01 ธ.ค. 2567 | 17:42 น.
KEY
POINTS
บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Elisa y Marcella (2019)
ค.ศ. 1901 ณ เมืองอาโรกุญญา ประเทศสเปน บ่าวสาวคู่หนึ่งได้เข้าพิธีวิวาห์อย่างถูกต้องตามหลักศาสนา ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขจนฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ ทว่าสภาวการณ์อันแสนสามัญนั้นกลับตกอยู่ท่ามกลางสายตาเคลือบแคลงของชาวบ้าน เนื่องจาก ‘มาริโอ’ ผู้เป็นเจ้าบ่าว ดูมีใบหน้าคล้ายคลึงกับ ‘เอลิซา’ หญิงผู้เคยถูกครหาว่ามีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับ ‘มาร์เซลลา’ ผู้เป็นเจ้าสาวเสียเหลือเกิน
แล้วความจริงอันอื้อฉาวก็ถูกประจานผ่านหน้าหนังสือพิมพ์... ชายหนุ่มผู้อ้างว่าตนคือมาริโอ แท้จริงแล้วคือเอลิซ่าที่ปลอมตัวเป็นผู้ชาย นำมาซึ่งเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกว่าเป็นการแต่งงานของคนเพศเดียวกันคู่แรกของสเปน ก่อนหน้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกบังคับใช้ในประเทศกว่าหนึ่งศตวรรษ
เรื่องจริงของคู่รักที่กระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดจากความอยุติธรรมในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ได้ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ เรื่อง ‘Elisa y Marcella’ โดยผู้กำกับหญิงชาวสเปน ‘อิซาเบล ค็อกเซ็ต’ (Isabel Coixet)
ภาพยนตร์ Elisa y Marcella ถ่ายทอดเรื่องราวที่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงของคู่รักสาว ตั้งแต่ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในปี 1898 เรื่อยไปจนถึงชีวิตเมื่อล่วงเข้าสู่วัยชรา (ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ถูกแต่งเติมขึ้น) โดยผู้สร้างประสบความสำเร็จในการสร้างอารมณ์ร่วมต่อความรักของหญิงสาวทั้งสองท่ามกลางสังคมยุคเก่าที่ยังมองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ทั้งยังผิดหลักศาสนาอย่างร้ายแรง
หลังได้พบเจอและสนิทสนมกันในวิทยาลัยครู เอลิซาและมาร์เซลลาก็ต้องแยกจากกันเนื่องจากพ่อของฝ่ายหลังเห็นว่าลูกสาวกำลังถลำลึกสู่ความสัมพันธ์ต้องห้าม ทว่าสามปีหลังมาร์เซลลาเรียนจบ เธอก็ได้กลับมาสานสัมพันธ์กับเอลิซาอีกครั้ง ทั้งคู่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ดูแลกันและกันดังที่คู่รักพึงกระทำ ท่ามกลางสายตาของชาวบ้านที่ล้วนติฉินนินทา คอยเหยียดหยามและกลั่นแกล้งไม่ว่างเว้น
กระทั่งวันหนึ่ง เอลิซาตัดสินใจหายตัวไปสักพัก ก่อนจะกลับมาในฐานะมาริโอ ชายหนุ่มผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง (ซึ่งไม่เคยมีอยู่) ของเธอ เพื่อตอบคำถามว่าเหตุใดทั้งเอลิซาและมาริโอจึงมีหน้าตาเหมือนกันราวฝาแฝด แตกต่างเพียงผมที่ถูกตัดสั้น คิ้วที่คมเข้ม และอาภรณ์เยี่ยงบุรุษที่สวมใส่อยู่เท่านั้น
ทว่าทั้งคู่สามารถตบตาบาทหลวงและเข้าสู่พิธีวิวาห์ได้ไม่นาน ชาวบ้านก็พากันบุกมาที่บ้าน ตะโกนด่าทอว่าร้าย ทางการเตรียมเข้าจับกุมพวกเธอด้วยข้อหา ‘ลักเพศ’ และ ‘ดูหมิ่นศาสนา’ เป็นเหตุให้ทั้งเอลิซา (ในนามมาริโอ) และมาร์เซลลาต้องปลอมแปลงตัวตนก่อนหนีไปยังประเทศโปรตุเกส เคราะห์ซํ้ากรรมซัดที่ไม่สามารถตบตาทางการของที่นั่นได้อีกเช่นกัน ทั้งคู่จึงลงเอยด้วยการติดคุก มาร์เซลลาคลอดบุตรสาว (บุตรของใครนั้น จะอธิบายลำดับต่อ ๆ ไป) ปิดท้ายด้วยการได้รับความเห็นใจจากทางการโปรตุเกสและเตรียมโยกย้ายไปประเทศอาร์เจนตินา เป็นอันสิ้นสุดเรื่องราวจากเหตุการณ์จริง ซึ่งเนื้อหาหลังจากนั้นของภาพยนตร์จะเป็นสิ่งที่เสริมแต่งหรือดัดแปลงจากคำบอกเล่าเสียมากกว่า
