17 ก.พ. 2567 | 17:30 น.
KEY
POINTS
Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ภาพยนตร์ชองโรแมนติก-ไซไฟจากอดีตมือกลองวงอินดี้สู่ผู้กำกับหนัง มิเชล กอนดรี (Michel Gondry) เรื่องราวที่จะพาเราดำดิ่งเข้าไปสำรวจความสัมพันธ์ของอดีตคู่รัก โจเอล (จิม แครีย์) และคลีเมนไทน์ (เคท วินสเล็ต) คู่รักที่มาถึงจุดแตกหักจนนำไปสู่การใช้บริการคลินิกลบความทรงจำเพื่อลบกันและกันออกจากชีวิตตลอดกาล แค่พล็อตเรื่องก็ฟังดูเป็นภาพยนตร์ที่คู่ควรอย่างยิ่งแก่การดูในช่วงเดือนแห่งความรักแล้ว
ด้วยการร้อยเรียงเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยความละเมียดละไมและซื่อตรงจาก ชาร์ลี คอฟแมน (Charlie Kaufman) ผู้กวาดรางวัล Best Original Screenplay จากเวที Academy Awards และ British Academy Film Awards ปี 2005
ด้วยเหตุนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจที่ภาพยนตร์จะกุมหัวใจผู้ชมได้อย่างอยู่หมัด การพูดถึงความสัมพันธ์เป็นพิษหรือ ‘Toxic Relationship’ ที่ผสมโรงรวมกับความเป็นหนังไซไฟ วิชวลตระการตาของโลกความทรงจำ ความรู้สึกจมดิ่งที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน จะทำให้คอนเซปต์การลบความทรงจำเปิดประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับคนดูอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือ ถ้าคนเราสามารถลบความทรงจำออกได้จริง ๆ โลกนี้จะเป็นอย่างไร เบื้องหลังวีรกรรมสุดแสบของมิเชล กอนดรีที่ยกระดับความสัมพันธ์เป็นพิษในเรื่องสู่นอกจอเพื่อขยี้นักแสดง สาเหตุว่าทำไมตัวละครในเรื่องถึงมีความเป็นมนุษย์สูง และที่มาของการเสพติดความสัมพันธ์เป็นพิษที่เจ็บปวด และเราจะพูดถึงมันทั้งหมด ในบทความนี้
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์โรแมนติกไซไฟที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์และคอนเซปต์การลบคนรักออกจากความทรงจำ เกิดขึ้นจากบทสนทนาระหว่าง ปีแยร์ บิสมูท (Pierre Bismuth) ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้เป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ร่วม และ มิเชล กอนดรี ผู้เป็นกำกับและเพื่อน ปีแยร์เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของเพื่อนสาวตัวเองที่บ่นเรื่องแฟนหนุ่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาจึงเสนอว่า
ถ้ามีเทคโนโลยีที่สามารถลบแฟนหนุ่มเจ้าปัญหาออกจากความทรงจำ เธอจะสนใจทำไหม?
