01 พ.ค. 2567 | 14:31 น.
การที่กระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศโดยจะเริ่มวันที่ 1 พ.ค.2567 แม้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า จะออกมาในรูปแบบใด และดำเนินการได้หรือไม่ แต่ก็มีผลสำรวจออกมาแล้วว่า หากมีการปรับค่าแรงจริงตามประกาศ ราคาสินค้าจะแพงขึ้น 6-15%
“นับตั้งแต่ปี 55-56 ที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศจากปี 54 เดิม 215 บาท ถือเป็นการกระชากค่าแรงพอสมควร และครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจอีกครั้ง เพราะทำในขณะที่ยังไม่เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่งผลกระทบแน่นอน”
‘รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย’ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้แสดงความเห็นในประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศที่ทางกระทรวงแรงงานประกาศออกมา
เพื่อเป็นการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทาง ‘ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า’ ได้ทำการสำรวจเกี่ยวในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้
ในมุมของแรงงานเอง มองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ไม่ดีนัก ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท พวกเขามีความกังวลจะมีการจ้างงานลดลง
ขณะที่มุมของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจ พบว่า
97% จ่ายค่าแรงขั้นต่ำต่อวันอยู่ที่ 300-320 บาท
15.5% จ่ายค่าแรงขั้นต่ำต่อวันอยู่ที่ 321-340 บาท
14.7% จ่ายค่าแรงขั้นต่ำต่อวันอยู่ที่ 341-360 บาท
18.6% จ่ายค่าแรงขั้นต่ำต่อวันอยู่ที่ 361-380 บาท
20.7% จ่ายค่าแรงขั้นต่ำต่อวันอยู่ที่ 381-399 บาท
20% จ่ายค่าแรงขั้นต่ำต่อวันอยู่ที่ 400 บาท
เมื่อสอบถามผู้ประกอบถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท สอดคล้องกับทักษะฝีมือของแรงงานหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ 67.4% บอกไม่เหมาะสม อีก 32.6% บอกเหมาะสม โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการบอกว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมที่สุดอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน
เมื่อถามเจาะลึกลงไปเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการหากต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ทางเลือกแรกที่ผู้ประกอบการถึง 64.7% จะดำเนินการ ก็คือ ‘การปรับราคาสินค้าและบริการ’ โดย
- 34.8% จะมีการปรับขึ้นราคา 6-10%
- 17.4% จะปรับขึ้น 11-15%
- 43.5% จะปรับขึ้นมากกว่า 15% ขึ้นไป
ส่วนระยะเวลาการในการปรับขึ้นนั้น ผู้ประกอบการ 42.9% จะปรับขึ้นภายใน 1 เดือน , 28.6% จะปรับขึ้นใน 2 เดือน และ 28.6% ใน 3 เดือน
“พอราคาสินค้าขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของผู้คนแน่นอน เป็นโจทย์ที่ทางรัฐบาลต้องคิดต่อ”
รศ.ดร.ธนวรรธน์ ยังเล่าอีกว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งหากไม่นับรวมสิงคโปร์และบรูไน ปัจจุบันมาเลเซียเป็นประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดในอาเซียน โดยอยู่ที่ 392 บาทต่อวัน
ดังนั้น หากไทยขยับค่าแรงขั้นต่ำจริงตามประกาศของกระทรวงแรงงาน จะทำให้บ้านเราเป็นประเทศในอาเซียนที่ค่าแรงสูงที่สุด และเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม ที่ตอนนี้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ประมาณ 230 บาทต่อวัน
ประกอบกับ เวียดนามยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5-7%ต่อปี มีอัตราการเกิดเป็นบวกและมีประชากรคนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เวียดนามยังมีเสน่ห์ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากกว่าไทย ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของบ้านเราว่า จะหาจุดดึงดูดอื่นมาสู้ได้อย่างไร
“การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทของกระทรวงแรงงานยังไม่มีความแน่ชัด เพราะประกาศก่อนที่ไตรภาคีจะมีการประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จะอนุมัติหรือไม่ และถ้าอนุมัติ จะออกมาในรูปแบบใด เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป”