปอร์สตาร์ตัวน้อยในวัย 4 - 5 ขวบ ให้หันมาเล่นฟุตบอล
“จู๊ดไม่ค่อยชอบเล่นบอลนัก เขาดูเหมือนไม่สนใจฟุตบอลเลยด้วยซ้ำ ถ้าคุณส่งลูกบอลให้ เขาก็จะปาทิ้ง ไม่ได้อยากเอามาเตะเล่นสักเท่าไหร่” เดนิส (Denise) แม่ของจู๊ด ช่วยยืนยันอีกเสียง พร้อมเปิดเผยว่า กว่าลูกชายคนนี้จะเริ่มสนใจฟุตบอลก็ต้องรอจนอายุประมาณ 6 ขวบ
“ผมจำได้แรก ๆ เหมือนถูกบังคับนิด ๆ ให้เล่นบอล แต่อย่างที่บอกเมื่อมันคลิก (ทำท่าดีดนิ้ว) ก็เหมือนเปิดสวิตช์ ผมหลงใหลและอยากเตะบอลตลอดเวลา จากนั้นไม่ว่าเราไปไหนก็จะคุยกันแต่เรื่องฟุตบอล”
จู๊ดกล่าวถึงช่วงเวลาที่เขาเปลี่ยนใจหันมาคลั่งไคล้เกมลูกหนังโดยไม่รู้ตัว ทว่า ความชอบอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะใคร ๆ ก็หลงใหลกีฬานี้ แต่ไม่สามารถไปได้ไกลถึงขั้นเอาดีจนยึดเป็นอาชีพและประสบความสำเร็จ
หลังหันมาจริงจังกับฟุตบอล จู๊ดเริ่มตระเวนลับแข้งกับทีมสตาวร์บริดจ์ จูเนียร์ จนถึงวัย 7 ขวบ จึงได้เข้าไปเป็นเด็กฝึกในอะคาเดมี่ของทีมเบอร์มิงแฮม ซิตี้ สโมสรท้องถิ่นในบ้านเกิด ซึ่งเป็นทีมที่ครอบครัวตามเชียร์มาตลอด
ไมค์ ดอดส์ (Mike Dodds) อดีตโค้ชอะคาเดมี่ของเบอร์มิงแฮม กล่าวถึงจู๊ดในวัย 7 ขวบว่า “เขามีความเร็ว ส่วนเทคนิคก็ไม่ได้เก่งไปกว่าเด็กคนอื่น ๆ มากนัก แต่ที่แตกต่าง คือ เขามีความกระหายและคลั่งไคล้กีฬานี้จริง ๆ
“เขามีความต้องการแรงกล้าที่จะเป็นคนเก่งที่สุดในทุกเรื่อง ไม่ว่าเวลาเข้ายิม วิเคราะห์วิจารณ์เกม รวมถึงตอนเรียนหนังสือ หรือลงแข่งในวันเสาร์ - อาทิตย์ ความกระหายและการมีส่วนร่วมของเขาปรากฏออกมาให้เห็นเด่นชัดกว่าเด็กคนอื่น ๆ”
ไซม่อน โจนส์ (Simon Jones) แมวมองผู้ดึงตัวจู๊ดเข้าอะคาเดมี่ กล่าวถึงทัศนคตินี้เช่นกัน
“จู๊ดสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เขามุ่งหวัง แม้จะไม่ใช่การเล่นฟุตบอล
“เด็กบางคนเมื่อเล่นฟุตบอลมาก ๆ เข้า พอขึ้นชั้นประถมฯ และต่อถึงมัธยมฯ พวกเขาอาจได้ลองเล่นกีฬาอื่น ผมคิดว่าไม่ว่าอะไรที่เขาเลือก เขาจะประสบความสำเร็จ เพราะเขามีนิสัยเด็ดเดี่ยว หิวกระหาย และมีแรงขับที่จะเป็นคนเก่งที่สุดในทุกเรื่องที่ทำ”
“คุณเตรียมตัวมาทั้งสัปดาห์ หรืออาจจะ 2 - 3 วัน เพื่อเกม ๆ หนึ่ง พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะ แต่ถ้าผลไม่เป็นเช่นนั้น คุณจะรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น
“คุณจะเสียดายเวลา รู้สึกทำให้ตัวเองและทุกคนผิดหวัง เป็นคนที่แย่ลงหลังจากพ่ายแพ้
