23 ก.พ. 2562 | 12:53 น.
หากพูดถึงตุ๊กตาล้มลุก ภาพที่ปรากฏตรงหน้าคงจะเป็นตุ๊กตาสีสวยน่ารักที่มีจังหวะดุกดิก ลุกแล้วล้ม ล้มแล้วลุก ซึ่งก็คงเปรียบเปรยกับชีวิตของคนที่เมื่อมีขึ้น ย่อมมีลงเป็นธรรมดา พูดถึงตุ๊กตาล้มลุก ทำให้นึกถึง “โดราเอมอน” ตอนสำคัญตอนหนึ่งที่สอนให้ตัวเอกของเรื่องอย่าง “โนบิตะ” ได้เรียนรู้ นั่นคือตอน “ตุ๊กตาล้มลุก” … “โดราเอมอน” เป็นผลงานเขียนของทีมนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ว่าด้วยเรื่องราวของ โดราเอมอน หุ่นยนต์แมวจากอนาคตที่เดินทางย้อนอดีตเพื่อมาช่วยเหลือ โนบิตะ ตัวเอกของเรื่อง โนบิตะ เป็นเด็กขี้แย เรียนไม่เก่ง ไม่เอาไหน และมักถูกเพื่อนๆ แกล้งเป็นประจำ จนหลายครั้งเขาต้องขอความช่วยเหลือจากโดราเอมอน ซึ่งเจ้าแมวไร้หูตัวนี้ มักจะมีของวิเศษดี ๆ มาให้โนบิตะได้ทดลองใช้เสมอ แต่ในตอนจบของแต่ละตอน โนบิตะจะได้เรียนรู้เสมอว่า การหยิบของวิเศษมาใช้แก้ไขสถานการณ์ ไม่ได้ผลดีเสมอไป อย่างเช่น ตอนที่โนบิตะใช้อุปกรณ์วิเศษช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น แต่สุดท้าย ผลสำเร็จของการเรียน (และชีวิตด้านอื่นๆ) มันขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ความขยันหมั่นเพียรของโนบิตะเอง แม้ว่าในภาพภายนอก โนบิตะ จะเป็นคนเฉื่อยแฉะ แต่ในหลายตอน เขาแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งที่จะอยู่บนโลกนี้โดยไม่ต้องพึ่งพาของวิเศษของโดราเอมอน และตอนที่ดีที่สุดตอนหนึ่งของหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ที่สอนการใช้ชีวิตของโนบิตะ นั่นคือ ตอน "ตุ๊กตาล้มลุก" ในตอนนั้นโนบิตะทำแหวนทองคำขาวของแม่หายไป จึงไปขอร้องให้โดเรมอนให้ช่วยตามหา โดเรมอนจึงหยิบเครื่องตามหาออกจากกระเป๋ามาให้ โดยที่ถ้านึกถึงสิ่งของที่หายไปสิ่งของนั้นจะกลับมา โนบิตะใช้เครื่องมือนั้นตามหาแหวนของแม่ นอกจากจะได้แหวนคืนมาแล้ว สิ่งของในอดีตสมัยเด็กที่หายไปก็กลับคืนมาสู่มือของเขาอีกครั้ง หนึ่งในก็นั้นคือ ตุ๊กตาล้มลุก แล้วความทรงจำเกี่ยวกับของเล่นชิ้นนี้ในอดีตสมัยโนบิตะเรียนอยู่อนุบาลก็ผุดขึ้นมาในหัว โนบิตะนึกถึง คุณย่าของเขา หนึ่งในผู้ใหญ่ที่โนบิตะรักมาก ในตอนนั้น อยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตของคุณย่า เด็กน้อยโนบิตะหกล้มในสวน ร้องไห้งอแงจนคุณย่าที่ไม่สบายอยู่ต้องเข้ามาปลอบเด็กน้อย โดยหยิบตุ๊กตาล้มลุกมาเล่นให้ดู พร้อมกับสอนหลานชายว่า "ตุ๊กตาล้มลุก เก่งเนอะ ไม่ว่าล้มกี่ครั้งก็ไม่ร้องไห้ กลับลุกขึ้นมาได้เอง ถ้าโนบิตะเป็นเด็กเข้มแข็งลุกขึ้นได้เอง ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้งกี่หน ย่าจะดีใจมาก" และโนบิตะได้สัญญากับคุณย่าว่าจะเป็นตุ๊กตาล้มลุกที่แม้จะต้องล้มสักกี่ครั้งก็จะลุกขึ้นยืนใหม่ คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด นั่นคือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ในเมื่อเราเป็นมนุษย์ปกติ ยอมมีผิดพลาด ล้มลงกันบ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่การยืนระยะที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จ ในยามล้มลง คาถาแก้ง่ายนิดเดียว เหมือนอย่างที่คุณย่าเคยบอกกับโนบิตะไว้ ล้มแล้ว ต้องลุกเป็น... … นอกจากในโลกหนังสือการ์ตูนแล้ว ในโลกความจริง มีผู้คนมากมายที่ล้มแล้ว พวกเขาลุกขึ้นมาได้ และกลับมาอย่างสง่างามกว่าเดิม เพราะในขณะที่ล้ม พวกเขาได้ศึกษาบทเรียนจากความเจ็บปวดนั้น ทบทวนตัวเอง แล้วลุกขึ้นยืนอย่างเข้มแข็ง