29 พ.ค. 2567 | 14:00 น.
KEY
POINTS
การขุดค้นพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่สวยงาม โดยทางการลาว เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ บริเวณลำน้ำโขง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ของประเทศไทย ได้มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งอาชีพมือสมัครเล่น ทั้งคนธรรมดาและระดับตั้งตัวเป็นเทพ ต่างออกมาร่วมไขปริศนาข้อสงสัยใคร่รู้ของคนทั่วไปเป็นอันมาก
เป็นต้นว่าตั้งแต่ประเด็นอายุแรกสร้างของพระพุทธรูปองค์นี้ เก่าจริงหรือไม่เก่าจริง เป็นพระพุทธรูปสกุลช่างแบบใด เก่าย้อนกลับไปจนถึงยุคสุวรรณโคมคำหรือยุคเชียงแสน ร่วมสมัยกับอยุธยาหรือหลังกว่านั้นลงมาอีก ทำไมจึงไปอยู่ใต้แม่น้ำโขง บริเวณดังกล่าวนี้ใช่เกาะดอนแท่นหรือเกาะดอนแห้งในตำนานล้านนาหรือไม่ ใช่พระเจ้าตนหลวงหรือเปล่า และอีกมากมายสารพัด
บทความนี้ผู้เขียนจะขอนำทุกท่านไปสู่อีกประเด็นสำคัญหนึ่ง คือเรื่องความเป็น “วัฒนธรรมร่วม” ของสิ่งที่เพิ่งขุดค้นพบนี้ แน่นอนแม้ว่าคนไทยจำนวนมากอดเสียดายไม่ได้ที่พระพุทธรูปองค์นี้ขุดพบในเขตฝั่งสปป.ลาว ไม่ได้พบในฝั่งไทย แต่ข้อดีก็คือเท่าที่เซอร์เวย์ดูความคิดเห็นของคนไทยในโซเชียลมีเดียคร่าว ๆ ก็พบว่าเกือบจะร้อยทั้งร้อยยอมรับกันโดยดุษฎีว่า พระพุทธรูปองค์นี้รวมถึงองค์อื่น ๆ ที่พบมาก่อนหน้านี้ในบริเวณเดียวกัน เป็นของลาว ไม่ใช่ของไทย จะมีก็แต่ชาว “เคลมโบเดีย” ที่บอกเป็นของเขมร
การที่คนไทยยอมรับว่าเป็นของลาวในกรณีนี้อาจเป็นผลดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีชนวนเหตุนำไปสู่ความขัดแย้ง ตรงข้ามเพราะเป็นของลาว คนไทยจำนวนไม่น้อยกลับมีท่าทีแปลกออกไป มีการดาหน้าออกมาโจมตีอย่างรุนแรงโดยการกล่าวหาว่าพระพุทธรูปที่พบนั้นไม่ใช่ของเก่าแท้ เป็นของสร้างเลียนแบบ และยังว่าเป็นของเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าวัตถุโบราณอีกด้วย
เล่นเอางงไปตาม ๆ กัน เพราะแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องโดยตรง ก็ยังไม่กล้าฟันธงกันขนาดนั้น เนื่องจากไม่ได้เห็นกับตาตนเอง เห็นเพียงภาพถ่ายที่แชร์กันในเพจเฟซบุ๊คและรายงานของสำนักข่าวต่าง ๆ โดยที่ภาพเหล่านี้ยังขาดการซูมให้เห็นส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องเห็นอีกมาก อีกทั้งในแง่มารยาททางวิชาการ นักวิชาการบางท่านยังต้องสงวนท่าทีไม่ออกความคิดเห็นที่จะไปกระทบการทำงานของผู้เกี่ยวข้องโดยตรง รวมทั้งยังต้องคอยฟังผู้เชี่ยวชาญจากท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดอีกต่อหนึ่ง แม้จะเป็นนักวิชาการที่ศึกษาพระพุทธรูปล้านนามาบ้าง ก็ยังต้องคอยฟังนักวิชาการที่ศึกษาพระพุทธรูปเชียงแสน เพราะของแบบนี้มีความเฉพาะมาก เมื่อยังไม่มีข้อมูลที่รอบด้านมากพอ ก็ไม่ควรนำเสนอข้อสรุปใด ๆ
แต่ระดับเทพที่ปรากฏตัวอยู่ในโลกโซเชียลไม่คิดเช่นนั้น เรื่องมันก็เลยเกิดเป็นดราม่ากัน จนกระทั่งเมื่อการได้ประติมากรรม “โกลเด็นบอย” กับ “สตรีพนมมือ” คืนสู่ประเทศไทย จะเกิดเป็นกระแสขึ้นมาแทนที่ แล้วไหนจะมีเรื่องการเปียกทองพระศรีอาริย์ วัดไลย์ จ.ลพบุรี แล้วก็เรื่องคนเก็บเห็ดไปเจอรูปแกะสลักบนผาหินที่เขากระเจียว จ.บุรีรัมย์ ก็ยังไม่สร่างซา เรียกได้ว่าตลอดเดือนที่ผ่านมานับเป็นเดือนแห่งเรื่องศิลปกรรมโบราณ
