ฟิลิป ซิมบาร์โด - อะไรทำให้คนล้ำเส้นมนุษยธรรม แต่บอกว่าทำตามหน้าที่ ?

ฟิลิป ซิมบาร์โด - อะไรทำให้คนล้ำเส้นมนุษยธรรม แต่บอกว่าทำตามหน้าที่ ?
“นักปรัชญา นักเขียนบทละคร นักศาสนศาสตร์ได้ต่อสู้กับคำถามหนึ่งมาทั้งศตวรรษ นั่นก็คือ ‘อะไรทำให้ผู้คนหลงผิด ?’ ที่น่าสนใจคือ ผมเองก็ตั้งคำถามนี้มาตั้งแต่เด็ก เพราะผมเติบโตจากทางตอนใต้ของบร็องซ์ (Bronx) สลัมชั้นในในนิวยอร์กอันแวดล้อมไปด้วยความชั่วร้าย” ฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันกล่าวบนเวที TED Talks ในหัวข้อ The Psychology of Evil เมื่อปี 2008 เขาคือนักจิตวิทยาผู้ทรงอิทธิพลในยุคนี้ที่เคยได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน และเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ทำการทดลอง ‘เรือนจำสแตนฟอร์ด’ (The Stanford Prison Experiment) อันเลื่องชื่อเมื่อปี ค.ศ. 1971 สู่แรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่อง The Stanford Prison Experiment ในปี 2015 หากย้อนไปในอดีต มีการศึกษาเรื่องอำนาจและการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ อย่าง ‘สแตนลีย์ มิลแกรม’ ที่ศึกษาเกี่ยวกับอำนาจส่วนบุคคลที่ใช้ควบคุมผู้คน หรือ ‘โซโลมอน แอสช์’ ที่ศึกษาเกี่ยวกับอำนาจของเสียงส่วนใหญ่ แต่ฟิลิป ซิมบาร์โดมองว่าในชีวิตประจำวัน ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ ‘อำนาจขององค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ’ ทั้งจากการประกอบอาชีพและในบริบทอื่น ๆ นั่นทำให้เขาสงสัยว่า บทบาทหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์ได้มากน้อยแค่ไหน  สิงหาคม ปี 1971 ‘การทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ด’ จึงได้เริ่มต้นขึ้น...   เมื่อห้องใต้ดินของมหาวิทยาลัย กลายเป็นเรือนจำ ซิมบาร์โดประกาศรับอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลอง โดยบอกว่าเป็นการทดลองเกี่ยวกับชีวิตในเรือนจำที่ใช้เวลา 2 สัปดาห์ และมีค่าตอบแทนให้คนละ 15 ดอลลาร์ต่อวัน  ผู้สมัครทั้ง 75 คนถูกสัมภาษณ์และให้ทำแบบทดสอบอย่างละเอียดเพื่อตรวจสอบว่าพวกเขามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตในเกณฑ์ปกติ อีกทั้งไม่มีประวัติด้านอาชญากรรมและการใช้สารเสพติด ก่อนจะคัดเลือกเหลือเพียงชาย 24 คนที่มีสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมที่สุด ข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมต่อต้านสังคมน้อยที่สุด และทั้ง 24 คนนี้ ต้องไม่มีใครที่รู้จักกันมาก่อน จากนั้นพวกเขาจะถูกสุ่มให้รับบทเป็น ‘นักโทษ’ หรือ ‘ผู้คุม’ ในเรือนจำที่จำลองขึ้นอย่างสมจริง ณ ห้องใต้ดินของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เช้าวันอาทิตย์อันแสนสดใส เสียงไซเรนของรถตำรวจดังขึ้นหน้าบ้านของชายผู้รับบทเป็น ‘นักโทษ’ โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า เขาถูกจับกุมเยี่ยงอาชญากรตัวจริง ทั้งเอามือไพล่หลัง ใส่กุญแจมือ พาขึ้นรถตำรวจ เพื่อนบ้านหลายคนชะเง้อมองเหตุการณ์นี้โดยที่ไม่รู้เลยว่านี่เป็นเพียงการทดลอง  จากนั้นพวกเขาจะถูกนำตัวส่งสถานีตำรวจเพื่อถ่ายภาพ พิมพ์ลายนิ้วมือ สวมผ้าปิดตา แล้วพาไปยังห้องขังแคบ ๆ ที่มีผนังอันเปลือยเปล่า ก่อนจะถูกเปลื้องผ้า ยึดทรัพย์สินส่วนตัว ให้สวมชุดนักโทษกับถุงน่องคลุมหัว พร้อมคล้องโซ่ล็อกรอบขาแทน นอกจากนี้พวกเขาจะต้องใช้เครื่องนอนของเรือนจำและถูกเรียกชื่อด้วยหมายเลขแทนชื่อที่แท้จริงของพวกเขา ส่วนชายที่รับบทเป็นผู้คุมจะสวมแว่นตากันแดด แต่งกายด้วยเครื่องแบบสีกากี มีนกหวีดคล้องคอ ถือกระบองที่ยืมมาจากตำรวจ และได้รับมอบหมายให้ทำทุกอย่างที่คิดว่าจำเป็นเพื่อรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยในเรือนจำ แต่จะต้องเคารพสิทธิ์ของนักโทษและไม่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรงทางร่างกาย ส่วนซิมบาร์โดเองก็รับบทเป็นหัวหน้าผู้คุมเรือนจำไปพร้อมกับการสังเกตพฤติกรรมของนักโทษและผู้คุมในฐานะนักวิจัย  ฟิลิป ซิมบาร์โด - อะไรทำให้คนล้ำเส้นมนุษยธรรม แต่บอกว่าทำตามหน้าที่ ?

ภาพจาก ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Stanford Prison Experiment (2015)

สู่กระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ ทันทีที่เริ่มการทดลอง ทั้งนักโทษและผู้คุมต่างสวมบทที่ตัวเองได้รับอย่างรวดเร็วและง่ายดาย... 02.30 น. มีเสียงนกหวีดดังขึ้น ผู้คุมปลุกนักโทษขึ้นมาโดยไม่มีเหตุจำเป็น ก่อนจะเริ่มคุกคามด้วยคำพูดเชิงดูถูก ล้อเลียน และออกคำสั่งที่ดูไม่สมเหตุสมผล อย่างการวิดพื้น แล้วให้ผู้คุมคนหนึ่งเหยียบลงบนหลังของนักโทษ หรือให้นักโทษคนอื่นนั่งบนหลังของเพื่อนขณะที่พวกเขากำลังวิดพื้น  36 ชั่วโมงต่อมา ความตึงเครียดและความกดดันทางอารมณ์ค่อย ๆ ปะทุขึ้นจนเกิดการจลาจลในห้องขัง เหล่านักโทษเริ่มถอดถุงน่องคลุมหัว ฉีกหมายเลขบนเสื้อ และขังตัวเองไว้ในห้องโดยนำเตียงมาขวางประตูไว้  ฝ่ายผู้คุมตอบโต้กลับไปพร้อมบังคับให้นักโทษออกมาจากประตู ทันทีที่ก้าวเข้าไปในห้องขัง พวกเขาเปลื้องผ้านักโทษอีกครั้ง พร้อมกับเอาเตียงออกไปจากห้อง ชายคนหนึ่งที่รับบทเป็นผู้คุมให้สัมภาษณ์หลังการทดลองว่า “... ระหว่างการตรวจสอบผมไปที่ห้องขัง เพื่อจัดการเตียงที่นักโทษทำพัง เขากรีดร้องโวยวายและจับคอผม แม้เขาจะหัวเราะ แต่ผมก็ค่อนข้างกลัว เลยใช้ไม้ฟาดเข้าที่คางของเขา” เมื่อการจลาจลในคุกเริ่มอยู่ในการควบคุมของเหล่าผู้คุมในเรือนจำ พวกเขานำหัวโจกของนักโทษไปขังเดี่ยว ส่วนนักโทษสามคนที่ข้องเกี่ยวกับการจลาจลครั้งนี้น้อยที่สุดได้รับเครื่องแบบและเตียงนอนคืน อนุญาตให้สระผม แปรงฟัน และรับประทานอาหารมื้อพิเศษต่อหน้านักโทษอีกกลุ่มหนึ่งที่สูญเสียสิทธิในเรื่องนี้ไป ซึ่งผลพวงจากเหตุการณ์นี้ คือการทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเหล่านักโทษ ฟิลิป ซิมบาร์โด - อะไรทำให้คนล้ำเส้นมนุษยธรรม แต่บอกว่าทำตามหน้าที่ ?

