'ความตายหลังภัยพิบัติ' พลังของโซเชียลทำให้ความตายดังกว่าตอนมีชีวิต

'ความตายหลังภัยพิบัติ' พลังของโซเชียลทำให้ความตายดังกว่าตอนมีชีวิต

เมื่อภัยพิบัติเปลี่ยนมุมมองความตาย หลายคนนำมาหยอกล้อ สร้างเรื่อง หรืออาจพูดอย่างตรงไปตรงมา แต่สุดท้าย ความตายก็ยังเป็นจริงที่หลีกไม่พ้นและไม่มีทางเอาชนะความตายได้

KEY

POINTS

  • ภัยพิบัติเข้ามาเปลี่ยนวิธีที่เรามองความตาย
  • คนรุ่นใหม่ไม่กลัวพูดถึงความตายแบบที่เคยเป็น
  • ท้ายที่สุด ความตายยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

ตายแล้วไม่ได้ไปไหน

ภัยพิบัติกำลังทำให้วิธีคิดและมุมมองต่อความตายของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนไปจากเดิม ประกอบกับที่มีผู้ตั้งสังเกตมามากแล้วว่า ความตายในยุคโซเชียลมีเดียดูแตกต่างจากยุคก่อนหน้า อย่างแรกที่เห็นชัดก็คือข่าวสารการล่วงลับแพร่มาถึงเราเร็วกว่าในอดีต สิ่งนี้ส่งผลต่อวิธีจัดการความตายในช่วงหลังมานี้ด้วย  และก็มีสิ่งที่เห็นได้ชัดเสียจนไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพาการวิเคราะห์จากนักประวัติศาสตร์ท่านใด ก็คือความตายของมนุษย์โดยเฉพาะคนเด่นคนดังนอกจากจะแพร่มาถึงเราอย่างรวดเร็ว แล้วยังทำให้คนผู้นั้นดังขึ้นกว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่อีกด้วย  

หลายคนยอมรับว่าเพิ่งจะรู้จักดาราคนนั้นคนนี้ก็เมื่อมีข่าวเสียชีวิตไปแล้ว และเพิ่งจะได้ชมผลงานของเขาย้อนหลัง เมื่อเจ้าตัวเขาไม่อยู่บนโลกนี้ นอกเหนือจากที่อาจจะได้รู้จักหน้าค่าตาหรือเห็นชื่อก็เมื่อมีข่าวฉาว (ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวประเภทคนมี “โลกสองใบ” อะไรทำนองนั้น)  

ปรากฏการณ์ที่ “ตายแล้วดัง” นี้เอง คาดว่าเป็นที่มาของไอเดียพิลึกพิลั่น คือมีนักเขียนท่านหนึ่งแพร่ข่าวว่าตายไปแล้ว มีหนังสืองานศพออกมา หลายคนแสดงความเศร้าเสียใจต่อการจากไป และกดสั่งซื้อหนังสืองานศพนั้นมา แต่สักพักก็มีข่าวใหม่แพร่มาว่าไม่ตายจริง ทำเอาหลายคนเปลี่ยนโหมดอารมณ์ความรู้สึกจากเศร้าเสียใจมาเปลี่ยนหงุดหงิดโมโห แม้เจ้าตัวจะชี้แจงว่าที่ว่าตายนั้นคือตายจากนามปากกาหนึ่งเท่านั้น ก็ฟังไม่ขึ้น 

หลายปีก่อน พราย ปฐมพร ปฐมพร (ปฐมพรใช้ชื่อและนามสกุลเดียวกัน) นักร้องอินดี้ก็เคยออกมาประกาศว่า “ปฐมพรตาย กลายเป็นพราย” ได้รับการตอบรับแตกต่างกันลิบกับนักเขียนแกล้งตายคนดังกล่าว เพราะพราย ปฐมพร ชัดเจนว่าเขาไม่ได้หมายถึงการเสียชีวิต หากแต่เป็นการลาขาดจากแนวทางการสร้างผลงานเพลงแนวหนึ่งไปสู่อีกแนวหนึ่ง พรายไม่ได้โกหก ไม่ได้เขียนหนังสืองานศพให้ตัวเอง และไม่ได้รอชมคนมาแสดงความเสียอกเสียใจต่อการจากไปของตนเอง 