โดยรวมเป็นที่ยอมรับกันอีกหนึ่งแล้วว่า พระพุทธรูปที่ลาวขุดพบนี้จัดอยู่ในสกุลช่างแบบเชียงแสน และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเมืองเชียงแสน ไม่ผิดแน่ ฉะนั้นเรื่องเมืองเชียงแสนและผู้คนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณากันต่อไป นอกเหนือจากเรื่องพระพุทธรูป เพราะไม่มีพระพุทธรูปใด ๆ เกิดโดยไม่เกี่ยวข้องกับฝีมือมนุษย์ เราอยู่ในยุคที่คนไม่จำเป็นต้องเชื่อแล้วว่าพระพุทธรูปบางองค์นั้นสร้างโดยเทพยดา หรือเกิดจากอิทธิปาฏิหาริย์ใด ๆ
และในการพิจารณาประวัติของพระพุทธรูปใด ๆ ก็จำเป็นจะต้องแยกแนวคิดของศาสนาออกไปเสียก่อน พระพุทธรูปจึงจะเป็นเรื่องของ “ศิลปะ” (ของแทร่) แม้ว่าศาสนาอาจเป็นที่มาของแรงบันดาลใจของช่างผู้สร้างในอดีต แต่ลำพังมุมมองของช่างในอดีตที่ปกติก็เข้าถึงยากอยู่แล้วนั้น ต่อให้เข้าถึงหรือรู้ได้ ก็ไม่ใช่ว่าจะอธิบายประวัติความเป็นของพระพุทธรูปได้ การแยก “ศิลปะ” ออกจาก “ศาสนา” เป็นเรื่องปกติที่การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปกรรมในต่างประเทศเขาทำกันเป็นปกติ แต่ในไทย บางครั้งเราก็จะเห็นคำที่เกี่ยวข้อง อาทิ “พุทธศิลป์” “คริสต์ศิลป์” คือยังไงก็ยังคงจะต้องลากเอาศาสนามาเกี่ยวข้องกันให้ได้
แต่แม้แต่อยู่ภายใต้ร่มศาสนาเดียวกัน เมื่อต่างถิ่นต่างบริบท พระพุทธรูปที่ผ่านการสร้างสรรค์ออกมาล้วนแล้วแต่ไม่เหมือนกัน มีเค้ารอยอิทธิพลทางรูปแบบจากถิ่นข้างเคียงหรือถิ่นที่มีการติดต่อค้าขายกันอยู่บ้าง แต่บางแห่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากพอ (คือต่อให้มีช่างเก่ง ๆ เป็นอันมาก แต่หากเงินไม่ถึงแล้ว ลำพังแรงบันดาลใจต่อหลวงปู่หลวงพ่อก็คงไม่ออกมางดงามใหญ่โตได้ไม่ว่าที่ใด และก็ไม่ได้เป็นเช่นนี้แค่ในยุคปัจจุบัน ในอดีตจะทำของสำคัญทางศาสนาเหล่านี้ ช่างก็จำเป็นต้องมีค่าตอบแทนที่คุ้มพอตัว) เมื่อถึงพร้อมเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่ยากที่บ้านเมืองนั้น ๆ จะมีผลงานสร้างสรรค์ในแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นของตนเองออกมา ซึ่งเชียงแสนเป็นบ้านเมืองหนึ่งที่บรรลุถึงเรื่องว่ามานี้
กรณีพระพุทธรูปเชียงแสนที่เพิ่งใหม่นี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนไทยแสดงอคติต่อพระพุทธรูปที่เป็นของลาว ในอดีตพระพุทธรูปลาวเคยถูกหาว่าไม่งาม งามสู้ของไทยไม่ได้บ้างล่ะ ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์หรืออิทธิปาฏิหาริย์เท่าของไทยบ้างล่ะ โดยหลงลืมกันไปว่าพระแก้วมรกตก่อนที่จะมาอยู่กรุงเทพฯ เคยอยู่ที่เวียงจันทน์มาก่อน มาอยู่ไทย เพราะไปทำสงครามกับลาว เสร็จก็ขนย้ายมาสยาม พระแก้วมรกตไม่งาม ไม่ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยก็คงไม่ใช่ แต่เพราะการจงใจตัดพระแก้วมรกตออกจากสมการความเป็นพระลาวตั้งแต่ต้น ยิ่งเมื่อนักวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในช่วงหลังมีแนวโน้มเชื่อกันว่า พระแก้วมรกตเป็นผลงานช่างของภาคเหนือ พระแก้วมรกตยิ่งถูกทำให้เป็นไทย แต่ก็โดยจงใจลืมไปอีกเช่นกันว่า เป็นของภาคเหนือก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นของสยามเต็มที่ไปอีกเช่นกัน
เนื่องจากภาคเหนือที่ว่า เจ้าของผลงานสร้างสรรค์ดั้งเดิมคือชาวล้านนา (ไม่ว่าจะเป็นชาวล้านนาที่พะเยาหรือเชียงรายก็ตาม) การที่พระแก้วมรกตถูกมองเป็นของไทยก็เชื่อมโยงกับสถานะที่ตกเป็น “อาณานิคมภายใน” (Internal-colonialism) ของล้านนา กรณีเปรียบเทียบศิลปะเขมร ถ้าบอกเป็นของฝรั่งเศส แม้จะในยุคที่ฝรั่งเศสยังเป็นเจ้าอาณานิคมอยู่ก็ตาม ฝรั่งเศสก็ไม่สามารถจะอ้างความเป็นเจ้าของโบราณวัตถุของชาวเขมรได้เต็มที่ ไม่งั้นอังเดรย์ มาลโรซ์ (Andre Malraux) ก็คงไม่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากลอบนำโบราณวัตถุบางชิ้นไปจากปราสาทบันทายสรี
