ฮาลาบาลา ป่าจิตหลุด : เมื่อ ‘ปีศาจในจิตใจ’ ถูกกัดกินโดย ‘ปีศาจในพงไพร’

ฮาลาบาลา ป่าจิตหลุด : เมื่อ ‘ปีศาจในจิตใจ’ ถูกกัดกินโดย ‘ปีศาจในพงไพร’

‘ฮาลาบาลา ป่าจิตหลุด’ ภาพยนตร์จิตวิทยาสยองขวัญที่ผสมผสานศาสตร์การวาดการ์ตูน ทั้งยังหยิบยกตำนานกึ่งเรื่องจริงของภาคใต้มาตีความใหม่จาก BrandThink Cinema

KEY

POINTS

  • ฮาลาบาลา ป่าจิตหลุด คือภาพยนตร์ที่นำศาสตร์การ์ตูนช่อง (Comics) มาประยุกต์เข้ากับมุมกล้องและการตัดต่อแบบภาพยนตร เกิดเป็นอรรถรสที่เป็นเอกลักษณ์ และสร้างความจิตหลุดสมกับคอนเซปต์ของเรื่อง
  • บาเตาะ’ คือชนเผ่ามนุษย์กินคนที่คาดว่าเคยมีอยู่จริง ๆ ในผืนป่าฮาลา-บาลา ทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้หยิบยกตำนานเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพวกเขามาตีความในเชิงสยองขวัญ
  • การที่แดนกลายเป็นพาหะของปีศาจในตอนจบอาจไม่ใช่ความบังเอิญ หากแต่เป็นสิ่งที่ถูกวางแผนเอาไว้ตั้งแต่แรก นำมาสู่แก่นสารที่ว่า เมื่อปีศาจในใจคนถูกยั่วยุด้วยสิ่งที่ทรงพลังยิ่งกว่า จะสามารถกลายสภาพเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวเข้าขั้น ‘จิตหลุด’ ยิ่งกว่าเดิม

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง ฮาลาบาลา ป่าจิตหลุด / 

 

หนีให้ทัน ก่อนมันจะกลืนกิน

 

วลีที่ดูผิวเผินเหมือนคำโปรยในตัวอย่างภาพยนตร์ทั่วไป ทว่าเมื่อเรื่องย่อจั่วหัวว่าเป็นความสยดสยองในป่าลึก ฉายา ‘แอมะซอนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ อย่างป่า ‘ฮาลา-บาลา’ ในจังหวัดยะลา-นราธิวาส พร้อมชื่อของ ‘เผ่ากินคน’ ที่ปรากฏในเรื่องเล่าของคนท้องถิ่นภาคใต้มาช้านาน ก็ชวนสงสัยว่า ผู้สร้างต้องการตีความ ‘การกลืนกิน’ นั้นในรูปแบบใดกันแน่

หากเป็นการกลืนกินจิตใจจนมืดบอดตามขนบภาพยนตร์จิตวิทยาระทึกขวัญคงน่าสนใจไม่น้อย หรือหากหมายถึงการ ‘กัดกิน’ เนื้อมนุษย์อย่างตรงไปตรงมาก็ยิ่งเพิ่มความน่าค้นหา เพราะสื่อบันเทิงไทยเคยเล่าเรื่องราวของเผ่ากินคน ตลอดจนเลือกใช้ป่าดิบปลายด้ามขวานของประเทศเป็นฉากหลังน้อยเหลือเกิน

ฮาลาบาลา ป่าจิตหลุด’ คือภาพยนตร์จิตวิทยา-สยองขวัญของผู้กำกับ ‘เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์’ ซึ่งเพียงได้ยินชื่อก็สัมผัสได้ถึงความสยองกลิ่นอายวิปลาส เพราะนอกจากจะมีเครดิตเป็นผู้เขียนบทหนังไทยในตำนานอย่าง ‘13 เกมสยอง’ และ ‘บอดี้..ศพ 19’ แล้ว เจ้าตัวยังมีบทบาทเป็นนักวาดการ์ตูนชื่อดัง ผู้เคยนำเสนอลายเส้นกับไอเดียสุดแหวกแนวในหนังสือการ์ตูนชุด ‘My Mania’ อีกด้วย

