คนกราบหมา : หนังถูกแบน 25 ปี ที่ว่าด้วยมลพิษของศาสนาในช่องโหว่ของใจผู้คน

คนกราบหมา : หนังถูกแบน 25 ปี ที่ว่าด้วยมลพิษของศาสนาในช่องโหว่ของใจผู้คน

วิเคราะห์ ‘คนกราบหมา’ (Dog God) ภาพยนตร์ที่ถูกแบนกว่า 25 ปี กว่าจะได้มีโอกาสฉายในประเทศไทย กับเนื้อหาของหนังที่ว่าด้วย ความสุขของสังคมปัจจุบันและมลพิษของศาสนาในช่องโหว่ของใจมนุษย์

KEY

POINTS

  • เมื่อได้ชม ‘คนกราบหมา’ (Dog God) ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพยนตร์ในอดีตอย่าง Pink Flamingos (1972) หรือ The Holy Mountain (1973) ที่มีสไตล์การเล่าเรื่องคล้ายคลึงกัน
  • หนึ่งประเด็นที่ภาพยนตร์นำเสนอและยังตรงกับสถานการณ์ทุกวันนี้ก็คงหนีไม่พ้นการไขว่คว้าความสุขที่ไม่รู้จบ
  • สิ่งที่คนกราบหมาพยายามจะกล่าวถึงอาจไม่ใช่ ‘ศาสนา’ แต่เป็น ‘สิ่งที่เกิดขึ้นกับศาสนา’ เสียมากกว่า

หลังจากผ่านไป 25 ปีที่ถูกกองเซ็นเซอร์สั่งแบนด้วยเหตุผลที่ว่าสิ่งที่อยู่ในเรื่อง ‘หมิ่นทุกศาสนา’ อันเป็นเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง ‘คนกราบหมา’ ไม่ได้รับการอนุญาตให้ฉายในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2540 ในปี 2566 ก็ได้เกิดการพิจารณาขึ้นใหม่อีกครั้งจนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ปลดแอกตัวเองและเข้าโรงสู่สายตาผู้ชมในที่สุด

คนกราบหมา’ (Dog God) หรือชื่อเดิมอย่าง ‘My Teacher Eats Biscuits’ คือภาพยนตร์ไทยที่เขียนบทและกำกับโดย ‘อิ๋ง เค’ (Ing K) หรือ ‘สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์’ พร้อมนำแสดงโดย ‘กฤษดา สุโกศล แคลปป์’ หรือที่เราจะคุ้นชินกันในนาม ‘น้อย วงพรู’ ซึ่งก็ถือเป็นผลงานจอเงินชิ้นแรกของน้อยอีกด้วย 

เรื่องราวของคนกราบหมาว่าด้วยชีวิตของชายคนหนึ่ง ที่ภรรยาของเขาได้เข้าไปพัวพันและเชื่ออย่างมงายกับลัทธิ ‘อาศรมแห่งรักไร้พรมแดน’ (Asram of Boundless Love) ที่มีพิธีกรรมบูชาสุนัขและให้ผู้คนในลัทธิมีพฤติกรรมที่เลียนแบบสุนัขไม่ว่าจะกิน นอนกลางวัน ไปจนถึงการร่วมรัก นี่จึงเป็นสาเหตุให้ชายคนนั้นต้องจ้างนักสืบผู้เชี่ยวชาญนการเปิดโปงลัทธิร่วมแฝงตัวกับเขาเข้าไปในอาศรมเพื่อทวงคืนภรรยาของเขากลับมา

คนกราบหมา : หนังถูกแบน 25 ปี ที่ว่าด้วยมลพิษของศาสนาในช่องโหว่ของใจผู้คน

นี่มันหนังแนวไหนกัน?!