แต่กรณีสยามเคลมของล้านนาเป็นของตน กลับเหมือนจะสามารถทำได้แม้แต่จากมุมมองของนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะเองก็ตาม นั่นเพราะประเด็นเรื่องอาณานิคมภายในไม่ได้เป็นประเด็น sensitive เหมือนอย่างกรณี “อาณานิคมภายนอก” (External-colonialism) แบบที่ฝรั่งเศส อังกฤษ ดัตช์ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาเคยทำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่าลืมว่านอกจากพระแก้วมรกตแล้ว ในกรุงเทพฯ ยังมีพระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกนำมาจากลาวและล้านนา เมื่อพูดถึงการทวงคืน-ได้คืนโบราณวัตถุ การที่เราไม่พูดถึงหรือไม่มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างรอบด้านมากพอ เป็นจุดอ่อนอย่างมาก ดีใจที่ได้ของที่ฝรั่งเอาไปคืนกลับประเทศ แต่ก็ลืมไปว่าตนเองก็มีของที่ไปเอามาจากคนอื่นเช่นกัน
แม้แต่อย่าง “โกลเดนบอย” กับ “สตรีพนมมือ” ก็ควรได้กลับภูมิลำเนาเดิมที่บุรีรัมย์ ไม่ใช่พลัดถิ่นไปไกลถึงอเมริกาแล้วยังต้องมาถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ที่ข้างสนามหลวงของเมืองเทพสร้างอีก เป็นเช่นนี้วันหนึ่งข้างหน้า คนบุรีรัมย์อาจจะต้องออกมาร้องเพลงว่า “เราขอเอาคืน ของของเรา เขาเอาไป” (เพลง “ทับหลัง” ของวงคาราบาว) เพราะแม้แต่จะเปรียบเทียบกับกรณีการได้คืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เมื่อพ.ศ.2531 พระนารายณ์ที่บรรทมสินธุ์บนพระยาอนันตนาคราชมีพระลักษมีประทับอยู่ที่ปลายพระบาท (ขนาดพระลักษมี มหาเทวีชายาเทพระดับสูง ยังต้องอยู่แทบปลายพระบาทคอยล้างพระบาทให้พระสวามีตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ ) ยังได้กลับไปประทับอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์
ปล. ในช่วงนั้นไมเคิล แจ็คสัน ได้เข้ามาแสดงคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ อยู่พอดี น้าแอ๊ด ‘บาว ของเราก็เลยชวนคนร้อง “เอาไมเคิล แจ็คสัน คืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา” แต่เชื่อไหมแถวบ้านผู้เขียนสมัยยังเป็น “หนุ่ม ๆ” พากันร้องสลับเป็น “เอาไมเคิล แจ็คสัน คืนมา เอาพระนารายณ์คืนไป” ก็เพลงอย่าง “Heal the world” ที่มีเนื้อร้องท่อนสำคัญว่า “Heal the world. Make it a better place. For you and for me, and the entire human race.” ของเขานั้นออกจะไพเราะเสนาะหู ความหมายดี เป็นเพลงสากลของแทร่ ในขณะที่เหล่าป้า ๆ ลุง ๆ บูมเมอร์ในไทยสมัยนั้นยังคิดและเห็นได้แค่เพียงว่า ท่าเต้นลูบเป้าของ MJ (Michael Jackson) นั้นเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมอันดีงามของชนชาวไทย
ในอดีตการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปอาจจะเกี่ยวเนื่องกับคติการเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ เพราะพระพุทธรูปผู้คนกราบไหว้ในฐานะสิ่งแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (แม้ว่าหลายคนจะกราบเพื่อขอพรกับเทวดาที่รักษาพระพุทธรูปก็ตามที) ประกอบกับการได้พระพุทธรูปสำคัญมาไว้ในบ้านเมืองของตน เป็นสิ่งสร้างความชอบธรรมและเชิดชูบุญบารมีของผู้นำบ้านเมืองนั้น ๆ พระพุทธรูปจึงเป็นสิ่งของสำคัญที่อยู่ในความแย่งชิงของเหล่าผู้นำบ้านเมือง
