‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ วัฒนธรรมและความหมายในสังคมไทย - อุษาคเนย์

‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ วัฒนธรรมและความหมายในสังคมไทย - อุษาคเนย์

‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ เมื่อน้ำไม่ใช่แค่น้ำ ไม่ใช่แค่ H2O หากแต่มีมิติทางสังคมวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น ในสังคมไทย - อุษาคเนย์

KEY

POINTS

  • พระราชพิธีพลีกรรมคืออะไร ทำไมถึงต้องใช้ ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’
  • ความสำคัญของ ‘น้ำ’ ในสังคมวัฒนธรรมไทย – อุษาคเนย์
  • ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ & บุญบารมี กับ อำนาจทางการเมือง
  • แบบไหน ยังไง ถึงเป็น ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ 

สืบเนื่องจากพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่จะถึงในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2567 นี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัดตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ส่งมาเข้าร่วมในพระราชพิธี โดยมีกำหนดการให้นำน้ำมาทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระอารามหลวงประจำจังหวัดในวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2567 มีพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ ในวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2567 

จากนั้น มีการอัญเชิญคนโทบรรจุน้ำพระพุทธมนต์มาเก็บรักษาอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ ในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2567 เพื่อเตรียมเข้าขบวนเชิญน้ำพระพุทธมนต์จากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2567 และจะมีพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้งในวันเดียวกัน เวลา 16.30 น. เมื่อเสร็จแล้วจะมีขบวนเชิญน้ำพระพุทธมนต์จากวัดพระเชตุพนฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทูลเกล้าถวายในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคมพ.ศ.2567 เวลา 6.35 น. 

รวมน้ำที่ตักมาจาก 76 จังหวัด กว่า 108 แห่งทั่วประเทศ (มีหลายจังหวัดตักมากกว่า 1 แห่ง) กล่าวกันว่าแหล่งน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แหล่งเดียวกับที่เคยใช้ในการประกอบพิธี ‘พลีกรรมตักน้ำ’ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อพ.ศ.2562 

คำว่า ‘พลีกรรม’ ตามความหมายที่ราชบัณฑิตยสถานได้เคยให้นิยามเอาไว้ผ่าน ‘พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน’ หมายถึง ‘การบูชา’ หรือ ‘พิธีบูชา’ อธิบายง่าย ๆ ‘กรรม’ หมายถึง ‘การกระทำ’ ส่วน ‘พลี’ ก็คำเดียวกับ ‘พลีชีพ’ หมายถึง ‘การสละให้’ หรือ ‘มอบให้’ หรือ ‘ถวาย’ ความหมายเดียวกับ ‘เซ่นสรวงบูชา’ รวมความหมายถึงพิธีการกระทำเซ่นสรวงบูชา ในที่นี้ ‘พลีกรรมตักน้ำ’ ก็คือ ‘การเซ่นสรวงบูชาด้วยน้ำ’

แต่ยังไม่ได้จบเพียงเท่านั้น คือความหมายตามตัวบทอักษร ก็จบแค่นั้น แต่เรื่องนี้มีความหมายทางสังคมวัฒนธรรม เนื่องจาก ‘น้ำ’ ที่ใช้ในการพระราชพิธี มีนิยามความหมายแยกออกไปอีก คือ ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งก็หมายความว่าน้ำที่จะใช้ในการพระราชพิธีเป็น ‘น้ำพิเศษเฉพาะ’ ไม่ใช่ว่าจะตักเอาน้ำจากที่ไหนมาใช้ก็ได้     

ความสำคัญของ ‘น้ำ’ ในสังคมวัฒนธรรมไทย - อุษาคเนย์ 

ในโลกอดีต เป็นช่วงเวลายาวนานหลายศตวรรษที่ไม่ได้มีระบบประปาสมัยใหม่แบบในปัจจุบัน แหล่งน้ำจืดใช้ในการอุปโภคและบริโภค นับเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตผู้คน แหล่งน้ำเป็นปัจจัยลำดับต้น ๆ ของการสร้างบ้านแปงเมือง นอกจากการอุปโภคและบริโภค น้ำยังสำคัญต่อการคมนาคม การค้า การเกษตรกรรม ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ บ้านเมืองใดเกิดวิกฤตแล้งน้ำขึ้นมา ก็ต้องย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่อื่น  หรือหากมีน้ำมากเกินไปจนหลากท่วมเยอะและนาน ก็ต้องย้ายเมืองหนีเช่นเดียวกัน  การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญระดับความอยู่รอดของบ้านเมือง 

น้ำเป็นของสาธารณะ แต่ไทยและอุษาคเนย์เป็นสังคมมีชนชั้น ถึงจะไม่มีระบบวรรณะเข้มข้นเหมือนอินเดีย แต่ทว่าก็มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง บุคคลถูกกำหนดสถานภาพตั้งแต่เกิดมาแล้ว ลำดับชั้นของคนนำไปสู่การจัดประเภทน้ำที่ใช้ตามมา ชนชั้นสูงซึ่งมีสถานะเป็นเทพเจ้าจะมาใช้น้ำร่วมกับไพร่ราษฎรก็ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงมีการแยกน้ำออกไปเป็นน้ำธรรมดาที่ผู้คนพลเมืองใช้ร่วมกันกับน้ำที่ชนชั้นสูงใช้ น้ำประเภทอย่างหลังนี้นอกจากจะมีการขุดสระขุดบ่อขึ้นใช้เป็นการเฉพาะภายในพระราชวังแล้ว ยังมีการใช้น้ำจากภายนอกพระราชวังเพื่อการประกอบพระราชพิธี

‘Karl Wittfogelj’ นักประวัติศาสตร์ที่นำเอาแนวคิดว่าด้วยวิถีการผลิตแบบเอเชีย (Asiatic mode of production) มาพัฒนาเป็นทฤษฎีว่าด้วย ‘สังคมพลังน้ำ’ (Hydraulic society) เคยอธิบายการให้ความสำคัญแก่การจัดการน้ำของชนชั้นปกครองในเอเชีย ในระดับที่มากกว่าการควบคุมกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินแบบยุโรป ทำให้เกิดพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างไปกว่าที่เกิดในยุโรปและญี่ปุ่น อย่างสำคัญประการหนึ่งคือการเป็นสังคมแนวโน้มจะนิยมระบอบเผด็จการ   

แต่ก็มีการโต้แย้งจากนักวิชาการคนอื่น ๆ ว่าแหล่งน้ำในเอเชียที่อยู่ในความจัดการของรัฐและชนชั้นนำที่ว่านั้น ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่เพื่อพิธีกรรมทางศาสนาเป็นหลัก จึงไม่มีผลต่อการปกครองทางโลกย์ และถึงแม้การควบคุมแรงงานเพื่อจัดการน้ำจะเป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่ได้หมายความว่า ‘ที่ดิน’ ไม่สำคัญ ตรงข้ามเพราะที่ดินที่มีน้อยเมื่อเทียบกับขนาดประชากร ยิ่งทำให้ผู้ถือครองที่ดินเป็นผู้มั่งคั่งในสังคม อีกทั้งการจัดการน้ำก็ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินอย่างแยกไม่ออก ไม่ใช่ว่าจะขุดบ่อตรงไหนก็ได้ บ่อน้ำขึ้นกับว่าที่ดินเป็นของใคร  

ที่เมื่อก่อนขุดได้มาก ก็เพราะความจำเป็นในการใช้ด้านสาธารณูปโภคส่วนหนึ่ง และอีกส่วนก็เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินสังคมเอเชีย เดิมถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของพระมหากษัตริย์ (อย่างที่มีคำเรียก ‘พระเจ้าแผ่นดิน’) ทรงมีพระราชบัญชาให้ขุดบ่อ ขุดคลอง ที่ไหน ก็ย่อมทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการตอบแทนแก่ผู้สูญเสียที่ดินที่เรียกกันในยุคสมัยใหม่ว่า ‘เวนคืน’ แต่อย่างใด    

น้ำยังสัมพันธ์กับระบบความเชื่อดั้งเดิมของอุษาคเนย์ในแง่ที่ว่า น้ำมีต้นกำเนิดไหลมาจากภูเขาใหญ่ในย่านซึ่งผู้คนชาวเมืองที่อยู่ใกล้มีความเชื่อถือว่าภูเขาดังกล่าวเป็น ‘ภูเขาศักดิ์สิทธิ์’ เนื่องจากเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพชน เช่น ‘พระขพุง’ ตามจารึกสุโขทัยว่าสถิตอยู่บนยอดเขาหลวง, ‘นัตทั้ง 37 ตน’ ของพม่า สถิตอยู่ที่เขาโปปา, ‘แถนหลวง’ สถิตอยู่ที่พูสี หลวงพะบาง สปป.ลาว, พนมกุเลนกับพนมบาเค็งของเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา, ดอยสุเทพของเมืองเชียงใหม่, เขาถมอรัตน์ของเมืองศรีเทพ, เขาเหมน (เขาพระสุเมรุ) ของเมืองนครศรีธรรมราช 

อยุธยาไม่ได้มีภูเขาธรรมชาติเหมือนอย่างใครเขา ก็ยังอุตส่าห์สร้างเจดีย์สูงใหญ่ทัดเทียมภูเขาขนาดย่อมที่เรียกว่า ‘ภูเขาทอง’ เป็นแลนด์มาร์คตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นต้นแบบของภูเขาทองวัดสระเกศที่กรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา เมื่อภูเขาอันเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำที่ไหลมาจากเขตภูเขาหรือแค่เพียงไหลผ่านทางมาแบบเฉียด ๆ ภูเขาดังกล่าว ก็จึงถือได้ว่าเป็น ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ ไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายเรื่องการเกิดฝน ถ้าแบบพุทธผสมพราหมณ์ก็บอกว่า ฝนเกิดจากพระอินทร์สั่งให้พระยานาคไปเล่นน้ำที่สระอโนดาต เพื่อบันดาลให้มีน้ำฝนตกลงมา แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีตำนานเรื่องเล่าในหมู่กลุ่มชนตระกูลไท - ลาว ว่าครั้งหนึ่งเกิดฝนแล้งติดต่อกันนานหลายปี จนบรรดาสรรพสัตว์ต่างเดือดร้อนทุกข์ยากกันถ้วนหน้า แล้วก็มีพระยาคันคากเป็นผู้นำเหล่าสัตว์ยกกองทัพขึ้นไปรบกับพระยาแถน จนชนะแล้วก็ทำสัญญาให้พระยาแถนทำฝนตกลงมายังโลกเบื้องล่าง เมื่อลูกหลานของตน (กบ เขียด คันคาก) ร้องส่งเสียงดังขึ้นมาเป็นสัญญาณ 

พระยาคันคาก (คางคกยกรบ) ผู้นี้ไม่ธรรมดา เพราะตามเนื้อเรื่องตำนานระบุว่าเป็นพระโพธิสัตว์ (คือผู้บำเพ็ญเพียรสะสมบุญบารมีจะไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในอีกหลายชาติภพต่อมา) ตำนานการเกิดฝนนี้จึงสะท้อนการปะทะปรับเปลี่ยนคติความเชื่อระหว่างผี (แถน) กับการเข้ามาของพุทธศาสนา เป็นตำนานอธิบายเหตุ ตามความช่างสังเกตและจดจำว่า เมื่อคางคก กบ เขียด ร้องส่งเสียงขึ้นมา นั่นเป็นสัญญาณที่รู้กันว่า อีกไม่ช้าไม่นานฝนจะต้องตกลงมา       

ในการประกอบพระราชพิธีความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำบางแห่งไม่ได้อยู่ที่ความลี้ลับซับซ้อนหรือปกปิดต่อสังคมภายนอก หากแต่คือการมีส่วนร่วมของไพร่ราษฎร พราหมณ์ราชครูจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ เพราะต้องใช้น้ำในพระราชพิธี ซึ่งพระราชพิธีในราชสำนักเป็นพื้นที่เฉพาะของพราหมณ์ ในแต่ละปราสาทที่สร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์ สิ่งที่ขาดหายไปไม่ได้ ต้องมีคู่กับปราสาท ก็คือ ‘บาราย’ ประจำปราสาทแห่งนั้น   