จากมุมมองของผู้เขียน ถ้าจะให้นิยามว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในประเภทไหนก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น ไม่ใช่ดราม่า ตลก สายลับ หรือแม้แต่สยองขวัญ แต่เป็นหนังแนวเสียดสีสังคมที่มีกลิ่นอายของความทดลองและใต้ดิน จนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงงานของ ‘อเลฮานโดร โจโดรอวสกี’ (Alejandro Jodorowsky) อย่าง ‘The Holy Mountain’ (1973) ที่พาผู้ชมไปตั้งคำถามและเสียดสีประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม ประวัติศาสตร์ หรือศาสนา ในแบบฉบับที่ ‘ไม่เหมือนใคร’ หรือจะเป็นงานของ ‘จอห์น วอเทอร์ส’ (John Waters) อย่าง ‘Pink Flamingos’ (1972) ที่ตั้งคำถามและจิกกัดขนบธรรมเนียมกระแสหลักของสังคมผ่านตัวละครที่ตรรกะกลับตาลปัตรกับทุกอย่างที่ควรจะเป็น ที่ถูกเล่าผ่านความ ‘ตลกร้าย’ (Black Comedy) ที่บางทีก็ชวนหัวเราะ แต่บางคราวก็ชวน… ติดตา

 

คนกราบหมา : หนังถูกแบน 25 ปี ที่ว่าด้วยมลพิษของศาสนาในช่องโหว่ของใจผู้คน

The Holy Mountain (1973)

 

คนกราบหมา : หนังถูกแบน 25 ปี ที่ว่าด้วยมลพิษของศาสนาในช่องโหว่ของใจผู้คน

Pink Flamingos (1972)

 

สิ่งที่ผมพยายามจะกล่าวจากการยกตัวอย่างเหล่านี้ขึ้นมาก็คือ สิ่งที่คนกราบหมามี และพอจะจำแนกและมัดรวมกับภาพยนตร์จำพวกที่กล่าวมาข้างต้นได้ ก็เป็นเพราะองค์ประกอบความเป็น ‘ที่ถกเถียง’ (Controversial) ของทั้งประเด็นที่ถูกนำเสนอ และวิธีที่ผู้สร้างเลือกที่จะนำเสนอ ที่ในหลาย ๆ ครั้ง อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้ชมกระแสหลักมากนัก ทั้งยังเป็นจุดศูนย์รวมของขนบธรรมเนียมต้องห้าม (Taboo) ที่เรามักพยายามไม่พูดถึงกัน จนทำให้ภาพยนตร์เหล่านี้เจอชะตากรรมที่ไม่ต่างกันมาก ซึ่งก็คือถูกแบน

ในยุคสมัยนี้เราจะได้เห็นอะไรทำนองนี้มากขึ้น จากงานของผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง ยอร์กอส ลานธิมอส (Yorgos Lanthimos), อารี แอสเตอร์ (Ari Aster), หรือ ลาร์ส วอน เทียร์ (Lars Von Trier) ที่ได้นำเอา Taboo ต่าง ๆ มาปรับ ดัด เหลา และใส่มันในภาพยนตร์จนเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ในการขยับหนีจากลูกเล่นที่จำเจเดิม ๆ ไปได้ ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่ช่วยชี้ให้เราเห็นว่าองค์ประกอบ ‘ความต้องห้าม’ ของหนังนี่แล ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยยั่วยวนให้ผู้ชมหลายคนได้อยากลองเข้าไปชมดูสักตั้ง ว่าที่ห้าม ๆ ไม่ให้ดู หรือว่ากันว่า ‘แรง’ คืออะไรแน่…  ไม่ต่างอะไรจากหนังผีน่ากลัว ๆ หรือหนังดราม่าบีบน้ำตาเลยแม้แต่น้อย

นี่จึงเป็นเสน่ห์หนึ่งของคนกราบหมาที่น่าจะทำให้ผู้ชมบางกลุ่มสนใจและอยากลองชมสักครั้ง รวมถึงผู้เขียนเองด้วย

 

สิ่งเร้าประจัญบาน

ท่ามกลางคุณภาพของการถ่ายทำและการตัดต่อที่มีข้อผิดพลาดและบกพร่องอยู่มากจนอาจทำให้ผู้ชมหลายท่านมีความรู้สึกว่านี่คือหนังทุนต่ำ (ซึ่งก็ไม่ผิดเท่าไหร่นัก) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ประเด็น’ ที่หนังเรื่องนี้เลือกที่จะหยิบมานำเสนอ ก็ควรค่าต่อการเปิดใจรับชม แม้จะมีเปลือกนอกที่ดูจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม

ผู้เขียนไม่ใช่คนที่เชื่อในลัทธิบูชาสุนัข แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เหล่าผู้นำลัทธิได้เอ่ยออกมานั้น แทบจะไม่ต่างอะไรจากความจริงที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ หรือโดยเฉพาะกับยุคสมัยนี้เสียด้วยซ้ำ

ในภาพยนตร์เราจะได้เห็นครอบครัวชาวตะวันตกคนหนึ่งเดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิ สาเหตุที่ขับเคลื่อนให้เขาเดินทางข้ามโลกมาที่อาศรมแห่งนี้เป็นเพราะลูกชายของเขาจ่อมจมอยู่ในวังวนของการทำร้ายตัวเองและการพยายามจะปลิดชีวิตตัวเอง จากคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวของเขาเสมอว่า

 

จะมีชีวิตไปทำไม?

 

ทางลัทธิก็ได้ร่ายยาวไปถึงต้นตอของสาเหตุแห่งวังวนครั้งนี้ว่ามาจากประสาทสัมผัสของเราที่ถูก ‘ประจัญบาน’ (Bombarded) โดยสิ่งเร้าอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนไปถึงหัวถึงหมอนยามค่ำคืน ผู้คนส่วนใหญ่มุ่งถวิลหาแต่ ‘สิ่งเร้า’ ที่จะทำให้ตัวเองมีความสุข หรืออย่างน้อยก็รู้สึกอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเปิดวิทยุ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ ออกเที่ยวยามค่ำคืน หรือแม้แต่การดื่มเหล้าและใช้ยาเสพติด

สังคมสมัยใหม่หล่อหลอมมาตรฐานชีวิตให้ผู้คนต้องรู้สึกอยู่ตลอดเวลา เราถูกประโคมด้วยสิ่งเร้าที่สังคมประเคนให้อย่างไม่มีช่องว่างให้หยุดพัก จนทำให้ความสุขกลายเป็นความธรรมดา จนนำไปสู่การวิ่งไขว่คว้าความสุขหรือสิ่งเร้าที่มากกว่าเดิมไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น จนท้ายที่สุด ทำให้สิ่งที่มีอยู่เป็นความธรรมดาที่น่าเบื่อหน่ายจนยากจะทนไหว จนนำไปสู่วัฎจักรการถมช่องว่างเพื่อความสุขที่ไม่มีวันเต็มในจิตใจของเรา

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จากเดิมที่เราเฉลิมฉลองการมีโอกาสที่ได้มีลมหายใจและใช้ชีวิตอีกวันหนึ่ง กลายเป็นคำถามที่ว่าทำไมฉันต้องใช้ชีวิตไปข้างหน้าอีกวันหนึ่ง

น่าแปลกใจนักที่ประเด็นที่คนกราบหมาได้หยิบยกขึ้นมาพูดนั้น กลับเข้ากับยุคสมัยนี้อย่างน่าเหลือเชื่อ ที่ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ตอบรับความต้องการของเราอย่างเพียบพร้อม แต่ผู้คนมากมายกลับรู้สึกว่างเปล่ากับสิ่งที่มี ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะพฤติกรรมอันเป็นวังวนที่ทำให้ผู้คนวิ่งหากิจกรรมที่กระตุ้น ‘สารโดปามีน’ (Dopamine) อย่างไม่หยุดหย่อน ที่ถูกประโคมให้จากเทคโนโลยีรอบตัวของเรานี้เอง และเมื่อสิ่งนี้ดำเนินไปบ่อยครั้งเข้า สิ่งที่เคยให้ความสุขเราในอดีต ไม่สุขมากเท่าเดิมอีกต่อไปในวันนี้อีกต่อไป

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงเป็นเหตุให้ลัทธิดังกล่าวเสนอให้ผู้คนได้มีกิจกรรมนอนกลางวัน ที่จะเข้าไปอยู่ในจิตใจของตัวเอง และสร้างสรรค์ความสุขภายใน แทนที่จะถวิลหากิจกรรมจากภายนอกมาถมช่องโหว่ที่ไม่มีวันเต็มของจิตใจมนุษย์…

 

หมิ่นทุกศาสนา?