ผู้นำคนไหนมีอำนาจมากก็อาจใช้กำลังแย่งชิงเอาพระพุทธรูปของบ้านเมืองอีกฝ่ายมาเป็นของตนได้ ไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย หรือเมื่อได้รับชัยชนะในสงคราม ก็มักจะมีการนำเอาพระพุทธรูปของบ้านเมืองที่แพ้ไปยังบ้านเมืองที่ชนะ กรุงเทพฯ ถึงได้มีพระแก้วมรกตเป็นของประดับบารมีวังหลวง และมีพระพุทธสิหิงค์สำหรับประดับบารมีวังหน้า ทั้งหมดทั้งมวลก็ล้วนแต่ได้มาเพราะผลของสงครามแย่งชิงเอามาได้ทั้งสิ้น
แต่ในยุคสมัยใหม่เรื่องแบบนี้ยอมรับกันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แม้ว่า ฝรั่ง จีน หรือแม้แต่คหบดีที่มั่งคั่งในไทยบางคนที่อาจจัดหาพระพุทธรูปมาเป็นเครื่องประดับโดยวิธีการซื้อขายตามระบบตลาดก็ตาม ก็ไม่อาจเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ ส่วนหนึ่งเพราะความพ่ายแพ้ของฝรั่งในฐานะเจ้าอาณานิคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การนำเอาของสำคัญจากบ้านเมืองที่ตกเป็นอาณานิคมไปเป็นของประดับบารมีในบ้านเรือนของตน เพื่อโชว์ว่าตนได้มีอำนาจเหนือกลุ่มชนที่ครั้งหนึ่งเคยมีอารยธรรมรุ่งเรือง ถูกยกเลิกไปพร้อมกับการเกิดระเบียบแบบแผนแบบใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง
เนื่องจากตลอดช่วงสงครามศัตรูของสหรัฐในแถบเอเชียบูรพานั้นคือกองทัพพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งประกาศแผน “Asia for Asian” (เอเชียเพื่อชาวเอเชีย) เพื่อขอความสนับสนุนจากขบวนการชาตินิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องการเป็นเอกราชจากเจ้าอาณานิคม ซึ่งก็ได้ผล ยกเว้นแต่สำหรับประเทศไทย การเข้าร่วมกองทัพญี่ปุ่นเป็นเพียงฉากหน้าในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (สมัยที่หนึ่ง) เมื่อสหรัฐส่ง “The little boy” 2 ลูกไปถล่มญี่ปุ่นเสร็จ ก็ต้องการความสงบปราศจากการต่อต้านจากขบวนการชาตินิยม จึงต้องสานต่อ “Asia for Asian”
แม้อังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ จะได้กลับมาเป็นเจ้าอาณานิคมอีก แต่ก็ไม่เหมือนเดิม ทุกสิ่งอย่างของคนพื้นเมืองในอาณานิคมไม่ใช่ของที่จะสามารถขนไปประเทศเจ้าอาณานิคมได้อีกต่อไป ไม่งั้นการได้ของเพียงเล็กน้อยเหล่านี้อาจนำมาซึ่งชนวนเหตุความขัดแย้งและขบวนการปฏิวัติชาตินิยมจะได้เชื้อไฟอย่างดี คือได้ไม่คุ้มเสีย สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ประกาศใช้นโยบายแบบนี้จึงต้องแสดงให้เห็นเป็นแบบอย่าง จึงเป็นประเทศโลกที่หนึ่งแรก ๆ ที่จะคืนโบราณวัตถุให้ประเทศโลกที่สาม หากพิสูจน์ได้ว่าเคยอยู่ในประเทศดังกล่าวมาก่อนจริง พูดง่าย ๆ ที่เขายอมคืนโบราณวัตถุก็เพื่อตัวเขาเองที่จะอยู่ร่วมอย่างสันติกับประเทศอดีตอาณานิคม
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธรูปแบบเชียงแสนพบแพร่หลายค่อนข้างมาก นอกจากภาคเหนือและอีกฝั่งในสปป.ลาว แล้วการพบที่อยุธยาและภาคกลาง ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอยุธยาเป็นเมืองท่านานาชาติ อาจได้ของสำคัญจากบ้านเมืองต่าง ๆ ผ่านการค้า อีกอย่างกษัตริย์อยุธยาก็มีการทำสงครามกับล้านนา และมีบางองค์ เช่น สมเด็จพระไชยราชา สมเด็จพระนารายณ์ ต่างก็มีเรื่องการเคลื่อนย้ายหรือนำเอาพระพุทธรูปล้านนาลงมาภาคกลาง
