‘ลามีน ยามาล’ นักเตะ ‘ลูกต่างด้าว’ จาก ‘ดาว 304’

‘ลามีน ยามาล’ นักเตะ ‘ลูกต่างด้าว’ จาก ‘ดาว 304’

‘ลามีน ยามาล’ นักเตะ ‘ลูกต่างด้าว’ จาก ‘ดาว 304’ เด็กหนุ่มอายุ 16 ปี ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนต่างด้าวและผู้อพยพในวงการฟุตบอล

KEY

POINTS

  • ลามีน ยามาล เป็นหนึ่งใน ‘สงคราม’ แย่งชิงแข้งพรสวรรค์ เนื่องจากเขาเป็นลูกผู้อพยพที่มี 3 สัญชาติ 
  • ในการลงเล่น ‘ยูโร 2024’ ยามาล วัย 16 ปี นอกจากจะเดินทางมาเตะบอลรับใช้ชาติในทัวร์นาเมนต์นี้ เขายังพก ‘ไอแพด’ ติดตัวมาเรียนออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย
  • ความอัจฉริยะเชิงลูกหนังของยามาล ทำให้เขาได้ข้ามชั้นในอะคาเดมีหลายครั้ง จนกระทั่งอายุ 15 ปี เจ้าหนูคนนี้ก็เริ่มเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการฟุตบอล
     

สำหรับแฟนบอลขาจรและคนทั่วไป การเปิดตัวของเจ้าหนู ‘ลามีน ยามาล’ (Lamine Yamal) ในศึกลูกหนัง ‘ยูโร 2024’ อาจไม่ต่างจากการมาเยือนโลกของ ‘เจ้าชายน้อย’ ในนวนิยายคลาสสิกของ ‘อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี’ (Antoine de Saint-Exupery) ที่มีทั้งความน่าทึ่ง กระตุ้นจินตนาการ และสะท้อนแง่มุมหลายด้านในสังคม

ความน่าทึ่งที่ว่าเริ่มจากการทำลายสถิติเป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการนี้ด้วยวัยเพียง 16 ปี กับอีก 338 วัน เด็กถึงขั้นนอกจากมารับใช้ชาติ ยังต้องแบกการบ้านมาทำด้วย เพราะยังเรียนไม่จบชั้นการศึกษาภาคบังคับ

ฟอร์มการเล่นในสนามก็เป็นอีกเรื่องที่ทั้งน่าทึ่งและปลุกเร้าจินตนาการ ด้วยลีลาลากเลื้อยหลบหลีกคู่แข่งอย่างคล่องแคล่วเกินวัย และไหวพริบการผ่านบอลที่แม่นยำ ยามาลในตำแหน่งปีกขวาทำให้หลายคนเลิกมองข้ามทีมชาติสเปน และยกให้ทีม ‘กระทิงดุ’ ที่เคยอยู่นอกสายตาก่อนออกสตาร์ท กลายเป็นทีมเต็งแชมป์รายการขึ้นมาทันที

การทำลายสถิติลงเล่นทีมชุดใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อยทั้งในนามทีมชาติและระดับสโมสร ยังทำให้ยามาล ถูกพูดถึงในวงกว้างว่าเป็นหนึ่งใน ‘สงคราม’ แย่งชิงแข้งพรสวรรค์ เนื่องจากเขาเป็นลูกผู้อพยพที่มี 3 สัญชาติ ทั้งสเปน โมร็อกโก และอิเควทอเรียลกินี ดังนั้น ชาติใดให้โอกาสหนูน้อยคนนี้ได้ไวก็มีสิทธิคว้าตัวไปเป็นกำลังสำคัญของทีมได้ก่อน

สงครามแย่งชิงยามาลจึงช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบรรดาคนต่างด้าวและผู้อพยพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการถกเถียงกันทั่วโลกในปัจจุบัน