“แต่เมื่อเราชนะ ผมจะรู้สึกเป็นคนที่เก่งขึ้นมาทันที มีความสุขมากขึ้น รู้สึกอยากทำอะไรต่าง ๆ มากขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่อาจไม่จริงก็ได้นะ” จู๊ดบรรยายแรงขับลึก ๆ ในใจ
แม้จะมีความทะเยอทะยาน และต้องการเป็นที่หนึ่งเสมอ แต่จู๊ดก็ได้รับคำชื่นชมจากคนรอบตัวทั้งที่โรงเรียนและสโมสรว่า เขาเป็นเด็กติดดิน ไม่เย่อหยิ่ง และเป็นตัวอย่างที่ดีของทุกคน
“เขาทิ้งมรดกไว้ที่นี่มากมายทั้งเรื่องความมีน้ำใจนักกีฬา มีความทะเยอทะยานและพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้” วาเนสซ่า เพย์น (Vanessa Payne) อดีตครูใหญ่ในโรงเรียนประถมฯ ที่จู๊ดเคยศึกษากล่าวชม และเผยว่า จู๊ดในวัย 10 ขวบ เคยเขียนเล่าความฝันว่าอยากโตไปเป็นนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ
“เขาเป็นคนจิตใจดี มีความรอบคอบ และโอบอ้อมอารี เขาเป็นเด็กคนหนึ่งที่ใครก็อยากอยู่ใกล้”
จู๊ดยอมรับว่า นอกจากชัยชนะในเกมกีฬา การเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นหลังก็สำคัญสำหรับเขาไม่แพ้กัน
“มันจะดีมากเลยที่ได้เป็นคนที่เด็ก ๆ สามารถพูดถึงเมื่อโตขึ้นมาว่า ‘ฉันเคยดูเบลลิงแฮมเล่นตอนมาสนามนี้เมื่อหลายปีก่อน”
จู๊ดเติบโตในอะคาเดมี่ของเบอร์มิงแฮม ซึ่งเป็นทีมในลีกแชมเปี้ยนชิป หรือลีกอันดับสอง รองจากพรีเมียร์ลีก จนกระทั่งอายุ 16 ปี กับอีก 38 วัน ‘เป๊ป โคลเท็ต’ ผู้จัดการทีมในขณะนั้นจึงตัดสินใจส่งลงสนามเป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรที่ได้ลงเล่นชุดใหญ่
เขาลงเล่นกับชุดใหญ่ในฤดูกาล 2019 - 2020 รวม 32 นัด ทำไป 4 ประตู กับ 2 แอสซิสต์ กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สโมสรใหญ่ ๆ หมายมั่นปั้นมืออยากได้ โดยเฉพาะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่สุดท้ายหลังจบฤดูกาลดังกล่าว จู๊ดเลือกย้ายไปอยู่กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในเยอรมนี ด้วยค่าตัว 25 ล้านปอนด์ สูงสุดเป็นสถิติโลกใหม่ของนักเตะวัย 17 ปี
ด้วยฝีเท้า ความทุ่มเท และรายได้มหาศาลที่นำเข้าสู่สโมสร แม้จะเล่นให้ทีมชุดใหญ่ไปแค่ฤดูกาลเดียว เบอร์มิงแฮมประกาศยกเลิกใช้เสื้อหมายเลข 22 เพื่อเป็นเกียรติให้กับจู๊ดทันที โดยเบอร์นี้ เขาเลือกตามคำแนะนำของโค้ชดอดจ์ ซึ่งต้องการให้เล่นเป็นมิดฟิลด์ที่ ‘ครบเครื่อง’ ทั้งตัวรุกหมายเลข 10 บวกกับตัวเชื่อมเกม ‘บ็อกซ์-ทู-บ็อกซ์’ เบอร์ 8 และตัวรับหมายเลข 4 เมื่อรวมกันจึงกลายเป็นเบอร์ 22 ที่เขาสวมใส่เป็นประจำ
