‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ ผู้สานต่อ ‘คิง เพาเวอร์’ อาณาจักรแสนล้าน และบริหาร ‘เลสเตอร์ฯ’

‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ ผู้สานต่อ ‘คิง เพาเวอร์’ อาณาจักรแสนล้าน และบริหาร ‘เลสเตอร์ฯ’

วิชัย ศรีวัฒนประภา คือหนึ่งในบุคคลระดับตำนานของเมืองไทย ขณะที่ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกคนเล็กของครอบครัว ที่ปัจจุบัน (2561) อยู่ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์

วิชัย ศรีวัฒนประภา คือหนึ่งในบุคคลระดับตำนานของเมืองไทย แม้ว่าเขาจะยังอยู่หรือจากไปแล้วก็ตาม

ในแวดวงธุรกิจ วิชัยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีและอากร (ดิวตี้ฟรี) มาตั้งแต่ พ.ศ.2532 ซึ่งธุรกิจดิวฟรีสร้างความมั่งคั่งให้วิชัยเป็นอย่างมาก และส่งให้เขาติดอันดับ 5 ใน 50 อันดับมหาเศรษฐีไทยปี 2018 จัดโดยนิตยสาร Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.73 แสนล้านบาท (อัปเดต : การจัดอันดับจากนิตยสาร Forbs มหาเศรษฐีไทยในปี 2565 อัยยวัฒน์ และครอบครัวศรีวัฒนประภา อยู่ในอันดับ 19 ด้วยมูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5.59 หมื่นล้านบาท)

วิชัยยังแตกแขนงธุรกิจไปอีกหลายด้าน เช่น โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ หรือปีนี้ที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ มีดีลทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ด้วยการทุ่มงบราว 1.4 หมื่นล้านบาท ซื้อพื้นที่บางส่วนของโครงการ “มหานคร” จาก บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อเป็น “คิง เพาเวอร์ มหานคร” เพื่อเชื่อมโยงและต่อยอดกับธุรกิจที่มีในมือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

ส่วนในแวดวงกีฬาคงไม่ต้องกล่าวอะไรให้มากความ เพราะวิชัยคือ อดีตประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ เจ้าของแชมฟ์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2015-2016 และยังมี สโมสรฟุตบอล โอเอช ลูเวิน ในเบลเยียมอีกด้วย ไม่ว่าจะวิชัยจะใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงใด คนที่ติดตามเขาไปเกือบทุกที่และทุกครั้งก็คือ "อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา" ลูกคนเล็กของครอบครัว ที่ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่ง "ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์" และ "ประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้"

อัยยวัฒน์ได้รับการถ่ายทอดกลยุทธ์การบริหารคนและบริหารธุรกิจจากวิชัยตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่เขานำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรในยามที่ต้องก้าวขึ้นสู่บทบาทผู้นำ เพื่อพากลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ฝ่าคลื่นลมไปข้างหน้าให้ได้อย่างแข็งแกร่ง  

ซึมซับความคิด

อัยยวัฒน์มีพี่ๆ อีก 3 คน คือ วรมาศ อภิเชษฐ์ และ อรุณรุ่ง ทั้งหมดเติบโตในครอบครัวที่ให้อิสระทางความคิดและการดำเนินชีวิต ถึงขั้นที่วิชัยบอกลูกๆ ว่าไม่อยากให้เข้ามาทำธุรกิจ เพราะรู้ว่าเหนื่อยมากแค่ไหน และถ้าใครไม่สนใจก็ให้ไปทำอย่างอื่นได้เลย แต่เมื่อทั้งสี่เห็นความลำบากของวิชัยและเอมอรที่ช่วยกันก่อร่างสร้างธุรกิจให้เติบใหญ่ ก็เกิดความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ

เมื่อต้องเข้าชั้นประถมศึกษา วิชัยก็ให้อัยยวัฒน์เลือกว่าจะเรียนที่ไหน โดยพาไปดูทั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพคริสเตียน และเซนต์คาเบรียล ซึ่งสุดท้ายลูกชายคนเล็กก็เลือกโรงเรียนหลังสุด ด้วยเหตุผลว่าชอบบรรยากาศการเรียนที่นั่น และเพราะว่ามีสนามฟุตบอล

ด้วยความชอบในกีฬาฟุตบอล ทำให้เขาฝึกฝนตัวเองจนได้เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลทีมโรงเรียน เรียกว่าอัยยวัฒน์คลุกคลีกับธุรกิจของพ่อตั้งแต่เขาอยู่ชั้น ม.ต้น ก็คงไม่ผิดเท่าใดนัก เพราะหลังเลิกเรียนที่เซนต์คาเบรียลแล้ว เขาต้องไปหาวิชัยที่บริษัทซึ่งเมื่อก่อนอยู่บริเวณสยามดิสคัฟเวอรี่ เพื่อรอวิชัยทำงานจนถึง 2-3 ทุ่มทุกวัน