เกิดในกาตาลุญญ่า เล่นให้บาร์ซาตั้งแต่เด็ก

‘ลามีน ยามาล นัสราอุย อิบานา’ (Lamine Yamal Nasraoui Ebana) คือชื่อเต็มของนักเตะดาวรุ่งคนนี้ เขาเกิดวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ในแคว้นกาตาลุญญ่า ของสเปน และเติบโตมาในย่านที่ชื่อว่า ‘โรคาฟอนด้า’ (Rocafonda) ตั้งอยู่ชายขอบของเมืองมาตาโร (Mataro) ในแคว้นเดียวกัน

แม้มาตาโรจะเป็นเมืองริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอยู่ไม่ไกลจากบาร์เซโลนา ใช้เวลาขับรถถึงกันได้ภายใน 1 ชั่วโมง แต่ย่านโรคาฟอนด้า ซึ่งยามาลเติบโตมาไม่ใช่พื้นที่ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จัก หรืออยากไปเยือนนัก

นั่นเป็นเพราะโรคาฟอนด้า คือถิ่นที่อยู่ของผู้ยากไร้ ประชากรเกือบครึ่งของที่นี่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และคนจำนวนมากเป็นผู้อพยพมาจากตอนเหนือและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ซึ่งพ่อแม่ของยามาลก็เป็นหนึ่งในนั้น

พ่อของยามาลเป็นชาวโมร็อกโก นามว่า ‘มูนีร์ นัสราอุย’ (Mounir Nasraoui) ส่วนมารดามาจากอิเควทอเรียลกินี มีชื่อว่า ‘ชีล่า อิบานา’ (Sheila Ebana) ทั้งคู่แยกทางกันตั้งแต่ยามาลยังเล็ก ทำให้เขาต้องคอยแบ่งเวลาไปมาหาสู่ระหว่างบ้านพ่อกับแม่สลับกัน

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะยามาลบอกว่า สมัยเด็กเขามักใช้เวลาส่วนใหญ่วิ่งเล่นอยู่นอกบ้าน

“ผมใช้เวลาอยู่ตามสวนสาธารณะมากกว่าอยู่บ้าน ทุกครั้งที่ผมก้าวเท้าออกนอกบ้านมันคือการไปเล่นฟุตบอล ประสบการณ์เหล่านี้มันอยู่ในตัวคุณเสมอ”
 

ประสบการณ์ที่ได้จากการเล่นบอลบนพื้นคอนกรีตและตามข้างถนน ทำให้ยามาลเริ่มเป็นที่เตะตาแมวมอง และถูกดึงไปเล่นทีมเยาวชนท้องถิ่นชื่อ ‘ลา ตอร์เรต้า’ (La Torreta) จนกระทั่งอายุ 7 ขวบ ตัวแทนจากบาร์เซโลนา สโมสรยักษ์ใหญ่ของแคว้นกาตาลุญญ่า และศึกลาลีกาสเปน จึงมาดึงตัวไปฝึกซ้อมใน ‘ลามาเซีย’ โรงเรียนลูกหนังชื่อดังของโลก
 

เรียนหนังสือควบคู่กับกีฬา

จุดเด่นของเจ้าหนูยามาล ซึ่งถูกใจแมวมองของบาร์ซา คือทักษะการเลี้ยงบอลติดเท้าและความรวดเร็ว เริ่มแรกเขาถูกจับให้เล่นตำแหน่งศูนย์หน้า ก่อนโยกมาเป็นปีกขวา เพราะเป็นนักเตะที่ถนัดเท้าซ้ายและมีลีลาคล้าย ‘ลิโอเนล เมสซี่’ นักเตะรุ่นพี่ที่เป็นตำนานของทีมบาร์เซโลนา และ ‘ลามาเซีย’

อย่างไรก็ตาม แม้การถูกทาบทามให้เป็นเด็กฝึกที่ ‘ลามาเซีย’ จะเป็นความฝันของทั้งเด็กและผู้ปกครองแทบทุกคนที่อยากเอาดีด้านกีฬา แต่ ‘มูนีร์’ พ่อของยามาล บอกว่า เงื่อนไขแรกที่เขาขอร้องบาร์ซา ก่อนจูงมือลูกไปส่งเข้าโรงเรียนลูกหนัง คือการย้ำเรื่องการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะฟุตบอล

“คุณอยากให้ลูกผมเล่นให้บาร์เซโลนาใช่มั้ย? 