หนังเล่าเรื่องราวของ แดน (แสดงโดย เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) ตำรวจผู้ก่อคดีวิสามัญคนร้ายจนถูกย้ายไปประจำในจังหวัดติดชายแดนภาคใต้พร้อมกับ วิ ภรรยาผู้กำลังตั้งท้อง (แสดงโดย ณิชา ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์) โดยแดนต้องจากที่พักไปทำภารกิจจับตัว ตั๊บตาไฟ (แสดงโดย ปู แบล็คเฮด) คนร้ายคดีอุกฉกรรจ์ซึ่งกำลังหลบหนีผ่านทางป่าฮาลา-บาลา และเส้นทางที่อีกฝ่ายเลือกใช้ก็คืออุโมงค์ในหมู่บ้านของ ‘บาเตาะ’ เผ่ามนุษย์กินคนซึ่งถูกชาวบ้านในอดีตฆ่าล้างบางไปแล้วจนหมดสิ้น เหลือไว้เพียง ‘บาตายะ’ ปีศาจประจำเผ่าที่กำลังดักซุ่ม รอกัดกินจิตใจมนุษย์คนใดก็ตามที่เฉียดกายเข้าใกล้

ความน่าสนใจข้อสำคัญคือการที่ผู้สร้างหยิบยกป่าฮาลาและบาลา อันเป็นป่าดิบชื้น ณ ชายแดนไทย-มาเลเซีย พร้อมเรื่องเล่ากึ่งเรื่องจริงมาตีความในแนวสยองขวัญ อีกทั้งยังนำเสนอความ ‘จิตหลุด’ ของตัวละครผ่านการผสมผสานศาสตร์การวาดการ์ตูนและภาพยนตร์เข้าด้วยกัน ปิดท้ายด้วยตอนจบที่ชวนขบคิดว่า เมื่อ ‘ปีศาจในใจคน’ ต้องเผชิญกับสิ่งที่ทรงพลังยิ่งกว่า นั่นก็คือ ‘ปีศาจเผ่ากินคน’ มันอาจกลายเป็น ‘ปีศาจตัวใหม่’ ที่ทั้งไล่ฉีกกระชากจิตใจและฉีกกินเนื้อมนุษย์ไปพร้อม ๆ กันก็เป็นได้

 

จิตหลุดด้วยมุมกล้อง และเทคนิคการ์ตูนช่องสุดพิสดาร

ฮาลาบาล ป่าจิตหลุด คือภาพยนตร์ที่เจือกลิ่นอายการ์ตูนช่อง (Comics) อย่างเห็นได้ชัด ตลอดระยะเวลาเกือบสองชั่วโมง ผู้ชมจะรู้สึกราวกับกำลังอ่านการ์ตูนผ่านมุมกล้องและการตัดต่อแบบภาพยนตร์ จนพูดได้เลยว่า หากนำภาพนิ่งแต่ละช็อตมาร้อยเรียงเป็นการ์ตูนเล่มหนึ่ง คงสามารถกลืนไปกับหนังสือประเภทเดียวกันได้ไม่ยาก

การเลือกใช้เลนส์กว้างถ่ายทอดอารมณ์บนใบหน้าของตัวละครช่วยสร้างความรู้สึกแปลกประหลาด ขณะเดียวกัน ก็ดูคล้ายลายเส้นของการ์ตูนที่โครงหน้าตัวละครมักดูไม่สมส่วน นอกจากนั้น การเคลื่อนกล้องที่เน้นความฉวัดเฉวียน ฉับไว รับกับการตัดต่อที่บางครั้งอาจโดดข้ามความต่อเนื่องบางจุด ก็ดูคล้ายฉากเร่งเร้าในการ์ตูนที่ลายเส้นบนร่างตัวละครจะมีความหยาบ เป็นริ้ว หรือไม่สมบูรณ์แบบ