ต่อมามีอีกข่าวแทรกเข้ามา เนื้อหาเป็นเรื่องเชิงตลกขบขัน แต่คนที่อยู่ในเหตุการณ์คงขำไม่ออก คือข่าวที่ว่ามีพ่อแม่รับศพลูกไปฌาปนกิจ แต่แล้วลูกก็มาบ้านหาพ่อแม่ จึงพบว่าศพที่กำลังทำพิธีอยู่นั้นเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่ลูกของตน เหตุเกิดเพราะความผิดพลาดทำให้เข้าใจผิดกันไป  

ต่อมาอีกก็มีบางเพจ ตั้งกระทู้ในเชิงขำขันว่า “งานอะไรที่แค่นอนเฉยๆ ก็ได้เงิน” มีคนมาคอมเมนต์ตอบว่า “งานศพ” 

ประกอบกับพักหลังมานี้ ในหมู่คนเจนวายลงมา มีการสร้างคำเรียกความตายในเชิงขำขัน เช่นคำว่า “สู่ขิต” และ “ตุยเย่” แน่นอนว่ารุ่นก่อนก็ไม่เบา สมัยเจนเอ็กซ์ เจนบี ยังวัยรุ่น ก็เคยมีคำว่า “ม่องเท่ง” “เท่งทึง” “เดธสมอเร่” แต่โดยรวมแล้ว ก็ชวนให้น่าสงสัยว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงชอบล้อเล่นกับความตายกันนัก ช่างสวนทางกับสภาพชีวิตที่มีทั้งโควิด-19, ฝุ่นพิษ PM2.5, แล้วไหนจะต้องมาเจอกับแผ่นดินไหวและตึกถล่มอีก   

วัฒนธรรมการแกล้งตาย (ตายปลอม) 

การแกล้งตายไม่ใช่เรื่องใหม่ มีในวัฒนธรรมไทยแท้อยู่เหมือนกัน อย่างเวลาที่ใครไปทำบุญสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ก็จะมีให้ผู้สะเดาะเคราะห์นั้นไปนอนในโลงศพแกล้งตาย เพื่อหมายว่าได้ตายไปแล้ว ได้หมดเคราะห์หมดโศกเสียที เพราะตายคือสุดท้ายของความโชคร้ายที่สุดแล้ว วิธีเช่นนี้ก็หลักการเดียวกับที่เคยมีการติดสติ๊กเกอร์รถ ทั้งๆ ที่รถสีดำ ก็ไปติดว่า “รถคันนี้สีขาว” เพื่อหลอกเจ้ากรรมนายเวร หรือเพื่อความสบายใจอย่างหนึ่ง 

วัฒนธรรมการทำอะไรเช่นนี้เอาจริงไม่ใช่เพิ่งมีในยุคสมัยใหม่ด้วย อย่างสมัยอยุธยา ร่นไปสุโขทัย หรือแม้แต่ยุคทวารวดีหรืออย่างยุคเขมรพระนคร ก็มีการทำตุ๊กตาเสียกบาล คือตุ๊กตาดินเผาแทนตัวแล้วเอาไปตัดหัว (กบาล) ทิ้งไว้ตรงแยกตะแลงแกง ทำนองว่าตัวได้ถูกตัดศีรษะไปแล้ว คือตายไปแล้วนั่นแหล่ะ  

ส่วนใหญ่สตรีมีครรภ์จะชอบทำพิธีสะเดาะเคราะห์ด้วยตุ๊กตาเสียกบาล เพราะการแพทย์ที่ยังไม่เจริญก้าวหน้าท่าที่ควร ทำให้สตรีที่ตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์และคลอดค่อนข้างมาก และเฉพาะที่ต้องทำตรงบริเวณแยกตะแลงแกงก็เพราะปกติเป็นบริเวณที่จะมีการประหารชีวิตคน แยกตะแลงแกงเป็นตลาดและแหล่งชุมนุมของผู้คนชาวเมือง แต่ก่อนไอเดียเบื้องหลังการประหารชีวิตคือการลงโทษให้เห็นเพื่อไม่ให้ผู้ที่ยังอยู่ประพฤติเอาเป็นเยี่ยงอย่าง 

