‘สัตยา นาเดลลา’ ลงทุนก่อตั้ง ‘Data Center’ ครั้งแรกในไทย เชื่อว่าขับเคลื่อนด้วย AI จะช่วยเติบโต

‘สัตยา นาเดลลา’ ลงทุนก่อตั้ง ‘Data Center’ ครั้งแรกในไทย เชื่อว่าขับเคลื่อนด้วย AI จะช่วยเติบโต

‘สัตยา นาเดลลา’ ตัดสินใจลงทุนก่อตั้ง ‘Data Center’ ครั้งแรกในประเทศไทย ปฎิญาณว่าอยากให้ไทยและประเทศในอาเซียนขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อสร้างการเติบโตในระบบเศรษฐกิจ

“เราพยายามนำเทคโนโลยีมาสร้างเทคโนโลยีที่ให้มากกว่า และประเทศไทยก็มีโอกาสอันเหลือเชื่อในการสร้างอนาคตด้วยดิจิทัลและ AI”

คงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ ‘สัตยา นาเดลลา’ ประธานและซีอีโอของ Microsoft ได้พูดถึง ‘เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI หนึ่งในคำกล่าวในขณะที่เขามาประเทศไทย ท่ามกลางการต้อนรับอันแสนอบอุ่นนี้จากหลายฝ่าย ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และ Microsoft Thailand รวมถึงนักพัฒนาและนวัตกรภายในงาน Microsoft Build: AI Day ในวันนี้ (วันที่ 1 พฤษภาคม 2567) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

‘สัตยา นาเดลลา’ ลงทุนก่อตั้ง ‘Data Center’ ครั้งแรกในไทย เชื่อว่าขับเคลื่อนด้วย AI จะช่วยเติบโต

สีหน้า และท่าทางที่ชวนตื่นเต้นมาก ๆ ของ ซีอีโอสัตยา เมื่อพูดถึง AI และโอกาสในประเทศไทย รวมไปถึง ‘หนทางแห่ง AI’ ที่น่าดึงดูดมากขึ้นในปัจจุบัน คลายความสงสัยของคนในกำลังฟังเขาได้เกือบหมดสิ้น หลังจากที่เขาเฉลยบิ๊กแพลน การตัดสินใจครั้งใหญ่ของ Microsoft ที่จะก่อตั้ง  ‘Data Center’ ครั้งแรกในประเทศไทย

 Data Center จะช่วยพัฒนาและเสริมทักษะด้าน AI ให้กับคนไทยได้อย่างน้อย ๆ 6,000 คน และในระดับภูมิภาคคาดหวังตัวเลขอยู่ที่ 2.5 ล้านคนภายในปี 2025

‘สัตยา นาเดลลา’ ลงทุนก่อตั้ง ‘Data Center’ ครั้งแรกในไทย เชื่อว่าขับเคลื่อนด้วย AI จะช่วยเติบโต

สัตยา ได้พูดถึงประเทศไทยว่า “ประเทศไทยมีโอกาสอันเหลือเชื่อในการสร้างอนาคตซึ่งจะขับเคลื่อนไปด้วยดิจิทัลและ AI โดยศูนย์แห่งข้อมูลใหม่นี้ของเราจะเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคที่เราเปิดตัวขึ้นในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพื่อเสริมโครงสร้างของ Microsoft ประเทศไทยให้มั่นคงแข็งแกร่งกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านคลาวด์และโครงสร้างพื้นฐานของ AI”

“นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับทักษะใหม่ ๆ ของ AI เพื่อต่อยอดให้ผู้คนและองค์กรในประเทศไทย รวมถึงประเทศในอาเซียนเข้าใจ และสร้างประโยชน์จากโลกที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและ AI อย่างเต็มที่”

“ท้ายที่สุดแล้ว ความสำคัญของ AI จะช่วยให้องค์กรของไทยทั้งภาครัฐและเอกชนขับเคลื่อนไปสู่ผลกระทบใหม่ ๆ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะว่าการขับเคลื่อนด้วย AI จะทลายกำแพงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ สังคม กำแพงเศรษฐกิจ ผมเชื่อเหลือเกินว่า การขับเคลื่อนด้วย AI จะช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ที่ตัวเลข 2 หลัก หรือ GDP เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาทภายในปี 2030 ได้”

คำถามสำคัญที่ ซีอีโอสัตยา พูดบนเวทีก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะใช้เทคโนโลยีที่แท้จริง เพื่อสร้างสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริง?

