20 พ.ย. 2566 | 17:09 น.
- Know Your Worth เป็นการแสดงคาบาเรต์ที่ประกอบด้วยนักแสดง 4 คน และนักเปียโน 1 คน ใช้เวลาในการแสดงเพียง 15 นาที แต่สามารถกระตุกคนดูให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่ากำลังทุ่ม ‘เวลา’ ทั้งชีวิตเพื่ออะไร?
- ตัวละครใน Know Your Worth ก็ไม่ต่างจากพวกเราสักเท่าไร แม้จะเป็นถึงผู้บริหาร แต่พวกเขาก็ไม่มีเวลาส่วนตัวเหมือนกันเพราะต้องง่วนอยู่กับการทำงาน ถึงขนาดต้องปฏิเสธนัดของเพื่อน ๆ ทั้งที่ใจก็อยากไป
พอได้รับคำชวนให้ไปร่วมชม ‘คาบาเรต์’ ที่หอศิลปกรุงเทพฯ สารภาพตามตรงว่าจินตนาการไม่ออกว่าจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน? และไม่แน่ใจเลยว่าจะเก็บอะไรมาเขียนได้หรือเปล่า?
แต่กลายเป็นว่าเมื่อชมโชว์จบลง ในหัวกลับมีอะไรมากมายที่อยากพรั่งพรูออกมา
ทันทีที่ก้าวเข้าไปนั่งในสถานที่จัดแสดง ซึ่งเป็นห้องขนาดเล็ก รองรับผู้ชมได้ราว 50 คน เหล่านักแสดงที่มีทั้งหมด 5 คน (รวมนักเปียโน) ได้นั่งประจำที่รออยู่ก่อนแล้ว และได้ทักทายเหล่าผู้ชมด้วยความเป็นกันเอง ชวนให้เรานึกสงสัยว่าเมื่อถึงเวลาโชว์จริง พวกเขาจะสามารถสลัดตัวตนที่สดใส ฉาบไปด้วยรอยยิ้ม เพื่อพาเราเข้าถึงแนวคิดลึกซึ้งเกี่ยวกับ ‘สังคมทุนนิยม’ ตามที่โปรโมตไว้ ได้หรือไม่?
ด้วยความเป็นโชว์ร้อยเรียงเพลงที่ใช้เวลาน้อยมาก (แค่ 15 นาที) ทันทีที่เปิดฉากการแสดง ผู้ชมก็ถูกตีแสกหน้าด้วยคำถามที่มาโดยไม่ทันตั้งตัวว่า “อะไรคือสิ่งที่มีค่าในชีวิต?”
ในขณะที่ในหัวของเรารีบขบคิดหาคำตอบ เพลงเปิดตัวนักแสดงทั้งสี่ที่ชื่อว่า ‘Sorry, I Can’t’ ก็ได้เฉลยคำตอบที่เรามิอาจเถียงได้เลยนั่นคือ ‘เวลา’
ถามว่าทำไมเวลาจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด? ถ้าคุณอยู่ในวัยทำงานที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอันแสนวุ่นวาย (เช่น กรุงเทพฯ) คุณจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของเวลาดี เช่นตอนที่คุณต้องสั่งข้าวมากินหน้าจอคอมฯเพื่อเร่งปั่นงานให้ทันเวลาทั้งที่หิวไส้จะขาด หรือตอนที่ฝนตกจนถนนกลายเป็นอัมพาตไปทั้งเมือง ในขณะที่คุณต้องรีบมาประชุมให้ทัน และตอนที่คุณยอมทำงานหามรุ่งหามค่ำจนสุขภาพย่ำแย่เพื่อให้งานเสร็จ ฯลฯ
ตัวละครใน Know Your Worth ก็ไม่ต่างจากพวกเราสักเท่าไร แม้จะเป็นถึงผู้บริหาร แต่พวกเขาก็ไม่มีเวลาส่วนตัวเหมือนกันเพราะต้องง่วนอยู่กับการทำงาน ถึงขนาดต้องปฏิเสธนัดของเพื่อน ๆ ทั้งที่ใจก็อยากไป
นั่นเพราะทั้งตัวละครและพวกเราต่างเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่า ต้องทุ่มสรรพเวลาทั้งหมดที่มีไปกับการทำงานเพื่อให้ชีวิตเดินหน้าไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ ซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า เรานั้นทรง ‘คุณค่า’ มากแค่ไหน
ทุกวันนี้เวลาหันไปทางไหน เราจึงเห็นแต่คนรอบตัวที่เผาเวลาไปกับการทุ่มเททำงาน จนแทบไม่มีเวลาหยุดคิดสักนิดว่า แท้จริงแล้วทุกคนต่างก็ต้องการจังหวะเพื่อหยุดพักหายใจหายคอ ออกตามหาแรงบันดาลใจ เติมเชื้อไฟความสร้างสรรค์ และอยู่ท่ามกลางคนที่รัก
ในขณะที่กำลังนั่งจุกกับสิ่งที่ตกผลึกได้จากเพลงแรก ทีมนักแสดงก็พาเราเดินทางต่อไปกับเพลง ‘Customer Disservice’ ที่เล่าเรื่องราวคอลเซ็นเตอร์สายการบินกับลูกค้า ที่ถึงแม้จะพูดภาษาเดียวกัน แต่ก็ดูเหมือนจะยุ่งยากและเป็นพิธีรีตอง จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที
เราชอบช่วงนี้ที่สุด เพราะนอกจากจะเรียกเสียงหัวเราะจนท้องคัดท้องแข็ง ยังถือเป็นการหยิบเอาประสบการณ์ร่วมของคนดูมาเล่าได้อย่างตลก(ร้าย)
เราเองก็เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากคอลเซ็นเตอร์ธนาคาร (แห่งหนึ่ง) ที่ได้มอบ ‘ความไม่จริงใจ’ ในการแก้ปัญหา และ ‘ไม่เต็มใจ’ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า มาให้เหมือนกัน ทั้งที่ธนาคารนำเงินของพวกเราไปโกยผลประโยชน์เข้าตัวเองมากมาย
ซึ่งนี่แหละคือ ‘ทุนนิยม’ ที่มีแต่ตักตวงและดูดพลังจากเรา ไม่ว่าเราจะสวมหมวก ‘พนักงาน’ หรือ ‘ลูกค้า’ ก็ตาม
ระหว่างที่กำลังรู้สึก ‘เวทนา’ ตัวเองอยู่ ทีมนักแสดงก็ปลุกเร้าผู้ชมต่อด้วยเพลง ‘We Did This For You’ ซึ่งนักแสดงทั้งสี่สวมบทเป็นนักการตลาดที่เชื้อเชิญให้เหล่าลูกค้า (คนดู) เข้าร่วมโปรโมชั่น ที่จัดขึ้นแทบจะทุกเทศกาล ทั้งวันวาเลนไทน์ ปีใหม่ ตรุษจีน หรือแม้กระทั่ง ‘วันพฤหัสบดี’
สะท้อนถึง ‘ความหิวกระหาย’ ของทุนนิยม ที่อยากจะดึงเงินในกระเป๋าลูกค้าออกมาด้วยวิธีการแสนแยบยล
ถึงจุดหนึ่งเราคิดว่า ทีมนักแสดงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งที่ทำให้เรารู้สึก ‘อึดอัด’ กับวิธีการขายของนักการตลาด (หรืออีกนัยก็คือทุนนิยม) จนเราแอบโล่งใจที่ช่วงหนึ่ง ทีมนักแสดงหันไปบิลด์อารมณ์กับนักเปียโนแทน (อารมณ์คล้ายตอนเดินในห้างแล้วเจอพนักงานขายตื๊อให้กรอกข้อมูลแลกโปรโมชั่น แล้วพนักงานขายเจอเป้าหมายใหม่ เลยยอมปล่อยมือจากเราไป)
เพลงต่อมามีชื่อว่า ‘Great’ เราแอบคิดว่าเพลงนี้จะช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลายขึ้นบ้าง เพราะเป็นเพลงช้าที่มาเบรกอารมณ์จากเพลงแรก ๆ ที่ไต่ระดับความตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ฟังเพลงนี้จบกลายเป็นว่าเรารู้สึก ‘เหนื่อยล้า’ เข้าไปอีก เพราะเป็นเพลงที่เล่าถึงชีวิตชิลด์ ๆ ในอดีตของคนทำงาน ที่เคยมีเวลานอนพักผ่อนใต้ต้นไม้ ชมแสงหิ่งห้อยในตอนกลางคืน กระทั่งต้องเข้าเมืองมาทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนรู้สึกโหยหาช่วงเวลาที่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและความเรียบง่าย
เพลงนี้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่จากบ้านมาเพื่อไล่ล่าความสำเร็จจนลืมแม้กระทั่ง ‘ตัวตน’ และ ‘จิตวิญญาณ’ ของตัวเอง ได้อย่างดีเยี่ยมจนขนลุก
แต่ถึงพวกเราจะโหยหาความรู้สึกเบาสบายดั่งในอดีตมากเพียงใดก็ตาม สุดท้ายเราก็จำต้องละทิ้งความรู้สึกเหล่านั้น แล้วทำงาน ทำงาน และทำงาน เพื่อให้ทุนนิยมได้สุขสมกับ ‘ตัวเลข’ ที่สูงขึ้นทุกปี
จึงไม่แปลกที่เราจะไม่มีเวลามานั่งถามตัวเองว่า ‘ความสำเร็จ’ ที่เราใฝ่ฝันถึงนั้น แท้จริงแล้วเป็นความสำเร็จของ ‘ทุนนิยม’ หรือความสำเร็จของ ‘ตัวเรา’ เอง กันแน่ และมันมี ‘คุณค่า’ มากพอที่จะสละเวลาทั้งชีวิตให้หรือเปล่า?
เหมือนที่เพลงสุดท้าย ‘Know Your Worth’ ได้กระตุกให้เราฉุกคิดถึงสิ่งนี้
*หมายเหตุ : การแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลละครกรุงเทพ 2023 (Bangkok Theatre Festival 2023) ซึ่งปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว