Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

ความงามของการต่างขั้ว เมื่อวัฒนธรรมจากคนละซีกโลกมาเจอกัน จนกลายเกิดเป็นมิตรภาพที่สงครามก็หั่นไม่ขาด ‘Merry Christmas, Mr.Lawrence’ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ดึงนักดนตรีจากสองซีกโลกมาประกบกันในจอเดียวกัน กับความหมายแฝงที่ชี้ให้เห็นความงามของมนุษย์ท่ามกลางไฟสงคราม

บทเพลงหนึ่งที่ถือเป็นผลงานชิ้นเอกและมีเสียงดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ชิ้นหนึ่งของนักดนตรีในตำนานแห่งแดนอาทิตย์อุทัยนามว่า ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ’ (Ryuichi Sakamoto) คงจะเป็นบทเพลงไหนไปไม่ได้นอกเสียจาก ‘Merry Christmas, Mr.Lawrence’ เสียงดนตรีที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ตั้งแต่ความเศร้า ความคิดถึง ไล่เรียงไปถึงความหวังที่ผุดขึ้นมา

 

Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

Ryuichi Sakamoto

 

นับเป็นเรื่องน่าใจหายที่ในคืนวันที่ 3 มีนาคม 2023 ทางโซเชียลมีเดียของซากาโมโตะได้มีอัปโหลดภาพที่บอกว่า นักประพันธ์เพลงแห่ง Yellow Magic Orchestra ได้เสียชีวิตอย่างสงบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ต่อสู้กับโรคมะเร็งมานานหลายปี 

เนื่องในโอกาสรำลึกการจากไปของเขา The People จึงอยากจะนำเสนอภาพยนตร์อันเป็นที่มาของบทเพลงอมตะที่ฉายในปี 1983 ในชื่อเดียวกัน ซึ่งก็คือ ‘Merry Christmas, Mr.Lawrence’ (1983) จากผลงานการกำกับของ ‘นางิสะ โอชิมะ’ (Nagisa Oshima) เกี่ยวกับเรื่องราวของเชลยศึกชาวตะวันตกในค่ายของทหารญี่ปุ่น

 

Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983)

 

ซึ่งตัวละครหลักทั้งสองในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือคนสองคนที่แตกต่างกันสุดขั้วในแทบจะทุกแง่มุม - แจ็ค เซลเลียร์ส (Jack Celliers) เชลยใหม่จากค่ายที่ตัวเป็นนักโทษแต่ใจเป็นอิสระ ใจกล้าต่อต้านทุกสิ่งอย่างที่ไม่ยุติธรรมในค่าย แม้ในภายหลังจะต้องเจ็บกายก็ตาม และ ผู้กองโยโนอิ (Yonoi) ผู้ยึดมั่นในระเบียบและขนบธรรมเนียมของกองทัพญี่ปุ่นและวิถีซามูไรโบราณ ผู้ที่กายอิสระแต่ใจกลับถูกกักขังด้วยระเบียบเหล่านั้น

 

Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

แจ็ค เซลเลียร์ส (Jack Celliers)

 

Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

ผู้กองโยโนอิ (Yonoi)

ไม่เพียงแค่ตัวละครหลักทั้งสองจะมีความต่างขั้วกันอย่างสุดทางเท่านั้น แต่นักแสดงที่สวมบทบาทเหล่านั้นก็ต่างกันอย่างสุดขั้วเช่นเดียวกัน ในด้านหนึ่งคือ เดวิด โบวี (David Bowie) นักดนตรีศิลปินเดี่ยวชื่อดังก้องโลกจากฝั่งตะวันตก มาประชันกับ ริวอิจิ ซากาโมโตะ นักดนตรีสายทดลองจากวง Yellow Magic Orchestra (YMO) จากฝั่งตะวันออก

ไม่เพียงแค่ซากาโมโตะมาสวมบทบาทเป็นตัวละครหลักในภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น แต่เขายังได้เป็นผู้ประพันธ์เพลงประกอบให้อีกด้วย ซึ่งก็ออกมาเป็นดนตรีสุดคุ้นหูและอมตะดังที่เรากล่าวไปข้างต้นนั่นเอง ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจบางมุมจากภาพยนตร์เรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence เกี่ยวกับประเด็นความต่างขั้วทางด้านวัฒนธรรม มิตรภาพ สงคราม และความสวยงามของความเป็นมนุษย์ที่เรื่องราวนี้พยายามจะสื่อออกมา