ภาพจาก ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Stanford Prison Experiment (2015)

ไม่กี่วันผ่านไป ผู้คุมทุกคนต่างก็เริ่มคุกคามและข่มขู่นักโทษมากขึ้น พวกเขารู้สึกมีอำนาจเหนือกว่า ขณะที่นักโทษกลับยอมจำนน ทั้งยังพยายามหาวิธีทำให้ผู้คุมพอใจ ยิ่งกระตุ้นให้ความก้าวร้าวและความกล้าแสดงอำนาจของผู้คุมมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเพิ่มระดับการคุกคามขึ้นไปอีกขั้น อย่างการบังคับให้นักโทษเปลืองผ้า ทำความสะอาดชักโครกด้วยมือเปล่า และการคุกคามทางเพศ ทำให้มีนักโทษบางคนเริ่มทนไม่ไหว  นักโทษหมายเลข #8612 เริ่มทุกข์ทรมานจากความแปรปรวนทางอารมณ์อย่างเฉียบพลัน ความโกรธของเขาท่วมท้นจนเต็มอก เขาร้องไห้ชนิดที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จนนักจิตวิทยาต้องปล่อยเขาออกไปจากคุกจำลองนี้ก่อนกำหนด ส่วนนักโทษหมายเลข #819 เขาร้องไห้อย่างบ้าคลั่งแต่ไม่กล้าออกไปจากคุกนี้ เพราะกลัวนักโทษคนอื่น ๆ จะตราหน้าเขาว่าเป็นนักโทษที่ไม่ดี ทำให้สถานการณ์ในห้องขังวุ่นวายและทำให้เพื่อนนักโทษเดือดร้อน จนซิมบาร์โดต้องประกาศว่า  “ฟังนะคุณไม่ใช่ #819 คุณคือ (ชื่อแท้จริงของเขา) และผมคือดอกเตอร์ซิมบาร์โด เป็นนักจิตวิทยา ไม่ใช่ผู้คุม และที่นี่ไม่ใช่เรือนจำจริง เป็นเพียงการทดลอง และพวกเขาคือนักศึกษา ไม่ใช่นักโทษเหมือนกันกับคุณ ออกมาข้างนอกเถอะครับ” โชคดีที่ประโยคนี้ช่วยปลอบโยนให้ชายหนุ่มสงบลง แล้วยอมคืนสู่โลกความเป็นจริงได้ในที่สุด   สิ้นสุดการทดลอง หากฮีโรในชีวิตจริง ไม่ใช่คนที่มีพลังเหนือธรรมชาติ แต่เป็นคนที่กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ฮีโรในการทดลองนี้คงเป็นหญิงสาวที่ชื่อว่า ‘คริสตินา มาสแลช’ (Christina Maslach) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน  ในช่วงเวลาที่ซิมบาร์โดไม่รู้ตัวและไม่แยแสว่าสถานการณ์เหล่านี้เริ่มอยู่เหนือการควบคุม แม้แต่ตัวเขาเองยังรู้สึกร่วมไปด้วยว่าเขาเป็นผู้คุมเรือนจำมากกว่านักจิตวิทยาที่กำลังทำการวิจัย ส่วนคนนอกมากกว่า 50 คนที่รู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนี้กลับนิ่งเฉย ยกเว้น คริสตินา มาสแลช เธอเป็นคนเดียวที่ตั้งคำถามถึงศีลธรรมของการทดลอง และคัดค้านอย่างหนักเมื่อเห็นนักโทษถูกเหล่าผู้คุมทารุณกรรม  “คุณรู้ไหมว่าสิ่งที่คุณทำกับเด็กพวกนั้นมันแย่มาก พวกเขาไม่ใช่นักโทษหรือผู้คุม พวกเขาเป็นแค่เด็กผู้ชายธรรมดาและคุณต้องรับผิดชอบ”  คำพูดนี้คล้ายจะดึงสติของซิมบาร์โดกลับมา เขาจึงยุติการทดลองในวันรุ่งขึ้น ก่อนเหตุการณ์จะถลำลึกมากไปกว่าเดิม ซึ่งการทดลองนี้สิ้นสุดลงเพียง 6 วัน จากกำหนดการเดิมคือ 14 วัน (และหนึ่งปีถัดมา ซิมบาร์โดก็แต่งงานกับฮีโรสาวคนนี้) เมื่อการทดลองสิ้นสุดและเข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์ เด็กหนุ่มที่รับบทเป็นผู้คุมหลายคนบอกว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองมีด้านนี้อยู่ในตัว ส่วนผู้รับบทเป็นนักโทษก็ไม่อยากจะเชื่อว่าตัวเองจะยอมจำนนและควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทั้งยังบอกว่าการทดลองครั้งนี้เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างน่าตกใจ  หนึ่งในหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ราวกับเป็นเรื่องจริง คือการสนทนาส่วนตัวของเหล่านักโทษ พวกเขาใช้เวลากว่า 90% พูดถึงสถานการณ์ในห้องขัง และใช้เวลาเพียง 10% เท่านั้น เพื่อสนทนาเกี่ยวกับชีวิตนอกเรือนจำ   เพราะสถานการณ์ส่งผลต่อพฤติกรรม ซิมบาร์โดกล่าวว่า ‘สภาพแวดล้อมของเรือนจำ’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมอันโหดร้ายของผู้คุม เพราะการทดสอบอย่างเข้มงวดก่อนการทดลอง ไม่มีผู้คุมคนใดที่แสดงอาการซาดิสม์หรือรุนแรงก่อนหน้านี้ ส่วน ดร.ซาอูล แมคลีออด (Dr.Saul McLeod) ได้อธิบายเหตุการณ์นี้ในเว็บไซต์ Simply Psychology ว่าพฤติกรรมของ ‘นักโทษ’ และ ‘ผู้คุม’ เกิดจาก 2 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ ‘การลดทอนตัวตน’ (Deindividuation) ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกถึงตัวตนแท้จริงของตัวเองน้อยลง ทั้งจากการเรียกชื่อนักโทษด้วยหมายเลขแทนชื่อจริง การสวมเครื่องแบบเดียวกัน แม้แต่แว่นตากันแดดของผู้คุมก็ช่วยปกปิดตัวตนของพวกเขาได้ ซึ่งการลดทอนตัวตนแท้จริงนี้ทำให้ความรู้สึก ‘รับผิดชอบส่วนบุคคล’ ลดน้อยลงไปด้วย  เหล่าผู้คุมอาจจะไม่ได้เป็นคนชอบความรุนแรงมาตั้งแต่ต้น แต่พวกเขากำลังรู้สึกว่า ความรุนแรงเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานของกลุ่ม (ผู้คุม) เป็นอำนาจโดยชอบธรรมของเขาและไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเป็นฝีมือใคร พวกเขาจึงกล้าทำเรื่องเลวร้าย เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะไม่ถูกจับผิดและไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งซิมบาร์โดเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า พลังของการไม่เปิดเผยตัวตน (power of anonymity) สาเหตุต่อมา คือ ‘ภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้’ (learned helplessness) ลองนึกภาพช้างน้อยที่โดนเชือกผูกขาไว้ไม่ให้ขยับไปไหนได้ ช่วงแรก ๆ เจ้าช้างจะพยายามดิ้นให้หลุดจากเชือก แต่เมื่อความพยายามไม่เป็นผล ช้างตัวน้อยจะรู้สึกสิ้นหวัง แม้วันที่ตัวโตพอจะทำให้เชือกขาดได้ มันก็จะยังอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน เพราะเคยเรียนรู้ว่าการดิ้นรนก่อนหน้านั้นไม่ได้ช่วยอะไร เช่นเดียวกับเหล่าผู้คุมที่เผชิญกับภาวะเดียวกัน เมื่อการจลาจลในคุกไม่เป็นผล และต้องเผชิญกับการตัดสินใจอันไม่อาจคาดเดาได้ของผู้คุมว่าจะลงโทษรุนแรงแค่ไหน นั่นทำให้นักโทษเริ่มยอมจำนนต่อสถานการณ์นั่นเอง   คำวิจารณ์จริยธรรมการทดลอง การทดลองของซิมบาร์โดเป็นที่เลื่องลือกันทั้งในวงการจิตวิทยาและกลุ่มคนทั่วไปจนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ส่วนเจมส์ สเลซิงเจอร์ (James Schlesinger) ยังกล่าวถึงการทดลองนี้ว่าเป็นการศึกษาที่สำคัญของสแตนฟอร์ด และเป็นเรื่องเตือนใจสำหรับปฏิบัติการทางทหารทั้งหมด ขณะเดียวกัน การทดลองของซิมบาร์โดก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นจริยธรรมอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่การบุกไปจับกุมชายที่รับบทเป็นนักโทษ โดยไม่ได้แจ้งและขอความยินยอมล่วงหน้า รวมทั้งความรุนแรงเกินคาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้และสภาพจิตใจของผู้เข้าร่วมการทดลองที่อาจเกิดบาดแผลฝังใจ ความอับอาย และความทุกข์ใจในระยะยาว นอกจากนี้ การทดลองดังกล่าวยังมีข้อจำกัดบางอย่างเพราะเป็นเพียง ‘การจำลองสถานการณ์’ อีกทั้งยังเป็นการทดลองกับผู้เข้าร่วมที่เป็นชายหนุ่มชาวอเมริกันทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถนำไปปรับใช้กับเรือนจำหญิงหรือเรือนจำในประเทศอื่น ๆ ได้ แต่ก็พอจะทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพ ‘แนวโน้ม’ ของพฤติกรรมมนุษย์เมื่อถูกหยิบยื่นอำนาจมาให้  แม้เรื่องราวทั้งหมดจะฟังดูโหดร้าย แต่อีกมุมหนึ่งก็ได้จุดประกายความหวังเล็ก ๆ ว่าหากมนุษย์สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความชั่วร้ายได้ นั่นหมายความว่ามนุษย์ก็สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความดีงามได้เช่นเดียวกัน   ที่มา  https://www.prisonexp.org/the-story https://www.ted.com/talks/philip_zimbardo_the_psychology_of_evil/transcript#t-108929 https://www.simplypsychology.org/zimbardo.html https://www.verywellmind.com/philip-zimbardo-biography-2795529