ตัวอย่างที่น่าสนใจในโลกความจริงก็คือ คือกรณีของ “สตีฟ จ็อบส์” มาดูกันว่า จิตวิญญาณตุ๊กตาล้มลุกของเขาเป็นอย่างไร? … เรื่องราวการต่อสู้ของสตีฟ จ็อบส์ ที่ปรากฏในหนังสือ “Steve Jobs” ของวอลเตอร์ ไอแซคสัน ฉายภาพการต่อสู้ทางธุรกิจที่แสนเข้มข้นของสตีฟ จ็อบส์ ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักกับเขามากยิ่งขึ้น เส้นทางชีวิตแบบ “ตุ๊กตาล้มลุก” ของสตีฟ จ็อบส์ เป็นเช่นนี้... หลังจากที่จ็อบส์ ลาออกจากมหาวิทยาลัย ในปี ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) เขาและสตีเฟ่น วอซเนียก อัจฉริยะด้านการเขียนโปรแกรม ได้เปิดบริษัท “แอปเปิ้ล” ขึ้นมา โดยเริ่มงานด้วยการประกอบแผงวงจรคอมพิวเตอร์ Apple I ในโรงรถของจ็อบส์ แล้วส่งมอบให้กับร้าน The Byte Shop จำนวน 50 ชิ้น จากนั้นบริษัท “แอปเปิ้ล” ก็โตวันโตคืนจนกลายเป็นบริษัทไอทีที่น่าจับตาในซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่าง Apple II และ Lisa ออกมาวางจำหน่าย แต่โครงการใหญ่โครงการหนึ่งที่สตีฟ จ็อบส์ ปลุกปั้นมันขึ้นมา ซึ่งภายหลังกลับเป็นโครงการที่ทำให้สตีฟ จ็อบส์ ต้องล้มลงเสียงดัง นั่นก็คือ โครงการ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีชื่อว่า “แม็คอินทอช”(Macintosh) ช่วงเวลานั้นเอง มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในบริษัท “แอปเปิ้ล” นั่นก็คือ การเข้ามาบริหารงานในฐานะซีอีโอของจอห์น สคัลลีย์ อดีตผู้บริหารของค่ายน้ำดำ “เป็ปซี่” แรกเริ่มเดิมที จอห์น สคัลลีย์ เข้ามาทำงานบริหารด้วยความเห็นชอบจากสตีฟ จ็อบส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท “แอปเปิ้ล” แต่หลังจากที่สคัลลีย์เข้ามาบริหารงานที่นี่ระยะหนึ่ง เขาเริ่มไม่ลงรอยกับจ็อบส์ในการบริหารงาน ในช่วงเวลานั้น ตรงกับช่วงที่เครื่องคอมพิวเตอร์ “แม็คอินทอช” ถูกปล่อยออกมาในช่วงต้นปี ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) ในช่วงต้นปี ด้วยดีไซน์ของตัวเครื่องที่สวยงาม และการทำการตลาดที่แข็งแกร่ง ทำให้ “แม็คอินทอช” ถูกต้อนรับจากผู้บริโภคอย่างอบอุ่น แต่ผ่านไประยะหนึ่ง ปัญหาที่พบสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องนี้ก็คือ ฟังก์ชั่นการใช้งานไม่ตอบสนองต่อตลาด อย่างเช่น การที่เครื่อง “แม็คอินทอช” ประมวลผลช้า ไม่มีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ทำให้เสียเวลาในการเก็บข้อมูล และไม่มีพัดลมระบายอากาศในเครื่อง ทำให้ครึ่งปีหลัง ของ ค.ศ.1984 ยอดขาย “แม็คอินทอช” ตกลงฮวบฮาบ ขายได้ไม่ถึง 10,000 เครื่องในรอบเดือน ข้อผิดพลาดตรงนี้ ถูกโยนความรับผิดชอบมาที่สตีฟ จ็อบส์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ในการดูแลโครงการ ซึ่งวิกฤตนี้มาพร้อมกับการที่เขาแตกหักกับจอห์น สคัลลีย์ ซีอีโอ “แอปเปิ้ล” ที่เขาเคยเชื่อใจ ในที่สุด ทางแยกก็เกิดขึ้น “แอปเปิ้ล” ต้องเลือกระหว่าง “สตีฟ จ็อบส์” หรือ “จอห์น สคัลลีย์” ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คำตอบของบอร์ดบริหาร เลือกตัวเลือกที่สอง สตีฟ จ็อบส์ ผู้ฉุนเฉียวและมองหาความสมบูรณ์แบบอยู่เสมอจึงขอลาออกจากบริษัทที่เขาก่อตั้งอย่าง “แอปเปิ้ล” ในปี ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) ด้วยความที่เขาไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ จ็อบส์ได้ดึงตัวผู้บริหารจากบริษัทเก่าที่ยังเห็นด้วยกับแนวทางของเขามาตั้งบริษัท NeXT เพื่อที่จะผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ โดยขายให้กับทางมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ในที่สุด เขาก็ได้พบกับไพ่โจ๊กเกอร์ชั้นดี ในตอนที่จ็อบส์ ซื้อแผนกคอมพิวเตอร์แผนกหนึ่งของ “ลูคัส ฟิล์ม” เจ้าของสตูดิโอที่ผลิตภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง “สตาร์ วอร์ส” (Star Wars) ซึ่งต่อมาสตีฟ จ็อบส์ค้นพบว่า สิ่งที่แผนกนี้ทำได้ดีกว่าการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นั่นก็คือ การทำภาพยนตร์แอนิเมชั่น แผนกนี้มีชื่อว่า “พิกซ่าร์”(Pixar) จ็อบส์ และทีมของพิกซ่าร์ช่วยกันพัฒนาภาพยนตร์แอนิเมชั่นโดยมี “ดิสนีย์” ร่วมทุน ในที่สุดภาพยนตร์ “Toy Story” แอนิเมชั่นเรื่องแรกของพิกซาร์ภายใต้การบริหารของจ็อบส์ ในฐานะซีอีโอก็ถูกปล่อยฉายในปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในเชิงการวิจารณ์และรายได้ “Toy Story” ทำรายได้สูงถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(900 ล้านบาท) และกลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดในปีนั้น โดยทำรายได้ทั่วโลกไป 362 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(ประมาณ 10,860 ล้านบาท) ด้วยความสำเร็จที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้สตูดิโอพิซ่าร์ผงาดขึ้นมาในฐานะสตูดิอสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นอันดับหนึ่งของโลกที่มีภาพยนตร์ดังอย่าง “A Bug’s Life”(1998), “Toy Story 2”(1999), “Monster, Inc.”(2001), “Finding Nemo”(2003) และอีกมากมายจนถึงทุกวันนี้ .... ช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ทางธุรกิจของสตีฟ จ็อบส์ เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ “แอปเปิ้ล” กำลังอยู่ในช่วงตกอับ ในปี ค.ศ.1996 ส่วนแบ่งทางการตลาดของ “แอปเปิ้ล” ตกลงมาอยู่ที่เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 แอปเปิ้ล มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ และในปีนั้นเอง บริษัทขาดทุนถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท) ภาวะวิกฤติเช่นนี้ ทางผู้บริหาร “แอปเปิ้ล” มองว่า คนที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ มีเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นคนที่รู้จัก “แอปเปิ้ล” ดีที่สุด นั่นก็คือ “สตีฟ จ็อบส์” นั่นเอง ทาง “แอปเปิ้ล” จึงวางแผนดึงจ็อบส์กลับมาด้วยการซื้อบริษัท “NeXT” ของเขา แล้วดึงจ็อบส์มาช่วยบริหารงาน หลังจากที่ล้มลงเสียงดังมา 1 ทศวรรษ ในที่สุด จ็อบส์ในวัย 40 ปี ได้ลุกขึ้น และกลับมาสู่ที่เดิมได้อย่างสง่างามท่ามกลางปัญหาที่เขาต้องแก้ไข จ็อบส์รีบเปลี่ยนแปลง “แอปเปิ้ล” ด้วยการโฟกัสผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตภายใต้แนวคิดของความสมบูรณ์แบบในการสร้างประสบการณ์ที่ดีและแตกต่างให้กับผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ล้ำๆ ที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร “i” จึงถือกำเนิดขึ้นมาเขย่าโลกมากมาย อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ iMac ตามด้วยผลิตภัณฑ์เพื่อการฟังเพลงอย่าง iTune และ iPod สมาร์ทโฟน อย่าง iPhone และแท็บเล็ต iPad ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ผู้คนในยุคนี้เป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ เพราะจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ ซึ่งเป็นจิตวิญญาณตุ๊กตาล้มลุกที่อยู่ในตัวของ “สตีฟ จ็อบส์” นั่นเอง