ภาพที่เขาเห็นจนชินตาขณะนั้นจึงเป็นภาพที่วิชัยเรียกลูกน้องมาคุยงาน ทำให้ได้ยินเรื่องราวทางธุรกิจทุกวัน และพอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ อัยยวัฒน์ก็จะไปเรียนขี่ม้าและเล่นกอล์ฟกับวิชัย ทำให้ซึมซับความคิดหลายอย่างจากพ่อ  

ย่างก้าวสู่คิง เพาเวอร์

หลังจบปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อัยยวัฒน์ขอเวลาพักผ่อน 2 สัปดาห์ เพื่อไปเที่ยวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ชาร์จพลังก่อนกลับมาทำงานในกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เขาถามวิชัยว่าควรจะไปทำแผนกไหนของบริษัท ผู้เป็นพ่อจึงบอกว่าให้มาเป็นผู้ช่วยประธานกรรมการ ซึ่งก็คือให้มาเป็นผู้ช่วยของวิชัย เพราะตำแหน่งนี้จะให้ไปทำอะไรหรือไปคุยกับใครก็ได้ เช่น แผนกดูแลสินค้า แผนกการตลาด ฯลฯ

ขณะที่ถ้าไปอยู่แผนกใดแผนกหนึ่งก็จะรู้แค่ด้านเดียว อัยยวัฒน์จึงรับบทบาทดังกล่าวด้วยวัย 24 ปี ซึ่งเขาถือว่าเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าจะเรียนรู้ ความที่ผู้บริหารหลายรายเคยเห็นอัยยวัฒน์มาตั้งแต่เด็ก ทำให้อัยยวัฒน์ได้รับความเมตตาและความเอ็นดู สามารถขอคำปรึกษาจากผู้บริหารเหล่านี้ได้ตลอด เป็นการค่อยๆ เชื่อมโยงประสบการณ์การทำงานของคนรุ่นเก่ากับความคิดและสไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่อย่างอัยยวัฒน์เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว

เขาเรียนรู้งานได้อย่างรวดเร็ว ควบคู่กับเรียนรู้การบริหารคนจากวิชัยที่ใจกว้างและให้ความสำคัญกับพนักงานทุกระดับ ซึ่งเป็นหนึ่งในเคล็ดลับซื้อใจพนักงาน ทั้งยังสอนเรื่องความกตัญญู ตรงต่อเวลา และขยัน ให้อัยยวัฒน์อีกด้วย ทั้งหมดนี้วิชัยไม่ได้เอ่ยออกมาตรงๆ แต่แสดงให้เห็นผ่านการกระทำ และถ้าอัยยวัฒน์ทำผิดพลาด ก็จะโดนลงโทษมากกว่าคนอื่น เนื่องจากวิชัยถือว่าพนักงานมองอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นถ้าทำผิดต้องโดนคูณ 2 หรือคูณ 3 เพื่อให้เห็นว่าแม้จะเป็นลูกแต่ก็ไม่ได้ถือสิทธิเหนือกว่าใคร  

โลกแห่งฟุตบอล

วิชัยชื่นชอบกีฬาฟุตบอลมาก หากไม่ติดธุระอะไรก็มักใช้เวลาวันหยุดกับลูกๆ นั่งดูถ่ายทอดฟุตบอลทุกลีกและทุกแมทช์ พร้อมกับความฝันที่ฉายชัดว่าต้องการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลสักทีม เวลานั้น อัยยวัฒน์คิดแต่เพียงว่าความฝันของผู้เป็นพ่อนั้น “เป็นไปไม่ได้” แต่สำหรับวิชัยที่เป็นคนมุ่งมั่นและจริงจังแล้ว “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” เจ้าพ่อคิง เพาเวอร์ เริ่มจากการสปอนเซอร์ป้ายขอบสนามของ สโมสรฟุตบอลเชลซี โดยเขียนคำว่า “คิง เพาเวอร์” เล็กๆ และคำว่า “ไทยแลนด์” ใหญ่ ๆ ด้วยเหตุผลว่าถ้านักท่องเที่ยวเห็นคำว่า “ไทยแลนด์” แล้วอยากมาท่องเที่ยว ธุรกิจของคิง เพาเวอร์ ก็จะมีผลพลอยได้ไปด้วย จึงไม่มีความจำเป็นต้องโฆษณาธุรกิจของตัวเอง และนั่นคือก้าวแรกของวิชัยในการขยับใกล้ความฝัน