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องได้มีโอกาสรับชมคนกราบหมาดีเลย์ไปกว่า 25 ปี ก็เป็นเพราะประเด็นเรื่องศาสนาที่ถูกตีแผ่ในเรื่อง คำถามสำคัญสำหรับใครหลายคนที่น่าจะเข้าไปดูเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นว่าคนกราบหมาจะกล่าวถึงศาสนาต่าง ๆ อย่างไร และหมิ่นทุกศาสนาจริงไหม?

ท้ายที่สุดแล้ว การจะบอกว่าอย่างไหนหมิ่น หรืออย่างไหนไม่หมิ่น คงเป็นเรื่องที่ยากจะตัดสิน โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อ ซึ่งเปนเรื่องที่ละเอียดอ่อนยิ่ง แต่สิ่งที่คนกราบหมาพยายามจะกล่าวถึงอาจไม่ใช่ ‘ศาสนา’ แต่เป็น ‘สิ่งที่เกิดขึ้นกับศาสนา’ เสียมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนาที่พระกล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์กับศพหรือประเด็นที่มีการรวมกลุ่มกันของพระหลายรูปเพื่อกระทำสิ่งไม่ควรบนแพลอยน้ำ ก็ล้วนเป็นการวิพากษ์สิ่งที่เกิดขึ้นกับศาสนา และทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย ซึ่งมันก็ทำหน้าที่เสมือนเสียงสะท้อนออกไปว่ามีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นอยู่กับศาสนา ทั้งยังเป็นการตั้งคำถามให้คนได้ขบคิดถึงจริยธรรมในสังคมเราอีกด้วย

เหตุผลและสิ่งที่เกิดขึ้นกับศาสนาเหล่านั้นก็ได้นำไปสู่ Statement เสียดสีจิกกัดที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้นว่า คุณจะกราบอะไร ระหว่าง 

 

  • สิ่งที่ควรกราบแต่ให้ความรู้สึกที่เคลือบแคลงสงสัย
  • สิ่งที่ไม่ควรกราบแต่มาพร้อมความสุขและความสบายใจ

 

Religion is a spiritual theater because it’s fun for the soul.

 

อีกประเด็นคำถามหนึ่งที่ถูกพูดถึงในคนกราบหมาก็คือการตั้งคำถามไปถึง ‘แก่นแท้’ (Essence) ของศาสนาว่ามีหน้าที่อย่างไร แน่นอนว่าศาสนาคือสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมและสร้างศีลธรรมในสำนึกของมนุษย์ หรืออาจมอบเป้าหมายและความหมายในบางสิ่งให้กับคนที่หลงทาง แต่ในบางทีศาสนาก็อาจเป็นมลพิษทางใจของเราก็ได้

คนกราบหมาพยายามจะชำแหละให้เราเห็นถึงแก่นแท้ทางจิตใจและมุมมองที่ผู้เล่ามีต่อศาสนา ว่าแก่นแท้ของศาสนาอาจไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์หรือตัวแทนการบูชา แต่เป็นแก่นแท้ที่ควรยึดถือและปฏิบัติตามเสียมากกว่า เพราะเราจะได้เห็นว่าในหลาย ๆ ครั้ง ศาสนานี้เองก็นำไปสู่ความงมงาย ดังคำที่ถูกกล่าวในภาพยนตร์ว่า

บางทีเราก็หมกมุ่นอยู่เพียงการหาพระเจ้า ไม่ได้เคารพท่านอย่างแท้จริง

ศาสนา บางทีก็เป็นสิ่งที่พาให้ผู้คนได้พบเจอทางออก แต่ บางทีก็ทำให้ผู้คน ‘งมงาย’ และหลงทางมากกว่าเดิม… 

 

ภาพ : ภาพยนตร์คนกราบหมา