14 ธ.ค. 2567 | 11:27 น.
KEY
POINTS
เสียงชื่นชมในเรื่องราวอันซาบซึ้งของบรรดาสิงสาราสัตว์จากแอนิเมชัน ‘Wild Robot’ ยังไม่ทันสร่างซา วงการหนังนอกกระแสก็ส่งผู้ท้าชิงหน้าใหม่มาเป็นตัวเต็งแอนิเมชันยอดเยี่ยมบนเวทีระดับโลก ฉาบหน้าโปสเตอร์ด้วยสัตว์โลกน่ารักที่ผู้พบเห็นต้องอุทานในใจว่า ‘น้อนนน’ เหมือนกัน แตกต่างตรงเนื้อสารที่ขยับจากการเล่าเรื่องราวในป่าเล็ก ๆ สู่ความยิ่งใหญ่ระดับพระเจ้า สรวงสวรรค์ และวันโลกาวินาศ
‘Flow’ คือแอนิเมชันลำดับที่สองของผู้กำกับมากความสามารถชาวลัตเวีย ‘กินซ์ ซิลบาโลดิส’ (Gints Zilbalodis) ผู้เคยส่งผลงานชั้นยอดอย่าง ‘Away’ (2019) เข้าชิงรางวัลในหลากหลายเวที
ปีนี้ หลังเปิดตัวอย่างเต็มภาคภูมิในเทศกาลหนังเมืองคานส์ Flow ก็ทยอยเดินทางสู่โรงภาพยนตร์ในหลากหลายประเทศ น่าเสียดายที่ในไทยกลับมีจำนวนรอบและโรงฉายที่จำกัด ทั้งที่แอนิเมชันเรื่องนี้สามารถนิยามด้วยคำว่า ‘น่าตื่นตะลึง’ ทั้งในแง่ขององค์ประกอบภาพยนตร์ไปจนถึงการดำเนินเรื่อง โดดเด่นด้วยแก่นสารที่ชวนตื่นตา นำเอามิตรภาพของสรรพสัตว์มาผสมกับตำนานเรือโนอาห์ และการขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ได้อย่างหมดจดงดงาม
เรื่องราวของ Flow เกิดขึ้นในโลกที่ไม่ปรากฏวี่แววของมนุษย์ตัวเป็น ๆ หากแต่ยังหลงเหลือร่องรอยอารยธรรมเป็นสิ่งก่อสร้าง อนุสาวรีย์ และข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ชวนให้สงสัยว่า สัตว์ประเสริฐในเรื่องเพียงแค่ไม่ถูกผู้สร้างกล่าวถึง หรือสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปแล้วด้วยเหตุผลปริศนากันแน่
ตัวละครหลักคือ แมวดำไร้ชื่อผู้ลักลอบอาศัยอยู่ในบ้านกลางป่า มันต้องเอาชีวิตรอดจากนักล่าและออกหาอาหารตามวิถีธรรมชาติ แต่แล้ววันหนึ่ง กลับเกิดน้ำท่วมระดับวิกฤตการณ์ กลืนกินผืนป่าและภูเขา เจ้าแมวต้องกระเสือกกระสนหนีตาย จับพลัดจับผลูได้ขึ้นไปบนเรือที่ลอยมาตามน้ำ...ล่องลอยไปเรื่อย ๆ อย่างไร้จุดหมาย เพราะทุกตารางนิ้วของพื้นโลกได้กลายสภาพเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่
การผจญภัยนั้นนำมันไปพบกับผู้รอดชีวิตอีกสี่ตัว ได้แก่ คาปิบาราผู้สุขุม สุนัขผู้ไร้เดียงสา ลีเมอร์ผู้หลงรักสิ่งแวววาวสุดหัวใจ และนกเลขานุการผู้น่าเกรงขาม ทั้งห้าสานสัมพันธ์จนแน่นแฟ้น ร่วมเผชิญกับอุปสรรคที่ไม่อาจคาดเดา ตลอดจนบทพิสูจน์มิตรภาพที่ชวนข้องใจว่า เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรืออำนาจลี้ลับจาก ‘เบื้องบน’ ผู้มีสิทธิ์ขาดในการตัดสินชะตากรรมของสรรพชีวิตกันแน่
องค์ประกอบที่ควรค่าแก่การชื่นชมที่สุดใน Flow เห็นจะเป็นการที่ผู้สร้างสามารถรักษาระดับความสนุกไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ แม้จะตั้งอยู่บนข้อจำกัดสุดท้าทาย นั่นคือการต้องถ่ายทอดอารมณ์และขับเคลื่อนชุดเหตุการณ์ไปข้างหน้าโดยไม่อาศัยบทสนทนาใด ๆ
ผู้สร้างปฏิเสธวิธีคลาสสิกอย่างการพากย์เสียง แต่กลับเลือกใช้อวัจนภาษาของสัตว์ ตั้งแต่สีหน้าแววตาไปจนถึงการเคลื่อนไหวในการถ่ายทอดเรื่องราวตลอด 85 นาที ทั้งยังทำออกมาได้สมจริงเสียจนอยากรู้ว่า ทีมงานสละเวลากี่เดือน หรือกี่ปี ไปกับการศึกษาพฤติกรรมทุกกระเบียดนิ้วของสัตว์เหล่านั้น
บทคืออีกสิ่งหนึ่งที่ถูกร้อยเรียงอย่างประณีต จริงอยู่ที่ผู้สร้างเลือกนำเสนอบรรดาสัตว์ให้มีความเฉลียวฉลาดกว่าความเป็นจริง แต่ก็ไม่ใช่ในรูปแบบเหนือจินตนาการ ตัวละครทุกตัวยังมีความเป็นสัตว์ มีพฤติกรรมแบบสัตว์ ทว่าตัวบทกลับสามารถสอดแทรกพัฒนาการทางความคิดและความสัมพันธ์ได้อย่างสมเหตุสมผล ไม่ก้าวกระโดดหรือยัดเยียดไปสู่เรื่องราวจนเกินไป
หากใครกังวลว่าจะเข้าไม่ถึง คงต้องยืนยันว่า แอนิเมชันเรื่อง Flow สามารถรักษาความสมดุลระหว่างพฤติกรรมของสัตว์กับการถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างแม่นยำ ยิ่งพอถูกนำเสนอด้วยลายเส้นแบบกึ่งสมจริง กึ่งการ์ตูน ภาพลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัวจึงมีความน่ารัก จนน่าจะทำให้คนรักสัตว์อุทานในใจว่า ‘น้อนนน’ ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ไปจนถึงฉากสุดท้าย
*เนื้อหาหลังจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของแอนิเมชันเรื่อง Flow (2024)
จุดประสงค์หลักของ Flow ไม่ใช่การเล่าเรื่องราวเอาชีวิตรอดตามสไตล์หนังภัยพิบัติที่เห็นกันดาษดื่น ตรงกันข้าม ผู้ชมจะรู้สึกว่ามหาอุทกภัยเป็นสิ่งน่าหวาดกลัวเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะหลังจากเจ้าแมวได้พบกับคาปิบาราขี้เซาบนเรือลำใหญ่ มวลอารมณ์ของเรื่องก็พลิกจากความน่าประหวั่นไปสู่ความตื่นตาตื่นใจ จากหนังภัยพิบัติแปรเปลี่ยนเป็นหนังผจญภัย การพบเจออุปสรรคหรือสัตว์ร้ายเปรียบเสมือนการมอบแก่นสารใหม่ ๆ แก่ผู้ชม หาใช่การสร้างอารมณ์ลุ้นระทึกให้อกสั่นขวัญแขวน