“ดีเลย งั้นช่วยให้การศึกษาเขาก่อนเป็นอันดับแรก”

การให้ความสำคัญเรื่องการศึกษากับลูกชาย ยังสะท้อนออกมาชัดเจนในการลงเล่น ‘ยูโร 2024’ โดยเจ้าหนูวัย 16 ปี เปิดใจกับสื่อมวลชนว่า นอกจากจะเดินทางมาเตะบอลรับใช้ชาติในทัวร์นาเมนต์นี้ เขายังพก ‘ไอแพด’ ติดตัวมาเรียนออนไลน์ควบคู่กันไป และเพิ่งได้รับข่าวดีก่อนลงเตะรอบ 16 ทีมสุดท้ายว่า ตนเองสอบผ่านชั้นมัธยมฯ ปีที่ 4 ซึ่งเป็นระดับการศึกษาภาคบังคับของสเปนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เด็กอัจฉริยะผู้ใจกว้างดั่งมหาสมุทร

พัฒนาการของยามาลในการฝึกฝนลับฝีเท้ากับโรงเรียนลูกหนังลามาเซีย เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วถึงขั้นผู้สันทัดกรณีหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือเด็กที่เติบโตได้แบบน่าทึ่งยิ่งกว่า ‘เมสซี่’ ในวัยเดียวกัน

นอกเหนือกว่านั้น ยามาลยังได้รับคำชมเรื่องความใจกว้างและไม่เห็นแก่ตัว

“ผมจดจำเขาในฐานะเด็กที่รู้ตัวดีว่าตนเองมีพรสวรรค์ ในเกมกีฬาคนมีพรสวรรค์มักมีแนวโน้มจะเห็นแก่ตัวมาก ๆ เลย แต่นั่นไม่ใช่ยามาล” อิบาน การ์ราสโก้ โค้ชเยาวชนของบาร์ซาเล่าถึงอดีตลูกทีมของตน ซึ่งเป็นเด็กขี้อาย แต่ก็เป็นขวัญใจของเพื่อนร่วมทีมทุกคน

“ผมได้เห็นเด็กมีน้ำใจที่ไม่แสวงหาแต่ชื่อเสียง บางครั้งในฐานะโค้ช คุณก็ได้แต่คิดว่า ผมจะสอนอะไรเขาดีนะ ถ้าเขาสามารถทำสิ่งที่ผมเองก็จินตนาการไม่ออกจากม้านั่งตรงข้างสนาม”

ความอัจฉริยะเชิงลูกหนังของยามาล ทำให้เขาได้ข้ามชั้นในอะคาเดมีหลายครั้ง จนกระทั่งอายุ 15 ปี เจ้าหนูคนนี้ก็เริ่มเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการฟุตบอล

ประวัติศาสตร์ที่ว่าเริ่มจากการถูก ‘ชาบี้ เอร์นานเดซ’ กุนซือทีมบาร์ซาชุดใหญ่ ส่งลงสนามในศึกลาลีกาครั้งแรกตั้งแต่อายุ 15 ปี 9 เดือน กับอีก 16 วัน นับเป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดคนใหม่ที่ลงเล่นในลาลีกาให้บาร์เซโลนา ก่อนจะกลายเป็นแข้งอายุน้อยสุดที่พังประตูได้ในลีกสูงสุดของสเปน ด้วยวัยเพียง 16 ปี กับอีก 87 วัน

จากนั้นเจ้าหนูยามาลก็ไล่ทำลายสถิติอีกมากมายทั้งบนเวทีฟาดแข้งภายในประเทศ และศึกยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก ก่อนจะมาแจ้งเกิดได้แบบเต็มตัวในนามทีมชาติในฟุตบอล ‘ยูโร 2024’