แม้ว่าตอนหลังจะมีพิธีสงฆ์ของพุทธเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย แต่บุคคลสำคัญที่เป็นผู้กำกับการพระราชพิธียังคงเป็นพราหมณ์ราชครู และวัดพุทธหลายแห่งก็มีแผนผังการสร้างคล้ายคลึงกับวัดพราหมณ์ในแง่ที่ว่าจะต้องมีแหล่งน้ำ เพียงแต่อนุโลมให้สระน้ำของพระสงฆ์สามารถใช้ร่วมกับไพร่ราษฎรได้ ในเมื่อพระภิกษุสงฆ์ถึงจะได้ความยอมรับนับถือจากผู้คนเป็นอย่างมาก แต่ไม่ถือเป็นคนละวรรณะแบบอินเดียโบราณ พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ก็มาจากไพร่ที่บวช เลยทำให้สามารถใช้น้ำร่วมกับไพร่ด้วยกันได้       

เมื่อเป็นลัทธิความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับพราหมณ์ ความเข้าใจของคนทั่วไปก็มักจะลากไปเกี่ยวโยงกับศาสนาอินเดีย ทว่าคติแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 แห่งแบบอินเดีย ที่เรียกว่า ‘ปัญจมหานที’ หมายถึงน้ำจากลำน้ำอันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอินเดีย 5 แห่ง คือ แม่น้ำคงคา, แม่น้ำยมนา, แม่น้ำมทิ, แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ไม่สามารถจะปรับใช้ให้เข้ากับไทยได้แบบเป๊ะ ๆ ดังจะเห็นได้จากที่ไทยจะต้องตักน้ำจากแหล่งน้ำกว่า 108 แห่ง จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ 

ในอดีตมีการขุดสระน้ำขึ้น 5 แห่ง สำหรับ ‘ติ๊ต่าง’ ว่า เป็นปัญจมหานทีแบบอินเดีย อยู่ที่บริเวณ ‘สระอภิเษก’ หรือ ‘สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่’ (เดิมพบเพียง 4 แห่ง ภายหลังพบอีก 1 แห่งที่ถูกกลบไปในอดีต ครบ 5 แห่งตามคติ) ที่ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสระอภิเษกเดิมของกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ แต่เมื่อราชวงศ์นี้ย้ายศูนย์กลางมาครองอยุธยา ก็ได้ใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์เดิมจากที่นี่ควบคู่กับที่อื่น  

ความสำคัญของน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองอันเป็นศูนย์กลางเดิมของราชวงศ์ ยังพบว่าพระราชพิธีสำคัญที่นิยมใช้น้ำจากบ้านเมืองเดิมของกษัตริย์ในราชวงศ์นั้น ๆ คือพระราชพิธีถือน้ำพระพัทธ์ (คำตามกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา ส่วนคำว่า ‘ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา’ เพิ่งเริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4)  ขณะที่ราชวงศ์กษัตริย์ที่มีพื้นเพมาจากลพบุรี ก็จะใช้น้ำในพระราชพิธีนี้จากเมืองลพบุรีเป็นหลัก เช่นเดียวกันราชวงศ์สุโขทัยก็ให้นำน้ำมาจากพิษณุโลก 

พระราชพิธีถือน้ำพระพัทธ์โดยเนื้อหาสาระคือพระราชพิธีให้ขุนนางมาดื่มน้ำสาบานตนว่าจะจงรักภักดี โดยจะมีการสวดสาปแช่งผู้ที่ทรยศให้มีอันเป็นไปในภายหน้า เมื่อดื่มน้ำในพระราชพิธีที่นำมาจากบ้านเดิมของกษัตริย์พระองค์นั้นแล้วคิดคดทรยศ ก็มีความเชื่อว่าผีอารักษ์ประจำแหล่งน้ำหรือผีบรรพชนประจำเมือง (ของกษัตริย์พระองค์นั้น) จะลงโทษเอา เพราะในช่วงตักน้ำจะมีการเซ่นสรวง (พลีกรรม) เรียกเอาผีบรรพชนและหรือเทพอารักษ์แหล่งน้ำที่เป็น ‘ขุนน้ำ’ อยู่ ณ ที่แห่งนั้นไปกับน้ำที่ตักมาด้วย  จึงไม่เพียงแต่เป็นการสาบานตนต่อกษัตริย์องค์นั้น ยังเป็นการสาบานต่อบรรพชนของพระองค์อีกด้วย ลองนึกดูว่าสำหรับคนที่เชื่อเรื่องผีบรรพชน พิธีแบบนี้จะศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน  

จุดสำคัญอันเป็นแก่นหลักของพระราชพิธีอยู่ตรงนี้ อนึ่ง พระราชพิธีแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญไม่เพียงสำหรับชนชั้นปกครองไทย หากแต่ทั่วอุษาคเนย์ก็ยึดถือแบบนี้  ชาวอุษาคเนย์โบราณมีความเชื่อว่าน้ำเป็นสื่อนำวิญญาณจากภพนี้ไปสู่อีกภพหน้าได้ ในการถ่ายโอนส่งมอบผลบุญกุศลไปให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับจึงมีการกรวดน้ำส่งไปให้กัน  

คนโบราณชาวอุษาคเนย์ยังความรับรู้ว่าโลกและจักรวาลประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ เมื่อตายจึงมีการสร้างโลงบรรจุโกศในรูปเรือ หรือนำเอาโกศไปประดิษฐานบนประติมากรรมรูปเรือ แม้แต่การบรรจุศพในถ้ำของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ก็มีความนิยามสร้างเป็นรูปเรือ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีตัวอย่างโลงศพนี้อยู่ในห้องก่อนประวัติศาสตร์ ตรงทางเดินก่อนจะไปชมโกลเด้นบอยนั่นแหละ 

เมื่อพุทธพราหมณ์เข้ามามีบทบาทในสังคมอุษาคเนย์ ก็มีความเชื่อร่วมกับศาสนาผีดั้งเดิมในแง่ที่ว่า โลกและจักรวาลยังคงประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่อยู่เหมือนกัน โดยน้ำที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า ‘มหานทีสีทันดร’ เมื่อเชื่อเช่นนี้ก็เลยมีความนิยมสร้างโบสถ์วิหารสำหรับประกอบพิธีกรรมเป็นรูปเรือสำเภา เพราะสิ่งที่จะนำพาผู้คนแล่นข้าม ‘มหานที’ ได้สำหรับคนในโลกยุคก่อนก็ต้องเป็นเรือ 

