18 ส.ค. 2566 | 18:31 น.
- รูปเคารพ ‘ครูกายแก้ว’ ได้รับความสนใจในไทยอย่างมาก แม้จะมีคำถามถึงที่มาที่ไปของความเชื่อและประวัติของรูปเคารพ
- หากอ้างอิงหลักแบบชาวพุทธ มีคำสอนเกี่ยวกับรูปปั้น รูปเคารพอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม พัฒนาการเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธาของผู้คนทำให้เกิดรูปปั้นและรูปเคารพแบบต่าง ๆ อยู่เสมอ
รูปปั้นรูปเคารพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปหรือเทวรูปที่มีปรากฏในหมู่ชาวพุทธ นับว่าเป็นประติมากรรมรูปเคารพอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความเชื่อต่อที่พึ่งทางจิตใจของบุคคลผู้มีความศรัทธานับถือในคำสอน
ตั้งแต่แรกเริ่ม พุทธศาสนานับว่ามีคำสอนที่เป็นนามธรรมอย่างเดียวโดยบอกเล่าผ่านทางพระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระองค์ที่สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น เมื่อบุคคลได้ยินได้ฟังหรือได้ศึกษาคำสอนจากท่านแล้วเกิดความเชื่อความศรัทธาอย่างแรงกล้า พอเวลานานเข้า ๆ เมื่อไม่ปรากฏรูปกายจริงของพระพุทธเจ้า จึงมีความประสงค์อยากจะสร้างรูปกายเหมือนพระพุทธองค์อันเป็นรูปวัตถุไว้สำหรับเป็นเครื่องระลึกถึงคำสอนของพระองค์ จึงเป็นสาเหตุให้สร้างพุทธรูปเพื่อเป็นรูปเคารพขึ้นมาและการสร้างนั้นก็ไว้เพื่อเป็นตัวแทนและเป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้สึกอุดมคติ โดยทำความเชื่อที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมโดยผ่านรูปเคารพนั่นเอง
การสร้างรูปเคารพในหมู่ชาวพุทธมีความประสงค์จะให้เป็นเครื่องระลึกถึงคุณของพระพุทธองค์ เพราะเมื่อมองผ่านรูปเคารพก็อาจเป็นเหตุทำให้พุทธศาสนิกสามารถระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ได้ แต่กาลเวลาผ่านไป จุดประสงค์ของการสร้างรูปเคารพถูกเพิ่มเรื่องราวเกี่ยวความศักดิ์สิทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์เข้ามาซึ่งทำให้คนรุ่นต่อมามองภาพลักษณ์รูปเคารพต่างไปจากเดิมมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยนับว่ามีความเกี่ยวข้องพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง และมีมานานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน โดยสังเกตเห็นได้ตามแหล่งประวัติศาสตร์โบราณสถานที่ปรากฏมีในจังหวัดต่าง ๆ เช่น สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา ล้วนมีพระพุทธรูปปรากฏอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นค่านิยมในการสร้างรูปเคารพมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ต้นกำเนิดรูปเคารพพระพุทธเจ้าหลังจากเสด็จปรินิพพาน
การสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าโดยสร้างเป็นรูปมนุษย์ปรากฏเป็นครั้งแรกในศิลปะอินเดียสมัยคันธารราฐ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 - 7 หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ประมาณ 700 ปี ในอินเดียโบราณสมัยก่อนหน้านั้น ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 - 6 ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชยังไม่มีปรากฏการสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าในรูปที่เป็นมนุษย์ แต่ใช้สัญลักษณ์แทนอย่างชัดเจนโดยเฉพาะพุทธประวัติที่ปรากฏอยู่ตามศาสนสถาน เช่น ที่สถูปสาญจีและตามเจดีย์สถานต่าง ๆ
หากเป็นรูปตอนประสูติจะแสดงด้วยรูปพระนางสิริมหามายาทรงยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ รูปตอนตรัสรู้แสดงด้วยต้นโพธิ์และบัลลังก์ และรูปตอนปฐมเทศนาแสดงด้วยธรรมจักรกับกวางหมอบ แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีประเพณีการสร้างพระพุทธรูปหรืออาจยังเป็นข้อห้ามอยู่
หลักฐานการสร้างพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียปรากฏขึ้นประมาณ พ.ศ.500 โดยเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าเมนานเดอร์หรือที่รู้กันในนามพญามิลินท์ กษัตริย์แห่งบากเตรียหรือโยนกซึ่งมีความเริ่มเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงโปรดให้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เรียกว่า พุทธศิลป์ยุคคันธาระ ที่แคว้นคันธารราฐในช่วง พ.ศ. 663 - 705
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรมาซิโดเนียทางตอนเหนือของประเทศกรีซ ได้สร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ ครอบคลุมคาบสมุทรบอลข่าน อียิปต์ ตุรกี และเปอร์เซีย จนมาถึงดินแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียที่แคว้นคันธารราฐ ในพุทธศตวรรษที่ 3 คติการสร้างรูปเคารพเป็นพระพุทธรูปน่าจะได้แรงบันดาลใจจากกรีกที่ท่านไปพบเห็นมา เพราะในกรีกนั้น มักจะพบเทวรูปต่าง ๆ จึงน่าจะนำศิลปะที่พบเจอมาผสมผสานกับความเชื่อเดิมของชาวพื้นเมือง ส่งผลให้นําความนิยมในการสร้างรูปเคารพเทพเจ้าของชาวกรีกมาสร้างเป็นพระพุทธรูปขึ้น
ดังนั้น พระพุทธรูปสมัยคันธารราฐ ซึ่งเป็นสมัยแรกสุดที่มีการสร้างพระพุทธรูป จึงมีลักษณะเป็นแบบชาวกรีกค่อนข้างมาก ทั้งรูปร่าง หน้าตา และลักษณะการครองจีวร
การปรากฏรูปเคารพในหมู่ชาวพุทธไทย
ในประเทศไทยเราสามารถพบรูปเคารพตามคติทางศาสนาต่างๆ คือ เทวรูปในศาสนาฮินดู พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนานิกายมหายานทั้งพระพุทธรูปในนิกายเถรวาทที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชาสักการะ และมีออกแบบพระพุทธรูปในท่าทางหลากหลายตามในวรรณคดีพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ เนื่องจากพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะนิกายเถรวาท เป็นที่ยอมรับนับถือของคนไทยต่อเนื่องกันมานานนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พระพุทธรูปจึงเปรียบเสมือนหัวใจของศิลปวัตถุทางศาสนาเพราะถือว่าเป็นอุเทสเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังทำให้พุทธศาสนิกชนได้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ผ่านทางรูปเคารพจึงกำหนดแบบท่าทางของพระพุทธรูปเป็นปางต่างๆ ตามพุทธประวัติ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ปางห้ามสมุทร ปางห้ามญาติ เป็นต้น
