24 ก.ค. 2567 | 11:33 น.
KEY
POINTS
“ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือ ‘เราจะควบคุมอำนาจหรือความโลภได้ดีแค่ไหน"
คือ ความตั้งใจของ ‘ศิวโรจณ์ คงสกุล’ ผู้กำกับซีรีส์เรื่อง ‘สืบสันดาน’ ที่วันนี้ (23 ก.ค. 2567) พุ่งทะยานขึ้นอันดับ 1 Top 10 รายการบันเทิงใน Netflix ประเทศไทย
สำหรับ ‘สืบสันดาน’ เล่าถึงเรื่องชีวิตของชนชั้นสูงและเหล่าบ่าวในตระกูล ‘เทวสถิตย์ไพศาล’ หลังจาก ‘รุ่งโรจน์’ เจ้าสัวธุรกิจเพชรรายใหญ่ที่สุดแห่งเอเชียเสียชีวิตลง ไปพร้อมกับการเล่าเรื่องที่ชวนคนดูอย่างเราสืบสันดานของทุกตัวละคร
ต่อจากนี้คือนิยามของคำว่า ‘สันดาน’ ผ่านซีรีส์ ‘สืบสันดาน’ ดูไปดูมาอาจมีคำถามเกิดขึ้นบ้างระหว่างทาง แต่อย่างน้อย ๆ หลายจุด หลายเหตุการณ์ของเรื่องก็ได้ทิ้งข้อคิด ให้เรากลับมาทบทวนความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ทบทวนครอบครัว ทบทวนสังคมที่เราเติบโตมา และทบทวนชีวิตตัวเองในปัจจุบัน
/บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์สืบสันดาน (2024)/
พูดกันตรง ๆ จุดเริ่มต้นความวุ่นวายทั้งหมดของเรื่องสืบสันดาน ก็คือ การใช้อำนาจที่ไม่รู้จบ และการแก่งแย่งชิงดีของตระกูล ‘เทวสถิตย์ไพศาล’
เริ่มจากอำนาจของ ‘พ่อ’ ในวันที่ภูพัฒน์และมาวินทะเลาะกัน เพราะมาวินโกงภูพัฒน์ตอนเล่นเกมเศรษฐี แทนที่จะบอกว่า ห้ามโกงหรืออย่าโกง แต่คำพูดของพ่อ คือ ‘ชีวิตมันไม่ง่ายหรอกนะ ถ้ามันโกง ก็ต้องหาวิธีเอาชนะมันให้ได้’
คำพูดของพ่อค่อย ๆ ฟูมฟักความเกลียดชังพี่ชายและน้องชายของตัวเองมาเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องน้อมรับอย่างปฏิเสธไม่ได้ คือ คำพูดของพ่อเป็นวาจาสิทธิ์ คนอื่นไม่มีสิทธิพูดหรือออกความเห็น
พ่อมอบหน้าที่ให้ภูพัฒน์บริหารโรงแรมมาตลอด 20 ปี ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาก็อยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง ขณะที่มาวินต้องการตำแหน่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริษัทใจแทบขาด
เพราะไม่ถูกกันตั้งแต่เด็ก พอเจ้าสัวรุ่งโรจน์จากไป การแก่งแย่งชิงดีก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเพื่อสมบัติของเทวาเจมส์ มรดกมูลค่าหลายพันล้านจากคนรุ่นพ่อ กลายเป็นโศกนาฏกรรมจากคนในครอบครัว
แทนที่จะรักกัน หวังดีต่อกัน กลับไม่มองหน้า เล่นเกม ตลบตะแลงกันไปมาตลอดเวลา อาจดูเป็นเรื่องผิวเผิน แต่แนวคิดนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นพ่อไปสู่รุ่นลูก และส่งต่อมายังรุ่นหลาน ที่ทุกคนเลือกปฏิบัติและทะนงตัวสูงกว่าเหล่าคนใช้หลายสิบชีวิตในบ้าน