แม้แต่ภายในองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์ จากตำรายาโบราณก็จะเห็นว่ามี ‘ธาตุน้ำ’ เป็นองค์ประกอบ 1 ใน 4 (ธาตุสี่) อันประกอบด้วย ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ ธาตุน้ำก็คือเลือด, น้ำเหลือง (บุพโพ), น้ำลาย, ปัสสาวะ เป็นต้น ความสมดุลระหว่างธาตุทั้งสี่ ทำให้คนไม่เจ็บไข้ได้ป่วย การรักษาพยาบาลจึงเน้นการปรับธาตุทั้งสี่นี้ให้สมดุลกัน องค์ความรู้นี้ภายหลังถูกปรับเปลี่ยนเนื่องจากการแพทย์ตะวันตกได้ค้นพบสาเหตุของโรคเกิดจาก ‘เชื้อโรค’       

นอกจากนี้น้ำยังเป็นสิ่งแทนความบริสุทธิ์สะอาดและการชำระล้าง เมื่อบุคคลจะเปลี่ยนสถานภาพ น้ำก็เป็นสิ่งสำคัญในพิธีกรรมเพื่อการเปลี่ยนสถานภาพ เมื่อจะยกบุคคลธรรมดาขึ้นเป็นสมมติเทพจึงต้องใช้น้ำที่ไม่ธรรมดา มาใช้ในการสรงมุรธาภิเษก  เมื่อพระวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4) ทรงมีพระดำริที่จะทำ ‘ทัฬหีกรรม’ (บวชซ้ำ) ได้มีการขุดลูกนิมิตของอุโบสถวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ขึ้นมาพินิจดูแล้วพบว่าลูกนิมิตมีขนาดเล็ก ไม่สมพระเกียรติ คณะสงฆ์จึงใช้ ‘อุทกสีมา’ (สีมาน้ำ) โดยการผูกแพขึ้นกลางลำแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดสมอราย เป็นที่ใช้บวชซ้ำเพื่อรับวัตรปฏิบัติแบบมอญ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเกิดธรรมยุติกนิกาย       

‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ & บุญบารมี กับ อำนาจทางการเมือง 

ทุกเมืองโบราณจะมีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้งแบบสระ แบบบ่อ ที่ขุดขึ้นด้วยแรงงานไพร่ กับแหล่งน้ำธรรมชาติแม่น้ำลำคลองในย่าน แต่มีการกำหนดให้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง แต่ต้องเข้าใจอีกด้วยว่าเจ้าผู้ครองเมืองแต่ละเมืองมีอำนาจลดหลั่นกันตามลำดับชั้นอีก เมืองไหนมีอำนาจย่อมสั่งการให้เมืองที่อยู่ใต้อำนาจจัดส่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มาถวายให้แก่ตนเอง เมืองไหนได้น้ำศักดิ์สิทธิ์จากเมืองอื่นมาก ผู้ครองเมืองนั้นก็มีอำนาจบารมีมากตามมาด้วย ดังนั้น ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ จึงสัมพันธ์กับสถานภาพพระมหากษัตริย์ตามธรรมเนียมโบราณที่เรียกว่า ‘พญาจักรพรรดิราช’ (ราชาเหนือราชาทั้งหลาย) 

ในแง่นี้ ‘น้ำ’ ถูกใช้เป็นเครื่องแสดงออกถึงพระราชอำนาจ เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงเสด็จกลับจากชวา ได้ประกาศอิสรภาพให้แก่กัมพูชา แล้วตั้งพระองค์เองเป็น ‘เทวราชา’ ก็ได้สั่งให้หัวเมืองส่งน้ำมาให้พระองค์ใช้ในการพระราชพิธี เหตุผลไม่ใช่เพราะเมืองหลวงของพระองค์ขาดแคลนน้ำ เมืองพระนครของกัมพูชามีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘โตนเลสาบ’ (ทะเลสาบเขมร) แต่ที่ทรงมีพระราชบัญชาเช่นนั้นก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเมืองใดขึ้นกับพระองค์ เมืองใดยังขึ้นกับชวา ขึ้นกับจามปา อยู่หรือไม่  

กษัตริย์บางองค์ เช่น พระเจ้าจิตรเสน (มเหนทรวรมัน) เมื่อได้รับชัยชนะ จะทรงมีพระราชบัญชาให้เมืองที่แพ้ขุดบ่อน้ำปลุกเสกเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วส่งไปให้พระองค์ใช้ที่เมืองหลวง (กรุงยโสธรปุระ/เมืองพระนครของอาณาจักรกัมพูชา) เมืองที่แพ้ที่ว่านี้ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่มีลัทธิความเชื่อทางศาสนาแตกต่างจากพระเจ้าจิตรเสน จึงไม่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของตนเองแบบที่พราหมณ์ราชครูจะสามารถใช้ในพระราชพิธีได้เลยทันที จึงจำเป็นต้องให้ขุดขึ้นใหม่  

เรื่องของพระร่วงส่ง ‘ส่วยน้ำ’ ที่ปรากฏในเอกสาร ‘พระราชพงศาวดารเหนือ’ ก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องต้องกันกับจารึกเขมร ที่เมืองที่อยู่ใต้อำนาจจะต้องส่งส่วยน้ำไปให้แก่เมืองที่เป็นใหญ่กว่าตน เป็นการแสดงความอ่อนน้อมและยอมรับในพระบารมีของกษัตริย์ผู้ครองเมืองดังกล่าว เมื่อพระร่วงผู้เป็นรัชทายาทของกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ไม่ยอมส่งส่วยน้ำ ก็เท่ากับเป็นกบฏแข็งข้อต่อเขมรพระนคร กษัตริย์เขมรจึงต้องส่ง ‘ขอมดำดิน’ เป็นสายลับลอบไปปลงพระชนม์ แต่ปรากฏว่าพระร่วงเป็นผู้มีบุญวาจาสิทธิ์ เลยทำให้ขอมดำดินแข็งเป็นหินไป คือเอาชนะเขมรตั้งตัวเป็น ‘ไท’ ได้สำเร็จนั่นเอง  