อีกทั้งกษัตริย์อยุธยาหลายพระองค์ยังนิยมมีมเหสีหรือพระสนมเป็นเจ้าหญิงล้านนา และสตรีฝ่ายในของราชสำนักมีบทบาทต่อการทำนุบำรุงพุทธศาสนามาแต่หลายยุคสมัยด้วยกัน ชุมชนล้านนาในอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นที่ย่านวัดใหม่บางกะจะ วัดใหม่สำเภาล่ม วัดหันตรา วัดแค (คลองสระบัว) วัดชีเชียง (วัดศรีเชียง) ล้วนแต่เป็นชุมชนที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับสตรีฝ่ายในอดีตเจ้าหญิงล้านนาที่มาเป็นใหญ่ในอยุธยา
บรรดา “เจ้านาง” หรือเจ้านายชั้นสูงที่ไหน ๆ ก็ไม่เคยอยู่ได้เพียงลำพัง ต้องมีบ่าวไพร่ข้าทาสบริวารติดตามมาด้วย จึงเป็นเหตุให้เกิดชุมชนใหม่ขึ้นในย่านที่เกี่ยวข้อง และต้องไม่ลืมว่าเจ้านายฝ่ายในสายล้านนานั้นนิยมชมชอบพระพุทธรูปแบบเชียงแสนเป็นที่สุด พระพุทธรูปเชียงแสนก็เลยได้มาเป็น “พระเจ้า” หรือพระประธานของวัดสำคัญ รวมถึงมีอิทธิพลต่อรูปแบบการสร้างสรรค์ของศิลปะสกุลช่างแขนงอื่นตามมา
กรณีพระพุทธสิหิงค์ ที่มีประวัติถูกนำมาจากล้านนา แต่พระพักตร์กลับเป็นอยุธยาค่อนข้างมากนั้นเป็นข้อยกเว้น เพราะเดิมสำหรับคนอยุธยา พระพุทธสิหิงค์เคยอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ก่อนที่จะถูกนำกลับขึ้นล้านนา หรือพลัดสูญไปในคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ก่อนจะได้มาโดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) จนมาประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ)
ส่วนประเด็นว่าพระพุทธสิหิงค์องค์วังหน้าใช่องค์จริงหรือเปล่า เพราะที่เชียงใหม่ พระพุทธสิหิงค์หรือ “พระสิงห์” (ตามคำเรียกของชาวล้านนา) ก็ยังมีอยู่ที่วัดพระสิงห์สืบมาจนถึงปัจจุบัน นั่นไม่ใช่ประเด็นสำหรับในที่นี้
การพบพระพุทธรูปแบบเชียงแสนในหัวเมืองอื่น ๆ เป็นเรื่องน่าสนใจ เช่น พบที่จันทบุรี ตราด ราชบุรี เพชรบุรี ไชยา นครศรีธรรมราช เป็นต้น แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันเรามีข้อมูลเกี่ยวกับพระเชียงแสนในหัวเมืองน้อยเกินไป คำถามง่าย ๆ เช่นว่า พระพุทธรูปดังกล่าวเคลื่อนย้ายมาจากล้านนา หรือเป็นการสร้างสรรค์ของคนท้องถิ่นที่ได้รับแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลจากช่างเชียงแสนอีกต่อหนึ่ง
บางแห่ง เช่น จันทบุรี และราชบุรี มีข้อมูลเรื่องการที่ชาวล้านนาถูกกวาดต้อนลงมาตั้งถิ่นฐาน จันทบุรีมีตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ตามความในพระราชพงศาวดารระบุว่าเป็นในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร ชุมชนคนเชื้อสายล้านนาเดิมในจันทบุรีขยายตัวกันมากตลอดสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ พวกเขาอยู่ปะปนผสมผสานกับคนชอง คนจีน จนกลายเป็นคนจันท์ คนระยอง และคนตราดในรุ่นหลังกันมาก บริเวณหนึ่งที่ไม่น่าพบพระพุทธรูปเชียงแสน แต่ก็พบเก่าแก่เสียจนมีอายุย้อนกลับไปถึงพุทธศตวรรษที่ 19-20 คือที่เขาโต๊ะโม๊ะ เมืองเก่าแสนตุ่ม จ.ตราด เข้าใจว่านั่นเพราะการขยายตัวของชุมชนล้านนาในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก เนื่องจากย่านเมืองเก่าแสนตุ่มอยู่ไม่ไกลจากเมืองขลุง จ.จันทบุรี
ขณะที่ราชบุรีซึ่งเป็นที่ที่มีข้อมูลเรื่องการกวาดต้อนคนชาวเชียงแสนลงมาตั้งถิ่นฐานโดยตรงนั้นเป็นสมัยธนบุรี สืบเนื่องจากการสงครามต่อต้านพม่า ขับไล่พม่าออกจากล้านนาในสมัยธนบุรี โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ทรงให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพยกไปตีพม่าที่เชียงแสน หลังได้รับชัยชนะก็ได้กวาดต้อนครัวชาวเชียงแสนกับชาวเชียงใหม่ลงมาตั้งชุมชนอยู่ราชบุรี