ส่วนเหตุผลที่ปฏิเสธแมนฯ ยูไนเต็ด ทั้งที่เป็นทีมใหญ่ เงินหนา และอยู่ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง แต่เลือกย้ายออกจาก ‘คอมฟอร์ตโซน’ ไปเยอรมนี เพราะต้องการการันตีโอกาสลงสนาม เนื่องจากดอร์ทมุนด์มีชื่อเสียงเรื่องการปั้นดาวรุ่ง และมีนักเตะรุ่นพี่ร่วมชาติอย่าง ‘เจดอน ซานโช่’ เดินทางไปพิสูจน์ให้เห็นมาก่อนแล้ว
จู๊ดเล่นให้ดอร์ทมุนด์ทั้งหมด 3 ซีซั่น ตั้งแต่ปี 2020 - 2023 พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมายจากการร่วมทีมกับนักเตะรุ่นใหญ่จอมเก๋าอย่าง ‘มาร์โก้ รอยส์’ และ ‘มัตส์ ฮุมเมิลส์’ รวมถึงดาวรุ่งด้วยกันอย่าง ‘ซานโช่’ และ ‘เออร์ลิ่ง ฮาลันด์’
ขณะเดียวกันก็มีโอกาสโชว์ฝีเท้าและดวลแข้งกับนักเตะซูเปอร์สตาร์ของโลกมากมายบนเวทีใหญ่ที่สุดของยุโรป ด้วยความสามารถและวุฒิภาวะเกินวัยที่แสดงออกมา ดอร์ทมุนด์ยังเลือกจู๊ดในวัย 19 ปี ให้สวมปลอกแขนกัปตันทีมแทน ‘รอยส์’ ตอนได้รับบาดเจ็บ ทำให้เขากลายเป็นกัปตันทีมอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของทั้งสโมสรและศึกบุนเดสลีกาเยอรมัน
เมื่อขัดเกลาฝีเท้าและภาวะผู้นำจนได้ที่ หลังจบซีซั่น 2022 - 2023 จู๊ดในวัย 20 ปี เลือกอพยพย้ายทีมอีกครั้ง คราวนี้เป็นการเดินทางไปสเปน หลังดอร์ทมุนด์ขายเขาให้กับ ‘ราชันชุดขาว’ เรอัล มาดริด ด้วยค่าตัวเริ่มต้น 103 ล้านยูโร (89.6 ล้านปอนด์) พร้อมเงื่อนไขอีกมากมาย
จู๊ดกลายเป็นนักเตะรุ่นที่สามในทีมรวมดาราซูเปอร์สตาร์ของมาดริด ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘กาลาติกอส’ ตามรอยรุ่นพี่ร่วมชาติในอดีตอย่าง ‘เดวิด เบ็คแฮม’ ‘ไมเคิล โอเว่น’ และ ‘สตีฟ แม็คมานามาน’ ตลอดจนตำนานของโลกอย่าง ‘หลุยส์ ฟิโก้’ ‘คริสเตียโน่ โรนัลโด้’ และ ‘ซีนาดีน ซีดาน’
แฟนบอลหลายคนคาดหวังให้จู๊ดเป็น ‘นิว ซีดาน’ เนื่องจากได้สวมเสื้อหมายเลข 5 ของยอดมิดฟิลด์ในตำนานทีมชาติฝรั่งเศส ส่วนเบอร์ 22 ซึ่งเขาใช้มาประจำตั้งแต่อยู่กับเบอร์มิงแฮม และดอร์ทมุนด์ มีรุ่นพี่อย่าง ‘อันโตนิโอ รูดิเกอร์’ จับจองไปก่อนแล้ว
แม้การแบกรับความคาดหวังของแฟนบอลครั้งนี้จะหนักอึ้งเมื่อเทียบกับอายุของเขาในวัยเพียง 20 ปี แต่ภายในซีซั่นแรกที่เล่นให้มาดริด จู๊ดก็พิสูจน์ให้เห็นทันทีว่า เขาคู่ควรกับคำว่า ‘ซูเปอร์สตาร์’ และว่าที่ตำนานคนต่อไป
จู๊ดเริ่มโชว์ผลงานด้วยการทำ 10 ประตู ในการลงสนาม 10 นัดแรกให้มาดริด ก่อนจบฤดูกาล 2023 - 2024 ด้วยการพาต้นสังกัดคว้าแชมป์ลาลีกา พร้อมตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดของทีม ทำไปในลีกทั้งหมด 19 ประตู มากกว่าศูนย์หน้าตัวเป้าเพื่อนร่วมทีมอย่าง ‘วินิซิอุส จูเนียร์’ เสียด้วยซ้ำ