ท่าดีใจประกาศความภูมิใจในที่มา

นอกจากฝีเท้าอันจัดจ้าน และนิสัยใจกว้างถ่อมตัว ยามาลยังได้รับคำชื่นชม โดยเฉพาะจากคนรากหญ้าว่าเป็นเด็กที่ไม่ลืมกำพืดของตัวเอง และมักประกาศอย่างภูมิใจว่า ตัวเขานั้นมาจากที่ใด ด้วยการทำท่าดีใจหลังพังประตูให้ทีมต้นสังกัดได้

ท่าดีใจอันเป็นเอกลักษณ์ของยามาล คือ การยกมือทั้งสองข้างขึ้นมาทำนิ้วเป็นสัญลักษณ์เลข 304 ตามตัวเลขท้ายรหัสไปรษณีย์ของย่านโรคาฟอนด้า ซึ่งเป็นถิ่นที่เขาเติบโตมาในวัยเด็ก

การประกาศให้โลกรู้ว่า โรคาฟอนด้ามีความหมายเพียงใด นอกจากจะสร้างความภูมิใจให้คนท้องถิ่น และกระตุ้นเด็กรุ่นใหม่ในถิ่นผู้ยากไร้ให้มีกำลังใจออกไปไขว่คว้าความสำเร็จเหมือนเขา มันยังสะท้อนให้เห็นแง่มุมดี ๆ ที่ลูกผู้อพยพชาวต่างด้าวคนหนึ่งสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมที่ตนเองเข้ามาอาศัย

ศึกการแย่งชิงยามาล ระหว่างสมาคมฟุตบอลสเปนที่เป็นถิ่นกำเนิด กับสมาคมฟุตบอลโมร็อกโก และอิเควทอเรียลกินี ซึ่งเป็นชาติที่พ่อและแม่ของเขาจากมา ก่อนจะเป็นทีม ‘กระทิงดุ’ ที่คว้าตัวมาลงแข่ง ‘ยูโร 2024’ คือตัวอย่างที่ดีของการตระหนักถึงคุณค่าในทรัพยากรมนุษย์

ก่อนหน้ายามาลจะมาเล่นให้สเปน ทีม ‘กระทิงดุ’ เพิ่งเสียนักเตะฝีเท้าดีที่เป็นลูกผู้อพยพ เกิดในสเปน แต่ไปเลือกเล่นให้ทีมชาติโมร็อกโกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ‘บราฮิม ดิอาซ’ มิดฟิลด์ของเรอัล มาดริด และ ‘อัชราฟ ฮาคิมี่’ แบ็กตัวจี๊ดของปารีส แซงต์แชร์กแมง ตลอดจน ‘อิเลียส อาโคมัค’ ปีกจากทีมบียาร์เรอัล ซึ่งเกิดในแคว้นกาตาลุญญ่าเหมือนกับยามาล

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการผงาดขึ้นมาของยามาล และการแย่งตัวนักเตะที่มีหลายเชื้อชาติ ล้วนชี้ให้เห็นชัดเจนถึงข้อดีของการมีผู้อพยพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระทำเพื่อมนุษยธรรมแล้ว ยังทำให้ประเทศปลายทางมีทรัพยากรมนุษย์อันล้ำค่าเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่ว่าคนจะมาจากที่ใด มีเชื้อชาติ หรือนับถือศาสนาอะไร หากประพฤติตัวดีและมีความสามารถ คนผู้นั้นย่อมเป็นที่ปรารถนาและมีผู้อยากคว้าตัวไปสร้างประโยชน์ เหมือนเรื่องราวของลามีน ยามาล ‘เจ้าชายน้อย’ จาก ‘ดาว 304’ ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการลูกหนังอยู่ในขณะนี้นั่นเอง


เรื่อง : ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ : Getty Images 

อ้างอิง :
'A very, very special player' - Yamal, 16, makes Euros history

2023: The year of Lamine Yamal

Lamine Yamal's humble beginnings, dream run at Barcelona and the Morocco connection

Euro 2024: Spain teenager Lamine Yamal passes school exams

Meet Spain wonderkid Lamine Yamal, who has taken Euro 2024 by storm and is Barcelona’s youngest player this century