10 ม.ค. 2568 | 12:42 น.
KEY
POINTS
ในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง หนังสือ ‘The Art of Possibility’ เขียนโดย ‘เบนจามิน แซนเดอร์’ (Benjamin Zander) และ ‘โรซามุนด์ สโตน แซนเดอร์’ (Rosamund Stone Zander) ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2000 ยังคงความร่วมสมัยและเปี่ยมด้วยพลังในการสร้างแรงบันดาลใจ
โดยภาพรวมของหนังสือ ได้นำเสนอวิธีการที่ช่วยให้เรามองโลกในมุมใหม่ เปลี่ยนจากโลกที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ไปสู่ ‘จักรวาลแห่งความเป็นไปได้’ โดยผสมผสานแนวคิดด้านจิตวิทยา การพัฒนาตนเอง และการบริหารจัดการ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงมุมมอง (paradigm shift)
นักเขียนทั้งคู่มีพื้นฐานความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน พวกเขามีความสัมพันธ์เป็นสามีภรรยากันในช่วงที่เขียนหนังสือเล่มนี้ (แม้ว่าภายหลังจะหย่าร้างกัน แต่ยังคงร่วมงานกันได้อย่างมืออาชีพ) โดย เบนจามิน เป็นวาทยกรที่มีความหลงใหลในการปลดปล่อยศักยภาพของนักดนตรีและผู้ชม ผ่านการแสดงดนตรีคลาสสิก เขามองว่าดนตรี ‘ไม่ใช่’ แค่เรื่องของเสียง แต่เป็นเครื่องมือที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในใจคน และกระตุ้นให้พวกเขามองเห็นโอกาสใหม่ในชีวิต
ส่วน โรซามุนด์ เป็นนักจิตบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านการบำบัดแบบ ‘narrative therapy’ ซึ่งมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวที่ผู้คนเล่าเกี่ยวกับตัวเอง เพื่อเปิดทางไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในชีวิต เธอมีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับจิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์
ทั้งสองคนมีมุมมองร่วมกันว่า โลกเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ที่เรามักมองข้ามไป เนื่องจากถูกจำกัดโดยกรอบความคิด (mindset) แบบเดิม ๆ การร่วมมือกันจึงเป็นความพยายามในการสร้างแนวทางที่ช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้น โดยนำแนวคิดทางจิตวิทยาของ โรซามุนด์ มาผสานกับความหลงใหลในพลังของศิลปะและดนตรีของ เบนจามิน เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติที่จับต้องได้นั่นเอง
แม้จะผ่านมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ แต่วิธีการและแนวคิดในหนังสือยังคงสามารถปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่วิธีสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวจนถึงการบริหารองค์กร ในบทความนี้ เราจะสำรวจเคสและแนวคิดสำคัญใน The Art of Possibility ที่ช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงชีวิตและสร้างผลลัพธ์ใหม่ที่แตกต่าง
หนึ่งในแนวคิดสำคัญของ The Art of Possibility คือการเปลี่ยนกรอบความคิด หรือ paradigm shift ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนวิธีมองโลกที่เราเคยชิน หนังสือเริ่มต้นด้วยบทที่ชื่อ ‘It’s All Invented’ ที่บอกเราว่า ทุกสิ่งที่เรามองเห็นล้วนเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นจากสมมติฐานที่เราไม่ทันสังเกต การเปลี่ยนแปลงสมมติฐานนั้นสามารถเปิดโอกาสใหม่ ๆ ที่ไม่เคยคาดคิด