วันหนึ่ง วิชัยมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของ สโมสรฟุตบอลเรดิง ถึงความเป็นไปได้ในการขอซื้อสโมสร เจ้าของถามวิชัยว่ารู้เรื่องฟุตบอลหรือเปล่า วิชัยจึงตอบว่าไม่เคยทำเลย เจ้าของสโมสรจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นอย่าซื้อ เพราะเป็นธุรกิจที่ทำยาก วิชัยจึงตอบไปสั้นๆ ว่าไม่เป็นไร ถึงจะถูกปฏิเสธ แต่มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยก็ไม่ยอมแพ้ เขายังคงมองหาทีมอื่นไปเรื่อยๆ และเป็นสปอนเซอร์ให้เสื้อแข่งของ สโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งอยู่ในลีกแชมเปียนชิพ  

ประกาศนาม "เลสเตอร์ ซิตี้"

จังหวะนั้น มิลาน แมนดาริช เจ้าของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ต้องการขายทีมอยู่พอดี วิชัยเห็นว่าเพิ่มเงินอีกไม่มากก็สามารถเป็นเจ้าของทีมได้แล้ว อีกทั้งเลสเตอร์ ซิตี้ เป็นทีมที่มีขนาดกำลังดีและมีประวัติศาสตร์น่าสนใจ ส่วนเมืองเลสเตอร์ก็อยู่ห่างจากกรุงลอนดอน 100 กว่าไมล์ ยังมีโอกาสพัฒนาเมืองได้อีกมาก วิชัยจึงตัดสินใจทุ่มงบเกือบ 40 ล้านปอนด์ ซื้อเลสเตอร์ ซิตี้ ในเดือนสิงหาคม ปี 2010 ซึ่งขั้นตอนการเจรจาตกลงซื้อขายทีม กินเวลาแค่ 5 นาทีเท่านั้น! หลังการพูดคุยเสร็จสิ้น อัยยวัฒน์หันไปถามผู้เป็นพ่อว่าแล้วใครจะเป็นคนดู วิชัยจึงตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “ก็ต๊อบไง” (ชื่อเล่นของอัยยวัฒน์)

‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ ผู้สานต่อ ‘คิง เพาเวอร์’ อาณาจักรแสนล้าน และบริหาร ‘เลสเตอร์ฯ’ อัยยวัฒน์ และ วิชัย ศรีวัฒนประภา

แล้วภารกิจใหญ่ของอัยยวัฒน์ก็เริ่มต้นขึ้น ภาพเจ้าของทีมที่นั่งดูฟุตบอลเท่ๆ สนุกกับการซื้อนักเตะมาเสริมทัพ เป็นแค่ภาพในจินตนาการ เพราะของจริงที่อัยยวัฒน์ในวัย 25 ปี ต้องเจอคือ “โจทย์ยาก” เขาใช้เวลาอยู่เลสเตอร์ 6 เดือนเต็มๆ เพื่อดูรายละเอียดทุกอย่าง รวมทั้งต้องบริหารงานและบริหารคนให้เข้าที่โดยเร็วที่สุด มีเป้าหมายใหญ่เป้าหมายแรกคือการพาทีมเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก อัยยวัฒน์นำวิธีการทำงานของวิชัยมาใช้ นั่นคือให้ทุกคนในองค์กรมีวิสัยทัศน์ตรงกัน เพื่อให้การทำงานเดินหน้าไปอย่างราบรื่น

เขาใช้เวลาเกือบ 1 สัปดาห์พูดคุยแบบเปิดใจกับผู้บริหารทุกระดับและพนักงานเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปรับการทำงานของแต่ละคนให้มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำงานเช้าชามเย็นชามแบบที่หลายคนเป็นเมื่อเขาเข้าไปบริหาร จากเรื่องคนสู่เรื่องการจัดการ แต่เดิมร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของเลสเตอร์ ซิตี้ มีขนาดเล็ก แต่ต้องรองรับแฟนบอลร่วม 30,000 คนที่มาดูฟุตบอล กว่าจะซื้อเสื้อสักตัวได้ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง

อัยยวัฒน์จึงบอกวิชัยว่า คิง เพาเวอร์ คือธุรกิจค้าปลีก ดังนั้นต้องเอาความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาปรับใช้ ทั้งการปรับปรุงร้านให้ทันสมัย มีสินค้าเพียงพอ และจัดการเรื่องการหมุนเวียนคนภายในร้านให้รวดเร็วขึ้น