ฉะนั้นขั้นตอนสำคัญนอกจากการประหารชีวิตแล้ว ยังมีการป่าวประกาศร้องบอกโทษานุโทษของคนโทษที่ต้องประหารนั้นด้วย บางกรณีต้องนำตัวไปตระเวนป่าวร้องที่เรียกว่า “ตระเวนบก” “ตระเวนน้ำ” (แล้วแต่ว่าเป็นการตระเวนไปทางบกหรือทางเรือ) แล้วถึงค่อยนำตัวไปประหารตรงลานบริเวณแยกตะแลงแกง ขั้นตอนนี้แหล่ะที่สำคัญและเป็นหัวใจหลักของการที่รัฐและสังคมจะนำบุคคลไปสาความเป็นและความตาย   

นั่นเป็นวิธีประหารไพร่ แต่หากเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ เป็นสตรีก็จับใส่กระสอบแล้วทุบหรือนำเอาไปถ่วงน้ำ หากเป็นชายก็เอาไปทุบแล้วฝังที่โคกพระยา การประหารเจ้านายต้องกระทำอย่างปิดลับ ไม่ให้รู้เห็น เพราะหากเห็นเจ้านายตายได้เหมือนคนทั่วไป เจ้านายก็จะถูกมองได้ว่าก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนกับคนอื่นๆ (แน่นอนย่อมเหมือนกับพวกไพร่ทาสทั้งหลายด้วย) ซึ่งขัดกับหลักการที่ยกย่องเจ้านายเป็นเทพ (อยุธยาและสุโขทัยไม่มีระบบสมมติเทพ เพราะถือว่ากษัตริย์เป็นเทพจริงๆ ไม่ใช่เพียงสิ่งสมมติกันขึ้น) 

การประหารวิญญาณ (ความตายหลังความตาย) 

เนื่องจากอยุธยาเป็นสังคมเมืองท่านานาชาติ มีคนต่างความเชื่อทางศาสนามาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นอันมาก อยุธยาจึงพัฒนาวิธีการประหารชีวิตที่นอกเหนือจาก “ไพร่ไปตะแลงแกง เจ้าไปโคกพระยา” แล้ว ยังมีวิธีการประหารแบบที่ผู้เขียนเรียกว่า “การประหารวิญญาณ” อีกด้วย  

เช่น กรณีการประหารออกญาพิชิต (อับดุล รัซซัค) ผู้กระทำความผิดใช้เรือธงของสมเด็จพระนารายณ์ไปโจมตีเรือคู่แข่งทางการค้าอย่างฮอลันดา แถมยังส่งกำลังไปบุกเผาบ้านฮอลันดาอีก เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบเรื่องและไต่สวนจนทราบความผิดแน่ชัดแล้ว ออกญาพิชิตซึ่งเป็นชาวมุสลิมก่อนถูกประหารได้ถูกบังคับให้พูดกล่าวโทษติเตียนศาสนาอิสลามต่างๆ นานา ประกาศเลิกนับถืออิสลาม ให้เอาพระพุทธรูปเทอดเหนือศีรษะ และถูกบังคับให้กินหมู เป็นส่วนหนึ่งของการทรมานก่อนตาย 

เมื่อถูกประหารชีวิตไปแล้ว ญาติจึงไม่สามารถรับศพไปฝังไว้ที่กุโบร์ตามธรรมเนียม การประหารบุคคลสำคัญที่เป็นชาวต่างชาติอื่นๆ ในสมัยอยุธยา ซึ่งแม้ไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรเล่าเอาไว้เหมือนกรณีออกญาพิชิต แต่ก็คาดได้ว่าคงมีชะตากรรมการถูกกระทำอย่างน่าสังเวชไม่แพ้กัน  

เพราะคำนึงถึงผู้ที่ยังอยู่เป็นหลักนั่นเอง จึงอธิบายวิธีประหารเจ้านายที่ต้องใช้หลักการไม่ให้เลือดตกต้องแผ่นดินได้อีกทางหนึ่ง ถึงแม้ว่าคนเราทุกคนเกิดมาต้องตายเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าความตายของทุกคนจะเท่ากัน มีสิ่งอื่นที่ไปกำหนดลักษณะความตายอยู่ นั่นคือสถานะของบุคคลเมื่อยังเป็นอยู่  