ตัวอย่างของบริษัทขายรองเท้าส่งนักการตลาดสองคนไปยังพื้นที่ชนบทในแอฟริกา คนแรกกลับมาพร้อมข้อความว่า “ไม่มีใครใส่รองเท้า โอกาสทางธุรกิจเป็นศูนย์” ขณะที่อีกคนเขียนว่า “ไม่มีใครใส่รองเท้า โอกาสทางธุรกิจไม่มีที่สิ้นสุด” ความแตกต่างนี้ไม่ได้อยู่ที่ ‘สถานการณ์จริง’ แต่อยู่ที่ ‘มุมมอง’ ของแต่ละคน ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าโอกาสนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่
หนึ่งในแนวคิดที่ทรงพลังที่สุดในหนังสือ คือ ‘Giving an A’ หรือ ‘การมอบเกรด A’ ให้กับทุกคนล่วงหน้า ไม่ใช่เพื่อยกย่องความสมบูรณ์แบบ แต่เพื่อสร้างพื้นที่ที่ช่วยให้ผู้คนกล้าที่จะเติบโต
เบนจามิน เล่าเรื่องของนักเรียนชาวไต้หวันคนหนึ่ง ที่เคยถูกจัดอันดับเป็นที่ 68 จากทั้งหมด 70 อันดับ เขารู้สึกต่ำต้อยและขาดความมั่นใจในตัวเอง แต่เมื่อเขาได้รับเกรด A จากเบนจามิน และถูกกระตุ้นให้เขียนจดหมายถึงตัวเองในอนาคตว่า “ฉันได้เกรด A เพราะ...” เขาเริ่มเชื่อว่าตัวเองสามารถเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้ ผลลัพธ์คือเขาเปลี่ยนมุมมองต่อตัวเอง และมีความมั่นใจที่ส่งผลต่อผลงานและชีวิต
ขณะที่ ‘ผู้นำจากทุกตำแหน่ง’ (Leading from Any Chair) เป็นแนวคิดที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องมาจากตำแหน่งสูงสุด ทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ตรงจุดไหนขององค์กรหรือสังคม
ดังที่ เบนจามิน เล่าเรื่องของสมาชิกวงออร์เคสตราคนหนึ่งที่นั่งในตำแหน่งซึ่งดูเหมือน ‘ไม่สำคัญ’ แต่เมื่อเขารับรู้ว่าการเล่นของเขามีผลต่อเสียงของทั้งวง เขาจะเริ่มเล่นด้วยพลังและความใส่ใจมากขึ้น ส่งผลให้เสียงดนตรีของวงมีความไพเราะและสอดประสานกันอย่างยอดเยี่ยม การตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทตนเองเปลี่ยนพลังของทั้งทีม
ในหนังสือยังพูดถึง ‘กฎข้อที่ 6’ (Rule Number 6) ในชีวิตที่เต็มไปด้วยความกดดัน เบนจามิน แนะนำให้เรา “อย่าจริงจังกับตัวเองมากเกินไป” เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความตั้งใจและความผ่อนคลาย เหมือนกรณีของนักธุรกิจคนหนึ่งที่เครียดจัดจนส่งผลต่อการทำงานและความสัมพันธ์ส่วนตัว เมื่อเขาเริ่มหัวเราะกับตัวเองและสถานการณ์ที่เขาเผชิญ เขากลับพบว่าวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์เริ่มปรากฏขึ้น และชีวิตกลับมามีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในหนังสือ เบนจามิน เล่าเรื่องของนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่มีผู้ติดตามมารายงานปัญหาต่าง ๆ ให้เขาฟังตลอดเวลา แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเครียด แต่เขากลับจัดการได้ด้วยความสงบ โดยทุกครั้งที่มีสถานการณ์ตึงเครียด เขาจะพูดว่า “อย่าลืม Rule Number 6” ผู้ติดตามแต่ละคนจะหัวเราะและผ่อนคลายทันที
เมื่อมีคนถามเขาว่า “Rule Number 6 คืออะไร?” เบนจามินตอบว่า “อย่าจริงจังกับตัวเองมากเกินไป” จากนั้นเมื่อมีคนถามต่อว่า แล้วกฎข้ออื่น ๆ มีอะไรบ้าง? เขาตอบว่า “ไม่มีข้ออื่น มีแค่ Rule Number 6 เท่านั้น!”
การใช้เลข 6 (แทนที่จะเป็นเลข 1 หรือเลข 2) เพื่อสร้างความประหลาดใจและดึงความสนใจของผู้ฟัง การตั้งชื่อกฎด้วยเลขที่ดูเหมือนมีลำดับสำคัญ แต่กลับไม่มีข้ออื่น เป็น ‘การเล่น’ กับความคาดหวังและช่วยให้ผู้คนจดจำได้ง่าย และการบอกว่า ไม่มีข้ออื่น ๆ เป็นการส่งข้อความว่า Rule Number 6 เพียงข้อเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับการนำไปใช้ในชีวิต
อีกตัวอย่างคลาสสิก คือการเปลี่ยนจาก ‘I’ เป็น ‘We’ (The WE Story) ซึ่งเป็นหนึ่งในบทเรียนลึกซึ้งที่สุด เป็นการเปลี่ยนวิธีมองโลกจาก ‘ฉัน’ เป็น ‘เรา’ เพื่อสร้างความร่วมมือและความสำเร็จร่วมกัน เคสนี้มาจาก โรซามุนด์ ที่เล่าเรื่องครอบครัวที่มีปัญหาขัดแย้งกัน เมื่อพวกเขาเปลี่ยนจากการมองหาความต้องการส่วนตัว มาเป็นการมองเป้าหมายร่วมกัน เช่น การสร้างความสุขในครอบครัว นับจากนั้น ปัญหาความขัดแย้งเริ่มคลี่คลาย และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกก็แน่นแฟ้นขึ้น
ในการให้สัมภาษณ์กับ ‘ทอม ปีเตอร์ส’ (Tom Peters) เพื่อพูดถึงไอเดียในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ที่เน้น ‘วิถีแห่งการดำรงอยู่’ แซนเดอร์ แนะนำให้ โรซามุนด์ ช่วยเล่าถึงเคสของจักรยานของเธอให้เขาฟัง เพื่อช่วยให้ภาพความคิดชัดเจนขึ้น เรื่องราวมีดังต่อไปนี้
“อุปมาอุปไมยเรื่องปั๊มน้ำมัน เช้าวันหนึ่งในเดือนเมษายน ฉันปัดฝุ่นจักรยานที่จอดพักไว้ตลอดฤดูหนาว แล้วปั่นมุ่งหน้าไปยังพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เส้นทางนี้จะพาฉันข้ามแม่น้ำชาร์ลส์และผ่านทางเดินที่เต็มไปด้วยดอกไม้บานในสวนเฟนเวย์ ขณะปั่นข้ามสะพานบอสตันยูนิเวอร์ซิตี ฉันรู้สึกว่า ปั่นยากผิดปกติ จึงหยุดตรวจดูยาง และพบว่ายางล้อหน้าแบนเกือบหมดแล้ว แต่โชคดีที่ถัดไปไม่ไกล ตรงเชิงสะพาน มีปั๊มน้ำมันที่มองเห็นเครื่องเติมลมส่องประกายเชิญชวนจากฝั่งตรงข้ามถนน แต่พอเข้าไปใกล้ ๆ กลับพบว่า ต้องใช้เหรียญควอเตอร์สองเหรียญในการใช้งาน และฉันที่พกของติดตัวมาน้อยชิ้น มีเพียงธนบัตรสิบดอลลาร์พับไว้ในกระเป๋าเสื้อเท่านั้น
“มีผู้ชายร่างใหญ่สองคนอยู่ที่นั่น คนหนึ่งยืนอยู่แถวปั๊ม อีกคนยืนเฉยๆ ฉันเดินเข้าไปหาพวกเขา พร้อมยื่นธนบัตรสิบดอลลาร์ "มีเงินทอนสำหรับเครื่องเติมลมไหมคะ?" ฉันถาม พวกเขาส่ายหัว ไม่มี พวกเขาอธิบายว่าเป็นวันอาทิตย์ และลิ้นชักเก็บเงินว่างเปล่า ฉันให้พวกเขาดูว่า ยางรถฉันแบน และเครื่องเติมลมจะใช้งานไม่ได้ ถ้าไม่มีเหรียญควอเตอร์สองเหรียญ พวกเขาส่ายหัวอีกครั้ง มองหลบไปทางอื่นและก้มหน้า มือล้วงกระเป๋า เท้าเขยื้อนไปมาเหมือนหมีเชื่องช้าสองตัว”