เรื่องพระร่วงส่งส่วยน้ำถึงจะเป็นเรื่องเล่าในเชิงอิทธิปาฏิหาริย์ยกย่องบรรพชน ก็เป็นบรรพชนของคนแคว้นสุโขทัยที่อพยพย้ายถิ่นฐานบ้านช่องลงมาอยู่อยุธยาภายหลังจากที่ราชวงศ์สุโขทัยมีนโยบายเทครัวหัวเมืองฝ่ายเหนือ เรื่องถึงได้ปรากฏในเอกสารความทรงจำของอยุธยาที่มีต่อยุคสมัยก่อนสถาปนากรุง พ.ศ.1893 ‘พระราชพงศาวดารเหนือ’ เป็นเอกสารเล่าเรื่องของคนรุ่นอยุธยาปลายที่สืบย้อนไปครอบรวมเรื่องราวของบรรพชนของคนหลากหลายกลุ่มในอยุธยาและภาคกลาง  

การมีเรื่องพระร่วงส่งส่วยน้ำเป็นหัวข้อสำคัญหนึ่งนี้นอกจากสะท้อนว่ามุมมองของคนอยุธยากรุงเก่าถือว่าพระร่วงเป็นบรรพชนแล้ว ยังถือด้วยว่าการประกาศเป็น ‘ไท’ ของพระร่วงนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับเรื่องส่วยน้ำ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมหลวงของกัมพูชาสืบย้อนกลับไปจนถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 อาจไม่ถูกใจใครหลายคน แต่นั่นเป็นหลักฐานที่ยืนยันมั่นคงว่า แม้จะล่วงเลยมาจนถึงสมัยอยุธยา คนไทในรุ่นนั้นก็ยังมีความทรงจำฝังจิตฝังใจว่า ชาวเสียมหรือ ‘คนไท’ เคยเป็นทาสขอม (เขมรโบราณ) มาก่อน ความไม่พอใจที่ต้องอยู่ใต้อำนาจขอม คงเป็นความรู้สึกร่วมที่มาแสดงออกผ่านการสร้างตำนานเรื่องเล่ามหาบุรุษอย่างเช่น ‘พระร่วงส่งส่วยน้ำ’ เป็นต้น               

แบบไหน ยังไง ถึงเป็น ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’  

ประเทศไทยแต่ละจังหวัดมีแหล่งน้ำมากมาย ทั้งแบบเกิดจากฝีมือการขุดขึ้นของมนุษย์ในอดีต และแบบธรรมชาติอย่างแม่น้ำลำคลอง ห้วย หนอง บึง แล้วทีนี้คำถามก็คือว่าเพราะอะไร แหล่งน้ำบางแห่งจึงถือเป็น ‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ ในขณะที่อีกหลายแห่งไม่ถือว่าเป็น คำตอบแบบวิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้ เพราะน้ำก็คือน้ำเหมือนกัน น้ำศักดิ์สิทธิ์กับน้ำไม่ศักดิ์สิทธิ์เมื่อเข้าสู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็เป็น H2O เหมือนกันหมด แต่ไม่ใช่แบบนั้น  เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม    

สังเกตจากเหตุผลของแต่ละแหล่งน้ำ (ที่ใช้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์) อาจจำแนกได้คร่าว ๆ ว่าที่น้ำบางแห่งเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้: 

(1) สภาพที่เป็นแหล่งน้ำโบราณ (ความเก่าแก่โบราณ) ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำที่สัมพันธ์กับเมืองโบราณ เช่น สระแก้วกับสระขวัญในเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์  อนึ่ง คำว่า ‘สระแก้ว’ กับ ‘สระขวัญ’ ไม่ใช่ชื่อเฉพาะ เป็นชื่อที่ใช้ทั่วไป หมายถึงแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมือง จึงมีสระชื่อเดียวกันนี้หลายแห่งตามย่านเมืองโบราณ เช่น สระแก้ว - สระขวัญ ที่เมืองโบราณศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี, สระแก้ว - สระขวัญในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา, สระแก้ว - สระขวัญที่กลายเป็นชื่อจังหวัดสระแก้ว เป็นต้น ทั้งนี้ลำพังความเก่าแก่โบราณ ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ดังจะเห็นได้ว่ามีสระโบราณ บ่อกรุอิฐ กรุศิลาแลง มากมายหลายแห่ง แม้แต่ในเมืองอย่างสุโขทัย อยุธยา ก็ไม่ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ยังต้องเป็นแหล่งที่มีองค์ประกอบปัจจัยอื่นๆ อีก    

(2) ความเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญและแหล่งภูมิศาสตร์พื้นที่สูง ทำให้เกิดความคิดที่ว่าน้ำบริเวณดังกล่าวนี้มีความพิเศษเฉพาะ จึงนำไปใช้ในพระราชพิธีได้ เช่น ต้นน้ำลำตะคลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนครราชสีมา, ต้นน้ำแม่น้ำสามประสบบริเวณหน้าวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองกาญจนบุรี, กลางแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองชัยนาท, บริเวณปากคลองขุมทรัพย์ แม้น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี, กลางแม่น้ำป่าสักบริเวณท่าราบ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสระบุรี, กลางแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าพระสมุทรเจดีย์ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสมุทรปราการ เป็นต้น  นอกจากนี้ในภาคเหนือ ยังมีการกำหนดให้น้ำจากที่สูงอย่างดอยอินทนนท์ คือ ‘อ่างกาหลวง’ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์  หรืออย่าง ‘บ่อน้ำทิพย์ดอยช้าง’ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นต้น    

(3) มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ขึ้นกับความเป็น ‘วีรบุรุษทางวัฒนธรรม’ (Cultural hero) ของบุคคลประวัติศาสตร์ เช่น ‘บ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี’ ที่ชุมชนบ้านจามเทวี ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง, ‘โซกพระร่วง’ จ.สุโขทัย หรือ ‘บ่อพระร่วงสาป’ จ.กำแพงเพชร เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในหมู่คนที่เชื่อถือในพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย, น้ำจาก ‘สระมโนราห์’ จ.ลพบุรี ที่เชื่อกันว่าเป็น ‘สระเสวย’ คือน้ำที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเสวยเมื่อครั้งประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี, ‘น้ำเพชร’ (น้ำจากแม่น้ำแม่น้ำเพชร) ที่บริเวณท่าน้ำหน้าวัดท่าไชยศิริ จ.เพชรบุรี ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นน้ำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเสวย จนมีชื่อเรียกกันในท้องถิ่นอีกชื่อว่า ‘น้ำเสวย’ ถึงแม้ว่าเหตุผลที่คนเมืองเพชรเชื่อนี้จะได้รับการซับพอร์ทจากเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นน้ำที่ใสสะอาด จึงเป็นที่โปรดปราน ทว่าการเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของน้ำเพชรที่นั่นก็สัมพันธ์กับคติเนื่องในบุคคลประวัติศาสตร์เช่นกัน            