การ “ไม่เผาผี” จึงคือวิธีแก้แค้นอย่างหนึ่ง เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายก็จะไม่ทำพิธีสวดส่งวิญญาณให้ นั่นคือสังคมวัฒนธรรมมีความเชื่อว่าผู้ที่ยังอยู่เป็นตัวกำหนดว่าผู้ตายจะได้ไปสู่ภพภูมิไหน เป็นสิ่งที่ผู้ล่วงลับแต่ก่อนกลัวมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นวิธีควบคุมทางสังคมแบบหนึ่ง ทำให้คนเฒ่าคนแก่หรือผู้ใกล้ความตายจะต้องปฏิบัติต่อลูกหลานเป็นอย่างดี ไม่งั้นพวกมันอาจจะ “ไม่เผาผี” ปู่ย่าตายายให้ก็ได้

เมื่อความเชื่อตรงนี้ผ่อนคลายลง เหลือเพียงเรื่องเกียรติยศและหน้าตา คนอายุเยอะสมัยนี้ก็ไม่จำเป็นต้อง “ง้อ” ลูกหลาน สายใยผูกพันตรงนี้ขาดสะบั้นลง ผู้สูงอายุกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ความสุขสบายส่วนตัวมากขึ้นทุกที เราถึงได้เห็นปรากฏการณ์สว. หรือผู้มีอำนาจที่เป็นคนรุ่นก่อนปิดกั้นความเจริญต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ ประเด็นก็คือมุมมองต่อความตาย สัมพันธ์กับความประพฤติเมื่อยังเป็นอยู่ด้วย 

นอกจากมีธรรมเนียมประกาศความผิดก่อนประหารชีวิต เพื่อมิให้ผู้ยังอยู่เอาเป็นเยี่ยงอย่างแล้ว ยังมีธรรมเนียมสำหรับกรณีที่ “ตายดี” หรือ “ตายปกติ” จะมีการประกาศคุณงามความดีเป็นการส่งให้วิญญาณผู้ล่วงลับไปสู่ภพภูมิที่ดี หรืออยู่ในความทรงจำงดงามแก่ผู้ที่ยังอยู่ ธรรมเนียมนี้แหล่ะนำมาสู่การเกิด “หนังสือแจกงานศพ” หรือ “หนังสืองานศพ” บอกเล่าประวัติคุณงามความดีของผู้ตาย และก็แน่นอนว่าวัตถุประสงค์ของหนังสือนี้ก็เพื่อให้คนที่ยังอยูได้เอาเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป คือตรงกันข้ามกรณีที่ “ตายไม่ดี” หรือถูกประหารชีวิต 

แต่เมื่อสังคมมีมาตรการสร้างความรับรู้ว่าความประพฤติแบบไหนคือควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แบบไหนไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างมากพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้การประหารชีวิตเป็นพื้นที่สำหรับบอกเล่าเรื่องราวแบบนั้นอีกต่อไป  การประหารชีวิตในช่วงหลังจึงต้องทำอย่างปิดเร้นซ่อนเงียบให้พ้นไปจากสายตาของคนในสังคมสาธารณะ       

ตายแล้วดัง (ตัวตายแต่ชื่อยัง) 

การที่เด็กหนุ่มนักเขียนคนหนึ่ง คิดเห็นไปว่าถ้าเขาตาย (ถึงจะตายปลอมก็เถอะ) แล้วจะ “ดัง” ผลงานเป็นที่สนใจขายดีนั้น ก็ดังจริงนั่นแหล่ะ ตัวอย่างมีให้เห็นก็หลายท่าน อาทิ ไมเคิล ไรท์, ส. พลายน้อย, บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์, เบน แอนเดอร์สัน, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, อ.ตุลย์ เชฟหมี (คมกฤช อุ้ยเต็กเค่ง) ฯลฯ 