ผู้กำกับ อิซาเบล ค็อกเซ็ต เลือกนำเสนอภาพยนตร์ทั้งเรื่องในรูปแบบขาว - ดำ ให้อารมณ์ความ ‘เก่า’ และ ‘มืดหม่น’ ซึ่งอาจอนุมานแทนความบิดเบี้ยวของตรรกะยุคก่อนที่มีต่อกลุ่ม LGBTQIA+ การเคลื่อนกล้อง การตัดต่อ และดนตรีประกอบ แม้จะไม่หวือหวา หากแต่พาผู้ชมดิ่งลึกไปกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในฐานะของ ‘คู่รักธรรมดา’ ที่ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาสามัญ ทว่าสังคมแวดล้อมต่างหากที่ตีตรายัดเยียดความวิปริตให้อย่างอยุติธรรมยิ่ง ผลักดันให้ผู้ชมเอาใจช่วยในการกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดของทั้งสอง และอัดอั้นตันใจกับบรรดาตัวละครที่เป็นภาพสะท้อนตรรกะยุคเก่าครํ่าครึไปตามระเบียบ
ในด้านของสัญญะ ภาพยนตร์ได้สอดแทรกจุดชวนสังเกตหลายอย่าง โดยเฉพาะในฉากร่วมรัก ซึ่งในบางช่วงตอนก็อาจดูหลุดโลก ตามความประสงค์ของผู้กำกับที่ตั้งใจให้การกระทำดังกล่าวเปรียบเสมือน ‘โลกอีกใบหนึ่ง’ ที่ตัวละครสามารถเร้นกายหลบซ่อนได้อย่างสบายใจ
องค์ประกอบทั้งหมดถูกขับเคลื่อนผ่านบทภาพยนตร์ที่อ้างอิงตามหลักฐานประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ช่วงต้น ก่อนที่ในช่วงท้ายจะเลือกเบนทิศทางไปยังเรื่องแต่ง พลิกโฉมตอนจบให้ดูมีความหวัง ทั้งที่เรื่องราวอันแท้จริงของเอลิซ่าและมาร์เซลล่าอาจไม่ได้ลงเอยด้วยความอิ่มเอมเพียงนั้น
ชะตากรรมที่แน่ชัดของคู่รักทั้งสองยังเป็นปริศนาจวบจนทุกวันนี้
ปริศนาแรกเริ่มต้นที่บุตรสาวของมาร์เซลล่า ซึ่งมีข้อสันนิษฐานแตกต่างกันออกไป
โดยฉบับภาพยนตร์เลือกตีความว่า บิดาของเด็กคือชายหนุ่มในหมู่บ้านที่มาร์เซลลา ‘จงใจ’ ท้องด้วย เพื่อสร้างความแนบเนียนในการแต่งงานกับมาริโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อสันนิษฐานที่พอน่าเชื่อถือ หากพิจารณาจากบริบทสังคมที่ทั้งคู่อาศัยอยู่ แต่สำหรับความเป็นจริงนั้น แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้อย่างแน่ชัด
ปริศนาที่ใครต่อใครคงอยากรู้ที่สุด... เกิดอะไรขึ้นหลังจากทั้งคู่ย้ายไปยังประเทศอาร์เจนตินา ข้อมูลทั้งหมดที่สืบค้นได้มีเพียงคำบอกเล่าจากบุคคลที่กล่าวอ้างว่าตนเป็นทายาทโดยตรงของพวกเธอคนใดคนหนึ่ง และจากหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม บ้างก็ว่าเอลิซ่าแต่งงานใหม่กับผู้ชาย บ้างก็ว่าคนใดคนหนึ่งกระทำอัตวินิบาตกรรมภายในไม่กี่ปีหลังเดินทางมาถึงประเทศใหม่ กระนั้น ก็ต้องยํ้าอย่างชัดเจนว่าเป็นคำรํ่าลือที่มีหลักฐานไม่เพียงพอ คงไม่ยุติธรรมนักหากจะใช้มันสรุปชะตากรรมในบั้นปลายชีวิตของคู่รักที่กระเสือกกระสนฝ่าฟันความอยุติธรรมทั้งมวลมาได้ถึงเพียงนี้
น่าเสียดายที่ชะตากรรมของเอลิซ่ากับมาร์เซลล่ากลับกลายเป็นเพียงเรื่องอื้อฉาวในฐานะคู่รักที่ ‘ผิดปกติ’ หาใช่เรื่องราวที่ทรงอิทธิพลจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะแม้กระทั่งประเทศสเปนอันเป็นบ้านเกิดของทั้งคู่ ก็ยังเพิ่งผ่านผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมใน ค.ศ. 2005 หรือกว่าหนึ่งร้อยปีหลังจากการแต่งงานที่ ‘ปราศจากผู้ชาย’ ในครั้งนั้น
ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลากว่าหนึ่งร้อยปีดังกล่าว ตอกย้ำว่าชะตากรรมของมนุษย์เพียงสองคนนั้นเล็กจ้อยเพียงใดในสายตาของผู้มีอำนาจ
หลังจากที่ประเทศสเปนเข้าสู่ยุคเผด็จการในปี 1939 ชะตากรรมของกลุ่ม LGBTQIA+ ก็คล้ายถูกฉุดกระชากสู่ยุคมืด มีการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิ ถึงขั้นว่าผู้ใดที่มีความรักต่อคนเพศเดียวกันต้องถูกนำตัวไปกักขัง เรื่อยไปจนถึงทรมาน และทำการ ‘บำบัดรักษา’ ในสถานที่เฉพาะ
กระทั่งยุคสมัยแปรเปลี่ยน โลกาภิวัฒน์เปรียบดังแสงสว่างที่ทำให้มนุษย์รับรู้ในสิ่งเดียวกัน…ตระหนักถึงความเป็นจริงเดียวกัน
การเดินขบวนเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQIA+ ครั้งแรกของสเปน ใน ค.ศ. 1977 เริ่มส่งแรงกระเพื่อมไปสู่ผู้มีอำนาจ ครั้นล่วงเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ระบบเก่าคร่ำครึจึงพังทลาย…ล้มต่อกันเป็นโดมิโน
ตอนนั้นเองที่ชะตากรรมของมนุษย์ตัวเล็กจ้อยกลับมาเป็นที่พูดถึง
เช่นเดียวกับคู่รักเอลิซากับมาร์เซลลา ที่แม้จะไม่มีใครทราบถึงชะตากรรมในบั้นปลาย แต่การต่อสู้ดิ้นรนของพวกเธอก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ความรักของมนุษย์คือสิ่งที่คู่ควรต่ออิสรภาพและความเสมอภาค มาตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีผู้มีอำนาจคนไหนบัญญัติความหมายของคำ ๆ นั้นขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ
เรื่อง: พงศภัค พวงจันทร์ The People Junior
อ้างอิง:
Barcelo.com, (-), Madrid Gay Pride, the biggest pride event in Europe ค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2024, จาก : https://www.barcelo.com/guia-turismo/en/spain/madrid/things-to-do/madrid-gay-pride/
GAYLES TV, (2018), Coixet rescues the story of Marcela and Elisa, ค้นเมื่อ 1 กันยายน 2024 , จาก : https://gayles.tv/en/coixet-pelicula-marcela-elisa/
Harriette Chan, (2019), Elisa and Marcela: The First Same-Sex Marriage in Spain, ค้นเมื่อ 1 กันยายน 2024 , จาก : https://www.makingqueerhistory.com/articles/2019/8/18/elisa-and-marcela-the-first-same-sex-marriage-in-spain
James Badcock, (2018), The lesbian pioneers who fooled Spain's Catholic Church, ค้นเมื่อ 1 กันยายน 2024, จาก : https://www.bbc.com/news/world-europe-43057841
LA RAMBLA, (2018), The story behind the first LGBT parade in Spain, ค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2024, จาก : https://www.laramblabarcelona.com/en/first-lgbt-parade-in-spain/
Luca Gaetano Pira, (2018), Six survivors remember Spain’s brutal anti-LGBT laws, ค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2024 จาก : https://lacuna.org.uk/equality/six-survivors-spains-brutal-anti-lgbt-laws/
RessGalicia, (2021), The Fascinating Story Of Marcela And Elisa, ค้นเมื่อ 1 กันยายน 2024, จาก : https://galiciastylecom.wordpress.com/2021/03/06/the-fascinating-story-of-marcela-and-elisa/
Susannah Edelbaum, (2019), Isabel Coixet’s Ravishing Elisa and Marcela Mark’s Netflix’s 1st Film at Berlinale, ค้นเมื่อ 1 กันยายน 2024, จาก : https://www.motionpictures.org/2019/02/isabel-coixets-ravishing-elisa-and-marcela/