โลกของ Flow ช่างน่าค้นหา ด้วยมีการออกแบบธรรมชาติที่สวยแปลกตา สัตว์แต่ละชนิดมีระบบสังคมและระบอบการปกครองเฉพาะกลุ่ม (ซึ่งล้วนอ้างอิงมาจากพฤติกรรมจริงในธรรมชาติ) ยังไม่นับรวมถึง ‘วาฬประหลาด’ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวในเรื่องที่ถูกออกแบบให้มีความเหนือจริงอย่างเห็นได้ชัด พาลให้ผู้ชมนึกตีความต่อยอด ตกผลึกเป็นสารที่เข้าใจถ่องแท้บ้าง คลางแคลงจนต้องเก็บมาคาดเดาบ้าง
สารที่จับต้องได้ชัดเจนที่สุดคือประเด็นมิตรภาพของสัตว์ทั้งห้าซึ่งจับพลัดจับผลูมาอยู่ในเรือลำเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างมีอคติ บ้างมาพร้อมความทะนง บ้างมาพร้อมความอยากมีชีวิตรอด การผจญภัยคือสิ่งที่ช่วยสมานรอยร้าว นำมาสู่เหตุการณ์ในองก์สุดท้ายที่เจ้าแมว ลีเมอร์ และสุนัขร่วมกันช่วยเหลือคาปิบาราออกจากเรือซึ่งกำลังจะร่วงสู่ก้นเหว ผิดกับสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่แยกย้ายกันไปตามวิถีธรรมชาติ ราวกับเป็นการสื่อกลาย ๆ ว่า จิตใจของบรรดาตัวละครหลัก ก้าวกระโดด ไปอีกขั้น
การ ‘ก้าวกระโดด’ และ ‘ขั้น’ ซึ่งเปรียบเสมือนจุดหมายหลักที่ผู้สร้างกำลังผลักดันตัวละครให้ไปถึงนั้นสามารถตีความได้หลากหลาย หากแต่ในทรรศนะของผู้เขียน แอนิเมชันเรื่องนี้กำลังยั่วล้อกับตำนานของโนอาห์ และการประทานอภัยในบาปของมนุษย์จาก ‘เบื้องบน’
หลังมนุษย์กำเนิดขึ้นในสวนเอเดน สืบต่อเผ่าพันธุ์จนสามารถครอบครองโลก ‘ผู้สร้าง’ กลับเล็งเห็นถึงความชั่วร้ายและบันดาลมหาอุทกภัยกวาดล้างทุกชีวิต แต่กลับมีมนุษย์เพียงหนึ่งที่ได้รับสิทธิพิเศษในฐานะ ‘คนดี’ ให้รับรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ก่อนจะเตรียมรับมือโดยการสร้างเรือลำใหญ่ ล่องลอยกลางสายน้ำและกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง
นั่นคือตำนานของ โนอาห์ ที่ทุกคนคงเคยได้ยินกันมาเป็นอย่างดี
หรือแท้จริงแล้ว แอนิเมชันเรื่อง Flow เกิดขึ้นในยุคที่เผ่าพันธุ์มนุษย์หายสาบสูญ และผู้ที่ปกครองโลกนี้ก็คือสิงสาราสัตว์
ภาพของเจ้าแมวดำที่กระเสือกกระสนหนีน้ำขึ้นไปบนยอดอนุสาวรีย์รูปแมวยักษ์สะดุดตาผู้เขียนตั้งแต่แรกเห็น การที่ผู้สร้างเลือกให้ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนท่วมมิดใบหูของอนุสาวรีย์ไปในที่สุด อาจเป็นการบ่งบอกว่า ‘เบื้องบน’ ตัดสินใจลางบางสัตว์สี่เท้าเหล่านี้ด้วยเหตุผลบางประการ