การทำงานเกินเวลาพร้อมค่าตอบแทนที่สูง การให้คนใช้เป็นนางบำเรอชั่วคราว การปลิดชีวิตลูกจ้างบางคนที่จะทำให้ตัวเองเดือดร้อน กักบริเวณด้วยการขังไว้ในกรง หรือแม้แต่ให้คนรับใช้ทำงานแทน
พวกเขาทำทุกอย่างให้ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ พวกเขาจะทำอะไรก็ได้กับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า แก่งแย่งชิงดีกันตลอดเวลา เพื่อให้ตัวเองไปยืนอยู่บนยอดพีระมิดได้สำเร็จ
หากจะเขียนเป็นคำพูดสวยหรู นิยามคำว่า ‘สันดาน’ ในพจนานุกรมของ‘เทวสถิตย์ไพศาล’ คือ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน มรดกและสมบัติมีไว้ให้กอบโกย และอำนาจมีไว้ให้แย่งชิง
คนอื่นเป็นอย่างไรไว้ก่อน ขอตัวเองรอดก็พอ
ในบ้าน ‘เทวสถิตย์ไพศาล’ แม่บ้านและคนขับรถ คือ คนที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร
วัน ๆ ของพวกเขา คือ การทำตามที่เจ้านายสั่ง เมื่อใดที่เจ้านายเรียกหา พวกเขาต้องไปทันที ห้ามช้า และห้ามสาย
แต่ถ้ามองลงไปให้ลึก อีกหนึ่งสิ่งที่ซีรีส์สืบสันดานพาผู้ชมอย่างเราไปดู คือ ความเปราะบางของกลุ่มแม่บ้านและคนขับรถในคฤหาสน์หรูแห่งนี้
คนที่น่าจะเห็นชัดสุด คือ ‘แก้ว’ อดีตหญิงขายบริการที่เข้ามาเป็นแม่บ้านในบ้านเทวสถิตย์ไพศาล และเป็นผู้มอบความสุขให้กับมาวินผ่านการมีเซ็กซ์ จนวันหนึ่งเธอท้อง เมื่อมาวินรู้ เธอจึงได้รับคำสั่งให้ไปเอาเด็กออก
หลังจากได้ยิน เธอเลือกที่จะบอก ‘เทียน’ คนขับรถของมาวินและคนรักของเธอ เทียนเลือกจะรับผิดชอบทุกอย่าง เสนอทางออกจากบ้านหลังนี้ แต่คำตอบของแก้ว คือ เธอไม่อยากใช้ชีวิตเหมือนที่เคยผ่านมาอีกแล้ว
“เราออกจากบ้านหลังนี้ ออกไปกัน 3 คน” เทียนบอก
ก่อนที่แก้วจะตอบพร้อมเสียงสั่นเครือพร้อมน้ำตาอาบแก้มว่า “ออกไปแล้วทำอะไรได้พี่ ออกไปใช้ชีวิตแบบเก่าเหรอ พี่กลับไปเป็นกุ๊ย หนูก็กลับไปขายตัวเหรอ หนูไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นแล้ว”
ยังไม่นับรวม ‘ไข่มุก’ ที่สวยจนเป็นที่ต้องตาของเจ้าสัวรุ่งโรจน์และได้ขยับมาเป็นคุณนายของบ้าน ‘บี’ สาวใช้ของคีตา ลูกสาวของภูพัฒน์ที่ต้องรับบทตัวละครลับ เป็นเงาดีไซเนอร์ของคีตา และ ‘โจ๊ก’ คนขับรถของชัตเตอร์ ลูกชายมาวินที่ทำงานบนความกลัว
ต่อมาเป็นเรื่อง ‘สิทธิ’ สิทธิของลูกจ้างทำงานบ้าน ในเรื่องพวกเขาต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ต้องไปหาเจ้านายทุกครั้งที่พวกเขาเรียกหา พร้อมเงินเดือนที่สูงถึง 70,000 บาท
แต่นั่นคือละคร…
