ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ "โอกาสของชีวิต กับการให้"

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ "โอกาสของชีวิต กับการให้"

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ "โอกาสของชีวิต กับการให้"

คนส่วนใหญ่มองว่าคนพิการ ไม่เท่าเทียมกับคนทั่วไป ทั้งในเรื่องร่างกาย โอกาส ไปจนถึงศักยภาพ ไม่แปลกที่คนส่วนมากจะรู้สึกสงสาร และช่วยเหลือด้วยการบริจาคทานให้กับคนพิการ แต่ในความเป็นจริงคนพิการหลายคนไม่ได้รู้สึกถึงความด้อยของตัวเอง มิหนำซ้ำยังมองว่านั่นเป็นจุดเด่นที่เน้นขับศักยภาพของพวกเขาออกมาได้เต็มที่ เหมือนที่ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ได้พิสูจน์ว่าคนพิการทางสายตาสามารถทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการเป็นผู้ให้คนอื่น ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของ The People ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้พิการทางสายตาที่คว้าตำแหน่งที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนภูมิพล, ผู้พิการคนแรกที่เป็นข้าราชการไทย, อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเท่าเทียมของผู้พิการ ได้ให้เกียรติมาถ่ายทอดมุมมอง “โอกาสของชีวิต กับการให้" เพื่อให้เราได้เข้าใจคนพิการทางสายตามากยิ่งขึ้น ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ \"โอกาสของชีวิต กับการให้\" “สวัสดีทุกท่านครับ ผมต้องขอบคุณครับที่ให้โอกาสได้มาพูดคุยที่เวทีนี้ ผมเกิดมาไม่ได้พิการ แต่ด้วยความซุกซนไปเล่นระเบิด พอดีผมฉลาดไปหน่อย เล่นแล้วระเบิดตูมเดียวตาบอด 2 ข้างเลย นิ้วมือก็โดนตัดขาดไปด้วย เมื่อตาบอดปั๊บก็เชื่อว่า เราคงทำอะไรไม่ได้เหมือนกับที่สังคมทั่วไปเชื่อ เมื่อเราเชื่อว่าเราทำอะไรไม่ได้ โอกาสที่จะไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสังคมทั่วไปก็เชื่อว่ามันทำไม่ได้ ไม่ให้คุณเรียน ไม่ให้คุณทำงาน “ถึงผมโชคร้ายก็ยังมีบุญ ได้พบกับ Miss Genevieve Caulfield สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดที่สี่แยกตึกชัย สิ่งแรกท่านสอนผมเลยว่า เราต้องท่องคาถาไว้ก่อนเลย 3 คาถาให้ผมไว้ หนึ่ง-ตาบอดทำได้ทุกอย่าง แล้วต้องหาเรื่องท้าทายทำ ความท้าทายเท่านั้นที่จะดึงความสามารถของเราออกมาได้ แล้วก็พยายามทำความตาบอดที่เรียกว่าเคราะห์ให้มันเป็นโอกาส พอมันมีโอกาสและความฉลาดของคนก็อยู่ตรงนี้แหละ “นอกจากนั้นได้บอกผมอีก ท่องไว้เลยตาบอดต้องรู้จักให้ ผมก็ถามว่าจะให้อะไรได้ ตัวเองยังช่วยไม่ได้เลย ท่านบอกว่าเธอมีเลือดไม่ใช่เหรอ ถ้ามีก็ไปบริจาคโลหิตได้ แล้วเมื่อช่วยตัวเองได้ ก็อย่าลืมช่วยรุ่นน้องต่อไป เพราะท่านเสียสละข้ามน้ำข้ามทะเลมาช่วยผม ไม่หวังอะไรเลย หวังอย่างเดียวให้ช่วยเหลือตัวเองได้ แล้วอย่าลืมช่วยรุ่นน้องต่อไป “ผมเลยทุ่มเทฝึกทุกอย่าง ตั้งแต่เตรียมความพร้อม เดินไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง หัดทำกับข้าว ซักผ้า รีดผ้า ทำทุกอย่างที่คนทั่วไปเขาทำได้ เราต้องฝึกทำให้ได้หมด มิฉะนั้นแล้วเราจะพึ่งตัวเองไม่ได้ แล้วถ้างั้นก็หาที่เรียน ในเมื่อสังคมไทยไม่เชื่อว่าคนพิการทำอะไรได้ ทำให้หาโรงเรียนไม่ได้ ต้องไปเรียนโรงเรียนวัดคาทอลิกอย่าง เซนต์คาเบรียล อัสสัมชัญ ซึ่งมีวัฒนธรรมตะวันตกอยู่แล้ว และเมื่อจบอัสสัมชัญ ผมก็เรียนใช้ได้นะ เพราะว่าสมัยนั้นมีแข่งกันติดบอร์ด 1 ใน 50 ของประเทศไทย ผมก็ได้ที่ 24 ของประเทศไทย ก็ใช้ได้ทีเดียว (เสียงหัวเราะ) “ฉะนั้นเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่มีปัญหาเลยสำหรับผม แล้วก็ผมได้ ranking ต้น ๆ ในมหาวิทยาลัย ความตั้งใจผมอยากเรียนกฎหมาย ทำไมอยากเรียนกฎหมาย เพราะว่าในต่างประเทศ อาชีพกฎหมายคนตาบอดทำได้ดีมาก แต่ในประเทศไทยห้ามทำทุกอย่าง แต่ผมถูกสอนว่าเราต้องแก้ปัญหาที่ตัวเราก่อน คือเรียนให้เก่งแล้วค่อยไปแก้กฎหมาย “ถ้าเราเรียนไม่เก่ง จะไปหวังใครแก้กฎหมายให้เราทำงาน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะงั้นผมสอบเข้าธรรมศาสตร์ สมัยก่อนไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก เพราะว่าสอบเข้าไปทีเดียว ไม่ต้องเลือกว่าเข้าคณะตอนปี 1 ค่อยไปเลือกในปี 2 ก็ไม่ยุ่งยากอะไร “เมื่อเราได้โอกาสเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย เราก็ทุ่มเทเรียนหนังสือให้ดี แล้วเมื่อเราเรียนหนังสือได้ดี เพราะเราทุ่มเท ถึงจะมีอุปสรรคว่าหนังสือมาเป็นตัวหนังสือ แล้วเราจะไปดูยังไง เราก็ต้องมาใช้สื่ออักษรเบรลล์ หนังสือเสียง เข้ามาช่วยเพื่อทำให้เราเรียนได้ดี “เพราะงั้นเมื่อเราเรียนจบ ผมก็โชคดีพอดีผมสอบได้ที่ 1 ของคณะ ไม่อยากขี้โม้ (เสียงหัวเราะและปรบมือ) ผมก็ถือโอกาสสอบเป็นอาจารย์ พอดีมีการแก้กฎหมายข้าราชการพลเรือนที่เคยอ้างว่าพิการทุพพลภาพ ‘ห้ามเป็นข้าราชการ’ เป็นว่า ‘ถ้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้’ “ผมเข้าไปในยุค ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านบอกว่ารับเลย ตีความได้เลยว่าทำงานได้ ต่างประเทศคนตาบอดเป็นโปรเฟสเซอร์ดัง ๆ เยอะแยะ ทนายดัง ๆ ก็มากมี เพราะงั้นเมืองไทยก็ส่งเสริมสนับสนุน ผมก็เลยได้สอบเป็นอาจารย์ ด้วยความที่คนทั่วไปบอกตายแล้ว เอาคนตาบอดมาสอนคนตาดีได้ยังไง ผมไม่อยากโม้ จะดูการประเมินผลผมแล้วกันว่าเด็ก ๆ ชอบผมแค่ไหน (เสียงหัวเราะ) “อันนี้ก็เป็นเรื่องของอาชีพ ผมทำผลงานก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ แล้วได้ทุนเรียนต่างประเทศ ไปเรียนที่ Harvard Law School ไม่กระจอกใช่ไหมครับ (เสียงหัวเราะ) “เพราะงั้นก็อยากให้เห็นว่าคนพิการ ถ้าได้รับโอกาส เขาก็ดึงศักยภาพของเขาออกมาได้เต็มที่ แต่ถ้าเราไม่ให้โอกาสเขา ไปตัดโอกาสเขา ไปเลือกปฏิบัติต่อเขา เขาก็ทำได้แค่ขอทาน แต่เมืองไทยโชคดี เราส่งเสริมขอทาน จะเห็นว่าเรายินดีให้ทานคนตาบอดมาก แต่เราไม่ยินดีให้ทำงานนะ ไปสมัครงานยากมาก แต่ถ้าถือขันวันละ 2,000 บาท อาจไม่ยาก ไปหาจุดตำแหน่งดี ๆ ถ้าเดินสักรอบนี่ผมว่าคงได้สักร้อย “สังคมชวนเราไปในเส้นทางนั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อผมได้ประสบผลสำเร็จในชีวิต เราก็เลยต้องทุ่มเทที่จะทำเพื่อคนอื่นต่อไป ก็ต่อสู้ เมื่อผมมีโอกาสไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2549 ผมก็ไปแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้คนพิการได้เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป เช่น ในกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ให้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ รับสมัครเลือกตั้งได้ จนเพื่อนผมเป็น ส.ว. ติดต่อกันมาเป็นสิบปีแล้ว รุ่นน้อง อันนี้ก็จากที่แก้กฎหมายครับ “แล้วก็มีกฎหมายบังคับให้มีการจ้างแรงงานคนพิการ 100 ต้องจ้างคนพิการ 1 คน อันนี้ฝีมือผมทั้งนั้น (เสียงหัวเราะ) ก็เพราะว่าเราได้ความรู้มาจากตะวันตกว่าเขาให้โอกาสคนพิการเต็มที่ ถ้าเราไม่ให้โอกาสคนพิการ เราไม่ทำสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคนพิการ คนพิการก็ต้องเป็นภาระ ต้องเป็นขอทาน แล้วเราจะสนับสนุนให้คนพิการเอาดีทางขอทานหรือครับ มันก็เป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศเรา เพราะงั้นเราก็ต้องส่งเสริมให้เขามุ่งเรียนทำงาน เราก็ทำเรื่องที่ท้าทาย แล้วก็ช่วยเหลือคนรุ่นต่อ ๆ ไป “น่าเสียดายครับเวลาหมด งั้นผมจะขอขี้โม้เรื่องครอบครัวว่า หน้าตาอย่างผมเนี่ยถึงจะตาบอด ผมก็มีภรรยาที่สวยงาม โม้กับคนอื่นได้สบาย ใจดีและสวยงามกว่าภรรยาหลายคนครับ (เสียงหัวเราะและปรบมือ) เวลาหมดก็เลยขอจบลงเพียงแค่นี้ ขอบคุณครับ" ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ \"โอกาสของชีวิต กับการให้\" *ทอล์กนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานครบรอบ 1 ปี The People: Do You Hear THE PEOPLE Talk? จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องคริสตัล บ็อกซ์, เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท