17 เม.ย. 2568 | 13:43 น.
KEY
POINTS
ในโอกาส ๑๒๐ ปีชาตกาลของ ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ ปัญญาชนนักเขียนผู้มีผลงานมากมายโด่งดังในช่วงทศวรรษ ๒๔๗๐-๒๕๑๐ เจ้าของนามปากกาคุ้นหูคุ้นตา ‘ศรีบูรพา’ ได้รับยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นของโลกจากองค์กร UNESCO เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘
กุหลาบเกิดเมื่อพ.ศ.๒๔๔๘ (สมัยรัชกาลที่ ๕) เติบโตมาในย่านหัวลำโพง บิดาเป็นเสมียนกรมรถไฟ มารดาเป็นชาวนาจากจังหวัดสุพรรณบุรี บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก กุหลาบจึงอยู่กับมารดาและพี่สาว มารดาประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า พี่สาวเป็นนางรำ (เล่นละครรำและละครร้อง)
กุหลาบเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง แรกเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนทหารในสังกัดกรมหลวงนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์นี้เองกุหลาบได้ฝึกฝนเป็นนักเขียน จากการทำหนังสือ แต่งบทกวี และเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ภายหลังต่อมาได้เข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) และมีช่วงหนึ่งที่ลาลี้ภัยไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ไม่จบ
ช่วงระหว่างทศวรรษ ๒๔๗๐-๒๕๑๐ สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกสากลอยู่หลายอย่างด้วยกัน และความเปลี่ยนแปลงทางสากลที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่องานเขียนของกุหลาบแต่ละช่วงเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่การอภิวัฒน์ ๒๔๗๕, สงครามโลกครั้งที่ ๒, กระแสการเข้ามาของแนวคิดฝ่ายซ้าย, สงครามเกาหลี, สงครามเวียดนาม, ระบอบเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จภายใต้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, เหตุการณ์วันเสียงปืนแตก การต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธในชนบทระหว่างฝ่ายพคท.กับรัฐบาลเผด็จการ, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ช่วงสุดท้ายของชีวิตกุหลาบได้ลี้ภัยไปอยู่จีนแผ่นดินใหญ่แล้วเสียชีวิตอยู่ที่นั่น เมื่อพ.ศ.๒๕๑๗
หลายคนอาจมีความทรงจำต่องานเขียนของกุหลาบ จากชิ้นสำคัญอย่างเช่น ความเรียงว่าด้วย ‘มนุษยภาพ’ ซึ่งเป็นงานเขียนที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕, ‘เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕’ เรียบเรียงจากคำให้สัมภาษณ์ของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), งานแปล ‘กำเนิดครอบครัวและมนุษยชาติ’ ‘ปรัชญาสังคมเปรียบเทียบ’ และ ‘ประวัติศาสตร์สตรีไทย’ เป็นผลงานที่ทรงอิทธิพลต่อขบวนการฝ่ายซ้ายไทยอย่างมาก แต่ถูกลืม, ‘การเมืองของประชาชน’ งานรวมบทความที่เขียนเผยแพร่ตามสื่อ, ‘มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ’ ก็เป็นงานรวมบทความกึ่งความเรียงที่เขียนในโอกาสต่าง ๆ, ‘บันทึกอิสรชน’ เป็นบันทึกในช่วงที่ถูกจับกุมคุมขังเมื่อพ.ศ.๒๔๘๕, ‘ข้าพเจ้าได้เห็นมา’ บันทึกการเดินทางไปเยือนจีนคอมมิวนิสต์, ‘ไปสหภาพโซเวียต’ บันทึกการเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียต เป็นต้น
ผลงานที่โดดเด่น มีเป็นจำนวนมาก และยังคงเป็นที่นิยมอ่านกันอยู่จนถึงปัจจุบันก็คืองานเขียนประเภทนวนิยาย อาทิ ลูกผู้ชาย, สงครามชีวิต, ผจญบาป, ปราบผยศ, มารมนุษย์, ขอแรงหน่อยเถอะ, ป่าในชีวิต, แสนรักแสนแค้น, สิ่งที่ชีวิตต้องการ, หัวใจปรารถนา, โลกสันนิวาส, เรื่องของเขา, เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร, ข้างหลังภาพ, ลาก่อนรัฐธรรมนูญ, รับใช้ชีวิต, แลไปข้างหน้า (เดิมมี ๒ เล่มจบ ตอนหลังนิยมพิมพ์ทั้ง ๒ เล่มในเล่มเดียวกัน), จนกว่าเราจะพบกันอีก เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า กุหลาบเขียนหลากหลาย ผลงานมีทั้งประเภทที่เป็นสารคดี บทความวิชาการ ความเรียง งานแปล กวีนิพนธ์ นวนิยาย ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็น ‘ปัญญาชนสาธารณะ’ รุ่นบุกเบิกท่านหนึ่ง ที่ผ่านมามีผู้ศึกษาและเขียนถึงผลงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มามากพอสมควร ในที่นี้ผู้เขียนจะชวนอภิปรายประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อ ‘ความรัก’ ในทัศนะของกุหลาบ จากผลงานประเภทนวนิยายและความเรียง
หากใครเคยอ่านงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มาบ้าง จะพบว่า มุมมองความรักของกุหลาบจากนวนิยายและความเรียง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ ๒ ช่วงสำคัญด้วยกัน ช่วงแรกเริ่ม, กุหลาบมีแนวคิดต่อความรักแบบ Romanticism (แปลตรงว่า โรแมนติกซึ่ม) ผลงานชิ้นสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดีในช่วงแรกเริ่มนี้ ได้แก่ ‘สงครามชีวิต’ กับ ‘ข้างหลังภาพ’ ช่วงที่สอง, กุหลาบเสนอมุมมองต่อความรักแบบ Realism (สัจนิยม) ผลงานชิ้นโดดเด่นในมุมมองนี้ได้แก่ ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ และ ‘แลไปข้างหน้า’
มุมมองความรักแบบช่วงที่สองนี้ ยังต้องนับรวมบทความเรื่อง ‘ดูนักศึกษา มธก. ด้วยแว่นขาว’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือธรรมจักร ฉบับ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๕ เพราะเขียนภายใต้กระแสแนวคิดเดียวกัน หากไม่ใช่ผู้เขียน ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ และ ‘แลไปข้างหน้า’ แล้ว ไม่เห็นทางว่ากุหลาบจะมีข้อเขียนสรุปช่วงท้ายบทความชิ้นดังกล่าวออกมาได้ว่า:
“ชาว ม.ธ.ก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”
และหากไม่มีบทสรุปดังท้ายไว้อย่างน่าประทับใจดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่เห็นทางอีกเช่นกันว่า จะมีใครนำเอาไปประดิษฐ์ใหม่ได้ว่า:
“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”
ภายหลังมานี้ก็ยังเปลี่ยนอีกเป็น:
“เรารักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน”
แน่นอนว่า การศึกษาและอภิปรายประเด็นมุมมองความรักที่ดูย้อนแย้งกันของกุหลาบ ๒ ช่วงยุคสมัยดังกล่าวนี้มีผู้ศึกษาอภิปรายถึงกันมาบ้าง แต่โดยมากจะมุ่งเน้นเสนอว่ามุมมองความรักทั้งสองช่วงดังกล่าวนี้ของกุหลาบ ขัดแย้งไม่ลงรอยกัน และยังมักให้ข้อสรุปว่ากุหลาบละทิ้งแนวทางเดิมจากที่เคยเสนอไว้เมื่อครั้งเขียนเรื่อง ‘สงครามชีวิต’ และ ‘ข้างหลังภาพ’
ประเด็นความต่างและย้อนแย้งของมุมมองความรักทั้งสองช่วงดังกล่าว นำมาซึ่ง ‘เอฟซี’ ผลงานของกุหลาบ ที่สามารถแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่นิยมผลงานแนว Romanticism กับ กลุ่มที่นิยมผลงานในแนว Realism
กลุ่มที่นิยมแนวแรก มักจะไม่ชอบงานในช่วงหลังของกุหลาบ และเห็นว่าในกลุ่มหลังไม่ได้เสนอมุมมองความรัก เพราะความรักในแบบ ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ และ ‘แลไปข้างหน้า’ เป็นความรักที่ขึ้นต่ออุดมการณ์ ออกจะมีลักษณะแข็งทื่อไป อ่านแล้วไม่ฟิน
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้อ่านที่นิยมผลงานช่วงหลังของกุหลาบ ก็มีแง่มุมโจมตีต่อผลงานช่วงแรกของกุหลาบ และงานของนักเขียนท่านอื่น ๆ ในแนวทางเดียวกันนี้ ถึงขั้นว่า ‘น้ำเน่า’ และ ‘สายลมแสงแดด’ หรือไม่ก็นำเอาแนวคิดว่าด้วยชนชั้น เข้าไปมองงานกลุ่มนี้แล้วว่าเป็นมุมมองความรักแบบชนชั้นกลาง-นายทุน-ศักดินา และยกย่องความรักแบบผลงานช่วงหลังของกุหลาบว่าเป็นมุมมองความรักแบบชนชั้นชาวนาและกรรมาชีพ
แต่จะเป็นไปได้อย่างไรที่มุมมองสองประเภทนี้ที่ดูเหมือนจะขัดแย้งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และออกจะเป็นอริกันด้วย ถูกนำเสนอโดยนักเขียนท่านเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ปัญญาชนหรือบุคคลใดก็ตาม เมื่ออยู่ภายใต้บริบทและเงื่อนไขที่ต่างกัน ย่อมจะมีความคิดและหลักปฏิบัติที่ต่างกันก็ตาม แต่คำถามก็คือหากว่านักเขียนท่านนั้นไม่มีประสบการณ์ในการประพันธ์เรื่องอย่าง ‘สงครามชีวิต’ กับ ‘ข้างหลังภาพ’ มาก่อน แล้วจู่ ๆ จะเขียน ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ และ ‘แลไปข้างหน้า’ งานช่วงที่สองของกุหลาบ
กล่าวคืองานทั้งสองช่วงนี้ไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงการคลี่คลายตัวบทจากงานก่อนหน้า หรืองานก่อนหน้าไม่มีเงื่อนปมบางอย่างที่จะสามารถพัฒนามาสู่งานในช่วงหลังได้เลย เราสามารถมองงานของกุหลาบอย่างตัดขาดกันสิ้นเชิงแบบนั้นได้จริงหรือ???
‘สงครามชีวิต’ เป็นนวนิยายของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๔ ปลายเดือนเดียวกันนั้นเองก็เกิดการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ นวนิยายชิ้นนี้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นภูมิปัญญาหนึ่งของการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕
แต่นอกเหนือจากเป็นงานประพันธ์ในช่วงยุคสมัยเดียวกับการอภิวัฒน์แล้ว ‘สงครามชีวิต’ ยังเป็นเหมือนตัวบทที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาให้เป็นตัวแทนความคิดจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของหนุ่มสาวในช่วงก่อนหน้าจะเกิดการอภิวัฒน์ได้เป็นอย่างดี
พระเอกของเรื่องชื่อ ‘ระพินทร์’ เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย และมีงานอดิเรกเป็นนักเขียน มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง นางเอกผู้เป็นที่รักของระพินทร์ชื่อ ‘เพลิน’ เป็นลูกคุณหนู บ้านมีฐานะร่ำรวย ‘สงครามชีวิต’ เป็นเรื่องของรักข้ามชนชั้นระหว่างระพินทร์กับเพลิน ประพันธ์ในรูปแบบจดหมายรัก ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนกำลังอ่านจดหมายโต้ตอบกันไปมาระหว่างคู่รัก (ถ้าเป็นสมัยนี้คงต้องเป็นห้องแชทข้อความหรือ DM อะไรก็ว่าไป)
ความรักระหว่างระพินทร์กับเพลินเป็นรักที่ไม่สมหวัง ฝ่ายหญิงเลือกจากไป เพราะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจความแตกต่างกันทางรายได้ นำมาซึ่งทัศนคติต่อการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ก็เลยเข้ากันไม่ได้ ความแตกต่างและขัดแย้งกันระหว่างคนสองชนชั้นที่ไม่อาจร่วมเรียงเคียงหมอนกันได้นี้ นับเป็นการฉายภาพให้เห็นที่มาของการอภิวัฒน์อีกมุมหนึ่ง
๒๔๗๕ นั้นผู้ก่อการอภิวัฒน์เป็นข้าราชการ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับกลาง เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำอภิวัฒน์ ส่วนสำคัญเลยมาจากนโยบายดุลข้าราชการของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ นโยบายนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลพระปกเกล้าฯ เลือกใช้วิธีลดรายจ่าย โดยการสั่งปลดข้าราชการ แต่ข้าราชการที่ถูกปลดนั้นโดยมากเป็นข้าราชการที่มีชาติกำเนิดมาจากสามัญชน ส่วนข้าราชการที่มีเชื้อสายเป็นเจ้า กลับยังอยู่ดีมีสุข
สิ่งนี้ก็ก่อเกิดเป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจให้กับข้าราชการที่ไม่ได้สืบเชื้อสายเป็นเจ้า ผู้ก่อการอภิวัฒน์ถึงได้เรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร’ และในคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ จึงมีวลีสำคัญหนึ่งยืนกรานว่า “ประเทศเป็นของราษฎร...”
ใน ‘สงครามชีวิต’ ระพินทร์จำต้องยอมปล่อยให้เพลินได้ไปมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ต้องมากัดก้อนเกลือกินกับตน (อารมณ์ประมาณเพลง ‘รักคงยังไม่พอ’ ของพี่เสือ ธนพล อินทฤทธิ์) แต่ในชีวิตจริง ๒๔๗๕ คือภาวะที่กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อยไม่อาจยอมปล่อยให้เจ้านายปลดพวกตนออกไปโดยง่าย เมื่อไม่อาจเปลี่ยนนโยบายภายใต้ระบอบเก่าได้ ก็จึงต้องเปลี่ยนผ่านการอภิวัฒน์
หลังจาก ‘สงครามชีวิต’ ได้ออกโลดแล่นได้ ๕ ปีกว่า กุหลาบก็ตีพิมพ์นวนิยายอีกเรื่องคือ ‘ข้างหลังภาพ’ โดยใช้ฉากที่ประเทศญี่ปุ่น ในทศวรรษ ๒๔๘๐ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดจนเหล่าข้าราชการและผู้คนภายใต้ระบอบใหม่ ต่างให้ความสนใจประเทศญี่ปุ่น เพราะนับแต่การปฏิวัติเมจิเป็นต้นมา ญี่ปุ่นก็พัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็นมหาอำนาจในทวีปเอเชีย
‘ข้างหลังภาพ’ เป็นเรื่องราวความรักระหว่างนพพรกับคุณหญิงกีรติ ยังคงเป็นรักข้ามชนชั้น แต่ต่างจาก ‘สงครามชีวิต’ ตรงที่พระเอก (นพพร) เป็นหนุ่มนักเรียนนอกญี่ปุ่น ส่วนคุณหญิงกีรติเป็นลูกผู้ดีมีตระกูลสืบเชื้อสายมาจากเจ้านายชั้นสูง มีอายุมากกว่านพพร แต่เธอยังดูสาวและสวย จึงถูกตาต้องใจนพพร เมื่อได้พบกันที่ญี่ปุ่น โดยนพพรทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยว นพพรแสดงท่าทีว่าตกหลุมรักคุณหญิงกีรติอยู่หลายครั้งในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน แต่คุณหญิงรักษาท่าทีไม่ตอบรับ เนื่องจากนางแต่งงานและมีสามีแล้ว
เมื่อนพพรเรียนจบและกลับมาทำงานที่ประเทศไทย ฝ่ายคุณหญิงกีรติ สามีได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่นพพรก็ไม่ได้ไปพัฒนาความสัมพันธ์กับคุณหญิง นพพรเลือกแต่งงานกับสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน คุณหญิงกีรติเมื่อทราบก็ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตไป ก่อนสิ้นลมหายใจ คุณหญิงได้กล่าววลีอมตะหนึ่งอย่างคนที่มีใจรัก หาได้เย็นชาเหมือนอย่างเมื่อครั้งก่อนที่พบกับนพพรที่ญี่ปุ่น คือวลีที่ว่า:
“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”
จากที่เป็นเรื่องรักโรแมนติกขั้นสุด ไปสุดทาง (ฟินจิกหมอน) และจบแบบโศกนาฏกรรม (tragedy) แต่ก็ไม่ได้เศร้าจนเกินไป ก็เข้าใจได้ว่าทำไม ‘ข้างหลังภาพ’ จึงจัดเป็นวรรณกรรมคลาสสิคที่ได้รับความนิยมชมชอบตลอดกาล กระทั่งเป็นนวนิยายเรื่องแรกของไทยที่ได้รับการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ ในชื่อ ‘Behind the Painting and Other Stories’ ผู้แปลคือ ‘David Smyth’
‘บรรจง บรรเจิดศิลป์’ (อุดม สีสุวรรณ) เคยวิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้ด้วยกรอบแนวคิดฝ่ายซ้ายว่า นพพรเป็นตัวแทนของชนชั้นกระฎุมพีใหม่ คุณหญิงกีรติเป็นตัวแทนของชนชั้นเจ้านายศักดินา ทั้งสองมีชีวิตและความคิดจิตใจแตกต่างและไม่อาจลงรอยกันได้ สืบเนื่องจากการขยายตัวของระบบทุนนิยมที่ชนชั้นนายทุนกระฎุมพีต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ในขณะที่เจ้านายในระบบศักดินาเดิมกำลังเป็นอุปสรรคขัดขวาง
ถึงแม้ว่าบรรจง บรรเจิดศิลป์ จะไม่ได้ยกย่องการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ในฐานะหมุดหมายของการเปลี่ยนผ่านจากระบบเก่าสู่ระบบใหม่ เพราะบรรจงในฐานะปัญญาชนของพคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) มองว่า ๒๔๗๕ เป็นเพียงการรัฐประหารของชนชั้นกลางและนายทุน คณะราษฎรจึงอยู่ระหว่างสองชนชั้นที่กำลังเติบโตในช่วงหลังเปลี่ยนผ่าน และเมื่อเกิดศัตรูใหม่คือขบวนการคอมมิวนิสต์ รัฐบาลคณะราษฎรก็หันไปปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ ดังเหตุการณ์กบฏสันติภาพ
เหตุการณ์นี้ทำให้นักคิดนักเขียนของขบวนการฝ่ายซ้ายมองว่า รัฐบาลคณะราษฎรได้หันไปเข้าข้างฝ่ายศักดินา ไม่ได้ทอดทิ้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้านายในระบบเดิมดังที่เคยพูดไว้เมื่ออดีต พูดง่ายคือไม่ได้ประพฤติอย่างที่นพพรทำกับคุณหญิงกีรติ บรรจงก็เช่นเดียวกับนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายในยุคเดียวกันที่มีความประทับใจและชื่นชมต่อผลงานของกุหลาบ มองการปฏิเสธความรักของคุณหญิง เท่ากับนายทุนรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธเจ้านายในระบบเดิม
ในงานชิ้นหลัง ‘แลไปข้างหน้า’ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๔๙๘ และ ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๑๖ อาจเรียกได้ว่าเป็นงานหลังกบฏสันติภาพ เพราะเมื่อพ.ศ.๒๔๙๕ กุหลาบได้เข้าร่วมต่อต้านสงครามเกาหลี ซึ่งรัฐบาลไทยประกาศเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้ประท้วงต่อต้านสงครามกลับถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จับกุมคุมขังและตั้งข้อหากบฏและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
ก่อนหน้านั้น นับแต่หลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารได้เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นมาผู้นำรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม รู้ตัวดีกว่าตนเองอยู่ในสถานะง่อนแง่นไม่มั่นคงทางการเมือง เพราะหลังรัฐประหาร กลุ่มนายทหารได้มีบทบาทและอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง ในขณะที่กลุ่มตำรวจก็ได้รับทั้งเงินทุนและอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นยุคที่ตำรวจมีรถถังและอาวุธหนักเทียบเท่ากองทัพ เนื่องจากตำรวจได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาให้ปฏิบัติการปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์
จอมพล ป. อยู่ท่ามกลางขุนศึกอีก ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และกลุ่มตำรวจภายใต้การนำของพลเอกเผ่า ศรียานนท์ จอมพล ป. จึงต้องการแหล่งความชอบธรรมใหม่ สำหรับเป็นฐานอำนาจให้แก่ตนคานกับอีก ๒ กลุ่มขุนศึก จึงได้สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย เปิดบรรยากาศเสรี จัดให้มีการเลือกตั้ง
แต่ในขณะเดียวกัน การเปิดบรรยากาศเสรี ก็ทำให้เกิดอีกกลุ่มกระแสการเมืองขึ้นมา ขบวนการฝ่ายซ้ายเติบโตทางภูมิปัญญา จากการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือฝ่ายซ้ายออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งงานแปลผลงานปัญญาชนต่างประเทศและผลงานเขียนของปัญญาชนภายในประเทศเอง ก็เป็นอันว่าในทศวรรษ ๒๔๙๐ กระแสแนวคิดฝ่ายซ้ายที่เคยอยู่ ‘ใต้ดิน’ ได้ขึ้น ‘บนดิน’ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ทางด้านวรรณกรรมการสร้างสรรค์ในรูปแบบนวนิยาย กุหลาบก็ได้ปรากฏตัวในฐานะนักเขียนฝ่ายซ้ายด้วยผลงานชื่อ ‘แลไปข้างหน้า’ เนื้อหาถึงจะไม่ใช่เรื่องราวความรักข้ามชนชั้นเหมือนอย่างเรื่องก่อน ๆ แต่หนนี้ดูเหมือนกุหลาบจะชัดเจนยิ่งขึ้นไปในแนวทางการเขียนที่มีชนชั้นแบบ “จัดหนักจัดเต็ม”
ตัวละครเอกได้เปลี่ยนจากหนุ่มนักเรียนนอก (ใน ‘ข้างหลังภาพ’) และข้าราชการชั้นผู้น้อย (ใน ‘สงครามชีวิต’) มาเป็นลูกชาวนาจากภาคอีสาน ชื่อ ‘จันทา โนนดินแดง’ ในช่วงเคลื่อนไหวก่อนถูกจับกุมข้อหากบฏสันติภาพ กุหลาบเคยเดินทางไปพบเห็นสภาพของชนบทอีสาน จากกิจกรรมการแจกเครื่องบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนในท้องที่บ้านคูซอด อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
‘แลไปข้างหน้า’ มี ๒ เล่มจบ เล่ม ๑ ภาคปฐมวัย เล่ม ๒ ภาคมัชฌิมวัย ตามโครงเรื่องที่กุหลาบวางไว้ ดูเหมือนจะต้องมีเล่ม ๓ ภาคปัจฉิมวัย แต่กุหลาบก็ไม่ได้เขียนต่อ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีสุดท้ายในเนื้อเรื่องคือ พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นช่วงที่กระแสประชาธิปไตยเสรีภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ก็เข้าข้างฝ่ายสหรัฐอเมริกาปราบปรามขบวนการฝ่ายซ้าย
เหตุการณ์สุดท้ายในท้องเรื่องภาค ๒ นั้นคือการที่เช้ง ลูกคนจีน เพื่อนของจันทา ซึ่งมีอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้ถูกจับกุมตัว เมืองกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย ในขณะที่จันทา เมื่อเรียนจบได้รับราชการกระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มเห็นชนบทเป็นคำตอบของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวทาง ‘ชนบทล้อมเมือง’ ของพคท.โดยอ้อม
ณ โมเมนต์นั้น (ช่วงปลายทศวรรษ ๒๔๙๐-๒๕๐๐) ยังไม่มีใครรู้หรอกว่า ความขัดแย้งระหว่างเมืองภายใต้การนำของรัฐบาลเผด็จการทหารกับชนบทภายใต้พคท. จะจบลงเช่นใด ดังนั้น การปล่อยทิ้งไว้ ไม่มีภาค ๓ ปัจฉิมวัย ออกจะเป็นความชาญฉลาดทางการประพันธ์อยู่โดยนัย เพราะภาคต่อไป ผู้เขียนเรื่อง ‘แลไปข้างหน้า’ จะไม่ใช่กุหลาบ หากแต่เป็นคนในสังคมไทยในโลกที่เป็นจริงต่างหาก
ในเนื้อเรื่อง ‘แลไปข้างหน้า’ จันทาแต่งงานกับพยอม น้องสาวของนิทัศน์ เพื่อนที่เรียนด้วยกันที่กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าพยอมจะเป็นสาวชาวกรุง แต่ด้วยความที่ฐานะปานกลาง และมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับจันทามาตั้งแต่เด็ก ความแตกต่างระหว่างชนชั้นจึงไม่ปรากฏเด่นชัดเหมือนอย่างกรณีระพินทร์กับเพลินใน ‘สงครามชีวิต’ และหรือนพพรกับคุณหญิงกีรติใน ‘ข้างหลังภาพ’
แม้ไม่มีบทสวีทหวานซึ้งระหว่างจันทากับพยอม แต่ไม่ได้หมายความว่าจันทาจะเป็นหนุ่มที่ชีวิตมีแต่อุดมการณ์เพื่อประชาชน เขามีคนที่รักและหมายมั่นสร้างครอบครัวร่วมกันอยู่ ดังนั้นความรักของจันทากับพยอม แม้จะไม่หวือหวาแบบในเรื่องอื่นก่อนหน้า แต่ไม่ถึงกับไม่มี เพียงแต่การเล่าเรื่องผ่านกระแสสำนึกที่ล้อไปกับเหตุการณ์ทางสังคมการเมือง อาจบดบังมิติเรื่องนี้ไปบ้าง
ถึงแม้ ‘แลไปข้างหน้า’ จะไม่มีภาค ๓ ปัจฉิมวัย แต่กุหลาบก็ได้เขียนเรื่อง ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ และฉากที่ไม่มีในจันทากับพยอม กุหลาบได้มานำเสนอไว้ในบทสนทนาระหว่างโกเมศ หนุ่มชาวไทย กับ โดโรธี สาวชาวออสซี่ (ออสเตรเลีย) การสนทนาระหว่างหนุ่มสาวต่างวัฒนธรรมแต่มีจุดร่วมคือความรักที่มีต่อมนุษยชาติ
บทสนทนานั้นมีตั้งเรื่องราวเหตุการณ์บ้านเมือง สถานการณ์โลก มุมมองความคิดเห็นต่อเรื่องชนชั้นและความเปลี่ยนแปลง กุหลาบฉายภาพให้เห็นความรักระหว่างหนุ่มสาวที่เกิดจากการมีความสนใจร่วมกันและเห็นพ้องกันในเรื่องความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อชนชั้นแรงงานที่ต้องประสบชะตากรรมความทุกข์ยาก
‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ จึงเหมือนภาค ๓ ปัจฉิมวัย และบทสนทนาที่หายไประหว่างจันทากับพยอมใน ‘แลไปข้างหน้า’ เป็นบทสนทนาว่าด้วยความรักอีกเหมือนกัน คราวนี้เน้นหนักไปที่ความรักที่เผื่อแผ่ไปถึงมวลมนุษยชาติ มีความหมายมากว่า Love me, love my dog ที่มักจะแปรความหมายถึงต้องรักคนในครอบครัวของอีกฝ่ายด้วย แต่บางครั้งเราจะพบว่า ครอบครัวก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อความรักระหว่างหนุ่มสาว
การที่กุหลาบเป็นนักเขียนเกิดทันสถานการณ์ ๒๔๗๕ ทำให้เขารู้ซึ้งและเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะกุหลาบก็ถือเป็นนักเขียนหัวก้าวหน้าที่ต่อต้านวัฒนธรรมการ ‘คลุมถุงชน’ และเสนอความรักที่มาพร้อมกับประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ แต่แต่นั้นสำหรับกุหลาบก็ไม่เพียงพอ จึงได้เสนอให้ขยายออกไปเป็น “รักประชาชน”
ก่อนหน้าที่จะเขียน ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ และในระหว่างที่กำลังเขียน ‘แลไปข้างหน้า’ อยู่นั้น มีนักกิจกรรมนักศึกษาจากมธก. (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง) ได้ไปพบกุหลาบเพื่อขอให้เขียนบทความให้แก่มธก. เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นที่มาของบทความเรื่อง ‘ดูนักศึกษา มธก. ด้วยแว่นขาว’ ซึ่งกุหลาบทิ้งท้ายด้วยประโยคว่า:
“ชาว ม.ธ.ก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขารู้จักรักคนอื่นด้วย”
ภายหลังถูกนำไปอ้างอิงและปรับแก้เป็น:
“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”
ถึงแม้ว่าวลีหลังนี้ กุหลาบไม่ได้เขียน แต่ความหมายเดียวกับที่กุหลาบพยายามสื่อนั่นแหล่ะ ดังจะเห็นได้จาก ‘แลไปข้างหน้า’ และ ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’
อันที่จริง มุมมองความรักแบบนี้ นอกจากขบวนการฝ่ายซ้ายแล้ว ขบวนการชาตินิยมก็เคยเรียกร้องต่อคนหนุ่มสาวมาก่อนเช่นกัน กล่าวคือพวกชาตินิยมมักเรียกร้องให้ “รักชาติบ้านเมือง” มาก่อนความรักระหว่างคนสองคน ขบวนการชาตินิยมเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวเสียสละเพื่อส่วนรวมที่มาในนาม ‘ชาติบ้านเมือง’
ภายใต้ชาตินิยม ความรักระหว่างคนสองคนถูกมองเป็นเรื่องผลประโยชน์เฉพาะปัจเจกบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม ความรักชาติก็ขาดความน่าเชื่อถือในหมู่คนรุ่นหลัง เพราะคำว่า ‘ชาติ’ ไม่ได้หมายถึงส่วนรวม หมายถึงแค่ชนชั้นนำบางกลุ่มเท่านั้น อีกอย่างความรักก็เป็นเรื่องสากล ไม่ใช่เรื่องเฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แนวคิดและมุมมองต่อความรักแบบแยกขาดระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวมเช่นที่นักชาตินิยมเคยเสนอนี้ ต่อมามีอิทธิพลต่อขบวนการฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สามด้วย ดังจะเห็นได้จากกรณีนโยบาย ๓ ช้า ของพคท. เป็นต้น
ความรักปวงประชา (รักประชาชน) นอกจากกลายเป็นมอตโต้ของม.ธรรมศาสตร์แล้ว พคท.เองก็เคยนำเอาไปสนับสนุนนโยบาย ๓ ช้า (๑.อย่าเพิ่งมีคนรัก ๒.มีคนรักแล้วก็อย่าเพิ่งแต่งงาน ๓.แต่งงานแล้วก็อย่าเพิ่งมีลูก) เป็นนโยบายสร้างความอึดอัดรำคาญใจให้แก่พลพรรคที่เข้าร่วม โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาคนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมพคท. หลังเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
คำถามทิ้งท้ายก็คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้รังสรรค์ผลงานอ้างอิงนิยามความรักทั้งในมิติเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ความรักต่อประชาชน ต่อชนชั้นแรงงาน และต่อมวลมนุษยชาติ จะมีมุมมองคับแคบเช่นนั้นหรือ? ในเมื่อในงานที่เสนอความรักเช่นนี้ ก็มีคู่พระ-นาง อย่างจันทากับพยอม (แลไปข้างหน้า) และโกเมศกับโดโรธี (จนกว่าเราจะพบกันอีก) อีกทั้งในความรักระหว่างระพินทร์กับเพลิน (สงครามชีวิต) และระหว่างนพพรกับกีรติ (ข้างหลังภาพ) ต่างก็มีมิติการคิดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องชนชั้นอยู่ในนั้น
กล่าวโดยสรุป ความแตกต่างและขัดแย้งระหว่างงานนวนิยายช่วงแรกเริ่มกับช่วงที่สองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเท่าไหร่เลย เพราะที่จริงมีจุดเน้นที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่างานในช่วงแรกเริ่มไม่มีประเด็นคิดเรื่องชนชั้นหรือการแสดงความเห็นอกเห็นใจคนชั้นล่างที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง และก็ไม่ได้หมายความว่างานช่วงที่สองของกุหลาบ จะไม่มีประเด็นคิดเกี่ยวกับความรักระหว่างหนุ่มสาว
กุหลาบไม่ได้เสนอมุมมองแบบรักประชาชน รักมนุษยชาติ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่คำนึงถึงประเด็นพื้นฐานดั้งเดิมที่ความรักมีมิติว่าด้วยเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ เนื่องจากเคยผ่านประสบการณ์ช่วง ๒๔๗๕ มา อีกทั้งยังเป็นเจ้าของผลงานคลาสสิคอย่าง ‘ข้างหลังภาพ’
“รักประชาชน” ก็จึงไม่ได้หมายความว่าจะ “รักเธอ” ด้วยไม่ได้ อ่านใหม่ให้ดี สำหรับงานกุหลาบ ดูเหมือนจะเสนอให้รักทั้งสองประเภทนี้รวมอยู่ในความสัมพันธ์ชุดเดียวกัน และดังนั้น “รักธรรมศาสตร์” ก็จึงบอกให้ธรรมศาสตร์ “สอนให้รักคนอื่น” หรือ “รักประชาชน” ไปด้วยนั่นเอง...
เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: ภาพศรีบูรพาจากหนังสือ ‘ศรีแห่งมนุษยภาพ’
อ้างอิง
จรัส รจนาวรรณ. ชีวิตการต่อสู้ของกุหลาบ สายประดิษฐ์. กรุงเทพฯ : กลุ่มเผยแพร่สัจจธรรม, 2517.
บรรจง บรรเจิดศิลป์ (อุดม สีสุวรรณ). ศิลปวรรณคดีกับชีวิต. กรุงเทพฯ: สายทิพย์, 2524.
รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2532.
วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์. กบฏสันติภาพ. กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2539.
ศรีบุรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์). การเมืองของประชาชน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2548.
ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์). ข้างหลังภาพ. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2531.
ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์). จนกว่าเราจะพบกันอีก. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2545.
ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์). มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา, 2548.
ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์). แลไปข้างหน้า (ภาคปฐมวัยและภาคมัชฌิมวัย). กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2545.
ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์). สงครามชีวิต. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2518.
เสถียร จันทิมาธร. สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2524.
Saipradit, Kulap. Behind the Painting and Other Stories (ข้างหลังภาพ/Siburapha). Translated by David Smyth, Chiang Mai: Silkworm Books, 2000.