หลายประตูที่จู๊ดทำได้ยังมีความสำคัญถึงขั้นตัดสินผลแพ้ชนะ โดยเฉพาะในศึกแห่งศักดิ์ศรี ‘เอล กลาซิโก้’ กับคู่ปรับตลอดกาลอย่างบาร์เซโลน่า เขาเป็นผู้พังประตูชัยให้ ‘ชุดขาว’ เอาชนะคู่ปรับทีมนี้ได้ทั้งนัดเหย้า - เยือน หรือจะเรียกว่าเป็นซีซั่นที่ ‘บาร์ซ่า’ ต้องยอมศิโรราบ เพราะจู๊ด เบลลิงแฮม ก็ว่าได้
นอกจากนี้ แค่ซีซั่นแรกที่จู๊ดเข้ามา เขายังพามาดริด ทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศศึกยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก ไปดวลกับทีมเก่าอย่างดอร์ทมุนด์ได้ทันที ทำให้ต้นสังกัดใหม่ของเขามีลุ้นครองถ้วยแชมป์ยุโรปเป็นสมัยที่ 15 การันตีสถานะ ‘เจ้ายุโรป’ ต่อไป (ขณะเขียนบทความนี้ นัดชิงชนะเลิศยังไม่เริ่มขึ้น)
“สิ่งที่ผมประหลาดใจที่สุดคือความเป็นผู้ใหญ่ของเขา อย่าลืมว่าเขาเพิ่งอายุ 20 ปี แต่มีทั้งความฉลาดและเรียนรู้ไว แถมมาอยู่ที่นี่ด้วยความสุข เขาเป็นเด็กเท้าติดดินที่เอาจริงเอาจังและเป็นมืออาชีพอย่างยิ่ง” คาร์โล อันเชลอตติ หัวหน้าผู้ฝึกสอนจอมเก๋าของเรอัล มาดริด กล่าวชื่นชม
“เขาฝึกซ้อมหนักมาก แม้อายุแค่ 20 ปี แต่เหมือนผู้ใหญ่วัย 30 ปีเลย เขามีความเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเหลือเชื่อ แถมยังเข้ากับคนอื่นได้ดีมาก ๆ ด้วย” โจเซลู เพื่อนร่วมทีมมาดริด ช่วยยืนยันอีกเสียง
นอกจากความสำเร็จระดับสโมสรแล้ว จู๊ดยังทำผลงานในนามทีมชาติได้ดีไม่แพ้กัน เขาติดทีมชาติอังกฤษตั้งแต่ชุดเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี (ยู-15) เรื่อยมาจนกระทั่งขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ครั้งแรกในวัย 17 ปี กับอีก 113 วัน
เขาสร้างสถิติเป็นเด็กอายุไม่ถึง 20 ปี คนที่สองในประวัติศาสตร์ทีมชาติอังกฤษ ที่สามารถทำประตูในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดยทำได้ในนัดดวลกับอิหร่านที่ ‘กาตาร์ 2022’ ส่วนเจ้าของสถิติคนก่อนหน้า คือ ‘ไมเคิล โอเว่น’ ใน ฟรองซ์ ’98
“ผมอยากมีชัยในทุกรายการทั้งในนามสโมสรและทีมชาติ… อยากเป็นนักเตะซูเปอร์สตาร์ เป็นผู้ที่ได้รับการจดจำและเปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขัน เป็นคนที่ใครก็อยากเข้ามาดูให้เห็นกับตาตัวเอง”
จู๊ดกล่าวถึงความฝันอันสูงสุด และยอมรับว่า ทัศนคติเหล่านี้เขาได้มาจากครอบครัว
“พ่อกับแม่ทำงานหนักมากเพื่อให้ผมได้ไปอยู่ในที่ ๆ ผมจะได้เล่นฟุตบอลอย่างเหมาะสม แม้ก่อนผมจะหันมาชอบฟุตบอล พวกเขาบอกเสมอว่า จงออกไปทำให้เต็มที่และสนุกกับมัน เราจะไม่บังคับลูกให้ทำอะไรที่ฝืนใจ
“ดังนั้น จงลองดูและสนุกกับมัน ถ้าลูกไม่ชอบ เราก็จะหยุด…