ยังไม่นับรวมถึงรูปลักษณ์ของบรรดาสิ่งเหนือธรรมชาติที่ดูคล้ายสิ่งมีชีวิตในภาพยนตร์แฟนตาซีหรือวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะ ‘สิ่งลี้ลับขนาดใหญ่ในอุโมงค์’ ที่กล่าวได้เลยว่า ผู้ที่เคยอ่านการ์ตูนของเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ต้องสัมผัสได้ถึงลายเส้นแสนคุ้ยเคยอย่างแน่นอน

ความจิตหลุดอันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเรื่องเองก็ถือเป็นองค์ประกอบที่ปรากฏให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ ดังที่กล่าวว่า ฮาลาบาลามักฉายภาพตัวละครที่มีความบิดเบี้ยว มุมกล้องฉวัดเฉวียน และการตัดต่อที่โดดข้ามแต่แฝงความเชื่อมโยง ราวกับจิ๊กซอร์ที่ต้องต่อจนครบ จึงจะเข้าใจภาพโครงใหญ่ ทำให้ผู้ชมถูกดึงสู่ห้วงความสับสน จนกว่าจะมีโอกาสพักหายใจ ก็เป็นตอนที่เครดิตผู้สร้างปรากฏขึ้นบนจอ ตามหลังภาพสุดท้ายของหนังที่ชวนตีความได้หลายทิศทาง ไม่แพ้เส้นทางสุดคดเคี้ยวในป่าฮาลา-บาลาเลยแม่แต่น้อย

และองค์ประกอบที่เกิดจากความจิตหลุดนี้เอง ก็มีที่มาจากเรื่องราวของบาเตาะ เผ่ามนุษย์กินคนที่มีฐานะเป็นปีศาจเหนือธรรมชาติ หารู้ไม่ว่า หลากเรื่องราวที่ปรากฏในหนังล้วนมีเค้าโครงจากตำนานจริง อันเป็นสิ่งที่ประชากรในเขตชายแดนภาคใต้เล่าต่อกันมาช้านาน

 

‘บาเตาะ’ มนุษย์มีหาง การกินเนื้อมนุษย์ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ในช่วงเปิดเรื่องของฮาลาบาลา ได้มีการบรรยายถึงชาวบาเตาะว่า เป็นมนุษย์ที่มีผิวสีน้ำตาลแดง มีหางขนาดสั้นที่ก้นกบ และมีพฤติกรรมโหดร้าย กินเนื้อมนุษย์ ซึ่งลักษณะดังกล่าว ตรงกับการบรรยายในเรื่องเล่าเก่าแก่ของผู้คนในชุมชน ใกล้กับเขตแดนประเทศมาเลเซีย

การจะเล่าถึงบาเตาะ ต้องเท้าความถึงป่าฮาลาและบาลา อันเป็นสถานที่ถือกำเนิดของเรื่องเล่า โดยแม้ว่าคนส่วนมาก (รวมถึงตัวละครในเรื่อง) จะเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ‘ฮาลาบาลา’ หรือ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา’ แต่แท้จริงแล้ว ทั้งสองไม่ใช่ป่าเดียวกัน เพียงแค่มีพื้นที่อยู่ในบริเวณเดียวกันเท่านั้น

ป่าฮาลาตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา ในขณะที่ป่าบาลาตั้งอยู่ในนราธิวาส ที่ซึ่งคนในจังหวัดหลังนิยมเรียกเขตพื้นที่ทั้งสองว่า ‘ป่าบาลา-ฮาลา’ แทนที่จะเป็นฮาลา-บาลา เหมือนกับในสถานที่ส่วนใหญ่

เขตรักษาพันธุ์สัตว์แห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางธรรมชาติ จนถูกขนานนามว่า แอมะซอนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสัตว์ป่าหายากอย่างนกเงือก ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งที่คนไทยอาจยังไม่คุ้นชื่อมากนัก

