03 เม.ย. 2568 | 17:30 น.
“พี่ถามจริง ๆ เราห้อยพระอะไร?”
เครื่องรางและของขลังถือเป็นสิ่งสำคัญของเผ่าพันธุ์มนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ แม้ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะช่วยค้ำจุนการดำรงอยู่ของชีวิตเอาไว้เฉกเช่น หอก เสียม กระเป๋า หรือเสื้อผ้า แต่สิ่งของที่ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กและสามารถพกพาติดตัวไปได้ตลอดนั้น ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการค้ำจุนจิตใจเราให้หาญกล้าสอดรับไปกับร่างกายที่ต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่
‘พระเครื่อง’ (Amulet) เองก็ทำหน้าที่แบบนั้น บ้างก็เชื่อว่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาคุ้มครอง บ้างก็เชื่อว่าจะเป็นการเสริมโชคลาภในมิติต่าง ๆ ในชีวิต หรือบ้างก็แม้แต่เชื่อว่าจะทำให้เขามีอิทธิฤทธิ์มากกว่าคนธรรมดา แต่สิ่งสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ‘พระเครื่อง’ ได้กลายเป็นสิ่งของล้ำค่า ที่ถูกรายล้อมไปด้วยความต้องกาลอย่างมหาศาลจนก่อตัวเป็น ‘ตลาด’ (Market) ที่มีการแข่งขันสูง ไม่ต่างไปจากของโบราณหรือของสะสมประเภทอื่น ๆ เลย
ทว่าเรื่องราวของพระเครื่องไม่ได้จบแค่มันเป็นตลาดที่มีการแข่งขันที่ดุเดือดจนทำให้ราคาทะยานขึ้นไปมาก แต่ในวงการพระเครื่องก็เต็มไปด้วยด้านมืดที่มีทั้งการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันเองของผู้ซื้อและผู้ขาย อิทธิพลของเซียนพระที่ไม่เพียงเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดราคา แต่ยังอาจมาพร้อมกับอิทธิพล ความบาดหมาง และความต้องการที่อาจต้องแลกด้วยชีวิต
‘The Stone พระแท้ คนเก๊’ ที่กำกับโดย ‘อารักษ์ อมรศุภศิริ’ คือภาพยนตร์ไทยที่พาเราเข้าไปสำรวจโลกของพระเครื่องในมิติที่ไม่เคยถูกเล่าในจอภาพยนตร์มาก่อน ผ่านเรื่องราวของชายหนุ่มที่นำพระเก่าของพ่อไปให้ร้านรับเช่าพระประเมินราคา หวังจะแลกเป็นเงินเพื่อรักษาชีวิตพ่อ แต่กลับต้องเข้าไปพัวพันกับเบื้องหลังของวงการพระเครื่องที่เต็มไปด้วยแรงศรัทธา การชิงไหวชิงพริบ และอิทธิพลที่มองไม่เห็น
โดยมีนักแสดงนำอย่าง เจ้านาย-จินเจษฎ์ วรรธนะสิน, อ๊ะอาย-กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ, นพพล โกมารชุน, ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ และ จ๋าย Taitosmith ร่วมถ่ายทอดความซับซ้อนของผู้คนในวงการที่ทุกคนต่างล้วนมีสิ่งที่ต้องแลกเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่อยากครอบครอง
หนังเรื่องนี้ไม่ได้เพียงทำให้เราเห็นถึงเสน่ห์ของการหยิบยกเรื่องราวที่มีความเฉพาะตัวมาเล่าแบบให้สาธารณชนที่อาจจะไม่ได้เล่นพระเครื่องสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย แต่ยังสะท้อนถึงด้านมืดของวงการพระเครื่องที่เต็มไปด้วย ‘ความเทา’ และ ‘ความย้อนแย้ง’ จนบางทีก็ทำให้เราตั้งคำถามกับหลายสิ่งอย่างมากกว่าเดิม อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ที่บทความนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ศาสนา’ และ ‘การค้า’ อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมที่จะอยู่ด้วยกันขนาดนั้น หากมองจากกรอบของจริยธรรม เพราะเมื่อใดที่มีปัจจัยเชิงพาณิชย์และการซื้อ-ขายเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ย่อมเสี่ยงต่อการเปิดประตูให้ ‘กิเลส’ หรือ ‘ความโลภ’ เล็ดรอดเข้ามา ทว่าหากมองตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อสิ่งใดเป็นที่ต้องการมาก สิ่ง ๆ นั้นก็จะถูก ‘ทำให้เป็นการค้า’ (Commercialized) ไปโดยปริยาย
แท้จริงแล้วโลกของพระเครื่องอาจไม่ได้เกี่ยวโยงกับศาสนาโดยตรงขนาดนั้น เพราะตัวละครในตลาดพระเครื่อง ทางศาสนาอาจไม่ได้มีบทบาทมากเท่าผู้ซื้อ ผู้ขาย และโดยเฉพาะกับเซียนพระ แต่ศาสนาเป็นต้นทางหรือ ‘ผู้ผลิต’ เข้าสู่ตลาดเพื่อตอบรับกับความต้องการมากกว่า