โชคดีนะที่ในที่สุดผมหลงรักมันขึ้นมา”
นอกจากครอบครัวจะอยู่เบื้องหลังแรงผลักดันที่ทำให้จู๊ดหันมาเอาดีกับฟุตบอล พ่อของเขาซึ่งมีประสบการณ์มากมายจากการเป็นดาวซัลโวให้ทีมนอกลีก ยังคอยให้คำปรึกษา และลาออกจากงานประจำมาทำหน้าที่ ‘เอเย่นต์’ ส่วนตัวให้กับลูกชาย
ส่วนแม่ของจู๊ด ซึ่งเคยทำงานในแผนกทรัพยากรบุคคลของบริษัทเอกชน ก็ลาออกมาตามดูแลลูกชายไม่ห่างเช่นกัน เธอตามไปอยู่กับจู๊ดทุกที่ทั้งในเยอรมนี และสเปน
“แม่มีบทบาทยิ่งใหญ่มาก ถ้าให้พูดตอนนี้
ผมคิดว่าบางทีเธอมีบทบาทมากกว่าทุกคน
แม้แต่โค้ช หรือผู้จัดการทีม ด้วยความสัตย์จริง”
ขณะเล่นให้เรอัล มาดริด ‘เดนิส’ คอยปักหลักดูแลจู๊ดอยู่ที่สเปน ส่วน ‘มาร์ค’ ต้องคอยบินไปมาระหว่างอังกฤษ - สเปน เนื่องจากน้องชายของจู๊ด ยังคงค้าแข้งในบ้านเกิดกับซันเดอร์แลนด์
“แม่กับพ่อต้องภูมิใจและมีความสุขมากกับลูกชายคนนี้ พวกเขาควรได้เครดิตด้วย เพราะเลี้ยงเด็กคนนี้ให้โตมาได้ดี และเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงแสดงความมี ‘คลาส’ ออกมาให้เห็น
“เด็กหนุ่มคนนี้ไม่เคยแสดงความอวดดี หรือเย่อหยิ่ง จนกว่าเขาจะมีบอลอยู่กับเท้า แต่ถ้าอยู่นอกสนาม เขาคือสุภาพบุรุษร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นมาจากการเลี้ยงดู” ทอม รอสส์ นักวิเคราะห์วิจารณ์กีฬาจอมเก๋า กล่าวถึงเบื้องหลังความสำเร็จที่แท้จริงของจู๊ด เบลลิงแฮม
หากมองย้อนกลับไปตลอดเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาของจู๊ด คำพูดของ ‘รอสส์’ ถือว่าไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะถ้าขาดพ่อแม่ผู้มีความรู้และประสบการณ์คอยผลักดันและดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กคนนี้คงไม่สนใจเล่นฟุตบอล ไม่มีทัศนคติที่ดีของคนที่จะประสบความสำเร็จ และไม่มีคนคอยชี้แนะเรื่องการวางตัวทั้งในและนอกสนาม ซึ่งนำมาสู่การมีวุฒิภาวะมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน
…และที่สำคัญ โลกจะไม่มีนักเตะดาวรุ่งซูเปอร์สตาร์ที่ชื่อว่า ‘จู๊ด เบลลิงแฮม’
อ้างอิง
Jude Bellingham: From humble beginnings to shining on football's biggest stages | BBC
Jude Bellingham - the player and 'wonderful human being' | BBC
Jude Bellingham: Birmingham retire number 22 shirt in recognition of youngster | Sky
How I became Jude Bellingham | The rise of Dortmund's leader | DW Kick off! - Youtube
The Story of Jude Bellingham | Bundesliga - Youtube
The Rise of Jude Bellingham | Birmingham City Football Club - Youtube