แม้ในปัจจุบัน การทำสวนยางรวมถึงการท่องเที่ยวจะเริ่มรุกล้ำเข้ามาในเขตป่า จนความลึกลับถูกลดทอนไปบ้าง ทว่าในอดีต ป่าแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องความอันตราย ด้วยเป็นถิ่นที่อยู่ของบาเตาะ หรือที่แปลจากภาษามลายูว่า ‘คนเถื่อน’ ชนเผ่าซึ่งถูกบรรยายว่ามีรูปลักษณ์คล้ายลิง ผิวกายสีดำแดง มีติ่งเนื้อคล้ายหางที่ก้นกบ มักอาศัยในโพรงถ้ำ และมีวัฒนธรรมกินเนื้อมนุษย์

ความโหดร้ายของบาเตาะถูกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ตำนานว่า บาเตาะมักขึงเชือกขวางแม่น้ำให้เรือที่ผ่านมาพลิกคว่ำ ก่อนจับคนบนเรือกินเป็นอาหาร หรือเรื่องเล่าว่า คนชราในบาเตาะจะถูกทดสอบด้วยการปีนต้นไม้ หากปีนไม่ขึ้นแปลว่าชราภาพจนเกินไป ต้องถูกสังหารเป็นอาหารคนในเผ่า ตลอดจนตำนานเกี่ยวกับจุดจบของพวกเขา อันเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์หยิบยกมาดัดแปลง

จากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น ชาวบ้านในอดีตไม่อาจทนความโหดร้ายของบาเตาะได้ จึงทำการวางยาพิษให้พวกเขาล้มป่วย ก่อนจะจุดไฟเผายกเผ่า เป็นอันสิ้นสุดตำนานสยองขวัญในผืนป่าฮาลา-บาลา

แม้ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การมีอยู่ของบาเตาะก็ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิชาการ โดยมีการจำแนกว่า บาเตาะมีอยู่หลายกลุ่ม กระจายอยู่ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงในประเทศไทย แต่ก็ปราศจากหลักฐานยืนยันว่า พวกเขามีพฤติกรรมโหดร้ายดังที่ปรากฏในเรื่องเล่า หรือเป็นเพียงการบอกเล่าปากต่อปากของมนุษย์ที่มักเพิ่มพูนอรรถรสความสยองให้เนื้อหามีความน่าตื่นเต้นขึ้นกันแน่

และไม่ว่าตำนานบาเตาะจะมีมูลความจริงมากน้อยเพียงใด ชาวบ้านปัจจุบัน ณ ชายป่าฮาลา-บาลาก็ยังคงเอ่ยเตือนลูกหลานว่า

 

ออกจากบ้าน ระวังบาเตาะจับไป

 

หรือในหลาย ๆ ครั้ง บาเตาะก็ยังถูกใช้เป็นคำในเชิงสบประมาทหรือด่าทอว่าร้าย ทว่าขณะเดียวกัน ชาวบ้านในบางเขตกลับมองว่า บาเตาะอยู่ในฐานะของเจ้าที่เจ้าทาง ผู้ปกป้องผืนป่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จำต้องเคารพยำเกรง เรียกได้ว่า ตำนานของพวกเขามีความกระจัดกระจาย แม้จะเป็นคนในพื้นที่เดียวกัน ก็ยังมีการรับรู้ต่างกันออกไป

ความหลากหลายดังกล่าวคือวัตถุดิบชั้นดีให้ผู้สร้างหยิบยกมาตีความใหม่ โดยในฮาลาบาลา ป่าจิตหลุด บาเตาะอยู่ในฐานะของชนเผ่าผู้ถูกสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยม เกิดเป็นความเคียดแค้นที่แสดงผ่าน ‘ปีศาจบาตายะ’ ผู้ลงมือปลุกปั่นจิตใจของมนุษย์ที่มี ‘ปีศาจในจิตใจ’ ซุกซ่อนอยู่เป็นทุนเดิม