ความต่างที่สมานผ่าน ‘มิตรภาพ’

แทบจะตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นความเหี้ยมโหดภายในค่ายเชลยจากเหล่าทหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ‘ฮาระ’ (Hara) นายทหารยศจ่าขาโหดผู้เป็นผู้คุมและดูแลความเรียบร้อยของเชลยในค่าย นำแสดงโดย ‘ทาเคชิ คิทาโน่’ (Takeshi Kitano) เรียกได้ว่าหากใครคนใดประพฤติผิดกฎหรือไม่ถูกใจก็จะโดนฟาดไม่เลี้ยง

Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

 ฮาระ (Hara)

 

แต่แม้จะมีความแตกต่างอย่างสุดขั้วในเชิงอำนาจระหว่างผู้กุมอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจ แต่มิตรภาพระหว่างจ่าฮาระกับล่ามเชลยประจำค่ายนามว่า ‘ลอว์เรนซ์’ (Lawrence) ที่สวมบทบาทโดย ‘ทอม คอนติ’ (Tom Conti) ก็ก่อตัวขึ้นเรื่อยมา จนทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของนายทหารสุดโหดว่าเขาก็มีมุมความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้โหดร้ายอะไรดังที่สงครามเหลาให้เขาเป็น

 

Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

ลอว์เรนซ์ (Lawrence)

 

ในครั้งหนึ่งที่ลอว์เรนซ์และเซลเลียร์สประพฤติผิดอย่างร้ายแรงจนต้องโทษประหารในคืนวันคริสต์มาส แต่พอถึงเวลาที่จะต้องรับโทษจริง ๆ เขาทั้งคู่กลับถูกพาเข้าไปหาฮาระในห้องหนึ่ง ในขณะที่เขากำลังดื่มด่ำเฉลิมฉลองกับสาเกและผลไม้อย่างมีความสุข พร้อมทั้งเปรียบตัวเองเป็น ‘ซานตา คลอส’ หรือ ‘Father Christmas’ ที่ประทานของขวัญเป็นการละเว้นโทษประหารให้แก่สองเชลยในค่ำคืนพิเศษวันนั้น

 

มันเป็นคืนคริสต์มาสที่ดีมาก ๆ เลยนะ นายว่าไหม?

มันเป็นคืนที่สุดแสนจะมหัศจรรย์เลยละ… นายเมาปลิ้นเลย

ดีจังนะ ผมอยากจะเมาแบบนั้นไปอีกเรื่อย ๆ จัง…

 

เมื่อมองฉากดังกล่าวผสานเข้ากับประโยคจากฉากสุดท้าย เราจะได้เห็นว่าความเป็นมนุษย์ที่แอบซ่อนอยู่หลังความเหี้ยมโหดของฮาระจะถูกดึงออกมาเมื่อเขา ‘เมาเหล้า’ เมื่อสาเกถูกกระดกเข้าปากสู่กระแสเลือด ยศถาบรรดาศักดิ์ แนวคิดเรื่องสงครามและอำนาจก็ถูกเปลื้องออกจนหมดเกลี้ยง เหลือเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่หวังอยากจะช่วยเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่งเพียงเท่านั้น 

ตั้งแต่วินาทีแรกของภาพยนตร์ที่ฮาระปรากฏตัวขึ้นมาบนจอ เราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครตัวนี้อย่างน่าสนใจ ฮาระเริ่มก้าวเดินจากจ่าผู้คุมที่ (ดูเหมือน) ไร้หัวใจ แถมยังไม่ยอมรับวัฒนธรรมจากฝั่งตะวันตก และกล่าวว่าวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นเป็นอะไรที่สูงส่งกว่า ค่อย ๆ โอบรับและเข้าใจความแตกต่างมากขึ้นผ่านลอว์เรนซ์ แม้จะโหดร้าย แต่เราก็จะได้เห็นอีกมุมของฮาระที่เข้าใจและเห็นใจเชลยคนอื่น ๆ จนก่อให้เกิดเป็นมิตรภาพระหว่างตัวเขากับลอว์เรนซ์เสียด้วยซ้ำ