เขายังปรับโครงสร้างทีมฟุตบอล เปลี่ยนตัวผู้จัดการทีม ทุ่มเงินซื้อนักเตะมาเสริมเขี้ยวเล็บ และปรับปรุงคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม ให้เป็นสนามที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว การพลิกโฉมของเลสเตอร์ ซิตี้ ภายใต้การดูแลของเจ้าของใหม่ สร้างความไม่พอใจให้แฟนบอลจำนวนไม่น้อย คำพูดทำนองว่ามหาเศรษฐีไทยมาทำอะไรที่นี่ มาลงทุนแล้วก็ไป ไม่ถนัดเรื่องฟุตบอลแล้วยังจะมาทำ ฯลฯ ดังมาเข้าหูอัยยวัฒน์อยู่เสมอ แต่เขาก็ไม่เก็บมาคิดให้เป็นพลังงานด้านลบ ทว่ามุ่งมั่นปลุกปั้นทีมให้พร้อมสำหรับการแข่งขันมากขึ้น

อัยยวัฒน์ทุ่มเงินไป 70-80 ล้านปอนด์ พัฒนาทุกด้านของเลสเตอร์ ซิตี้ ให้ดีขึ้น แต่ผลงานของทีมกลับไม่สามารถขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกได้อย่างที่ตั้งใจ จนอัยยวัฒน์เกิดความท้อ ทั้งยังพบความเจ็บปวดในฤดูกาล 2012-2013 ที่แพ้ทีมวัตฟอร์ดในรอบเพลย์ออฟ พลาดขบวนขึ้นชั้นเป็นทีมสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย

ถึงอย่างนั้น วิชัยที่เป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรทั้งสิ้น กลับให้กำลังใจลูกชายว่าดีแล้ว ถือเป็นบทเรียนให้รู้ว่าความผิดหวังเป็นอย่างไร เพราะไม่ใช่ว่าชีวิตต้องเจอแต่ความสำเร็จทุกอย่าง อัยยวัฒน์จึงกลับมาวางแผนใหม่ และคว้าแชมป์แชมป์เปียนชิพ ได้ในฤดูกาล 2013-2014 ก่อนจะตีตั๋วขึ้นชั้นพรีเมียร์ลีกได้ในฤดูกาลถัดมา และจบด้วยอันดับ 14 หากจะมีช่วงเวลาใดที่มหัศจรรย์ที่สุดของเลสเตอร์ ซิตี้ ช่วงเวลานั้นก็น่าจะเป็น 10 เดือนในฤดูกาล 2015-2016 ไม่มีใครคาดคิดว่าเลสเตอร์ ซิตี้ ทีมที่หลายคนปรามาสว่าเป็นทีมรองบ่อน ทีมม้านอกสายตา หรือแม้กระทั่งทีมไม้ประดับ จะทำแต้มไต่อันดับตารางพรีเมียร์ลีกสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในใจของ “เดอะ ฟ็อกซ์” ทุกคนรู้ว่าพวกเขาทำได้ และทำได้ถึงขั้นคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนั้น ประกาศนาม “เลสเตอร์ ซิตี้” ให้กึกก้องไปทั่วโลก!

และอีกหนึ่งปณิธานของสโมสรที่เหล่าผู้บริหารชาวไทยให้ความสำคัญก็คือการสนับสนุนเด็กไทยให้มีโอกาสมาฝึกฟุตบอลกับเลสเตอร์เพื่อพัฒนาความสามารถ

“เราสนับสนุนเด็กไทย ให้มาฝึกฝนเรียนรู้กีฬาฟุตบอลที่อังกฤษ ทำมาได้ 2-3 รุ่นแล้ว หากทำต่อเนื่อง สัก 10-20 ปี ก็น่าจะได้บุคลากรสำหรับวงการฟุตบอลไทยสัก 200-300 คน ซึ่งคงช่วยได้เยอะ "วิธีการคือไปดูจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ใครที่มีแวว ใครที่ตั้งใจจริง เอาเข้าจริงๆ ช้างเผือกไม่ค่อยมีหรอก ตัวเก่งๆ ก็มักติดสัญญากับสโมสรต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ต้องสร้างเอา”

หลังภารกิจบรรลุเป้าหมาย และวางระบบบริหารจัดการต่างๆ ในสโมสรให้เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัยยวัฒน์จึงใช้เวลาที่อังกฤษน้อยลง และกลับมาดูแลธุรกิจดิวตี้ฟรีที่เมืองไทยมากขึ้น รวมทั้งทุ่มเทให้กับ “คิง เพาเวอร์ มหานคร” ซึ่งเปิดตัว “มหานคร สกายวอล์ค” ระเบียงพื้นกระจกกลางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความสูงเหนือพื้นกว่า 300 เมตร ให้นักท่องเที่ยวได้มาตื่นตะลึงกับทัศนียภาพมุมสูงของกรุงเทพฯ ไปเมื่อปลาย พ.ศ.2561 และมีแผนจะสร้าง "Orient Express Mahanakhon Bangkok" โรงแรม Orient Express แห่งแรกของโลก ที่ได้แรงบันดาลใจจากขบวนรถไฟ Orient Express อันหรูหรา ซึ่งกำหนดจะเปิดตัวในปลาย พ.ศ.2562

เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ก่อนเปิดฤดูกาล 2019-2020 อัยยวัฒน์ เคยปรารภกับ The People ถึงแผนธุรกิจที่จะขายตัวนักเตะในสังกัด อย่าง แฮร์รี แมคไกวร์ ออกไป เขากล่าวด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า

"ผมบอกกับแมคไกวร์ 'ไอจะขายยูนะ แต่จะต้องเป็นในราคา world records เท่านั้น' ซึ่งตอนนี้ มีผู้บริหารทีมทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ให้ความสนใจแมคไกวร์อยู่แล้ว กำลังเจรจากันอยู่ ดู ๆ ไป ผมคิดว่าแมนฯ ยูฯ ต้องการตัวแมคไกวร์มากกว่า แต่ถ้าเลือกได้ ตัวแมคไกวร์คงไม่อยากไปนัก เขาคงลุ้นให้เป็นแมนฯ ซิฯ..."

‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ ผู้สานต่อ ‘คิง เพาเวอร์’ อาณาจักรแสนล้าน และบริหาร ‘เลสเตอร์ฯ’ แฮร์รี่ แมคไกวร์        

เมื่อพูดถึงการขายตัวนักเตะที่เป็นสถิติโลก ก่อนหน้านั้นคงหนีไม่พ้น กรณีของ เวอร์จิล ฟาน ไดค์ ที่ย้ายมาร่วมทีมลิเวอร์พูล ด้วยราคา 75 ล้านปอนด์ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2018 ซึ่งสามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าพึงพอใจ อุดช่องโหว่ในเกมรับของทีมหงส์แดงจนพาทีมเป็นแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกได้สำเร็จเมื่อฤดูกาล 2018-2019 แต่ตอนนี้มีการสร้างสถิติใหม่อีกครั้ง

เมื่อการเจรจาซื้อตัวนักเตะ แมคไกวร์ บรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการ กับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ราคา 80 ล้านปอนด์ ซึ่งนั่นหมายความว่าเลสเตอร์ ได้กำไรจากดีลนี้กว่า 63 ล้านปอนด์ (เลสเตอร์ ซื้อแมคไกวร์มาจากฮัลล์ ซิตี้ ในราคา 17 ล้านปอนด์ เท่านั้น)

"มองในเชิงธุรกิจ ฟุตบอลเป็นธุรกิจที่ไม่มีโลจิก อาจจะเหมือนวงการพระเครื่อง เพราะอยู่ที่ความพอใจด้วย สำหรับผม ธุรกิจฟุตบอลเหมือนการเล่นโป๊กเกอร์ คุณต้องมีความยับยั้งชั่งใจ คุณต้องมีความสุขุม ไม่แสดงออกถึงความอ่อนไหว ในเกมโป๊กเกอร์ ใครนิ่งกว่าคนนั้นชนะ"

แต่ไม่ว่าจะบทบาทใด สิ่งที่เขายึดถือมาตลอดเป็นเสมือนคัมภีร์แห่งความสำเร็จก็คือคำสอนของวิชัยนั่นเอง  

อัปเดต : เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2566 ทาง www.lcfcthai.com เว็บไซต์ทางการของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ในประเทศไทย ได้เผยแพร่ข่าวว่า ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ ประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ได้แปลงหนี้คงค้างของสโมสรจำนวน 194 ล้านปอนด์ หรือราว 7,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่กู้จากบริษัทแม่ก็คือ ‘คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล’ (KPI) ให้เป็นทุนกลับมาที่ KPI ที่ทางครอบครัวศรีวัฒนประภา เป็นเจ้าของโดยตรง เท่ากับว่า ปลดหนี้ให้กับสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

.

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง:

Icfcthai

story.kingpower

Forbes

forbes