 

เมื่อ ‘ปีศาจในใจคน’ ถูกกัดกินโดย ‘ปีศาจมนุษย์กินคน’

ที่มาที่ไปของจุดจบในเรื่องยังเป็นปริศนา ว่าเหตุใด แดนจึงถูกเข้าสิงโดยบาตายะ ออกอาละวาดทำร้ายภรรยา ทั้งที่ขณะอยู่ในป่า ร่างของเขาก็เพียงร่วงลงสู่อุโมงค์ หนีตายจากสิ่งลี้ลับ ก่อนจะลงเอยด้วยการเป็นผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียวที่ย่างกรายสู่พื้นที่ต้องห้าม

สาเหตุเป็นเพราะเหตุผลง่าย ๆ อย่างการที่แดนคือผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียว จึงย่อมตกเป็นพาหะของปีศาจไปโดยปริยาย หรือแท้จริงแล้ว เขาคือ ‘ผู้ถูกเลือก’ ให้มีชะตากรรมเช่นนั้นตั้งแต่แรก...คำตอบคงเป็นอย่างหลัง เพราะคุณสมบัติในการฟักเชื้อปีศาจดูจะถูกหยอดใบ้ไว้หลายครั้ง

ข้อที่เห็นชัดที่สุดคงเป็นการที่แดนมีความแค้นฝังใจต่อนักโทษคดีอุกฉกรรจ์เป็นทุนเดิม บาตายะจึงอาศัยจุดอ่อนนั้น ส่งคำสั่งตรงไปยังตั๊บตาไฟซึ่งมีฐานะเป็นนักโทษแบบเดียวกับที่แดนเกลียดเข้ากระดูกดำ ให้ทำการแหกคุกก่อนจะหนีเข้าป่า ทั้งหมดเพื่อเป็นการเติมเชื้อไฟ ให้แดนมุ่งตรงสู่ฮาลา-บาลาด้วยความมุ่งหมายเข่นฆ่าอย่างเต็มเปี่ยม

และสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ แรงเข่นฆ่านั้นก็เปรียบเสมือนพลังงาน หรืออีกนัยหนึ่ง คือปีศาจที่ซ่อนเร้นในจิตใจ

 

มึงกำจัดปีศาจภายนอก ปีศาจในตัวมึงมันจะโตขึ้น

ประโยคดังกล่าวสะท้อนว่า พรานป่าผู้นำทางแดนไปยังหมู่บ้านบาเตาะเองก็สัมผัสได้ถึงปีศาจตนนั้น

 

ปล่อยให้มันมาโตอยู่ข้างใน ดีกว่าปล่อยมันไปเพ่นพ่านข้างนอก

คำตอบนั้นเปรียบเสมือนเครื่องยืนยันว่า ตัวเขาคือพาหะที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับปีศาจมนุษย์กินคน

และทันทีที่แดนร่วงลงไปในอุโมงค์อันเป็นสุสานของบาเตาะ คุณสมบัติข้อต่อมาจึงได้ถูกเฉลย...ปีศาจในใจแดนมีจุดอ่อนเป็นความอ่อนแอ อันเกิดจากความรู้สึกผิดที่ตัวเขาพลั้งมือฆ่าเด็กไร้เดียงสาคนหนึ่งระหว่างการวิสามัญคนร้าย

ตัวหนังไม่เคยฉายภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ต้องพูดถึงภาพใบหน้าของเด็กไร้เดียงสาคนนั้นที่ผู้ชมไม่มีโอกาสได้เห็น แต่เพียงรับรู้ว่า แดนเคยพลั้งมือสังหารเด็กมาก่อน ผู้ชมก็จะหวนนึกถึงฉากเปิดของเรื่อง ซึ่งเป็นตอนที่เด็กบาเตาะไร้เดียงสามองเผ่าของตนถูกชาวบ้านจุดไฟเผาทั้งเป็น ปมในจิตใจของแดนมีเส้นบาง ๆ เชื่อมโยงกับแรงแค้นของบาตายะ ตอกย้ำว่า การเข้ามาในป่าฮาลาบาลาของเขาคือสิ่งที่ปีศาจร้ายวางแผนเอาไว้ตั้งแต่ในทีแรก 