แล้วหนทางใดเล่าที่จะได้รับการอภัยจากพระองค์... นั่นคือคำถามที่ผูกมัดเหล่าตัวละครไว้กับการผจญภัยตลอดทั้งเรื่อง
ฉากสำคัญอีกฉากหนึ่งคือการขึ้นสู่สวรรค์ของเจ้านกเลขานุการ ซึ่งผู้สร้างไม่ได้เล่าผ่านสัญญะ แต่เลือกนำเสนอภาพ ‘การขึ้นสวรรค์’ อย่างตรงไปตรงมา
หมู่เมฆเคลื่อนไหลเป็นวงกลม ห้อมล้อมนกสีขาวผู้ยืดอกรับชะตากรรมอย่างกล้าหาญ ก่อนที่พลังลึกลับจะดึงร่างของมันสู่ท้องนภากว้างใหญ่ แสงสีส้มสว่างไสวรอบทิศทาง ครั้นร่างของเจ้านกเลือนหาย ทุกอย่างจึงกลับคืนสู่ปกติ นั่นอาจนับได้ว่าเป็นฉาก ‘แฟนตาซีแท้ ๆ’ ฉากเดียวในเรื่อง ผู้สร้างคงตั้งใจแน่วแน่ที่จะ ‘ไกด์’ ให้ผู้ชมเข้าถึงแก่นสารบางอย่าง จึงเลือกนำเสนออย่างไม่อ้อมค้อมถึงเพียงนี้
บทบาทของเจ้านกในเรื่องเปรียบเสมือนผู้นำกลุ่ม เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่คอยตามช่วยเหลือเจ้าแมวมาโดยตลอด แม้กระทั่งตอนถูกทำร้ายจากเพื่อนร่วมฝูง มันก็ยังกางปีกปกป้องผู้อ่อนแอจนวินาทีสุดท้าย
หรือการแสดง ‘น้ำใจ’ คือสาเหตุที่ร่างนั้นถูกดึงสู่หมู่เมฆจนลับตา เช่นเดียวกับการเป็น ‘คนดี’ ที่ทำให้โนอาห์ได้รับการอภัยจากพระผู้เป็นเจ้า
สุดท้าย แอนิเมชันเรื่องนี้จบลงด้วยการที่เจ้าแมว สุนัข ลีเมอร์ และคาปิบาราหยัดยืนเคียงกันฉันท์เพื่อน ก้มมองเงาสะท้อนในแอ่งน้ำ หลังช่วยชีวิตกันและกันมาอย่างลำบากยากเข็ญ ราวกับกำลังสื่อว่า ‘การก้าวกระโดด’ ได้ทำให้พวกมันมองตนเองเปลี่ยนไป หรือตระหนักแน่ชัดในตัวตนของตนมากขึ้น
แล้ววาฬประหลาดที่เกยตื้นจนสิ้นใจหลังระดับน้ำลดลงกะทันหันนั่นเล่า... เป็นสัญญะถึงสิ่งใด
หรือแท้จริงแล้ว มันเป็นเพียงบททดสอบความเห็นอกเห็นใจที่พระเจ้าใช้กระตุกต่อมน้ำตาของเจ้าแมวดำตัวนั้น เพื่อให้แน่ใจว่า ความเห็นอกเห็นใจของมันเพิ่มพูนขึ้นถึงระดับที่ควรค่าแก่การให้อภัยแล้ว
ถึงอย่างไร พระองค์ก็นับว่ายังปรานีที่ไม่ได้ล้างบางสรรพชีวิตที่ ‘ยังไม่ก้าวกระโดด’ จนสิ้น ดังจะเห็นได้ว่าในตอนท้าย ยังมีสุนัขผู้เมินเฉยต่อความเดือดร้อนของคาปิบาราและลีเมอร์ผู้ยังคงลุ่มหลงในสิ่งของวัตถุจำนวนมากที่ยังรอดชีวิต
หรือแท้จริงแล้ว ท่านอาจเมตตาให้อภัยด้วยเห็นว่าทุกตัวเป็นเพียงสิงสาราสัตว์ หาใช่สัตว์ประเสริฐผู้สร้างความร้าวฉานแก่โลกใบนี้เฉกเช่นเรื่องราวของโนอาห์ไม่...
เรื่อง: พงศภัค พวงจันทร์ (The People Junior)