อาจเป็นเพราะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แถมยังมีฐานความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ไม่น้อย จึงทำให้ตลาดพระเครื่องกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่คึกคักและมีการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดอันหนึ่งเลยก็ว่าได้ ไม่เพียงแค่มีผู้ซื้อและผู้ขายอยู่มาก แต่ยังมีพื้นที่ที่ทำหน้าที่เป็นตลาดของพระเครื่องโดยเฉพาะอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ทิพย์ ตลาดพระเครื่องศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ไปจนถึงท่าพระจันทร์ ยังไม่รวมแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในยุคปัจจุบัน
พระเครื่องในวันนี้อาจไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงวัตถุบูชาหรือของศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป แต่อาจกลายเป็น ‘วัตถุแห่งความต้องการ’ (Object of Desire) ในโลกที่ศรัทธาและการค้าเดินขนานกันโดยไม่อาจแยกจากกันได้เสียแล้ว
ภาพของพระเครื่องที่ห้อยอยู่บนคอของใครบางคน อาจสะท้อนความศรัทธาลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนสถานะทางสังคม อำนาจ และอิทธิพลของตัวผู้สวมใส่ พระหนึ่งองค์อาจแลกได้กับรถหนึ่งคัน หรือบ้านหลังหนึ่ง ไม่ใช่เพราะคุณค่าทางธรรม แต่เพราะความต้องการทางโลกที่สั่งสมและแปะป้ายราคามันเอาไว้
ตลาดพระเครื่องจึงไม่ใช่ตลาดที่มีแค่ของเก่าและของขลัง แต่คือ ‘สนามแข่งขัน’ ที่เต็มไปด้วยผู้เล่นมากมาย ตั้งแต่ชาวบ้านที่บูชาพระเพื่อความอุ่นใจ ไปจนถึงนักสะสมที่ไล่ล่าของหายาก และเซียนพระที่รู้ทุกจุดบนองค์พระว่าจุดไหนราคาพุ่ง จุดไหนคือรอยปลอม จนพระเครื่องก็กลายเป็นสื่อกลางการลงทุนไม่ต่างไปจากทองหรือหุ้นเลยแม้แต่น้อย
และเมื่อมีผู้เล่นมาก การหลอกลวงก็ย่อมเกิด ตลาดนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ซื้อ-ขาย แต่เป็นพื้นที่แห่ง ‘การต่อรองความศรัทธา’ ที่ผู้ซื้อเองก็ต้องมีสายตาที่เฉียบคมไม่แพ้ผู้ขาย เพราะหากแยกไม่ออกว่า ‘พระแท้’ หรือ ‘พระเก๊’ ไม่น่าแปลกเมื่อกิเลส ความต้องการ และความโลภ เล็ดรอดเข้ามา ก็จะทำให้ใครหลายคนหน้ามืดตามัวตามกันไป ซึ่งโลกทั้งหมดที่เราว่าไปนั้น ก็จะถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของ ‘เอก’ ตัวละครหลักที่ก้าวขาเข้าไปในโลกของพระเครื่องและเจอกับผู้คนมากมายหลากหลายรูปแบบ เพียงแต่จุดร่วมเดียวที่แทบทุกคนมีเหมือนกันหมดคือ
แทบจะไม่มีใครเลยที่เขาสามารถไว้ใจได้ แม้ว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขาทั้งหมดได้มาพบกันคือเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์อย่าง ‘พระเครื่อง’
ของที่เกี่ยวกับศาสนา ไม่ได้แปลว่าจะบริสุทธิ์เสมอไป เพราะเมื่อ ‘ศรัทธา’ ถูกบิดเบือนและแทรกแซงด้วยกิเลสและความโลภ อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ เฮียเซ้งที่พยายามจะขอซื้อพระของเอกในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงโดยอ้างฐานะความเป็น ‘เซียนพระ’ ของตน แม้แต่เซียนหมวยก็ยังเลือกที่จะหักหลังเอกเพื่อคว้าพระสมเด็จมาเป็นของตน แต่ที่น่าช็อคไปกว่านั้น แม้แต่ ‘พ่อสุนทร’ ยังกล้าส่งคนไปขโมยพระจากลูกของตน หรือแม้แต่ผู้การนพดลในคราบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็ยังอ้างอำนาจเพื่อคว้าพระมาครอง
เราจะเห็นว่าในหลาย ๆ ครั้ง เมื่อความอยากได้อยากมีเข้าครอบงำ ‘จรรยาบรรณ’ หรือแม้แต่ ‘จริยธรรม’ ขั้นพื้นฐานของตัวละคร ไม่ว่าจะในฐานะเซียนพระที่ผู้คนนับถือ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการ หรือแม้แต่ตำรวจก็ยอมที่จะละทิ้งบทบาทของตนเพื่อคว้าสิ่งที่ต้องการมาครอง ไม่ว่าจะด้วยทางใดก็ตาม
และทั้งหมดนั้นไม่ได้เกิดเพราะพระเครื่องไม่ศักดิ์สิทธิ์ หากแต่เป็นเพราะ ผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันต่างหาก ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนมันจากวัตถุแห่งศรัทธา ให้กลายเป็นวัตถุแห่งการครอบครอง
เมื่อทุกคนต่างมอง ‘พระ’ เป็นแค่สิ่งของที่จะนำพาตัวเองไปสู่เป้าหมายบางอย่าง — อำนาจ ชื่อเสียง ความมั่งคั่ง หรือความอยู่รอด หรือแม้แต่กิเลสของตนเอง — คำถามสำคัญก็คือ บทบาทหน้าที่ของ ‘พระเครื่อง’ คืออะไรกันแน่?