ซึ่งแน่นอนเธอตอบว่าสนใจ
ชุดคำถามนี้ทำให้ปีแยร์เกิดความสนใจว่าผลการกระทำนี้จะนำไปสู่อะไร ความตั้งใจแรกของปีแยร์ต้องการนำไอเดียไปสร้างเป็นศิลปะเชิงคอนเซปต์ชวล โดยตั้งคำถามต่ออีกว่าถ้าหากวันหนึ่งเราได้รับจดหมายว่าตัวเราได้ถูกลบออกไปจากความทรงจำของบุคคลหนึ่งและมีคำสั่งห้ามให้ไม่ติดต่อบุคคลนี้อีก จะเกิดอะไรขึ้น? บทสนทนานี้ทำให้มิเชลรู้สึกดึงดูดกับไอเดียนี้เป็นอย่างมาก หลังจากที่มิเชลได้นำเสนอสิ่งนี้ให้กับนักเขียนบทมือทองอย่าง ชาร์ลี คอฟแมน บทภาพยนตร์ก็ได้บังเกิดขึ้นและที่เหลือก็กลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งความสำเร็จของภาพยนต์เรื่องนี้
ถ้าหากคุณได้เข้ามาใช้บริการที่คลินิก ‘ลาคูน่า’ คุณจะพบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางบรรยากาศสุดแสนจะอึมครึม เหล่าผู้คนที่กำลังรอคิวต่างหิ้วข้าวของที่เต็มไปด้วยความทรงจำที่ตัวเองต้องการจะลบออก คนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ คุณอาจจะเป็น โจเอลก็ได้ พ่อหนุ่มสุดซึมที่ได้รู้ความจริงว่า คลีเมนไทน์ อดีตแฟนสาวผู้ได้ตัดสินใจมาที่คลินิกแห่งนี้เพื่อลบเขาออกจากความทรงจำ แน่นอนว่าเขาตั้งใจมาที่นี่เพื่อทำสิ่งเดียวกัน
ในกระบวนการคุณจะต้องนำสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่คุณต้องการจะลบออกมาด้วย หลังจากนั้นคุณจะถูกจับนั่งเข้ากับเครื่องประหลาดที่หน้าตาดูคลับคล้ายคลับคากับเครื่องอบผม คุณจะต้องปล่อยอารมณ์ความรู้สึกระหว่างที่จ้องสิ่งของทีละชิ้น บอกเล่าเรื่องราวสาเหตุของตัวเองที่ทำให้ต้องมาลงเอยที่นี่ และจบท้ายด้วยการกินยา 1 เม็ดก่อนนอนเพื่อให้หลับไหลไปตลอดทั้งคืน เพียงเท่านี้ภายในเช้าวันใหม่คุณก็ไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวดหรืออาลัยอาวรณ์กับความทรงจำของคุณอีกต่อไปแล้ว
ความจริงแล้วในกระบวนการลบความทรงจำสุดประหลาดนี้กลับมาข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับความทรงจำที่ถูกรังสรรค์เข้ามาอย่างละเมียดละไม ในตัวเรื่องหลังจากที่โจเอลหลับไหลเข้าสู่จิตใต้สำนึกและความทรงจำ เขาค้นพบว่าความทรงจำของตัวเองสลับซับซ้อน เอาแน่เอานอนไม่ได้ ความทรงจำที่มี คลีแมนไทน์ ถูกลบออกเรื่อย ๆ อย่างควบคุมไม่ได้ การไล่เรียงลบความทรงจำของจุดจบที่ขมปี๋สู่จุดเริ่มต้นที่หอมหวานและยากจะลืม ทำให้โจเอลต้องการยกเลิกกระบวนการทั้งหมดและเก็บความทรงจำของคลีแมนไทน์เอาไว้ แต่ไม่ว่าเขาจะซ่อนเธอไว้ในความทรงจำที่ไหนสุดท้ายก็หนีชะตากรรมที่ตัวเองริเริ่มไว้ไม่พ้น
ในบทภาพยนตร์เราจะเห็นได้ว่าความทรงจำและความรู้สึกจะเป็นสิ่งที่ถูกเชื่อมเอาไว้เสมอ ความทรงจำเหล่านี้จะถูกกักเก็บในสมอง 2 ส่วนซึ่งก็คือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่ทำหน้าที่จัดเก็บความทรงจำ และ อะมิกดะลา (Amygdala) ที่ทำหน้าที่เก็บความรู้สึก ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจของสมองในการกักเก็บหรือสร้างความทรงจำนั้น จะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนที่เรานอนหลับดังนั้นถ้าหากคลินิกลบความทรงจำมีจริง ปฏิบัติการลบความทรงจำที่ช่างเทคนิคบุกเข้ามาในบ้านตอนกลางคืนจึงเป็นสิ่งที่ไม่เกินจริง