ที่ว่า “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง” นั้นส่วนหนึ่งเลยก็เพราะเป็นชาวมอญลูกผสมปะปนกับล้านนาอพยพ รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ถึงผิดไปจากชาวมอญทั่วไปในแถบถิ่นอื่น ๆ เพียงแต่วัฒนธรรมมอญเป็นกลุ่มวัฒนธรรมหลักที่ครองการนำในพื้นที่ได้มากกว่า ก็เลยเข้าใจกันไปว่าราชบุรีเป็นเมืองมอญ เช่นเดียวกับที่เข้าใจไปว่าภาคอีสานมีแต่ลาว ทั้งที่อีสานเต็มไปด้วยความหลากหลายภายในมีทั้งเขมร กูย จีน เวียด ฯลฯ
เมื่อปลายปีพ.ศ.2558 ผู้เขียนกับเพื่อนได้ร่วมกันสำรวจรอยพระพุทธบาทในภาคกลาง เมื่อไปย่านราชบุรี ก็ไป “ปร่ะ” เข้ากับชุมชนชาวล้านนาในราชบุรี ก็เป็นที่เปิดโลกเปิดหูเปิดตาว่า ราชบุรีไม่ได้มีแต่คนมอญคนจีน มีคนยวน (โยนก/ล้านนา) ด้วย จุดสังเกตความเป็นชุมชนล้านนาในราชบุรีนั้นมีอยู่ 4 อย่างแรกคือพระพุทธรูปแบบเชียงแสนนี่แหล่ะ อย่างที่สองคือพระพุทธบาทสี่รอย อิทธิพลจากรอยพระพุทธบาทที่แม่ริม เมืองเชียงใหม่ อย่างที่สามที่เหมือนจะเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ก็คือรูปเคารพครูบาศรีวิชัย และอย่างที่สี่ต่อมาก็คือประวัติเรื่องเล่าของชุมชนที่สามารถสอบค้นได้หลักฐานจากแหล่งต่าง ๆ
ในทางกลับกันเมื่อชาวเชียงใหม่ถูกกวาดต้อนลงมาภาคกลาง ก็จะเป็นเหตุให้คนอีกกลุ่มคือคนจากลำพูนกับลำปาง เข้าไปอยู่ไปฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ จนกลายเป็นชาวเชียงใหม่ขึ้นแทนที่ เช่นเดียวกับที่เมืองเชียงแสน เมื่อคนเชียงแสนเดิมถูกกวาดต้อนลงมาภาคกลาง คนจากพะเยา ก็เข้าไปอยู่แทนที่ เป็นเช่นนี้และเช่นนั้นมา
ผู้เขียนจึงเคยพูดอยู่บ่อยครั้งว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยาม-ล้านนา ไม่ควรมองย้อนกลับไปถึงแค่สมัยรัชกาลที่ 5 ควรมองไปถึงสมัยอยุธยาและธนบุรี ถึงจะเห็นได้กว้างไกลและเข้าใจอะไรได้มากขึ้น เพราะคนเชียงใหม่ในรุ่นปัจจุบันนั้นไม่ใช่เชียงใหม่ดั้งเดิม คนชาวเชียงใหม่เดิมนั้นถูกกวาดต้อนลงมาภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก แม้แต่ครูบาศรีวิชัยก็เป็นชาวลำพูน ตระกูล “ณ เชียงใหม่” เดิมก็มาจากลำปาง
ดังนั้นการศึกษาก็ควรมุ่งที่ “คน” ควบคู่กับพลวัตของพื้นที่ด้วย แม้แต่ตระกูล “ณ เชียงใหม่” ก็มีต้นสายมาจากทายาทของหนานทิพย์ช้างที่ลำปาง โดยมีทายาทคือ “เจ้ากาวิละ” ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสยาม (ทั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จนถึงสมัยราชวงศ์จักรี) ให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แทนที่กลุ่มเจ้าเชียงใหม่เดิมที่เป็นฝ่ายสนับสนุนพม่า สายสัมพันธ์ระหว่างสองกลุ่มนี้ (สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กับหนานทิพย์ช้าง) มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ยังเป็นเจ้าเมืองตาก ซึ่งเป็นเขตชนแดนกับเถินและลำปาง ช่วงเดียวกับที่กลุ่มหนานทิพย์ช้างและชาวบ้านปงยางคกร่วมกันขับไล่พม่าตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้การแพร่หลายและเดินทางไกลของพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ยังอาจสัมพันธ์กับมุมมองด้านความงามของพระพุทธรูปแบบนี้ในหมู่ชนกลุ่มอื่น ๆ ไม่ได้มีแต่ในด้านที่สัมพันธ์กับ “ล้านนาพลัดถิ่น” โดยตรงเหมือนอย่างกรณีอยุธยา จันทบุรี และราชบุรี