ประสบการณ์ของ สัตยา นาเดลลา นับตั้งแต่ที่ได้ร่วมงานกับ Microsoft ตั้งแต่เมื่อ 32 ปีก่อน (ปี 1992) ก่อนที่จะรับหน้าที่เป็นซีอีโอ เขาเป็นบุคคลที่ได้ฉายาเรื่องความรวดเร็วในการสร้างและขยายเทคโนโลยีในธุรกิจที่หลากหลาย และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผลิตภัณฑ์ของ Microsoft ในทางที่ดีขึ้นด้วย

ดังนั้น ความมุ่งมั่นของซีอีโอสัตยา เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้ให้คนไทย คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอีกมากในประเทศไทยนับ 100,000 ราย ซึ่งเขาหมายถึงทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ Microsoft จะช่วยเพิ่มความสามารถด้าน AI ให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวผ่านโปรแกรมทักษะ AI สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ใช้ AI ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง Microsoft กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน และสถาบันฝึกอบรมอาชีวศึกษาเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อต้องการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในจังหวัดรองในไทย เพื่อใช้ AI ในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีศักยภาพขึ้น

นอกจากนี้ Microsoft พร้อมที่จะช่วยรัฐบาลไทยนำนโยบายที่เน้นระบบคลาวด์มาใช้เป็นอันดับแรก พร้อมด้วยโครงการพัฒนาทักษะด้าน AI สำหรับนักพัฒนาและบุคลากรด้านไอทีของรัฐบาล เพิ่มนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐให้เป็น digital first เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นและแม่นยำ

ซีอีโอสัตยา ได้พูดถึง ‘GitHub’ ว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วบน GitHub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาซอฟต์แวร์ การทำงานร่วมกัน และนวัตกรรมที่ Microsoft เป็นเจ้าของ นักพัฒนาในประเทศไทยมากกว่า 900,000 รายใช้ GitHub ในปี 2023 คิดเป็นการเติบโตประมาณ 24% เมื่อเทียบเป็นรายปี และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นอีก

คำถามที่ 2 ที่ ซีอีโอสัตยาพูดบนเวทีก็คือ เราจะทำอย่างไรให้องค์กรที่ยังขับเคลื่อนตัวเองช้าให้ก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น?

คำตอบง่าย ๆ เลยก็คือ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็ก หรือองค์กรใหญ่ ต่างต้องใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เข้ามาช่วย มาขับเคลื่อนองค์กร แม้ว่าหลายคนหลายองค์กรยังกังวลเกี่ยวกับ AI ทั้งการใช้งาน ความปลอดภัย ความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ ฯลฯ นี่น่าจะเป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่ทำให้คุณเชื่อมั่นว่า Microsoft เปิดศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ขึ้นเพื่ออะไร?

 

ผมเรียนรู้ตลอดชีวิตครับ

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว สัตยา นาเดลลา เคยพูดไว้ว่า “อย่าเป็นคนที่รู้ไปทุกเรื่อง (know-it-alls) แต่จงเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ทุกเรื่อง (learn-it-alls) ดีกว่า” เขาพูดในฐานะที่ตอนนั้นเพิ่งได้รับตำแหน่งเป็นซีอีโอ รุ่นที่ 3 ของ Microsoft ซึ่งเขาเป็นผู้เข้ามากอบกู้สถานการณ์ของ Microsoft ก็คงไม่ผิด เพราะตอนนั้นเรียกว่าแทบจะจมหายไปกับหนี้สินที่พอกพูน

Microsoft ขาดทุนมหาศาลจากการซื้อกิจการ Nokia มูลค่า 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาสมาร์ทโฟนของตนเอง แต่ไม่สามารถสู้กับ iPhone ของค่ายแอปเปิล (Apple) และ Android ของกูเกิล (Google)

เขาได้พูดกับพนักงาน ณ วันที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2014 มีในความว่า

“หลายคนที่รู้จักบอกว่า ผมยังถูกกำหนดโดยความอยากรู้อยากเห็นและความหิวกระหายในการเรียนรู้ ผมซื้อหนังสือมามากกว่าจำนวนที่ผมสามารถอ่านจบ และสมัครเรียนออนไลน์มากกว่าจำนวนคอร์สที่สามารถเรียนจบ

“ผมเชื่อโดยพื้นฐานว่า หากคุณไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คุณจะหยุดทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นประโยชน์ ดังนั้น ครอบครัว ความอยากรู้อยากเห็น และความกระหายใคร่รู้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำนิยามตัวผม”

สำหรับ ซีอีโอสัตยา เขาแทบจะถวายหัวให้กับ ‘การเรียนรู้’ และเขาได้การพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เลิกยึดติดกับความสำเร็จในอดีต และหันมาสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน

ดังนั้น หากในวันนี้ความอยากรู้อยากเห็น และความตื่นเต้นของเขา ที่จะเห็นประเทศไทยและอาเซียน พัฒนาอย่างก้าวกระโดดตามโอกาสและศักยภาพที่เปิดรับ ด้วยการขับเคลื่อนของ AI เชื่อว่า เขาคงมีความสุขมาก ๆ กับโจทย์ใหญ่นี้ และน่าจะตั้งตารอว่าผลลัพธ์นี้หลังตัดสินใจไปแล้ว จะออกดอกออกผลให้เชยชมได้เมื่อไหร่

 

ภาพ: Microsoft