นอกจากนี้แล้วยังมีทฤษฎีว่าด้วยกระบวนของความทรงจำที่เมื่อถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ข้อมูลของความทรงจำชุดเก่าของเราจะถูกเขียนขึ้นใหม่เช่นกัน ซึ่งกระบวนการนี้มีชื่อเรียกว่า Memory Reconsolidation และหากเทียบเคียงกับกระบวนการในเรื่องแล้ว วิธีการทำงานของคลินิกมีความเชื่อมโยงที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือเมื่อโจเอลต้องรื้อฟื้นความรู้สึกที่มีต่อสิ่งของเกี่ยวกับคลีแมนไทน์ เครื่องสแกนสมองหน้าตาประหลาดจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลและมาร์คจุดความทรงจำของเขาไว้เพื่อทำเป็นแผนที่ เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนลบความทรงจำ โจเอลจะพบว่าตัวเองกลับเข้ามาอยู่ในความทรงจำอีกครั้งระหว่างที่มันกำลังสลายหายไปเรื่อย ๆ เหมือนกับความทรงจำที่ถูกรื้อฟื้นและเขียนขึ้นใหม่ ต่างกันที่จากการเขียนมันใหม่เป็นการลบมันออกตลอดกาล
หลาย ๆ ครั้งในโลกแห่งภาพยนตร์ ความรักและความสัมพันธ์บนหน้าจอมักมาในรูปแบบที่อยู่ในกรอบของอุดมคติ หวานหยดย้อยและเป็นไปตามความต้องการของหัวใจ หากแต่สิ่งนั้นเป็นอะไรที่นักเขียนบทมือทองอย่าง ชาร์ลี คอฟแมน ไม่เห็นด้วยอย่างหัวชนฝา
ชาร์ลีกล่าวว่าเขามักจะต่อต้านความสัมพันธ์แบบอุดมคติในงานเขียนของเขา เพราะมันเป็นโลกแฟนตาซีที่ถูกป้อนให้กับคนดู เขาเองมีความรู้สึกที่กระวนกระวายทุกครั้งเมื่อพยายามมองหาชีวิตตัวเองในหนัง ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งแน่นอนว่าความสัมพันธ์ในชีวิตจริง ๆ มันไม่ใช่แบบในหนังเลย ดังนั้นเขาจึงมีความพยายามที่จะเขียนบทให้มีแก่นของชีวิตจริงหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริงของตัวเองมากที่สุด
ด้วยอุดคมคติที่แรงกล้าผนวกรวมกับคอนเสปต์ของความสัมพันธ์ที่หวานปนขม ทำให้เราได้สำรวจตัวละครในเรื่องที่พ่วงมาด้วยความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบซึ่งล้วนแต่เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน วุ่นวายและมีความเป็นมนุษย์มาก ๆ
เริ่มจากความสัมพันธ์ของตัวละครหลักอย่างโจเอลและคลีแมนไทน์ ดูเป็นคู่ที่ตรงข้ามสุดขั้วแต่กลับดึงดูดกันได้อย่างประหลาด อาจเป็นเพราะคลีแมนไทน์ที่เต็มไปด้วยความหุนหันพันแล่นได้เข้ามาเติมเต็มชีวิตที่น่าเบื่อของโจเอล หรือความเป็นหนุ่มปริศนาของโจเอลที่ดึงดูดคลีแมนไทน์ให้เข้ามาสำรวจ ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ไม่ได้ต่างจากผู้คนที่กำลังดูอยู่นอกจอเสียเท่าไหร่