มุมมองความงามแบบดังกล่าวที่ก่อเกิดให้พระพุทธรูปแบบเชียงแสนเป็นที่นิยมสร้างจำลองขึ้นในอดีตนั้น เป็นมุมมองที่ย้อนแย้งกับมุมมองของคนในรุ่นหลังที่มักยกย่องพระพุทธรูปแบบสุโขทัยว่ามีความงดงามมากกว่าพระพุทธรูปที่สร้างสรรค์จากที่อื่น นั่นเป็นเพราะความสำคัญของสุโขทัยที่ได้รับการเทอดไว้ในฐานะจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติและความเป็นไทย
พูดง่าย ๆ ก็คือสุโขทัยถูกยกให้ไป dominate ประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองอื่น ทั้งที่สุโขทัยเป็นเพียงแว่นแคว้นหนึ่งตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำปิงตอนกลางและแม่น้ำยมเท่านั้น ไม่ได้เป็นศูนย์กลางหรือราชธานีของอาณาจักรไทยดังที่แบบเรียนหลอกลวงกันมา
ในความเป็นจริงยังมีบ้านเมืองอื่นที่สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ในแบบของตนเองขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับสุโขทัย แต่ไม่ถูกนำเข้าไปเชื่อมต่อเข้ากับประวัติศาสตร์ของชาติไทย โดยตัวมันเองก็อาจจะเชื่อมต่อยากอยู่แล้วด้วย เพราะสิ่งที่เรียกว่า “ชนชาติไทย” ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งมีเพิ่งสร้างกันขึ้นในภายหลัง ก่อนหน้านั้นยังเป็นคนลาว เขมร มอญ จีน กันอยู่เลย
เมื่อพระพุทธรูปเชียงแสนถูกรถแบ็คโฮดึงลากขึ้นจากใต้แม่น้ำโขง มาปรากฏภาพบนโซเชียล เป็นที่อัศจรรย์ในความงดงามอย่างหาที่ติมิได้ คนไทยส่วนหนึ่งที่มีความเชื่ออยู่เดิมว่าพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดจะต้องเป็นสุโขทัย จึงเหมือนมีอะไรมากระตุกหนวดแมวเข้าหั้ย...
ในมุมประวัติศาสตร์แบบเป็นเส้นตรงสุโขทัย-อยุธยา-รัตนโกสินทร์ ล้านนาและเชียงแสนเป็นอีกหนึ่งท้องถิ่นที่ถูกกดทับไว้ เช่นเดียวกับอีสานใต้ (ที่ยังเป็นขะแมร์-กูย อยู่มาก), อีสานตอนบน (ที่ชุมไปด้วยวัฒนธรรมล้านช้าง), จันทบุรี, นครศรีธรรมราช, สงขลา, ปัตตานี เป็นต้น
ในยุครัฐชาติไทยปัจจุบัน เชียงแสนอาจเป็นที่รู้จักในฐานะ “ดินแดนแห่งสามเหลี่ยมทองคำ” ตลอดจน “เมืองท่องเที่ยว” ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงราย ทางสะดวก ขับรถไม่นาน ไม่กี่สิบกม.ก็ถึง (หลังจากที่ผจญกับถนนร้อยโค้งจากดอยสะเก็ดถึงแอ่งเชียงราย)
มีบ้างที่รับรู้ในฐานะแหล่งประวัติศาสตร์ เพราะเชียงแสนมีเมืองเก่า เหลือกำแพงเมือง คูน้ำ เจดีย์ วัดวาอาราม และมีพิพิธภัณฑ์ที่แสดงสิ่งของเกี่ยวข้องและนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงแสน แต่ก็ยังรับรู้กันในแง่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเสียส่วนใหญ่ ซึ่งแม้จะเข้าที แต่ยังไม่เวิร์ค ที่จะเวิร์คจริง ๆ เข้ากับยุคสมัยถัดไปข้างหน้านั้น ต้องเป็นประวัติศาสตร์ที่มีมุมมองสากล
เชียงแสนควรจะมีประวัติศาสตร์ที่เป็นสากลมากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีเป้าหมายอยู่เพียงการนำเอาเรื่องราวอดีตของท้องถิ่นตนไปผนวกรวมกับประวัติศาสตร์ของรัฐชาติ ซึ่งเป็นเรื่องคับแคบ ตื้นเขิน และไม่มีอนาคตอย่างที่คิดฝันกันไปเท่าไรเลย
เมืองเชียงแสนในอดีตนั้นไม่ใช่ทั้งหัวเมืองขึ้นของไทยหรือลาว รัฐชาติทั้งลาวและไทยล้วนแต่เป็นจินตกรรมที่สร้างกันขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ (ไม่เชื่อก็จุดธูปถามอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน หรือไม่ก็อ่าน “ชุมชนจินตกรรม” (Imagined Communities) กันดู!!!) เชียงแสนในอดีตจึงเป็นทั้งดินแดนที่มีทั้งสยาม ล้านนา ล้านช้าง ยุนนาน จีน พม่า ไทใหญ่ ฯลฯ