กล่าวได้ว่า เรื่องราวตามพุทธประวัติอันเป็นบุคลาธิษฐานอันเป็นการเล่าถึงตัวบุคคลได้ถูกส่งต่อให้เป็นรูปธรรมขึ้นจากเรื่องราวที่สำคัญ ๆ ในพุทธประวัติ ถูกสร้างรูปเคารพเป็นปางต่างๆ และการสร้างขึ้นมานั้นไม่ได้กำหนดมาแบบไร้กฎเกณฑ์ แต่มีกำหนดแบบท่าทางของพระพุทธรูปถือเป็นกฎเกณฑ์ในประเทศอินเดียมานาน
จะเห็นได้ว่ารูปเคารพที่หมู่ชาวพุทธนับถือเคารพสักการะอยู่นั้น ล้วนได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียทั้งสิ้น ซึ่งรวมทั้งศิลปะของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันด้วย ตามข้อมูลที่ค้นพบการสร้างรูปเคารพในหมู่ชาวพุทธเกิดเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-18 อาณาจักรทวารวดีที่มีพระพุทธศาสนารุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ในอาณาจักรนี้ส่วนมากเป็นเถรวาทซึ่งมีความสัมพันธ์กันกับทางอินเดียทางฝ่ายใต้พุทธศิลป์ในยุคนี้มีมากมาย ตั้งแต่วัตถุชิ้นใหญ่ลงมาถึงวัตถุชิ้นเล็ก เช่น พระพิมพ์เก่า ๆ ซึ่งบริเวณเมืองอู่ทองนครปฐม นครชัยศรีราชบุรี เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวรรดิ ได้ค้นพบพระพุทธรูปเสมาธรรมจํานวนหนึ่ง พระพุทธรูปในยุคนี้โดยมากสร้าง ด้วยศิลาดินเผาและโลหะ
ดังนั้น พระพุทธรูปนับว่าเป็นรูปเคารพ เป็นรูปเปรียบเสมือนพระพุทธองค์ แต่แน่นอนคงจะเหมือนทุกส่วนก็เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่แสดงในเชิงสัญลักษณ์ อีกอย่างหนึ่ง การสร้างพระพุทธรูปล้วนอ้างอิงมาจากมหาปุริสลักษณะ 32 ประการทั้งสิ้น และรูปเคารพทางพระพุทธศาสนาไม่ได้มีเพียงแค่พระพุทธรูปอย่างเดียว ยังมีเทวรูปที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีบาลีอีกด้วย เช่น ท้าวสักกเทวราช ท้าวจาตุโลกบาล เป็นต้น เพื่อเป็นการระลึกถึงฤทธานุภาพและคุณประโยชน์ที่ทำไว้ในพระพุทธศาสนา แต่ส่วนใหญ่จะสร้างเพื่อไว้เป็นที่เคารพสักการะขอพรเป็นส่วนมากในปัจจุบัน
จะว่าไปแล้ว ในการสร้างรูปเคารพนั้น ไม่ได้มีเพียงทางความเชื่อทางศาสนาอย่างเดียว แต่การสร้างรูปเคารพยังมีการนำไปใช้ในแสดงถึงความเคารพและความกตัญญูต่อบุคคลผู้มีพระคุณอีกด้วย บางครั้งรูปเคารพอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา แต่เป็นการสร้างเพื่อเป็นเครื่องระลึกต่างกรรมต่างวาระกันไป ดังนั้น การสร้างรูปเคารพจึงพบได้ทุกเชื้อชาติทุกศาสนา
ความคิดเห็นต่อรูปเคารพตามแนวทางของพระพุทธเจ้า
หากพิจารณาในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ในชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน ยังไม่มีการกล่าวถึงรูปเคารพที่ไว้สำหรับเป็นเครื่องระลึกแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน จะมีเพียงแต่การกล่าวถึงวัตถุที่ระลึกอื่น ๆ เช่น พระบรมสารีริกธาตุต่าง ๆ และต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น แต่คำกล่าวนั้นพบอยู่ในชั้นอรรถกถาเสียส่วนใหญ่
อีกอย่าง หากจะมีการสร้างรูปเคารพในยุคนั้นจริง ก็จะค่อนข้างขัดกับคำสอนของพระพุทธองค์ เพราะทรงเน้นไปเรื่องการระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยเพื่อการพัฒนาจิตมากกว่าที่จะมาระลึกสิ่งของไม่มีชีวิต เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า
“มนุษย์เป็นอันมาก ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า สวนและรุกขเจดีย์ว่าเป็นที่พึ่ง
ที่พึ่งเช่นนั้น ไม่เกษม ไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ส่วนบุคคลใดถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์
ความก้าวล่วงทุกข์และมรรคมีองค์ 8 อันประเสริฐซึ่งทำให้สัตว์พบกับความสงบไปของความทุกข์
ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งแบบนั้นของเขานับว่าเกษม เป็นที่พึ่งอุดม
เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งแบบนั้นย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
ข้อความนี้สะท้อนถึงความเห็นของพระพุทธองค์ที่มีต่อรูปเคารพได้อย่างชัดเจนว่า ให้ความสำคัญในพระรัตนตรัยและอริยสัจ 4 มาเป็นที่พึ่งทางจิตใจมากกว่าการเอาวัตถุสิ่งของมาเป็นที่พึ่งทางใจในหมู่ชาวพุทธ อีกอย่างยังสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของคนสมัยนั้นที่มีการนับถือ ภูเขา ป่า สวน ต้นไม้ หรืออาจมีเทวรูปประจำท้องที่อื่น ๆ ซึ่งอาจพบได้ในยุคสมัยนั้น ซึ่งหากเอาแว่นพระพุทธศาสนามาส่องก็จะค่อนข้างขัดแย้งตามหลักการพอสมควร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การสร้างรูปเคารพส่วนใหญ่นั้น เกิดจากความเลื่อมใสของบุคคลผู้นับถือพุทธศาสนาและต้องการจะให้มีการสร้างรูปเคารพขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า น่าจะเป็นความรู้สึกเดียวกันกับการสร้างรูปปั้นบรรพบุรุษที่ถูกสร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึง
อีกอย่าง น่าจะเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อนที่พยายามให้ประชาชนได้มีที่พึ่งทางจิตใจ มีที่สำหรับไว้สักการะอธิษฐานจิต เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้มีศรัทธานับถือ จะเห็นได้ว่า ในยุคปัจจุบัน คนที่มีความเชื่อในสิ่งที่ตนเองเชื่อจะไปรวมตัวกันในที่นั้น อย่างเช่น พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัดต่าง ๆ เช่น วัดพระแก้ว วัดบวรนิเวศวิหาร วัดหลวงพ่อโสธร เป็นต้น ที่พุทธศาสนิกชนพากันเคารพสักการะขอพรกันซึ่งนับว่าเป็นโอกาสได้เผยแพร่คำสอนทางพระพุทธศาสนาได้อีกด้วย
วิวัฒนาการรูปเคารพในยุคครูกายแก้ว
ในยุคปัจจุบันนี้มีรูปเคารพเกิดขึ้นมากมายตามความเชื่อทางศาสนาอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นรูปเคารพครูกายแก้ว หรือก่อนหน้านั้นคือท้าวเวสสุวรรณ ที่นิยมมากในช่วงหนึ่ง จะว่าไปแล้ว การสร้างรูปเคารพขึ้นมาแต่ละครั้งก็ไม่ผิดอะไร เพียงแต่เมื่อสร้างขึ้นมานั้น จะต้องมีเรื่องราวอย่างชัดเจน เช่น ในพระพุทธศาสนา การจะสร้างรูปเคารพก็อ้างอิงถึงพุทธประวัติและรูปแบบศิลปะก็พัฒนามาจากอินเดียวมาช้านาน เป็นต้น