 

ตั้งสติดี ๆ ค่อย ๆ คิด ว่ามึงมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง

คือประโยคที่บาตายะพูดกับแดน ผ่านทางรอยแผลของเขาที่จู่ ๆ ก็กลายสภาพเป็นปากพูดได้ มันคงเป็นประโยคย้ำเตือนเชิงเย้ยหยันว่า แดนตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เพราะแรงอาฆาตในจิตใจของเขาเอง

และหลังจากที่แดนกลายสภาพเป็นพาหะของบาตายะ ก็ถึงเวลาที่ตัวเขาและปีศาจมนุษย์กินคนจะก้าวออกสู่โลกภายนอก เหยื่อรายแรกคือวิ ซึ่งตลอดทั้งเรื่อง เป็นผู้คอยเรียกสติไม่ให้แดนถูกปีศาจในใจครอบงำอย่างสมบูรณ์ การที่แดนสังหารเธอ จึงเปรียบเสมือนแสงสว่างทั้งมวลถูกกลืนดับ จิตใจของเขาตกเป็นหุ่นเชิดของบาตายะ ดังที่ตัวละครหันมาสบตากับกล้องพร้อมแสยะยิ้มในฉากสุดท้าย เป็นสัญญาณว่า ไม่มีแสงสว่างใดจะสามารถเรียกสติเขาให้หลุดจากการครอบงำของปีศาจได้อีกแล้ว

แม้ตอนจบของฮาลาบาลา ป่าจิตหลุด จะเต็มไปด้วยข้อสงสัยในจังหวะแรกที่ดูจบ แต่พอนำมาคิดตกผลึก จะพบว่าผู้สร้างวางสัญญะเอาไว้อย่างแยบยล ตัวละครที่ดูมีบทบาทน้อยกว่าที่ปูเอาไว้อย่างตั๊บตาไฟ แท้จริงแล้ว คือฟันเฟืองที่ถ้าขาดหาย เหตุการณ์ทั้งหมดก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

และแม้ผู้ชมจะรู้สึกพิศวง หรือไม่เข้าใจหลังดูจบ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ฮาลาบาลาคือภาพยนตร์ไทยที่มีเอกลักษณ์มาก ๆ เรื่องหนึ่ง โดยจุดแข็งสำคัญคือการปั่นประสาทผู้ชมจนจิตหลุดด้วยมุมกล้องและการตัดต่อแสนเร่งเร้า โดดเด่นด้วยการเลือกใช้ตำนานพื้นบ้านไทยที่คนไทยน้อยคนจะรู้จักมาดัดแปลงเป็นความจิตหลุดเกินคาดเดา

และแม้ว่าจะเป็นแก่นสารที่เคยปรากฏมาแล้วในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง แต่ฮาลาบาลาก็ได้ตอกย้ำลึกลงไปอีกขั้นว่า ปีศาจ หรืออีกนัยหนึ่งคือความอาฆาตในใจคน เมื่อถูกยั่วยุด้วยสิ่งเร้าที่ทรงพลังเหนือการควบคุมของมนุษย์ จะสามารถกลายสภาพเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวเพียงใด
 

ภาพ : BrandThink Cinema

 

อ้างอิง

CBT Thailand, (n.d.), เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา, ค้นเมื่อ 4 เมษายน 2568

ศิลปวัฒนธรรม, (2567), ค้นหา “บาเตาะ” คนกินเนื้อคน เรื่องเล่าหรือความจริงในผืนป่าฮาลา บาลา ที่นราธิวาส?, ค้นเมื่อ 4 เมษายน 2568