สภาพเช่นนี้ก็เกิดกับเมืองต้นผึ้งที่อยู่อีกฝั่งในสปป.ลาว เช่นกัน บริเวณสองฝั่งนี้เดิมในอดีตผู้คนต่างก็เคยรวมตัวอยู่ด้วยกันเมืองสุวรรณโคมคำมาก่อน พอเมืองสุวรรณโคมคำล่ม ก็เกิดเมืองเชียงแสนขึ้นมาแทนที่ เมืองไหนตั้งอยู่ที่ใดก็ตาม ก็ไม่เคยมีขอบเขตอยู่แต่เพียงคูน้ำคันดินหรือกำแพงเมือง
อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งขององค์ความรู้โบราณคดีในไทย ชอบคิดกะเกณฑ์กันไปเองว่าคูน้ำคันดินกำแพงเมืองป้อมปราการคือขอบเขตของเมือง แต่ที่จริงขอบเขตเมืองไม่เคยอยู่แต่ภายในกำแพงเมืองคูน้ำคันดินที่ว่านั้นแต่อย่างใดเลย ชุมชนและย่านเศรษฐกิจสังคมของแต่ละเมืองล้วนกว้างไกลกว่าขอบเขตคูน้ำคันดินกำแพงเมือง เพราะคิดและเห็นกันเพียงเท่านั้นแหละถึงได้สามารถไล่ชุมชนออกจากกำแพงเมืองป้อมปราการไปสร้างสวนสาธารณะแห้ง ๆ ไร้รสนิยม ราวกับคนไม่มีไม่รู้ประวัติศาสตร์
ถึงยุคสุวรรณโคมคำ ตัวเมืองหลักจะอยู่ที่ฝั่งสปป.ลาว ยุคเชียงแสนมีกำแพงเมืองอยู่ที่ฝั่งไทย แต่ทว่าก็อย่างที่กล่าวไว้แล้วก็คือว่าเพราะความสำคัญของสายน้ำโขง ยุคสุวรรณโคมคำกับยุคเชียงแสนถึงต้องสร้างต้องมีอะไรที่สะท้อนการมีชุมชนเข้าไปอยู่บริเวณเกาะกลางแม่น้ำ หรือบริเวณอีกฝั่งตรงกันข้ามก็จะมีมูลนายจากอีกฝั่งหนึ่งไปคอยควบคุมกักเก็บส่วยสาอากรอยู่เป็นปกติ
สายน้ำโขงบริเวณนี้ถึงแม้จะไหลเชี่ยวกรากในบางช่วงเวลา จนกระทั่งเคยพลัดเมืองล่มจมเป็นหนอง พังวัด ซัดพระพุทธรูป มานักต่อนัก แต่เช่นเดียวกับคนในเขตอื่น ๆ ที่มักจะไม่กลัวน้ำ ยังคงนิยมสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ นั่นส่วนหนึ่งเลยก็เพราะต้องการใช้ประโยชน์จากสายน้ำในการติดต่อไปมาค้าขายกับโลกภายนอก
ไม่มีบ้านเมืองใดที่สามารถจะตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายไร้การติดต่อกับภายนอก การรู้จักคบค้าสมาคมและเป็นมิตรกับคนภายนอกต่างหากคือกุญแจสำคัญที่นำเอาความเจริญมั่งคั่งรุ่งเรืองมาให้ จนมีทุนรอน เวลา และกำลังปัญญาในการสร้างสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นพระพุทธรูป หรือสิ่งใด ๆ
อย่างไรก็ตามนับเป็นเรื่องดีที่ทางกองมรดกลาว ได้แถลงว่า จะแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการกับนานาประเทศ รวมทั้งจากนักวิชาการและกรมศิลปากรของไทยด้วย ในการที่จะศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่เพิ่งขุดพบใหม่นี้ รวมถึงกรณีอื่น ๆ ในอนาคต
การพบพระพุทธรูปเช่นนี้ไม่ว่าจะพบที่ฝั่งไทยหรือลาว ก็เป็นเรื่องดีที่จะได้ใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพียงแต่หากเรารู้จักลดทิฐิ เลิกอคติ เลิกนิสัยชอบเหยียดกับเพื่อนบ้าน พระพุทธรูปหรือของโบราณอย่างใดก็ตามจะของใคร ก็ควรทำให้เป็นของจรรโลงความอยู่ดีมีสุขและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
นับตั้งแต่ที่การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ หันพระพักตร์และพระหัตถ์มาขอจับมือกับฝั่งไทย เราก็ได้เห็นคนลาวได้แสดงความมีวุฒิภาวะไม่ยึดติดกับประวัติศาสตร์บาดแผลเหมือนอย่างในอดีตเรื่อยมา ในเมื่อลาวเปิดใจแล้วทำไมเราคนไทยยังต้องอคติและเหยียดในเหยียดกันอยู่อีกล่ะ?
เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์
ภาพ : Nation Photo