ความน่าสนใจของความขัดแย้งนี้ชี้ให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างสองวัฒนธรรมที่มาเผชิญกันจนเกิดเป็นความขัดแย้งและไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘มิตรภาพ’ เริ่มแทรกตัวเข้ามาระหว่างกลาง มันกลับทำหน้าที่เสมือนกาวที่ช่วยสมานความแตกต่างนั้นให้เขยิบเข้ามาใกล้และเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น

แต่มิตรภาพเหล่านั้น แทนที่จะเบิกบานได้อย่างเต็มที่ กลับถูกครอบด้วยความโหดร้ายที่มุ่งแบ่งแยกผู้คนให้ฆ่าแกงกันเองนามว่า ‘สงคราม’ แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นว่ายังมี ‘ความเป็นมนุษย์’ หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังความเหี้ยมโหดเหล่านั้น

 

คำลาสุดท้าย ชัยชนะที่ยิ้มไม่ออก

 

พวกเราล้วนคือเหยื่อของเหล่าคนที่คิดว่าตนเองถูก… แต่ความจริงแล้ว ไม่มีใครเลยที่เป็นคนถูก

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่อง Merry Christmas, Mr.Lawrence ได้นำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจคือด้านมืดของ ‘สงคราม’ ที่นอกจากจะทิ้งซากปรักหักพังให้แก่มวลมนุษย์แล้วยังไม่สร้างผลประโยชน์ที่จีรังยั่งยืนให้แก่ฝ่ายใดเลย มีเพียงแต่อำนาจเหนือผู้อื่นที่ใครสักคนอาจจะได้มันมาครองเพียงชั่วคราวเท่านั้น 

ดังที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าตลอดเรื่องเราจะได้เห็นนายทหารญี่ปุ่นทั้งหมด รวมถึงฮาระครองอำนาจนำและสามารถบงการเชลยทุกคนในค่ายได้ตามอำเภอใจ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย ในตอนที่สงครามโลกได้เดินมาถึงจุดจบเป็นที่เรียบร้อย ในวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะ และอักษะเป็นผู้แพ้ บทบาททั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นจึงพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเชลยจึงกลายเป็นผู้ชนะ จากผู้คุมเชลยจึงกลายเป็นนักโทษ

ในคืนวันคริสต์มาสก่อนที่ฮาระจะถูกประหารในเช้าวันต่อไป ลอว์เรนซ์ได้เดินทางไปหามิตรจากค่ายเชลยเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งบทสนทนาของเขาทั้งคู่ถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวการจากลาและตอนจบที่ซึ้งเรียกน้ำตาที่สุดแห่งโลกภาพยนตร์ก็ว่าได้

แม้จะสลับบทบาทกันอย่างชัดเจน แต่ลอว์เรนซ์ก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่อยู่เหนือกว่าฮาระเลยแม้แต่น้อย เขาเคารพฮาระเสมือนเพื่อนคนหนึ่งของเขาดังเดิมไม่เปลี่ยนไป เมื่อได้พูดคุยกัน เขาก็เลือกที่จะนั่งกับพื้นแทนที่จะยืนเพื่อที่จะสามารถคุยกับฮาระในระดับสายตาเดียวกัน ซึ่งสื่อความรู้สึกว่าไม่มีใครเหนือหรือด้อยกว่าในสถานการณ์นี้

ในทางตรงกันข้าม จากฮาระ จ่าสายโหดในตอนนั้นกลับกลายเป็นคนที่นอบน้อมสุภาพในวันที่เขาได้ลองมาเข้าใจความรู้สึกของเชลยเมื่อเขาได้เจอมันเองกับตัว

อีกหนึ่งความต่างขั้วที่ตรงกันข้ามกันที่น่าจะสร้างความเจ็บปวดให้ลอว์เรนซ์ไม่น้อยก็คือ ‘การช่วยชีวิต’ ในคราวที่ฮาระถือครองอำนาจเป็นผู้คุมเชลย แม้จะโหดเหี้ยมต่างจากในคราวของลอว์เรนซ์อย่างสิ้นเชิง แต่ในวันที่ลอว์เรนซ์กำลังจะถูกประหารในคืนวันคริสต์มาส ฮาระสามารถช่วยชีวิตลอว์เรนซ์และเซลเลียร์สโดยการละเว้นโทษได้

 

Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983)

 