(4) มีตำนานและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์’ เป็นแหล่งน้ำที่สืบเนื่องจากเรื่องเล่ามุขปาฐะ (Oral tradition) คล้ายคลึงและต่อเนื่องกับความศักดิ์สิทธิ์แบบข้อ 3 ในแง่ที่มีความเกี่ยวข้องกับวีรกรรมของวีรบุรุษแห่งชาติ ขึ้นกับว่าในท้องถิ่นย่านนั้นผู้คนเคารพนับถือวีรบุรุษ/วีรสตรีผู้ใด เช่น ‘สระลพ’ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ที่มีความเชื่อว่าเป็นสระที่สมเด็จพระนเรศวรทรงให้ขุดขึ้นใช้เมื่อครั้งเสด็จยกทัพไปตีเมืองละแวกของอาณาจักรกัมพูชา, บ่อน้ำวัดโพธิ์เก้าต้น อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ที่เป็นสระโบราณของค่ายบางระจัน เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพราะเกี่ยวข้องกับวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน, ‘วังสามพญา’ วัดละหารไร่ จ.ระยอง ที่มีความเชื่อว่าเป็นสระที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เคยแวะพักทัพมาใช้เมื่อครั้งเดินทัพออกจากอยุธยาไปจันทบุรี, ‘สระแก้ว – สระขวัญ’ อ.เมือง จ.สระแก้ว ที่มีเรื่องเล่าว่าเป็นสระสรงของรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งเสด็จกลับจากกัมพูชา จะไปกรุงธนบุรีเพื่อปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงเทพเป็นเมืองหลวงเมื่อพ.ศ.2325 

(5) ศักดิ์สิทธิ์เพราะเกี่ยวข้องกับของมงคลศักดิ์สิทธิ์ เช่น น้ำที่ไหลรดศิวลึงค์ ที่กัมพูชามีลำธารศิวลึงค์พันองค์ที่เขาพนมกุเลน เพื่อทำให้น้ำบริเวณนั้นที่ไหลลงสู่เบื้องล่างได้รับความเชื่อถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ คตินี้มีร่องรอยการทำในสยามเช่นกัน เช่นที่ลำธารคอกช้างดิน เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่มีปราสาทประดิษฐานศิวลึงค์อยู่บริเวณลำธาร หรืออย่างกรณีธารน้ำคลองนารายณ์ที่เขาสละบาป จ.จันทบุรี ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเพนียต สมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการสร้างเจดีย์ตั้งอยู่ริมธาร เสริมให้เกิดเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไปอีก หรืออย่างกรณีลำธารหุบเขาช่องคอย จ.นครศรีธรรมราช มีร่องรอยเป็นสถานที่ที่พราหมณ์เดินทางไปทำพิธี พบจารึกสั่งสอนให้ผู้มาเยือนประพฤติตัวเป็นคนดี, กรณีน้ำจากเศียรพระพุทธรูปหลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์ วัดตูม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากยอดมงกุฎสามารถถอดออกได้ และเมื่อถอดออกแล้วจะพบมีน้ำอยู่ภายในพระเศียร เป็นของแปลกประหลาดไม่ค่อยพบเห็นที่ใด เลยเกิดความเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์, กรณี ‘สระเจ้าคุณเฒ่า’ วัดเขาพระพุทธบาทบางทราย ถึงจะมีบันทึกหลักฐานว่าเพิ่งขุดขึ้นเมื่อพ.ศ.2416 (สมัยรัชกาลที่ 5) ทว่าด้วยความที่เป็นแหล่งน้ำข้างล่างเชิงเขาอันเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ก็จึงได้รับความเชื่อถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมืองชลบุรี  โดยสรุปของมงคลศักดิ์สิทธิ์ที่จัดอยู่ในลิสต์รายการของที่จะสร้างน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้ ก็มีเช่น ศิวลึงค์, เจดีย์, พระพุทธรูป, รอยพระพุทธบาท เป็นต้น   

(6) ศักดิ์สิทธิ์เพราะพิธีกรรม เคยใช้ในพระราชพิธีครั้งก่อน (ศักดิ์สิทธิ์เพราะเคยศักดิ์สิทธิ์) เช่นน้ำจากแหล่งที่มีความเชื่อว่าในอดีตเคยเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์เคยใช้ในการพระราชพิธีของกษัตริย์โบราณมาก่อน เช่น น้ำจากสระบารายของปราสาทสระกำแพงน้อย จ.ศรีสะเกษ, สระบารายเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์, สระโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ทั้งสามแหล่งเป็นสระบารายเก่าในวัฒนธรรมพราหมณ์เขมรโบราณ ความเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประเภทนี้ขึ้นกับว่าประชาชนในท้องถิ่นรุ่นหลังยังมีความเชื่อถือสืบเนื่องกับแหล่งน้ำดังกล่าวหรือไม่ 

สระบารายหลายแห่งที่ไม่สัมพันธ์กับชุมชน ตั้งอยู่เป็นโบราณสถานอย่างโดดเดี่ยว มักไม่ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน แม้จะมีร่องรอยหลักฐานว่าเคยเป็นในอดีตก็ตาม เช่น สระบารายขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ณ ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว, สระมรกตที่มีรูปสลักสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี, สระบารายที่คอกช้างดิน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, สระบารายกรุด้วยศิลาแลง เมืองเพนียต จ.จันทบุรี เป็นต้น ทั้งนี้บางแหล่งที่กล่าวมาสิ้นสภาพไม่มีน้ำหรือตื้นเขินไปแล้วด้วยซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะแม้แต่น้ำธรรมดายังไม่มีให้ แล้วจะเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปได้ยังไง

(7) ศักดิ์สิทธิ์เพราะวิทยาคุณ หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับหลังจากดื่มน้ำดังกล่าวนี้ เช่น ‘บ่อน้ำพระพุทธมนต์’ วัดหน้าพระลาน จ.นครศรีธรรมราช ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นบ่อที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชให้ขุดขึ้นใช้และว่าทรงอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วยบุญบารมีของพระองค์ ให้ผู้ที่กินน้ำจากบ่อนี้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด, ‘สระสี่เหลี่ยม’ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นสระให้น้ำไก่ของพระรถเสน ผู้เป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของคนหัวเมืองตะวันออก เป็นที่นิยมในหมู่บรรดานักเลงชนไก่ ชอบนำน้ำในสระนี้ไปให้แก่ไก่ชนของตน เพราะในตำนานพระรถมีว่าพระองค์เป็นนักชนไก่พนันที่ไม่แพ้ แม้แต่ไก่ของกษัตริย์ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์อย่าง ‘ท้าวอู่ไท’ (เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดของ ‘ท้าวอู่ทอง’ เมื่อตายกลายเป็น ‘ผีห่า’ ออกตามล่าท้าวอู่ทอง) เป็นต้น ฃ

‘วิทยาคุณ’ หรือ ‘คุณวิเศษ’ (แล้วแต่จะเรียก) ได้รับผลกระทบจากคำอธิบายที่อิงวิทยาศาสตร์ได้ง่าย จึงไม่เป็นที่เชื่อถือนัก บางแหล่งถึงจะเป็นแหล่งน้ำโบราณ ก็ไม่เป็นที่นิยม มีบางแหล่งเหมือนกันที่ขับเคลื่อนด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เช่น แหล่งน้ำที่เป็นน้ำแร่ธรรมชาติ เดิมมีความเชื่อว่าเป็น ‘น้ำพุแห่งความหนุ่มสาว’ เช่น ‘บ่อน้ำแร่พระร่วง’ จ.กำแพงเพชร บางแหล่งถึงกับมี ‘เจ้าพ่อน้ำร้อน’ เช่น บ่อน้ำร้อนอันเป็นที่มาของชื่อ ‘โป่งน้ำร้อน’ ที่จันทบุรี เป็นต้น การที่น้ำแร่ประเภทนี้ส่วนใหญ่เพิ่งพบไม่นาน และเป็นสถานที่ไม่มีตำนานเรื่องเล่าก็เลยไม่ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์   

‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ คือการสร้างประเพณีใหม่

การจำแนกประเภทนิยามที่มาของน้ำศักดิ์สิทธิ์ตาม 7 ข้อข้างต้น เป็นเพียงการจัดจำแนกอย่างคร่าว ๆ ตามประวัติที่มาที่โดดเด่นของน้ำศักดิ์สิทธิ์แต่ละแหล่ง ทั้งนี้น้ำศักดิ์สิทธิ์บางแหล่งไม่ได้มีนิยามความหมายตามข้อใดข้อหนึ่ง (ใน 7 ข้อข้างต้น) ยิ่งเข้าเกณฑ์มากกว่าหนึ่งข้อยิ่งทวีความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น เช่น น้ำจากเศียรพระพุทธรูปหลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์ วัดตูม จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นทั้งแหล่งน้ำเก่าแก่โบราณสัมพันธ์กับเมืองโบราณอย่างกรุงศรีอยุธยา (ข้อ 1) เป็นพระพุทธรูปเก่ามีอายุย้อนกลับไปถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ แถมยังเป็นวัดสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร (ข้อ 3) เป็นน้ำเกิดจากพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่อัศจรรย์ ไม่น่ามี แต่ก็มี (ข้อ 5) มีตำนานเรื่องเล่าอิทธิปาฎิหาริย์ (ข้อ 4, 6, 7)   

จากคุณสมบัติข้างต้น ทำให้แหล่งน้ำดังกล่าวนี้ เอาชนะแหล่งน้ำประเภทสระก่อศิลาแลง บ่อกรุอิฐ (เช่น ที่วัดธรรมิกราช, วัดพระราม, วัดตะไกร, วัดปราสาท (ในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา), บ่อน้ำวัดยมบางบาล, บ่อหน้าวิหารพระมงคลบพิตร ฯลฯ) แม้แต่แหล่งที่เป็นจุดบรรจบกันของลำน้ำ (อย่างเช่น หน้าป้อมเพชร เยื้องตรงข้ามวัดพนัญเชิง และวัดบางกะจะที่อีกฝั่งหนึ่ง) ไปได้อย่างขาดลอย ขนาดที่ว่าแม้แต่สระแก้ว - สระขวัญ ในพระราชวังหลวง ก็ยังถูกเมินไปได้          

มีแหล่งน้ำอีกเป็นอันมากที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานว่าในอดีตเคยเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น สระบารายที่อยู่ตามปราสาทเนื่องในวัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนามหายาน (บายน) ก็ถูกเมินไปเช่นกัน หลายแห่งอยู่ในสภาพตื้นเขินขาดการบำรุงดูแล แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะของเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตผู้คน ขาดฟังก์ชั่นที่เคยเป็นอย่างในโลกอดีต จึงไม่ได้รับการบำรุงดูแล แม้จะเคยเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันก็ต้องกลับคืนสู่สามัญกลายเป็นเพียงแหล่งน้ำธรรมดา     

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า ความเก่าแก่โบราณไม่ใช่ปัจจัยเดียวของการเป็น – ไม่เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ บางแห่งเป็นแหล่งน้ำใหม่ แต่มีคำอธิบายเกี่ยวเนื่องกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ พิธีกรรม วีรกรรม ฯลฯ โดยรวมแล้วสิ่งที่ทำให้แหล่งน้ำตรงนั้นมีความพิเศษเฉพาะไม่ใช่ตัวน้ำ ไม่ใช่บ่อกรุอิฐ กรุศิลาแลง หากแต่เป็น ‘เรื่องเล่า’ ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้น้ำดังกล่าวนี้มีความพิเศษเฉพาะ นอกจากนี้น้ำศักดิ์สิทธิ์ยังไปเกี่ยวข้องกับของมงคลที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศิวลึงค์, เจดีย์, พระพุทธรูป, รอยพระพุทธบาท เป็นต้น    