การดำเนินเรื่องที่พาสำรวจความทรงจำของโจเอลไล่เรียงแบบสลับซับซ้อนเหมือนกับความทรงจำจริง ๆ จะทำให้เราเห็นว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อย ๆ ถดถอยลง ความคลั่งไคล้กันในช่วงแรกเริ่มจางหาย สิ่งที่เห็นจะเหลือเพียงแต่ความเป็นจริงที่ไม่น่าชวนพิศวาสของกันและกัน เมื่อมวลเหล่านี้เริ่มก่อตัวจากเรื่องผิดใจเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นสบู่ที่มีขนติดของโจเอลหรือคลีแมนไทน์ที่มีนิสัยขี้กรึ่ม สิ่งที่ตามมาจะเริ่มเป็นความรู้สึกขุ่นเคืองที่สะสมเพิ่มขึ้น และเมื่อเลือกเก็บปัญหาไว้ในใจ มวลเหล่านี้ย่อมมีแต่จะพาความสัมพันธ์ดิ่งลงหรือพาตกตะกอนได้ว่าที่ตรงนี้อาจจะไม่ใช่ที่ของเรา
บางครั้งในความสัมพันธ์ที่ดูไปต่อกันไม่ได้ การปิดตาข้างเดียวดูเป็นทางเลือกที่ง่ายต่อใจมากกว่าการต้องยอมรับความจริงและความเจ็บปวดที่ตามมา การทนอยู่ด้วยกันของโจเอลและคลีแมนไทน์เพื่อให้มีกันและกันจึงดูเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ถึงเช่นนั้นความสัมพันธ์ก็ต้องมีจุดแตกหักของมัน ปัญหาเรื้อรังที่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงต้องจบลงด้วยการแยกย้ายไปลบความทรงจำที่เจ็บปวดของกันและกันทิ้ง แต่ไม่ว่าทั้งคู่จะคาราคาซังชังกันแค่ไหน ประโยคฝากฝังอย่าง “Meet me in Montauk” จากคลีแมนไทน์ในความทรงจำสุดท้ายของโจเอลก็ได้นำพาให้พวกเขาวนกลับมาเจอกันอีก ทำให้ต่างคนก็ต่างหนีออกจากวงจรความสัมพันธ์เป็นพิษที่พาวนเวียนอยู่แบบนี้ไม่ได้สักที ณ จุดนี้ดูเป็นประสบการณ์ที่ผู้ชมน่าจะเคยพบเจอกับตัวเองไม่มากก็น้อย
อีกหนึ่งความสัมพันธ์ในเรื่องเกี่ยวกับรักสามเส้าระหว่าง แมรี่ (เคียร์สเต็น ดันสต์) ผู้ช่วยสาวของคลินิก สแตน (มาร์ก รัฟฟาโล) หนุ่มนักเทคนิคลบความทรงจำ และฮาวาร์ด (ทอม วิลคินสัน) คุณหมอผู้เป็นคนก่อตั้งคลินิก ในเรื่องเราจะได้เห็นแมรี่และสแตนที่หยอกล้อกันไปมา ดูเป็นคู่ที่กุ๊กกิ๊กและมีเคมีที่เข้าขากันอย่างดี พวกเขาทั้งสองมีความสัมพันธ์ทางกายกันแต่ดูเหมือนว่าจะเป็นสแตนที่มีความรู้สึกจริงใจด้วยอยู่ฝ่ายเดียว
ระหว่างที่เรื่องดำเนินต่อไปปมระหว่างแมรี่และฮาวาร์ดจะถูกคลี่ออกให้เราได้เห็น ความสรรเสริญยกยอที่แมรี่มีต่อฮาวาร์ดไม่ได้เป็นเพียงความชื่นชมธรรมดาแต่เป็นเพราะพวกเขาทั้งสองคนเคยมีอดีตร่วมกัน ฮาวาร์ดคุณหมอผู้สวมแหวนที่นิ้วนางข้างซ้ายเป็นชู้รักกับแมรี่ในที่ทำงาน ความสัมพันธ์ของพวกเขาดำเนินไปได้ไม่นาน แมรี่ก็ตัดสินใจเข้ากระบวนการลบความทรงจำของคลินิกเพื่อเริ่มต้นใหม่ แต่ถึงแม้เธอจะจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้ สุดท้ายสิ่งที่ลบไม่ออกคือความรู้สึกที่เธอยังมีให้ฮาวาร์ด สิ่งนี้วนเวียนกลับมาและพาเธอถล้ำลึกอีกเช่นเคย
เรื่องราวความสัมพันธ์หวานปนขมดูจะเป็นสิ่งที่ชาร์ลีต้องการให้ใกล้เคียงกับความสัมพันธ์ในชีวิตจริงที่สุด ผู้ชมที่มีประสบการณ์ร่วมกับตัวละครคงจะกำลังนั่งผุพังทางอารมณ์อยู่ก็เป็นได้ ตัวละครเหล่านี้ต่างมีความซับซ้อนทางอารมณ์ต่าง ๆ ที่ยากจะอธิบายและความสัมพันธ์แบบสีเทาอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะเป็น จุดร่วมกันของตัวละครมักมีการเวียนว่ายมาหากันและกันเสมอ ถึงแม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและไม่ดีต่อใจ