เพราะถ้ามองตามความจริง ถึงจะเป็นแม่บ้าน คนขับรถ พวกเขาก็ควรมีชีวิตของตัวเอง แล้วถ้ามองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ระบุถึงการคุ้มครองคนทำงานไว้หลายข้อ เช่น คนทำงานรับใช้ในบ้านมีสิทธิได้รับวันหยุดไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน หยุดตามประเพณีปีละไม่น้อยกว่า 13 วัน ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละไม่เกิน 6 วันทำงาน และมีสิทธิลาป่วยตามจริงได้
เมื่อมองกลับมาที่คำว่า ‘สันดาน’ นิยามของคำนี้ในมุมมองของแม่บ้านและคนขับรถของบ้านเทวสถิตย์ไพศาล คือ การรักษาสิทธิ ดูแลความสัมพันธ์ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเขาและคนรอบข้างรอดไปด้วย
เพราะไม่ว่าใครก็คงอยากมีชีวิตที่ดี ได้ฝันถึงอนาคต และไม่ต้องก้มหัวให้ใคร
เอาเข้าจริง สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้และถือว่าเป็นจุดแข็งของซีรีส์เรื่องนี้ ก็คือ ‘โปรดักชัน’ ภาพสวยตามมาตรฐานสากล คุมโทนสีแบบ Netflix สุด ๆ
ส่วนการแสดง นักแสดงทุกคนทำดี และทำถึง เราเห็นการแสดงที่ดีขึ้นจากเรื่องก่อน ๆ ของญดา นริลญา การเป็นน้องคนเล็กสุดร้ายของแก๊ป ธนเวทย์ การหวนคืนจอของคลาวเดียร์และนุสบา รวมถึงการเห็นด้านร้าย ๆ ของพี่ชาย ชาตโยดม
แต่ถ้ามาดูเรื่องบทและการเล่าเรื่องแล้ว ยังคงมีหลายจุดที่ในฐานะคนดูที่ดูซีรีส์เรื่องนี้จบลง แต่ยังเกิดคำถามมากมาย เช่น
คนที่เล่นเป็นแม่บ้านก่อนหน้าไข่มุกคือใคร?
แล้วหัวหน้าแม่บ้านเป็นแม่ของภูพัฒน์หรือเปล่า?
ความสัมพันธ์ของชัตเตอร์และคีตาในชีวิตจริง เป็นไปได้มากแค่ไหน?
และสิ่งที่อาจจะขัดใจไปเสียหน่อย คือ การเปิดเผยปมของเรื่องอย่างหมดเปลือกในตอนท้าย ๆ ของเรื่องที่เราคิดว่า น่าเสียดาย อุตส่าห์ปูเรื่องมาเต็มที่ในช่วงแรก แต่บทจะเฉลยก็เฉลยกันโต้ง ๆ เลย
น้ำหนักของเรื่องอาจให้ความสำคัญในยุคของ ‘มาวิน’ มากไปสักหน่อย ให้ความสำคัญกับชนชั้นสูงในเรื่อง จนลืมเล่าอีกมุมของชนชั้นล่างเมื่อเทียบเวลาออนแอร์ ทั้ง ๆ ที่ตัวเรื่องแม่บ้านและคนขับรถ คือ คนสำคัญของเรื่องในตอนท้าย
ถึงจะมีคำถามมากมาย แต่ก็ถือว่าซีรีส์ความยาว 7 ตอนเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวงการละครไทยในยุคที่ใครหลายคนบอกว่า ละครไทยกำลังซบเซาและกำลังอยู่ในช่วงขาลง
เพราะหลายจุด หลายเหตุการณ์ของเรื่องก็ได้ทิ้งข้อคิดให้เรากลับมาทบทวนตัวเอง ทบทวนความสัมพันธ์ของเรา ทบทวนครอบครัว ทบทวนสังคมที่เราเติบโตมา และทบทวนชีวิตเราในปัจจุบัน
สันดานอาจดูเป็นคำแรง ๆ แต่สิ่งที่ซีรีส์ ‘สืบสันดาน’ มอบให้กับเรา ก็คือ สันดานคือคำสะท้อนว่า เราเติบโตมาอย่างไร
แล้วในความคิดของคุณ เมื่อพูดถึงคำว่า สันดาน คุณนึกถึงอะไร?
ภาพ : Netflix
อ้างอิง :
'สืบสันดาน' ละครฉาวฉากใหญ่ที่ตีแผ่เรื่องราวของอำนาจและความโลภ พร้อมสตรีม 18 กรกฎาคมนี้ / Netflix