แล้วอิทธิฤทธิ์ที่มักถูกกล่าวขานไม่ต่างจากอินฟินิตี้สโตนส์ในจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล (Marvel Cinematic Universe) ว่าจะสามารถทำให้ใครสักคนที่ครอบครองแคล้วคลาดจากภัยอันตรายมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?
เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่าการแขวนพระจะช่วยปกป้องเราจะภัยอันตรายเพราะพระที่เราแขวนอยู่นั้น จะช่วยคุ้มครอง ในภาพยนตร์เราก็จะเห็นว่ามีการพูดถึงอิทธิฤทธิ์มากมาย โดยเฉพาะการที่ให้ผู้สวมใส่รอดจากกระสุน แต่ถ้าเรามองดูดี ๆ แล้ว มันเป็นแบบนั้นเสมอไปจริงหรือ?
ในภาพยนตร์เราจะเห็นได้ว่าใคร ๆ ก็อยากจะได้ ‘พระสมเด็จ’ มาครอบครอง แน่นอนว่าในแง่หนึ่งก็คือความต้องการในการที่จะสะสมให้ครบ หรือได้ชื่อว่าครองสิ่งที่หายาก แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ล้วนเกี่ยวโยงกับความเชื่อในด้าน ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘ความขลัง’ จากตำนาน ‘เฮียรัฐ’ ที่เล่าขานตามกันมา จนกลายเป็นความเชื่อว่า ถ้าได้ครองพระเครื่องเหล่านี้จะช่วยให้ตนแคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ The Stone ฉายให้เราเห็นถึงความย้อนแย้งของอิทธิฤทธิ์ของพระเครื่องที่ใคร ๆ ต่างก็ปราถนานี้ ว่าบางทีก็อาจไม่ได้เป็นผลเหมือนที่เราคาดคิด เพราะแทนที่จะได้รับการปกป้องจากอันตราย กลับกลายเป็นว่าพระเครื่องดังกล่าว ‘เรียก’ อันตรายมาหาถึงบ้านเสียอย่างนั้น
ก่อนที่เอกจะก้าวเข้าไปในโลกของพระเครื่อง ตัวของเขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ประสบปัญหาครอบครัว แต่เมื่อตัวเขาถือพระสมเด็จเข้าไปในโลกของพระเครื่อง กลับกลายเป็นว่ามี ‘นักล่า’ มากมายย่องเวียนมาเตรียมตะคุบ เพราะใคร ๆ ก็หวังจะชิงพระองค์นั้นมาจากเขา จนถึงขั้นที่ว่ามีคนบุกมาถึงบ้านและทำร้ายร่างกายเสียด้วยซ้ำ
ดูเหมือนว่าการครอบครองพระที่มีชื่อเสียงลือลั่นนี้กลับมีผลตรงกันข้ามกับที่เราเคยเข้าใจกันเสียอย่างนั้น
นี่ยังไม่รวมไปถึงในช่วงท้ายของเรื่อง ณ ร้านของพ่อสุนทรที่กลายเป็นว่า ‘พระแท้’ องค์เดียว กลับทำให้สถานที่ที่รายล้อมไปด้วยพระนับร้อยนับพันองค์อบอวลไปด้วยกระสุนปืน เลือด และร่างที่ไร้วิญญาณของผู้ปราถนาจะคว้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวมาครอง
ดูเหมือนว่าราคาที่ต้องจ่าย ‘พระแท้’ นี้มันช่างแพงเสียเหลือเกิน ทั้งในแง่ของเงินตราและชีวิตของใครสักคน
หากมองด้วยมุมมองนี้ บางทีใส่พระปลอมก็อาจจะ แคล้วคลาดจากภัยร้ายมากกว่าก็เป็นได้