นี่เป็นสิ่งที่ มิเชล กอนดรี พูดกับ จิม แครี่ ในช่วงก่อนการถ่ายทำของภาพยนตร์เรื่องนี้ จิมผู้กำลังอยู่ในช่วงรับมือกับอาการอกหักจาก เรเน่ เซลวีเกอร์ (Renée Zellweger) ที่พบกันระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Me, Myself and Irene (2000) ได้รับการกำชับจากมิเชลให้กกสภาวะความรู้สึกอกหักของตัวเองถึงเกือบ 2 ปี
นอกจากนี้แล้วด้วยความที่มิเชลต้องการให้นักแสดงมีความรู้สึกและเคมีต่อกันจริง ๆ ในบทภาพยนตร์จึงมีตัวละครที่เป็นแฟนสาวเก่าของโจเอล ซึ่งก็คือ นาโอมิ ความแสบของมิเชลจึงนำไปสู่การแคสนักแสดงที่มีชื่อว่า เอลเลน ปอมเปโอ (Ellen Pompeo) ซึ่งบังเอิญมีหน้าตาและสีผมที่คล้ายคลึงกับเรเน่แฟนเก่าของจิมเป็นอย่างมาก และแม้ว่ามิเชลจะปฏิเสธว่าพวกเธอไม่ได้มีความคล้ายคลึงกันแต่จิมเชื่อสุดใจว่านี่เป็นสิ่งที่มิเชลตั้งใจทำเพื่อให้บีบอารมณ์ของเขาออกมา สุดท้ายแล้วถึงจะมีการถ่ายทำซีนระหว่างตัวละครนาโอมิและโจเอลไว้ ซีนของพวกเขาก็ถูกตัดออกจากดราฟสุดท้ายของภาพยนตร์อยู่ดี
“ผมบอกจิมว่าถ้าคุณยังตะโกนใส่ผม
ผมจะไม่ชอบคุณอีกแล้ว
และถ้าผมไม่ชอบคุณอีกแล้ว
ผมก็กำกับคุณไม่ได้แล้วเหมือนกัน”
ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เป็นเรื่องปกติที่นักแสดงกับผู้กำกับจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่ในกรณีของมิเชลและจิมนั้น ดูเหมือนการตะโกนใส่กันจะเป็นวิธีการสื่อสารของพวกเขาในช่วงแรก เนื่องจากความเป็นเซนส์ศิลปินของทั้งคู่ที่มักนำไปสู่การปะทะกัน แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเคยตีกันแค่ไหน จิมก็ยังคงรู้สึกว่าพวกเขาสองคนเหมือนพี่น้องกันที่ชอบตีกัน เมื่อเวลาผ่านไป 18 ปี ในช่วงปี 2018 พวกเขาก็ได้วนเวียนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง ในงานซีรี่ย์ที่มีชื่อว่า Kidding ซึ่งปรากฏการณ์การกลับมาเจอกันนี้ช่างไม่ต่างอะไรกับตัวละครในเรื่องที่ยังวนเวียนกลับมาหากันอยู่เสมอ
จากที่ได้เห็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างโจเอลกับคลีแมนไทน์ไม่ว่าความรักของพวกเขาจะไม่เป็นมิตรต่อใจแค่ไหน สุดท้ายพวกเขายังดื้อดึงที่จะกลับมาสานความสัมพันธ์ใหม่อีกครั้ง เป็นธรรมชาติของความสัมพันธ์เป็นพิษที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเสพติดอะไรบางอย่างจนทำให้ต้องวิ่งเข้าหามันตลอด
ถ้าหากต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้คงต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นหรือวัยเด็กนั่นเอง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับพ่อแม่จะเป็นรากฐานชี้วัดว่ารูปแบบความผูกพันของเราในวัยผู้ใหญ่จะเป็นอย่างไร ถ้าหากพ่อแม่ของเราสามารถมอบความรู้สึกที่ปลอดภัยและมั่นคงได้ ตัวเราในอนาคตจะมองหาสิ่งนั้นได้อย่างง่ายดายจากคู่รัก แต่หากเป็นแบบตรงข้ามเมื่อพ่อแม่ไม่สามารถมอบความรู้สึกเหล่านั้นได้ การดึงดูดคู่ที่ให้ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงก็จะเป็นสิ่งที่วนเวียนเข้ามาหาตัวเรา