แต่ในคืนวันคริสต์มาสหลายปีต่อมา เมื่อถึงคราวที่ฮาระต้องเดินหน้าสู่ลานประหาร แม้ลอว์เรนซ์จะไม่ได้ใช้อำนาจอย่างเหี้ยมโหดเหมือนฮาระในคราวที่เขามีอำนาจ แต่ลอว์เรนซ์ก็ไม่สามารถช่วยฮาระให้พ้นจากการถูกประหารได้ เขาไม่สามารถมอบของขวัญในวันคริสต์มาสแก่ฮาระเหมือนที่ฮาระเคยมอบให้เขาเมื่อหลายปีก่อนได้ นับเป็นความต่างขั้วที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนตัวอย่างหนึ่ง

 

ในบางคราว มันก็ยากเหลือเกินที่จะโอบรับชัยชนะเอาไว้…

 

เมื่อกล่าวถึงชัยชนะ บางชัยชนะก็มาพร้อมความสุขอันล้นเหลือ แต่บางชัยชนะก็มาพร้อมความปวดร้าว โดยเฉพาะเมื่อผู้ชนะคนนั้นเคยยืนอยู่ในจุดที่ผู้แพ้เคยยืนมาก่อน คำกล่าวและท่าทีของลอว์เรนซ์สะท้อนความเข้าอกเข้าใจและเห็นใจต่อฮาระออกมาอย่างชัดเจน เมื่อครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นเชลยที่เคยเกือบโดนประหาร เหตุใดจึงต้องหัวเราะเยาะใครสักคนที่กำลังเผชิญกับชะตากรรมแบบเดียวกับที่เขาเคยเผชิญ? โดยเฉพาะเมื่อบุคคลคนนั้นเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งของเขา

หลังจากบอกลาฮาระด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเป็นครั้งสุดท้าย ลอว์เรนซ์ก็แข็งใจและเดินจากไป แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ได้ยินเสียงเรียกแบบเดิม เหมือนที่หลายปีก่อนเขาได้ยินเป็นประจำ

 

ลอว์เรนซ์!!!!!

เมอร์รีคริสต์มาส… เมอร์รีคริสต์มาสนะ คุณลอว์เรนซ์

 

แม้ลอว์เรนซ์จะไม่สามารถช่วยชีวิตฮาระให้รอดพ้นจากโทษประหารได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาทำได้คือกอบกู้จิตใจและดวงวิญญาณของฮาระให้เข้าใจในความงามของมิตรภาพและความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้ อย่างน้อยในค่ำคืนคริสต์มาสนั้น ฮาระก็ได้เข้าใจความพิเศษของมันและได้บอกลาลอว์เรนซ์เป็นครั้งสุดท้าย

 

Merry Christmas, Mr.Lawrence : ความต่างขั้วที่งดงามท่ามกลางไฟสงครามและวันคริสต์มาส

Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983)

 

นับเป็นชัยชนะที่น่าเจ็บปวดของลอว์เรนซ์ที่เขาต้องเห็นเพื่อนต้องเดินหน้าไปเผชิญกับความโหดร้ายที่เขาเคยประสบ นับเป็นความพ่ายแพ้ที่สวยงามของฮาระ แม้ว่าชีวิตของเขาจะต้องจบลงในอีกไม่นาน แต่อย่างน้อย ในช่วงเวลาที่เหลือของเขา เขาก็ได้เห็นและเข้าใจความงดงามของความเป็นมนุษย์ที่พร้อมจะเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นอย่างแท้จริง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นถึงแง่งามของความเป็นมนุษย์ที่แทรกตัวอยู่ในซากปรักหักพังของสงครามที่ไม่ว่าจะปืนกี่กระบอก รถถังกี่คัน หรือระเบิดกี่ลูก ก็ไม่สามารถทำลายมิตรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ให้มลายหายไปได้ แต่ก็นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ผู้คนมากมายหลายคนที่สามารถเป็นเพื่อนกันได้ ต้องมาถือปืนเล็งหากัน เพียงเพราะอุดมการณ์และเป้าหมายของคนไม่กี่คน พวกเขาถูกชี้สั่งให้ทำร้ายกัน ฆ่ากัน เพียงเพราะคำว่า ‘สงคราม

แต่อย่างน้อยฮาระก็ได้เข้าใจความสวยงามของวันคริสต์มาส…

 

ภาพ
ภาพยนตร์เรื่อง Merry Christmas, Mr.Lawrence (IMDb)