รูปเคารพที่กำลังเป็นกระแสแรงไม่หยุดในช่วงนี้คงนี้ไม่พ้นรูปเคารพ ‘ครูกายแก้ว’ ที่หล่อด้วยสำริด มีลักษณะเป็นรูปมนุษย์มีนัยน์ตาแดงกล่ำ มีเล็บมือ-เล็บเท้าสีแดง ปากมีเขี้ยวงอกและปีกใหญ่สองข้าง เหล่าผู้ศรัทธายกย่องในฐานะ ‘บรมครูผู้เรืองเวทย์’ หรือบางครั้งก็มองว่าเป็น ‘เทพอสูร’ ด้วยความเชื่อว่า จะนำมาซึ่งสิริมงคลและโชคลาภ
แต่เมื่อค้นหาหลักฐาน กลับไม่พบที่มาที่ไปอย่างถูกต้อง จะบอกว่ามาจากพุทธก็ไม่ใช่ จะว่ามาจากฮินดูก็ไม่เชิง ถึงแม้ผู้สร้างครูกายแก้วจะออกมาบอกกล่าวถึงที่มาโดยเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ เช่น เป็นที่เคารพศรัทธาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งก็มีนักวิชาการทางสายโบราณคดีหลายท่านออกมาโต้แย้งโดยยกหลักฐานต่าง ๆ มาแสดง แต่ก็มิได้ทำให้ศรัทธาประชาชนที่มีต่อครูกายแก้วให้ลดน้อยถอยลง
เมื่อกระแสรูปเคารพครูกายแก้วโดยอยู่ในฐานะเป็นเทวรูปยังคงแรงอยู่เนือง ๆ ก็มีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ให้ความเห็นในรูปเคารพครูกายแก้วว่า อาจมีต้นแบบมาจากการ์กอยล์ (gargoyle) ซึ่งเป็นสัตว์ผสมหากินกลางคืน เป็นมารกึ่งมนุษย์ - มังกร ปกปักษ์รักษาผู้คนตามความเชื่อชาวยุโรป มักพบเป็นเครื่องประดับอาคารสถานที่ต่าง ๆ บริเวณที่เรียกว่า ปนาลี ช่องรางน้ำทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส หรืออาจเป็นเวตาลตามคติฮินดู
เวตาลนับว่าเป็นปีศาจจำพวกหนึ่ง รูปร่างเหมือนค้างคาวยักษ์ ตัวดำ น่าเกลียดน่ากลัว ชอบอาศัยในป่าช้า สิงซากศพที่ตายใหม่ ๆ เป็นต้น เวตาลนี้พบได้ในวรรณกรรมภาษาสันสกฤต
เรื่องรูปเคารพของครูกายแก้วนั้น ผู้เขียนยังไม่ทราบที่มาอย่างชัดเจนว่า มาจากที่ไหนกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ เรื่องการสร้างรูปเคารพที่เป็นองค์เทพควรต้องมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือมีหลักฐานที่มาพอสมควร และต้องคำนึงถึงจริยธรรมโดยไม่เพียงแต่สร้างขึ้นมาให้เป็นที่อธิษฐานบูชาเพียงเท่านั้น อย่างน้อยการจะสร้างรูปเคารพขึ้นมาแต่ละครั้ง ต้องเป็นเครื่องระลึกถึงคุณงามความดีหรือคำสอนที่ถูกต้อง
ผู้เขียนมองว่า การสร้างรูปเคารพเป็นสิทธิของผู้มีศรัทธานับถือที่จะสร้างขึ้นมา เพียงแต่ว่า เมื่อผู้สร้างหาที่มาที่ไปไม่ได้หรือไม่ถูกต้องก็ยากที่จะต้านทานกระแสโจมตีจากหลายฝ่าย ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้รูปเคารพที่ตนศรัทธามีคุณค่าน้อยและคุณภาพที่ด้อยลงในจิตใจของผู้เคารพนับถือ แต่หากจะเอ่ยว่า รูปเคารพครูกายแก้วนั้นจะมีความศักดิ์สิทธิ์มากหรือน้อย? ก็ขึ้นอยู่แต่ละบุคคลจะวางครูกายแก้วไว้ในฐานะอะไร
เรื่อง: เพิ่มพูน หงษ์เหิร
ภาพ: แฟ้มภาพ ภาพเขียนฝาผนังในวัด ประกอบกับรูปปั้นครูกายแก้ว ไฟล์จากกรุงเทพธุรกิจ
อ้างอิง:
ไวทิกทรฺศน - वैदिकदर्शन / Facebook
ประภาส แก้วเกตุพงษ์. ประเพณีการสร้างพระพุทธรูปในประเทศไทย. บทความ Journal of Roi Kaensarn Academi Vol. 6 No. 5 มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2564.