สิ่งที่ส่งผลต่อมาคือสภาพแวดล้อมที่เราได้เติบโตมา ถ้าหากเราถูกรายล้อมด้วยความมีเหตุมีผล ความรักและความสงบสุขทางใจ ร่างกายจะพาเราวิ่งเข้าหาคุณสมบัติเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าชีวิตการเติบโตของเราเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความรุนแรงหรือความท็อกซิกอะไรบางอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นได้สูงคือการที่เราจะวิ่งกลับมาหาสิ่งเหล่านั้นอีกครั้งตอนโต เพราะเป็นความคุ้นชินต่อความเจ็บปวดที่เคยเกิดขึ้นในวัยเด็ก
อีกหนึ่งปัจจัยคือสารเคมีในสมอง เมื่อเราอยู่ในสภาวะที่กำลังมีความรักเติบโตในหัวใจ ฮอร์โมนความสุขหรือโดปามีน (Dopamine) จะหลั่งเพื่อให้เรารับรู้ว่านี่เป็นประสบการณ์ที่ดีและจะทำให้เราต้องรู้สึกแบบนี้อีกหลาย ๆ ครั้ง ในความสัมพันธ์เป็นพิษเราต้องอยู่กับความรู้สึกไม่แน่ไม่นอนและไม่ปลอดภัย ดังนั้นเมื่อเราได้รับความรู้สึกที่ถูกโอบรับหรือเป็นที่ต้องการจากอีกฝ่าย ถึงแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาที่สั้น แต่สิ่งนี้จะทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากเสพติดความสัมพันธ์นี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
บางครั้งการเลือกตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ยากเพราะสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมีผลกับการติดอยู่ในวงจรความเป็นพิษนี้ แต่ว่าไม่ว่าเราจะเติบโตมาด้วยสภาพแวดล้อมแบบไหนหรือกับใคร ทุกคนต่างคู่ควรกับความรักที่บริสุทธิ์และดีต่อหัวใจทั้งนั้น การยอมรับในความเจ็บปวดและการทำความเข้าใจตัวเองผ่านอดีตจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสลัดความสัมพันธ์เป็นพิษเหล่านี้ออกจากตัวเรา
ภาพยนตร์เรื่อง Eternal Sunshine of a Spotless Mind ถือเป็นเรื่องราวที่พูดถึงความสัมพันธ์ผ่านความทรงจำได้อย่างนุ่มลึกและเจ็บปวด บางทีการที่ได้นั่งอยู่กับเรื่องราวในอดีตอาจไม่ใช่เรื่องที่แย่นัก ถึงแม้มันจะเจ็บปวด แต่ครั้งหนึ่งเรื่องราวทั้งหมดมันเป็นเคยเกิดขึ้นจริง ในเมื่อการเป็นมนุษย์คือการต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียและความเจ็บปวด การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ภาพ : Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004)
อ้างอิง :
The Science of Eternal Sunshine | Slate
Mind Games and Broken Hearts: Jim Carrey and Michel Gondry on Making Eternal Sunshine | Vanity Fair
The Science Behind Toxic Relationships, And Breaking Free | Intuitive Healing