กรณีแบบนี้ เมื่อตาย ก็เกิดเป็นที่สนใจขึ้นมา สำนักพิมพ์ก็จะตีพิมพ์ผลงาน มีทั้งผลงานที่เคยตีพิมพ์มาแล้วเอามาพิมพ์ซ้ำอีก หรือผลงานที่ยังไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน แต่ก็ต้องมีต้นฉบับไว้ก่อนหน้า หรือบางท่านมีงานเขียนประเภทที่เป็นคอลัมนิสต์ ยังไม่ได้รวมเล่ม ก็เอามารวมเล่ม ตีพิมพ์ขายในช่วงหลังจากตาย จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เมื่อนักเขียนตายก็จะมีการออกหนังสือ มองเผินๆ เป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะตายไปแล้วย่อมเขียนไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เขียนไม่ได้ก็มีคนนำเอางานที่เคยเขียนไว้มาตีพิมพ์ให้ ทุนนิยมการพิมพ์ไม่แคร์หรอกว่านักเขียนจะตายหรือยังอยู่ รู้แต่ว่าเป็นจังหวะต้องกอบโกยในช่วงที่นักเขียนคนนั้นกำลังเป็นที่สนใจ  

เมื่อเปรียบเทียบกับยุคอะนาล็อกหรือยุคสื่อกระดาษ นักเขียนเมื่อตายจะดังเช่นกัน กรณีที่เด่นชัดก็เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เป็นตำนานที่มาของวลี “ตัวตายแต่ชื่อยัง” กว่าสิบปีให้หลังจากความตาย จิตรก็ยังมีผลงานตีพิมพ์อยู่เสมอ งานคลาสสิคอย่าง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว ขอม และลักษณ์ทางสังคมของชื่อชนชาติ” เพิ่งได้พิมพ์ก็เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ งานอย่าง “โองการแช่งน้ำ” “สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา” เพิ่งตีพิมพ์ก็เมื่อพ.ศ.๒๕๒๔ ขณะที่จิตรเสียชีวิตไปตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๙  

มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกเช่นกันว่า ความตายของฝ่ายซ้ายนั้นยืนยาวและเป็นที่พูดถึงมากกว่าความตายของฝ่ายขวา ในทางสากล ก็มีกรณีของเช กูวารา ที่ครั้งหนึ่งเคยมีเสียงร้องและคำล้อที่ว่า “เชยังไม่ตาย เขาอยู่ท้ายรถบรรทุก” 

แต่หากย้อนไปกว่านั้นอีก ความตายเป็นเรื่องที่ถูกสร้างนิยามเกี่ยวพันกับศาสนา หรือศาสนาเป็นฝ่ายที่เข้ามาให้ความสำคัญแก่การนิยามความหมายของความตายมากเป็นพิเศษ ใบหน้าของเช ก็เคยถูกนำเอาไปเปรียบเทียบว่าเหมือนใบหน้าของพระเยซูเมื่อคราวถูกตรึงกางเขน ทั้งๆ ที่พระเยซูหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้หรอก เพราะสมัยโรมันยังไม่มีกล้องถ่ายรูป แต่จากรูปที่ประดิษฐ์กันขึ้นเป็นรูปพระเยซูในภายหลังเหมือนใบหน้าหนวดเคราของเช กูวารา คนเลยคิดเห็นไปทางนั้นอย่างช่วยไม่ได้  

หนังสือขึ้นชั้นขายดีเล่มหนึ่งของยุคอะนาล็อก คือหนังสือชื่อ “ตายแล้วไปไหน?” ก็เป็นหนังสือธรรมะ นำเอาหลักศาสนามาอธิบายความตาย  ขณะที่เหตุการณ์ปัจจุบันหลายอย่างชวนให้คิดว่าลำพังแนวคิดความเชื่อทางศาสนาอาจไม่เพียงพอที่จะอธิบายหรือช่วยให้ผู้คนสามารถรับมือกับความตายได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไปแล้ว  อย่างน้อยๆ เราก็ไม่รู้ว่า เราเคยทำบาปทำกรรมอะไร ถึงได้ต้องมาเจอโควิด-19 ฝุ่นพิษ PM2.5, น้ำท่วม, แผ่นดินไหว, ตึกถล่ม ฯลฯ       

ความตายไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

ภาวะที่สังคมมีความแตกแยก มีรอยปริร้าวให้เห็นอยู่แทบจะทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่นิยามความตาย เมื่อไม่กี่วันมานี้ สก.ผู้ทรงเกียรติของกทม. ถึงกลับบอกให้คุณชัชชาติ ผู้ว่ากทม. เลิกค้นซากตึกถล่มเพื่อตามหาผู้รอดชีวิต เพราะคนเหล่านั้นเสียชีวิตไปหมดแล้ว ผู้ว่ากทม.จะต้องให้ความสำคัญแก่คนเป็นมากกว่า ทำเอาหลายคนตกตะลึงว่ามีคนคิดเช่นนี้อยู่ในสังคมเดียวกันกับเราได้อย่างไร ในเมื่อผู้ที่ถูกตึกฝังร่างอยู่นั้นล้วนมีญาติที่เฝ้ารอคอยพวกเขากลับบ้าน ถึงจะเป็นแค่ร่างไร้วิญญาณไปแล้วก็เถอะ ก็ควรได้กลับไปสู่อ้อมกอดของญาติพี่น้องและเข้าสู่พิธีกรรมทางศาสนาเพื่อส่งไปสู่ภพภูมิตามความเชื่อของพวกเขา  นี่คือสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์เราพึงกระทำให้แก่กันไม่ใช่หรือ? 

เพียงเพราะผู้ที่ติดอยู่ในซากตึกสตง. นั้นเป็นคนชั้นแรงงาน และไม่ใช่ญาติพี่น้อง (ของผู้ที่บอกผู้ว่ากทม. ให้หยุดค้นหา) ก็ถึงกับจะต้องปล่อยเลย ให้อยู่ในซากตึกนั้นตลอดไปอย่างนั้นหรือ อะไรทำให้คนเราต้องมีจิตใจโหดเหี้ยมกันถึงเพียงนั้น?  ถ้าไม่เพราะความไม่เข้าใจสายใยผูกพันระหว่างคนเป็นกับคนตาย ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ทำไมถึงคิดเช่นนั้นไปได้   

นักเขียนอีกท่านที่พูดถึงความตายไว้ได้สั้นแต่กินความลึกคือ “ส.ธรรมยศ” เจ้าของวลี “ระวังนะ ชื่อจะตายก่อนตัว” ซึ่งเป็นคำอธิบายความตายในนิยามความหมายแบบตรงกันข้ามกับ “ตัวตายแต่ชื่อยัง” คือบางคนนั้นแม้ตัวจะยังไม่ตาย แต่ก็เหมือนตาย แต่บางคนแม้ตัวจะตายไปแล้ว ก็ยังมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในความทรงจำของผู้ที่ยังอยู่ต่อไป  

ความตายเป็นเรื่องปกติของชีวิต แต่การจัดการความตายเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของคนที่ยังอยู่ โควิด-19, PM2.5, แผ่นดินไหว ทำให้ตระหนักว่าความตายอยู่แค่ปลายจมูก แค่ชั่วลมหายใจ และที่พักอาศัยก็ไม่ใช่ “เซฟโซน” อีกต่อไป เมื่อมันสามารถจะถล่มลงมากลายเป็นฝุ่นไปได้เหมือนเช่นตึกสตง.   

จริงอยู่ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่จะเกินไปไหม เพราะหากแค่ล้อเล่นก็ดีไป แต่หนักเข้า ถ้านำเอามาเล่นมากเสียจนไม่ระมัดระวังหรือขาดความยับยั้งชั่งคิดในการดำเนินชีวิต ก็ไม่ใช่เรื่องดี ไม่ใช่เรื่องที่ควรประพฤติทำจนเกิดเป็นธรรมเนียมใหม่ต่อไปแต่อย่างใดเลย 

ในเมื่อภัยพิบัติทำให้เราเข้าใกล้ความตายได้ทุกขณะ ก็ควรตระหนักถึงการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังและรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่ร่วมชะตากับเราให้มาก จริงอยู่มนุษย์ยังเอาชนะความตายไม่ได้ แต่การรู้จักเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือกันแม้ในวันที่วิญญาณหลุดจากร่างไปแล้ว เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์รอดพ้นภัยพิบัติมาได้ตลอดไม่ใช่หรือ?