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งอาจมีมาแต่โบราณ แต่บริบทความสำคัญก็เปลี่ยนไปจากเดิม ช่วงเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมืองโบราณก็เรื่องหนึ่ง ช่วงเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดก็อีกเรื่อง ‘จังหวัด’ เป็นรูปแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่เกิดในยุครัฐชาติ แต่เช่นเดียวกับรัฐชาติ จังหวัดอ้างความเก่าแก่โบราณสืบย้อนกลับไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเมืองโบราณในอดีต จึงได้นำเอาแหล่งน้ำของเมืองโบราณมากำหนดนิยามใหม่ (Redefined) ให้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด   

ขณะที่ก็มีหลายจังหวัดอีกเหมือนกันที่เมินแหล่งน้ำเมืองโบราณ หันไปใช้แหล่งน้ำที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ โดยอิงกับความเชื่อร่วมสมัย (สายมู) ถึงกระนั้นกระบวนการสำคัญของการให้คำนิยามแหล่งน้ำใดเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็ยังคงมีจุดเริ่มต้นจากประชาชนในท้องถิ่น กล่าวคือประชาชนเป็นผู้บอกขึ้นมาก่อนเป็นลำดับแรกว่า แหล่งน้ำตรงนั้นตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ของแหล่งน้ำดังกล่าวจึงเป็นเรื่องของสังคมวัฒนธรรม รัฐส่วนกลางถึงเพิ่งจะมาเคลมเอาไปอีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้การที่หน่วยราชการส่วนกลาง (กระทรวงมหาดไทย) สั่งให้ข้าราชการในจังหวัดต่าง ๆ ตักน้ำมาให้แก่ตน มีลักษณะเป็น ‘ความเหมือนที่แตกต่าง’ เมื่อเทียบกับที่กษัตริย์เขมรโบราณมีพระราชบัญชาให้สุโขทัยส่งส่วยน้ำให้แก่ตน  

อย่างไรก็ตาม ดูเผิน ๆ เหมือนจะมีอะไรคล้ายคลึงกับที่กษัตริย์เขมรโบราณเคยทำ แต่แท้ที่จริงแล้วประเพณีแบบนี้มีลักษณะเป็นประเพณีใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้น แต่สร้างความชอบธรรมให้แก่การเกิดขึ้นของตนเองผ่านการอ้างเชื่อมต่อกับประเพณีเก่าแก่ แต่ต่างบริบท ต่างเงื่อนไข ประเพณีใหม่ที่อ้างความเก่าแก่โบราณ ประเพณีที่สร้างขึ้นสอดรับกับโครงสร้างอำนาจการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ ในทางวิชาการ, มีงานของ Eric J. Hobsbawm และ Terrence Ranger นิยามเรียกว่า ‘ประเพณีประดิษฐ์’ (Invention of tradition) ประเพณีแบบนี้สัมพันธ์กับความชอบธรรมของระบบอำนาจที่เป็นอยู่โดยตรง ในส่วนของความสำคัญของพิธีกรรมที่มีต่อรัฐและชนชั้นปกครอง ก็มีงานของ Clifford Geertz เสนอว่าพิธีกรรมคือการแสดง (Theater state) และเป็นปกครองโดยตัวมันเอง  

เป็นอันสรุปว่า น้ำที่มีความสำคัญต่อชีวิต ได้ถูกแปรเปลี่ยนไปสู่ความหมายทางสังคมวัฒนธรรม การควบคุม - จัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพก็ไปเกี่ยวโยงกับอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม การจัดการน้ำเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยอำนาจในการดำเนินการ และผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจในแง่การสร้างความชอบธรรมทางการเมือง น้ำไม่ใช่แค่น้ำ น้ำไม่ใช่แค่ H2O หากแต่น้ำมีมิติทางสังคมวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น      

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์
ภาพ : ศูนย์ภาพเนชั่น

อ้างอิง :
    Geertz, Clifford. Negara: the Theatre State in Nineteenth-Century Bali. Princeton: Princeton University Press, 1980. 
    Hobsbawm, Eric J. and Ranger, Terrence (ed.). The Invention of Tradition. Cambridge: Cambridge University Press, 2004. 
    Johnston, Barbara Rose. (ed.). Water, Cultural Diversity, and Global Environmental Change. Springer Netherlands: Springer, 2012. 
    Smith, Norman. Man and Water: a History of Hydro-Technology. New York: Scribner, 1975. 
     Wittfogel, Karl. Oriental Despotism: Comparative Study of Total Power. New Haven : Yale University Press, 1957. 
     กำพล จำปาพันธ์ และนนทพร อยู่มั่งมี. “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยอยุธยาในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม” เอกสารการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก: พัฒนาการความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยาสู่รัตนโกสินทร์” จัดโดย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ร่วมกับ การท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2562. 
      กำพล จำปาพันธ์. “พระราชพิธีไล่น้ำไล่เรือในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์” วารสารครุศาสตร์กรุงเก่า. ฉบับที่ 6 ปีที่ 6 (2555), หน้า 26-48. 
     กำพล จำปาพันธ์. “โรคห่ากับการสร้างนาฏกรรมรัฐ: ทำไมจึง ‘ยิงปืนใหญ่ไล่ผี’ เมื่อโรคอหิวาต์ระบาดในกรุงเทพฯ พ.ศ.2363” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2563), หน้า 98-113.  
     ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง (พระราชนิพนธ์พญาไล). กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2543.  
     ไทยรัฐ. “พิธี 'พลีกรรมตักน้ำ' 76 จังหวัด เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ” (เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567). 
      พระมาลัยคำหลวง (พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร). พระนคร: กรมศิลปากร, 2509. 
     มนัส โอภากุล. ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2547. 
รายงานข่าวช่อง 7. “พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัด เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” (เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567). 
     ไรท์, ไมเคิล. โองการแช่งน้ำ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2543. 
วิเชียรปรีชา (น้อย), พระ. พระราชพงศาวดารเหนือ. พระนคร: ไทยเขษม, 2501.   
     สุจิตต์ วงษ์เทศ. พญาคันคากหรือคางคกยกรบ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2547. 
     สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม, 2539.  
     เสถียรโกเศศ (ยง อนุมานราชธน). ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2551.