“สามคนที่ไม่มีความสุข ธนบัตรสิบดอลลาร์ที่ไร้ค่า เครื่องเติมลมที่ยืนเฉย จักรยานที่ขี่ไม่ได้ และงานศิลปะชั้นเยี่ยมที่อยู่ไกลเกินเอื้อม ช่างไม่จำเป็นเสียเลย! ฉันคิด ช่างน่าหงุดหงิด ช่างไม่เป็นเรื่อง ฉันโต้แย้งในใจขณะที่ยอมแพ้ แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง - ยังคงมีเครื่องเติมลมที่ไม่ถูกใช้งาน ยางที่ไร้ลม ธนบัตรสิบดอลลาร์ที่มีค่าไม่คุ้มกระดาษที่พิมพ์มัน และพวกเราที่ยืนอยู่ตรงนั้น สามคนผู้โชคร้าย... วาบความคิดสุดท้ายนั้น มุมมองของฉันก็สว่างขึ้น และฉันรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ฉันเห็นแวบหนึ่งว่า คนที่ฉันมองว่ากำลังขัดขวางฉันอยู่นี่แหละ ที่มีเหรียญอันเลื่อนลอยส่งเสียงกรุ๊งกริ๊งอยู่ในกระเป๋า ก็กำลังแบ่งปันความทุกข์ใจเดียวกับฉัน พวกเราเป็นคนไม่มีความสุข สามคน”
“คุณพอจะให้เหรียญสองควอเตอร์กับฉันได้ไหม?” ฉันถามด้วยความร่าเริง ใกล้ชิด รู้สึกเหมือนบินอยู่ ชายที่อยู่ตรงหน้าฉันเงยหน้าขึ้นอย่างช้า ๆ ราวกับเผชิญกับปริศนาโบราณ อีกคนมีชีวิตชีวาขึ้น ใช่!” เขากล่าว ขณะยื่นมือไปที่กระเป๋าของเขา “ผมให้เหรียญควอเตอร์กับคุณได้นะ” และเขาก็ยื่นมือออกไป และแล้ว ทุกอย่างก็เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์: เหรียญ, ปั๊มลม, จักรยาน และความร่วมมือของเรา อย่างไรก็ตาม ชายอีกคนยังยืนอยู่ในความสับสน “คุณรู้เส้นทางลัดไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะไหม?” ฉันถาม คราวนี้ เขายิ้มอย่างสดใส พร้อมคำแนะนำหลั่งไหลพวยพุ่งออกมา”
นี่คือวิธีการจัดการกับปัญหาของ โรซามุนด์ ด้วยการมองหาโอกาสที่เป็นไปได้นั่นเอง
หนังสือ The Art of Possibility เป็นเสมือนคู่มือสำหรับการสร้างชีวิตและความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ผ่านการเปลี่ยนกรอบความคิดและการกระทำอย่างมีจุดมุ่งหมาย เพื่อก้าวสู่จักรวาลแห่งความเป็นไปได้ ปีใหม่นี้ เราอาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการมอบเกรด A ให้ตัวเองและคนรอบข้าง หรืออาจใช้ Rule Number 6 เพื่อหัวเราะกับตัวเองและสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้า
แล้วเราจะพบว่าความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ นี้สามารถเปิดประตูสู่โอกาสที่ยิ่งใหญ่และความสุขที่ยั่งยืน
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: เว็บไซต์ Benjamin Zander